title
stringlengths
1
182
text
stringlengths
1
45.8M
source
stringclasses
5 values
__index_level_0__
int64
0
197k
ศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์ (Christianity) ราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า คริสต์ศาสนา เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยมแบบอับราฮัม ที่มีพื้นฐานมาจากชีวิตและการสอนของพระเยซูตามที่ปรากฏในพระวรสารในสารบบ (canonical gospel) และงานเขียนพันธสัญญาใหม่อื่น ๆ ผู้นับถือศาสนาคริสต์เรียกว่าคริสต์ศาสนิกชนหรือคริสตชน พระเยซูเป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และเป็นพระผู้ไถ่ เพื่อมนุษย์ซึ่งเป็นคนบาป คริสตชนจึงเรียกพระเยซูว่า "พระคริสต์" หรือ "พระเมสสิยาห์" ศาสนาคริสต์ปัจจุบันแบ่งเป็นสามนิกายใหญ่ คือ โรมันคาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ และโปรเตสแตนต์ ซึ่งยังแบ่งนิกายย่อยได้อีกหลายนิกาย เขตอัครบิดรโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์แยกออกจากกันในช่วงศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก (East–West Schism) ใน ค.ศ. 1054 และนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ศาสนาคริสต์ในช่วงแรกถือเป็นนิกายหนึ่งของศาสนายูดาห์เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1 โดยถือกำเนิดขึ้นในชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออกของตะวันออกกลาง (ปัจจุบัน คือ อิสราเอลและปาเลสไตน์) ไม่นานก็เผยแพร่ไปยังซีเรีย เมโสโปเตเมีย เอเชียไมเนอร์ และอียิปต์ ศาสนาคริสต์มีขนาดและอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษ และจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ได้กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติจักรวรรดิโรมัน ระหว่างสมัยกลาง ในดินแดนยุโรปที่เหลือส่วนมากรับศาสนาคริสต์แล้ว แต่บางภูมิภาค เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ เอธิโอเปีย และบางส่วนของประเทศอินเดีย คริสตชนยังถือเป็นศาสนิกชนกลุ่มน้อย หลังยุคสำรวจ ศาสนาคริสต์ได้แผ่ขยายไปยังทวีปอเมริกา ออสตราเลเซีย แอฟริกาใต้สะฮารา และส่วนที่เหลือของโลกผ่านงานมิชชันนารีและลัทธิอาณานิคม พระเยซูคือพระเมสสิยาห์ที่พยากรณ์ไว้ในคัมภีร์ฮีบรู ซึ่งในศาสนาคริสต์เรียกว่า "พันธสัญญาเดิม" พื้นฐานเทววิทยาศาสนาคริสต์นั้นแสดงออกมาในหลักข้อเชื่อสากล (ecumenical creed) ที่มีมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในบรรดาคริสต์ศาสนิกชน การประกาศข่าวประเสริฐนี้มีอยู่ว่า พระเยซูทรงรับพระทรมาน สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและถูกฝังพระศพไว้ ก่อนจะคืนพระชนม์เพื่อให้ชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่เชื่อในพระองค์และวางใจว่าพระองค์เป็นผู้ไถ่บาป พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ที่ซึ่งพระองค์ทรงควบคุมและปกครองรวมกับพระเจ้าพระบิดา พระเยซูจะทรงเสด็จกลับมาพิพากษามนุษย์ทุกคน ทั้งคนเป็นและคนตาย และให้ชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่เชื่อและวางใจในพระองค์ พระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นแบบอย่างของชีวิตอันดีงาม และทรงเป็นทั้งผู้เผยพระวจนะเหนือผู้เผยพระวจนะและเป็นพระเจ้าลงมารับสภาพมนุษย์ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ศาสนาคริสต์มีศาสนิกชนประมาณ 2.4 พันล้านคนทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 33% หรือหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของประชากรโลก และเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นศาสนาประจำชาติในหลายประเทศ == นิกาย == มนุษย์ได้แบ่งศาสนาคริสต์ให้เป็นนิกายต่าง ๆ ซึ่งแปรไปตามพื้นที่, วัฒนธรรม และความคิดของตน นิกายที่สำคัญมี 3 นิกายคือ โรมันคาทอลิก แปลว่าสากล เป็นนิกายดั้งเดิมที่ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์เคารพพระนางมารีย์และนักบุญต่าง ๆ ภายในโบสถ์ของนิกายนี้จะมีรูปเคารพพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีย์ และนักบุญต่าง ๆ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่สันตะสำนัก มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข โดยสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอัครทูตกลุ่มแรก โดยถือว่านักบุญซีโมนเปโตรคือพระสันตะปาปาพระองค์แรก ซึ่งได้รับการยินยอมจากพระเจ้าให้ปกครองศาสนจักรทั้งมวลและสืบทอดมาถึงสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน คาทอลิกมีนักบวชเรียกว่าบาทหลวง และสมาชิกคณะนักบวชคาทอลิก ถ้าเป็นชายเรียกว่าภราดา (brother) หญิงเรียกว่าภคินี (sister) ชาวไทยจะเรียกผู้นับถือนิกายนี้ว่า "คริสตัง" ตามเสียงอ่านภาษาโปรตุเกส มีผู้นับถือนิกายนี้ประมาณ 1200 ล้านคน นิกายนี้ถือว่าบาทหลวงเป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ (ตัวแทนพระเจ้าในโลกนี้) ออร์ทอดอกซ์ แปลว่าถูกต้องและดั้งเดิม นิกายออทอดอกซ์ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าศาสนาคริสต์ตะวันออก เป็นนิกายดั้งเดิม ปฏิบัติตามหลักการทางเทววิทยาอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยศาสนาคริสต์ยุคแรก ศาสนจักรนี้เชื่อว่าคริสตจักรออร์โธด็อกซ์เป็นคริสตจักรแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวที่ก่อตั้งโดยพระเยซูคริสตเจ้า โดยสืบเนื่องมาจากอัครทูตของพระเยซูคริสต์ โดยนับถือมากในประเทศทางฝั่งยุโรปตะวันออก เช่น กรีซ รัสเซีย โรมาเนีย ยูเครน บัลแกเรีย ฟินแลนด์ สโลวาเกีย มาซิโดเนีย ฯลฯ คริสตจักรออร์ทอดอกซ์แบ่งการปกครองเป็นคริสตจักรย่อย ๆ แต่ละคริสตจักรมีอัครบิดร (หรือชาวอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ในประเทศไทยเรียกว่า พระสังฆราช)เป็นประมุข ผู้มีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ประเพณีของศาสนจักร และสามารถสืบสายกลับไปได้ถึงอัครทูตของพระเยซูโดยเฉพาะนักบุญอันดรูว์ และออร์ทอดอกซ์มีนักบวชเรียกว่าบาทหลวง ส่วนนักบวชหญิงเรียกว่าภคินี หรือซิสเตอร์ มีผู้นับถือนิกายนี้ประมาณ 225–300 ล้านคน โปรเตสแตนต์ แปลว่าคัดค้าน แยกตัวมาจากนิกายโรมันคาทอลิกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นนิกายที่ถือว่าศรัทธาของแต่ละคนที่มีต่อพระเจ้าสำคัญกว่าพิธีกรรม ซึ่งยังแตกย่อยออกเป็นหลายร้อยคณะ เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างในประเด็นปลีกย่อยที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล และการปฏิบัติในพิธีกรรม นิกายนี้ไม่มีนักบวชเพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยมิต้องอาศัยบาทหลวง มีเพียงศิษยาภิบาล ที่คอยให้คำปรึกษากับผู้เชื่อ และถือว่าพระเยซูได้ทรงไถ่บาปแก่ศาสนิกทุกคนไปเมื่อถูกตรึงกางเขนแล้ว นิกายนี้มีเพียงไม้กางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งศาสนาเท่านั้น ชาวไทยจะเรียกผู้นับถือนิกายนี้ว่า "คริสเตียน" ตามเสียงอ่านภาษาอังกฤษ มีผู้นับถือรวมกันทุกนิกายย่อยประมาณ 850 ล้านคน นิกายนี้ถือว่าพระคัมภีร์เป็นถ้อยคำที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าได้เปิดเผยแก่มนุษย์ให้รู้จักพระองค์และรู้จักแผนการของพระเจ้าที่มีต่อมวลมนุษยชาติ == พิธีกรรมสำคัญในศาสนาคริสต์ == พิธีกรรมสำคัญในศาสนานี้เรียกว่า "พิธีศักดิ์สิทธิ์" มีดังนี้ พิธีบัพติศมา หรือศีลล้างบาป เป็นพิธีกรรมแรกที่รับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นการแสดงตัวว่ามอบชีวิตให้กับพระเจ้า เสมือนชีวิตเก่านั้นได้ตายแล้วและจากนี้ไปจะมีชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์ ซึ่งยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นผู้ริเริ่มทำพิธีเป็นครั้งแรกในสมัยที่พระเยซูคริสต์ยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ในนิกายโรมันคาทอลิกบาทหลวงจะใช้น้ำเสกเทลงบนศีรษะพร้อมเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผาก ในนิกายออร์ทอดอกซ์ ก่อนทำพิธีล้างจะมีการแต่งตั้งนักบุญและสวดมนต์เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากตัวของผู้ที่เข้ารับศีลล้างบาปโดยบาทหลวงจะเป็นผู้ทำพิธี และสุดท้ายจะจุ่มตัวของผู้ล้างลงในน้ำสามครั้ง ในนิกายโปรเตสแตนต์ใข้น้ำเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ตายจากชีวิตเก่าและถือกำเนิดใหม่ในพระคริสต์แล้วโดยอาจจุ่มทั้งตัวผู้รับบัพติศมาแล้วจึงขึ้นจากน้ำ หรืออาจประพรมด้วยน้ำลงบนศีรษะก็ได้ พิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ หรือศีลมหาสนิท เป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงการร่วมสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเยซู มีการปฏิบัติครั้งแรกโดยพระเยซูคริสต์ในคืนวันที่จะถูกจับไปเป็นนักโทษเพื่อเข้าสู่ การตรึงกางเขน ซึ่งมีบันทึกไว้โดยเปาโลอัครทูตในจดหมายที่เขียนฝากไปยังคริสตชนที่เมืองโครินธ์ ซึ่งอยู่ใน พันธสัญญาใหม่ ของพระคัมภีร์ไบเบิล ความว่า และทางนิกายโรมันคาทอลิกและออร์ทอดอกซ์จะถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์มาก โดยจะรับประทานขนมปังและไวน์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความเชื่อแทนพระกายและพระโลหิตของพระเยซู (ทางศาสนจักรโรมันคาทอลิก และออร์ทอดอกซ์จะถือว่าขนมปังและไวน์ในทางอัศจรรย์จะกลายเป็นพระมังสาและพระโลหิตของพระเยซูคริสต์) และเป็นพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากพิธีปัสคาของศาสนายูดาห์ ศีลอภัยบาป เป็นการสารภาพบาปกับพระเจ้าโดยผ่านบาทหลวง บาทหลวงจะเป็นผู้ตักเตือนสั่งสอนไม่ให้ทำบาปนั้นอีก และทำการอภัยบาปให้ในนามพระเจ้า ศีลกำลัง เป็นพิธีรับศีลโดยการเจิมหน้าผาก เพื่อยืนยันความเชื่อว่าจะนับถือศาสนาคริสต์ตลอดไปและได้รับพระพรของพระจิต ทำให้เข้มแข็งในความเชื่อมากขึ้นโดยทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์จะเรียกพิธีนี้ว่า "พิธีกรรมแห่งศีลการเจิมน้ำมันอันศักดิ์สิทธิ์" ศีลสมรส เป็นพิธีประกอบการแต่งงาน โดยบาทหลวงเป็นพยาน เป็นการแสดงความสัมพันธ์ว่าจะรักกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ศีลอนุกรม เป็นพิธีสำหรับการบวชเป็นนักบวช ได้แก่ มุขนายก (พระสังฆราช) บาทหลวง และพันธบริกร (สังฆานุกร) ศีลเจิมคนไข้ เป็นพิธีเจิมคนไข้โดยบาทหลวงจะเจิมน้ำมันลงบนหน้าผากและมือทั้งสองข้างของผู้ป่วย ให้ระลึกว่าพระเจ้าจะอยู่กับตนและให้พลังบรรเทาอาการเจ็บป่วย โดยทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์จะเรียกว่า "พิธีกรรมศีลเสกเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์" สำหรับนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายออร์ทอดอกซ์ จะมีพิธีกรรมทั้ง 7 พิธี แต่สำหรับนิกายโปรเตสแตนต์ จะมีเพียง 2 พิธี คือ พิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == ศาสนาคริสต์ ประวัติความเป็นมา ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 1
thaiwikipedia
702
ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลาม (Islam) เป็นศาสนาเอกเทวนิยมและศาสนาอับราฮัม บัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามซึ่งสาวกถือว่าเป็นพระวจนะคำต่อคำของพระเป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) และสำหรับสาวกส่วนใหญ่ เป็นคำสอนและตัวอย่างเชิงบรรทัดฐาน (เรียกว่า สุนัต และประกอบด้วยหะดีษ) ของมุฮัมมัด (ประมาณ 570–8 มิถุนายน 632) เป็นศาสดา (นบี) องค์สุดท้ายของพระเป็นเจ้า สาวกของศาสนาอิสลาม เรียกว่า มุสลิม มุสลิมเชื่อว่า พระเจ้าเป็นหนึ่งและหาที่เปรียบไม่ได้ และจุดประสงค์ของการดำรงอยู่ คือ เพื่อรักและรับใช้พระเป็นเจ้า มุสลิมยังเชื่อว่า ศาสนาอิสลามเป็นบรรพศรัทธาฉบับสมบูรณ์และเป็นสากลที่สุดซึ่งได้ประจักษ์มาหลายครั้งก่อนหน้านั้น ผ่านศาสดาซึ่งรวมอาดัม โนอาห์ อับราฮัม โมเสส และพระเยซู พวกเขายึดมั่นว่า สารและวิวรณ์ถูกแปลผิดหรือเปลี่ยนแปลงบางส่วนตามกาล แต่มองว่าอัลกุรอานภาษาอาหรับเป็นทั้งวิวรณ์สุดท้ายและไม่เปลี่ยนแปลงของพระเป็นเจ้า มโนทัศน์และหลักศาสนามีเสาหลักทั้งห้าของอิสลาม ซึ่งเป็นมโนทัศน์พื้นฐานและการปฏิบัติตนนมัสการที่ต้องปฏิบัติตาม และกฎหมายอิสลามที่ตามมา ซึ่งครอบคลุมแทบทุกมุมของชีวิตและสังคม โดยกำหนดแนวทางในหัวเรื่องหลายหลาก ตั้งแต่การธนาคารไปจนถึงสวัสดิการ ชีวิตครอบครัวและสิ่งแวดล้อม มุสลิมส่วนใหญ่เป็นนิกายซุนนีย์ คิดเป็น 75–90% ของมุสลิมทั้งหมด นิกายใหญ่ที่สุดอันดับสอง คือ ชีอะฮ์ คิดเป็น 10–20% ประเทศมุสลิมใหญ่ที่สุด คือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีชาวมุสลิม 12.7% ของโลก ตามมาด้วยปากีสถาน (11.0%) อินเดีย (10.9%) และบังกลาเทศ (9.2%) นอกจากนี้ ยังพบชุมชนขนาดใหญ่ในจีน รัสเซียและยุโรปบางส่วน ด้วยสาวกกว่า 1,500 ล้านคน หรือ 22% ของประชากรโลก อิสลามจึงเป็นศาสนาใหญ่ที่สุดอันดับสองและศาสนาหลักที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกศาสนาหนึ่ง == ศัพทมูลวิทยาและความหมาย == == บทแห่งศรัทธา == === พระเป็นเจ้า === หลักมูลที่สุดของศาสนาอิสลาม คือ เอกเทวนิยมอย่างเคร่งครัด เรียก เตาฮีต (توحيد) พระเป็นเจ้าพรรณนาในบทที่ 112 ของคัมภีร์อัลกุรอานว่า "จงกล่าวเถิด "พระองค์คืออัลลอฮฺ พระผู้ทรงเอกะ อัลลอฮฺนั้นทรงอิสระ พระองค์ไม่ทรงประสูติบุตร และไม่ทรงถูกประสูติ และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์"" (112:1-4) มุสลิมและยิวบอกเลิกหลักตรีเอกานุภาพของคริสต์ศาสนิกชนและเทวภาวะของพระเยซู โดยเปรียบเทียบกับพหุเทวนิยม ในศาสนาอิสลาม พระเป็นเจ้าอยู่เกินความเข้าใจซึ้งใด ๆ และมุสลิมไม่คาดหวังเห็นพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าถูกพรรณาและอ้างถึงในหลายพระนามหรือลักษณะเฉพาะบางอย่าง ที่พบบ่อยที่สุดคือ อัร-เราะห์มาน (Al-Rahmān) หมายถึง "พระผู้ทรงเมตตา" และอัล-ราฮีม (Al-Rahīm) หมายถึง "พระผู้ทรงปรานี" มุสลิมเชื่อว่าการสรรสร้างทุกสิ่งในเอกภาพถูกทำให้มีโดยพระโองการบริบูรณ์ของพระเป็นเจ้า "จงเป็น แล้วมันก็เป็นขึ้นมา" และความมุ่งหมายของการดำรงอยู่คือเพื่อบูชาพระเป็นเจ้า มองว่าพระองค์เป็นพระเป็นเจ้าเฉพาะบุคคลซึ่งทรงสนองเมื่อใดก็ตามที่บุคคลต้องการหรือเป็นทุกข์เรียกหาพระองค์ ไม่มีคนกลาง เช่น นักบวช เพื่อติดต่อพระเป็นเจ้าซึ่งว่า "เรานั้นใกล้ชิดเขายิ่งกว่าเส้นโลหิตชีวิตของเขาเสียอีก" มีกล่าวถึงธรรมชาติส่วนกลับในหะดีษกุดซีย์ "เราเป็นอย่างที่ผู้รับใช้ของเราคิด (คาด) ว่าเราเป็น" อัลลอฮฺเป็นคำไม่มีพหูพจน์หรือเพศที่มุสลิมและคริสต์ศานิกชนและยิวที่พูดภาษาอารบิกอ้างถึงพระเป็นเจ้า ส่วน "อิเลาะห์" (إله‎) เป็นคำที่ใช้กับเทวดาหรือเทพเจ้าโดยรวม === เทวทูต === ความเชื่อในเทวทูตเป็นหลักมูลต่อศรัทธาศาสนาอิสลาม คำภาษาอารบิกสำหรับทูตสวรรค์ (ملك) หมายถึง "ทูต" เหมือนคำเดียวกันในภาษาฮีบรู (malakh) และกรีก (angelos) ตามคัมภีร์อัลกุรอาน เทวทูตไม่มีเจตจำนงเสรี ฉะนั้นจึงบูชาและเชื่อฟังพระเป็นเจ้าโดยทำตามอย่างสมบูรณ์ กิจของเทวทูตมีการสื่อสารวิวรณ์จากพระเป็นเจ้า การเฉลิมพระเกียรติพระเป็นเจ้า การบันทึกทุกกิริยาของบุคคล และการเอาวิญญาณของบุคคลเมื่อถึงกาลมรณะ มุสลิมเชื่อว่าเทวทูตทำจากแสง พรรณนาว่าเทวทูตเป็น "ทูต มีปีก สองหรือสามหรือสี่ (คู่) [อัลลอฮฺ]ทรงเพิ่มในการสร้างตามที่พระองค์ทรงประสงค์..." == หลักคำสอน == หลักคำสอนของศาสนาอิสลามแบ่งไว้ 3 หมวดดังนี้ หลักการศรัทธา หลักจริยธรรม หลักการปฏิบัติ === หลักการศรัทธา === สติปัญญาและสามัญสำนึกจะพบว่า จักรวาลและมวลสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ มิได้อุบัติขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นที่แน่ชัดว่า สิ่งเหล่านี้ได้ถูกอุบัติขึ้นมาโดยพระผู้สร้าง ผู้ทรงสูงสุดเพียงพระองค์เดียว ที่ไม่แบ่งภาค หรือแบ่งแยกเป็นสิ่งใด ไม่ถูกบังเกิด ไม่ถูกกำเนิด และไม่ให้กำเนิดบุตร ธิดาใด ๆ ผู้ทรงสร้าง และบริหารสรรพสิ่งด้วยอำนาจและความรอบรู้ที่ไร้ขอบเขต ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ที่โดยทั่วไปไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไว้ทั่วทั้งจักรวาลหรือที่เข้าใจว่าเป็น"กฎธรรมชาติ" ทรงขับเคลื่อนจักรวาลด้วยระบบที่ละเอียดอ่อน มีเป้าหมาย ซึ่งไม่มีสรรพสิ่งใดถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างประเสริฐจะเป็นไปได้อย่างไร ที่พระองค์จะปล่อยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ไปตามลำพัง โดยไม่ทรงเหลียวแล หรือปล่อยให้สังคมมนุษย์ และสิ่งมีชีวิต กำเนิดขึ้น แล้วดำเนินไปตามยถากรรมของตัวเอง สภาวะแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่จึงเป็นความพอดีอย่างทีสุดที่ผู้ใช้ปัญญา ไม่สามารถอธิบายได้ด้วย"ความบังเอิญ" สอดคล้องตามทฤษฎีความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์ พระองค์ทรงขจัดความสงสัยเหล่านี้ ด้วยการประทานกฎการปฏิบัติต่าง ๆ ผ่านบรรดาศาสดา ให้มาสั่งสอนและแนะนำมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติ สำหรับการดำเนินชีวิต แน่นอนมนุษย์อาจมองไม่เห็นผล หรือได้รับประโยชน์จากการทำความดี หรือได้รับโทษจากการทำชั่ว ของตนในชีวิตบนโลกนี้ ที่เป็นเพียงโลกแห่งการทดสอบ โลกแห่งการตอบแทนที่แท้จริงยังมาไม่ถึง จากจุดนี้ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า ต้องมีสถานที่อื่นอีก อันเป็นสถานที่ตรวจสอบการกระทำของมนุษย์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าเป็นความดีพวกเขาจะได้รับรางวัลเป็นผลตอบแทน แต่ถ้าเป็นความชั่วก็จะถูกลงโทษไปตามผลกรรมนั้น ศาสนาได้เชิญชวนมนุษย์ไปสู่หลักการศรัทธา และความเชื่อมั่นที่สัตย์จริง พร้อมพยายามผลักดันมนุษย์ ให้หลุดพ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา ระบอบการกดขี่ การแบ่งชั้นวรรณะ และบังเกิดสันติสุขของมนุษยชาติโดยรวมในที่สุด === หลักจริยธรรม === ศาสนาสอนว่า ในการดำเนินชีวิตจงเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ดี อันเป็นที่ยอมรับของสังคม จงทำตนให้เป็นผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม พัฒนาตนเองไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่รู้จักหน้าที่ ห่วงใย มีเมตตา มีความรัก ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รู้จักปกป้องสิทธิของตน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และหมั่นใฝ่หาความรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรม ซึ่งความสมบูรณ์ทั้งหมดอยู่ที่ความยุติธรรม === หลักการปฏิบัติ === ศาสนาสอนว่า กิจการงานต่าง ๆ ที่จะทำนั้น มีความเหมาะสมกับตนเองและสังคม ขณะเดียวกันต้องออกห่างจากการงานที่ไม่ดี ที่สร้างความเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง ส่วนการประกอบคุณงามความดีอื่น ๆ การถือศีลอด การนมาซ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นบ่าวที่จงรักภักดี และปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ กฎเกณฑ์และคำสอนของศาสนา ทำหน้าที่คอยควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ทั้งที่เป็นหลักศรัทธา หลักปฏิบัติและจริยธรรม เราอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ละเมิดคำสั่งต่าง ๆ ของศาสนา มิได้ถือว่าเขาเป็นผู้ที่ศรัทธาอย่างแท้จริง หากแต่เขากระทำการต่าง ๆ ไปตามอารมณ์และความต้องการใฝ่ต่ำของเขาเท่านั้นเอง ศาสนาอิสลามในความหมายของอัล-กุรอานนั้น หมายถึง "แนวทางในการดำเนินชีวิต ที่มนุษย์จะปราศจากมันไม่ได้" ส่วนความแตกต่างระหว่างศาสนากับกฎของสังคมนั้น คือศาสนาได้ถูกประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้า ส่วนกฎของสังคมเกิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ อีกนัยหนึ่ง ศาสนาอิสลามหมายถึง การดำเนินของสังคมที่เคารพต่ออัลลอหฺ และเชื่อฟังปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ อัลลอฮ์ ตรัสเกี่ยวกับศาสนาอิสลามว่า "แท้จริง ศาสนา ณ อัลลอฮฺ คืออิสลาม และบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์มิได้ขัดแย้งกัน นอกจากภายหลังที่ความรู้มาปรากฏแก่พวกเขาเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากความอิจฉาริษยาระหว่างพวกเขาเอง และผู้ใดปฏิเสธต่อบรรดาโองการของอัลลอฮ์แล้วไซร้ แน่นอน อัลลอฮ์ทรงเป็นผู้ทรงรวดเร็วในการชำระ" (อัลกุรอาน อาลิอิมรอน:19) == ศาสนวินัย นิติศาสตร์และการพิพากษา == วาญิบ คือหลักปฏิบัติภาคบังคับที่มุกัลลัฟ (มุสลิมผู้อยู่ในศาสนนิติภาวะ) ทุกคน ต้องปฏิบัติตาม ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงทัณฑ์ เช่นการปฏิบัติตาม ฐานบัญญัติของอิสลาม (รุกน) ต่าง ๆ การศึกษาวิทยาการอิสลาม การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เป็นต้น ฮะรอม คือกฎบัญญัติห้ามที่มุกัลลัฟทุกคนต้องละเว้น ผู้ที่ไม่ละเว้นจะต้องถูกลงทัณฑ์ ฮะลาล คือกฎบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ อันได้แก่ การนึกคิด วาจา และการกระทำที่ศาสนาได้อนุมัติให้ เช่น การรับประทานเนื้อปศุสัตว์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้อง การค้าขายโดยสุจริตวิธี การสมรสกับสตรีตามกฎเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ เป็นต้น มุสตะฮับ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ซุนนะฮฺ (ซุนนะห์, ซุนนัต) คือกฎบัญญัติชักชวนให้มุสลิม และมุกัลลัฟกระทำ หากไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนศาสนวินัย โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการใช้น้ำหอม การขริบเล็บให้สั้นเสมอ การละหมาดเหนือการละหมาดภาคบังคับหรือการละหมาดนอกเวลา ละหมาดต่างสถานที่ มักรูฮฺ คือกฎบัญญัติอนุมัติให้มุกัลลัฟกระทำได้ แต่พึงละเว้น คำว่า มักรูหฺ ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า น่ารังเกียจ โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม เช่นการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ การสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ขัดต่อกาลเทศะ เป็นต้น มุบาฮฺ คือสิ่งที่กฎบัญญัติไม่ได้ระบุเจาะจง จึงเป็นความอิสระสำหรับมุกัลลัฟที่จะเลือกกระทำหรือละเว้น เช่นการเลือกพาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ หรือ การเล่นกีฬาที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติห้าม === ฐานบัญญัติอิสลาม (รุกุน) ของซุนนีย์ === การปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอหฺและมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอหฺ ดำรงการละหมาด วันละ 5 เวลา จ่ายซะกาต ถือศีลอดในเดือนรอมะฎอนทุกปี บำเพ็ญฮัจญ์ หากมีความสามารถ == อ้างอิง == ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 7
thaiwikipedia
703
ศาสนาบาไฮ
ศาสนาบาไฮ หรือ ลัทธิบาไฮ (Baháʼí Faith; ; بهائی ) เป็นศาสนาที่สอนคุณค่าอันเป็นสาระสำคัญของศาสนาทั้งปวง และเอกภาพของผู้คนทั้งปวง พระบะฮาอุลลอฮ์ก่อตั้งขึ้นในปี 1863 โดยเริ่มต้นเติบโตในแถบเปอร์เซียและบางส่วนของตะวันออกกลาง ที่ซึ่งมีการลงโทษศาสนิกชนอยู่ตลอดนับตั้งแต่การตั้งศาสนา มีการประมาณการณ์ว่ามีผู้นับถือศาสนาบาไฮอยู่ราว 5 ถึง 8 ล้านคน เรียกว่าศาสนิกชนบาไฮ (Baháʼís) กระจายอยู่ตามประเทศและเขตการปกครองส่วนใหญ่ของโลก ศาสนาบาไฮมีบุคคลสำคัญอยู่สามบุคคล คือ พระบาบ (1819–1850) ที่เชื่อว่าเป็นผู้นำข่าวดีมาประกาศ (herald) สอนว่าพระเป็นเจ้าจะทรงส่งผู้เผยพระวจนะเช่นเดียวกับพระเยซูหรือมูฮัมหมัดมา ในท้ายที่สุด พระบาบได้ถูกเจ้าหน้าที่ของอิหร่านลงโทษในปี 1850; พระบะฮาอุลลอฮ์ (1817–1892) ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นศาสดาพยากรณ์ในปี 1863 และสุดท้ายถูกขับไล่และจำคุกเป็นเวลาส่วนใหญ่ของช่วงชีวิตเขา; และบุตรชายของบาฮาอุลเลาะห์ พระอับดุลบะฮาอ์ (1844–1921) ผู้ถูกปล่อยเป็นอิสระจากการจองจำในปี 1908 และเดินทางไปสอนความเชื่อตามในยุโรปและอเมริกา ภายหลังการเสียชีวิตของท่านในปี 1921 หลานชายของท่าน Shoghi Effendi (1897–1957) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำของบาไฮ ทุก ๆ ปี ชาวบาไฮทั่วโลกจะมีการเลือกตั้งสภาจิตวิญญาณระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประจำชาติ และทุก ๆ ห้าปี สมาชิกทุกคนของสภาจิตวิญญาณประจำชาติจะเลือกตั้งผู้แทนสภายุติธรรมสากล ประกอบด้วยสมาชิกเก้าคน ผู้เป็นผู้ดูแลสูงสุดของชุมชนบาไฮทั่วโลก ตั้งอยู่ที่เมืองไฮฟา ประเทศอิสราเอล ใกล้กับสักการสถานพระบาบ คำสอนของบาไฮมีหลายส่วนที่คล้ายคึงกับคำสอนของศาสนาเอกเทวนิยมอื่น: พระเป็นเจ้า มีอยู่พระองค์เดียว และทรงมีพลังอำนาจสูงสุด อย่างไรก็ตาม บาฮาอุลเลาะห์ได้สอนว่าศาสนานั้นจะถูกเปิดเผยออกตามลำดับและอย่างก้าวหน้าโดยพระผู้สำแดงองค์ของพระเป็นเจ้า คือศาสดาศาสนาหลักของโลก โดยมีพระกฤษณะ, พระโคตมพุทธเจ้า, พระเยซู และมุฮัมมัด เป็นองค์ล่าสุด ตามด้วยพระบาบและพระบะฮาอุลลอฮ์ ศาสนาบาไฮเชื่อว่าศาสนาหลักของโลกล้วนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเชิงเป้าหมายในระดับพื้นฐาน แต่มีความต่างกันที่การปฏิบัติและการตีความ ศาสนาบาไฮยังให้ความสำคัญสูงมากกับเอกภาพของมนุษยชาติ, การแสดงออกอย่างเปิดเผยซึ่งการไม่ยอมรับการเหยียดสีผิว และ ชาตินิยม ทุกกรณี ใจกลางของคำสอนบาไฮคือเป้าหมายของการเกิดนิวเวิลด์ออร์เดอร์ที่สามารถยืนยันซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของทุกชาติ สีผิว ความเชื่อ และชนชั้น จดหมายต่าง ๆ ที่เขียนโดยบาฮาอุลเลาะห์สนทนากับผู้คนต่าง ๆ รวมถึงประมุขของรัฐบางรัฐ ได้ถูกรวบรวมและเผยแพร่เป็นงานหลักกลางของวรรณกรรมบาไฮ ซึ่งรวมถึงงานเขียนโดยบุตรของบาฮาอุลเลาะห์ พระอับดุลบะฮาอ์ และ พระบาบ ผู้มาก่อนบาฮาอุลเลาะห์ วรรณกรรมชิ้นสำคัญของบาไฮได้แก่ คีตาบีอัคดัส, คีตาบีอีคาน, คำถามบางประการที่ทราบคำตอบแล้ว และ ปวงผู้ทลายอรุณทอแสง == ความเชื่อ == คำสอนของพระบาฮาอุลลาห์เป็นพื้นฐานของความเชื่อบาไฮ หลักสามประการที่เป็นศูนย์กลางของคำสอนคือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระผู้เป็นเจ้า ความเป็นหนึ่งของศาสนา และความเป็นหนึ่งของมนุยชาติ ชาวบาไฮเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเปิดเผยพระประสงค์เป็นช่วง ๆ ผ่านทางผู้นำสารสวรรค์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนคุณลักษณะของมนุษยชาติและพัฒนาคุณธรรมและคุณสมบัติของจิตวิญญาณของผู้ที่ตอบรับ ศาสนาได้ถูกมองว่าเป็นตามลำดับ เป็นเอกภาพและพัฒนาจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง === อ้างอิง === ===บรรณานุกรม=== ===รายงานข่าว=== == แหล่งข้อมูลอื่น == เว็บไซต์องค์กรบาไฮ เว็บไซต์องค์กรบาไฮประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2406
thaiwikipedia
704
ประเทศอิสราเอล
ประเทศอิสราเอล (Israel; יִשְׂרָאֵל; إِسْرَائِيل) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า รัฐอิสราเอล (State of Israel; מְדִינַת יִשְׂרָאֵל; دَوْلَة إِسْرَائِيل) เป็นประเทศในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและชายฝั่งเหนือของทะเลแดง มีเขตแดนทางบกติดต่อกับประเทศเลบานอนทางทิศเหนือ ประเทศซีเรียทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศจอร์แดนทางทิศตะวันออก ดินแดนเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ทางทิศตะวันออกและตะวันตกตามลำดับ และประเทศอียิปต์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศอิสราเอลมีภูมิลักษณ์หลากหลายแม้มีพื้นที่ค่อนข้างเล็ก เทลอาวีฟเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศ ส่วนที่ตั้งรัฐบาลและเมืองหลวงตามประกาศคือ เยรูซาเลม แม้อำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือเยรูซาเลมยังไม่มีการรับรองในระดับนานาประเทศ ราชอาณาจักรอิสราเอลและยูดาห์ถือกำเนิดขึ้นระหว่างยุคเหล็ก จักรวรรดิอัสซีเรียใหม่ทำลายอิสราเอลเมื่อราว 720 ปีก่อน ค.ศ. ต่อมายูดาห์ถูกจักรวรรดิบาบิโลเนีย เปอร์เซียและเฮลเลนนิสติกพิชิต และมีอยู่เป็นจังหวัดปกครองตนเองของยิว กบฏแมคาบี (Maccabean Revolt) ที่สำเร็จทำให้เกิดราชอาณาจักรแฮซมาเนียน (Hasmonean) ซึ่งมีเอกราชเมื่อ 110 ปีก่อน ค.ศ. ทว่า ใน 63 ปีก่อน ค.ศ. ตกเป็นรัฐบริวารของสาธารณรัฐโรมันซึ่งต่อมาตั้งราชวงศ์เฮโรเดียนใน 37 ปีก่อน ค.ศ. และ 6 ปีก่อน ค.ศ. สถาปนามณฑลยูเดียของโรมัน ยูเดียเป็นมณฑลหนึ่งของโรมันจนกบฏยิวที่ไม่สำเร็จทำให้เกิดการทำลายเป็นวงกว้าง การขับไล่ประชากรยิว และการเปลี่ยนชื่อภูมิภาคจากจูเดียเป็นซีเรียปาเลสตีนา (Syria Palaestina) มียิวอยู่ในภูมิภาคนี้บ้างเป็นเวลาหลายศตวรรษ ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 อาหรับยึดลิแวนต์จากจักรวรรดิไบแซนไทน์ แล้วอยู่ในการควบคุมของมุสลิมจนสงครามครูเสดครั้งที่หนึ่งในปี 1099 ตามด้วยการพิชิตของอัยยูบิดในปี 1187 รัฐสุลต่านมัมลุกอียิปต์ขยายการควบคุมเหนือลิแวนต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถูกจักรวรรดิออตโตมันพิชิตในปี 1517 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความตื่นตัวเรื่องชาติในหมู่ยิวนำไปสู่การสถาปนาขบวนการไซออนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ตามด้วยการเข้าเมืองออตโตมันและบริติชปาเลสไตน์หลายระลอก ในปี 1947 สหประชาชาติลงมติรับแผนแบ่งส่วนสำหรับปาเลสไตน์ที่แนะนำการสถาปนารัฐอาหรับและยิวและให้เยรูซาเลมอยู่ในการควบคุมของหลายชาติ หน่วยงานยิวยอมรับและผู้นำอาหรับปฏิเสธแผนดังกล่าว ปีต่อมา หน่วยงานยิวประกาศอิสรภาพของรัฐอิสราเอล และสงครามอาหรับ–อิสราเอล ค.ศ. 1948 ในเวลาต่อมาทำให้อิสราเอลครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอดีตอาณัติ ส่วนรัฐอาหรับเพื่อนบ้านถือครองเวสต์แบงก์และกาซา นับแต่นั้นอิสราเอลสู้รบในสงครามหลายครั้งกับประเทศอาหรับ และตั้งแต่ปี 1967 ยึดครองดินแดนรวมทั้งเวสต์แบงก์ ที่ราบสูงโกลันและฉนวนกาซา อิสราเอลขยายกฎหมายไปยังที่ราบสูงโกลันและเยรูซาเลมตะวันออก แต่ไม่รวมเวสต์แบงก์ การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์เป็นการยึดครองทางทหารยาวนานที่สุดในโลกในสมัยใหม่ ความพยายามระงับข้อพิพาทอิสราเอล–ปาเลสไตน์ยังไม่มีความตกลงสั้นติภาพขั้นสุดท้าย แต่มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์และจอร์แดนแล้ว ในกฎหมายหลักพื้นฐาน อิสราเอลนิยามตนเองว่าเป็นรัฐยิวและประชาธิปไตย ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยมีระบบรัฐสภา ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป โดยใช้การลงคะแนนระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อและ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเนสเซทเป็นองค์การบริหารอำนาจนิติบัญญัติสภาเดี่ยวของอิสราเอล อิสราเอลเป็นประเทศพัฒนาแล้ว สมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา และเศรษฐกิจของอิสราเอลใหญ่เป็นอันดับที่ 29 ของโลก อันดับที่ 13 ของโลกในด้าน GDP ต่อหัว ตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศราคาตลาดใน พ.ศ. 2566 อิสราเอลมีมาตรฐานการครองชีพสูงสุดในตะวันออกกลางและสูงสุดเป็นอันดับสามในทวีปเอเชีย อิสราเอลมีความคาดหมายการคงชีพสูงสุดประเทศหนึ่งในโลก == ภูมิศาสตร์ == แบบเมดิเตอร์เรเนียน ร้อนแห้งในฤดูร้อน เย็นปานกลาง และมีฝนตกเล็กน้อยในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย ระหว่าง 8 - 36 องศา ฝนตกประมาณปีละ 64 วัน ปริมาณ 539 มิลลิเมตร มีพรมแดน (ตามเข็มนาฬิกา) ติดกับประเทศเลบานอน ซีเรีย จอร์แดน และอียิปต์ อิสราเอลมีชายฝั่งบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อ่าวอะกาบา (Gulf of Aqaba) และทะเลเดดซี == ประวัติศาสตร์ == === ยุคก่อนประวัติศาสคร์ === ประวัติศาสตร์ของอิสราเอลเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าได้ทำพันธสัญญากับท่านอับราฮัม เนื่องจากว่าพระองค์ได้ทรงมองเห็นว่าท่านอับราฮัม เป็นคนชอบธรรมในสายพระเนตรของพระองค์ อับราฮัมมีลูกด้วยกันสองคน คนแรกคือ อิสมาเอล (Yismael) ที่เกิดกับหญิงทาสชื่อว่า นางฮาการ์ (Hagar) คนที่สองคือ อิสอัค (Ishak) หรือไอแซค (Issic) ที่เกิดกับซาราห์ (Sarah) ผู้เป็นบุตรหญิงของบิดาของอับราฮัม แต่ไม่ใด้เกิดจากมารดาเดียวกัน ส่วนเชื้อสายของอิสอัคนั้น เป็นต้นตระกูลของชาวอิสราเอล โดยอิสอัคมีลูกด้วยกันสองคนคือ เอซาว (Esau) และยาโคบ (Jacob) หรืออิสราเอลตามที่พระเจ้าได้ทรงตั้งชื่อให้เมื่อครั้งที่ท่านยาโคบหรือท่านอิสราเอลได้ปล้ำสู้กับพระเจ้าแล้วได้ชัยชนะครั้งที่ข้ามแม่น้ำยับบอก (การปล้ำสู้กันครั้งนี้เป็นเหตุให้ผู้ชายอิสราเอลไม่กินเส้นที่ตะโพก ซึ่งอยู่ที่ข้อต่อตะโพกนั้นจนถึงทุกวันนี้ เพราะพระองค์ทรงถูกต้องข้อต่อตะโพกของยาโคบตรงเส้นเอ็นที่ตะโพก) ยาโคบ Jacob หรือ อิสราเอล มีลูกด้วยกันสิบสามคนคือ รูเบน สิเมโอน เลวี ยูดาห์ ดาน นัฟทาลี กาด อาเชอร์ อิสสาคาร์ เศบูลุน โยเซฟ และเบนยามิน และดีนาหฺ์ (หลังจากให้กำเนิดเศบูลุน เลอาห์ให้กำเนิดบุตรสาวคือดีนาห์นี่เอง) จากพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับอับราฮัมพระองค์จึงได้บันดาลให้เกิดภัยแล้งขึ้นทั่วโลก ต่อมาได้เกิดภัยแล้งขึ้น ยาโคบ หรืออิสราเอล และครอบครัว ต้องทำมาหากินด้วยความยากลำบาก โยเซฟ บุตรคนหนึ่งของยาโคบได้ไปเป็นผู้ดูแลราชอาณาจักรในอียิปต์ เขาได้นำพี่น้องทั้งหมดที่ต้องประสบกับภัยแล้งในคานาอันเข้ามาอยู่อาศัยในแผ่นดินอียิปต์ ครั้นพอสิ้นโยเซฟไป ฟาโรห์องค์ต่อมาได้เกิดความไม่ไว้ใจต่อชาวฮีบรู จึงลดฐานะให้เป็นทาส แล้วเกณฑ์แรงงานไปใช้ในการทำอิฐเพื่อใช้ในการก่อสร้างพีรมิด และมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเด็กเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก มีทารกเพศชายคนหนึ่งรอดตายจากคำสั่งประหารนั้นมาได้ ชื่อว่า "โมเสส" (Moses) โมเสสเติบโตขึ้น เป็นผู้พาพวกอิสราเอล หรือ ฮีบรูซึ่งนับแต่ผู้ชายได้ถึง 600,000 คน ผู้หญิงและเด็กต่างหาก และยังมีฝูงชนชาติอื่นเป็นจำนวนมากติดตามไปด้วย พร้อมทั้งฝูงสัตว์ คือฝูงแพะแกะและโคจำนวนมาก ออกจากอียิปต์กลับไปสู่ประเทศปาเลสไตน์ โดยพระกรที่เหยียดออก พวกฮีบรูมีความสามัคคีและมีกำลังเข้มเข็งขึ้น จึงได้ทำการรวบรวมดินแดนโดยรอบ อันได้แก่ ดินแดนของพวกคานัน และพวกอาราเอลไลท์ แต่ก็ถูกรุกรานจากพวกพวกฟิลิเตีย (Philistine) ซึ่งอพยพจากเกาะครีต และเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบชายทะเล ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปาเลสไตน์ และพวกอามอไรท์กับฮิตไตท์จากทางเหนือ ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีกษัตริย์ปกครอง พวกอิสราเอลไลท์ได้พร้อมใจกันเลือกหัวหน้ากลุ่มที่เข้มแข็งขึ้นมาผู้หนึ่งชื่อ "ซาอูล" (Saul) ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรก เมื่อประมาณ 1,050 ปี ก่อนคริสตกาล หลังจากนั้น ชาวยิวมีกษัตริย์ที่เก่งกล้าอีก 2 องค์คือกษัตริย์ดาวิดและกษัตริย์โซโลมอน เมื่อกษัตริย์โซโลมอนสิ้นพระชนม์ เมื่อ ปี 930 ก่อนคริสต์ศักราช ทำให้อาณาจักรของโซโลมอนแตกออกป็นสองส่วนคือ อาณาจักรอิสราเอล (The Kingdom of Israel) โดยมีกรุงสะมาเรียเป็นเมืองหลวง และอาณาจักรยูดาห์ (Kingdom of Judah) โดยมีเยรูซาเลมเป็นศูนย์กลาง === ยุคกลางและประวัติศาสตร์ยุคใหม่ === ในปี 634–641 บริเวณนี้ รวมทั้งเยรูซาเลม ถูกอาหรับที่เพิ่งเข้ารีตอิสลามพิชิต การควบคุมดินแดนนี้เปลี่ยนแปลงระหว่างรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดีน อุมัยยะฮ์ อับบาซียะฮ์ ฟาติมียะห์ เซลจุก ครูเซเดอร์และอัยยูบิดในช่วงสามศตวรรษถัดมา ระหว่งการล้อมเยรูซาเลมในสงครามครูเสดครั้งที่หนึ่งในปี 1099 ผู้อยู่อาศัยในนครชาวยิวต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกำลังประจำที่ตั้งฟาติมียะห์และประชากรมุสลิมซึ่งพยายามปกป้องนครจากนักรบครูเสดอย่างไร้ผล เมื่อนครแตก มีผู้ถูกสังหารหมู่ประมาณ 60,000 คน รวมทั้งยิว 6,000 คนที่ลี้ภัยในธรรมศาลาแห่งหนึ่ง ในเวลานั้นซึ่งล่วงเลยการล่มสลายของรัฐยิวมาครบหนึ่งพันปี มีชุมชนยิวอยู่ทั่วประเทศ มีชุมชนที่ทราบ 50 แห่ง รวมทั้งเยรูซาเลม ไทเบียเรียส รามลา แอชคะลอน เซซาเรีย และกาซา อัลเบิร์ตแห่งอาเคินระบุว่า ผู้อยู่อาศัยในไฮฟาชาวยิวเป็นกำลังสู้รบหลักของนคร และ "ปะปนกับทหารซาราเซ็น [ฟาติมียะห์]" พวกเขาต่อสู้อย่างกล้าหาญเกือบเดือนจนถูกกองทัพเรือและทัพบกนักรบครูเสดบีบบังคับให้ล่าถอย ในปี 1165 ไมมอนีดีซ (Maimonides) เยือนเยรูซาเลมและสวดภาวนาบนเนินพระวิหารใน "สถานศักดิ์สิทธิ์ใหญ่" ในปี 1141 กวีชาวสเปนเชื้อสายยิว เยฮูดา ฮาเลวี (Yehuda Halevi) เรียกร้องให้ยิวย้ายไปยังแผ่นดินอิสราเอลซึ่งเขาเดินทางไปด้วยตนเอง ในปี 1887 สุลต่านเศาะลาฮุดดีนพิชิตนักรบครูเสดในยุทธการที่ฮัททิน และต่อมายึดเยรูซาเลมและปาเลสไตน์เกือบทั้งหมด ในเวลานั้น เศาะลาฮุดดีนออกประกาศเชิญชวนยิวให้หวนคืนและตั้งถิ่นฐานในเยรูซาเลม และยูดาห์ อัลฮารีซี (Judah al-Harizi) ระบุว่า "นับแต่อาหรับยึดเยรูซาเลม ชาวอิสราเอลก็อยู่อาศัยที่นั่น" อัลฮารีซีเปรียบเทียบพระราชกฤษฎีกาของเศาะลาฮุดดีนที่อนุญาตให้ยิวตั้งถิ่นฐานในเยรูซาเลมกับพระราชกฤษฎีกาของพระมหากษัตริย์เปอร์เซีย พระเจ้าไซรัสมหาราช เมื่อกว่า 1,600 ปีก่อน ในปี 1211 ชุมชนชาวยิวในประเทศเข้มแข็งขึ้นเมื่อกลุ่มยิวที่มีแรบไบกว่า 300 คนเป็นหัวหน้าเข้ามาจากฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งมีแรบไบแซมซัน เบน อับราฮัมแห่งเซนส์ แนคแมนีดีซ (Nachmanides) แรบไบชาวสเปนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 และผู้นำยิวที่ได้รับการรับรองยกย่องแผ่นดินอิสราเอลอย่างสูงและมองว่านิคมยิวเป็นข้อบัญญัติแน่นอนที่มีผลต่อยิวทุกคน เขาเขียนว่า "หากผู้มิใช่ยิวประสงค์สร้างสันติ เราจักสร้างสันติและปล่อยพวกเขาไว้บนเงื่อนไขชัดเจน แต่สำหรับเรื่องแผ่นดิน เราจักไม่ยอมปล่อยให้ตกอยู่ในมือพวกเขา หรือในดินแดนของชาติใด ไม่ว่าในอายุคนใด" ในปี 1260 การควบคุมภูมิภาคปาเลสไตน์ตกเป็นของสุลต่านมัมลุกอียิปต์ ประเทศตั้งอยู่ระหว่างศูนย์กลางอำนาจของมัมลุกสองแห่ง คือ ไคโรและดามัสกัสและมีการพัฒนาบ้างตามถนนส่งจดหมายที่เชื่อมระหว่างสองนคร เยรูซาเลมแม้ไม่มีการคุ้มครองจากกำแพงนครใด ๆ มาตั้งแต่ปี 1219 ก็มีโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ที่ตั้งอยู่รอบมัสยิดอัลอักศอบนเนินพระวิหาร ในปี 1266 สุลต่านไบบาส์ (Baybars) แห่งมัมลุกเปลี่ยนสภาพถ้ำอัครบิดร (Cave of the Patriarchs) ในฮีบรอนเป็นสถานที่คุ้มภัยของอิสลามโดยเฉพาะและห้ามคริสต์ศาสนิกชนและยิวเข้า ซึ่งเดิมสามารถเข้าได้โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียม คำสั่งห้ามมีผลจนอิสราเอลเข้าควบคุมอาคารในปี 1967 ในปี 1516 ภูมิภาคนี้ถูกจักรวรรดิออตโตมันพิชิต และอยู่ในการควบคุมของออตโตมันจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อบริเตนพิชิตกำลังออตโตมันและตั้งรัฐบาลทหารขึ้นปกครองทั่วอดีตออตโตมันซีเรีย ในปี 1920 ดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งระหว่างบริเตนและฝรั่งเศสภายใต้ระบบอาณัติ และพื้นที่ที่บริเตนบริหารราชการแผ่นดินซึ่งรวมอิสราเอลสมัยใหม่ได้ชื่อว่า ปาเลสไตน์ในอาณัติ === ขบวนการไซออนิสต์และอาณัติของบริเตน === นับแต่มีชุมชนยิวพลัดมาตุภูมิแรกสุด ยิวจำนวนมากหวังคืนสู่ "ไซออน" และ "แผ่นดินอิสราเอล" แม้ปริมาณความพยายามที่ควรใช้ไปเพื่อเป้าหมายนี้เป็นหัวข้อพิพาท ความหวังและความปรารถนาของยิวที่อาศัยอยู่นอกมาตุภูมิเป็นแก่นสำคัญของระบบความเชื่อของยิว หลังยิวถูกขับไล่ออกจากสเปนในปี 1492 บางชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ในปาเลสไตน์ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชุมชนยิวตั้งรกรากในสี่นครศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เยรูซาเลม ไทเบียเรียส ฮีบรอนและซาเฟ็ด และในปี 1697 แรบไบเยฮูดา ฮาชาซิด (Yehuda Hachasid) นำกลุ่มยิว 1,500 คนไปเยรูซาเลม ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้คัดค้านลัทธิฮาซิดิมชาวยุโรปตะวันออก ที่เรียก เปรูชิม (Perushim) ตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ การย้ายถิ่นของยิวสมัยใหม่ระลอกแรกไปปาเลสไตน์ในปกครองของออตโตมัน ที่เรียก อะลียาครั้งแรก (First Aliyah) เริ่มขึ้นในปี 1881 เมื่อยิวหนีโพกรมในยุโรปตะวันออก แม้มีขบวนการไซออนิสต์แล้ว นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรีย-ฮังการี ทีโอดอร์ เฮิซ (Theodor Herzl) ได้รับความชอบว่าเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการการเมืองไซออนิสต์ เป็นขบวนการซึ่งมุ่งสถาปนารัฐยิวในแผ่นดินอิสราเอล ฉะนั้นจึงเสนอทางออกแก่ปัญหาชาวยิวในรัฐยุโรป ร่วมกับเป้าหมายและความสำเร็จของโครงการระดับชาติอื่นในเวลานั้น ในปี 1896 เฮิซจัดพิมพ์หนังสือ รัฐยิว เสนอวิสัยทัศน์รัฐยิวในอนาคต ปีต่อมาเขาเป็นประธานสภาไซออนิสต์ครั้งที่หนึ่ง อะลียาครั้งที่สอง (ปี 1904–14) เริ่มขึ้นหลังโพกรมคีชีเนฟ (Kishinev pogrom) มียิวประมาณ 40,000 คนตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ แม้เกือบครึ่งออกจากที่นั้นในที่สุด ผู้เข้าเมืองทั้งสองระลอกแรกเป็นยิวออร์ทอด็อกซ์เสียส่วนใหญ่ แม้อะลียาครั้งที่สองมีกลุ่มสังคมนิยมซึ่งสถาปนาขบวนการคิบบุตส์ (kibbutz) อยู่ด้วย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบริเตน อาร์เธอร์ แบลเฟอร์ (Arthur Balfour) ส่งปฏิญญาแบลเฟอร์ปี 1917 แก่บารอนรอทส์ไชลด์ (วัลเทอร์ รอทส์ไชลด์ บารอนที่ 2 แห่งรอทส์ไชลด์) ผู้นำชุมชนยิวบริเตน ซึ่งแถลงว่าบริเตนตั้งใจสถาปนา "บ้านชาติ" ของยิวในอาณัติปาเลสไตน์ ในปี 1918 ลีจันยิว กลุ่มซึ่งประกอบด้วยอาสาสมัครไซออนิสต์เป็นหลัก สนับสนุนการพิชิตปาเลสไตน์ของบริเตน การคัดค้านการปกครองของบริเตนและการเข้าเมืองของยิวนำไปสู่เหตุจลาจลในปาเลสไตน์ปี 1920 และการสถาปนาทหารอาสาสมัครยิวที่เรียก ฮาฆอนาฮ์ (Haganah) ซึ่งต่อมาแยกออกมาเป็นกลุ่มกึ่งทหารออกัน (Irgan) และเลฮี (Lehi) ในปี 1922 สันนิบาตชาติให้อาณัติเหนือปาเลสไตน์แก่บริเตนภายใต้เงื่อนไขซึ่งรวมปฏิญญาแบลเฟอร์และคำมั่นแก่ยิว และบทบัญญัติคล้ายกันว่าด้วยชาวปาเลสไตน์เชื้อสายอาหรับ ประชากรของพื้นที่ในเวลานั้นเป็นอาหรับและมุสลิมเป็นหลัก โดยมียิวคิดเป็นประมาณร้อยละ 11 และคริสต์ศาสนิกชนเชื้อสายอาหรับประมาณร้อยละ 9.5 ของประชากร อะลียาครั้งที่สาม (1919–23) และครั้งที่สี่ (1924–29) นำชาวยิวอีก 100,000 คนมายังปาเลสไตน์ ความรุ่งเรืองของลัทธินาซีและการเบียดเบียนยิวที่เพิ่มขึ้นในทวีปยุโรปคริสต์ทศวรรษ 1930 นำไปสู่อะลียาครั้งที่ห้า โดยมีการไหลบ่าของชาวยิวกว่า 250,000 คน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของกบฏอาหรับปี 1936–39 ระหว่างนั้นทางการอาณัติบริติชร่วมกับทหารอาสาสมัครอาฆอนาห์และออกันฆ่าอาหรับ 5,032 คนและทำให้มีผู้บาดเจ็บ 14,760 คน ทำให้ประชากรอาหรับปาเลสไตน์ชายผู้ใหญ่กว่าร้อยละ 10 ถูกฆ่า ได้รับบาดเจ็บ ถูกจำคุกหรือถูกเนรเทศ บริเตนริเริ่มการจำกัดการเข้าเมืองปาเลสไตน์ของยิวด้วยกระดาษขาวปี 1939 เมื่อประเทศทั่วโลกไม่รับผู้ลี้ภัยยิวที่หนีฮอโลคอสต์ จึงมีการจัดระเบียบขบวนการลับที่เรียก เข็มขัดอะลียา เพื่อนำยิวไปปาเลสไตน์ เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ประชากรยิวของปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33 ของประชากรทั้งหมด === หลังสงครามโลกครั้งที่สองและเอกราช === หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริเตนขัดแย้งรุนแรงกับชุมชนยิวเรื่องการจำกัดการเข้าเมืองของยิว ตลอดจนความขัดแย้งกับชุมชนอาหรับเรื่องระดับขีดจำกัด ฮาฆอนาห์เข้าร่วมกับออกันและเลฮีในการต่อสู้ด้วยอาวุธต่อการปกครองของบริเตน ขณะเดียวกัน ผู้รอดชีวิตและผู้ลี้ภัยฮอโลคอสต์ชาวยิวหลายแสนคนแสวงชีวิตใหม่ห่างไกลจากชุมชนที่ถูกทำลายในทวีปยุโรป ยีชูฟ (Yishuv) พยายามนำผู้ลี้ภัยเหล่านี้มาปาเลสไตน์ แต่มีจำนวนมากถูกปฏิเสธหรือถูกบริเตนจับขังไว้ในค่ายกักกันในอัตลิตและไซปรัส วันที่ 22 กรกฎาคม 1946 ออกันโจมตีสำนักงานใหญ่บริหารราชการแผ่นดินของบริเตนสำหรับปาเลสไตน์ ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงแรมคิงดาวิดในเยรูซาเลม มีผู้เสียชีวิตหลายสัญชาติรวม 91 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 46 คน โรงแรมนั้นยังเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการรัฐบาลปาเลสไตน์และสำนักงานใหญ่ของกองทัพบริเตนในปาเลสไตน์และทรานส์เจอร์แดน ทีแรกการโจมตีนี้ได้รับความเห็นชอบจากฮาฆอนาห์ เข้าใจว่าเหตุนี้เป็นการตอบโต้ปฏิบัติการอะกาธา (การตีโฉบฉวยเป็นวงกว้างรวมทั้งต่อหน่วยงานยิว ซึ่งทางการบริติชเป็นผู้ลงมือ) และเป็นครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดต่อชาวบริติชระหว่างสมัยอาณัติ ในปี 1947 รัฐบาลบริติชประกาศว่าจะถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ โดยแถลงว่าไม่สามารถบรรลุวิธีระงับปัญหาที่ทั้งอาหรับและยิวยอมรับ วันที่ 15 พฤษภาคม 1947 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เพิ่งตั้งได้ข้อสรุปว่าให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยปาเลสไตน์ "เพื่อเตรียมรายงานว่าด้วยปัญหาปาเลสไตน์สำหรับข้อพิจารณาในสมัยประชุมสามัญแห่งสมัชชาฯ" ในรายงานของคณะกรรมการฯ ลงวันที่ 3 กันยายน 1947 ถึงสมัชชาใหญ่ฯ คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ในบทที่ 6 เสนอแผนแทนที่อาณัติปาเลสไตน์ด้วย "รัฐอาหรับเอกราช รัฐยิวเอกราช และนครเยรูซาเลม ... โดยอย่างหลังให้อยู่ภายใต้ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ" วันที่ 29 พฤศจิกายน สมัชชาใหญ่ฯ รับข้อมติที่ 181 (II) แนะนำการมีมติเห็นชอบและการนำไปปฏิบัติซึ่งแผนการแบ่งพร้อมสหภาพเศรษฐกิจ แผนที่แนบกับข้อมติมีความสำคัญที่เสนอโดยคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ในรายงานวันที่ 3 กันยายน หน่วยงานยิวซึ่งเป็นผู้แทนชุมชนยิวที่ได้รับการรับรอง ยอมรับแผนนี้ ฝ่ายสันนิบาตอาหรับและคณะกรรมการสูงอาหรับปาเลสไตน์ปฏิเสธ และบ่งชี้ว่าจะปฏิเสธแผนแบ่งส่วนใด ๆ วันรุ่งขึ้น คือ 1 ธันวาคม 1947 คณะกรรมการสูงอาหรับประกาศการหยุดงานประท้วงสามวัน และแก๊งอาหรับเริ่มโจมตีเป้าหมายยิว ทีแรกยิวเป็นฝ่ายตั้งรับเมื่อสงครามกลางเมืองปะทุ แต่ในต้นเดือนเมษายน 1948 เปลี่ยนเป็นฝ่ายบุก เศรษฐกิจปาเลสไตน์อาหรับล่มสลายและชาวอาหรับปาเลสไตน์หลบหนีหรือถูกขับไล่ 250,000 คน วันที่ 14 พฤษภาคม 1948 หนึ่งวันก่อนอาณัติบริติชหมดอายุ เดวิด เบนกูเรียน หัวหน้าหน่วยงานยิว ประกาศ "การสถาปนารัฐยิวในแผ่นดินอิสราเอล เรียก รัฐอิสราเอล" การพาดพิงเดียวในข้อความของประกาศฯ ถึงเขตแดนของรัฐใหม่คือการใช้คำว่าแผ่นดินอิสราเอล (Eretz-Israel) วันรุ่งขึ้น กองทัพประเทศอาหรับสี่ประเทศ คือ อียิปต์ ซีเรีย ทรานส์จอร์แดนและอิรัก ยาตราเข้าอดีตปาเลสไตน์ในอาณัติบริเตน เปิดฉากสงครามอาหรับ–อิสราเอล ค.ศ. 1948 ทหารสมทบจากประเทศเยเมน โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบียและซูดานเข้าร่วมสงครามด้วย ความมุ่งหมายปรากฏของการบุกครองคือการป้องกันการถสาปนารัฐยิวตั้งแต่เริ่มบังคับและผู้นำอาหรับบางคนพูดถึงการผลักดันยิวตกทะเล เบนนี มอร์ริสว่า ยิวรู้สึกว่ากองทัพอาหรับที่กำลังบุกครองมุ่งฆ่าล้างบางยิว สันนิบาตอาหรับแถลงว่าการบุกครองเป็นไปเพื่อฟื้นฟูกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและป้องกันการนองเลือดเพิ่มอีก หลังการสู้รบนานหนึ่งปี มีการประกาศการหยุดยิงและมีการสถาปนาพรมแดนชั่วคราว เรียก เส้นเขียว (Green Line) จอร์แดนผนวกดินแดนที่เรียก เวสต์แบงก์ รวมทั้งเยรูซาเลมตะวันออก และอียิปต์ควบคุมฉนวนกาซา สหประชาชาติประมาณว่าชาวปาเลสไตน์กว่า 700,000 คนถูกขับไล่หรือหลบหนีจากกำลังอิสราเอลที่กำลังรุกคืบระหว่างความขัดแย้งนั้น ซึ่งภาษาอารบิกเรียก นัคบา ("หายนะ") ส่วน 156,000 คนยังอยู่และกลายเป็นพลเมืองอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ === ปีแรก ๆ ของรัฐอิสราเอล === ประเทศอิสราเอลได้รับเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยคะแนนเสียงฝ่ายข้างมากเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1949 ทั้งอิสราเอลและจอร์แดนสนใจความตกลงสันติภาพอย่างจริงใจ แต่บริเตนขัดขวางความพยายามของจอร์แดนเพื่อเลี่ยงความเสียหายต่อผลประโยชน์ของบริเตนในอียิปต์ ในปีแรก ๆ ของรัฐ ขบวนการไซออนิสต์เลเบอร์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเดวิด เบนกูเรียนเป็นผู้นำ ครอบงำการเมืองอิสราเอล คิบบุตซิม หรือชุมชนระบบนารวม มีบทบาทสำคัญในการสถาปนารัฐใหม่ การเข้าเมืองอิสราเอลระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการเข้าเมืองอิสราเอลและสถาบันการเข้าเมืองมิชอบด้วยกฎหมายที่เอกชนสนับสนุน ทั้งสองกลุ่มอำนวยความสะดวกแก่ลอจิสติกส์การเข้าเมืองเป็นประจำเช่น การจัดหาการขนส่ง แต่ฝ่ายหลังเข้าร่วมในปฏิบัติการลับในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก ที่ซึ่งชีวิตชาวยิวเชื่อว่าตกอยู่ในอันตรายและการออกจากที่เหล่านั้นยาก มีการยุบสถาบันการเข้าเมืองมิชอบด้วยกฎหมายในปี 1953 การเข้าเมืองเป็นไปตามแผนหนึ่งล้าน ผู้เข้าเมืองมีเหตุผลหลากหลาย บ้างมีความเชื่อแบบไซออนิสต์หรือมาเพราะคำมั่นสำหรับชีวิตที่ดีกว่านอิสราเอล แต่บ้างย้ายเพื่อหนีการเบียดเบียนหรือถูกขับไล่ การไหลบ่าของผู้รอดชีวิตจากฮอโลคอสต์และยิวจากประเทศอาหรับและมุสลิมเข้าประเทศอิสราเอลระหว่างสามปีแรกเพิ่มจำนวนยิวจาก 700,000 คนเป็น 1.4 ล้านคน ภายในปี 1958 ประชากรอิสราเอลเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน ระหว่างปี 1948 และ 1970 มีผู้ลี้ภัยชาวยิวประมาณ 1,150,000 คนย้ายถิ่นเข้าประเทศอิสราเอล ผู้เข้าเมืองใหม่บางส่วนมาเป็นผู้ลี้ภัยโดยไม่มีทรัพย์สินติดตัวและกำหนดให้ำนักในค่ายชั่วคราวเรียก มาอะบารอต (ma'abarot) ภายในปี 1952 มีกว่า 200,000 คนอาศัยอยู่ในนครเต๊นท์เหล่านี้ ยิวที่มาจากทวีปยุโรปมักได้รับการปฏิบัติดีกว่ายิวจากประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ หน่วยเคหะที่สงวนไว้สำหรับยิวกลุ่มหลักมักได้รับกำหนดใหม่แก่ยิวกลุ่มแรก ส่งผลให้ยิวจากดินแดนอาหรับโดยทั่วไปอาศัยอยู่ในค่ายเปลี่ยนผ่านนานกว่า ความตึงเครียดซึ่งพัฒนาขึ้นระหว่างสองกลุ่มจากการเลือกปฏิบัติดังกล่าวดำเนินมาถึงทุกวันนี้ ระหว่างช่วงนี้ อาหาร เครื่องนุ่งห่มและเฟอร์นิเจอร์จำเป็นต้องได้รับการปันส่วน ซึ่งเรียก ยุครัดเข็มขัด ความจำเป็นเพื่อระงับวิกฤตการณ์นำให้เบนกูเรียนลงนามความตกลงค่าปฏิกรรมกับประเทศเยอรมนีตะวันตก ทำให้เกิดการประท้วงขนาดใหญ่ของยิวซึ่งโกรธแค้นกับแนวคิดที่ว่าอิสราเอลสามารถระงับค่าตอบแทนเป็นเงินจากฮอโลคอสต์ ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1950 ประเทศอิสราเอลถูกเฟดายีนปาเลสไตน์ (Palestinian fedayeen) โจมตีบ่อยครั้ง โดยมีเป้าหมายต่อพลเรือนเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่จากฉนวนกาซาที่อียิปต์ยึดครอง นำให้เกิดการตีโฉบฉวยโต้ตอบ ในปี 1956 บริเตนใหญ่และฝรั่งเศสมุ่งเข้าควบคุมคลองสุเอซอีกครั้ง ซึ่งอียิปต์โอนเป็นของรัฐ การปิดล้อมคลองสุเอซและช่องแคบติรานมิให้อิสราเอลขนส่งทางเรือ ร่วมกับปริมาณการโจมตีของเฟดายีนต่อประชากรภาคใต้ของอิสราเอลที่เพิ่มขึ้น และถ้อยแถลงร้ายแรงและคุกคามของอาหรับล่าสุด ทำให้อิสราเอลโจมตีอียิปต์ อิสราเอลเข้าเป็นพันธมิตรลับกับบริเตนใหญ่และฝรั่งเศส และสามารถเอาชนะได้คาบสมุทรไซนาย แต่ถูกสหประชาชาติกดดันให้ถอนกำลังเพื่อแลกกับการรับประกันสิทธิการเดินเรือของอิสราเอลในทะเลแดงโดยทางช่องแคบติรานและคลองฯ สงครามนั้น ซึ่งเรียก วิกฤตการณ์คลองสุเอซ ทำให้ลดการแทรกซึมชายแดนอิสราเอลลดลงอย่างสำคัญ ในค้นคริสต์ทศวรรษ 1960 อิสราเอลจับตัวอาชญากรสงครามนาซี อดอล์ฟ ไอชมันน์ในประเทศอาร์เจนตินาและนำตัวมาไต่สวนในอิสราเอล การไต่สวนนั้นมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อความตระหนักสาธารณะของฮอโลคอสต์ ไอชมันน์ยังเป็นผู้เดียวที่ถูกประหารชีวิตในประเทศอิสราเอลจากคำพิพากษาของศาลพลเรือนอิสราเอลจนถึงปัจจุบัน นับแต่ปี 1964 ประเทศอาหรับที่กังวลต่อแผนของอิสราเอลในการปันน้ำจากแม่น้ำจอร์แดนสู่ที่ราบชายฝั่ง พยายามหันเหต้นน้ำเพื่อตัดทรัพยากรน้ำของอิสราเอล ยั่วยุความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลฝ่ายหนึ่ง และซีเรียและเลบานอนอีกฝ่ายหนึ่ง นักชาตินิยมอาหรับซึ่งมีประธานาธิบดีอียิปต์ ญะมาล อับดุนนาศิร เป็นผู้นำ ปฏิเสธที่จะรับรองอิสราเอลและเรียกร้องให้ทำลายล้างอิสราเอล ภายในปี 1966 ความสัมพันธ์อาหรับ–อิสราเอลเสื่อมลงถึงขั้นที่มีการยุทธ์จริงจังระหว่างกำลังอิสราเอลและอาหรับ ในเดือนพฤษภาคม 1967 อียิปต์ประชุมกองทัพใกล้ชายแดนกับอิสราเอล ขับไล่กำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติซึ่งประจำอยู่ในคาบสมุทรไซนายตั้งแต่ปี 1957 และสกัดการเข้าถึงทะเลแดงของอิสราเอล รัฐอาหรับอื่นระดมกำลังเช่นกัน อิสราเอลย้ำว่าการกระทำเหล่านี้เป็นเหตุแห่งสงคราม และในวันที่ 5 มิถุนายน เปิดฉากการโจมตีก่อนต่ออียิปต์ จอร์แดน ซีเรียและอิรักตอบสนองและโจมตีอิสราเอล ในสงครามหกวัน อิสราเอลพิชิตจอร์แดนและยึดเวสต์แบงก์ พิชิตอียิปต์และยึดฉนวนกาซาและคาบสมุทรไซนาย และพิชิตซีเรียและยึดที่ราบสูงโกลัน ขอบเขตของเยรูซาเลมขยายใหญ่ขึ้น รวมเยรูซาเลมตะวันออก และเส้นเขียวปี 1949 กลายเป็นเขตแดนบริหารราชการแผ่นดินระหว่างอิสราเอลและดินแดนยึดครอง นับแต่สงครามปี 1967 และข้อมติ "สามไม่" ของสันนิบาตอาหรับ ระหว่างสงครามการบั่นทอนกำลังปี 1967–1970 อิสราเอลเผชิญการโจมตีจากอียิปต์ในไซนาย จากกลุ่มปาเลสไตน์ที่มุ่งเป้าชาวอิสราเอลในดินแดนยึดครอง ในดินแดนอิสราเอล และทั่วโลก กลุ่มปาเลสไตน์และอาหรับที่สำคัญที่สุดคือ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ซึ่งสถาปนาในปี 1964 ซึ่งเดิมมุ่งมั่นเพื่อ "การต่อสู้ด้วยอาวุธว่าเป็นทางเดียวในการปลดปล่อยบ้านเกิด" ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 กลุ่มปาเลสไตน์เปิดฉากการโจมตีเป็นระลอก ต่อเป้าหมายอิสราเอลและยิวทั่วโลก รวมทั้งการสังหารหมู่นักกีฬาอิสราเอลในโอลิมปิกฤดูร้อน 1972 ในมิวนิก รัฐบาลอิสราเอลตอบโต้ด้วยการทัพลอบฆ่าต่อผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ การทิ้งระเบิดทางอากาศและการตีโฉบฉวยต่อสำนักงานใหญ่ PLO ในประเทศเลบานอน วันที่ 6 ตุลาคม 1973 ระหว่างที่ยิวกำลังจัดยมคิปปูร์ ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของยิว กองทัพอียิปต์และซีเรียเปิดฉากการโจมตีอย่างจู่โจมต่อกำลังอิสราเอลในคาบสมุทรไซนายและที่ราบสูงโกลัน ซึ่งเปิดฉากสงครามยมคิปปูร์ สงครามยุติในวันที่ 25 ตุลาคมโดยอิสราเอลสามารถผลักดันกำลังอียิปต์และซีเรียแต่สูญเสียทหารกว่า 2,500 นายในสงครามที่คร่าชีวิต 10,000–35,000 คนในเวลาประมาณ 20 วัน การสอบสวนภายในถือว่ารัฐบาลพ้นความรับผิดชอบสำหรับความล้มเหลวทั้งก่อนหน้าและระหว่างสงคราม แต่สาธารณะบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีโกลดา เมอีร์ลาออก ในเดือนกรกฎาคม 1976 มีเครื่องบินโดยสารหนึ่งถูกกองโจรปาเลสไตน์จี้ระหว่างบินจากอิสราเอลไปประเทศฝรั่งเศส และลงจอดที่เอ็นเทบเบ (Entebbe) ประเทศอูกันดา คอมมานโดอิสราเอลดำเนินปฏิบัติการซึ่งสามารถช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอลได้สำเร็จ 102 คนจาก 106 คน === ความขัดแย้งเพิ่มเติมและกระบวนการสันติภาพ === การเลือกตั้งคเนสเซตปี 1977 เป็นจุดพลิกผันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของอิสราเอลเมื่อพรรคลิคุดของเมนาเฮม เบกินชนะพรรคแรงงาน ในปีเดียวกัน ประธานาธิบดีอียิปต์ อันวัร อัสซาดาต เดินทางไปประเทศอิสราเอลและปราศรัยต่อคเนสเซตซึ่งถือเป็นการรับรองอิสราเอลของประมุขแห่งรัฐอาหรับครั้งแรก ในอีกสองปีต่อมา ซาดาดและเบกินลงนามข้อตกลงค่ายเดวิด (ปี 1978) และสนธิสัญญาสันติภาพอิสราเอล–อียิปต์ (ปี 1979) อิสราเอลยอมถอนกำลังจากคาบสมุทรไซนายและตกลงเข้าสู่การเจรจาเรื่องอัตตาณัติของชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา วันที่ 11 มีนาคม 1978 กองโจร PLO ตีโฉบฉวยจากประเทศเลบานอนนำไปสู่การสังหารหมู่ถนนชายฝั่ง อิสราเอลตอบโต้โดยการเปิดฉากบุกครองภาคใต้ของเลบานอนเพื่อทำลายฐาน PLO ที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำลิตานี นักรบของ PLO ส่วนใหญ่ถอนกำลัง แต่อิสราเอลสามารถเข้าควบคุมภาคใต้ของเลบานอนจนกระทั่งกำลังของสหประชาชาติและกองทัพเลบานอนยึดคืน ไม่นาน PLO ใช้นโยบายโจมตีอิสราเอลอีกครั้ง ในไม่กี่ปีถัดมา PLO แทรกซึมภาคใต้ของเลบานอนและยิงปืนใหญ่ประปรายข้ามชายแดน ฝ่ายอิสราเอลดำเนินการโจมตีตอบโต้ทั้งทางอากาศและทางบกหลายครั้ง ขณะเดียวกัน รัฐบาลเบกินจัดสิ่งจูงใจแก่ชาวอิสราเอลให้ตั้งถิ่นฐานในเวสต์แบงก์ ทำให้เพิ่มความตึงเครียดกับชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ มีการผ่านกฎหมายหลักพื้นฐาน เยรูซาเลม เมืองหลวงของอิสราเอล ในปี 1980 ซึ่งบางคนเชื่อว่ายืนยันการผนวกเยรูซาเลมของอิสราเอลในปี 1967 ด้วยกฤษฎีกาของรัฐบาล และจุดชนวนกรณีพิพาทระหว่างประเทศเหนือสถานภาพของนคร ไม่มีกฎหมายอิสราเอลฉบับใดนิยามดินแดนอิสราเอลและไม่มีรัฐบัญญัติใดเจาะจงรวมเยรูซาเลมตะวันออกในเยรูซาเลมด้วย จุดยืนของรัฐสมาชิกสหประชาชาติมีการสะท้อนในข้อมติหลายข้อมติซึ่งประกาศว่าการกระทำของอิสราเอลในการตั้งถิ่นฐานพลเมืองในเวสต์แบงก์ และกำหนดกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดินต่อเยรูซาเลมตะวันออก มิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลสมบูรณ์ ในปี 1981 อิสราเอลผนวกที่ราบสูงโกลัน แม้การผนวกนั้นไม่ได้รับการรับรองของนานาชาติ ความหลากหลายของประชากรของอิสราเอลเพิ่มขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1980 ถึง 1990 ยิวเอธิโอเปียหลายระลอกเข้าเมืองอิสราเอลตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 ส่วนระหว่างปี 1990 และ 1994 การเข้าเมืองจากรัฐหลังโซเวียตเพิ่มประชากรของอิสราเอลร้อยละ 12 วันที่ 7 มิถุนายน 1981 กองทัพอากาศอิสราเอลทำลายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งเดียวของอิรักที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างนอกกรุงแบกแดดเพื่อยับยั้งโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิรัก ให้หลังการโจมตีของ PLO หลายครั้งในปี 1982 ประเทศอิสราเอลจึงบุกครองเลบานอนในปีเดียวกันเพื่อทำลายฐานซึ่ง PLO ใช้เปิดฉากโจมตีและยิงขีปนาวุธใส่ภาคเหนือของอิสราเอล ในการสู้รบหกวันแรก ฝ่ายอิสราเอลทำลายกำลังทหารของ PLO ในประเทศเลบานอนและสามารถพิชิตกองทัพซีเรียได้อย่างเด็ดขาด การสอบสวนของรัฐบาลอิสราเอล คณะกรรมการคาฮาน ต่อมาสรุปว่าเบกิน ชารอนและนายพลอิสราเอลหลายนายมีส่วนรับผิดชอบโดยอ้อมสำหรับการสังหารหมู่ที่ชาบราและชาติลา ในปี 1985 ประเทศอิสราเอลตอบโต้การโจมตีก่อการร้ายของปาเลสไตน์ในไซปรัสโดยการทิ้งระเบิดสำนักงานใหญ่ของ PLO ในประเทศตูนิเซีย อิสราเอลถอนกำลังจากประเทศเลบานอนเป็นส่วนใหญ่ในปี 1986 แต่ยังคงเขตกันชนบริเวณชายแดนในภาคใต้ของเลบานอนจนถึงปี 2000 ซึ่งกำลังอิสราเอลขัดแย้งกับฮิซบุลลอฮ์ อินติฟาดาครั้งแรก ซึ่งเป็นการก่อการกำเริบของปาเลสไตน์ต่อการปกครองของอิสราเอล ปะทุขึ้นในปี 1987 โดยมีการเดินขบวนและความรุนแรงหลายระลอกเกิดขึ้นในเขตเวสต์แบงก์และกาซาที่ถูกยึดครอง ในช่วงหกปีถัดมา อินติฟาดามีการรจัดระเบียบมากขึ้นและรวมเอามาตรการทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มุ่งขัดขวางการยึดครองของอิสราเอล มีผู้ถูกฆ่าในความรุนแรงดังกล่าวกว่า 1,000 คน ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 PLO สนับสนุนซัดดัม ฮุสเซนและการโจมตีด้วยขีปนาวุธสกัตต่ออิสราเอล แม้สาธารณะโกรธแค้น อิสราเอลรับฟังคำร้องของสหรัฐให้ละเว้นการโจมตีโต้ตอบและไม่เข้าร่วมในสงครามนั้น ในปี 1992 ยิตส์ฮัก ราบินเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งซึ่งพรรคของเขาเรียกร้องให้ประนีประนอมกับเพื่อนบ้านของอิสราเอล ปีต่อมา ชีโมน เปเรสผู้แทนฝ่ายอิสราเอล และมะห์มูด อับบาสผู้แทนฝ่าย PLO ลงนามข้อตกลงกรุงออสโล ซึ่งให้องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์มีสิทธิปกครองหลายส่วนของเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา PLO ยังรับรองสิทธิการดำรงอยู่ของอิสราเอลและยอมยุติการก่อการร้าย ในปี 1994 มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพอิสราเอล–จอร์แดน ทำให้จอร์แดนเป็นประเทศอาหรับที่สองที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอล การสนับสนุนข้อตกลงฯ ของสาธารณะฝ่ายอาหรับลดลงจากการดำเนินการตั้งนิคม และจุดตรวจของอิสราเอลต่อ และการบั่นทอนภาวะทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนข้อตกลงฯ ของสาธารณะฝ่ายอิสราเอลสั่นคลอนเมื่ออิสราเอลถูกโจมตีฆ่าตัวตายจากปาเลสไตน์ ในเดือนพฤศจิกายน 1995 ขณะออกจากการชุมนุมสันติภาพ ยาซัค ราบินถูกยิเกล แอไมร์ (Yigal Amir) ยิวขวาจัดซึ่งคัดค้านข้อตกลงฯ ภายใต้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูเมื่อปลายคริสต์ทศวรรรษ 1990 อิสราเอลถอนกำลังออกจากฮีบรอน และลงนามบันทึกแม่น้ำวาย ซึ่งให้การควบคุมมากขึ้นแก่องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ เอฮุด บารัค ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1999 ถอนกำลังออกจากภาคใต้ของเลบานอนและเจรจากับประธานองค์การฯ ปาเลสไตน์ ยัสเซอร์ อาราฟัต และประธานาธิบดีสหรัฐ บิล คลินตัน ในการประชุมสุดยอดค่ายเดวิดปี 2000 ระหว่างการประชุม บารัคเสนอแผนตั้งรัฐปาเลสไตน์ รัฐที่เสนอมีฉนวนกาซาทั้งหมดและกว่าร้อยละ 90 ของเวสต์แบงก์โดยมีกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นสาเหตุทำให้การเจรจาล่ม หลังหัวหน้าพรรคลิคุด อาเรียล ชารอนเยือนเนินพระวิหารอันเป็นที่โต้เถียง เกิดอินติฟาดาครั้งที่สอง นักวิจารณ์บางคนสรุปว่าอาราฟัตเตรียมการก่อการกำเริบดังกล่าวล่วงหน้าเนื่องจากการเจรจาสันติภาพล้มเหลว ชารอนเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งพิเศษปี 2001 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง ชารอนดำเนินแผนถอนกำลังจากฉนวนกาซาฝ่ายเดียวและยังเป็นหัวหอกการก่อสร้างแนวกั้นเวสต์แบงก์ของอิสราเอล ยุติอินติฟาดา ในสมัยของเขา มีชาวอิสราเอลถูกฆ่า 1,100 คน ส่วนใหญ่ในเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ส่วนปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2,008 มี 4,791 คนถูกกำลังความมั่นคงของอิสราเอลฆ่า 44 คนถูกพลเรือนอิสราเอลฆ่า และ 609 คนถูกปาเลสไตน์ด้วยกันฆ่า ในเดือนกรกฎาคม 2006 การโจมตีด้วยปืนใหญ่ของฮิซบุลลอฮ์ใส่ชุมชนชายแดนด้านทิศเหนือของอิสราเอลและการลักพาตัวทหารอิสราเอลสองนายข้ามชายแดนจุดชนวนสงครามเลบานอนครั้งที่สองนานหนึ่งเดือน วันที่ 6 กันยายน 2007 กองทัพอากาศอิสราเอลทำลายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศซีเรีย ปลายปี 2008 อิสราเอลเกิดความขัดแย้งอีกครั้งเมื่อการหยุดยิงระหว่างฮามาสกับอิสราเอลล่ม สงครามกาซาปี 2008–09 กินเวลาสามสัปดาห์และยุติหลังอิสราเอลประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว ฮามาสประกาศหยุดยิงของตนโดยมีเงื่อนไขให้อิสราเอลถอนกำลังอย่างสมบูรณ์และเปิดจุดผ่านแดน แม้ยังมีการยิงจรวดและการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอลอยู่เรื่อย ๆ แต่การหยุดยิงอันเปราะบางยังมีผลอยู่ อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการในกาซาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2012 กินเวลาแปดวัน เพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยจรวดหนึ่งร้อยครั้งใส่นครภาคใต้ของอิสราเอลตามอ้าง อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการอีกครั้งในกาซาระหว่างการขยายขอบเขตของการโจมตีด้วยจรวดของฮามาสในเดือนกรกฎาคม 2014 ในเดือนกันยายน 2010 อิสราเอลได้รับเชิญให้เข้าร่วมโออีซีดี ประเทศอิสราเอลลงนามความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป สหรัฐ สมาคมการค้าเสรียุโรป ตุรกี เม็กซิโก แคนาดา จอร์แดน อียิปต์และในปี 2007 เป็นประเทศที่มิใช่ละตินอเมริกาประเทศแรกที่ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มการค้าเมร์โกซูร์ ในคริสต์ทศวรรษ 2010 ความร่วมมือในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นระหว่างอิสราเอลและประเทศสันนิบาตอาหรับ ซึ่งมีความตกลงสันติภาพสองฉบับ (จอร์แดน อียิปต์) ความสัมพันธ์ทางทูต (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปาเลสไตน์) และความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ (บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย โมร็อกโก ตูนิเซีย) และสถานการณ์ความมั่นคงของอิสราเอลเปลี่ยนจากความเป็นปรปักษ์อาหรับ–อิสราเอลแต่เดิมเป็นความเป็นคู่แข่งในภูมิภาคกับอิหร่านและตัวแทน ความขัดแย้งอิหร่าน–อิสราเอลค่อย ๆ ถือกำเนิดขึ้นจากความเป็นปรปักษ์ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสมัยหลังปฏิวัติที่ประกาศต่ออิสราเอลตั้งแต่ปี 1979 เป็นการสนับสนุนฮิซบุลลอฮ์ของอิหร่านในทางลับระหว่างความขัดแย้งเลบานอนใต้ (1985–2000) แล้วพัฒนาเป็นความขัดแย้งภูมิภาคตัวแทนตั้งแต่ปี 2005 ด้วยการเข้ามีส่วนของอิหร่านที่เพิ่มขึ้นในสงครามกลางเมืองซีเรียตั้งแต่ปี 2011 และความขัดแย้งเปลี่ยนจากการสงครามตัวแทนมาเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงในต้นปี 2018 == การเมืองการปกครอง == อิสราเอลปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภาคเนสเซ็ทมีวาระครั้งละ 7 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้แก่นาย Reuven Rivlin ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 === บริหาร === คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งมีวาระครั้งละ 4 ปี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นัฟตาลี เบนเนตต์ === นิติบัญญัติ === สมาชิกสภา Knesset ซึ่งทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรและสถาบันทางนิติบัญญัติ ประกอบด้วยสมาชิก 120 คน มีวาระครั้งละ 4 ปี === ตุลาการ === === การแบ่งเขตการปกครอง === ประเทศอิสราเอลแบ่งเป็น 6 เขต (เมโฮซอต [mehozot]; เอกพจน์ เมฮอซ [mehoz]) และ 13 เขตย่อย (นาฟอต [nafot]; เอกพจน์ นาฟา [nafa]) รวมยิวกว่า 200,000 คนและอาหรับ 300,000 คนในเยรูซาเลมตะวันออก เฉพาะพลเมืองอิสราเอล === ดินแดนยึดครอง === ในปี 1967 จากผลแห่งสงครามหกวัน อิสราเอลยึดและยึดครองเวสต์แบงก์ รวมทั้งเยรูซาเลมตะวันออก ฉนวนกาซา และที่ราบสูงโกลัน อิสราเอลยังเคยยึดคาบสมุทรไซนายแต่คืนให้อียิปต์ในส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพอียิปต์–อิสราเอลปี 1979 ระหว่างปี 1982 ถึง 2000 อิสราเอลยึดครองภาคใต้ของเลบานอนบางส่วน ซึ่งเรียก เข็มขัดความมั่นคง นับแต่การยึดดินแดนเหล่านี้ มีการสร้างนิคมและฐานทัพอิสราเอลในพื้นที่ดังกล่าวยกเว้นเลบานอน อิสราเอลยังใช้บังคับกฎหมายพลเรือนแก่ที่ราบสูงโกลันและเยรูซาเลมตะวันออกและให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมีสถานภาพผู้อยู่อาศัยถาวรและสามารถสมัครขอรับสัญชาติได้ เวสต์แบงก์นอกนิคมอิสราเอลภายในดินแดนนั้น ยังอยู่ภายใต้การควบคุมทางทหารโดยตรง และชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่นี้ไม่สามารถเป็นพลเมืองอิสราเอลได้ อิสราเอลถอนกำลังทหารและรื้อถอนนิคมอิสราเอลในฉนวนกาซาอันเป็นส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยจากกาซาแม้ยังควบคุมน่านฟ้าและน่านน้ำต่อ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศว่าการผนวกที่ราบสูงโกลันและเยรูซาเลมตะวันออกไม่มีผลและเป็นโมฆะ และยังมองดินแดนดังกล่าวว่าถูกยึดครอง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ องค์กรตุลาการหลักของสหประชาชาติ ประเมินในการให้คำปรึกษาปี 2004 ว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายของการก่อสร้างกำแพงเวสต์แบงก์ของอิสราเอล ว่าดินแดนที่อิสราเอลยึดในสงครามหกวันรวมทั้งเยรูซาเลมตะวันออกเป็นดินแดนถูกยึดครอง สถานภาพของเยรูซาเลมตะวันออกในการระงับข้อพิพาทสันติภาพในอนาคตใด ๆ บางทีเป็นประเด็นยากในการเจรจาระหว่างรัฐบาลอิสราเอลและผู้แทนชาวปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลมองว่าเป็นดินแดนเอกราชของประเทศ เช่นเดียวกับเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวง การเจรจาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับดินแดนนี้เป็นพื้นฐานของข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 242 ซึ่งครอบคลุม "การอยมรับไม่ได้ซึ่งการได้มาซึ่งดินแดนจากสงคราม" และเรียกร้องให้อิสราเอลถอนกำลังจากดินแดนยึดครองเพื่อแลกกับการฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐอาหรับ ซึ่งเป็นหลักการที่เรียก "แลกดินแดนกับสันติภาพ" ผู้สังเกตการณ์บางส่วนมองว่า อิสราเอลเข้าร่วมการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบและกว้างขวางในดินแดนยึดครอง ซึ่งรวมทั้งการยึดครอง และอาชญากรรมสงครามต่อพลเรือน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมสากล กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวหาว่าผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นมี "ความสามารถจำกัดในการเอาผิดกับทางการปกครองสำหรับการละเมิดเช่นว่า" องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวหาว่าจับกุมหมู่ตามอำเภอใจ ทรมาน ฆ่าคนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดอย่างเป็นระบบและการไม่ต้องถูกลงโทษ เป็นต้น และการปฏิเสธสิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของปาเลสไตน์ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูตอบโต้ข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยการให้ท้ายกำลังความมั่นคงของประเทศสำหรับการคุ้มครองผู้บริสุทธิ์จากผู้ก่อการร้าย และแสดงความรังเกียจสิ่งที่เขาอธิบายว่าไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ "ฆาตกรอาชญากร" เป็นผู้ก่อ ผู้สังเกตการณ์บางส่วน เช่น ข้าราชการอิสราเอล นักวิชาการ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ นิกกี เฮลีย์ และเลขาธิการสหประชาชาติ พัน กี-มุน และโคฟี อันนัน ก็ยืนยันว่ายูเอ็นกังวลกับความประพฤติมิชอบของอิสราเอลอย่างไม่ได้สัดส่วน เวสต์แบงก์ถูกจอร์แดนยึดครองและผนวกในปี 1950 หลังฝ่ายอาหรับปฏิเสธคำวินิจฉัยของสหประชาชาติให้สร้างสองรัฐในปาเลสไตน์ เฉพาะบริเตนที่รับรองการผนวกดินแดนนี้และนับแต่นั้นจอร์แดนสละการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนนั้นให้ PLO ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งผู้ลี้ภัยจากสงครามอาหรับ–อิสราเอลปี 1948 นับแต่การยึดครองในปี 1967 ถึงปี 1993 ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนเหล่านี้อยู่ภายใต้ฝ่ายปกครองทหารของอิสราเอล นับแต่จดหมายรับรองของอิสราเอล – PLO ประชากรและนครปาเลสไตน์ส่วนมากอยู่ภายใต้เขตอำนาจภายในขององค์การบริหารปาเลสไตน์ และอยู่ในการควบคุมของกองทัพอิสราเอลบางส่วนเท่านั้น แม้อิสราเอลวางกำลังพลและรื้อฟื้นฝ่ายปกครองทหารอย่างสมบูรณ์หลายโอกาสระหว่างสมัยความไม่สงบ เพื่อตอบโต้การโจมตีที่เพิ่มขึ้นระหว่างอินติฟาดาครั้งที่สอง รัฐบาลอิสราเอลเริ่มก่อสร้างกำแพงเวสต์แบงก์ของอิสราเอล เมื่อสเจสมบูรณ์ กำแพงประมาณร้อยละ 13 จะมีการก่อสร้างบนเส้นเขียวหรือในประเทศอิสราเอล ส่วนอีกร้อยละ 87 อยู่ในเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซาถูกอียิปต์ยึดครองตั้งแต่ปี 1948 ถึง 1967 และอิสราเอลยึดครองต่อมาหลังปี 1967 จากนั้นในปี 2005 เป็นส่วนหนึ่งของแผนปลดปล่อยฝ่ายเดียว อิสราเอลถอนผู้ตั้งถิ่นฐานและกำลังทั้งหมดจากดินแดน อิสราเอลยังไม่ถือฉนวนกาซาว่าเป็นดินแดนยึดครองและประกาศว่าเป็น "ดินแดนต่างด้าว" ทัศนะนี้ถูกองค์การมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายองค์การและองค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติ หลังยุทธการที่กาซาปี 2007 เมื่อฮามาสเถลิงอำนาจในฉนวนกาซา อิสราเอลคุมเข้มการควบคุมจุดผ่านแดนกาซาตรงชายแดน เช่นเดียวกับทางทะเลและอากาศ และห้ามบุคคลเข้าออกพื้นที่ยกเว้นกรณีที่มองว่าเป็นมนุษยธรรมเป็นกรณี ๆ ไป กาซามีชายแดนกับอียิปต์และความตกลงกับอิสราเอล สหภาพยุโรปและองค์การบริหารปาเลสไตน์ควบคุมที่ข้ามแดน == ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ == == กองทัพ == === กองกำลังกึ่งทหาร === == เศรษฐกิจ == === โครงสร้าง === ระบบเศรษฐกิจอิสราเอลมีลักษณะผสมผสานระหว่างการที่รัฐเข้าไปมีบทบาทควบคุมกิจการที่มีกำลังการผลิตและการจ้างงานสูง ขณะที่ภาคเอกชนก็สามารถมีกิจการได้โดยเสรี โดยทั่วไปแล้ว เศรษฐกิจของอิสราเอลจะอยู่ใต้อิทธิพลของความจำเป็นด้านความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ต้นไม้ ธาตุทองแดง โปแตช ก๊าซธรรมชาติ หินฟอสเฟต โบรมีน อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.9 (ปี 2549) อัตราผู้ว่างงาน ร้อยละ 8.5 (ปี 2549) สินค้าส่งออกที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ software เพชรเจียระไน ผลิตภัณฑ์เกษตร เสื้อผ้า สินค้านำเข้าที่สำคัญ วัตถุดิบ อาวุธยุทโธปกรณ์ เชื้อเพลิง เพชร เมล็ดข้าว สินค้าอุปโภคบริโภค ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง * ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม ฮ่องกง สหราชอาณาจักร * ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร === สถานการณ์เศรษฐกิจ === === การท่องเที่ยว === == โครงสร้างพื้นฐาน == === วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี === === คมนาคม และ โทรคมนาคม === === การศึกษา === ==== อัตราการรู้หนังสือ ==== === สาธารณสุข === == ประชากร == === เมืองใหญ่=== มีจำนวนประมาณ 6 ล้านคน ร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่ทันสมัย แต่ก็มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเก่า ส่วนประชากรอีกร้อยละ 6 อยู่ในชนบทโดยเป็นสมาชิกสหกรณ์ 2 ลักษณะคือ คิบบุตซ์ และโมชาฟ ชาวอิสราเอลมีหลายชาติพันธ์ ทั้งชาวยิว และชนอาหรับพื้นเมือง รวมทั้งชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป แอฟริกา เอเชีย และประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ ประชากรส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ อาทิ เทลอาวีฟ เยรูซาเลม และไฮฟา ที่เหลือกระจัดกระจายตามพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศชาวอิสราเอล ร้อยละ 82 นับถือศาสนายูดาย (Judaism) ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม (14 %) คริสต์ (2%) อายุเฉลี่ย 79.46 ปี ชาย 77.33 ปี หญิง 81.7 ปี อัตราการเขียนออกอ่านได้ ร้อยละ 95.4 === ศาสนา === ส่วนใหญ่นับถือศาสนายูดาห์ 80.1% ศาสนาอิสลาม 14.6% ศาสนาคริสต์ 2.1% ศาสนาบาไฮ และอื่น ๆ อีก 3.2% == วัฒนธรรม == อิสราเอลมีวัฒนธรรมทั้งเก่า และใหม่ผสมผสานกัน กล่าวคือ วัฒนธรรมโบราณของยิวที่เก่าแก่กว่า 4000 ปี และวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดจากการหลั่งไหลของชาวยิวจากทั่วโลกที่กลับเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอิสราเอลภายหลังการก่อตั้งรัฐอิสราเอล เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2491 ชาวอิสราเอลร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่ทันสมัย แต่ก็มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเก่า ส่วนประชากรอีกร้อยละ 6 อยู่ในชนบทโดยเป็นสมาชิกสหกรณ์ 2 ลักษณะคือ คิบบุตซ์ และโมชาฟ === วรรณกรรม === === สถาปัตยกรรม === === อาหาร === === ดนตรี === === สื่อมวลชน === === วันหยุด === ==หมายเหตุ== ==อ้างอิง== ==บรรณานุกรม== ==แหล่งข้อมูลอื่น== รัฐบาล Government services and information website About Israel at the Israel Ministry of Foreign Affairs Official website of the Israel Prime Minister's Office Official website of the Israel Central Bureau of Statistics GoIsrael.com by the Israel Ministry of Tourism ข้อมูลทั่วไป Israel. The World Factbook. Central Intelligence Agency. Israel at the Jewish Virtual Library Israel at the OECD Key Development Forecasts for Israel from International Futures แผนที่ อิสราเอล รัฐและดินแดนที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2491 อ
thaiwikipedia
705
ดวงจันทร์
ดวงจันทร์เป็นดาราศาสตร์วัตถุที่โคจรรอบโลก เป็นดาวบริวารถาวรดวงเดียวของโลก เป็นดาวบริวารใหญ่ที่สุดอันดับที่ 5 ในระบบสุริยะ และเป็นดาวบริวารขนาดใหญ่สุดเมื่อเทียบกับขนาดของดาวเคราะห์ที่โคจร ดวงจันทร์เป็นดาวบริวารที่มีความหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากไอโอของดาวพฤหัสบดี ซึ่งบางส่วนไม่ทราบความหนาแน่นมากหรือน้อย คาดว่าดวงจันทร์ก่อกำเนิดประมาณ 4.51 พันล้านปีก่อน ไม่นานหลังจากโลก คำอธิบายที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุดคือดวงจันทร์ก่อกำเนิดจากเศษที่เหลือจากการชนขนาดยักษ์ระหว่างโลกกับเทห์ขนาดประมาณดาวอังคารชื่อ ธีอา (Theia) ดวงจันทร์หมุนรอบโลกแบบประสานเวลา จะหันด้านเดียวเข้าหาโลกเสมอคือด้านใกล้ที่มีลักษณะเป็นทะเลภูเขาไฟมืด ๆ ซึ่งเติมที่ว่างระหว่างที่สูงเปลือกโบราณสว่างและหลุมอุกกาบาตที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อสังเกตจากโลก เป็นเทห์ฟ้าที่เห็นได้เป็นประจำสว่างที่สุดอันดับสองในท้องฟ้าของโลกรองจากดวงอาทิตย์ พื้นผิวแท้จริงแล้วมืด แม้เทียบกับท้องฟ้าราตรีแล้วจะดูสว่างมาก โดยมีการสะท้อนสูงกว่าแอสฟอลต์เสื่อมเล็กน้อย อิทธิพลความโน้มถ่วงของดวงจันทร์ทำให้เกิดน้ำขึ้นลงมหาสมุทร และทำให้หนึ่งวันยาวขึ้นเล็กน้อย มีระยะห่างจากโลกเฉลี่ยนับจากศูนย์กลางถึงศูนย์กลางประมาณ 384,403 กิโลเมตร เทียบเท่ากับ 30 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก จุดศูนย์กลางมวลร่วมของระบบตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 1,700 กิโลเมตรใต้ผิวโลก หรือประมาณ 1 ใน 4 ของรัศมีของโลก ดวงจันทร์โคจรรอบโลกในเวลาประมาณ 27.3 วัน เมื่อเปรียบเทียบการแปรคาบโคจรตามมาตรภูมิศาสตร์ระหว่างโลก-ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเป็นเฟสของดวงจันทร์ ซึ่งจะซ้ำรอบทุกๆ ช่วง 29.5 วัน (เรียกว่า คาบไซโนดิก) เส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์มีค่าประมาณ 3,474 กิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งในสี่ของโลก ดังนั้นพื้นผิวของดวงจันทร์มีน้อยกว่า 1 ใน 10 ของพื้นผิวของโลก (ประมาณ 1 ใน 4 ของผืนทวีปของโลกเท่านั้น คิดเป็นขนาดใหญ่ประมาณรัสเซีย แคนาดา กับสหรัฐอเมริกา รวมกัน) มวลรวมของดวงจันทร์คิดเป็นประมาณ 2% ของมวลของโลก และแรงโน้มถ่วงเป็น 17% ของโลก สัญลักษณ์แทนดวงจันทร์คือ ☾ ปี พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) นีล อาร์มสตรอง และ บัซซ์ อัลดริน นักบินอวกาศขององค์การนาซา เป็นมนุษย์ 2 คนแรกที่เหยียบลงบนพื้นดินของดวงจันทร์ กฎหมายอวกาศถือว่าดวงจันทร์เป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ ตามสนธิสัญญาที่ใช้บังคับกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์ ดวงดาว และวัตถุอวกาศอื่น ๆ ค.ศ. 1979 == ชื่อและศัพทมูลวิทยา == ดวงจันทร์เป็นดาวบริวารของดาวเคราะห์ แต่มีความแตกต่างจากดวงจันทร์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะ เพราะเมื่อเราพูดถึง "ดวงจันทร์" ก็จะหมายถึง ดาวบริวารที่โคจรรอบโลกของเรา คำว่า จันทร์ นั้นเป็นคำศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต (चंद्र จํทฺร อ่านว่า จัน-ดฺระ หรือคนไทยเราเรียกว่า จัน-ทฺระ) ซึ่งหมายถึงพระจันทร์ ในภาษาไทยเดิมมักเรียกว่า เดือน หรือ ดวงเดือน (ลาว: ເດືອນ เดือน, ไทใหญ่: လိူၼ် เหฺลิน) สำหรับในภาษาอังกฤษ ดวงจันทร์ หรือ Moon (ภาษาอังกฤษใช้อักษรตัวใหญ่ขึ้นต้นคำ) เป็นคำภาษาเจอร์แมนิก ตรงกับคำภาษาลาติน คือ mensis เป็นคำที่แยกออกมาจากรากภาษาอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม และเป็นตัวแทนของการนับเวลา ซึ่งรำลึกถึงความสำคัญของมัน คือ วันจันทร์ ในภาษาอังกฤษ การเรียกดวงจันทร์มีมาจนถึงปี ค.ศ. 1665 เมื่อมีการค้นพบดาวบริวารดวงใหม่ของดาวเคราะห์ดวงอื่น บางครั้งดวงจันทร์จึงถูกเลี่ยงไปใช้ชื่อในภาษาลาตินของมันแทน คือ luna เพื่อที่จะแยกมันออกจากดาวบริวารอื่น ๆ == พื้นผิวของดวงจันทร์ == === การหมุนสมวาร === ข้างขึ้นข้างแรม ดวงจันทร์มีการหมุนรอบตัวเองแบบที่เรียกว่า การหมุนสมวาร (synchronous rotation) คือคาบการหมุนรอบตัวเองกับคาบการโคจรรอบโลกมีค่าเท่ากัน โดยดวงจันทร์ใช้เวลาโคจรรอบประมาณ 27.3 วัน เป็นผลให้ดวงจันทร์หันด้านเดียวเข้าหาโลก เรียกด้านที่หันเข้าหาเราว่า "ด้านใกล้" (near side) ส่วนด้านตรงข้าม คือ "ด้านไกล" (far side) เป็นด้านที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ อย่างไรก็ตาม ดวงจันทร์มีการแกว่งเล็กน้อย ทำให้เรามีโอกาสมองเห็นพื้นผิวดวงจันทร์ได้มากกว่า 50% อยู่เล็กน้อย ในอดีต ด้านไกลของดวงจันทร์เป็นด้านที่ลึกลับอยู่เสมอ จนกระทั่งถึงยุคที่เราสามารถส่งยานอวกาศออกไปถึงดวงจันทร์ได้ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างระหว่างด้านใกล้กับด้านไกล คือ ด้านไกลไม่มีพื้นที่ราบคล้ำที่เรียกว่า "มาเร" (แปลว่าทะเล) กว้างขวางมากเหมือนอย่างด้านใกล้ ดวงจันทร์ใช้เวลาในการหมุนรอบตัวเองที่ได้จังหวะพอดีกับวิถีการโคจรรอบโลก ซึ่งเมื่อเรามองดวงจันทร์จากพื้นโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียวตลอดเวลา ในประวัติศาสตร์ยุคแรกของดวงจันทร์ การหมุนของมันช้าและกลายเป็นถูกล็อกอยู่ในลักษณะนี้ เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ความฝืด และมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงบนโลก เมื่อนานมาแล้ว ขณะที่ดวงจันทร์ยังคงหมุนเร็วกว่าในปัจจุบัน รอบโป่งในปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงมาก่อนแนวโลก-ดวงจันทร์ เพราะว่ามันไม่สามารถดึงรอยโป่งของมันกลับคืนได้อย่างรวดเร็วพอที่จะรักษาระยะของรอยโป่งระหว่างมันกับโลก การหมุนของมันขจัดรอยโป่งนอกเหนือจากแนวโลก-ดวงจันทร์ รอยโป่งที่อยู่นอกเส้นโลก-ดวงจันทร์นี้ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวขอหนอน ซึ่งลดความเร็วของการหมุนของดวงจันทร์ลง เมื่อการหมุนของดวงจันทร์ช้าลงจนเหมาะสมกับการโคจรรอบโลก เมื่อนั้นรอยโป่งของมันจึงหันหน้าเข้าหาโลกเสมอ รอยโป่งอยู่ในแนวเดียวกับโลก และรอยบิดของมันก็จึงหายไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมดวงจันทร์จึงใช้เวลาในการหมุนรอบตัวเองพอๆ กับการโคจรรอบโลก มีความผันผวนเล็กน้อย (ไลเบรชัน) ในมุมองศาของดวงจันทร์ซึ่งเราได้เห็น เราจึงมองเห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ทั้งหมดประมาณ 59% ของพื้นผิวทั้งหมดของดวงจันทร์ ด้านที่มองเห็นจากโลกจะถูกเรียกว่า "ด้านใกล้" และด้านที่อยู่ตรงข้ามเรียกว่า "ด้านไกล" ด้านไกลของดวงจันทร์ต่างจากด้านมืดของดาวพุธคือ ด้านมืดของดาวพุธเป็นด้านที่ไม่ถูกแสงอาทิตย์ส่องเลย แต่ด้านไกลของดวงจันทร์นั้นบางครั้งก็เป็นด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์และหันหน้าเข้าหาโลก ด้านไกลของดวงจันทร์ได้ถูกถ่ายรูปโดยยานลูน่า 3 ของโซเวียตในปีค.ศ. 1959 หนึ่งในลักษณะภูมิประเทศที่ทำให้สังเกตได้ว่าเป็นดวงจันทร์ด้านไกลคือมันมีที่ราบคล้ำหรือ "มาเร" น้อยกว่าด้านใกล้มาก === ทะเลบนดวงจันทร์ === พื้นผิวบนดวงจันทร์ที่มองด้วยตาเปล่าเห็นเป็นสีคล้ำ คือที่ราบบนดวงจันทร์หรือเรียกว่า "ทะเล" บนดวงจันทร์ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า "มาเรีย" หรือ "มาเร" มาจากศัพท์ภาษาละติน หมายถึง ทะเล) ทั้งนี้เนื่องจากนักดาราศาสตร์ยุคแรกๆ เชื่อว่าพื้นผิวสีคล้ำเหล่านั้นเป็นพื้นน้ำ แต่ปัจจุบันทราบกันแล้วว่าเป็นแอ่งที่ราบกว้างใหญ่เกิดจากลาวาในยุคโบราณ ลาวาที่ระเบิดพวยพุ่งเหล่านี้ไหลเข้าไปในหลุมที่เกิดจากการปะทะของอุกกาบาตหรือดาวหางที่พุ่งเข้าชนดวงจันทร์ (ยกเว้น โอเชียนัส โพรเซลลารัม ซึ่งบนด้านไกลของดวงจันทร์ เป็นแอ่งที่มิได้เกิดจากการปะทะใดๆ เท่าที่รู้จัก) เราพบทะเลบนดวงจันทร์มากบนด้านใกล้ของดวงจันทร์ ส่วนทางด้านไกลมีอยู่ประปรายเพียงประมาณ 2% ของพื้นที่ผิวทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ทางด้านใกล้มีทะเลถึงประมาณ 31% ของพื้นที่ผิว คำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการที่บรรยากาศด้านใกล้ของดวงจันทร์มีแหล่งกำเนิดความร้อนมากกว่า ซึ่งพบได้จากแผนที่ภูมิเคมีที่สร้างขึ้นจากสเปกโตรมิเตอร์รังสีแกมมาของ ลูนาร์โปรสเปกเตอร์ === ภูเขาบนดวงจันทร์ === บริเวณที่มีสีอ่อนกว่าบนพื้นผิวดวงจันทร์นั้นเรียกว่า "ภูเขา" (terrae) หรือบางครั้งก็เรียกง่ายๆ เพียงว่า "ที่ราบสูง" เพราะมันเป็นบริเวณที่มีความสูงมากกว่าส่วนที่เป็นทะเล มีแนวเทือกเขาที่โดดเด่นอยู่มากมายบนด้านใกล้ของดวงจันทร์ตามแนวขอบของแอ่งปะทะขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยหินบะซอลต์ สันนิษฐานว่านี่เป็นซากที่หลงเหลืออยู่ของขอบนอกของแอ่งปะทะ ไม่มีเทือกเขาใดของดวงจันทร์ที่เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวดาวเหมือนอย่างการเกิดของภูเขาบนโลกเลย จากภาพที่ถ่ายไว้โดยปฏิบัติการคลีเมนไทน์ (Clementine mission) เมื่อปี ค.ศ. 1994 ทำให้พบว่าบริเวณเทือกเขา 4 แห่งตามขอบของแอ่งเพียรี (Peary crater) ซึ่งกว้าง 73 กิโลเมตร ใกล้ขั้วเหนือของดวงจันทร์ น่าจะถูกแสงอาทิตย์ตลอดช่วงวันอันยาวนานบนดวงจันทร์ เหตุที่ยอดเขาแห่งแสงนิรันดร์ (Peak of Eternal Light) นี้ถูกแสงอาทิตย์ตลอดเวลาน่าจะเป็นไปได้เพราะดวงจันทร์มีความเอียงของแกนเมื่อเทียบกับระนาบสุริยวิถีน้อยมาก ไม่พบว่ามีบริเวณที่ต้องแสงอย่างนิรันดร์ลักษณะเดียวกันนี้ที่บริเวณขั้วใต้ของดาว แม้ว่าจะมีบริเวณขอบของแอ่งแชคเคิลตัน (Shackleton crater) ที่สะท้อนแสงราว 80% ของวันของดวงจันทร์ ผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งจากการที่แกนเอียงของดวงจันทร์มีค่าน้อยมาก คือมีย่านที่อยู่ในเขตมืดนิรันดร์ที่บริเวณก้นแอ่งมากมายใกล้ขั้วดาว === แอ่งบนดวงจันทร์ === พื้นผิวของดวงจันทร์สามารถสังเกตตำแหน่งได้โดยดูจากแอ่งปะทะ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่อุกกาบาตและดาวหางพุ่งเข้าชนพื้นผิวของดวงจันทร์ มีแอ่งอยู่เป็นจำนวนราวครึ่งล้านแห่งที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร เนื่องจากลักษณะของแอ่งปะทะเกิดขึ้นในอัตราเกือบคงที่ จำนวนแอ่งต่อหน่วยพื้นที่จึงสามารถใช้ในการประมาณอายุของพื้นผิวได้ โดยที่ดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศ ไม่มีอากาศและกระบวนการทางธรณีวิทยา จึงมั่นใจได้ว่าแอ่งเหล่านี้ดำรงคงอยู่ในลักษณะดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับแอ่งบนโลก แอ่งที่ใหญ่ที่สุดบนดวงจันทร์ และอาจจัดว่าเป็นแอ่งปะทะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จักกันในระบบสุริยะ คือ แอ่งแอตเคนขั้วใต้ (South Pole-Aitken basin) แอ่งนี้อยู่ทางฝั่งด้านไกลของดวงจันทร์ ระหว่างขั้วใต้ของดาวกับแนวศูนย์สูตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 2,240 กิโลเมตร ลึก 13 กิโลเมตร. สำหรับแอ่งปะทะที่โดดเด่นทางฝั่งด้านใกล้ของดวงจันทร์ ได้แก่ ทะเลอิมเบรียม ทะเลเซเรนิเททิส ทะเลคริเซียม และทะเลเนคทาริส === น้ำบนดวงจันทร์ === วันที่ 9 ตุลาคม 2009 ครบ 100 วันการส่ง LCROSS ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ทางนาซ่าก็ยิงจรวดที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียมพร้อมกับปล่อยให้ตัว ดาวเทียมตกกระทบพื้นดวงจันทร์ นาซ่าก็แถลงผลวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์บนดาวเทียมว่า ฝุ่นที่กระจายขึ้นมานั้นมีน้ำประมาณ 90 ลิตร การยืนยันนี้ได้มาจากเซ็นเซอร์ NIR (Near Infrared) โดยอาศัยการวัดค่า spectrum ของแสงก่อนการชน และหลังการชน เพื่อเทียบสัดส่วนของพลังงานในย่านต่างๆ พบว่าย่าน 300nm นั้นมีพลังงานสูงขึ้นมาเป็นการยืนยันว่ามี hydroxyl อยู่ในฝุ่นที่ลอยขึ้นมานั้น ก่อนหน้านี้ข้อมูลจากกล้องฮับเบิลเคยแสดงข้อมูลเบื้องต้นว่าอาจจะมีไฮดรอกซิลในฝุ่นที่ลอยขึ้นมา แต่ช่วงเวลาที่แถลงข่าวนั้นยังไม่มีการยืนยัน ขนาดหลุมที่เกิดขึ้นจากการพุ่งชนมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20-30 เมตร (60-100 ฟุต) สำหรับการสังเกตการพวยฝุ่นที่ทางนาซ่าคาดว่าน่าจะใช้อุปกรณ์สมัครเล่นทำ ได้นั้นกลับไม่สามารถทำได้เนื่องจากสภาพอากาศ แต่ทางนาซ่าก็ได้ถ่ายภาพไว้แล้ว == ลักษณะทางกายภาพ == ดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบอันหลากหลาย ที่มีความแตกต่างทางเคมีภูมิวิทยาอย่างชัดเจนระหว่างส่วนของพื้นผิว ส่วนของเปลือก และส่วนของแกน เชื่อว่าลักษณะทางโครงสร้างเช่นนี้เป็นผลมาจากการก่อตัวขึ้นเป็นส่วนๆ จากทะเลแมกม่าที่เกิดขึ้นหลังจากการกำเนิดดาวเคราะห์ไม่นานนัก คือราว 4.5 พันล้านปีที่แล้ว พลังงานที่ใช้ในการหลอมเหลวผิวชั้นนอกของดวงจันทร์เชื่อว่าเกิดจากการปะทะครั้งใหญ่ ซึ่งให้เกิดระบบการโคจรระหว่างโลกกับดวงจันทร์ขึ้น === โครงสร้างภายใน === === สนามแรงโน้มถ่วง === === สนามแม่เหล็ก === === บรรยากาศ === === อุณหภูมิพื้นผิว === แตกต่างอย่างชัดเจนเนื่องจากบนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มเหมือนบนโลก == กำเนิดและการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา == === การก่อตัว === ในยุคแรก ๆ คาดเดากันว่าดวงจันทร์เคยเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกโลก แต่เปลือกโลกส่วนนั้นได้กระเด็นออกไปโดยมีสาเหตุจากแรงหนีศูนย์กลาง ทิ้งร่องรอยเป็นแอ่งของมหาสมุทรขนาดใหญ่บนโลก อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะโลกจะต้องหมุนรอบตัวเองเร็วมาก บางคนบอกว่าดวงจันทร์อาจก่อตัวขึ้นที่อื่น แต่พลัดหลงมาอยู่ใกล้โลกจึงถูกโลกจับไว้เป็นดาวบริวาร บางคนเสนอว่า โลกและดวงจันทร์อาจเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กันขณะที่ระบบสุริยะก่อตัว แต่ทฤษฎีนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหล็กในดวงจันทร์พร่องไปไหน อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ดวงจันทร์อาจก่อตัวจากการสะสมหลอมรวมของดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก ทฤษฎีที่ยอมรับกันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ทฤษฎีการชนครั้งใหญ่ กล่าวว่ามีวัตถุขนาดดาวอังคารโคจรมาชนโลก ในช่วงที่โลกกำลังก่อตัวขึ้นใหม่ ๆ ทำให้เนื้อโลกบางส่วนที่ยังร้อนอยู่กระเด็นออกไป และรวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ แรงไทดัลทำให้ดวงจันทร์มีรูปร่างเป็นทรงรีอยู่เล็กน้อย โดยมีแกนหลัก (แกนด้านยาว) ของวงรีชี้มายังโลก === ทะเลแม็กม่า === === การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา === === หินดวงจันทร์ === == วงโคจรและความสัมพันธ์กับโลก == == การเกิดน้ำขึ้น-น้ำลง == เกิดจากแรงดึงดูดตามกฎแรงดึงดูดระหว่างของนิวตันที่กล่าวไว้ว่า "วัตถุทุกชนิดในเอกภพ จะส่งแรงดึงดูดระหว่างกัน โดยขนาดของแรงดึงดูด จะแปรผันตรงกับผลคูณของมวลทั้งสอง และแปรผกผันกับระยะห่างระหว่างมวลยกกำลังสอง" ดังนั้นเมื่อพิจารณาโลกแล้วพบว่าโลกได้รับแรงดึงดูดจากดาวสองดวง คือ ดวงอาทิตย์ที่แม้อยู่ไกลแต่มีขนาดใหญ่ และดวงจันทร์ที่แม้ขนาดเล็กแต่อยู่ใกล้ โดยแต่ละตำแหน่งที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เปลี่ยนไปทำให้ทิศทางของแรงกระทำเปลี่ยนด้วย ส่งผลให้ของไหล(น้ำและแก๊ส)บนโลก เคลื่อนที่ตามทิศทางของแรงดึงดูดที่มากระทำต่อโลกเกิดเป็นปรากฏการ์ณคือ น้ำขึ้นและน้ำลง ซึ่งนอกจากน้ำบนผิวโลกแล้ว ดวงจันทร์ยังมีผลีต่อน้ำในร่างกายมนุษย์ กล่าวคือ มีผลต่อเลือดและของเหลวในสมอง ซึ่งเป็นคำอธิบายการคลุ้มคลั่งของผู้มีอาการทางจิตในช่วงพระจันทร์เต็มดวง == จันทรุปราคา == จันทรุปราคา เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงตัวในแนวเดียวกันตามลำดับ ทำให้เงาของโลก บดบังแสงอาทิตย์ที่จะส่องมายังดวงจันทร์ และทำให้ดวงจันทร์ค่อยๆหายไปทั้งหมด หรือบางส่วน ก่อนจะกลับมาปรากฏใหม่อีกครั้ง ซึ่งจันทรุปราคาที่ดวงจันทร์จะหายไปทั้งหมดเรียกว่า จันทรุปราคาเต็มดวง จันทรุปราคาที่ดวงจันทร์จะหายไปบางส่วนเรียกว่า จันทรุปราคาบางส่วน == การสังเกตดวงจันทร์ == == การสำรวจดวงจันทร์ == ประเทศที่ส่งยานสำรวจอวกาศลงบนดวงจันทร์ คือ โซเวียต (ค.ศ. 1966 โดยปัจจุบันคือรัสเซีย), สหรัฐ (ค.ศ. 1966), จีน (ค.ศ. 2013), อินเดีย (ค.ศ. 2023) ประเทศที่ส่งนักบินอวกาศลงเหยียบบนดวงจันทร์ คือ สหรัฐ (ค.ศ. 1969) == ความเชื่อของมนุษย์ต่อดวงจันทร์ == ชาวตะวันตกมีเทพนิยายกรีก ที่มีอาร์ทิมิส (Artemis) และ เซลีนี เทพีแห่งดวงจันทร์ และชาวโรมันมี ไดแอนา เป็นเทพีแห่งดวงจันทร์เช่นกัน ส่วนทางตะวันออกเช่น จีน มีเทพธิดาฉางเอ๋อ เป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ในโหราศาสตร์ไทยมี พระจันทร์ เป็นเทวดาประจำวันจันทร์ และชาวญี่ปุ่น มีการมองดวงจันทร์ว่ามีกระต่ายตำข้าวอยู่บนดวงจันทร์ ในไทยมีความเชื่อเรื่องการอาบน้ำเพ็ญ คือการอาบน้ำในวันพระจันทร์เต็มดวงมีการทำพิธีในวันเพ็ญเดือน 12 โดยเชื่อว่าการอาบน้ำกลางแจ้งในช่วงของวันดังกล่าวจะทำให้ได้รับพลังจากดวงจันทร์เป็นความสิริมงคล == สถานภาพทางกฎหมาย == ถึงแม้ว่าธงจำนวนมากของสหภาพโซเวียตจะถูกโปรยโดยยานลูน่า 2 ในปี 1959 และภายหลังภารกิจลงจอด และธงชาติสหรัฐอเมริกาก็ถูกปักไว้เป็นสัญลักษณ์บนดวงจันทร์ ไม่มีชาติใดได้ครอบครองความเป็นเจ้าของของส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นผิวดวงจันทร์เลย โซเวียตและสหรัฐต่างก็อยู่ร่วมกันในสนธิสัญญาอวกาศนอก ซึ่งให้ดวงจันทร์อยู่ภายใต้วงอำนาจเดียวกันกับเขตน่านน้ำสากล (สาธารณสมบัติ) สนธิสัญญานี้ยังจำกัดให้มีการใช้ดวงจันทร์เพื่อจุดประสงค์แห่งสันติภาพ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการห้ามการติดตั้งทหารและอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงอีกด้วย (รวมไปถึงอาวุธนิวเคลียร์) สนธิสัญญาฉบับที่ 2 สนธิสัญญาจันทรา มีจุดประสงค์เพื่อที่จะจำกัดการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์โดยชาติเพียงชาติเดียว แต่ก็ยังไม่มีชาติใดในกลุ่ม Space-faring nations เซ็นสนธิสัญญานี้เลย เอกชนหลายๆ แห่งได้ทำการครอบครองดวงจันทร์ทั้งหมดหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดจะพิจารณาความน่าเชื่อถือก็ตาม == ดูเพิ่ม == ปฏิทินจันทรคติไทย - การนับวันเดือนปี โดยอาศัยดวงจันทร์เป็นเกณฑ์ ปฏิทินอิสลาม - การนับวันเดือนปี โดยอาศัยดวงจันทร์เป็นเกณฑ์ == เชิงอรรถ == == อ้างอิง ==
thaiwikipedia
706
ดวงอาทิตย์
ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ ณ ใจกลางระบบสุริยะ เป็นพลาสมาร้อนทรงเกือบกลมสมบูรณ์ โดยมีการเคลื่อนที่พาซึ่งผลิตสนามแม่เหล็กผ่านกระบวนการไดนาโม ปัจจุบันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.39 ล้านกิโลเมตร ใหญ่กว่าโลก 109 เท่า และมีมวลประมาณ 330,000 เท่าของโลก คิดเป็นประมาณร้อยละ 99.86 ของมวลทั้งหมดของระบบสุริย มวลประมาณสามในสี่ของดวงอาทิตย์เป็นไฮโดรเจน ส่วนที่เหลือเป็นฮีเลียมเป็นหลัก โดยมีปริมาณธาตุหนักกว่าเล็กน้อย รวมทั้งออกซิเจน คาร์บอน นีออนและเหล็ก ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ลำดับหลักระดับจี (G2V) ตามการจัดประเภทดาวฤกษ์ตามระดับสเปกตรัม โดยมักถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ดาวแคระเหลือง" ดวงอาทิตย์ก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 4.6 พันล้านปีก่อน จากการยุบของแรงโน้มถ่วง (gravitational collapse) ของสสารภายในบริเวณกลุ่มเมฆโมเลกุลขนาดใหญ่ สสารนี้ส่วนใหญ่รวมอัดแน่นอยู่ที่ใจกลาง ส่วนที่เหลือบีบตัวลงลงเป็นแผ่นโคจรซึ่งกลายมาเป็นระบบสุริยะ มวลใจกลางร้อนและหนาแน่นมากจนเริ่มเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น ณ แก่นดาว ซึ่งเชื่อว่าเป็นกระบวนการเกิดดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ ดวงอาทิตย์มีอายุมาได้ประมาณครึ่งอายุขัยแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเป็นเวลากว่า 4 พันล้านปีมาแล้ว และคาดว่าจะอยู่ในภาวะค่อนข้างเสถียรไปเช่นนี้อีก 5 พันล้านปี ในแต่ละวินาที ปฏิกิริยาหลอมนิวเคลียส (ฟิวชัน) ของดวงอาทิตย์ สามารถเปลี่ยนไฮโดรเจนอะตอมปริมาณ 600 ล้านตัน ให้กลายเป็นฮีเลียม และเปลี่ยนสสาร 4 ล้านตันให้เป็นพลังงานจากปฏิกิริยาดังกล่าว กว่าพลังงานนี้จะหนีออกจากแกนดวงอาทิตย์มาสู่พื้นผิวได้ ต้องใช้เวลานานราว 10,000 ถึง 170,000 ปี ในอีกราว 5 พันล้านปีข้างหน้า เมื่อปฏิกิริยาฟิวชันไฮโดรเจนในแก่นของดวงอาทิตย์ลดลงถึงจุดที่ไม่อยู่ในดุลยภาพอุทกสถิตต่อไป แก่นของดวงอาทิตย์จะมีความหนาแน่นและอุณหภูมิเพิ่มขึ้นส่วนชั้นนอกของดวงอาทิตย์จะขยายออกจนสุดท้ายเป็นดาวยักษ์แดง มีการคำนวณว่าดวงอาทิตย์จะใหญ่พอกลืนวงโคจรปัจจุบันของดาวพุธและดาวศุกร์ และทำให้โลกอาศัยอยู่ไม่ได้ มนุษย์ทราบความสำคัญของดวงอาทิตย์ที่มีโลกมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และบางวัฒนธรรมถือดวงอาทิตย์เป็นเทวดา การหมุนของโลกและวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกเป็นรากฐานของปฏิทินสุริยคติ ซึ่งเป็นปฏิทินที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน == ภาพรวมเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ == ดวงอาทิตย์จัดเป็นดาวฤกษ์รุ่นที่ 3 ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ก่อตัวขึ้นโดยอิทธิพลของมหานวดาราที่อยู่ใกล้ ๆ เพราะมีการค้นพบธาตุหนัก เช่น ทองคำและยูเรเนียมในปริมาณมาก ซึ่งธาตุเหล่านี้อาจเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ชนิดดูดความร้อนขณะที่เกิดมหานวดารา หรือการดูดซับนิวตรอนในดาวฤกษ์รุ่นที่สองซึ่งมีมวลมาก == ปัจจุบันและอนาคตของดวงอาทิตย์ == ตามการศึกษาแบบจำลองคอมพิวเตอร์ว่าด้วยวัฏจักรดาวฤกษ์ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าดวงอาทิตย์มีอายุประมาณ 5,000 ล้านปี ในขณะนี้ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ในลำดับหลัก ทำการหลอมไฮโดรเจนให้เป็นฮีเลียม โดยทุก ๆ วินาที มวลสารของดวงอาทิตย์มากกว่า 4 ล้านตันถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน ดวงอาทิตย์ใช้เวลาโดยประมาณ 1 หมื่นล้านปีในการดำรงอยู่ในลำดับหลัก เมื่อไฮโดรเจนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของดวงอาทิตย์หมดลง วาระสุดท้ายของดวงอาทิตย์ก็มาถึง (คือการพ้นไปจากลำดับหลัก) โดยดวงอาทิตย์จะเริ่มพบกับจุดจบคือการแปรเปลี่ยนไปเป็นดาวยักษ์แดงภายใน 4-5 พันล้านปี ผิวนอกของดวงอาทิตย์ขยายตัวออกไป ส่วนแกนนั้นยุบตัวลงและร้อนขึ้นสลับกับเย็นลง มีการหลอมฮีเลียมเป็นคาร์บอนและออกซิเจนที่อุณหภูมิราว 100 ล้านเคลวิน จากสถานการณ์ข้างต้นดูเหมือนว่าดวงอาทิตย์จะกลืนกินโลกให้หลอมลงไปเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จากรายงานวิจัยฉบับหนึ่งได้ศึกษาพบว่าวงโคจรของโลกจะตีตัวออกห่างดวงอาทิตย์เพราะมวลของดวงอาทิตย์ได้สูญเสียไป จนแรงดึงดูดระหว่างมวลมีค่าลดลง แต่ถึงกระนั้น น้ำทะเลก็ถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์เผาผลาญจนระเหยสิ้นไปในอวกาศ และบรรยากาศโลกก็อันตรธานไปจนไม่เอื้อแก่ชีวิตต่อมาได้มีการค้นพบ ว่าดวงอาทิตย์นั้นจะสว่างขึ้น 10 เปอร์เซนต์ ทุก ๆ 1000 ล้านปี ถึงตอนนั้นโลกก็ไม่อาจจะเอื้อ ต่อสิ่งมีชีวิตไปก่อนแล้ว เวลาของสิ่งมีชีวิตบนโลก จึงเหลือแค่ 500 ล้านปีเท่านั้น หลังจากที่ดวงอาทิตย์ได้ผ่านสภาพการเป็นดาวยักษ์แดงแล้ว อุณหภูมิจากปฏิกิริยาการหลอมฮีเลียมที่เพิ่มสลับกับลงภายในแกน ก็จะเป็นตัวการให้ผิวดวงอาทิตย์ด้านนอกผละตัวออกจากแกน เกิดเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ แล้วอันตรธานไปในความมืดมิดของอวกาศ และเป็นวัสดุสำหรับสร้างดาวฤกษ์และระบบสุริยะรุ่นถัดไป ส่วนแกนที่เหลืออยู่ก็จะกลายเป็นดาวแคระขาวที่ร้อนจัดและมีแสงจางมาก ก่อนจะดับลงกลายเป็นดาวแคระดำ จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือชีวิตของดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยถึงปานกลาง == โครงสร้าง == ดวงอาทิตย์เป็นวัตถุที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีมวลคิดเป็นร้อยละ 99 ของระบบสุริยะ ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่มีรูปทรงเกือบเป็นทรงกลม โดยมีความแบนที่ขั้วเพียงหนึ่งในเก้าล้าน ซึ่งหมายความว่าความแตกต่างของเส้นผ่านศูนย์กลางที่ขั้วกับเส้นผ่านศูนย์กลางที่เส้นศูนย์สูตรมีเพียง 10 กิโลเมตร จากการที่ดวงอาทิตย์มีเฉพาะส่วนที่เป็นพลาสมา ไม่มีส่วนที่เป็นของแข็ง ทำให้อัตราเร็วของการหมุนรอบตัวเองในแต่ละส่วนมีความต่างกัน เช่นที่เส้นศูนย์สูตรจะหมุนเร็วกว่าที่ขั้ว ที่เส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์มีคาบการหมุนรอบตัวเอง 25 วัน ส่วนที่ขั้วมีคาบ 35 วัน แต่เมื่อสังเกตบนโลกแล้วจะพบว่าคาบของการหมุนรอบตัวเองที่เส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์คือ 28 วัน ดวงอาทิตย์มีความหนาแน่นมากที่สุดบริเวณแกน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงาน และมีค่าน้อยลงเกือบเป็นรูปเอ็กโพเนนเชียลตามระยะทางที่ห่างออกมาจากแกน และแม้ว่าภายในดวงอาทิตย์นั้นจะไม่สามารถมองเห็นได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถศึกษาภายในได้ผ่านทางการใช้คลื่นสะเทือนในดวงอาทิตย์ === แกน === ส่วนแกนของดวงอาทิตย์สันนิษฐานว่ามีรัศมีเป็น 0.2 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ ความหนาแน่นประมาณ 150,000 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 150 เท่าของความหนาแน่นของน้ำบนโลก อุณหภูมิประมาณ 13,600,000 เคลวิน ตลอดชีวิตส่วนใหญ่ของดวงอาทิตย์ ภายในแกนจะมีปฏิกิริยาฟิวชันลูกโซ่ โปรตอน-โปรตอน ซึ่งเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม พลังงานที่ได้นี้ทำให้ส่วนที่เหลือของดวงอาทิตย์สุกสว่างและเปล่งแสง ทุก ๆ วินาที จะมีนิวเคลียสของไฮโดรเจน 3.4 ตัว ถูกแปรรูปเป็นฮีเลียม ผลิตพลังงานได้ 383 จูล หรือเทียบได้กับระเบิดไตรไนโตรโทลูอีน (TNT) ถึง 9.15 กิโลกรัม พลังงานจากแกนของดวงอาทิตย์ใช้เวลานานมากในการขึ้นสู่พื้นผิว อย่างมากเป็น 50 ล้านปี อย่างน้อยเป็น 17,000 ปีเพราะโฟตอนพลังงานสูง (รังสีเอกซ์และรังสีแกมมา) ถูกดูดกลืนไปในพลาสมา แล้วเปล่งพลังงานออกมาสลับกันเรื่อย ๆ ทุก ๆ ระยะไม่กี่มิลลิเมตร === เขตแผ่รังสีความร้อน === ในส่วนของเขตแผ่รังสีความร้อน ซึ่งอยู่ในช่วง 0.2 ถึง 0.7 ส่วนของรัศมีดวงอาทิตย์ ในชั้นนี้ไม่มีการพาความร้อน (convection) เพราะอัตราความแตกต่างของอุณหภูมิเทียบกับระยะความสูงน้อยกว่าอัตราการเปลี่ยนอุณหภูมิตามความสูงแบบอะเดียแบติก (adiabatic lapse rate) พลังงานในส่วนนี้ถูกนำออกมาภายนอกช้ามากดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว === เขตพาความร้อน === ในส่วนของเขตพาความร้อน (convection zone) ซึ่งอยู่บริเวณผิวนอกที่เหลือ เป็นส่วนที่พลังงานถูกถ่ายเทผ่านแท่งความร้อน (heat column) โดยเนื้อสารที่ร้อนและมีพลังงานเริ่มต้นจากด้านล่าง แล้วไหลขึ้นด้านบนจนถึงผิว จากนั้นถ่ายเทความร้อนและกลับลงไปใหม่ แท่งความร้อนสามารถสังเกตได้จาก “เกล็ด” บนภาพถ่ายผิวดวงอาทิตย์ === โฟโตสเฟียร์ === ในส่วนของโฟโตสเฟียร์ (photosphere) แปลว่า ทรงกลมแห่งแสง ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองเห็นดวงอาทิตย์ แสงสว่างที่เปล่งในดวงอาทิตย์นั้นเกิดจากอิเล็กตรอนชนกับอะตอมไฮโดรเจนเกิดเป็น H- เหนือชั้นนี้ แสงอาทิตย์ก็จะถูกปลดปล่อยออกมา และมีอุณหภูมิต่ำลงตามความสูงที่มากขึ้น จนทำให้สังเกตเห็นรอยมัวตรงขอบดวงอาทิตย์ในภาพถ่าย (ดังภาพถ่ายด้านบน) === บรรยากาศ === บรรยากาศของดวงอาทิตย์ประกอบด้วย 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นอุณหภูมิต่ำสุด (temperature minimum) โครโมสเฟียร์ (chromosphere) เขตเปลี่ยนผ่าน (transition region) โคโรนา (corona) และเฮลิโอสเฟียร์ (heliosphere) ตามลำดับจากต่ำไปสูง ชั้นแรก ชั้นอุณหภูมิต่ำสุด มีอุณหภูมิประมาณ 4,000 เคลวิน และหนา 500 กิโลเมตร ชั้นถัดไปคือโครโมสเฟียร์ ซึ่งแปลว่ารงคมณฑล หรือทรงกลมแห่งสี เหตุที่เรียกชื่อนี้ก็เพราะเห็นเป็นแสงสีแวบขณะเกิดสุริยุปราคา ชั้นนี้หนา 2,000 กิโลเมตร ชั้นต่อไปเป็นเขตเปลี่ยนผ่านซึ่งอุณหภูมิอาจติดลบถึงล้านเคลวิน และยิ่งต่ำขึ้นไปอีกในชั้นโคโรนา ทำให้สิ่งนี้เป็นปัญหาคาใจนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการต่อเชื่อมทางแม่เหล็ก (magnetic connection) ชั้นที่เหลือชั้นสุดท้ายคือ เฮลิโอสเฟียร์ หรือสุริยมณฑล คือชั้นที่อำนาจของลมสุริยะสามารถไปถึง ซึ่งอาจมากกว่า 20 หน่วยดาราศาสตร์ (20 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์) == ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสังเกตดวงอาทิตย์ == === ความเข้าใจในอดีต === มนุษย์ในอดีตรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์เพียงเป็นลูกไฟกลม ขึ้นจากท้องฟ้าในทิศตะวันออกทำให้เกิดกลางวัน และตกลงไปทางทิศตะวันตกทำให้เกิดกลางคืน ดวงอาทิตย์ให้ทั้งความสว่าง ความร้อน ความอบอุ่น ตลอดจนความหวังในจิตใจ จนมีการนับถือดวงอาทิตย์ให้เป็นเทพเจ้า มีการบูชายัญถวายเทพพระอาทิตย์ของชาวอัซเตก (Aztec) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเม็กซิโก นอกเหนือจากนี้ มนุษย์ในสมัยโบราณยังได้สร้างสิ่งประดิษฐ์สำหรับบอกตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในวันอุตรายัน (Summer solstice) ซึ่งเป็นวันที่กลางวันยาวที่สุดในรอบปี คือประมาณวันที่ 24 มิถุนายน เช่น ที่เสาหินสโตนเฮนจ์ ในประเทศอังกฤษ และพีระมิดเอลกัสตีโย (El Castillo) ประเทศเม็กซิโก === การพัฒนาแนวความคิดสมัยใหม่ === ต่อมานักปราชญ์ชาวกรีกชื่อ อะนักซากอรัส (Anaxagoras) ได้เสนอว่า ดวงอาทิตย์เป็นลูกไฟกลม ไม่ได้เป็นพระอาทิตย์ทรงพาหนะ ทำให้เขาต้องโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา ต่อมามีการสันนิษฐานว่าเอราโตสเทเนส ได้วัดระยะห่างจากโลกไปดวงอาทิตย์ได้เที่ยงตรงเป็นคนแรกในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล ซึ่งวัดได้ 149 ล้านกิโลเมตร ใกล้เคียงกับที่ยอมรับในปัจจุบัน ในเวลาต่อมา ชาวกรีกโบราณและชาวอินเดียโบราณตั้งสมมติฐาน โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และต่อมาก็ได้รับการพิสูจน์โดยนิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัสในช่วงศตวรรษที่ 16 ต่อมาทอมัส แฮร์ริออต (Thomas Harriot) กาลิเลโอ กาลิเลอิ และนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ สังเกตพบจุดดำบนดวงอาทิตย์ โดยกาลิเลโอเสนอว่าจุดดำบนดวงอาทิตย์คือจุดที่เกิดบนผิวดวงอาทิตย์โดยตรง มิได้เป็นวัตถุเคลื่อนที่มาบัง ในปี พ.ศ. 2215 โจวันนี คาสซินี (Giovanni Cassini) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี และชอง รีเช (Jean Richer) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้หาระยะทางจากโลกไปดาวอังคาร และอาจจะสามารถหาระยะทางไปดวงอาทิตย์ได้หลังจากนั้น ไอแซก นิวตัน ได้สังเกตดวงอาทิตย์โดยให้แสงดวงอาทิตย์ผ่านปริซึม เขาพบว่าประกอบขึ้นด้วยหลาย ๆ แสงสี นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในรุ้งกินน้ำต่อมาวิลเลียม เฮอร์เชล ได้ค้นพบการแผ่รังสีอินฟราเรดในช่วงใต้แดงจากดวงอาทิตย์ เมื่อเทคโนโลยีสเปกตรัมก้าวหน้า โยเซฟ ฟอน เฟราน์โฮเฟอร์ (Joseph von Fraunhofer) ได้ค้นพบเส้นดูดกลืนในสเปกตรัมของดวงอาทิตย์ ซึ่งต่อมาเรียกว่าเส้นเฟราน์โฮเฟอร์ (Fraunhofer line) ช่วงแรก ๆ ของยุคใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ปัญหาที่คาใจนักวิทยาศาสตร์ก็คือดวงอาทิตย์เอาพลังงานมาจากที่ใด ลอร์ดเคลวิน (วิลเลียม ทอมสัน) และแฮร์มันน์ ฟอน เฮล์มโฮลตซ์ (Hermann von Helmholtz) ได้เสนอกลไกเคลวิน-เฮล์มโฮลตซ์ (Kelvin-Helmholtz mechanism) ในการอธิบายการพาความร้อนขึ้นสู่ผิวดวงอาทิตย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด เสนอว่าพลังงานในดวงอาทิตย์มาจากปฏิกิริยาการคายพลังงานจากอนุภาคที่ถูกกระตุ้น แต่ก็คงอธิบายไม่ละเอียดเท่าของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของสมการสมมูลมวล-พลังงาน E=mc2 ในปี พ.ศ. 2463 อาร์เทอร์ เอดดิงตัน เสนอว่าความร้อนและความดันภายในแกนเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชัน และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมวลและพลังงาน สิบปีต่อมาทฤษฎีนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยสุพราห์มันยัน จันทรเสกขา (Subrahmanyan Chandrasekar) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย และฮันส์ เบเทอ นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน === โครงการสำรวจดวงอาทิตย์ === องค์การนาซาได้เคยปล่อยยานสำรวจดวงอาทิตย์ในโครงการไพโอเนียร์ ซึ่งปล่อยช่วงปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2511 โดยทำการตรวจวัดสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์และลมสุริยะ ต่อมาก็ได้ส่งยานสกายแล็บเมื่อปี พ.ศ. 2516 ทำการศึกษาโคโรนาของดวงอาทิตย์ และการพ่นมวลของโคโรนา ในปี พ.ศ. 2534 ญี่ปุ่นได้ส่งยานโยะโกะ (阳光) เพื่อศึกษาเพลิงสุริยะในช่วงรังสีเอกซ์ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า โคโรนาจะยุบลงในช่วงที่มีกิจกรรมบนผิวดวงอาทิตย์มาก ยานโยะโกะถูกปลดระวางเมื่อ พ.ศ. 2548 ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ที่เรารู้จักกันมักหนีไม่พ้นหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และสุริยมณฑล หรือโซโฮ (Solar and Heliospheric Observatory; SOHO) อันเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ถูกปล่อยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เดิมทีกำหนดให้ปฏิบัติงานสองปี แต่กลับปฏิบัติงานมากกว่า 10 ปี ยานโซโฮเป็นยานสังเกตการณ์ที่ทำให้เรารู้หลายอย่างเกี่ยวกับดวงอาทิตย์มากขึ้นในหลาย ๆ ช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และยังสังเกตเห็นดาวหางที่พุ่งชนดวงอาทิตย์ด้วย ส่วนอีกโครงการหนึ่งที่มีแผนจะปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2551 คือโครงการหอสังเกตการณ์สุริยพลวัต (Solar Dynamic Observatory) ซึ่งจะนำไปไว้ยังจุดลากร็องฌ์ หรือจุดสะเทินแรงดึงดูด ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ นอกเหนือจากนี้ ยังมีโครงการสังเกตระบบสุริยะจากมุมอื่น โดยมีการส่งยานยุลลิซิส (Ulysses) เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยให้ไปยังดาวพฤหัสบดีเพื่อเหวี่ยงตัวขึ้นเหนือระนาบระบบสุริยะ ครานั้นยานสามารถสังเกตเห็นดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ชนดาวพฤหัสบดีในปี พ.ศ. 2537 เมื่อยานยุลลิซิสถึงที่หมาย ก็จะทำการสำรวจลมสุริยะและสนามแม่เหล็กที่ละติจูดสูง ๆ และพบว่าอัตราเร็วลมสุริยะอยู่ที่ 750 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งช้ากว่าที่ได้คาดไว้ และยังมีสนามแม่เหล็กที่ทำให้รังสีคอสมิกกระเจิงด้วย == บทบาทของดวงอาทิตย์ต่อสิ่งมีชีวิต == นับตั้งแต่ปฏิกิริยานิวเคลียร์ความร้อน (thermonuclear reaction) ในใจกลางดวงอาทิตย์ แผ่พลังงานออกมาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและพลังงานที่สะสมภายในอนุภาค ใช้เวลาเดินทางนับหมื่นนับแสนปีจนกระทั่งถึงผิวดวงอาทิตย์ และต่อด้วยการเดินทาง 8 นาทีมายังโลกของเรา ในรูปของแสงที่มองเห็น รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และรังสีอื่น ๆ ต้องขอบคุณชั้นบรรยากาศโลกที่ได้กรองเอาสิ่งที่เป็นอันตรายเหล่านี้ออกไป ไม่นานนักพลังงานก็ถึงยังพื้นโลก ทั้งให้ความอบอุ่นน่าอยู่ในเขตหนาว หรือแม้แต่ให้ความรู้สึกรำคาญในเขตร้อน ทว่าพลังงานจากดวงอาทิตย์ก็ได้ถูกดูดซับเข้าไปในพืชและโพรทิสต์ จากนั้นพืชก็สามารถตรึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศได้เป็นน้ำตาล ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง น้ำตาลที่ได้นั้นพืชก็จะนำไปแปรรูปเป็นทั้งผนังเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์ ออแกเนลล์ภายในเซลล์ ฯลฯ นอกเหนือจากธาตุอาหารที่ดูดขึ้นมาจากดิน เมื่อพืชเป็นผู้ผลิต (ที่แท้จริงคือผู้แปรรูป) อาหารจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก็ทำให้สัตว์มีอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของพืช ในการสลายอาหารของสัตว์ สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากอาหารที่ได้รับแล้วก็คือออกซิเจน ซึ่งเป็นของเสียในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เพื่อไปรับอิเล็กตรอนตัวสุดท้ายในกระบวนการสลายสารอาหารระดับเซลล์ ขณะเดียวกันสัตว์ก็หายใจเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสารพลังงานต่ำออกมา เพื่อที่พืชจะได้ตรึงอีกครั้งเป็นวัฏจักร == ดูเพิ่ม == ระบบสุริยะ == อ้างอิง == == อ่านเพิ่ม == สารานุกรมดาราศาสตร์ออนไลน์ เรื่อง ดวงอาทิตย์ ข้อมูล ดวงอาทิตย์ จากหอดูดาวเกิดแก้ว โครงการเครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์ - บทที่ 6 เรื่อง ดวงอาทิตย์ == แหล่งข้อมูลอื่น == ภาพถ่ายดวงอาทิตย์จากยาน SOHO Nasa SOHO (Solar & Heliospheric Observatory) satellite FAQ Sun Profile by NASA's Solar System Exploration Solar Sounds from Stanford สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๑ เรื่องที่ ๑ ดวงอาทิตย์ ฟิสิกส์พลาสมา ดวงอาทิตย์
thaiwikipedia
707
อะพอลโล 14
ยานอะพอลโล 14 เป็นยานอวกาศลำที่ 8 ในโครงการอะพอลโลขององค์การนาซาที่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย และเป็นยานลำที่ 3 ที่นำมนุษย์อวกาศลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ ==ภารกิจโดยสรุป== ออกจากโลก: 31 มกราคม พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) ฐานส่ง 39A กลับถึงโลก: 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 นักบินอวกาศ: อลัน เชพพาร์ด เป็นผู้บังคับการ; สจวร์ต รูซา เป็นนักบินควบคุมยานบังคับการ; เอ็ดการ์ มิตเชลล์ เป็นนักบินควบคุมส่วนลงดวงจันทร์ ยานบังคับการ: คิตตีฮอว์ค (Kitty Hawk) ส่วนลงดวงจันทร์: แอนทาเรส (Antares) ลงจอดบนดวงจันทร์: 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 จุดลงจอด: ละติจูด 3.7° ใต้, ลองจิจูด 17.5° ตะวันตก -- ที่สูงฟรามอโร ระยะเวลาที่อยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์: 1 วัน 9.5 ชั่วโมง กิจกรรมนอกยาน: รวม 9.2 ชั่วโมง (4.7 + 4.5 ชม.) น้ำหนักของตัวอย่างหินที่นำกลับโลก: 43 กิโลกรัม ==อ้างอิง== NASA NSSDC Master Catalog APOLLO BY THE NUMBERS: A Statistical Reference by Richard W. Orloff (NASA) The Apollo Spacecraft: A Chronology Apollo Program Summary Report Apollo 14 Characteristics - SP-4012 NASA HISTORICAL DATA BOOK ==แหล่งข้อมูลอื่น== แผนที่การทำกิจกรรมบนดวงจันทร์ของนักบินยานอะพอลโล 14 ยานอะพอลโล 14 ใน Encyclopedia Astronautica ยานอวกาศ โครงการอะพอลโล ภารกิจอวกาศในปี พ.ศ. 2514
thaiwikipedia
708
ดาวยูเรนัส
ดาวยูเรนัส (Uranus หรือ มฤตยู) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 ในระบบสุริยะ จัดเป็นดาวเคราะห์แก๊ส มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50,724 กิโลเมตร นับได้ว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่3 ในระบบสุริยะของเรา ยูเรนัสถูกตั้งชื่อตามเทพเจ้ายูเรนัส(Ouranos) ของกรีก สัญลักษณ์แทนดาวยูเรนัส คือ หรือ (ส่วนใหญ่ใช้ในดาราศาสตร์) ชื่อไทยของยูเรนัส คือ ดาวมฤตยู ผู้ค้นพบดาวยูเรนัส คือ เซอร์วิลเลียม เฮอร์เชล(Sir William Herschel) พบในปี พ.ศ. 2324 (ค.ศ. 1781) ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวไคเปอร์แอร์บอร์น (James L. Elliot, Edward W. Dunham, and Douglas J. Mink using the Kuiper Airborne Observatory) ค้นพบว่า ดาวยูเรนัสมี วงแหวนจางๆโดยรอบ และเราก็ได้เห็นรายละเอียด ของดาวยูเรนัสพร้อมทั้งวงแหวน และดวงจันทร์บริวารในปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) เมื่อยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) เคลื่อนผ่าน == ลักษณะเฉพาะทางกายภาพ == === โครงสร้างภายใน === บรรยากาศชั้นนอก ประกอบด้วยไฮโดรเจน และฮีเลียม เป็นส่วนใหญ่ แต่ลึกลงไปชั้นในมีส่วนประกอบของ แอมโมเนีย มีเทน ผสมอยู่ด้วย ดาวยูเรนัสแผ่ความร้อนออกจากตัวดาวน้อยมาก อาจจะเป็นเพราะภายในดาวไม่มีการยุบตัวแล้ว หรืออาจมีบางอย่างได้ปิดกั้นไว้แต่ก็ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด นักดาราศาสตร์คาดว่า แกนของดาวยูเรนัส มีลักษณะคล้ายกับดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดี ถัดมาเป็นแกนชั้นนอกที่เต็มไปด้วยแอมโมเนียและมีเทน ซึ่งทำให้เรามองดาวยูเรนัสมีลักษณะเป็นสีฟ้าแกนกลางของดาวยูเรนัสเป็นหินแข็งเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 17,000 กิโลเมตร ล้อมไปด้วยชั้นของเหลวที่ประกอบไปด้วยนํ้าและแอมโมเนีย แมนเทิลชั้นนอกประกอบด้วยฮีเลียมเหลว ไฮโดรเจนเหลวที่ผสมกลมกลืนกับชั้นบรรยากาศ === คาบการหมุนรอบดวงอาทิตย์ === ดาวยูเรนัสโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 84 ปี แกนของดาวทำมุมกับระนาบระบบสุริยะถึง 98 องศา ทำให้ฤดูกาลบนดาวยาวนานมาก คือ ด้านหนึ่งจะมีฤดูหนาว 42 ปี และอีกด้านจะร้อนนาน 42 ปี และบางที่บนดาวพระอาทิตย์จะไม่ตกเลยตลอด 42 ปี และบางที่ก็จะไม่ได้รับแสงเลยตลอด 42 ปี ที่ระยะนี้ พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์แผ่มาน้อยมาก จึงทำให้กลางวันและกลางคืนของดาวยูเรนัสมีอุณหภูมิต่างกัน 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น ทั้งนี้การหมุนรอบตัวเองของดาวยูเรนัสยังตรงข้ามกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ คือหมุนไปในทิศตามเข็มนาฬิกาเหมือนกันกับดาวศุกร์ === ดวงจันทร์บริวาร === ที่ค้นพบแล้วมีทั้งหมด 27 ดวง 5 ดวงหลัก คือ มิแรนดา (Miranda) แอเรียล (Ariel) อัมเบรียล (Umbriel) ทิทาเนีย (Titania) และโอเบอรอน (Oberon) ดวงจันทร์ทิทาเนียและโอเบอรอนพบโดยเฮอร์เชล 6 ปี หลังจากที่ค้นพบดาวยูเรนัส ส่วนแอเรียลและอัมเบรียลพบโดยวิลเลียม ลาสเชลล์ === วงแหวน === วงแหวนของดาวยูเรนัสมีความมืดมาก ผิดกับวงแหวนที่สว่างของดาวเสาร์ ถ้าไม่มองด้วยกล้องโทรทรรศน์ก็จะมองไม่เห็น วงแหวนของดาวยูเรนัสถูกพบโดยหอดูดาวแอร์บอร์นในปี 1977 ซึ่งเป็นยานชนิดพิเศษที่นำกล้องโทรทัศน์ไปด้วย นักดาราศาสตร์บนเครื่องบินเฝ้ามองดูดาวยูเรนัสเมื่อมีดาวฤกษ์เคลื่อนไหวมาตรงข้ามหน้าของมัน ยานวอยเอเจอร์ 2 มองดูที่วงแหวนเมื่อมันบินผ่านดาวยูเรนัส วงแหวนของดาวยูเรนัสจะแคบ วงแหวนที่กว้างที่สุดคือช่องว่างที่ใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยก้อนฝุ่น ยานวอเยเจอร์พบส่วนโค้งบางอย่าง ซึ่งเป็นส่วนของวงแหวนที่ไม่สมบูรณ์ วงแหวนของดาวยูเรนัสประกอบด้วยชิ้นน้ำแข็งมืดที่เคลื่อนไหว น้ำแข็งประกอบด้วยมีเทนแข็ง ชิ้นส่วนของมันอาจจะชนกันและทำให้เกิดฝุ่นที่อยู่ในช่องว่างระหว่างวงแหวน == แหล่งข้อมูลอื่น == ดาวยูเรนัส Uranus ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์ชั้นนอก ดาวเคราะห์แก๊ส วัตถุทางดาราศาสตร์ที่ค้นพบในปี พ.ศ. 2324
thaiwikipedia
709
คาร์ล มาคส์
คาร์ล ไฮน์ริช มาคส์ (Karl Heinrich Marx, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2361 — 14 มีนาคม พ.ศ. 2426) เป็นนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักทฤษฎีการเมือง นักสังคมวิทยา นักหนังสือพิมพ์และนักสังคมนิยมปฏิวัติชาวเยอรมัน มาคส์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางในเทรียร์ เขาศึกษากฎหมายและปรัชญาแบบเฮเกิล เนื่องจากงานพิมพ์การเมืองของเขาทำให้เขาไร้สัญชาติและอาศัยลี้ภัยในกรุงลอนดอน ซึ่งเขายังพัฒนาความคิดของเขาต่อโดยร่วมมือกับนักคิดชาวเยอรมัน ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ และจัดพิมพ์งานเขียนของเขา เรื่องที่ขึ้นชื่อของเขา ได้แก่ จุลสารปี 2391, แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ และทุน จำนวนสามเล่ม ความคิดทางการเมืองและปรัชญาของเขามีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อปัญญาชนรุ่นหลัง วิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและประวัติศาสตร์การเมือง ชื่อของเขาเป็นคำคุณศัพท์ นามและสำนักทฤษฎีสังคม ทฤษฎีของมาคส์เกี่ยวกับสังคม เศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่เรียกรวมว่า ลัทธิมาคส์ถือว่าสังคมมนุษย์พัฒนาผ่านการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ในทุนนิยม การต่อสู้ระหว่างชนชั้นแสดงออกมาในรูปการต่อสู้ระหว่างชนชั้นปกครอง (เรียก ชนชั้นกระฎุมพี) ซึ่งควบคุมปัจจัยการผลิตและชนชั้นแรงงาน (เรียก ชนกรรมาชีพ) นำปัจจัยการผลิตดังกล่าวไปใช้โดยขายกำลังแรงงานของพวกตนเพื่อแลกกับค่าจ้าง มาคส์ใช้แนวเข้าสู่การศึกษาวิพากษ์ที่เรียก วัสดุนิยมทางประวัติศาสตร์ ทำนายว่าทุนนิยมจะก่อเกิดความตึงเครียดภายในซึ่งจะนำไปสู่การทำลายตนเองเช่นเดียวกับระบบสังคมและเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ และแทนที่ด้วยระบบใหม่ คือ สังคมนิยม; สำหรับมาคส์ การต่อต้านชนชั้นภายใต้ทุนนิยมซึ่งบางส่วนมีสาเหตุจากความไม่มั่นคงและสภาพที่มีแนวโน้มเกิดวิกฤติ จะลงเอยด้วยการพัฒนาความสำนึกเรื่องชั้นชนของชนชั้นแรงงาน และนำไปสู่การพิชิตอำนาจทางการเมืองและสุดท้ายการสถาปนาสังคมคอมมิวนิสต์ปราศจากชนชั้นอันประกอบด้วยการรวมกันเป็นสมาคมอิสระของผู้ผลิต มาคส์เรียกร้องให้นำความคิดดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างแข็งขัน โดยแย้งว่าชนชั้นแรงงานควรเป็นผู้ลงมือปฏิวัติแบบจัดระเบียบเพื่อโค่นทุนนิยมและนำมาซึ่งการปลดปล่อยให้เป็นอิสระทางสังคมและเศรษฐกิจ มีผู้อธิบายว่ามาคส์เป็นบุคคลทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ และงานของเขาได้รับการสรรเสริญและวิพากษ์ งานของเขาในวิชาเศรษฐศาสตร์วางรากฐานสำหรับความเข้าใจในปัจจุบันของแรงงานและความสัมพันธ์กับทุน และความคิดทางเศษฐศาสตร์สมัยหลัง ปัญญาชน สหภาพแรงงาน ศิลปินและพรรคการเมืองจำนวนมากทั่วโลกได้รับอิทธิพลจากงานของมาคส์ มีหลายคนดัดแปลงหรือรับความคิดของเขามาใช้ มักออกชื่อมาคส์ว่าเป็นผู้สร้างสังคมศาสตร์สมัยใหม่คนสำคัญคนหนึ่ง == ประวัติ == === วัยเด็ก === คาร์ล มาคส์ เกิดในครอบครัวชาวยิวหัวก้าวหน้าในเมืองเทรียร์ ราชอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในเยอรมนี) บิดาของเขา เฮอร์เชล ผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่เป็นราไบ ทำอาชีพทนาย ชื่อสกุลเดิมของมาคส์คือ มาคส์ เลวี ซึ่งแปลงมาจากชื่อสกุลยิวเก่าว่า มาร์โดไค ในปี ค.ศ. 1817 พ่อของมาคส์ได้เปลี่ยนศาสนาเป็นนิกายลูเทอแรนซึ่งเป็นศาสนาประจำรัฐปรัสเซีย เพื่อรักษาอาชีพทนายเอาไว้ ครอบครัวมาคส์เป็นครอบครัวเสรีนิยม และได้รับรองแขกที่เป็นนักวิชาการและศิลปินหลายคนในสมัยที่มาคส์ยังเป็นเด็ก === การศึกษา === มาคส์ได้คะแนนดีใน ยิมเนเซียม ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลายในปรัสเซีย เขาได้รางวัลจากวิทยานิพนธ์ระดับมัธยมปลายที่มีชื่อว่า "ศาสนา: กาวที่เชื่อมต่อสังคมเข้าด้วยกัน" งานชิ้นแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้กับงานวิเคราะห์ศาสนาของเขาต่อไปในภายหลัง มาคส์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยบ็อนในปี ค.ศ. 1833 (พ.ศ. 2376) เพื่อศึกษากฎหมาย ตามคำเรียกร้องของบิดา ที่บ็อนเขาเข้าชมรมนักเดินทางแห่งเทรียร์ (และบางช่วงยังได้เป็นประธานชมรม) ผลการเรียนของเขาเริ่มตกต่ำ เนื่องจากเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการร้องเพลงอยู่ในร้านเบียร์ ปีถัดไปพ่อของเขาจึงให้เขาย้ายไปยังกรุงเบอร์ลินเพื่อเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮ็ล์ม (Friedrich-Wilhelms-Universität) ที่เอาจริงเอาจังด้านการวิชาการมากขึ้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้คือมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน === มาคส์และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ === ที่เบอร์ลิน มาคส์เริ่มหันไปสนใจปรัชญาท่ามกลางความไม่พอใจของบิดา เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ที่มีอายุไม่มากที่เป็นที่รู้จักในชื่อ "กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่" (Young Hegelians) ซึ่งนำโดยบรูโน บาวเออร์ (Bruno Bauer) สมาชิกหลายคนในกลุ่มพยายามโยงปรัชญาแนวหลังอริสโตเติลเข้ากับปรัชญาหลังเฮเกิล มักซ์ สเตอร์เนอร์ สมาชิกกลุ่มเฮเกิลรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง นำการวิพากษ์แบบเฮเกิลมาใช้เพื่อสร้างคำอธิบายที่แทบจะเป็นแบบสุญนิยม ว่าสุดท้ายแล้วอีโกนิยมคือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ แนวคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของแทบทุกคนในกลุ่ม และมาคส์ได้โต้แนวคิดนี้บางส่วนใน Die Deutsche Ideologie (อุดมการณ์เยอรมัน) เกออร์ค เฮเกิล เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานในปีค.ศ. 1831 (พ.ศ. 2374) และในช่วงชีวิตของเขานั้น ได้เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลทางวิชาการในสังคมเยอรมนีมาก กลุ่มที่เชื่อแนวคิดแบบเฮเกิล (รู้จักกันในชื่อว่า กลุ่มเฮเกิลขวา) เชื่อว่าลำดับการวิภาษทางประวัติศาสตร์นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และสังคมปรัสเซีย ที่ถึงพร้อมด้วยการบริการพลเมือง มหาวิทยาลัยที่ดี การพัฒนาทางอุตสาหกรรม และอัตราการจ้างงานที่สูง เป็นผลสรุปของการพัฒนาการทางสังคมดังกล่าว กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ที่มาคส์สังกัดอยู่ด้วยนั้นเชื่อว่ายังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบวิภาษอีก และสังคมปรัสเซียในขณะนั้น ยังมีความไม่สมบูรณ์อีกมาก ทั้งนี้เนื่องจากสังคมยังมีความยากจน รัฐบาลยังคงใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มแข็ง และกลุ่มคนที่มิได้นับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเทอแรนยังคงโดยกีดกันทางสังคม มาคส์ถูกเตือนมิให้ส่งวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮ็ล์ม เนื่องจากคาดว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับที่นั่นเนื่องจากชื่อเสียงของมาคส์ ว่าเป็นนักคิดแนวถอนรากถอนโคนในกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ มาคส์จึงส่งวิทยานิพนธ์ของเขา ที่เปรียบเทียบทฤษฎีทางด้านอะตอมของดิโมคริตัสกับอีพิคารุสไปยังมหาวิทยาลัยเยนา ในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) ซึ่งได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มาคส์จบการศึกษา และ ในปี ค.ศ. 1841 คาร์ล มาคส์ เรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยนา === อาชีพ === เมื่อบาวเออร์อาจารย์ของเขาถูกขับออกจากภาควิชาปรัชญาในปี ค.ศ. 1842 (พ.ศ. 2385) มาคส์จึงเลิกสนใจปรัชญาและหันเหความสนใจไปยังการเป็นนักข่าว เขาได้เข้าทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าของเมืองโคโลญ อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์เล่มนั้นโดนสั่งปิดในปี ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) ซึ่งเป็นผลบางส่วนจากความขัดแย้งระหว่างมาร์คกซ์กับมาตรการเซ็นเซอร์ของรัฐ มาร์คซ์กลับไปสนใจปรัชญา และหันไปเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมกับทำงานเป็นนักข่าวอิสระ ไม่นานมาคส์ก็ต้องเดินทางลี้ภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องกระทำอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากการแสดงความเห็นแบบถอนรากถอนโคนของเขา มาคส์เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ที่นั่นเอง เขาได้ขบคิดเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขากับบาวเออร์และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ และได้เขียนบทความ ปัญหาชาวยิว (On the Jewish Question) ซึ่งเป็นบทวิพากษ์แนวคิดปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและการปลดปล่อยทางการเมือง ที่ปารีสเขาได้พบ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ผู้ซึ่งกลายเป็นผู้ร่วมงานกับมาคส์ไปตลอดชีวิตของเขา เอ็งเงิลส์ได้กระตุ้นให้ มาคส์สนใจสถานการณ์ของชนชั้นทำงาน และช่วยแนะนำให้มาคส์สนใจเศรษฐศาสตร์ เมื่อเขาและเอ็งเงิลส์ถูกภัยการเมืองอีกครั้งอันเนื่องมาจากงานเขียน เขาย้ายไปยังเมืองปรัสเซล ประเทศเบลเยียม พวกเขาได้ร่วมกันเขียนบทความชื่อ อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาของเฮเกิลและกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ หลังจากนั้นมาคส์เขียน ความอับจนของปรัชญา (The Poverty of Philosophy) ซึ่งวิพากษ์ความคิดสังคมนิยมสายฝรั่งเศส บทความทั้งสองวางรากฐานให้กับ คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) อันเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของมาคส์และเอ็งเงิลส์ หนังสือ คำประกาศเจตนา ซึ่งสมาพันธ์คอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อพยพชาวเยอรมันที่มาคส์ได้พบที่ลอนดอนได้ร้องขอให้เขียน ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) ปีนั้นเอง ในทวีปยุโรปได้เกิดการลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ กลุ่มคนงานได้เข้ายึดอำนาจจากพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และได้เชิญมาคส์กลับปารีส ต่อมาหลังจากที่รัฐบาลคนงานล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392) มาคส์ได้ย้ายกลับไปยังโคโลญ และได้เริ่มพิมพ์หนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ขึ้นมาใหม่ก่อนจะถูกสั่งปิดลงอีกครั้ง สุดท้ายมาคส์จึงย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน ขณะที่อยู่ที่ลอนดอนนั้น มาคส์ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวฝั่งยุโรปให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กทรีบูน (New York Tribune) ระหว่างปี ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) ถึง 1861 (พ.ศ. 2404) ในปี ค.ศ. 1852 นั้นเอง มาคส์ได้เขียนแผ่นพับ การปฏิวัติของหลุยส์ โบนาปาร์ต (The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte) เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ที่หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต (หลานของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส) เข้ายึดอำนาจรัฐในฝรั่งเศสและสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 === สากลที่หนึ่ง และคำพูดของแกลดสตัน === ในปีค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ วิลเลียม แกลดสตันได้กล่าวสุนทรพจน์แก่สภาสามัญชน โดยเขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยของประเทศอังกฤษและได้เพิ่มเติม (ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์ ไทมส์) ว่า "ผมควรจะมองการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งและอำนาจอย่างเมามายเหล่านี้ ด้วยความหวาดกลัวและความเจ็บปวด ถ้าผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มชนที่มีชีวิตสะดวกสบายเท่านั้น ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับสภาพของประชากรที่ใช้แรงงานเลย การเพิ่มขึ้นมาของความมั่งคั่งที่ผมได้อธิบายและที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นจากกำไรจากการลงทุนนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นที่เกิดเฉพาะกับชนชั้นที่ครอบครองทรัพย์สินเท่านั้น" แต่ในรายงานฉบับกึ่งทางการ แกลดสตันได้ลบประโยคสุดท้ายออก ซึ่งการแก้ไขนี้เป็นสิ่งที่กระทำกันทั่วไปในหมู่สมาชิกสภา ในปี ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) มาคส์ได้ก่อตั้งสมาคมกรรมกรสากล ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าองค์การสากลที่หนึ่ง เพื่อเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมทางการเมือง ในคำสุนทรพจน์เปิดงานนั้น มาคส์ได้อ้างถึงคำพูดของแกลดสตันไปในทำนองที่ว่า "การเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยและอำนาจอย่างเมามายนี้ เกิดขึ้นกับเฉพาะชนชั้นที่มีทรัพย์สินเท่านั้น" เขายังอ้างถึงคำพูดนี้อีกในหนังสือ ว่าด้วยทุน ไม่นานนักความแตกต่างระหว่างสิ่งที่มาคส์อ้างกับที่มีบันทึกไว้ในรายงาน (ซึ่งเป็นที่แพร่หลาย) ถูกนำมาใช้เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของแนวร่วมระหว่างประเทศ มาคส์พยายามจะโต้ตอบข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์นี้ แต่ว่าข้อกล่าวอ้างนั้นก็กลับมาเรื่อย ๆ ในภายหลังมาคส์ได้ระบุแหล่งข้อมูลที่เขาใช้ว่าคือหนังสือพิมพ์ เดอะ มอร์นิง สตาร์ เอ็งเงิลส์ได้ใช้เนื้อที่ในส่วนคำนำในการพิมพ์ครั้งที่สี่ของหนังสือ ว่าด้วยทุน เพื่อพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถจบข้อโต้เถียงนี้ลงได้ เอ็งเงิลส์อ้างว่าแหล่งข่าวนั้นไม่ใช่ เดอะ มอร์นิง สตาร์ แต่เป็น ไทมส์ นักวิจารณ์แนวคิดมาคส์เช่นนักข่าว พอล จอห์นสัน ยังคงใช้เรื่องนี้ในการ กล่าวหามาคส์ในเรื่องความซื่อสัตย์อยู่ === ช่วงปลายชีวิตของมาคส์ === ที่ลอนดอน ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการโต้เถียงเรื่องการอ้างคำพูดของแกลดสตันนี้ มาคส์ได้ทุ่มเทเวลาไปกับการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์และเชิงทฤษฎีสำหรับการเขียนหนังสือ ว่าด้วยทุน (หรือในชื่อเต็มว่า ทุน: บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และชื่อภาษาเยอรมันว่า Das Kapital). มาคส์ตีพิมพ์เล่มแรกของชุดในปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410), สำหรับอีกสองเล่มที่เหลือนั้น มาคส์ไม่ได้เขียนให้เสร็จสิ้น แต่ได้รับการเรียบเรียงโดยเอ็งเงิลส์จากบันทึกและร่างต่าง ๆ และตีพิมพ์หลังจากที่มาคส์เสียชีวิตลงแล้ว ช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนนั้น ครอบครัวของมาคส์ค่อนข้างยากจน และยังต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากเอ็งเงิลส์เป็นระยะ ๆ มาคส์เสียชีวิตที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426) ศพของเขาฝังที่สุสานไฮห์เกต กรุงลอนดอน บนป้ายชื่อของเขาจารึกไว้ว่า: "กรรมาชีพในทุกพื้นถิ่น จงรวมพลัง!" ("Workers of all lands, unite!") === ชีวิตสมรส === เจ็นนี ฟ็อน เว็สท์ฟาเลิน ผู้เป็นภรรยาของมาคส์ มาจากครอบครัวราชการ ลุงของเธอคือไลออน ฟิลิปส์ บิดาของพี่น้องเจอราร์ดและแอนตันผู้ก่อตั้งบริษัทฟิลิปส์ในปีค.ศ. 1891 ครอบครัวมาคส์มีลูกหลายคน แต่ก็มีหลายคนที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก เอลินอร์ มาคส์ลูกสาวของพวกเขา (1855-1898) ซึ่งเกิดในลอนดอน ก็เป็นนักสังคมนิยมที่ทุ่มเทและช่วยแก้ไขงานของพ่อของเธอ เจ็นนี มาคส์เสียชีวิตในเดือนธันวาคมปีค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) == แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อความคิดของมาคส์ == ความคิดของมาคส์นั้นได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากทั้งแนวคิดวิภาษวิธีประวัติศาสตร์ของเฮเกิล และเศรษฐศาสตร์การเมืองของอดัม สมิธ และเดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) เขาเชื่อในความเป็นไปได้ที่จะศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจแนวโน้มของประวัติศาสตร์รวมถึงผลลัพธ์ของข้อขัดแย้งทางสังคมได้ ปรัชญาของมาคส์ (ที่เฮเกิล เรียกว่า วัตถุนิยมประวัติศาสตร์) นั้นได้รับอิทธิพลอย่างสูงมาจากแนวคิดของเฮเกิลที่ว่าความจริง (รวมถึงประวัติศาสตร์) นั้นจะต้องพิจารณาแบบวิภาษวิธี (dialectic) โดยมองว่าเป็นการปะทะกันของแรงคู่ตรงข้าม หลายครั้งแนวคิดนี้ถูกเขียนย่อว่าเป็น thesis + antithesis → synthesis (ข้อวินิจฉัย + ข้อโต้แย้ง → การประสม, การสังเคราะห์) เฮเกิลเชื่อว่าทิศทางของประวัติศาสตร์นั้นสามารถพิจารณาได้เป็นช่วง ๆ ที่มีเป้าหมายไปสู่ความสมบูรณ์และจริงแท้ เขากล่าวว่าหลายครั้งพัฒนาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็อาจมีบางช่วงที่ต้องมีการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงผู้ที่อยู่ในอำนาจเดิม มาคส์ยอมรับภาพรวมของประวัติศาสตร์ตามที่เฮเกิลเสนอ อย่างไรก็ตามเฮเกิลนั้นเป็นนักปรัชญาแนวจิตนิยม ส่วนมาคส์นั้นต้องการจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในรูปของวัตถุ เขาได้เขียนว่านักปรัชญาสายเฮเกิลนั้นวางความเป็นจริงไว้บนหัว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องจับมันให้วางเสียใหม่บนเท้าของตนเอง ในการยอมรับวิภาษวิธีเชิงวัตถุ ซึ่งเป็นการปฏิเสธแนวคิดแบบจิตนิยมของเฮเกิลนั้น มาคส์ได้รับอิทธิพลมาจากลูทวิช ฟ็อยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach) ในหนังสือ "The Essence of Christianity" ฟอยเออร์บาคได้อธิบายว่าพระเจ้านั้น คือผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ และคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ผู้คนยกย่องพระเจ้านั้น แท้จริงแล้วเป็นคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์นั่นเอง มาคส์ยอมรับแนวคิดเช่นนี้ และได้อธิบายว่า โลกวัตถุนั้นเป็นโลกที่แท้จริง ส่วนแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกวัตถุ แม้ว่ามาคส์จะเชื่อเช่นเดียวกับเฮเกิลและนักปรัชญาคนอื่น ๆ ในการแบ่งแยกโลกที่ปรากฏกับโลกที่แท้จริง เขาไม่เชื่อว่าโลกวัตถุนั้นจะซ่อนโลกที่แท้จริงทางจิตเอาไว้ ในทางกลับกัน มาคส์ยังเชื่อว่าอุดมการณ์ที่ถูกสร้างผ่านทางประวัติศาสตร์และกระบวนการสังคมนั้น เป็นสิ่งที่ปิดบังไม่ให้ผู้คนเห็นสถาพทางวัตถุที่แท้จริงในชีวิตของพวกเขา ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการปรับปรุงแนวคิดของเฮเกิลของมาคส์ คือ หนังสือที่เขียนโดยฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ชื่อว่า "The Condition of the Working Class in England in 1844" (สภาพของชนชั้นกรรมาชีพในอังกฤษในปี 1844) หนังสือเล่มนี้ทำให้มาคส์มองวิภาษวิธีเชิงประวัติศาสตร์ออกมาในรูปของความขัดแย้งระหว่างชนชั้น และมองเป็นว่าชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่จะเป็นแรงผลักดันที่ก้าวหน้าที่สุดสำหรับการปฏิวัติ == ปรัชญาของมาคส์ == แนวคิดหลักของมาคส์วางอยู่บนความเข้าใจเกี่ยวกับ แรงงาน โดยพื้นฐานแล้ว มาคส์กล่าวว่ามนุษย์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบข้าง เขาเรียกกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าการ ใช้แรงงาน และความพลังในการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า กำลังแรงงาน สำหรับมาคส์แล้ว การใช้แรงงานนี้นอกจากจะเป็นความสามารถโดยธรรมชาติของกิจกรรมต่าง ๆ ทางกายภาพแล้ว แรงงานยังเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับความคิดและจินตนาการของมนุษย์ด้วย: แมงมุมทำกิจกรรมที่ไม่ต่างไปจากช่างทอผ้า และการสร้างรังของฝูงผึ้งก็สามารถทำให้สถาปนิกต้องอับอายได้ แต่ความแตกต่างระหว่างสถาปนิกที่แย่ที่สุดกับผึ้งที่เยี่ยมยอดที่สุดก็คือ สถาปนิกนั้นวาดภาพโครงสร้างของเขาในจินตนาการ ก่อนที่จะสร้างมันขึ้นมาในโลกความเป็นจริง นอกเหนือจากการที่อ้างว่าความสามารถของมนุษย์คือการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติแล้ว มาคส์มิได้ใช้ข้ออ้างอื่น ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อีกเลย. มาคส์สืบทอดแนวคิดแบบวิภาษวิธีของเฮเกิล ดังนั้นเขาจึงมักจะหลีกเลี่ยงความคิดที่ว่ามนุษย์มีธรรมชาติบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง บางครั้งมาคส์จะอธิบายแนวคิดนี้โดยการเปรียบเทียบระหว่าง "ธรรมชาติ" กับ "ประวัติศาสตร์" หลายครั้งพวกเขาจะกล่าวว่า "สภาพการมีอยู่นำหน้าสำนึก" นั่นคือใครคนหนึ่งจะเป็นอย่างใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งหนและเวลาที่เขาอยู่ -- สถาพทางสังคมมีอำนาจมากกว่าพฤติกรรมดั้งเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่าลักษณะสำคัญของมนุษย์คือการปรับตัวให้เขากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มาคส์ไม่เชื่อว่าคนทุกคนจะทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่เขาก็ไม่เชื่อเช่นเดียวกันว่าลักษณะที่ใครสักคนทำงานนั้นถูกกำหนดด้วยความคิดส่วนตัวไปทั้งสิ้น เขากลับอธิบายว่าการทำงานนั้นเป็นกิจกรรมทางสังคม และเงื่อนไขรวมถึงรูปแบบของการทำงานนั้นถูกกำหนดโดยสังคมและเปลี่ยนแปลงตามเวลา การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของมาคส์นั้นวางอยู่บนความแตกต่างระหว่าง ปัจจัยการผลิต ซึ่งหมายถึงสิ่งของเช่นที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปจนถึงเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุ และ ความสัมพันธ์เชิงสังคมของการผลิต ที่กล่าวได้ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงสังคมที่ผู้คนถูกดึงเข้าไปร่วม เมื่อเขาได้เป็นเจ้าของและได้ใช้ปัจจัยการผลิต ปัจจัยสองประการนี้รวมเป็น รูปแบบการผลิต มาคส์สังเกตว่าในสังคมหนึ่ง ๆ รูปแบบการผลิตนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย สำหรับสังคมทางยุโรปนั้นมีรูปแบบในการพัฒนาโดยเริ่มจากรูปแบบการผลิตแบบศักดินา ไปจนถึงรูปแบบการผลิตแบบทุนนิยม โดยทั่วไปแล้ว มาคส์เชื่อว่าปัจจัยการผลิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากกว่าความสัมพันธ์ของการผลิต ยกตัวอย่างเช่นเราได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เช่นอินเทอร์เน็ต แต่ต้องใช้เวลาหลังจากนั้น ก่อนที่เราจะได้พัฒนากฎหมายที่ควบคุมเทคโนโลยีนั้น สำหรับมาคส์แล้วการไม่เข้ากันของ ฐาน ทางเศรษฐกิจกับ โครงสร้างส่วนบน (superstructure) ทางสังคม คือสิ่งที่ทำให้เกิดความระส่ำระสายและความขัดแย้งในสังคม ในการพิจารณาความสัมพันธ์เชิงสังคมของการผลิตนั้น มาคส์ไม่ได้มองแค่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกแต่ละคน แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน หรือ กลุ่มชนชั้น มาคส์มิได้นิยาม "ชนชั้น" ขึ้นมาโดยอาศัยใช้เพียงแค่การบรรยายแบบอัตวิสัย (subjective) เท่านั้น หากแต่ว่าเขายังพยายามจะนิยามชนชั้นด้วยเงื่อนไขที่เป็นแบบวัตถุวิสัย (objective) ด้วย เช่นการเข้าถึงทรัพยากรในการผลิต มาคส์ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับกำลังแรงงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สุดของมนุษย์เอง ในการอธิบายความสัมพันธ์นี้โดยละเอียด มาคส์ทำโดยผ่านทางปัญหาความแปลกแยก ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือ เมื่อกำลังแรงงานได้ถูกใช้ไปในการผลิต แต่เมื่อกิจกรรมนั้นสิ้นสุดลงกรรมสิทธิ์ของผลลัพธ์ที่ได้กลับตกไปเป็นของนายทุน นั่นคือมองได้ว่าเป็นการละทิ้งกรรมสิทธิ์ในกำลังแรงงานของตนเอง สภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความแปลกแยกจากธรรมชาติของตนเอง และก่อให้เกิดความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดสภาพการคลั่งไคล้โภคภัณฑ์ (commodity fetishism) ซึ่งผู้คนจะคิดว่าสิ่งสำคัญที่พวกเขาสร้างขึ้นก็คือสินค้า ความสำคัญทุกอย่างจะถูกถ่ายโอนไปที่วัตถุรอบกายแทนที่จะเป็นผู้คนด้วยกันเอง หลังจากนั้นผู้คนจะมองเห็นและเข้าใจตนเองผ่านทางความสัมพันธ์กับทรัพย์สินหรือสินค้าที่ตนเองครอบครองไว้เท่านั้น การคลั่งไคล้โภคภัณฑ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เอ็งเงิลส์เรียกว่า สำนึกที่ผิดพลาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเข้าใจในเรื่องของ อุดมการณ์ ซึ่งมาคส์และเอ็งเงิลส์ได้ให้ความหมายว่าเป็นความคิดที่สะท้อนผลประโยชน์ของบางชนชั้นในบางช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ แต่กลับถูกแสดงว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้องสำหรับทุก ๆ ชนชั้นและทุก ๆ เวลา ในความคิดของพวกเขานั้น ความเชื่อดังกล่าวมิได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ผิดพลาดเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่สำคัญทางการเมืองด้วย กล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า การควบคุมที่ชนชั้นหนึ่ง ๆ กระทำผ่านทางการครอบครองเครื่องมือการผลิตนั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกับการผลิตอาหารหรือสินค้าเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับการผลิตความคิดหรือความเชื่อด้วยเช่นกัน ความคิดนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมสมาชิกของชนชั้นที่ถูกกดขี่จึงยังมีความเชื่อที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นแม้ว่าความเชื่อบางอย่างจะผิดพลาดแต่มันก็ยังเผยให้เห็นความจริงบางอย่างที่ถูกซ่อนไว้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่าสิ่งของที่คนผลิตขึ้นนั้นมีผลิตผลมากกว่าคนที่ผลิตมันขึ้นมานั้นอาจฟังประหลาด แต่มันก็แสดงให้เห็น (ในความคิดของมาคส์และเอ็งเงิลส์) ว่าผู้คนภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นถูกทำให้แปลกแยกจากกำลังแรงงานของตนเอง อีกตัวอย่างหนึ่งพบได้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาโดยมาคส์ ที่สรุปได้ในย่อหน้าหนึ่งของ Contribution to the Critique of Hegel's "Philosophy of Right:" ความทุกข์ทางศาสนานั้นเป็นทั้งการแสดงออกของความทุกข์ที่แท้จริงและการประท้วงไม่ยอมแพ้ต่อความทุกข์ที่แท้จริง ศาสนาคือเสียงกรีดร้องของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกดขี่ หัวใจของโลกที่ไร้หัวใจ และวิญญาณของสภาพไร้วิญญาณ มันคือฝิ่นของมวลชน แม้ว่าในงานวิทยานิพนธ์ระดับเตรียมอุดมศึกษาเขาเคยอ้างว่าหน้าที่หลักของศาสนาคือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในที่นี้มาคส์มองว่าศาสนานั้นเป็นเครื่องมือทางสังคมสำหรับการแสดงออกและจัดการกับความเหลื่อมล้ำนั่นเอง == อิทธิพลของแนวคิดของมาคส์ == == อ้างอิง == Daniel Little, The Scientific Marx, University of Minnesota Press (1986) , trade paperback, 244 pages, ISBN 0-8166-1505-5 (Marx's work considered as science) Francis Wheen, Karl Marx, Fourth Estate (1999) , ISBN 1-85702-637-3 (biography of Marx) How Marx and Nietzsche suppressed their colleague Max Stirner and why he has intellectually survived them "Stirner" Delighted in His Construction — "loves miracles, but can only perform a logical miracle, " by Karl Marx information on the Marx/Engels papers at the International Institute of Social History portraits of Karl Marx == แหล่งข้อมูลอื่น == รายละเอียดคาร์ล มาคส์ %20Karl Project Gutenberg: Karl Marx นักปรัชญาชาวเยอรมัน นักสังคมวิทยา นักปฏิวัติ นักลัทธิคอมมิวนิสต์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน เศรษฐกิจการเมือง ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว นักปรัชญาการเมือง บุคคลจากรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ชาวปรัสเซีย ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยบ็อน ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยเยนา
thaiwikipedia
710
ทฤษฎีบทมูลฐานของแคลคูลัส
ทฤษฎีบทมูลฐานของแคลคูลัส กล่าวว่าอนุพันธ์ และปริพันธ์ ซึ่งเป็นการดำเนินการหลักในแคลคูลัสนั้นผกผันกัน ซึ่งหมายความว่าถ้านำฟังก์ชันต่อเนื่องใดๆมาหาปริพันธ์ แล้วนำมาหาอนุพันธ์ เราจะได้ฟังก์ชันเดิม ทฤษฎีบทนี้เหมือนว่าเป็นหัวใจสำคัญของแคลคูลัสที่นับได้ว่าเป็นทฤษฎีบทมูลฐานของทั้งสาขานี้ ผลต่อเนื่องที่สำคัญของทฤษฎีบทนี้ ซึ่งบางทีเรียกว่าทฤษฎีบทมูลฐานของแคลคูลัสบทที่สองนั้นทำให้เราสามารถคำนวณหาปริพันธ์โดยใช้ปฏิยานุพันธ์ ของฟังก์ชัน == ภาพโดยทั่วไป == โดยทั่วไปแล้ว ทฤษฎีบทนี้กล่าวว่าผลรวมของการเปลี่ยนแปลงที่น้อยยิ่ง ในปริมาณในช่วงเวลา (หรือปริมาณอื่นๆ) นั้นเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงรวม เพื่อให้เห็นด้วยกับข้อความนี้ เราจะเริ่มด้วยตัวอย่างนี้ สมมติว่าอนุภาคเดินทางบนเส้นตรงโดยมีตำแหน่งจากฟังก์ชัน x(t) เมื่อ t คือเวลา อนุพันธ์ของฟังก์ชันนี้เท่ากับความเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากๆของ x ต่อช่วงเวลาที่น้อยมากๆ (แน่นอนว่าอนุพันธ์ต้องขึ้นอยู่กับเวลา) เรานิยามความเปลี่ยนแปลงของระยะทางต่อช่วงเวลาว่าเป็นอัตราเร็ว v ของอนุภาค ด้วยสัญกรณ์ของไลบ์นิซ \frac{dx}{dt} = v(t) เมื่อจัดรูปสมการใหม่จะได้ dx = v(t)\,dt จากตรรกะข้างต้น ความเปลี่ยนแปลงใน x ที่เรียกว่า \Delta x คือผลรวมของการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากๆ dx มันยังเท่ากับผลรวมของผลคูณระหว่างอนุพันธ์และเวลาที่น้อยมากๆ ผลรวมอนันต์นี้คือปริพันธ์ ดังนั้นการหาปริพันธ์ทำให้เราสามารถคืนฟังก์ชันต้นของมันจากอนุพันธ์เช่นเดียวกัน การดำเนินการนี้ผกผันกัน หมายความว่าเราสามารถหาอนุพันธ์ของผลการหาปริพันธ์ ซึ่งจะได้ฟังก์ชันอัตราเร็วคืนมาได้ == เนื้อหาของทฤษฎีบท == ทฤษฎีบทนี้ว่าไว้ว่า ให้ f เป็นฟังก์ชันต่อเนื่องบนช่วง [a, b] ถ้า F เป็นฟังก์ชันที่นิยามสำหรับ x ที่อยู่ใน [a, b] ว่า F(x) = \int_a^x f(t)\, dt แล้ว F'(x) = f(x)\, สำหรับทุก x ที่อยู่ใน [a, b] ให้ f เป็นฟังก์ชันต่อเนื่องบนช่วง [a, b] ถ้า F เป็นฟังก์ชันที่ f(x) = F'(x)\,สำหรับทุก x ที่อยู่ใน [a, b] แล้ว \int_a^b f(x)\,dx = F(b) - F(a) === ผลที่ตามมา === ให้ f เป็นฟังก์ชันที่มีความต่อเนื่องบนช่วง [a, b]. ถ้า F เป็นฟังก์ชันที่ f(x) = F'(x)\, สำหรับทุก x ที่อยู่ใน [a, b] แล้ว F(x) = \int_a^x f(t)\,dt + F(a) และ f(x) = \frac{d}{dx} \int_a^x f(t)\,dt == บทพิสูจน์ == === ส่วนที่ 1 === กำหนดให้ F(x) = \int_{a}^{x} f(t) dt ให้ x1 และ x1 + Δx อยู่ในช่วง [a, b] จะได้ F(x_1) = \int_{a}^{x_1} f(t) dt และ F(x_1 + \Delta x) = \int_{a}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt นำทั้งสองสมการมาลบกันได้ F(x_1 + \Delta x) - F(x_1) = \int_{a}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt - \int_{a}^{x_1} f(t) dt \qquad (1) เราสามารถแสดงได้ว่า \int_{a}^{x_1} f(t) dt + \int_{x_1}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt = \int_{a}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt (ผลรวมพื้นที่ของบริเวณที่อยู่ติดกัน จะเท่ากับ พื้นที่ของบริเวณทั้งสองรวมกัน) ย้ายข้างสมการได้ \int_{a}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt - \int_{a}^{x_1} f(t) dt = \int_{x_1}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt นำไปแทนค่าใน (1) จะได้ F(x_1 + \Delta x) - F(x_1) = \int_{x_1}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt \qquad (2) ตามทฤษฎีบทค่าเฉลี่ยสำหรับการอินทิเกรต จะมี c อยู่ในช่วง [x1, x1 + Δx] ที่ทำให้ \int_{x_1}^{x_1 + \Delta x} f(t) dt = f(c) \Delta x แทนค่าลงใน (2) ได้ F(x_1 + \Delta x) - F(x_1) = f(c) \Delta x \, หารทั้งสองข้างด้วย Δx จะได้ \frac{F(x_1 + \Delta x) - F(x_1)}{\Delta x} = f(c) สังเกตว่าสมการข้างซ้าย คือ อัตราส่วนเชิงผลต่างของนิวตัน (Newton's difference quotient) ของ F ที่ x1 ใส่ลิมิต Δx → 0 ทั้งสองข้างของสมการ \lim_{\Delta x \to 0} \frac{F(x_1 + \Delta x) - F(x_1)}{\Delta x} = \lim_{\Delta x \to 0} f(c) สมการข้างซ้ายจะเป็นอนุพันธ์ของ F ที่ x1 F'(x_1) = \lim_{\Delta x \to 0} f(c) \qquad (3) เพื่อหาลิมิตของสมการข้างขวา เราจะใช้ทฤษฎีบท squeeze เพราะว่า c อยู่ในช่วง [x1, x1 + Δx] ดังนั้น x1 ≤ c ≤ x1 + Δx จาก \lim_{\Delta x \to 0} x_1 = x_1 และ \lim_{\Delta x \to 0} x_1 + \Delta x = x_1 ตามทฤษฎีบท squeeze จะได้ว่า \lim_{\Delta x \to 0} c = x_1 แทนค่าลงใน (3) จะได้ F'(x_1) = \lim_{c \to x_1} f(c) ฟังก์ชัน f มีความต่อเนื่องที่ c ดังนั้น เราสามารถนำลิมิตแทนในฟังก์ชันได้ ดังนั้น F'(x_1) = f(x_1) \, จบการพิสูจน์ (Leithold et al, 1996) === ส่วนที่ 2 === ต่อไปนี้คือบทพิสูจน์ลิมิตโดย ผลรวมของรีมันน์-ดาบูต์ ให้ f เป็นฟังก์ชันที่มีความต่อเนื่องบนช่วง [a, b] และ F เป็นปฏิยานุพันธ์ของ f พิจารณานิพจน์ต่อไปนี้ F(b) - F(a)\, ให้ a = x_0 จะได้ F(b) - F(a) = F(x_n) - F(x_0) \, แล้วบวกและลบด้วยจำนวนเดียวกัน จะได้ \begin{matrix} F(b) - F(a) & = & F(x_n)\,+\,[-F(x_{n-1})\,+\,F(x_{n-1})]\,+\,\ldots\,+\,[-F(x_1) + F(x_1)]\,-\,F(x_0) \, \\ & = & [F(x_n)\,-\,F(x_{n-1})]\,+\,[F(x_{n-1})\,+\,\ldots\,-\,F(x_1)]\,+\,[F(x_1)\,-\,F(x_0)] \, \end{matrix} เขียนใหม่เป็น F(b) - F(a) = \sum_{i=1}^n [F(x_i) - F(x_{i-1})] \qquad (1) เราจะใช้ทฤษฎีบทค่าเฉลี่ย ซึ่งกล่าวว่า ให้ f เป็นฟังก์ชันที่มีความต่อเนื่องบนช่วง [a, b] และมีอนุพันธ์บนช่วง (a, b) แล้ว จะมี c อยู่ใน (a, b) ที่ทำให้ f'(c) = \frac{f(b) - f(a)}{b - a} และจะได้ f'(c)(b - a) = f(b) - f(a) \, ฟังก์ชัน F เป็นฟังก์ชันที่หาอนุพันธ์ได้ในช่วง [a, b] ดังนั้น มันจะหาอนุพันธ์และมีความต่อเนื่องบนแต่ละช่วง xi-1 ได้ ตามทฤษฎีบทค่าเฉลี่ย จะได้ F(x_i) - F(x_{i-1}) = F'(c_i)(x_i - x_{i-1}) \, แทนค่าลงใน (1) จะได้ F(b) - F(a) = \sum_{i=1}^n [F'(c_i)(x_i - x_{i-1})] จาก F'(c_i) = f(c_i)\, และ x_i - x_{i-1} สามารถเขียนในรูป \Delta x ของผลแบ่งกั้น i F(b) - F(a) = \sum_{i=1}^n [f(c_i)(\Delta x_i)] \qquad (2) สังเกตว่าเรากำลังอธิบายพื้นที่ของสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้างคูณความสูง และเราก็บวกพื้นที่เหล่านั้นเข้าด้วยกันจากทฤษฎีบทค่าเฉลี่ย สี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่ละรูปอธิบายค่าประมาณของส่วนของเส้นโค้ง สังเกตอีกว่า \Delta x_i ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกๆค่าของ i หรือหมายความว่าความกว้างของสี่เหลี่ยมนั้นไม่จำเป็นต้องเท่ากัน สิ่งที่เราต้องทำคือประมาณเส้นโค้งด้วยจำนวนสี่เหลี่ยม n รูป เมื่อขนาดของส่วนต่างๆเล็กลง และ n มีค่ามากขึ้น ทำให้เกิดส่วนต่างๆมากขึ้น เพื่อครอบคลุมพื้นที่ เราจะยิ่งเข้าใกล้พื้นที่จริงๆของเส้นโค้ง โดยการหาลิมิตของนิพจน์นี้เป็นเมื่อค่าเฉลี่ยของส่วนต่างๆนี้ เข้าใกล้ศูนย์ เราจะได้ปริพันธ์แบบรีมันน์ นั่นคือ เราหาลิมิตเมื่อขนาดส่วนที่ใหญ่ที่สุดเข้าใกล้ศูนย์ จะได้ส่วนอื่นๆมีขนาดเล็กลง และจำนวนส่วนเข้าใกล้อนันต์ ดังนั้น เราจะใส่ลิมิตไปทั้งสองข้างของสมการ (2) จะได้ \lim_{\| \Delta \| \to 0} F(b) - F(a) = \lim_{\| \Delta \| \to 0} \sum_{i=1}^n [f(c_i)(\Delta x_i)]\,dx ทั้ง F(b) และ F(a) ต่างก็ไม่ขึ้นกับ ||Δ|| ดังนั้น ลิมิตของข้างซ้ายจึงเท่ากับ F(b) - F(a) F(b) - F(a) = \lim_{\| \Delta \| \to 0} \sum_{i=1}^n [f(c_i)(\Delta x_i)] และนิพจน์ทางขวาของสมการ หมายถึงอินทิกรัลของ f จาก a ไป b ดังนั้น เราจะได้ F(b) - F(a) = \int_{a}^{b} f(x)\,dx จบการพิสูจน์ == ตัวอย่าง == ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการคำนวณหา \int_2^5 x^2\;\mathrm{d}x ให้ f(x)=x^2 เราจะได้ F(x)=\frac{x^3}{3} เป็นปฏิยานุพันธ์ ดังนั้น \int_2^5 x^2\;\mathrm{d}x = F(5) - F(2) = {125 \over 3} - {8 \over 3} = {117 \over 3} = 39 ถ้าเราต้องการหา จะได้ \int_1^3 \frac{dx}{x}=\big[\ln|x|\big]_1^3 =\ln 3-\ln1=\ln 3 == นัยทั่วไป == เราไม่จำเป็นต้องให้ f ต่อเนื่องตลอดทั้งช่วง ดังนั้นส่วนที่ 1 ของทฤษฎีบทจะกล่าวว่า ถ้า f เป็นฟังก์ชันที่สามารถหาปริพันธ์เลอเบกบนช่วง [a, b] และ x_0 เป็นจำนวนในช่วง [a, b] ซึ่ง f ต่อเนื่องที่ x_0 จะได้ F(x) = \int_a^x f(t)\;\mathrm{d}t สามารถหาอนุพันธ์ได้สำหรับ x=x_0 และ F(x_0)=f(x_0) เราสามารถคลายเงื่อนไขของ f เพียงแค่ให้สามารถหาปริพันธ์ได้ในตำแหน่งนั้น ในกรณีนั้น เราสามารถสรุปได้ว่าฟังก์ชัน F นั่นสามารถหาอนุพันธ์ได้เกือบทุกที่ และ F'(x)=f(x) จะเกือบทุกที่ บางทีเราเรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีบทอนุพันธ์ของเลอเบก ส่วนที่ 2ของทฤษฎีบทนี้เป็นจริงสำหรับทุกฟังก์ชัน f ที่สามารถหาปริพันธ์เลอเบกได้ และมีปฏิยานุพันธ์ F (ไม่ใช่ทุกฟังก์ชันที่หาอนุพันธ์ได้) ส่วนของทฤษฎีบทของเทย์เลอร์ซึ่งกล่าวถึงพจน์ที่เกิดข้อผิดพลาดเป็นปริพันธ์สามารถมองได้เป็นนัยทั่วไปของทฤษฎีบทมูลฐานของแคลคูลัส มีทฤษฎีบทหนึ่งสำหรับฟังก์ชันเชิงซ้อน: ให้ U เป็นเซตเปิดใน \mathbb{C} และ f:U\to\mathbb{C} เป็นฟังก์ชันที่มี ปริพันธ์โฮโลมอร์ฟ F ใน U ดังนั้นสำหรับเส้นโค้ง \gamma : [a,b] \to U ปริพันธ์เส้นโค้งจะคำนวณได้จาก \oint_{\gamma} f(z) \;\mathrm{d}z = F(\gamma(b)) - F(\gamma(a)) ทฤษฎีบทมูลฐานของแคลคูลัสสามารถวางนัยทั่วไปให้กับ ปริพันธ์เส้นโค้งและพื้นผิวในมิติที่สูงกว่าและบนแมนิโฟลด์ได้ == อ้างอิง == Stewart, J. (2003). Fundamental Theorem of Calculus. In Integrals. In Calculus: early transcendentals. Belmont, California: Thomson/Brooks/Cole. Larson, Ron, Bruce H. Edwards, David E. Heyd. Calculus of a single variable. 7th ed. Boston: Houghton Mifflin Company, 2002. Leithold, L. (1996). The calculus 7 of a single variable. 6th ed. New York: HarperCollins College Publishers. แคลคูลัส ทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์
thaiwikipedia
711
งานอดิเรก
งานอดิเรก คือ งานหรือกิจกรรมที่ทำยามว่าง ซึ่งงานอดิเรกจะเกิดจากความสนใจและความสนุกสนานเป็นหลัก มากกว่าที่จะได้ผลตอบแทนทางการเงินหรือสิ่งแลกเปลี่ยนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม งานอดิเรกมักจะเพิ่มพูนทักษะ ความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ แต่จุดมุ่งหมายของการทำคือความพึงพอใจ ตัวอย่างของงานอดิเรก เช่น การอ่านหนังสือ การเล่นดนตรี การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การวาดรูป ปลูกต้นไม้ ทำงานไม้ หรือการสะสมสิ่งต่าง เช่น ของที่ระลึก แสตมป์หรือตุ๊กตา เป็นต้น == ดูเพิ่ม == นันทนาการ งานอดิเรก
thaiwikipedia
712
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งที่ 21 ของประเทศไทย มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ผลที่ตามมาคือชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 377 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง โดยมีอดีตพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยได้ 25 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่งและพรรคมหาชน (ซึ่งเปลี่ยนชื่อจากพรรคราษฎร) ได้ 2 ที่นั่ง == ปูมหลัง == หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 พรรคความหวังใหม่ได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย แม้ว่าต่อมา พรรคความหวังใหม่จะตั้งขึ้นใหม่โดยอดีต ส.ส. ของพรรค นายชิงชัย มงคลธรรม แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม พรรคชาติพัฒนาและพรรคเสรีธรรมก็ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย == ระบบการเลือกตั้ง == ในขณะนั้น สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย ส.ส. 400 คนจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ ส.ส. 100 คนจากปาร์ตี้ลิสต์ตามสัดส่วน == การรณรงค์หาเสียง == === พรรคประชาธิปัตย์ === พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคต่อจากชวน หลีกภัย ไม่หวังจะเอาชนะพรรคร่วมทั้ง 2 พรรค แต่หวังว่าจะได้ 201 ที่นั่ง ซึ่งพรรคได้เพียง 96 ที่นั่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งภายในพรรคระหว่างฝ่ายใต้ของบัญญัติกับฝ่ายกรุงเทพฯ ที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้เป้าหมายนี้ดูเลือนลางลงไปอีก พรรคประชาธิปัตย์ยังได้พัฒนาวาระประชานิยม โดยสัญญาว่าจะมีงานมากขึ้น การศึกษาฟรี การดูแลสุขภาพ และการต่อสู้กับอาชญากรรมและการทุจริต อย่างไรก็ตาม พรรคปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายของพวกเขา ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับอนาคตของหัวหน้าพรรค บัญญัติ ลาออกจากหัวหน้าพรรคหลังการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมกล่าวว่า === พรรคไทยรักไทย === พรรคไทยรักไทยพยายามที่จะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่เคยทำได้มาก่อน พรรคการเมืองอื่นและภาคประชาสังคมได้จัดตั้งแนวร่วมเพื่อป้องกันสิ่งนี้ โดยกล่าวหาว่าทักษิณมีอำนาจมากเกินไปและนั่นทำให้เขาเป็นเผด็จการรัฐสภา เสียงข้างมากจะสนับสนุนสิ่งที่พวกเขากล่าวหา นักวิชาการคนสำคัญ เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคมและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวหาทักษิณว่าเป็น "เผด็จการรัฐสภา" และกล่าวว่า "ประชาชนไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมหาเศรษฐีครอบงำประเทศและการเมืองต่อไป" พรรคของทักษิณตอบว่าได้ทำให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มั่นคง มีความสามารถ และปราศจากการคอร์รัปชัน แม้ว่านักวิจารณ์จะบอกว่าการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นจริงภายใต้การจับตามองของทักษิณ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ โฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า "พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคแรกที่สามารถแปลงนโยบายประชานิยมไปสู่การปฏิบัติ ความสำเร็จและวิสัยทัศน์ของนายทักษิณทำให้พรรคมีความชัดเจนและจะได้รับเสียงข้างมากอย่างแน่นอน" พรรคไทยรักไทยแข็งแกร่งที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของประเทศ ซึ่งนโยบายประชานิยมของทักษิณได้รับความนิยมสูงสุด == ผลการเลือกตั้ง == == ดูเพิ่ม == การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย) สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 22 == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == ข้อมูลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2548 การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548
thaiwikipedia
713
บิกแบง
บิกแบง (Big Bang, "การระเบิดครั้งใหญ่") เป็นแบบจำลองของการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพในจักรวาลวิทยาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และจากการสังเกตการณ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปใช้คำนี้กล่าวถึงแนวคิดการขยายตัวของเอกภพหลังจากสภาวะแรกเริ่มที่ทั้งร้อนและหนาแน่นอย่างมากในช่วงเวลาจำกัดระยะหนึ่งในอดีต และยังคงดำเนินการขยายตัวอยู่จนถึงในปัจจุบัน ฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ นักวิทยาศาสตร์และพระโรมันคาทอลิก เป็นผู้เสนอแนวคิดการกำเนิดของเอกภพ ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ ทฤษฎีบิกแบง ในเบื้องแรกเขาเรียกทฤษฎีนี้ว่า สมมติฐานเกี่ยวกับอะตอมแรกเริ่ม (hypothesis of the primeval atom) อเล็กซานเดอร์ ฟรีดแมน ทำการคำนวณแบบจำลองโดยมีกรอบการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 เอ็ดวิน ฮับเบิลค้นพบว่า ระยะห่างของดาราจักรมีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับการเคลื่อนไปทางแดง การสังเกตการณ์นี้บ่งชี้ว่า ดาราจักรและกระจุกดาวอันห่างไกลกำลังเคลื่อนที่ออกจากจุดสังเกต ซึ่งหมายความว่าเอกภพกำลังขยายตัว ยิ่งตำแหน่งดาราจักรไกลยิ่งขึ้น ความเร็วปรากฏก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น หากเอกภพในปัจจุบันกำลังขยายตัว แสดงว่าก่อนหน้านี้ เอกภพย่อมมีขนาดเล็กกว่า หนาแน่นกว่า และร้อนกว่าที่เป็นอยู่ แนวคิดนี้มีการพิจารณาอย่างละเอียดย้อนไปจนถึงระดับความหนาแน่นและอุณหภูมิที่จุดสูงสุด และผลสรุปที่ได้ก็สอดคล้องอย่างยิ่งกับผลจากการสังเกตการณ์ ทว่าการเพิ่มของอัตราเร่งมีข้อจำกัดในการตรวจสอบสภาวะพลังงานที่สูงขนาดนั้น หากไม่มีข้อมูลอื่นที่ช่วยยืนยันสภาวะเริ่มต้นชั่วขณะก่อนการระเบิด ลำพังทฤษฎีบิกแบงก็ยังไม่สามารถใช้อธิบายสภาวะเริ่มต้นได้ มันเพียงอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเอกภพที่เกิดขึ้นหลังจากสภาวะเริ่มต้นเท่านั้น คำว่า "บิกแบง" ที่จริงเป็นคำล้อเลียนซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนักดาราศาสตร์ชื่อ เฟรด ฮอยล์ ตั้งใจดูหมิ่นและทำลายความน่าเชื่อถือของทฤษฎีที่เขาเห็นว่าไม่มีทางเป็นจริง ในการออกอากาศทางวิทยุครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1949 ในเวลาต่อมา ฮอยล์ได้ช่วยศึกษาผลกระทบของนิวเคลียร์ในการก่อเกิดธาตุมวลหนักที่ได้จากธาตุซึ่งมีมวลน้อยกว่า อย่างไรก็ดี การค้นพบรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาลในปี ค.ศ. 1964 ยิ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิเสธทฤษฎีบิกแบงได้ == ประวัติ == ทฤษฎีบิกแบงพัฒนาขึ้นมาจากการสังเกตการณ์โครงสร้างเอกภพร่วมกับการพิจารณาทฤษฎีต่างๆ ที่เป็นไปได้ ในปี ค.ศ. 1912 เวสโต สลิเฟอร์ วัดค่าการเคลื่อนของดอปเปลอร์ครั้งแรกของ "เนบิวลาชนิดก้นหอย" (เป็นชื่อเก่าที่เคยใช้เรียกดาราจักรชนิดก้นหอย) และต่อมาก็ค้นพบว่า เนบิวลาแทบทั้งหมดกำลังเคลื่อนที่ออกห่างจากโลก เขามิได้สรุปแนวคิดทางจักรวาลวิทยาจากข้อเท็จจริงนี้ อันที่จริงในช่วงยุคนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากว่า เนบิวลาเหล่านี้เป็น "เอกภพเกาะ" ที่อยู่ภายนอกดาราจักรทางช้างเผือกหรือไม่ สิบปีต่อมา อเล็กซานเดอร์ ฟรีดแมน นักจักรวาลวิทยาและนักคณิตศาสตร์ชาวรัสเซียได้พัฒนาสมการฟรีดแมนขึ้นจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ แสดงให้เห็นว่าเอกภพกำลังขยายตัวอยู่ ซึ่งขัดแย้งกับแบบจำลองเอกภพสถิตที่ไอน์สไตน์สนับสนุนอยู่ ปี ค.ศ. 1924 เอ็ดวิน ฮับเบิล ตรวจวัดระยะห่างของเนบิวลาชนิดก้นหอยที่ใกล้ที่สุด ผลการตรวจแสดงให้เห็นว่า ระบบดาวเหล่านั้นที่แท้เป็นดาราจักรอื่น เมื่อถึงปี ค.ศ. 1927 ฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ พระคาทอลิกนักฟิสิกส์ชาวเบลเยียม ทำการพัฒนาสมการของฟรีดแมนโดยอิสระ ผลที่ได้ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการถอยห่างของเนบิวลาเป็นผลเนื่องจากการขยายตัวของเอกภพ ค.ศ. 1931 เลอแม็ทร์พัฒนางานของเขาคืบหน้าไปอีก และเสนอแนวคิดว่า การที่เอกภพมีการขยายตัวเมื่อเวลาเดินล่วงหน้าไป จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อเอกภพมีการหดตัวลงเมื่อเวลาเดินย้อนกลับ และจะเป็นเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าเอกภพจะหดตัวไม่ได้อีกต่อไป ทำให้มวลทั้งหมดของเอกภพอัดแน่นเป็นจุด ๆ หนึ่ง คือ "อะตอมแรกเริ่ม" ณ จุดใดจุดหนึ่งของกาลเวลาก่อนที่เวลาและอวกาศจะถือกำเนิดขึ้น ณ จุดนั้นยังไม่มีโครงสร้างของเวลาและอวกาศใด ๆ ทฤษฎีนี้สะท้อนความเชื่อเก่าแก่ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับไข่จักรวาล (cosmic egg) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเอกภพ ทางด้านของฮับเบิลก็พยายามพัฒนาตัวชี้วัดระยะทางหลายรูปแบบนับแต่ ค.ศ. 1924 ซึ่งเป็นการเบิกทางของบันไดระยะห่างของจักรวาล เขาใช้กล้องโทรทรรศน์ฮุกเกอร์ ขนาด 100 นิ้ว (2,500 มม.) ที่หอดูดาวเมาท์วิลสัน ทำให้สามารถประเมินระยะห่างระหว่างดาราจักรได้จากผลการตรวจวัดการเคลื่อนไปทางแดง ซึ่งมีการวัดค่าไว้ก่อนหน้านี้แล้วโดยสลิเฟอร์ ฮับเบิลค้นพบความเกี่ยวพันระหว่างระยะทางกับความเร็วในการเคลื่อนถอยในปี ค.ศ. 1929 ปัจจุบันความสัมพันธ์ข้อนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ กฎของฮับเบิล งานของเลอแม็ทร์สนับสนุนผลงานชิ้นนี้ และเขาได้สร้างหลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยาขึ้น ตลอดคริสต์ทศวรรษ 1930 มีทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อพยายามอธิบายผลสังเกตการณ์ของฮับเบิล รวมถึงแบบจำลองของมิลเน (Milne Model) ทฤษฎีการแกว่งตัวของเอกภพ (เสนอโดยฟรีดแมน และได้รับการสนับสนุนจากไอน์สไตน์กับริชาร์ด โทลแมน) และข้อสมมติฐาน tired light ของฟริตซ์ ชวิกกี หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง มีแนวคิดที่เป็นไปได้แตกต่างกันอยู่สองแนวทาง ทางหนึ่งเป็นแนวคิดเรื่องแบบจำลองสภาวะสมมูลของเฟรด ฮอยล์ ซึ่งเห็นว่าจะมีสสารใหม่เกิดขึ้นระหว่างที่เอกภพขยายตัว แนวคิดนี้เอกภพจะมีสภาวะแทบจะคงที่ ณ จุดใด ๆ ของเวลา อีกแนวคิดหนึ่งเป็นทฤษฎีบิกแบงของเลอแม็ทร์ ซึ่งได้พัฒนาต่อมาโดยจอร์จ กาโมว์ ผู้เสนอทฤษฎีบิกแบงนิวคลีโอซินทีสิส และเป็นผู้ร่วมทีมกับราล์ฟ อัลเฟอร์ และโรเบิร์ต เฮอร์มัน ในการทำนายปรากฏการณ์ของการแผ่รังสีไมโครเวฟพื้นหลัง แต่จะว่าไปแล้ว ฮอยล์นั่นเองที่เป็นผู้นำวลีมาโยงกับทฤษฎีของเลอแม็ทร์ โดยเรียกทฤษฎีนี้ว่า "เจ้าแนวคิดแบบบิกแบงนี่" ระหว่างการออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1949 นักวิทยาศาสตร์ต่างแบ่งออกเป็นสองพวกสนับสนุนทฤษฎีทั้งสองทางนี้ ในเวลาต่อมาแนวคิดหลังเริ่มเป็นที่นิยมมากกว่า การค้นพบไมโครเวฟพื้นหลังในปี ค.ศ. 1964 ช่วยยืนยันว่าจุดกำเนิดและพัฒนาการของจักรวาลสอดคล้องกับแนวคิดแบบทฤษฎีบิกแบงมากกว่า การศึกษาจักรวาลวิทยาตามแนวคิดบิกแบงมีการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เนื่องมาจากความก้าวหน้าอย่างมากของเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์ ตลอดจนผลการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากดาวเทียมต่าง ๆ เช่น จาก COBE จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และจาก WMAP ปัจจุบันการศึกษาจักรวาลวิทยามีข้อมูลและเครื่องมือวัดที่แม่นยำมากมายที่ช่วยตรวจสอบปัจจัยต่าง ๆ ของแบบจำลองบิกแบง ทำให้เกิดการค้นพบอันไม่คาดฝันว่า เอกภพดูเหมือนจะกำลังขยายตัวอยู่ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น == ภาพรวมของทฤษฎี == === เส้นเวลาของบิกแบง === เมื่อพิจารณาตรรกะจากการขยายตัวของเอกภพโดยใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป หากเวลาย้อนหลังไปจะทำให้ความหนาแน่นและอุณหภูมิมีค่าสูงขึ้นอย่างไม่จำกัดขณะที่เวลาในอดีตจำกัดอยู่ค่าหนึ่ง ภาวะเอกฐานเช่นนี้เป็นไปไม่ได้เพราะขัดแย้งกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากกว่าเราสามารถประมาณภาวะเอกฐานได้ใกล้สักเพียงไหน (ซึ่งไม่มีทางประมาณไปได้มากเกินกว่ายุคของพลังค์) ภาวะเริ่มแรกที่มีความร้อนและความหนาแน่นสูงอย่างยิ่งนี้เองที่เรียกว่า "บิกแบง" และถือกันว่าเป็น "จุดกำเนิด" ของเอกภพของเรา จากผลการตรวจวัดการขยายตัวของซูเปอร์โนวาประเภท Ia การตรวจวัดความแปรเปลี่ยนของอุณหภูมิในไมโครเวฟพื้นหลัง และการตรวจวัดลำดับวิวัฒนาการของดาราจักร เชื่อว่าเอกภพมีอายุประมาณ 13.73 ± 0.12 พันล้านปี การที่ผลตรวจวัดทั้งสามวิธีให้ค่าออกมาใกล้เคียงกันเป็นการยืนยันสนับสนุนแบบจำลองแลมบ์ดา-ซีดีเอ็ม (ΛCDM) ที่อธิบายอย่างละเอียดถึงองค์ประกอบต่างๆ ในเอกภพ มีการคาดเดาถึงสภาวะเริ่มแรกของบิกแบงไปต่างๆ นานา แต่แบบจำลองที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ เอกภพทั้งหมดเป็นเนื้อเดียวกันและมีสมบัติเหมือนๆ กันในทุกทิศทางโดยมีความหนาแน่นของพลังงานที่สูงมาก มีอุณหภูมิและความดันสูงมาก ต่อมาจึงขยายตัวออกในทันทีทันใดและมีอุณหภูมิลดลง ประมาณว่าใน 10-35 วินาทีของการขยายตัวเป็นสภาวะการพองตัวของเอกภพซึ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบเอ็กโปเนนเชียล หลังจากสิ้นสุดสภาวะการพองตัว เอกภพประกอบด้วยพลาสมาควาร์ก-กลูออนและอนุภาคมูลฐานทั้งหมด อุณหภูมิยังคงสูงมากทำให้การเคลื่อนที่ของอนุภาคต่างๆ มีความเร็วสัมพัทธ์สูง คู่อนุภาคและปฏิยานุภาคทั้งหมดยังมีการเกิดใหม่และแตกดับลงไปในการปะทะ ต่อมาจึงเกิดปฏิกิริยาบางอย่างที่เรียกว่า แบริโอเจเนซิส ทำลายภาวะสมดุลในการรักษาจำนวนแบริออน เกิดเป็นควาร์กและเลปตอนขึ้นมาจำนวนหนึ่งที่มากกว่าแอนติควาร์กและแอนติเลปตอนประมาณ 1 ใน 30 ล้านส่วน ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้มีสสารมากกว่าปฏิสสารในเอกภพปัจจุบัน เอกภพยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีอุณหภูมิลดลง ทำให้พลังงานโดยทั่วไปในแต่ละอนุภาคลดลงด้วย ยุคการทำลายสมดุล (Symmetry breaking) ทำให้แรงพื้นฐานทางฟิสิกส์และพารามิเตอร์ต่างๆ ของอนุภาคมูลฐานกลายมาอยู่ในรูปแบบดังเช่นปัจจุบัน หลังจากผ่านไป 10-11 วินาที ภาพการคาดเดาก็น้อยลง เพราะพลังงานของอนุภาคลดลงลงถึงระดับที่สามารถอธิบายได้ด้วยการทดลองฟิสิกส์อนุภาค ที่เวลา 10-6 วินาที ควาร์กและกลูออนรวมตัวกันกลายเป็นอนุภาคแบริออนจำนวนหนึ่งเช่น โปรตอน และนิวตรอน ปริมาณควาร์กที่มีมากกว่าแอนติควาร์กอยู่เล็กน้อยทำให้อนุภาคแบริออนมีมากกว่าแอนติแบริออนเช่นเดียวกัน ถึงเวลานี้อุณหภูมิของเอกภพก็ไม่สูงพอที่จะสร้างคู่โปรตอน-แอนติโปรตอนใหม่อีกแล้ว (ทำนองเดียวกันกับนิวตรอนและแอนตินิวตรอน) จึงเกิดการทำลายมวลครั้งใหญ่ เหลือเพียง 1 ใน 1010 ของโปรตอนและนิวตรอนในตอนเริ่มต้น และไม่มีปฏิยานุภาคของพวกมันเหลืออยู่เลย กระบวนการเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในเวลาประมาณ 1 วินาทีสำหรับอิเล็กตรอนและโพสิตรอน หลังจากพ้นช่วงการทำลายมวล โปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอนที่เหลือก็ไม่มีความเร็วสัมพัทธ์สูงยิ่งยวดอีกต่อไป แต่โฟตอนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของความหนาแน่นพลังงานของเอกภพ (และบทบาทเล็กน้อยอีกส่วนหนึ่งโดยนิวตริโน) ไม่กี่นาทีต่อมาเอกภพก็เริ่มการขยายตัว เมื่ออุณหภูมิมีค่าประมาณ 1 พันล้านเคลวิน และมีความหนาแน่นประมาณความหนาแน่นของอากาศ นิวตรอนรวมตัวเข้ากับโปรตอนกลายเป็นนิวเคลียสของดิวเทอเรียมและฮีเลียม ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า บิกแบงนิวคลีโอซินทีสิส โปรตอนส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รวมตัว ดังเช่นนิวเคลียสของไฮโดรเจน เมื่อเอกภพเย็นลง ความหนาแน่นพลังงานมวลของสสารที่เหลือก็เริ่มมีอิทธิพลเหนือการแผ่รังสีของโฟตอน หลังจากผ่านไป 379,000 ปี อิเล็กตรอนกับนิวเคลียสรวมตัวเข้าไปในอะตอม (ส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจน) ทำให้การแผ่รังสีแยกตัวจากสสารและแพร่ไปในห้วงอวกาศอย่างไร้เขตจำกัด การแผ่รังสีนี้มีผลหลงเหลืออยู่ดังที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ การแผ่รังสีคอสมิกไมโครเวฟพื้นหลัง เวลาผ่านไปอีกเนิ่นนาน ย่านรอบนอกแกนกลางที่มีความหนาแน่นเจือจางกว่าเริ่มมีการจับตัวกับสสารใกล้เคียงและเพิ่มความหนาแน่นของตนมากขึ้น ก่อตัวเป็นกลุ่มเมฆแก๊ส ดาวฤกษ์ ดาราจักร และโครงสร้างอื่นๆ ทางดาราศาสตร์ที่เราสังเกตเห็นได้ในปัจจุบัน รายละเอียดของกระบวนการเหล่านี้ขึ้นกับปริมาณและประเภทของสสารที่มีอยู่ในเอกภพ สสารที่เป็นไปได้สามชนิดได้แก่ สสารมืดเย็น สสารมืดร้อน และสสารแบริออน จากเครื่องมือวัดดีที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ (คือดาวเทียม WMAP) แสดงให้เห็นว่าส่วนประกอบสำคัญของสสารในเอกภพคือสสารมืดเย็น ส่วนสสารอีกสองชนิดมีอยู่เป็นจำนวนไม่ถึง 18% ของสสารทั้งหมดในเอกภพ ปรากฏการณ์ที่เป็นอิสระจากกันของการเกิดซูเปอร์โนวาประเภท Ia กับไมโครเวฟพื้นหลังซึ่งสร้างเอกภพดังเช่นทุกวันนี้ ได้รับอิทธิพลจากพลังงานลึกลับชนิดหนึ่งซึ่งรู้จักในชื่อ พลังงานมืด ที่ดูจะแทรกซึมอยู่ทั่วไปในอวกาศ ผลการสังเกตการณ์บ่งชี้ว่า 72% ของความหนาแน่นพลังงานทั้งหมดของเอกภพในปัจจุบันเป็นพลังงานในรูปแบบดังกล่าวนี้ เมื่อครั้งที่เอกภพยังมีอายุน้อย พลังงานมืดอาจจะแทรกซึมเข้ามาบ้าง แต่เมื่อเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ใกล้กันมากและมีช่องว่างอยู่น้อย แรงโน้มถ่วงจึงมีอิทธิพลมากกว่า และพยายามจะชะลอการแผ่ขยายตัวของเอกภพอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดีหลังจากการขยายตัวของเอกภพผ่านไปหลายพันล้านปี พลังงานมืดที่มีอยู่มากมายมหาศาลก็เริ่มทำให้การขยายตัวมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นทีละน้อย เราสามารถแปลงพลังงานมืดให้อยู่ในรูปแบบอย่างง่ายในค่าคงที่จักรวาลของสมการของไอน์สไตน์ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป แต่องค์ประกอบและกลไกของพลังงานนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจ รายละเอียดของสมการสภาวะและความสัมพันธ์ของพลังงานนี้กับแบบจำลองมาตรฐานในวิชาฟิสิกส์อนุภาคยังคงอยู่ในระหว่างการค้นหาทั้งโดยการเฝ้าสังเกตการณ์และโดยการวิจัยทางทฤษฎี วิวัฒนาการของจักรวาลทั้งหมดหลังจากยุคของการพองตัวสามารถอธิบายได้ด้วยแบบจำลองแลมบ์ดา-ซีดีเอ็มอันเป็นแบบจำลองจักรวาลวิทยา โดยใช้กรอบสังเกตการณ์อิสระของกลศาสตร์ควอนตัมกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ อย่างไรก็ดี ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า แบบจำลองเท่าที่มีอยู่ยังไม่สามารถใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนช่วงเวลา 10-15 วินาทีแรกได้ ทฤษฎีรวมแรงใหม่ๆ อย่างเช่นทฤษฎีโน้มถ่วงเชิงควอนตัมเป็นความพยายามที่จะข้ามพ้นข้อจำกัดนั้น ความเข้าใจในสภาวะแรกเริ่มในประวัติศาสตร์ของเอกภพเป็นหนึ่งในปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทางฟิสิกส์ที่ยังไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ === สมมติฐานหลัก === สมมติฐานหลักของทฤษฎีบิกแบงมีอยู่ 2 ประการคือ ความเป็นเอกภาพของกฎทางฟิสิกส์ และหลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยา แนวคิดของหลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยาคือเอกภพในระดับมหภาคมีความเป็นเนื้อเดียวกันและเหมือนกันหมดในทุกทิศทาง เดิมแนวคิดเหล่านี้ถือเป็นหลักพื้นฐานสำคัญ แต่ในปัจจุบันมีการพยายามทดสอบสมมติฐานเหล่านี้อยู่หลายครั้ง ตัวอย่างเช่น การทดสอบสมมติฐานแรกด้วยผลสังเกตการณ์ที่แสดงว่าค่าคงที่โครงสร้างละเอียดมีความผิดเพี้ยนที่เป็นไปได้อย่างมากถึงอันดับ 10-5 เมื่ออายุของเอกภพเพิ่มมากขึ้น หรือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่ต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้นในกรณีของระบบสุริยะและระบบดาวคู่ เพื่อที่ข้อมูลในระดับจักรวาลจะต้องสอดคล้องกับผลสังเกตการณ์และการคาดการณ์ตามทฤษฎีบิกแบง ถ้าเอกภพระดับใหญ่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในมุมมองจากโลก หลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยาสามารถถอดความได้จากหลักการพื้นฐานโคเปอร์นิคัสที่ง่ายกว่า ซึ่งกล่าวว่าไม่มีผู้สังเกตหรือจุดสังเกตใดเป็นพิเศษ ดังนี้ หลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยาจึงได้รับการรับรองในระดับ 10-5 ผ่านการสังเกตการณ์รังสีไมโครเวฟพื้นหลัง ผลตรวจวัดเอกภพแสดงถึงความเป็นเนื้อเดียวกันในสเกลใหญ่ที่สุดที่ระดับ 10% === มาตรวัด FLRW === ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปอธิบายเรื่องของกาลอวกาศด้วย มาตรา tensor ซึ่งกล่าวถึงระยะห่างที่แบ่งจุดใกล้เคียง จุดเหล่านี้ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งดาราจักร ดาวฤกษ์ หรือวัตถุอื่น จะถูกระบุตำแหน่งด้วยแผนภูมิพิกัดหรือ "กริด" (grid) ที่วางอยู่บนพื้นของกาลอวกาศทั้งหมด จากหลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยากำหนดให้มาตรานี้จะต้องเป็นเนื้อเดียวกันและมีสมบัติเหมือนกันทุกทิศทาง จึงได้เป็นมาตรวัดฟรีดแมน-เลอแม็ทร์-โรเบิร์ตสัน-วอล์กเกอร์ หรือ มาตรวัด FLRW ประกอบด้วยตัวประกอบขนาด (scale factor) ที่บอกถึงขนาดเปลี่ยนแปลงของเอกภพตามเวลา ทำให้ได้เป็นระบบพิกัดแบบง่ายขึ้น เรียกว่าระบบพิกัด comoving ในระบบพิกัดนี้ กริดจะขยายตัวขึ้นตามเอกภพ และวัตถุที่อยู่นิ่งบนตำแหน่งกริดเดิมก็เคลื่อนที่ไปตามการขยายตัวของเอกภพ ขณะที่ระยะห่างพิกัด (comoving distance) เป็นค่าคงที่ ระยะห่างทางกายภาพระหว่างจุด comoving สองจุดจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามตัวประกอบขนาดของเอกภพ บิกแบงไม่ใช่การระเบิดของสสารที่เคลื่อนออกไปเพื่อเติมเต็มเอกภพอันว่างเปล่า ตัวอวกาศนั้นต่างหากที่ขยายตัวออกไปตามเวลาในทุกหนทุกแห่งและทำให้ระยะห่างทางกายภาพของจุด comoving สองจุดเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากมาตรวัด FLRW ถือว่าการกระจายตัวของมวลและพลังงานเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ มันจึงใช้กับเอกภพเฉพาะในระดับขนาดใหญ่เท่านั้น ส่วนการรวมตัวของสสารในระดับท้องถิ่นเช่นดาราจักรจะมีแรงโน้มถ่วงดึงดูดผูกพันเอาไว้ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวตามตัวประกอบขนาดของอวกาศ === ขอบฟ้า === คุณสมบัติที่สำคัญของ กาลอวกาศ ในบิกแบง คือการมีอยู่ของขอบฟ้า ในเมื่อเอกภพมีอายุที่จำกัดแน่นอน และแสงก็เดินทางด้วยความเร็วที่จำกัดค่าหนึ่ง จึงอาจมีบางเหตุการณ์ในอดีตที่แสงไม่มีเวลาพอจะเดินทางมาถึงเราได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดหรือ ขอบฟ้าอดีต บนวัตถุอันห่างไกลที่สุดเท่าที่สังเกตได้ ในทางกลับกัน ในเมื่ออวกาศกำลังขยายตัว วัตถุอันห่างไกลก็กำลังเคลื่อนห่างออกไปเร็วยิ่งขึ้น แสงที่ส่งจากตัวเราในวันนี้จึงไม่มีวันจะไล่ตามทันวัตถุไกลชิ้นนั้นได้ ทำให้เกิด ขอบฟ้าอนาคต ที่จำกัดขอบเขตของเหตุการณ์ในอนาคตที่เราอาจส่งอิทธิพลถึง การดำรงอยู่ของขอบฟ้าทั้งสองชนิดนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแบบจำลอง FLRW ที่อธิบายถึงเอกภพของเรา ตามความเข้าใจเกี่ยวกับเอกภพของเราย้อนไปจนถึงยุคเริ่มแรกบ่งชี้ว่าน่าจะมีขอบฟ้าอดีตอยู่จริง แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วมุมมองของเราจะถูกจำกัดด้วยความทึบแสงของเอกภพในยุคแรกเริ่ม ดังนั้นหากเอกภพยังคงขยายตัวด้วยอัตราเร่ง ขอบฟ้าอนาคตก็น่าจะมีอยู่จริงเช่นเดียวกัน == ข้อมูลการสังเกตการณ์ == ข้อมูลการสังเกตการณ์ชุดแรกสุดที่สอดคล้องกับทฤษฎีนี้ได้แก่ การสังเกตการณ์การขยายตัวแบบฮับเบิลที่พบในการเคลื่อนไปทางแดงของเหล่าดาราจักร การตรวจพบการแผ่รังสีของไมโครเวฟพื้นหลัง และปริมาณของอนุภาคแสงจำนวนมาก (ดูใน บิกแบงนิวคลีโอซินทีสิส) บางครั้งเรียกทั้งสามสิ่งนี้ว่าเป็นเสาหลักของทฤษฎีบิกแบง การสังเกตการณ์อื่นๆ ในยุคต่อมาต่างสนับสนุนให้เห็นภาพรวมชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการค้นพบคุณลักษณะอันหลากหลายของโครงสร้างขนาดใหญ่ของจักรวาล ซึ่งตรงกับการคาดการณ์การขยายตัวของโครงสร้างเอกภพภายใต้แรงโน้มถ่วงตามทฤษฎีมาตรฐานของบิกแบง === กฎของฮับเบิลและการขยายตัวของอวกาศ === ผลจากการสังเกตการณ์ดาราจักรและเควซาร์อันไกลโพ้นพบว่าวัตถุเหล่านั้นมีการเคลื่อนไปทางแดง กล่าวคือ แสงที่ส่งออกมาจากวัตถุเหล่านั้นมีความคลาดเคลื่อนของความยาวคลื่นที่ยาวมากขึ้น เราสามารถมองเห็นได้โดยการตรวจสอบสเปคตรัมความถี่ของวัตถุเปรียบเทียบกับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงในการกระจายหรือดูดกลืนแถบคลื่นความถี่ที่สอดคล้องกับปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคทางเคมีกับแสง ปรากฏการณ์การเคลื่อนไปทางแดงที่พบล้วนสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้จะทำการสังเกตการณ์วัตถุเหล่านั้นในทิศทางต่างๆ กัน หากอธิบายการเคลื่อนไปทางแดงด้วยปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ เราจะสามารถคำนวณความเร็วของวัตถุที่เหลื่อมช้าลงได้ สำหรับดาราจักรบางแห่ง มีความเป็นไปได้มากที่จะประมาณระยะห่างด้วยบันไดระยะห่างของจักรวาล เมื่อนำความเร็วที่เหลื่อมลงมาเปรียบเทียบกับระยะห่างที่คำนวณได้ เราจะได้สมการความสัมพันธ์เชิงเส้นซึ่งรู้จักกันในชื่อกฎของฮับเบิล ดังนี้ :v = H_0 D \, โดยที่ :v หมายถึง ความเร็วเหลื่อมลงของดาราจักรหรือวัตถุห่างไกล :D หมายถึง ระยะห่างระหว่างการเคลื่อนที่ของวัตถุที่สังเกต :H_0 หมายถึง ค่าคงที่ของฮับเบิล ซึ่งอยู่ระหว่าง 70.10 ± 1.3 กิโลเมตร/วินาที/เมกะพาร์เซก โดยวัดจาก WMAP กฎของฮับเบิลสามารถอธิบายความเป็นไปได้อยู่สองทาง ทางหนึ่งคือเราอยู่ที่ศูนย์กลางของการระเบิดของดาราจักร ซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานโคเปอร์นิคัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทางหนึ่งคือเอกภพมีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอกันในทุกๆ แห่ง การขยายตัวอย่างเป็นเอกภาพนี้เคยมีการทำนายได้ก่อนหน้านี้แล้วจากสมการสัมพัทธภาพทั่วไปของอเล็กซานเดอร์ ฟรีดแมน ที่คำนวณไว้ในปี ค.ศ. 1922 และจากงานของฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ ในปี ค.ศ. 1927 ก่อนหน้าที่ฮับเบิลจะทำการสังเกตการณ์และวิเคราะห์ออกมาในปี ค.ศ. 1929 และมันยังเป็นหลักการสำคัญของทฤษฎีบิกแบงที่พัฒนาขึ้นโดยฟรีดแมน เลอแม็ทร์ โรเบิร์ตสัน และวอล์คเกอร์ ทฤษฎีนี้มีเงื่อนไขอยู่ว่า ความสัมพันธ์ v = HD จะต้องดำรงอยู่ตลอดเวลา เมื่อ D เป็นระยะห่างที่แท้จริง v = dD / dt และ v, H, D ล้วนแต่เปลี่ยนแปลงค่าไปเมื่อเอกภพขยายตัว (เหตุนี้เราจึงต้องเขียนว่า H_0 เพื่อระบุ "ค่าคงที่" ของฮับเบิล ณ วันปัจจุบัน) เนื่องจากระยะห่างที่สังเกตมีค่าน้อยกว่าขนาดของเอกภพในสังเกตการณ์อย่างมาก ปรากฏการณ์เคลื่อนไปทางแดงของฮับเบิลจึงสามารถพิจารณาโดยใช้หลักการเดียวกันกับปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ได้ อย่างไรก็ดี พึงตระหนักว่าการเคลื่อนไปทางแดงไม่ใช่การคลาดเคลื่อนแบบเดียวกับดอปเปลอร์ เป็นแต่เพียงผลจากการขยายตัวของเอกภพระหว่างช่วงเวลาหนึ่ง และแสงมีการเปล่งออกมาระหว่างช่วงเวลาที่สังเกตอยู่ ห้วงอวกาศที่อยู่ภายใต้มาตรวัดการขยายตัวแสดงออกมาให้เห็นได้จากการสังเกตการณ์โดยตรงของหลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยาและหลักการพื้นฐานโคเปอร์นิคัส ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับกฎของฮับเบิลแล้วก็ไม่มีคำอธิบายอื่นใดอีก การเคลื่อนไปทางแดงในทางดาราศาสตร์ถือเป็นปรากฏการณ์เฉพาะตัวที่เป็นหนึ่งเดียว มันช่วยสนับสนุนแนวคิดหลักการพื้นฐานจักรวาลวิทยาว่า เอกภพมีหน้าตาเหมือนกันหมดไม่ว่าจะมองจากทิศทางใด รวมถึงข้อมูลสังเกตการณ์อื่นๆ อีกมาก ถ้าการเคลื่อนไปทางแดงนี้เป็นผลจากการระเบิดตัวออกจากจุดศูนย์กลางแห่งอื่นซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งของเรา มันไม่ควรให้ภาพที่คล้ายคลึงกันจากการมองในมุมต่างกันได้ การตรวจพบผลการแผ่รังสีคอสมิกจากไมโครเวฟพื้นหลังจากการเคลื่อนไหวของระบบฟิสิกส์ดาราศาสตร์อันห่างไกลแห่งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2000 ช่วยพิสูจน์หลักการพื้นฐานของโคเปอร์นิคัส ที่ว่าโลกไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งศูนย์กลางแม้แต่ในระดับของจักรวาล การแผ่รังสีจากบิกแบงเห็นได้ชัดว่าเอกภพในช่วงต้นจะอบอุ่นกว่าในทุกหนทุกแห่ง การเย็นลงอย่างทั่วถึงกันของไมโครเวฟพื้นหลังตลอดช่วงหลายพันล้านปีที่ผ่านมาเป็นการอธิบายอย่างชัดเจนว่า เอกภพเคยแต่ขยายตัวออกเท่านั้น ทั้งนี้ไม่นับความเป็นไปได้ที่ว่าเราอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของการระเบิดในคราวนั้น === การแผ่รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล === ในช่วงเวลาไม่กี่วันแรกของเอกภพ เอกภพอยู่ในสภาวะสมดุลความร้อนอย่างสมบูรณ์ โฟตอนยังคงเปล่งแสงและดูดกลืนแสงอย่างสม่ำเสมอ การแผ่รังสีจึงวัดได้เหมือนสเปคตรัมของวัตถุดำ เมื่อเอกภพขยายตัวขึ้น อุณหภูมิก็เย็นลงจนกระทั่งโฟตอนไม่อาจเกิดขึ้นใหม่และไม่อาจถูกทำลายลง แม้อุณหภูมิจะยังคงสูงมากพอที่อิเล็กตรอนและนิวเคลียสจะยังแยกกันอยู่ แต่โฟตอนอยู่ในภาวะ "สะท้อน" อย่างคงที่ต่ออิเล็กตรอนอิสระเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การกระจายของทอมสัน (Thomson scattering) ผลจากการกระจายที่ซ้ำไปซ้ำมานี้ ทำให้เอกภพในยุคแรกเป็นสิ่งทึบแสง เมื่ออุณหภูมิของเอกภพลดลงเหลือไม่กี่พันเคลวิน อิเล็กตรอนและนิวเคลียสเริ่มรวมตัวกันกลายเป็นอะตอม เป็นกระบวนการที่เรียกว่า การรวมตัว (recombination) เมื่อโฟตอนกระจายตัวอย่างไม่สม่ำเสมอจากอะตอมที่เป็นกลาง การแผ่รังสีก็แยกตัวจากสสารในเวลาที่อิเล็กตรอนได้รวมตัวกันไปจนเกือบหมด นั่นคือยุคของการกระจายขั้นสุดท้าย คือ 379,000 ปีหลังจากบิกแบง โฟตอนเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของไมโครเวฟพื้นหลังดังที่เราสังเกตพบในปัจจุบัน รูปแบบการแกว่งตัวของไมโครเวฟพื้นหลังเป็นภาพโดยตรงของเอกภพในยุคแรกเริ่มนี้ พลังงานของโฟตอนมีการคลาดเคลื่อนไปในเวลาต่อมาตามการขยายตัวของเอกภพ แม้จะดำรงสภาวะวัตถุดำอยู่แต่ก็ได้ทำให้อุณหภูมิลดน้อยลง ซึ่งหมายความว่าโฟตอนเหล่านั้นได้ลดระดับพลังงานลงมาอยู่ในย่านไมโครเวฟของสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เชื่อว่าการแผ่รังสีนี้สามารถสังเกตพบได้ในทุกตำแหน่งในเอกภพ และมาจากทุกทิศทุกทางด้วยระดับความเข้มที่ (เกือบจะ) เท่ากันทั้งหมด ปี ค.ศ. 1964 อาร์โน เพนซิอัส และ โรเบิร์ต วิลสัน ค้นพบการแผ่รังสีพื้นหลังจักรวาลโดยบังเอิญขณะทำการตรวจวิเคราะห์โดยใช้อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นไมโครเวฟตัวใหม่ของห้องทดลองเบลล์ การค้นพบของพวกเขาให้ข้อมูลมากพอที่จะทำนายไมโครเวฟพื้นหลังได้ การแผ่รังสีมีลักษณะเป็นเอกภาพและสอดคล้องกับสเปคตรัมวัตถุดำ การค้นพบนี้ยังช่วยส่งเสริมแนวคิดฝ่ายของทฤษฎีบิกแบง ขณะที่เวลานั้นแนวคิดต่างๆ ยังไม่อาจเอาชนะคัดง้างกันได้ เพนซิอัสกับวิลสันได้รับรางวัลโนเบลสำหรับการค้นพบครั้งนี้ ปี ค.ศ. 1989 นาซาส่งดาวเทียมสำรวจพื้นหลังจักรวาล (Cosmic Background Explorer; COBE) ขึ้นสู่อวกาศ และการค้นพบอย่างแรกที่ปรากฏในปี ค.ศ. 1990 คือข้อสนับสนุนแนวคิดของบิกแบงเกี่ยวกับไมโครเวฟพื้นหลัง ดาวเทียม COBE พบอุณหภูมิที่เหลืออยู่ 2.726 K ต่อมาในปี ค.ศ. 1992 ก็สามารถตรวจพบสภาพการแกว่งตัวของไมโครเวฟพื้นหลังได้เป็นครั้งแรก จอห์น ซี. เมเทอร์ และจอร์จ สมูท ได้รับรางวัลโนเบลในฐานะผู้นำในการค้นพบคราวนี้ ตลอดทศวรรษต่อมาการศึกษาการแกว่งตัวของไมโครเวฟพื้นหลังก็ดำเนินการต่อโดยใช้บอลลูนตรวจการณ์และกิจกรรมภาคพื้นดินจำนวนมาก ระหว่างปี ค.ศ. 2000-2001 มีการทดลองต่างๆ มากมาย ที่โดดเด่นคือกลุ่มทดลอง โครงการบูมเมอแรง พวกเขาพบว่าเอกภพมีสภาพค่อนข้างแบนเมื่อตรวจเทียบกับขนาดเชิงมุมตามปกติของการแกว่งตัว (ดูเพิ่มใน รูปร่างของเอกภพ) ช่วงต้นปี ค.ศ. 2003 ผลการตรวจสอบครั้งแรกของดาวเทียมสำรวจคลื่นไมโครเวฟวิลกินสัน (Wilkinson Microwave Anisotropy satellite; WMAP) ได้เปิดเผยค่าองค์ประกอบของจักรวาลบางส่วนที่แม่นยำอย่างยิ่งซึ่งปรากฏอยู่ในช่วงเวลานั้น ดาวเทียมดวงนี้ยังพิสูจน์ค้านแบบจำลองการพองตัวของจักรวาลหลายชุด แต่ผลตรวจวัดสอดคล้องกับทฤษฎีการพองตัวโดยทั่วๆ ไป มันยังช่วยยืนยันด้วยว่ามีคอสมิกนิวตริโนแผ่ซ่านอยู่ทั่วไปทุกหนแห่งในเอกภพ ข้อมูลนี้ชัดเจนว่า ดาวฤกษ์กลุ่มแรกๆ ต้องใช้เวลามากกว่าห้าร้อยล้านปีในการสร้างกลุ่มไอคอสมิก (cosmic fog) ขึ้น ดาวเทียมอีกดวงหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ "นักสำรวจพลังค์" (Planck Surveyor) จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ตรวจวัดค่าการแกว่งตัวของไมโครเวฟพื้นหลังที่ละเอียดแม่นยำมากยิ่งขึ้น การแผ่รังสีพื้นหลังนี้ราบเรียบเป็นพิเศษ ทำให้สามารถอธิบายข้อปัญหาเกี่ยวกับการขยายตัวอย่างธรรมดาซึ่งน่าจะหมายความว่า โฟตอนที่เคลื่อนมาจากฝั่งตรงข้ามของท้องฟ้าน่าจะมาจากเขตแดนที่ไม่เคยติดต่อกับใครมาก่อน คำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับสภาวะสมดุลอันห่างไกลกันนี้คือ เอกภพมีช่วงเวลาการระเบิดและขยายตัวอย่างสูงเพียงเวลาสั้นๆ (เราอาจเรียกว่า การพองตัว) ผลก็คือย่านต่างๆ ในเอกภพถูกฉีกออกจากกันในสภาวะสมดุล เอกภพที่เราสังเกตการณ์อยู่จึงมาจากย่านที่สมดุลและมีทุกอย่างเหมือนๆ กัน === อนุภาคมูลฐานส่วนเกิน === ด้วยแบบจำลองบิกแบง เราสามารถคำนวณความหนาแน่นของ ฮีเลียม-4 ฮีเลียม-3 ดิวเทอเรียม และลิเทียม-7 ในเอกภพออกมาได้ในสัดส่วนเทียบกับไฮโดรเจนปกติ อนุภาคส่วนเกินทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัจจัยเพียงอย่างเดียว คือสัดส่วนของอนุภาคโฟตอนต่อแบริออน ซึ่งสามารถคำนวณอย่างอิสระได้จากโครงสร้างโดยละเอียดของการแกว่งตัวของไมโครเวฟพื้นหลัง คาดว่าสัดส่วนนี้ (เป็นสัดส่วนโดยมวล มิใช่โดยจำนวน) อยู่ที่ประมาณ 0.25 สำหรับ 4He/H, ประมาณ 10−3 สำหรับ ²H/H, ประมาณ 10−4 สำหรับ ³He/H และประมาณ 10−9 สำหรับ 7Li/H อนุภาคส่วนเกินที่วัดได้ทั้งหมดมีค่าโดยประมาณอย่างน้อยเท่ากับค่าคาดการณ์จากสัดส่วนอนุภาคแบริออนต่อโฟตอน ค่านี้สอดคล้องอย่างยิ่งสำหรับดิวเทอเรียม ใกล้เคียงแต่ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับ 4He และผิดพลาดไปสองเท่าสำหรับ 7Li ในสองกรณีหลังนี้มีความไม่แน่นอนอย่างเป็นระบบชัดแจ้งอยู่ อย่างไรก็ดี ความสอดคล้องของอนุภาคส่วนเกินที่ทำนายโดยบิกแบงนิวคลีโอซินทีสิสเป็นหลักฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อทฤษฎีบิกแบง เพราะมีแต่เพียงทฤษฎีนี้ที่จะอธิบายอนุภาคที่สัมพันธ์กับอนุภาคแสง นอกจากนี้ยังไม่มีทางที่จะ "ปรับแต่ง" ทฤษฎีบิกแบงให้สามารถสร้างฮีเลียมมากหรือน้อยกว่า 20-30% ได้ อันที่จริงแล้วยังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนอื่นใดนอกจากทฤษฎีบิกแบงจะอธิบายสภาวะดังตัวอย่างเช่น เอกภพที่อายุน้อย (ก่อนที่ดาวฤกษ์จะก่อตัวขึ้น) จะมีฮีเลียมมากกว่าดิวเทอเรียม หรือมีดิวเทอเรียมมากกว่า 3He หรือมีสัดส่วนที่คงที่ หรืออื่นๆ ได้ == ประเด็นปัญหาอื่นๆ ของทฤษฎี == แม้ในปัจจุบันไม่ค่อยมีนักวิจัยคนใดตั้งข้อสงสัยอีกแล้วว่า บิกแบงเคยเกิดจริงหรือไม่ แต่ครั้งหนึ่งในชุมชนนักวิทยาศาสตร์เคยมีความคิดแตกออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนบิกแบงและฝ่ายสนับสนุนแบบจำลองจักรวาลวิทยาอื่นๆ ตลอดช่วงเวลาวิวัฒนาการของทฤษฎี ข้อสงสัยในทฤษฎีบิกแบงมักเป็นการโต้เถียงในทำนองว่า แบบจำลองดีพอที่จะอธิบายผลสังเกตการณ์จักรวาลได้ทั้งหมดหรือไม่ จนเมื่อชุมชนนักวิทยาศาสตร์มีความเห็นเป็นเอกฉันท์สนับสนุนทฤษฎีนี้แล้ว ประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ก็ยังถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของความสนใจ การแก้ต่างข้อสงสัยเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งการดัดแปลงทฤษฎีให้ดีขึ้น หรือเมื่อได้รับผลสังเกตการณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับประเด็นปัญหาบางข้อที่ยังตกค้างอยู่เช่น ปัญหา cuspy halo หรือปัญหาดาราจักรแคระเกี่ยวกับสสารมืดเย็น ยังไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อทฤษฎีโดยตรง เพราะยังสามารถอธิบายได้หากมีการพัฒนารายละเอียดของทฤษฎีให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น แนวคิดหลักของทฤษฎีบิกแบงคือ การขยายตัวของเอกภพ ภาวะร้อนยิ่งยวดในช่วงต้น การก่อตัวของฮีเลียม และการก่อตัวของดาราจักร แนวคิดเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาจากผลสังเกตการณ์อิสระมากมาย รวมถึงการพบอนุภาคส่วนเกินของแสงจำนวนมาก การพบไมโครเวฟพื้นหลัง การพบโครงสร้างขนาดใหญ่ของเอกภพ และซูเปอร์โนวาประเภท Ia ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทฤษฎีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นองค์ประกอบอันแท้จริงของเอกภพของเรา แบบจำลองบิกแบงยุคใหม่ที่มีความแม่นยำมากขึ้นดูจะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่แปลกประหลาดหลายอย่างซึ่งไม่สามารถสังเกตการณ์ในห้องทดลองตามปกติ รวมถึงไม่เข้ากับแบบจำลองมาตรฐานของวิชาฟิสิกส์อนุภาค ในบรรดานี้ เรื่องที่ลึกลับที่สุดคือเรื่องของพลังงานมืดกับสสารมืด ส่วนการพองตัวกับปฏิกิริยาแบริโอเจเนซิสยังเป็นแค่เพียงการคาดเดา ทฤษฎีนี้ช่วยอธิบายปรากฏการณ์สำคัญในช่วงเริ่มต้นของเอกภพได้ อย่างไรก็ดีมันยังอาจถูกแทนที่โดยแนวคิดที่เป็นไปได้อื่นๆ โดยไม่มีผลกระทบต่อทฤษฎีส่วนที่เหลือ คำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์เหล่านี้ยังคงอยู่เพียงระดับชายเขตแดนแห่งปริศนาของฟิสิกส์เท่านั้น === ปัญหาเกี่ยวกับขอบฟ้า === ปัญหาขอบฟ้าเป็นผลจากหลักการพื้นฐานที่ว่า ข้อมูลไม่สามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสง ในเอกภพที่มีอายุแน่นอน หลักการนี้ทำให้เกิดข้อจำกัด เรียกว่า ขอบฟ้าของอนุภาค ซึ่งแยกส่วนอวกาศสองบริเวณที่อยู่ติดกันออกจากกัน ปัญหาที่เกิดคือไอโซโทรปีที่สังเกตจากไมโครเวฟพื้นหลัง หากเอกภพครอบคลุมไปด้วยรังสีหรือสสารต่างๆ ตลอดเวลานับแต่จุดเริ่มยุคแห่งการกระจายตัวครั้งสุดท้าย ขอบฟ้าของอนุภาคในเวลานั้นย่อมมีเพียง 2 มิติในห้วงอวกาศ เหตุนั้นจึงไม่มีกลไกใดจะทำให้ย่านเหล่านี้มีอุณหภูมิเดียวกันได้ ข้อสรุปสำหรับความไม่สอดคล้องดังกล่าวสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการพองตัว โดยเสนอว่าในช่วงเริ่มต้นของเอกภพ (ก่อนแบริโอเจเนซิส) มีสนามพลังงานเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นเนื้อเดียวกันและเหมือนกันในทุกทิศทางครอบคลุมอยู่ทั่วเอกภพ ระหว่างการพองตัว เอกภพมีการขยายตัวขึ้นแบบยกกำลัง ขอบฟ้าอนุภาคก็ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าที่เคยคาดคิด จนกระทั่งย่านอวกาศที่เคยอยู่คนละฝั่งของเอกภพที่สังเกตได้กลับกลายมาอยู่ภายใต้ขอบฟ้าอนุภาคของกันและกัน ไอโซโทรปีที่สังเกตจากไมโครเวฟพื้นหลังจึงเกิดตามมาโดยข้อเท็จจริงว่าย่านอวกาศที่ใหญ่ขึ้นมีการเชื่อมต่อกันก่อนการเริ่มต้นของการพองตัว หลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์กทำนายว่า ระหว่างช่วงการพองตัว อาจมีความปั่นป่วนของอุณหภูมิควอนตัมทำให้ขยายผลกระทบในระดับจักรวาล ความปั่นป่วนนี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของโครงสร้างกระแสทั้งหมดในเอกภพ ทฤษฎีการพองตัวคาดการณ์ว่าความปั่นป่วนในช่วงเริ่มแรกมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปรตามขนาด (scale invariance) และมีการกระจายตัวแบบปกติ (Gaussian distribution) ซึ่งสามารถตรวจสอบยืนยันได้ด้วยการตรวจวัดรังสีไมโครเวฟพื้นหลัง === ปัญหาเกี่ยวกับความแบน/ความเก่าแก่ === ปัญหาเกี่ยวกับความแบน (หรือที่รู้จักกันว่า ปัญหาเกี่ยวกับความเก่าแก่) เป็นปัญหาจากผลการสังเกตการณ์เกี่ยวกับมาตรวัด FLRW เอกภพอาจจะมีค่าความโค้งของอวกาศที่เป็นบวก เป็นลบ หรือเป็นศูนย์ก็ได้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของพลังงานรวมทั้งหมด ความโค้งของอวกาศจะเป็นลบถ้าความหนาแน่นน้อยกว่าค่าความหนาแน่นวิกฤต เป็นบวกถ้าความหนาแน่นมากกว่า และเป็นศูนย์ถ้าความหนาแน่นเท่ากับความหนาแน่นวิกฤตพอดี ซึ่งเป็นกรณีที่กล่าวได้ว่าอวกาศ "แบน" ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การแยกตัวเล็กๆ จากความหนาแน่นวิกฤตเพิ่มขึ้นตามเวลา เอกภพทุกวันนี้ยังคงใกล้เคียงสภาพแบนอย่างมาก สมมุติว่าเส้นเวลาธรรมชาติของการแยกตัวจากความแบนมีค่าเท่าเวลาของพลังค์ ก็ยังต้องหาคำอธิบายสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าเอกภพกำลังเข้าใกล้ภาวะ Heat Death หรือ Big Crunch หลังจากหลายพันปีผ่านไป กล่าวคือ แม้ในช่วงปลายของไม่กี่นาทีแรก (ในช่วงเวลานิวคลีโอซินทีสิส) เอกภพจะต้องมีค่า 1014 เท่าของความหนาแน่นวิกฤต มิฉะนั้นมันจะไม่สามารถมีสภาพดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้ ปัญหานี้อาจอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการพองตัวของเอกภพ ด้วยระหว่างช่วงเวลาของการพองตัว กาลอวกาศมีการขยายขอบเขตขึ้นอย่างมากจนความโค้งถูกปรับให้เรียบ เชื่อว่าการพองตัวผลักดันให้เอกภพมีสภาวะเข้าใกล้ความแบน ซึ่งเป็นสภาพใกล้เคียงกับความหนาแน่นวิกฤต === แม่เหล็กขั้วเดียว === ปัญหาเรื่องแม่เหล็กขั้วเดียวถูกหยิบยกขึ้นมาในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 ทฤษฎีการรวมแรงครั้งใหญ่ ทำนายถึงข้อบกพร่องทางโทโพโลยีในอวกาศที่อาจแสดงออกมาในรูปของแม่เหล็กขั้วเดียว สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างดีในเอกภพยุคแรกเริ่มที่มีอุณหภูมิสูง ทำให้มีความหนาแน่นสูงกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับจุดสังเกต ปัญหานี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการพองตัวของจักรวาลเช่นเดียวกัน เนื่องจากมันจะลบจุดบกพร่องทั้งหมดออกจากเอกภพที่สังเกตได้ในวิธีเดียวกันกับผลทางเรขาคณิตที่กระทำกับความแบน คำอธิบายต่อปัญหาขอบฟ้า ความแบน และแม่เหล็กขั้วเดียว ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพองตัวของจักรวาล มีที่มาจากสมมติฐานความโค้งของเวย์ล (Weyl curvature hypothesis) === อสมมาตรของแบริออน === จนถึงปัจจุบันยังไม่อาจเข้าใจได้ว่าทำไมในเอกภพจึงมีสสารมากกว่าปฏิสสาร โดยมากสันนิษฐานกันว่า ขณะที่เอกภพยังมีอายุน้อยและร้อนมาก มันเคยอยู่ในสภาวะสมดุลทางปริมาณและมีแบริออนกับปฏิแบริออนจำนวนเท่าๆ กัน อย่างไรก็ตามผลสังเกตการณ์บ่งชี้ว่า เอกภพทั้งมวลตลอดถึงบริเวณที่ไกลแสนไกลล้วนประกอบขึ้นด้วยสสารเกือบทั้งนั้น กระบวนการบางอย่างที่เรียกชื่อว่า "แบริโอเจเนซิส" เป็นต้นเหตุให้เกิดความไม่สมมาตรขึ้น การจะเกิดกระบวนการแบริโอเจเนซิส จะต้องบรรลุสภาวะของเงื่อนไขชาคารอฟเสียก่อน นั่นคือจำนวนแบริออนจะไม่ถูกเก็บรักษาไว้ มีการทำลายสมมาตร C และสมมาตร CP ทำให้เอกภพพ้นจากภาวะสมดุลทางอุณหพลศาสตร์ เงื่อนไขต่างๆ ทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่ในแบบจำลองมาตรฐาน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่แน่นหนามากพอจะอธิบายปรากฏการณ์อสมมาตรของแบริออนได้ === อายุของกระจุกดาวทรงกลม === ราวกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ผลที่ได้จากการสังเกตการณ์กระจุกดาวทรงกลมดูจะไม่สอดคล้องกับทฤษฎีบิกแบง แบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่สร้างจากผลสังเกตการณ์ประชากรดาวฤกษ์ในกระจุกดาวทรงกลมบ่งชี้ว่า มันมีอายุประมาณ 15,000 ล้านปี ซึ่งขัดแย้งกับอายุของเอกภพที่ประมาณไว้ที่ 13,700 ล้านปี ข้อขัดแย้งนี้ได้รับการปรับแก้ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ใหม่ ซึ่งได้รวมผลกระทบของมวลที่สูญหายไปจากผลของลมดาวฤกษ์ ทำให้ได้อายุของกระจุกดาวทรงกลมที่ลดลง จึงยังคงมีปัญหาอยู่เพียงว่าจะสามารถวัดอายุของกระจุกดาวได้แม่นยำเพียงใด แต่กระจุกดาวทรงกลมก็นับได้ว่าเป็นวัตถุหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอกภพ === สสารมืด === ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึง 1980 ผลสังเกตการณ์มากมายแสดงให้เห็นว่า สสารที่มองเห็นได้ในเอกภพมีปริมาณไม่มากพอจะทำให้เกิดความเข้มของแรงโน้มถ่วงดังที่ปรากฏอยู่ภายในและระหว่างดาราจักร นำไปสู่แนวคิดที่ว่า สสารกว่า 90% ในเอกภพอาจจะเป็นสสารมืดที่ไม่เปล่งแสงหรือมีปฏิกิริยากับสสารแบริออนทั่วไป นอกจากนั้นสมมติฐานที่เอกภพส่วนใหญ่ประกอบด้วยสสารปกติทำให้การคาดการณ์ต่างๆ ไม่สอดคล้องกับผลสังเกตการณ์เลย กล่าวคือเอกภพจะเป็นกลุ่มก้อนมากเกินไปและมีดิวเทอเรียมน้อยเกินกว่าที่เป็นหากไม่มีสสารมืด แม้เมื่อแรกแนวคิดเรื่องสสารมืดจะเป็นที่โต้เถียงกันมาก แต่ปัจจุบันได้รับการยืนยันจากข้อมูลสังเกตการณ์มากมาย เช่น แอนไอโซโทรปีในไมโครเวฟพื้นหลัง ความเร็วในการกระจายตัวของกระจุกดาราจักร การกระจายของโครงสร้างขนาดใหญ่ในจักรวาล การศึกษาเลนส์ความโน้มถ่วง และการตรวจวัดรังสีเอ็กซ์ในกระจุกดาราจักร เป็นต้น หลักฐานการมีอยู่ของสสารมืดได้แก่อิทธิพลแรงโน้มถ่วงที่มีต่อวัตถุอื่น โดยยังไม่สามารถสังเกตการณ์อนุภาคสสารมืดใดๆ ในห้องทดลองได้ มีการนำเสนอความเป็นไปได้ทางฟิสิกส์อนุภาคมากมาย และมีโครงการที่คอยตรวจจับค้นหาสสารมืดอยู่ในระหว่างดำเนินการอีกมาก === พลังงานมืด === การตรวจวัดความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไปทางแดงกับความสว่างของซูเปอร์โนวาประเภท Ia เปิดเผยให้เห็นถึงการขยายตัวของเอกภพในอัตราเร่งนับแต่เอกภพมีอายุประมาณครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน เพื่ออธิบายอัตราเร่งการขยายตัว ต้องอาศัยทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่กล่าวว่า พลังงานส่วนมากในเอกภพประกอบด้วยส่วนประกอบที่มีแรงดันติดลบอย่างมาก เรียกว่า "พลังงานมืด" มีหลักฐานอยู่หลายชิ้นที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของพลังงานมืด การตรวจวัดรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาลชี้ว่าเอกภพมีรูปร่างเกือบจะแบน ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปแสดงว่าเอกภพจะต้องมีความหนาแน่นของมวลและพลังงานใกล้เคียงกับค่าความหนาแน่นวิกฤตมาก แต่เราสามารถตรวจวัดความหนาแน่นของมวลเอกภพได้จากการตรวจวัดความโน้มถ่วงแยกส่วน ซึ่งมีค่าความหนาแน่นประมาณ 30% ของค่าความหนาแน่นวิกฤต แต่เราไม่สามารถแยกส่วนการตรวจวัดพลังงานมืดด้วยวิธีปกติ มันจึงสามารถอธิบายได้ดีที่สุดเพียงว่าเป็นความหนาแน่นพลังงานที่ "หายไป" การตรวจวัดความโค้งโดยรวมของเอกภพสองวิธียังจำเป็นต้องใช้พลังงานมืด วิธีหนึ่งคือการวัดความถี่ของเลนส์ความโน้มถ่วง ส่วนอีกวิธีคือการพิจารณารูปแบบเฉพาะของโครงสร้างขนาดใหญ่ในฐานะไม้บรรทัดจักรวาล แรงดันติดลบเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพลังงานสุญญากาศ (vacuum energy) แต่ธรรมชาติที่แท้จริงของพลังงานมืดยังคงเป็นหนึ่งในความลึกลับอันยิ่งใหญ่ของบิกแบง นอกเหนือจากค่าคงที่จักรวาลและควินเทสเซนส์ (quintessence) ข้อมูลที่ได้จากทีมโครงการ WMAP เมื่อ ค.ศ. 2008 ที่รวมเอาข้อมูลจากรังสีไมโครเวฟพื้นหลังและแหล่งข้อมูลอื่น แสดงให้เห็นว่าเอกภพปัจจุบันประกอบด้วยพลังงานมืด 72% สสารมืด 23% สสารทั่วไป 4.6% และมีนิวตริโนอยู่เล็กน้อยที่ต่ำกว่า 1% ความหนาแน่นพลังงานในสสารลดต่ำลงเมื่อเอกภพขยายตัวมากขึ้น แต่ความหนาแน่นของพลังงานมืดยังคงมีค่าเท่าเดิม (หรือใกล้เดิมมาก) แม้เอกภพจะขยายตัวออกไป แม้สสารจะเคยเป็นสัดส่วนใหญ่ของพลังงานรวมของเอกภพในอดีตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตสัดส่วนของมันจะลดลงเรื่อยๆ และพลังงานมืดจะกลายเป็นสัดส่วนใหญ่แทนที่ ตามแบบจำลอง ΛCDM ซึ่งเป็นแบบจำลองสำหรับบิกแบงที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ได้อธิบายพลังงานมืดว่าเป็นการแสดงออกถึงค่าคงที่จักรวาลในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ทว่าขนาดของค่าคงที่ที่สามารถอธิบายพลังงานมืดได้กลับมีค่าน้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับการประเมินคร่าวๆ ตามแนวคิดทฤษฎีโน้มถ่วงเชิงควอนตัม ความพยายามแยกแยะค่าคงที่จักรวาลกับคำอธิบายอื่นเกี่ยวกับพลังงานมืดยังคงเป็นหัวข้อวิจัยที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน == อนาคตของเอกภพตามทฤษฎีบิกแบง == ก่อนจะสังเกตพบพลังงานมืด นักจักรวาลวิทยาคาดการณ์สภาวะอนาคตของเอกภพที่เป็นไปได้อยู่ 2 แบบ ถ้าความหนาแน่นมวลของเอกภพมีค่ามากกว่าความหนาแน่นวิกฤต เอกภพจะถึงจุดที่มีขนาดสูงสุดและเริ่มแตกสลาย จากนั้นจะเริ่มหนาแน่นขึ้นและร้อนขึ้นอีก และจบลงด้วยสภาวะที่ใกล้เคียงกับสภาวะเริ่มต้น เรียกว่า "บิกครันช์" (Big Crunch) หรืออีกแบบหนึ่ง ถ้าความหนาแน่นของเอกภพเท่ากับหรือต่ำกว่าความหนาแน่นวิกฤต การขยายตัวจะช้าลง แต่ไม่ได้หยุด ไม่มีการก่อตัวของดาวฤกษ์ใหม่อีกเพราะแก๊สระหว่างดวงดาวถูกใช้ไปจนหมดแล้ว ดาวฤกษ์จะเผาผลาญตัวเองจนเหลือแต่ดาวแคระขาว ดาวนิวตรอน และหลุมดำ การปะทะระหว่างวัตถุเหล่านี้จะค่อยๆ ทำให้มวลรวมตัวกันเป็นหลุมดำที่ใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของเอกภพจะลดลงเรื่อยๆ จนเข้าใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ เป็นสภาวะ "บิกฟรีซ" (Big Freeze) ยิ่งกว่านั้น หากโปรตอนไม่เสถียร สสารแบริออนจะหายไป เหลือแต่รังสีและหลุมดำ ผลต่อเนื่องคือหลุมดำจะระเหยไปด้วยการเปล่งรังสีฮอว์กิง เอนโทรปีของเอกภพจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ไม่มีพลังงานรูปแบบใดสามารถแยกตัวออกมาได้ สภาวการณ์นี้เรียกว่า "ฮีทเดธ" (Heat Death) การสังเกตการณ์การขยายตัวด้วยอัตราเร่งในยุคใหม่ทำให้ทราบว่าเอกภพที่เรามองเห็นในปัจจุบันจะผ่านพ้นขอบฟ้าเหตุการณ์ของเราไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถติดต่อกับเราได้ ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรไม่อาจรู้ แบบจำลอง ΛCDM ของเอกภพพิจารณาพลังงานมืดในฐานะหนึ่งของค่าคงที่จักรวาล ทฤษฎีนี้ชี้ว่ามีเพียงระบบที่ยึดเหนี่ยวกันไว้ด้วยแรงโน้มถ่วง เช่นระบบดาราจักรต่างๆ จึงจะสามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้ แต่สุดท้ายระบบเหล่านั้นก็มุ่งไปสู่สภาวะฮีทเดธเช่นเดียวกันเมื่อเอกภพขยายตัวและเย็นลงจนถึงที่สุด ทฤษฎีอื่นเกี่ยวกับพลังงานมืดที่เรียกว่า ทฤษฎีพลังงานซ่อนเร้น (phantom energy theories) ชี้ว่ากระจุกดาราจักร ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ อะตอม นิวเคลียส และสสารทั้งมวลสุดท้ายจะถูกฉีกออกจากกันเมื่อการขยายตัวของเอกภพไปถึงที่สุด เรียกว่าสภาวะ "บิกริพ" (Big Rip) == แนวคิดทางฟิสิกส์ที่เหนือกว่าทฤษฎีบิกแบง == ขณะที่แบบจำลองบิกแบงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในการศึกษาจักรวาลวิทยา ทฤษฎีนี้ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการปรับแต่งต่อไปในอนาคตอีก สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแรกสุดของการกำเนิดเอกภพนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจกันนัก ทฤษฎีซิงกูลาริตี้ของเพนโรส-ฮอว์กิงจำเป็นต้องอาศัยการมีอยู่ของซิงกูลาริตี้ ณ จุดเริ่มต้นเวลาของจักรวาล ทั้งนี้ทฤษฎีตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง แต่สัมพัทธภาพทั่วไปนั้นใช้การไม่ได้ในสภาวะเอกภพก่อนถึงระดับอุณหภูมิของพลังค์ นอกจากนี้แนวคิดของแรงโน้มถ่วงควอนตัมก็อาจทำให้ไม่มีทางเกิดซิงกูลาริตี้ขึ้นได้ แนวคิดอื่นๆ ซึ่งยังเป็นเพียงสมมติฐาน มิได้ผ่านการทดสอบ ได้แก่ แบบจำลองซึ่งรวมถึง เงื่อนไขอันไร้ขอบเขตของฮาร์เทิล-ฮอว์กิง ว่า กาล-อวกาศ นั้นมีขอบเขตจำกัด บิกแบงได้แสดงถึงการมีขีดจำกัดของเวลา โดยไม่จำเป็นต้องมีซิงกูลาริตี้ แบบจำลองจักรวาลวิทยาแบบผิว (brane cosmology) ซึ่งกล่าวว่า การพองตัวนั้นขึ้นกับการเคลื่อนที่ของผิวในทฤษฎีสตริง, แบบจำลองก่อนบิกแบง (Pre-big bang model), แบบจำลองจักรวาลเอคไพโรติค (ekpyrotic model) ซึ่งกล่าวว่าบิกแบงเป็นผลจากการแตกสลายระหว่างผิวในทฤษฎีสตริง, และแบบจำลองวงรอบ (cyclic model) ซึ่งดัดแปลงจากแบบจำลองเอคไพโรติคโดยกล่าวว่าการแตกสลายจะเกิดขึ้นเป็นรอบๆ การพองตัวอันยุ่งเหยิง (chaotic inflation) กล่าวว่าการพองตัวของเอกภพสิ้นสุดลงในแต่ละแห่งแบบสุ่ม จุดสิ้นสุดแต่ละจุดจะเป็นจุดเริ่มต้นของ เอกภพฟองสบู่ (bubble universe) ที่ขยายตัวออกไปใหม่จากจุดนั้นๆ เป็นบิกแบงของตัวมันเอง สองแนวคิดสุดท้ายนี้มองว่าบิกแบงเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเอกภพที่ใหญ่กว่าและเก่าแก่กว่า มิได้เป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง แต่เป็นส่วนหนึ่งของพหุภพ (multiverse) == การตีความทางศาสนา == บิกแบงเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ทฤษฎีหนึ่งซึ่งยังต้องอาศัยการรับรองที่สอดคล้องกับผลสังเกตการณ์ แต่ในฐานะทฤษฎีที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของความเป็นจริง มันจึงมีความเกี่ยวพันกับการตีความทางเทววิทยาและปรัชญาด้วย ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920-1930 นักจักรวาลวิทยากระแสหลักส่วนมากเห็นชอบกับความคิดว่า เอกภพนั้นดำรงคงอยู่ในสถานะนี้มาชั่วนิรันดร์ บางคนก็กล่าวหาว่า แนวคิดเรื่องจุดกำเนิดของเวลาในทฤษฎีบิกแบงนั้นเป็นการเอาแนวคิดทางศาสนามาใช้กับฟิสิกส์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาโต้แย้งโดยฝ่ายผู้สนับสนุนทฤษฎีเอกภพคงที่ ทว่าแนวคิดเรื่องจุดกำเนิดนี้ก็แพร่ขยายขึ้นด้วยว่าผู้ให้กำเนิดแนวคิดทฤษฎีบิกแบง คือหลวงพ่อฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ นั้นเป็นนักบวชในนิกายโรมันคาทอลิก เมื่อมีการยอมรับทฤษฎีบิกแบงเป็นแนวคิดหลักในการศึกษาจักรวาลวิทยาเชิงกายภาพแล้ว ยังมีปฏิกิริยาตอบโต้หลายประการจากกลุ่มศาสนาต่างๆ ในแง่การตีความที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลในเชิงศาสนาซึ่งพวกเขาเคารพนับถือ บางกลุ่มยอมรับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตามข้อเท็จจริง บางกลุ่มพยายามกลมกลืนทฤษฎีบิกแบงให้เข้ากับหลักคำสอนในศาสนาของเขา และมีบางกลุ่มที่ปฏิเสธหลักฐานเกี่ยวกับบิกแบงโดยสิ้นเชิง == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == จักรวาลวิทยา จาก Open Directory Project Cosmic Journey: A History of Scientific Cosmology . สถาบันฟิสิกส์อเมริกัน. Feuerbacher, Björn; Ryan Scranton (2006). หลักฐานของบิกแบง Misconceptions about the Big Bang. Scientific American (มีนาคม 2005). ไม่กี่ไมโครวินาทีแรก. Scientific American (พฤษภาคม 2006). การขยายตัวของเอกภพ - แบบจำลองมาตรฐานของบิกแบง. มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ, astro-ph (กุมภาพันธ์ 2008). วิษณุ เอื้อชูเกียรติ, เอกภพจบตรงไหน ? จากสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ จักรวาลวิทยาเชิงกายภาพ จักรวาลวิทยา ดาราศาสตร์ เอกภพเชิงกายภาพ
thaiwikipedia
714
ทางช้างเผือก
ทางช้างเผือก (Milky Way) คือดาราจักรที่เป็นที่ตั้งของระบบสุริยะและโลกของเรา ชื่อภาษาอังกฤษของทางช้างเผือก (Milky Way) มาจากคำภาษากรีกว่า γαλαξίας κύκλος (กาลาซิอัส คูคลอส, "วงกลมสีน้ำนม") โดยเมื่อมองบนท้องฟ้าจะปรากฏเป็นแถบขมุกขมัวคล้ายเมฆของแสงสว่างสีขาว ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์จำนวนมากภายในดาราจักรที่มีรูปร่างเป็นแผ่นจาน แต่เดิมนั้นนักดาราศาสตร์คิดว่าดาราจักรทางช้างเผือกมีลักษณะเป็นดาราจักรชนิดก้นหอยธรรมดา แต่หลังจากผ่านการประเมินครั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2548 พบว่าทางช้างเผือกน่าจะเป็นดาราจักรชนิดก้นหอยมีคานเสียมากกว่า. เส้นผ่าศูนย์กลางของดาราจักรทางช้างเผือกมีระยะทางระหว่าง 150,000 ถึง 200,000 ปีแสง และมีจำนวนดาวฤกษ์ประมาณ 1 แสนล้าน ถึง 4 แสนล้านดวง ส่วนที่สว่างที่สุดของทางช้างเผือกอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งเป็นทิศทางไปสู่ใจกลางดาราจักร ณ จุดศุนย์กลางของดาราจักรทางช้างเผือกเป็นแหล่งคลื่นวิทยุที่มีความเข้มข้นสูง เรียกว่า คนยิงธนูเอ โดยจุดที่สัญญาณเข้มข้นที่สุดเรียกว่า คนยิงธนูเอ* ซึ่งมีหลุมดำมวลยิ่งยวด ที่มีขนาดมวลราว 4.100 (± 0.034) ล้านเท่าของมวลสุริยะ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 ล้านกิโลเมตร ระบบสุริยะอยู่ห่างจากใจกลางดาราจักรออกมาราว 26,490 (± 100) ปีแสง โดยตั้งอยู่ตรงขอบด้านในของแขนนายพราน (Orion Arm) เมื่อเทียบกับเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทางช้างเผือกขึ้นไปเหนือสุดที่กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย และลงไปใต้สุดบริเวณกลุ่มดาวกางเขนใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระนาบศูนย์สูตรของโลก ทำมุมเอียงกับระนาบดาราจักรอยู่มาก คนในเมืองใหญ่ไม่มีโอกาสมองเห็นทางช้างเผือกเนื่องจากมลภาวะทางแสงและฝุ่นควันในตัวเมือง แถบชานเมืองและในที่ห่างไกลสามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ แต่บางคนอาจนึกว่าเป็นก้อนเมฆในบรรยากาศ เมื่อสังเกตเห็นท้องฟ้ายามค่ำคืนคำว่า "ทางช้างเผือก" ถูกจำกัดกลุ่มหมอกของแสงสีขาวบาง 30 องศา ลอยกว้างข้ามท้องฟ้า (แม้ว่าทั้งหมดของดาวที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นส่วนหนึ่งของดาราจักรทางช้างเผือก) แสงในแถบนี้มาจากดาวที่สลายและวัสดุอื่น ๆ ที่อยู่ภายในระนาบทางช้างเผือก บริเวณมืดภายในวง เช่น ระแหงดี และถุงถ่าน ที่สอดคล้องกับบริเวณที่มีแสงจากดาวไกลถูกบล็อกโดย ฝุ่นละอองระหว่างดวงดาว ดาราจักรทางช้างเผือก มีความสว่างพื้นผิวที่ค่อนข้างต่ำ การมองเห็นของมันสามารถลดน้อยลงโดยแสงพื้นหลังเช่น มลพิษทางแสงหรือแสงเล็ดลอดจากดวงจันทร์ เราสามารถมองเห็นได้อย่างง่ายดายเมื่อมีขนาด จำกัดคือ 5.1 หรือมากกว่า ในขณะที่แสดงการจัดการที่ดีของรายละเอียดที่ 6.1 ซึ่งทำให้ทางช้างเผือกมองเห็นได้ยากจากใด ๆ สถานที่ในเมืองหรือชานเมืองสดใสสว่าง แต่ที่โดดเด่นมากเมื่อมองจากพื้นที่ชนบทเมื่อดวงจันทร์อยู่ใต้เส้นขอบฟ้า ดาราจักรทางช้างเผือกผ่านส่วนในประมาณ 30 กลุ่มดาว ศูนย์กลางของดาราจักรที่อยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวคนยิงธนู มันอยู่ที่นี่ว่าทางช้างเผือกเป็นที่สว่างที่สุด จากราศีธนู กลุ่มหมอกแสงสีขาวที่ปรากฏขึ้นจะผ่านไปทางทิศตะวันตกในทางช้างเผือกไปยังไม่ใช้ศูนย์กลางของทางช้างเผือกในกลุ่มดาวสารถี กลุ่มดาวแล้วยังไปทางทิศตะวันตกส่วนที่เหลือของทางรอบท้องฟ้ากลับไปกลุ่มดาวคนยิงธนู ข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มแบ่งออกท้องฟ้ายามค่ำคืนเป็นสองซีกโลกเท่ากับแสดงให้เห็นว่าระบบสุริยะตั้งอยู่ใกล้กับระนาบทางช้างเผือก ระนาบทางช้างเผือก มีแนวโน้มเอียงประมาณ 60 องศาไปสุริยวิถี (ระนาบของวงโคจรของโลก) เมื่อเทียบกับเส้นศูนย์สูตร ที่ผ่านเท่าทิศเหนือของกลุ่มดาวค้างคาว และเท่าทิศใต้ของกลุ่มดาวกางเขนใต้ แสดงให้เห็นความโน้มเอียงสูงของระนาบเส้นศูนย์สูตรของโลกและระนาบสัมพันธ์สุริยวิถีกับระนาบทางช้างเผือก ขั้วโลกเหนือทางช้างเผือกที่ตั้งอยู่ที่ขวาขึ้น 12h 49m ลดลง +27.4° (B1950) อยู่ใกล้กับ Beta Comae Berenices และขั้วโลกทางช้างเผือกทิศใต้ที่อยู่ใกล้กับดาวอัลฟา ช่างแกะสลัก เนื่องจากการแนวโน้มเอียงสูง ขึ้นอยู่กับเวลากลางคืนและปี ส่วนโค้งของทางช้างเผือกจะปรากฏค่อนข้างต่ำหรือค่อนข้างสูงในท้องฟ้า สำหรับผู้ที่สังเกตการณ์จากประมาณ 65 องศาเหนือถึง 65 องศาใต้บนพื้นผิวโลกทางช้างเผือกผ่านโดยตรงข้างบนวันละสองครั้ง == ขนาดและองค์ประกอบ == == ดูเพิ่ม == หน้าต่างแห่งบาด์ ระบบพิกัดดาราจักร MilkyWay@Home เอ็นจีซี 6744, ดาราจักรที่คิดว่าจะคล้ายกับดาราจักรทางช้างเผือก ค่าคงที่ออร์ต == ดูเพิ่ม == Thorsten Dambeck in Sky and Telescope, "Gaia's Mission to the Milky Way", March 2008, p. 36–39. Cristina Chiappini, The Formation and Evolution of the Milky Way, American Scientist, November/December 2001, pp. 506–515 == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == The Milky Way Galaxy from An Atlas of the Universe Basic Milky Way plan map, including spiral arms and the Orion spur A 3D map of the Milky Way Galaxy แผนที่ดาว แผนที่ดาวพิกัดศูนย์สูตร (Equatorial Sky Chart) ดาราจักรชนิดก้นหอยมีคาน กลุ่มท้องถิ่น ดาราศาสตร์ กลุ่มย่อยทางช้างเผือก ทางช้างเผือก
thaiwikipedia
715
อำเภอพระสมุทรเจดีย์
พระสมุทรเจดีย์ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ชื่อของอำเภอนี้ได้มาจากพระสมุทรเจดีย์ (พระเจดีย์กลางน้ำ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2370 บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาของอำเภอนี้ เป็นที่ตั้งของป้อมพระจุลจอมเกล้า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2436 และได้ใช้เป็นที่มั่นในการรบกับเรือรบฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (ในปีเดียวกัน) นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียง ทางกองทัพเรือยังได้นำเรือรบหลวงแม่กลองซึ่งอนุรักษ์ไว้มาจัดแสดงด้วย == ที่ตั้งและอาณาเขต == อำเภอพระสมุทรเจดีย์มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ (กรุงเทพมหานคร) และอำเภอพระประแดง ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองสมุทรปราการ มีแนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขต ทิศใต้ จรดอ่าวไทย ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตบางขุนเทียน (กรุงเทพมหานคร) มีคลองขุนราชพินิจใจเป็นเส้นแบ่งเขต == ประวัติ == ท้องที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์เดิมเป็นส่วนหนึ่งของของอำเภอเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2527 กระทรวงมหาดไทยให้แยกพื้นที่บางส่วนออกจากการปกครองของอำเภอเมืองสมุทรปราการ รวมตั้งเป็น กิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองสมุทรปราการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2534 จึงมีพระราชกฤษฎีกาฯ ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จนถึงปัจจุบัน วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ตั้งตำบลปากคลองบางปลากด แยกออกจากตำบลในคลองบางปลากด วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ตั้งตำบลบ้านคลองสวน แยกออกจากตำบลนาเกลือ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2527 แยกพื้นที่ตำบลปากคลองบางปลากด ตำบลในคลองบางปลากด ตำบลแหลมฟ้าผ่า ตำบลนาเกลือ และตำบลบ้านคลองสวน อำเภอเมืองสมุทรปราการ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอเมืองสมุทรปราการ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เป็น อำเภอพระสมุทรเจดีย์ วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 จัดตั้งสุขาภิบาลแหลมฟ้าผ่าในท้องที่บางส่วนของตำบลแหลมฟ้าผ่าและตำบลในคลองบางปลากด และจัดตั้งสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์ในท้องที่ของตำบลปากคลองบางปลากด วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลแหลมฟ้าผ่าและสุขาภิบาลพระสมุทรเจดีย์เป็นเทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่าและเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ตามลำดับ == การแบ่งเขตการปกครอง == === การปกครองส่วนภูมิภาค === อำเภอพระสมุทรเจดีย์แบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 42 หมู่บ้าน ได้แก่ === การปกครองส่วนท้องถิ่น === ท้องที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ประกอบด้วยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากคลองบางปลากดทั้งตำบล เทศบาลตำบลแหลมฟ้าผ่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า (เฉพาะหมู่ที่ 1, 6 และบางส่วนของหมู่ที่ 2–4, 13) และตำบลในคลองบางปลากด (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 4, 7, 9) องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาเกลือทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านคลองสวน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านคลองสวนทั้งตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมฟ้าผ่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า (เฉพาะหมู่ที่ 5, 7–12 และบางส่วนของหมู่ที่ 2–4, 13) องค์การบริหารส่วนตำบลในคลองบางปลากด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในคลองบางปลากด (เฉพาะหมู่ที่ 1–3, 5–6, 8, 10–13 และบางส่วนของหมู่ที่ 4, 7, 9) ==อ้างอิง== พระสมุทรเจดีย์
thaiwikipedia
716
ทวีป
ทวีป หมายถึง แผ่นดินขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันบนพื้นโลก การแบ่งทวีปในโลกไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน โดยทั่วไปทวีป ต้องเป็นพื้นกว้างใหญ่ ไม่รวมพื้นที่ที่จมอยู่ใต้น้ำ และมีเขตแดนเด่นชัดทางภูมิศาสตร์ == นิยาม == แบบจำลองเจ็ดทวีปโดยทั่วไปสอนในจีน อินเดีย ยุโรปตะวันตกบางส่วนและประเทศที่พูดภาษาอังกฤษส่วนมาก ในส่วนใหญ่จะนับว่ามี 6 ทวีปคือ อเมริกา เอเซีย ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และ แอนตาร์กติกา แบบจำลองหกทวีป (มีทวีปอเมริกา) ใช้ในประเทศที่พูดภาษาสเปน และบางส่วนของยุโรป รวมถึงประเทศกรีซ (แบบจำลอง 5 ทวีปที่มีมนุษย์อาศัย คือ ไม่รวมแอนตาร์กติกา ยังพบในแบบเรียน) เราอาจรวมทวีปเป็น มหาทวีป (supercontinent) หรือแบ่งย่อยเป็น อนุทวีป (subcontinent) ก็ได้ แต่ก็ไม่มีนิยามที่แน่นอนชัดเจนเช่นกัน ในอังกฤษ คำว่า "the Continent" มักหมายถึงทวีปยุโรป โดยไม่รวมบริเตนใหญ่กับไอร์แลนด์ เช่นเดียวกัน คำว่า "the Subcontinent" มักหมายถึง ประเทศอินเดีย == ทวีปทางภูมิศาสตร์ == ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักภูมิศาสตร์ยอมรับกันว่าทวีปต่าง ๆ มีการเคลื่อนที่ไปบนผิวโลกอยู่เสมอ เรียกกระบวนการนี้ว่า "ทวีปเลื่อน (continental drift)" อธิบายได้ด้วยทฤษฎีการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (plate tectonics) ปัจจุบันผิวโลกมีแผ่นเปลือกโลกหลักอยู่ 7 แผ่น และแผ่นเล็ก ๆ อีกมาก การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดการแยกตัวออกจากกัน และการรวมเข้าด้วยกันของแต่ละแผ่น ในอดีตจึงมีแผ่นเปลือกที่ไม่พบในปัจจุบัน == อ้างอิง ==
thaiwikipedia
717
นีล อาร์มสตรอง
เรือโท นีล ออลเดน อาร์มสตรอง (Neil Alden Armstrong; 5 สิงหาคม ค.ศ. 1930 — 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012) เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน และเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์คนแรกของโลก == ประวัติ == นีล อาร์มสตรอง เกิดที่เมืองวาปาโคเนตา รัฐโอไฮโอ ชื่นชอบเรื่องการขับเครื่องบินมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เรียนการขับเครื่องบินครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 15 ปีแล้วได้รับใบอนุญาตนักบินเมื่อตอนอายุ 16 ปี และเป็นนักบินทดสอบให้กับองค์การนาซามาก่อน เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศเมื่อปี ค.ศ. 1962 และปฏิบัติภารกิจดหลายภารกิจในโครงการเจมินีและโครงการอะพอลโล และยังเคยเป็นนักบินในกองทัพสหรัฐ ปฏิบัติภารกิจ 78 ครั้งในสงครามเกาหลี ในปี ค.ศ. 1969 เขาเป็นผู้บัญชาการของโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งมีเป้าหมายนำยานไปจอดบนดวงจันทร์ โดยสมาชิกในทีมคือ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ เขากล่าวประโยคนี้เมื่อเหยียบลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2012 อาร์มสตรองได้เสียชีวิตในซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ ขณะอายุได้ 82 ปี เนื่องด้วยภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐได้กล่าวยกย่องอาร์มสตรองว่าเป็น "บุรุษชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่เพียงแค่ในช่วงเวลาของเขาเท่านั้น แต่เป็นตลอดกาล"kin gay == การเยือนประเทศไทย == นีล อาร์มสตรอง เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย และ หนึ่งในสถานที่มาเยือนนั้นคือที่ โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ในต้นฤดูฝน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) มีนักเรียนชื่อ อรนุช ภาชื่น และ พรเพ็ญ เพียรชอบ และเพื่อนรวม 6 คน ได้เขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษส่งไปยังนีล อาร์มสตรอง ซึ่งแปลความเป็นภาษาไทยได้ว่า "เราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอะพอลโล 11 และคิดว่านักบินอวกาศจะเป็นผู้สามารถเล่าให้เราฟังได้มากที่สุดและดีที่สุด" ในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ หลังการประสานงาน เมื่อสำนักงานข่าวสารอเมริกัน ก็บรรจุโรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ ไว้ในรายการเยือนประเทศไทยอีกจุดหนึ่งด้วย โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 1969 (พ.ศ. 2512) นีล อาร์มสตรอง กลับจากดวงจันทร์ไม่นาน ก็ได้มายืนถ่ายรูปกับครูและนักเรียน ณ โรงเรียนประจำจังหวัดในภาคอีสาน นามว่า "ร.ร.สิรินธร จ.สุรินทร์" ในการเดินทางมายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น ตริตราภรณ์ช้างเผือก ให้แก่เขาด้วย ==อ้างอิง== == ดูเพิ่ม == ข้อกล่าวหาเรื่องมนุษย์คนแรกเหยียบดวงจันทร์เป็นเรื่องลวง == แหล่งข้อมูลอื่น == ประวัติ นีล อาร์มสตรอง จากเว็บนาซา นักบินอวกาศชาวอเมริกัน บุคลากรในองค์การนาซา ผู้ได้รับอิสริยาภรณ์เหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี เสียชีวิตระหว่างการผ่าตัด ภารกิจอวกาศในปี พ.ศ. 2509 ภารกิจอวกาศในปี พ.ศ. 2512 ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ช.
thaiwikipedia
718
พรรคไทยรักไทย
พรรคไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2541 ในช่วงเวลาสั้น ๆ พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปสามครั้ง 8 เดือนหลังการรัฐประหารทำให้ทักษิณต้องลี้ภัย พรรคถูกยุบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเนื่องจากละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีบทบาทในการก่อตั้งพรรคพลังประชาชน และต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกยุบอีก พรรคเพื่อไทยจึงมีบทบาททางการเมืองแทนพรรคไทยรักไทย == ประวัติ == พรรคไทยรักไทยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 โดยทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจโทรคมนาคม และสมาชิกผู้ก่อตั้งอีก 22 คน ได้แก่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ทนง พิทยะ, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์, พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช พรรคไทยรักไทยมีนโยบายประชานิยม ดึงดูดเกษตรกรที่เป็นหนี้ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 โดยสัญญาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง พรรคยังเข้าถึงหมู่บ้านในชนบทและธุรกิจที่กำลังดิ้นรน นโยบายของพรรคไทยรักไทย ได้แก่ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ขยายเวลาการพักชำระหนี้สำหรับเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม เขาละเลยพื้นที่ชนบทบางแห่งและจังหวัดทางภาคใต้ เนื่องจากทักษิณระบุว่าเขาไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำอะไรให้กับพื้นที่ที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้เขา == ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย 23 คน == การุญ จันทรางศุ กิตติ ลิ่มสกุล กันตธีร์ ศุภมงคล คณิต ณ นคร ณรงค์ ปัทมะเสวี ทักษิณ ชินวัตร พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นายแพทย์ ประจวบ อึ้งภากรณ์ ประชา คุณะเกษม ประสิทธิ์ มะหะหมัด ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ปภัสรา ตรังคินีนาถ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ พันธ์เลิศ ใบหยก ภูวนิดา คุนผลิน วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ วีระชัย วีระเมธีกุล สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สิริกร (ลีนุตพงษ์) มณีรินทร์ สุธรรม แสงประทุม สุวรรณ วลัยเสถียร สำราญ ภูอนันตานนท์ == บุคลากรในพรรค == === หัวหน้าพรรค === {| border="1" cellpadding="4" cellspacing="1" style="margin: 1em 1em 1em 0; background: #f9f9f9; border: 1px #aaa solid; text-align:center; border-collapse: collapse; font-size: 95%;" |- style="background:#cccccc" | ลำดับ || รูป || รายนาม || width=13%| เริ่มวาระ || width=13%| สิ้นสุดวาระ || ตำแหน่งสำคัญ |- | bgcolor="#E9E9E9"| 1 || || ทักษิณ ชินวัตร(26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 — ปัจจุบัน) || 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 || 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 || align=left| |- | bgcolor="#E9E9E9"| 2 || 150px || จาตุรนต์ ฉายแสง(รักษาการ)(1 มกราคม พ.ศ. 2499 — ปัจจุบัน) || 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 || 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 || align=left| |} === เลขาธิการพรรค === {| border="1" cellpadding="4" cellspacing="1" style="margin: 1em 1em 1em 0; background: #f9f9f9; border: 1px #aaa solid; text-align:center; border-collapse: collapse; font-size: 95%;" |- style="background:#cccccc" | ลำดับ || รูป || รายนาม || width=13%| เริ่มวาระ || width=13%| สิ้นสุดวาระ || ตำแหน่งสำคัญ |- | bgcolor="#E9E9E9"| 1 || || ร้อยตำรวจเอก ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ || 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 || 27 มกราคม พ.ศ. 2545 || align="left" | |- | bgcolor="#E9E9E9"| 2 || 150px || สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ|| 27 มกราคม พ.ศ. 2545 || 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 || align=left| |- | bgcolor="#E9E9E9"| 3 || || วิเชษฐ์ เกษมทองศรี(รักษาการ) || 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 || 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 || align=left| |} === กรรมการบริหารพรรค === ==== ชุดที่ขอจดทะเบียนพรรคการเมือง ==== ==== ชุดเดิม 119 คน ==== ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จาตุรนต์ ฉายแสง ไชยยศ สะสมทรัพย์ พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เนวิน ชิดชอบ ประชา มาลีนนท์ ประยุทธ มหากิจศิริ ปองพล อดิเรกสาร พงศ์เทพ เทพกาญจนา พินิจ จารุสมบัติ โภคิน พลกุล เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ วันมูหะมัดนอร์ มะทา สนธยา คุณปลื้ม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมชาย สุนทรวัฒน์ สมศักดิ์ เทพสุทิน สรอรรถ กลิ่นประทุม สุชาติ ตันเจริญ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ชานนท์ สุวสิน พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล วิเชษฐ์ เกษมทองศรี ภูมิธรรม เวชยชัย สิริกร มณีรินทร์ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี กร ทัพพะรังสี กอบกุล นพอมรบดี กันตธีร์ ศุภมงคล จำลอง ครุฑขุนทด ฉัตรชัย เอียสกุล พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ ชูชีพ หาญสวัสดิ์ บุญชู ตรีทอง ประจวบ ไชยสาส์น นายแพทย์ เปรมศักดิ์ เพียยุระ เทวัญ ลิปตพัลลภ พวงเพ็ชร ชุนละเอียด พันธุ์เลิศ ใบหยก ระวี หิรัญโชติ รุ่งเรือง พิทยศิริ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ วราเทพ รัตนากร วิเศษ จูภิบาล วิชิต ปลั่งศรีสกุล สฤต สันติเมทนีดล สุขวิช รังสิตพล สุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายแพทย์ สุชัย เจริญรัตนกุล สุนัย เศรษฐบุญสร้าง สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สุริยา ลาภวิสุทธิสิน สุวิทย์ คุณกิตติ เสนาะ เทียนทอง เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดิศร เพียงเกษ อดิศัย โพธารามิก อนุทิน ชาญวีรกูล เอกพร รักความสุข เกรียง กัลป์ตินันท์ เกษม รุ่งธนเกียรติ นายแพทย์ จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ชูชัย มุ่งเจริญพร ทศพล สังขทรัพย์ ทองหล่อ พลโคตร ธีระยุทธ วาณิชชัง ประชาธิปไตย คำสิงห์นอก ประสิทธิ์ จันทาทอง ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี นายแพทย์ วิชัย ชัยจิตวณิชกุล วิฑูรย์ วงษ์ไกร วุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ สมศักดิ์ คุณเงิน สาคร พรหมภักดี อรดี สุทธิศรี อรรถสิทธิ์ (คันคาย) ทรัพยสิทธิ์ เอกภาพ พลซื่อ ชาญชัย ปทุมารักษ์ ฐานิสร์ เทียนทอง ธานี ยี่สาร บุญพันธ์ แขวัฒนะ พงษ์ศักดิ์ วรปัญญา พิมพา จันทร์ประสงค์ ยงยศ อดิเรกสาร ลิขิต หมู่ดี ว่าที่ร้อยโท นายแพทย์ วัลลภ ยังตรง สิทธิชัย กิตติธเนศวร สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ อนุชา นาคาศัย อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ประทวน เขียวฤทธิ์ พินิจ จันทรสุรินทร์ ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ไพศาล จันทรภักดี มยุรา มนะสิการ เรืองวิทย์ ลิกค์ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ วีระกร คำประกอบ พันตำรวจโท อดุลย์ บุญเสรฐ กฤษ ศรีฟ้า ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ลิขิต ธีรเวคิน วัยโรจน์ พิพิธภักดี วีระ มุสิกพงศ์ สุธรรม แสงประทุม สุรเชษฐ์ ดวงสอดศรี หม่อมราชวงศ์ดำรงดิศ ดิศกุล ปวีณา หงสกุล พิมล ศรีวิกรม์ ลลิตา ฤกษ์สำราญ ศันสนีย์ นาคพงศ์ ==== ชุดก่อนการยุบพรรค ==== == กลุ่มย่อยในพรรค == กลุ่มจันทร์ส่องหล้า นำโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มวังบัวบาน นำโดย เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กลุ่มวังน้ำยม นำโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มวังพญานาค นำโดย พินิจ จารุสมบัติ (เดิมมาจากพรรคเสรีธรรม) กลุ่มวังน้ำเย็น นำโดย เสนาะ เทียนทอง (ต่อมาเป็นพรรคประชาราช) กลุ่มบ้านริมน้ำ นำโดย สุชาติ ตันเจริญ กลุ่มราชบุรี นำโดย สรอรรถ กลิ่นประทุม กลุ่มวังน้ำเค็ม (กลุ่มชลบุรี) นำโดย สนธยา คุณปลื้ม (ต่อมาเป็นพรรคพลังชล) กลุ่มวาดะห์ นําโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา (ต่อมาเป็นพรรคประชาชาติ) กลุ่มพลังไทย นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ == การเลือกตั้ง == ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดยชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอย่างถล่มทลาย ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งร้อยละ 40 เป็นน้องใหม่ พรรคไทยรักไทยสามารถเจรจารวมพรรคความหวังใหม่ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เข้ากับพรรคไทยรักไทย และเป็นพันธมิตรกับพรรคชาติไทย ทำให้ได้ ส.ส. 325 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยก็ยังคงครองตำแหน่งพรรคอันดับหนึ่ง และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ด้วยคะแนนเสียงมากถึง 377 เสียง === ผลการเลือกตั้งทั่วไป === === การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร === ===ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร=== == ยุบพรรค == ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทย ได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อถึง 18,993,073 เสียง แต่ถูกกล่าวหาว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงเลือกตั้ง โดยอ้างว่าพรรคต้องการหลีกเลี่ยงกฎร้อยละ 20 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงตั้งอนุกรรมการมาสอบ ซึ่งผลปรากฏว่ามีมูลทำให้พรรคไทยรักไทยอาจถูกยุบพรรคได้ และกำลังอยู่ในระหว่างการส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค หลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ไม่นาน ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรค โดยส่งจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายมือ โดยได้ชี้แจงสาเหตุถึงการลาออก และขอบคุณสมาชิกพรรคและผู้ให้การสนับสนุน หลังจากที่หัวหน้าพรรคลาออกไม่นาน ความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรค โดยเฉพาะผู้บริหารพรรค ต่างก็ตัดสินใจลาออกจากกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทันที มีการฟ้องร้องยุบพรรคไทยรักไทย มีการตรวจสอบเรื่องการทุจริต ซึ่งอาจมีผลทำให้กรรมการบริหารพรรคต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย พร้อมเพิกถอนสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน เป็นจำนวน 5 ปี เหตุที่เพิกถอนสิทธิเพียง 111 คนใน 119 คน เนื่องจากใน 8 คนที่เหลือมีการลาออกหรือสิ้นสภาพกรรมการฯ ก่อนการกระทำผิด ได้แก่ เปรมศักดิ์ เพียยุระ, นายเสนาะ เทียนทอง, นายฐานิสร์ เทียนทอง, นายลิขิต ธีรเวคิน, นายสฤต สันติเมทนีดล, นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์, นายกร ทัพพะรังสี และนางกอบกุล นพอมรบดี อดีต ส.ส.ราชบุรี ที่ถูกยิงเสียชีวิต == การแยกไปตั้งพรรค == พรรคไทยรักไทยเคยมีสมาชิกพรรคที่ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือย้ายไปเป็นกรรมการบริหารพรรค ทั้งช่วงก่อนการยุบพรรคและหลังการยุบพรรค โดยมีดังนี้ พรรคที่จัดตั้งก่อนการยุบพรรค พรรคประชาราช นำโดย เสนาะ เทียนทอง (ย้ายไปตั้งพรรคก่อนการถูกยุบพรรค / ย้ายรวมกลับเข้าพรรคเพื่อไทยในภายหลัง) พรรคที่จัดตั้งหลังการยุบพรรค พรรคพลังประชาชน นำโดย เนวิน ชิดชอบ และสมาชิกพรรคไทยรักไทยส่วนมากที่ยังเหลืออยู่ พรรคมัชฌิมาธิปไตย นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน พรรคเพื่อแผ่นดิน นำโดย สุวิทย์ คุณกิตติ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นำโดย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ (เดิมเป็นพรรคชาติพัฒนา ก่อนจะยุบรวมกับไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2548) พรรคเพื่อไทย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช (ภายหลังก่อนพรรคพลังประชาชนยุบในปี พ.ศ. 2551) == ดูเพิ่ม == ทักษิโณมิค บ้านเลขที่ 111 == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == พรรคการเมืองไทยในอดีต พรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2541 พรรคการเมืองไทยที่ถูกยุบพรรคในปี พ.ศ. 2550 พรรคไทยรักไทย
thaiwikipedia
719
ธันวาคม
ธันวาคม เป็นเดือนที่ 12 และเดือนสุดท้ายของปี ตามปฏิทินกริกอเรียน และเป็นหนึ่งในเดือน 7 เดือนที่มี 31 วัน ตามหลักโหราศาสตร์ เดือนธันวาคมเริ่มต้นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีธนู และสิ้นสุดเมื่อยกเข้าสู่ราศีมกร แต่ในทางดาราศาสตร์ ต้นเดือนธันวาคมดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู และไปอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูในปลายเดือน เดือนธันวาคมในภาษาอังกฤษ December มาจากภาษาละติน decem เนื่องจากเป็นเดือนที่ 10 ในปฏิทินโรมันดั้งเดิมที่เริ่มต้นปีในเดือนมีนาคม. ประเทศไทยเริ่มใช้ชื่อเดือนธันวาคมในปี พ.ศ. 2432 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นผู้เสนอให้ใช้ราศีกำหนดชื่อเดือน == วันพระราชสมภพ== 23 ธันวาคม - * พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) - สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ * พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) - สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน == วันสำคัญ == 1 ธันวาคม - วันเอดส์โลก 5 ธันวาคม - วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันชาติ, วันพ่อแห่งชาติ, วันดินโลก และวันพัฒนาชุมชน 7 ธันวาคม - วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา 10 ธันวาคม - วันรัฐธรรมนูญ 11 ธันวาคม - วันสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส 16 ธันวาคม - วันกีฬาแห่งชาติ 25 ธันวาคม - คริสต์มาส 26 ธันวาคม - วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ 28 ธันวาคม - วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 31 ธันวาคม - วันสิ้นปี == ดูเพิ่ม == จดหมายเหตุเดือนธันวาคม == แหล่งข้อมูลอื่น == เดือน
thaiwikipedia
720
โลก (ดาวเคราะห์)
โลก (Earth) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่สามจากดวงอาทิตย์ และเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวที่ทราบว่ามีสิ่งมีชีวิต จากการวัดอายุด้วยกัมมันตรังสีและแหล่งหลักฐานอื่นได้ความว่าโลกกำเนิดเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน โลกมีอันตรกิริยะเชิงโน้มถ่วงกับวัตถุอื่นในอวกาศโดยเฉพาะดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งเป็นดาวบริวารถาวรหนึ่งเดียวของโลก โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 365.26 วัน เรียกว่า ปี ซึ่งระหว่างนั้นโลกโคจรรอบแกนตัวเองประมาณ 366.26 รอบ แกนหมุนของโลกเอียงทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ บนผิวโลก อันตรกิริยาความโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ก่อให้เกิดน้ำขึ้นลงมหาสมุทร ทำให้การหมุนบนแกนของโลกมีเสถียรภาพ และค่อย ๆ ชะลอการหมุนของโลก โลกเป็นดาวเคราะห์ที่มีความหนาแน่นสูงสุดในระบบสุริยะและใหญ่สุดในดาวเคราะห์คล้ายโลก 4 ดวง ธรณีภาคของโลกแบ่งออกได้เป็นหลาย ๆ ส่วน เรียกว่าแผ่นธรณีภาค ซึ่งย้ายที่ตัดผ่านพื้นผิวตลอดเวลาหลายล้านปี ร้อยละ 71 ของพื้นผิวโลกปกคลุมด้วยน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหาสมุทร อีกร้อยละ 29 ที่เหลือเป็นแผ่นดินประกอบด้วยทวีปและเกาะซึ่งมีทะเลสาบ แม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นจำนวนมากกอปรเป็นอุทกภาค บริเวณขั้วโลกทั้งสองปกคลุมด้วยน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก และน้ำแข็งทะเลของแพน้ำแข็งขั้วโลก บริเวณภายในของโลกยังคงมีความเคลื่อนไหวโดยมีแก่นชั้นในซึ่งเป็นเหล็กในสถานะของแข็ง มีแก่นเหลวชั้นนอกซึ่งกำเนิดสนามแม่เหล็ก และชั้นแมนเทิลพาความร้อนที่ขับเคลื่อนการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค ภายในพันล้านปีแรก สิ่งมีชีวิตปรากฏขึ้นในมหาสมุทรและเริ่มส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและผิวดาว เกื้อหนุนให้เกิดการแพร่ขยายของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช้ออกซิเจน หลักฐานธรณีวิทยาบางส่วนชี้ว่าชีวิตอาจกำเนิดขึ้นเร็วสุด 4.1 พันล้านปีก่อน นับแต่นั้นตำแหน่งของโลกในระบบสุริยะ คุณสมบัติทางกายภาพของโลก และประวัติศาสตร์ธรณีวิทยาของโลกประกอบกันทำให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการและแพร่พันธุ์ได้ ในประวัติศาสตร์ของโลก ความหลากหลายทางชีวภาพผ่านระยะการขยายยาวนาน แต่ถูกขัดจังหวะบางครั้งด้วยการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ กว่าร้อยละ 99 ของสปีชีส์ทั้งหมดที่เคยอยู่อาศัยบนโลกนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว ประมาณการจำนวนสปีชีส์บนโลกปัจจุบันมีหลากหลาย และสปีชีส์ส่วนใหญ่ยังไม่มีผู้อธิบาย มนุษย์กว่า 7.6 พันล้านคนอาศัยอยู่บนโลกและอาศัยชีวมณฑลและทรัพยากรธรรมชาติของโลกเพื่อการอยู่รอด มนุษย์พัฒนาสังคมและวัฒนธรรมหลากหลาย ในทางการเมือง โลกมีรัฐเอกราชกว่า 200 รัฐ == ชื่อและศัพทมูลวิทยา == คำว่า โลก ในภาษาไทยมีที่มาจากคำในภาษาบาลี โลก (โล-กะ) คนไทยใช้คำนี้เรียกโลกตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลสืบทอดผ่านมาทางพระพุทธศาสนา เดิมนั้นคำว่าโลกไม่ได้หมายความเฉพาะเพียงแต่โลกที่เป็นวัตถุธาตุ แต่ใช้ในหลายความหมาย ได้แก่ "หมู่" "เหล่า" "ขอบเขต" "ทั้งหมดในขอบเขต" "ขอบเขตอาศัย" "ความเป็นไป" "ความเป็นอยู่" หากกล่าวถึงโลกทั้ง ๓ ก็จะหมายถึง สังขารโลก (โลกคือสังขาร) สัตว์โลก (โลกคือหมู่สัตว์) และโอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) ปัจจุบันมีการใช้คำว่า โลกในความหมายเกี่ยวข้องกับมนุษย์ หรืออารยธรรมมนุษย์ (ซึ่งตรงกับคำว่า World ในภาษาอังกฤษ) นอกเหนือจากความหมายดาวเคราะห์ที่นิยมใช้ทั่วไป คำว่าโลกในภาษาต่างประเทศ อังกฤษร่วมสมัยใช้คำว่า Earth พัฒนามาจากรูปแบบภาษาอังกฤษสมัยกลางต่าง ๆ กัน ซึ่งสืบมาจากคำนามในภาษาอังกฤษสมัยเก่าที่นิยมสะกดว่า มีรากเดียวกันกับทุกภาษาในกลุ่มเจอร์แมนิก และโปรโตเจอร์แมนิกที่ได้ประกอบเป็น *erþō ตามที่ปรากฏในสมัยแรก ๆ มีการใช้คำ eorðe เพื่อแปลความจากคำภาษาลาติน และภาษากรีก (gē) ในความหมาย พื้นดิน ดิน ผืนดินแห้ง โลกมนุษย์ พื้นผิวของโลก (รวมทั้งทะเล) ตลอดจนพิภพโลกทั้งมวล เช่นเดียวกันกับเทอร์ราและไกอา โลกถือว่าเป็นเทพเจ้าตามลัทธิเพเกินของชาวเจอร์แมนิก-ชาวแองเกิลตามที่แทซิทัสได้บันทึกไว้ในบรรดาผู้ศรัทธาในเทพเนอทัส และภายหลังตามเทวตำนานนอร์ส คือ ยูร์ด (Jörð) ยักษิณีซึ่งสมรสกับโอดินและเป็นมารดาของทอร์ อีกหลายภาษาที่มีความเป็นมาใกล้เคียงกับไทยเช่นภาษาลาวก็เรียกโลกว่า ໂລກ (โลก) เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเยอรมันใช้คำเรียกโลกคือ Erde (แอร์เดอะ) คล้ายกับดัตช์ Aarde (อาร์เดอะ), กลุ่มภาษาโรมานซ์ สเปนใช้คำ Tierra (ตีเอร์รา) คล้ายกับอิตาลีที่ใช้ Terra (เตร์รา) หรือฝรั่งเศส Terre (แตร์), ภาษาจีนใช้ 地球 (Dìqiú ตี้ฉิว) หรือ 坤輿 (Kūnyú คุนหยู๋) ญี่ปุ่นเรียก 地球 (Chikyū จิคีว) เกาหลีเรียก 지구 (Jigu ชีกู) และสันสกฤตใช้คำ पृथ्वी (ปฐวี) ==ลำดับเวลา== ===การกำเนิด=== วัตถุแรกเริ่มที่สุดที่พบในระบบสุริยะมีอายุย้อนหลังไปถึง โลกยุคแรกเริ่มถือกำเนิดขึ้นเมื่อ มีการก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะร่วมกับดวงอาทิตย์ ตามทฤษฎีแล้วเนบิวลาสุริยะแยกส่วนอาณาบริเวณหนึ่งออกจากเมฆโมเลกุลโดยการยุบตัวจากแรงโน้มถ่วง ซึ่งเริ่มหมุนและแบนลงเป็นจานรอบดาวฤกษ์ จากนั้นดาวเคราะห์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจากจานนั้นพร้อมกับดวงอาทิตย์ ในเนบิวลาประกอบด้วยก๊าซ เม็ดน้ำแข็ง และฝุ่น (รวมทั้งนิวไคลด์แรกกำเนิด) ตามทฤษฎีเนบิวลา พลาเนตติซิมัล (planetesimal) หรือวัตถุแข็งที่จะก่อกำเนิดดาวเคราะห์ เกิดขึ้นจากการงอกพอกพูน โดยโลกบรรพกาลใช้เวลาก่อกำเนิด 10–20 ล้านปี ดวงจันทร์กำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ การกำเนิดของดวงจันทร์ยังเป็นหัวข้อการวิจัยในปัจจุบัน สมมติฐานนำกล่าวว่าดวงจันทร์ถือกำเนิดขึ้นโดยการพอกพูนจากวัตถุที่หลุดออกจากโลกหลังจากโลกถูกวัตถุขนาดใหญ่เท่าดาวอังคารชื่อว่า เธีย (Theia) พุ่งเข้าชน แบบจำลองนี้กะว่ามวลของเธียคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของมวลโลก พุ่งเข้าชนโลกในลักษณะแฉลบและมวลบางส่วนรวมเข้ากับโลก ในระหว่างเวลาประมาณ 4.1 และ 3.8 พันล้านปีก่อน ดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากพุ่งชนระหว่างการระดมชนหนักครั้งสุดท้าย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงกับบริเวณพื้นที่ผิวส่วนใหญ่ของดวงจันทร์รวมทั้งโลก ===ประวัติทางธรณีวิทยา=== บรรยากาศโลกและมหาสมุทรประกอบขึ้นจากกัมมันตภาพภูเขาไฟและกระบวนการปล่อยก๊าซ (outgassing) ไอน้ำจากสองแหล่งดังกล่าวควบแน่นเป็นมหาสมุทร รวมกับน้ำและน้ำแข็งที่มากับดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์ก่อนเกิด และดาวหาง ตามแบบจำลองนี้ "แก๊สเรือนกระจก" ในบรรยากาศช่วยรักษามหาสมุทรไม่ให้เยือกแข็งเมื่อดวงอาทิตย์ที่เพิ่งก่อกำเนิดยังมีความสว่างเพียงร้อยละ 70 เทียบกับปัจจุบัน ราว เกิดสนามแม่เหล็กโลกซึ่งช่วยปกป้องบรรยากาศไม่ให้ถูกลมสุริยะพัดพาไป เปลือกโลกก่อรูปขึ้นเมื่อชั้นนอกที่หลอมเหลวของโลกเย็นตัวลงจนอยู่ในสถานะแข็ง มีแบบจำลองสองแบบจำลอง ที่อธิบายการเกิดขึ้นของแผ่นดินโดยแบบจำลองหนึ่งเสนอว่า แผ่นดินค่อย ๆ เกิดขึ้นจนมีรูปร่างดังในปัจจุบัน อีกแบบจำลองหนึ่งซึ่งอาจเป็นไปได้มากกว่า เสนอว่าแผ่นดินเติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในประวัติศาสตร์โลก อันเนื่องมาจากการดำรงอยู่มาต่อเนื่องยาวนานของพื้นที่ส่วนทวีป ทวีปต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาคซึ่งเป็นกระบวนการที่มีสาเหตุจากการสูญเสียความร้อนของบริเวณภายในของโลกอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรเวลากว่าหลายร้อยล้านปี มีการรวมมหาทวีปแล้วแยกออกจากกัน ประมาณ มหาทวีปแรก ๆ ที่ทราบชื่อโรดิเนียเริ่มแตกออกจากกัน ต่อมาทวีปทั้งหลายกลับมารวมกันเป็นมหาทวีปแพนโนเชียเมื่อราว 600– และสุดท้ายคือมหาทวีปแพนเจียซึ่งก็แยกออกจากกันเมื่อราว รูปแบบปัจจุบันของยุคน้ำแข็งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ แล้วทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสมัยไพลสโตซีนเมื่อราว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบริเวณละติจูดสูง ๆ เผชิญกับวัฏจักรการเกิดของธารน้ำแข็งสลับกับการละลายแบบเวียนซ้ำโดยอุบัติซ้ำในทุก ๆ – การเปลี่ยนสภาพโดยธารน้ำแข็งของทวีปครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงเมื่อประมาณ ===วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต=== คาดกันว่าปฏิกิริยาเคมีพลังงานสูงทำให้เกิดโมเลกุลที่สามารถถ่ายแบบตนเองได้เมื่อราวสี่พันล้านปีก่อน อีกครึ่งพันล้านปีต่อมา เกิดบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายของสรรพชีวิต วิวัฒนาการของการสังเคราะห์ด้วยแสงทำให้บรรดาสิ่งมีชีวิตสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้โดยตรง ออกซิเจนในรูปโมเลกุล (O2) ที่เกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสงมีการสะสมในบรรยากาศ และด้วยผลกระทบจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์จึงได้ก่อชั้นเกราะโอโซน (O3) ขึ้นในบรรยากาศเบื้องบน การรวมเซลล์ขนาดเล็กในเซลล์ที่ใหญ่กว่าทำให้เกิดพัฒนาการของเซลล์ซับซ้อนเรียกว่า ยูแคริโอต สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ต่าง ๆ ภายในโคโลนีมีการแบ่งหน้าที่เฉพาะมากขึ้น เนื่องจากชั้นโอโซนช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตอันเป็นอันตรายออกไป สิ่งมีชีวิตจึงอยู่อาศัยได้บนพื้นผิวโลก หลักฐานทางบรรพชีวินแรก ๆ ของสิ่งมีชีวิตบนโลกคือ ซากดึกดำบรรพ์ผืนจุลชีพที่พบในหินทรายอายุ 3.48 พันล้านปีในออสเตรเลียตะวันตก แกรไฟต์ชีวภาพในชั้นหินตะกอนแปรอายุเก่าแก่ประมาณ 3.7 พันล้านปีค้นพบในกรีนแลนด์ตะวันตก หลักฐานโดยตรงของสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างแรกอยู่ในหินออสเตรเลียอายุ 3.45 พันล้านปีที่แสดงซากดึกดำบรรพ์ของจุลินทรีย์ ระหว่างมหายุคนีโอโปรเทอโรโซอิก (750 และ ) บริเวณส่วนใหญ่ของโลกถูกน้ำแข็งปกคลุม สมมติฐานนี้ชื่อ "โลกก้อนหิมะ" และมีความน่าสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการระเบิดแคมเบรียน เมื่อสิ่งมีชีวิตมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ นับจากการระเบิดแคมเบรียนราว เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ห้าครั้ง เหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ เมื่อการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยเป็นเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ (ที่ไม่ใช่นก) และสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อื่น ๆ แต่สัตว์ขนาดเล็กบางส่วนเหลือรอดมาได้เช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีลักษณะคล้ายหนู ตลอด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้แตกแขนงออกไปมากมาย และเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว สัตว์คล้ายลิงใหญ่ไม่มีหางแอฟริกา เช่น Orrorin tugenensis มีความสามารถยืนด้วยลำตัวตั้งตรง ทำให้สามารถใช้เครื่องมือและเกื้อหนุนการสื่อสารระหว่างกัน นำมาซึ่งโภชนาการและการกระตุ้นที่จำเป็นสำหรับสมองขนาดใหญ่ขึ้น นำไปสู่วิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ การพัฒนาเกษตรกรรมและอารยธรรมในเวลาต่อมา ช่วยให้มนุษย์มีอิทธิพลต่อโลกและธรรมชาติ และมีจำนวนของสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งยังมีผลมาจนทุกวันนี้ ===อนาคต=== อนาคตระยะยาวที่คาดหมายของโลกนั้นเกี่ยวข้องกับอนาคตของดวงอาทิตย์ ความสว่างของดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในอีก และร้อยละ 40 เมื่อตลอดเวลา ถัดจากนั้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเร่งวัฏจักรคาร์บอนอนินทรีย์ ลดความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์จนพืชไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ (ในพืชที่สังเคราะห์ด้วยแสงแบบซี4) ในระยะเวลาประมาณ –ข้างหน้า การขาดแคลนพืชจะส่งผลกระทบให้ออกซิเจนหายไปจากบรรยากาศ ทำให้สัตว์อยู่ไม่ได้ คล้อยหลังไปอีกพันล้านปีปริมาณน้ำทั้งหมดบนผิวโลกจะสูญสิ้น และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะพุ่งขึ้นไปถึง 70 องศาเซลเซียส คาดหมายว่าโลกจะพออยู่อาศัยได้อีกประมาณ นับจากจุดนั้น หรืออาจยืดออกไปถึง ถ้าไนโตรเจนหมดไปจากบรรยากาศ แม้ว่าดวงอาทิตย์จะมีอายุนิรันดร์และมีความเสถียร กว่าร้อยละ 27 ของน้ำในมหาสมุทรปัจจุบันก็จะไหลสู่เนื้อโลกในเวลาหนึ่งพันล้านปี เนื่องจากไอน้ำที่ปะทุออกมาจากสันกลางมหาสมุทรลดลง ดวงอาทิตย์จะวิวัฒนาการเป็นดาวยักษ์แดงในราว ข้างหน้า แบบจำลองทำนายว่าดวงอาทิตย์จะขยายตัวออกประมาณ 1 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 250 เท่าของรัศมีปัจจุบัน ชะตาของโลกนั้นยังไม่ชัดเจนนัก เมื่อเป็นดาวยักษ์แดงแล้วดวงอาทิตย์จะสูญเสียมวลไปประมาณร้อยละ 30 ดังนั้นหากปราศจากผลจากฤทธิ์ไทด์ โลกจะเคลื่อนไปโคจรห่างจากดวงอาทิตย์ 1.7 หน่วยดาราศาสตร์ เมื่อดาวมีรัศมีมากที่สุด สิ่งมีชีวิตที่ยังเหลืออยู่เกือบทั้งหมดหรือทั้งหมดก็จะถูกทำลายจากความสว่างที่เพิ่มขึ้นของดวงอาทิตย์ (เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 5,000 เท่าจากระดับปัจจุบัน) การจำลองในปี ค.ศ. 2008 ชี้ว่า สุดท้ายวงโคจรของโลกจะเสื่อมสลายอันเนื่องมาจากผลจากแรงไทด์ และลากเอาโลกให้ตกเข้าสู่บรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่เป็นยักษ์แดงนั้นแล้วก็ระเหยไปจนหมดสิ้น == ลักษณะทางกายภาพ == ===รูปร่าง=== โลกมีรูปร่างประมาณทรงคล้ายทรงกลมแบนขั้ว โลกแบนลงบริเวณแกนทางภูมิศสตร์และโป่งบริเวณแถบศูนย์สูตร การโป่งนี้เป็นผลมาจากการหมุนรอบตัวเองของโลก เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วเหนือ-ใต้ราว 43 กิโลเมตร จุดบนพื้นผิวโลกที่ห่างจากจุดศูนย์กลางมวลของโลกมากที่สุดคือ ยอดภูเขาไฟชิมโบราโซแถบศูนย์สูตรในประเทศเอกวาดอร์ ภูมิประเทศในแต่ละท้องที่มีการเบี่ยงเบนไปจากทรงกลมอุดมคติ แต่เมื่อมองในระดับโลกทั้งใบการเบี่ยงเบนเหล่านี้ก็ถือว่าเล็กน้อย จุดที่ถือว่ามีความเบี่ยงเบนท้องถิ่นมากที่สุดบนพื้นผิวหินของโลกก็คือ ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ด้วยระดับความสูง จากระดับน้ำทะเลกลาง คิดเป็นค่าความเบี่ยงเบนร้อยละ 0.14 และร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาที่ระดับความลึก จากระดับน้ำทะเลกลาง คิดเป็นค่าความเบี่ยงเบนร้อยละ 0.17 ในวิชาภูมิมาตรศาสตร์ รูปทรงแท้จริงของมหาสมุทรโลกหากปราศจากแผ่นดินและอิทธิพลรบกวนอย่างกระแสน้ำและลม เรียก จีออยด์ กล่าวคือ จีออยด์เป็นผิวสมศักย์ความโน้มถ่วง (surface of gravitational equipotential) ที่ระดับทะเลปานกลาง ===องค์ประกอบทางเคมี=== โลกมีมวลโดยประมาณ ส่วนมากประกอบขึ้นจากเหล็ก (ร้อยละ 32.1) ออกซิเจน (ร้อยละ 30.1) ซิลิกอน (ร้อยละ 15.1) แมกนีเซียม (ร้อยละ 13.9) กำมะถัน (ร้อยละ 2.9) นิกเกิล (ร้อยละ 1.8) แคลเซียม (ร้อยละ 1.5) และอะลูมิเนียม (ร้อยละ 1.4) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1.2 ประกอบด้วยธาตุอื่น ๆ ในปริมาณเล็กน้อย จากกระบวนการการแยกลำดับชั้นโดยมวลทำให้เชื่อว่าบริเวณแกนโลกประกอบขึ้นในขั้นต้นด้วยเหล็กร้อยละ 88.8 มีนิกเกิลในปริมาณเล็กน้อยราวร้อยละ 5.8 กำมะถันร้อยละ 4.5 และน้อยกว่าร้อยละ 1 เป็นธาตุพบน้อยชนิดอื่น หินที่พบได้ทั่วไปที่เป็นส่วนประกอบของเปลือกโลกนั้นเป็นสารประกอบออกไซด์แทบทั้งหมด ส่วนคลอรีน กำมะถัน และฟลูออรีน ถือเป็นข้อยกเว้นสำคัญในบรรดาหินทั้งหลายซึ่งเมื่อรวมปริมาณทั้งหมดแล้วมักจะต่ำกว่าร้อยละ 1 หินออกไซด์หลักได้แก่ ซิลิกา อลูมินา ปูนขาว แมกนีเซีย ออกไซด์ของเหล็ก โพแทช และโซดา ===โครงสร้างภายใน=== โครงสร้างภายในของโลกแบ่งออกได้เป็นชั้น ๆ ตามคุณสมบัติกายภาพ (วิทยากระแส) หรือเคมีเช่นเดียวกับดาวเคราะห์หินดวงอื่น ชั้นนอกของโลกเป็นเปลือกซิลิเกตแข็งซึ่งแยกออกชัดเจนด้วยคุณสมบัติทางเคมีโดยมีชั้นเนื้อโลก (mantle) แข็งความหนืดสูงอยู่เบื้องล่าง มีความไม่ต่อเนื่องของโมโฮโลวิคซิค (Mohorovičić discontinuity) คั่นระหว่างเปลือกโลกจากเนื้อโลก เปลือกโลกมีความหนาตั้งแต่ประมาณ 6 กิโลเมตรใต้มหาสมุทรไปจนถึง 30–50 กิโลเมตรใต้ทวีป เปลือกโลกและสภาพแข็งเย็นของยอดเนื้อโลกชั้นบนสุดรวมเรียกธรณีภาค (lithosphere) ซึ่งแผ่นธรณีภาคนั้นประกอบขึ้นจากธรณีภาคนี้เอง ใต้ธรณีภาคเป็นฐานธรณีภาค (asthenosphere) ซึ่งเป็นชั้นความหนืดค่อนข้างต่ำที่ธรณีภาคลอยอยู่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลึกในเนื้อโลกเกิดที่ระดับความลึก 410 ถึง 660 กิโลเมตรใต้พื้นผิว เป็นเขตเปลี่ยนผ่านซึ่งแยกระหว่างเนื้อโลกชั้นบนและล่าง ใต้เนื้อโลกเป็นแก่นชั้นนอกที่เป็นของเหลวความหนืดต่ำมากเหนือแก่นชั้นในที่เป็นของแข็ง แก่นชั้นในของโลกอาจหมุนด้วยอัตราเร็วเชิงมุมสูงกว่าส่วนอื่นของดาวเคราะห์เล็กน้อย โดยหมุน 0.1–0.5° ต่อปี รัศมีของแก่นชั้นในคิดเป็นประมาณหนึ่งในห้าของรัศมีโลก ===ความร้อน=== ความร้อนภายในโลกเป็นผลรวมของความร้อนที่ยังหลงเหลืออยู่จากการงอกพอกพูนของดาวเคราะห์ราวร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 เป็นความร้อนที่ผลิตจากการสลายตัวกัมมันตรังสี ไอโซโทปหลักที่สร้างความร้อนภายในโลกคิอ โพแทสเซียม-40 ยูเรเนียม-238 ยูเรเนียม-235 และทอเรียม-232 ที่ใจกลางโลกคาดว่าน่าจะมีอุณหภูมิสูงถึง 6,000 องศาเซลเซียส และมีความดันสูงถึง 360 จิกะปาสกาล ด้วยการที่ความร้อนส่วนใหญ่มาจากการสลายตัวกัมมันตรังสี นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าในช่วงต้นของประวัติศาสตร์โลกก่อนหน้าที่ไอโซปครึ่งชีวิตสั้นทั้งหลายจะหมดไป การสร้างความร้อนของโลกจะต้องสูงกว่าในปัจจุบันมาก คาดว่าประมาณ 3 พันล้านปีก่อน น่าจะมีการผลิตความร้อนมากกว่าปัจจุบันสองเท่า ซึ่งมีผลเพิ่มการพาความร้อนของเนื้อโลกและการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค และทำให้หินอัคนีบางประเภทอย่างเช่นโคมาไทต์เกิดขึ้นได้ในขณะที่แทบไม่มีเกิดขึ้นในปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยของการสูญเสียความร้อนจากโลกอยู่ที่ 87 มิลลิวัตต์ต่อตารางเมตร คิดรวมทั้งโลกจะสูญเสียความร้อนที่ พลังงานความร้อนบางส่วนจากแก่นถูกแมนเทิลพลูมส่งผ่านขึ้นมายังเปลือกโลก ซึ่งเป็นการพาความร้อนแบบหนึ่งที่เกิดจากการไหลขึ้นของหินอุณหภูมิสูง พลูมนี้สามารถทำให้เกิดจุดร้อนและทุ่งบะซอลท์ ความร้อนจากภายในโลกส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค โดยการไหลขึ้นของเนื้อโลกที่สัมพันธ์กับสันกลางมหาสมุทร หนทางการสูญเสียความร้อนสำคัญสุดท้ายคือการนำความร้อนผ่านธรณีภาคซึ่งปรากฏใต้มหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่เพราะเปลือกโลกบริเวณนั้นบางมากกว่าแผ่นเปลือกทวีปมาก ===แผ่นธรณีภาค=== ธรณีภาคอันเป็นชั้นนอกแข็งทื่อเชิงกลของโลกนั้นแบ่งออกได้หลายชิ้น เรียกว่า แผ่นธรณีภาค แผ่นเหล่านี้เป็นส่วนแข็งที่เคลื่อนที่ไปโดยสัมพันธ์กับแผ่นใกล้เคียงอื่นโดยมีขอบเขตระหว่างกันอย่างใดอย่างหนึ่งในสามแบบนี้ได้แก่ ขอบเขตแบบเข้าหากัน ซึ่งแผ่นทั้งสองเลื่อนมาชนกัน ขอบเขตแบบแยกจากกัน ซึ่งแผ่นทั้งสองเลื่อนออกห่างกันไป และขอบเขตแปลง (รอยเลื่อนแปรสภาพ) ซึ่งแผ่นทั้งสองไถลผ่านกันทางด้านข้าง การเกิดแผ่นดินไหว กัมมันตภาพภูเขาไฟ การก่อเทือกเขา และการเกิดร่องลึกก้นสมุทร สามารถเกิดได้ตลอดแนวขอบเขตของแผ่นเหล่านี้ แผ่นธรณีภาคลอยอยู่บนฐานธรณีภาค ซึ่งเป็นเนื้อโลกชั้นบนส่วนที่มีความแข็งแต่หนืดน้อยกว่า สามารถไหลและเคลื่อนที่ไปพร้อมกับแผ่นธรณีภาคได้ เมื่อแผ่นธรณีภาคมีการเคลื่อนตัว เปลือกโลกส่วนมหาสมุทรจะมุดตัวลงใต้ขอบปะทะของแผ่นเปลือกตามแนวขอบเขตแบบเข้าหากัน ในเวลาเดียวกัน การไหลเลื่อนขึ้นของเนื้อชั้นเนื้อโลกที่ขอบเขตแบบแยกจากกันจะก่อให้เกิดสันกลางมหาสมุทร กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันทำให้เกิดการรีไซเคิลแผ่นเปลือกมหาสมุทรกลับสู่เนื้อโลก ด้วยการรีไซเคิลนี้เองพื้นมหาสมุทรส่วนใหญ่จึงมีอายุไม่เกิน 100 ล้านปี เปลือกโลกส่วนมหาสมุทรที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในบริเวณแปซิฟิกตะวันตกโดยมีอายุประมาณกว่า เมื่อเทียบกันแล้ว เปลือกโลกส่วนทวีปที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุถึง แผ่นธรณีภาคขนาดใหญ่เจ็ดแผ่น ได้แก่ แผ่นแปซิฟิก อเมริกาเหนือ ยูเรเชีย แอฟริกา แอนตาร์กติก อินโด-ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ส่วนแผ่นที่สำคัญอื่น ประกอบด้วย แผ่นอาระเบีย แผ่นแคริบเบียน แผ่นนาซกานอกชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และแผ่นสโกเทียในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ แผ่นออสเตรเลียรวมเข้ากับแผ่นอินเดียระหว่าง 50 ถึง 55 ล้านปีก่อน แผ่นเคลื่อนที่เร็วที่สุดคือแผ่นมหาสมุทร โดยแผ่นโคคอสเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็ว และแผ่นแปซิฟิกเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็ว ในอีกทางหนึ่ง แผ่นเคลื่อนที่ช้าที่สุดคือแผ่นยูเรเชียซึ่งดำเนินไปด้วยอัตราเร็วปกติประมาณ 21 มิลลิเมตร/ปี ===พื้นผิว=== พื้นที่ผิวทั้งหมดของโลกมีประมาณ 510 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่กว่าร้อยละ 70.8 หรือ 361.13 ล้านตารางกิโลเมตร อยู่ใต้ระดับน้ำทะเลและปกคลุมด้วยน้ำมหาสมุทร พื้นที่ใต้น้ำเหล่านี้มีทั้งที่เป็นไหล่ทวีป ภูเขา ภูเขาไฟ ร่องลึกก้นสมุทร หุบเหวใต้ทะเล ที่ราบสูงพื้นสมุทร ที่ราบก้นสมุทร และระบบสันกลางมหาสมุทรที่ทอดตัวทั่วโลก พื้นที่ที่เหลืออีกราวร้อยละ 29.2 หรือ 148.94 ล้านตารางกิโลเมตร ไม่ถูกน้ำปกคลุม มีภูมิประกาศหลากหลายตามสถานที่ ได้แก่ ภูเขา พื้นที่แห้งแล้ง ที่ราบ ที่ราบสูง และภูมิประเทศรูปแบบอื่น ธรณีแปรสัณฐานและการกร่อน การปะทุของภูเขาไฟ การเกิดอุทกภัย การผุพังอยู่กับที่ การเปลี่ยนสภาพโดยธารน้ำแข็ง การเติบโตของพืดหินปะการัง และการพุ่งชนของอุกกาบาตเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนโฉมผิวโลกอยู่เรื่อย ๆ ตามคาบเวลาทางธรณีวิทยา เปลือกโลกส่วนทวีปประกอบด้วยวัตถุความหนาแน่นต่ำอย่างเช่นหินอัคนีแกรนิตและแอนดีไซต์ ที่พบน้อยกว่าคือบะซอลต์ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟความหนาแน่นสูงและเป็นองค์ประกอบหลักของพื้นมหาสมุทร หินตะกอนซึ่งก่อตัวขึ้นจากการสะสมตัวของตะกอนที่ทับถมบีบอัดตัวเข้าด้วยกัน เกือบร้อยละ 75 ของพื้นผิวทวีปถูกปกคลุมด้วยหินตะกอนโดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของเปลือกโลก วัตถุหินที่พบบนโลกรูปแบบที่สามคือหินแปร ก่อกำเนิดโดยการแปรเปลี่ยนมาจากหินดั้งเดิมที่มีอยู่ก่อนผ่านความดันสูง หรืออุณหภูมิสูง หรือทั้งสองอย่าง แร่ซิลิเกตที่พบมากที่สุดบนผิวโลกประกอบด้วย ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ แอมฟิโบล ไมกา ไพรอกซีน และโอลิวีน แร่คาร์บอเนตที่พบทั่วไปประกอบด้วย แคลไซต์ (พบในหินปูน) และโดโลไมต์ ระดับความสูงของพื้นผิวดินแตกต่างกันตั้งแต่จุดต่ำสุดที่ −418 เมตร ณ ทะเลเดดซี ไปจนถึงจุดสูงสุดที่ 8,848 เมตร ณ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ค่าเฉลี่ยความสูงของพื้นดินเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 797 เมตร เพโดสเฟียร์ (pedosphere) เป็นชั้นนอกสุดของพื้นผิวทวีปของโลก ประกอบด้วยดินและผ่านกระบวนการกำเนิดดิน ดินเพาะปลูกได้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของผิวดิน โดยร้อยละ 1.3 เป็นที่เพาะปลูกพืชผลถาวร ผิวดินของโลกเกือบร้อยละ 40 ใช้เพื่อเกษตรกรรม หรือคิดเป็นประมาณ 16.7 ล้านตารางกิโลเมตรสำหรับการเพาะปลูก และประมาณ 33.5 ล้านตารางกิโลเมตรสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ===อุทกภาค=== ความอุดมของน้ำบนผิวโลกเป็นลักษณะเอกลักษณ์ซึ่งแยก "ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน" ออกจากดาวเคราะห์อื่น ๆ ในระบบสุริยะ อุทกภาคของโลกประกอบด้วยมหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือประกอบด้วยผิวน้ำทั้งหมดในโลกได้แก่ ทะเลในแผ่นดิน ทะเลสาบ แม่น้ำ น้ำใต้ดินลึกลงไป 2,000 เมตร ตำแหน่งใต้น้ำที่ลึกที่สุดคือ แชลเลนเจอร์ดีปบริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีความลึกที่ 10,911.4 เมตร มหาสมุทรรวมมีมวลคิดเป็นประมาณ 1.35 เมตริกตัน หรือราว 1 ใน 4,400 ของมวลทั้งหมดของโลก มหาสมุทรปกคลุมเป็นพื้นที่ โดยมีความลึกเฉลี่ย เป็นผลให้มีปริมาตรโดยประมาณเท่ากับ หากพื้นผิวเปลือกโลกทั้งหมดมีความสูงเท่ากันคือกลมเสมอกันทั้งใบ โลกก็จะกลายเป็นมหาสมุทรทั้งหมดด้วยความลึกราว 2.7 ถึง 2.8 กิโลเมตร น้ำประมาณร้อยละ 97.5 เป็นน้ำเค็ม อีกร้อยละ 2.5 ที่เหลือเป็นน้ำจืด ส่วนใหญ่ของน้ำจืดหรือราวร้อยละ 68.7 อยู่ในรูปของน้ำแข็งในน้ำแข็งขั้วโลกและธารน้ำแข็งต่าง ๆ ค่าเฉลี่ยความเค็มของมหาสมุทรโลกอยู่ที่ประมาณ 35 กรัมเกลือต่อกิโลกรัมน้ำทะเล (มีเกลือร้อยละ 3.5) เกลือส่วนมากถูกขับออกจากกัมมันตภาพภูเขาไฟหรือชะออกมาจากหินอัคนีเย็น มหาสมุทรยังเป็นแหล่งสะสมของก๊าซในบรรยากาศที่ละลายได้ซึ่งมีความจำเป็นต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำจำนวนมาก น้ำทะเลถือว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อภูมิอากาศโลกโดยมหาสมุทรเป็นแหล่งสะสมความร้อนขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงการกระจายของอุณหภูมิมหาสมุทรสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศอย่างสำคัญได้ เช่น เอลนีโญ–ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ===บรรยากาศ=== ความกดอากาศบนพื้นผิวโลกมีค่าเฉลี่ยที่ 101.325 กิโลปาสกาล คิดเป็นอัตราความสูงประมาณ 8.5 กิโลเมตร มีองค์ประกอบเป็นธาตุไนโตรเจนร้อยละ 78 ธาตุออกซิเจนร้อยละ 21 รวมถึงไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซในรูปโมเลกุลชนิดอื่นปริมาณเล็กน้อย ความสูงของชั้นโทรโพสเฟียร์ผันแปรตามละติจูด มีพิสัยตั้งแต่ 8 กิโลเมตรที่บริเวณขั้วโลกไปจนถึง 17 กิโลเมตรที่เส้นศูนย์สูตร โดยมีความเบี่ยนเบนเล็กน้อยจากผลของสภาพอากาศและปัจจัยหลายประการตามฤดูกาล ชีวมณฑลของโลกส่งผลเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อบรรยากาศ การสังเคราะห์ด้วยแสงแบบสร้างออกซิเจนวิวัฒน์ขึ้นเมื่อราว 2.7 พันล้านปีก่อน ได้สร้างบรรยากาศที่มีไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นหลักดังเช่นในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนสามารถแพร่กระจายได้ และมีผลโดยอ้อมเกิดการก่อรูปของชั้นโอโซนเนื่องากการเปลี่ยน O2 ในบรรยากาศเป็น O3 ชั้นโอโซนกั้นการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถเกิดขึ้นบนโลกได้ บรรยากาศยังทำหน้าที่อื่นที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตได้แก่ การเคลื่อนย้ายไอน้ำ อำนวยก๊าซที่เป็นประโยชน์ ทำให้สะเก็ดดาวขนาดเล็กเผาไหม้ไปหมดก่อนที่จะกระทบพื้น และการปรับอุณหภูมิไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกิน ปรากฏการณ์สุดท้ายนี้เรียก ปรากฏการณ์เรือนกระจก โมเลกุลของก๊าซสัดส่วนเล็กน้อยภายในบรรยากาศทำหน้าที่กักเก็บพลังงานความร้อนที่แผ่ออกจากพื้นดินเป็นผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และโอโซน เป็นแก๊สเรือนกระจกหลักในบรรยากาศ หากปราศจากปรากฏการณ์กักเก็บความร้อนนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวจะเป็น −18 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิปัจจุบันที่ +15 องศาเซลเซียส และอาจไม่มีสิ่งมีชีวิตบนโลกในรูปลักษณ์ปัจจุบัน ====ลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ==== บรรยากาศของโลกไม่มีขอบเขตชัดเจนโดยจะค่อย ๆ บางลงและเลือนหายไปสู่อวกาศ สามในสี่ของมวลบรรยากาศอยู่ในระยะ 11 กิโลเมตรแรกเหนือพื้นผิว มีชั้นล่างสุดเรียกโทรโพสเฟียร์ พลังงานจากดวงอาทิตย์จะทำให้ชั้นนี้รวมถึงพื้นผิวเบื้องล่างร้อนขึ้น ส่งผลให้อากาศเกิดการขยายตัว อากาศความหนาแน่นต่ำจะลอยขึ้น อากาศความหนาแน่นสูงกว่าและเย็นกว่าจะเข้ามาแทนที่ เกิดเป็นการหมุนเวียนของบรรยากาศซึ่งขับเคลื่อนสภาพอากาศและภูมิอากาศผ่านการกระจายพลังงานความร้อน แถบการหมุนเวียนของบรรยากาศหลักประกอบด้วยลมค้าในบริเวณศูนย์สูตรที่ละติจูดต่ำกว่า 30° และลมตะวันตก (westerlie) ในแถบละติจูดกลางระหว่าง 30° และ 60° กระแสน้ำมหาสมุทรก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดภูมิอากาศ โดยเฉพาะการหมุนเวียนเทอร์โมเฮไลน์ (thermohaline) ซึ่งกระจายพลังงานความร้อนจากมหาสมุทรแถบศูนย์สูตรไปยังบริเวณขั้วโลก ไอน้ำที่ระเหยจากพื้นผิวถูกรูปแบบไหลเวียนในบรรยากาศเคลื่อนย้ายไป เมื่อภาวะของบรรยากาศทำให้อากาศร้อนชื้นยกตัวสูงขึ้น น้ำนี้จะควบแน่นและตกลงสู่พื้นผิวในรูปหยาดน้ำฟ้า น้ำส่วนใหญ่จะเคลื่อนย้ายไปยังที่ที่ต่ำกว่าผ่านระบบแม่น้ำและปกติกลับคืนสู่มหาสมุทรหรือไม่ก็สะสมอยู่ในทะเลสาบ วัฏจักรของน้ำนี้เป็นกลไกสำคัญที่ค้ำจุนสรรพชีวิตบนผืนแผ่นดิน และเป็นปัจจัยหลักในการกัดเซาะโครงสร้างภูมิประเทศตามสสมัยธรณีวิทยา รูปแบบของหยาดน้ำฟ้ามีความหลากหลายตั้งแต่ปริมาณน้ำหลายเมตรไปจนถึงเพียงไม่กี่มิลลิเมตรต่อปี ทั้งการหมุนเวียนของบรรยากาศ ภูมิลักษณ์ และความแตกต่างของอุณหภูมิล้วนกำหนดหยาดน้ำฟ้าเฉลี่ยที่ตกในแต่ละบริเวณ ปริมาณพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่มาถึงพื้นผิวโลกลดลงตามละติจูดที่สูงขึ้น ที่ละติจูดสูง ๆ แสงจากดวงอาทิตย์มาถึงพื้นผิวด้วยมุมที่ต่ำลง และต้องส่องผ่านแนวหนาแน่นของบรรยากาศ เป็นผลให้อุณหภูมิของอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ระดับน้ำทะเลลดลงราว 0.4 องศาเซลเซียสทุก ๆ หนึ่งองศาของละติจูดที่ออกห่างจากเส้นศูนย์สูตร พื้นผิวโลกสามารถแบ่งย่อยได้เป็นแถบละติจูดจำเพาะที่มีภูมิอากาศเช่นเดียวกันโดยประมาณ อาณาเขตตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรไปจนถึงบริเวณขั้วโลกจำแนกออกเป็นภูมิอากาศเขตร้อนหรือเขตศูนย์สูตร เขตใกล้เขตร้อน เขตอบอุ่น และเขตขั้วโลก กฎละติจูดนี้มีความผิดปกติหลายอย่าง การอยู่ใกล้มหาสมุทรจะทำให้ภูมิอากาศไม่รุนแรง ตัวอย่างเช่น คาบสมุทรสแกนดิเนเวียมีภูมิอากาศไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับทางเหนือของประเทศแคนาดาที่ละติจูดเหนือคล้ายกัน ลมยังช่วยบรรเทาผลนี้ แผ่นดินฝั่งปะทะลมมีภูมิอากาศไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับฝั่งอับลม ในซีกโลกเหนือ ลมแน่ทิศมีทิศทางตะวันตกไปตะวันออก และชายฝั่งตะวันตกมักมีภูมิอากาศไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับชายฝั่งตะวันออก ซึ่งสังเกตได้ในทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันออกและยุโรปตะวันตก ซึ่งภูมิอากาศแบบทวีปที่รุนแรงปรากฏในชายฝั่งตะวันออกเทียบกับภูมิอากาศไม่รุนแรงที่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร ในซีกโลกใต้ ลมแน่ทิศพัดจากทิศตะวันออกไปตะวันตก และชายฝั่งตะวันออกมีภูมิอากาศไม่รุนแรง ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์มีความแปรผัน โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในเดือนมกราคมซึ่งตรงกับฤดูร้อนในซีกโลกใต้ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในเดือนกรกฎาคมซึ่งตรงกับฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ และรังสีจากดวงอาทิตย์ตกสู่พื้นที่หนึ่ง ๆ ประมาณร้อยละ 93.55 เมื่อเทียบกับจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด แต่ซีกโลกเหนือมีแผ่นดินมากกว่าจึงได้รับความร้อนง่ายกว่าทะเล ผลทำให้ฤดูร้อนในซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิสูงกว่าซีกโลกใต้ในภาวะคล้ายกัน 2.3 องศาเซลเซียส ภูมิอากาศในที่สูงเย็นกว่าระดับน้ำทะเลเนื่องจากความหนาแน่นของอากาศเบาบางกว่า ระบบการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิปเปนที่ใช้บ่อยมีห้ากลุ่มใหญ่ (ร้อยชื้น แห้งแล้ง ชื้นละติจูดกลาง ทวีป และหนาวขั้วโลก) ซึ่งแบ่งเป็นภูมิอากาศย่อยที่จำเพาะมากขึ้นได้อีกหลายแบบ ระบบเคิปเปนจัดภูมิอากาศเขตต่าง ๆ ตามอุณหภูมิและหยาดน้ำฟ้าที่สังเกต ====บรรยากาศเบื้องบน==== เหนือชั้นโทรโพสเฟียร์ขึ้นไป บรรยากาศแบ่งโดยทั่วไปได้เป็นชั้นสตราโทสเฟียร์ มีโซสเฟียร์ และเทอร์โมสเฟียร์ แต่ละชั้นมีอัตราการเหลื่อมซ้อนไม่เท่ากันซึ่งกำหนดจากอัตราการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตามระดับความสูง พ้นจากชั้นเหล่านี้ขึ้นไปเรียกว่าเอกโซสเฟียร์ ซึ่งบางลงเรื่อย ๆ ไปจนถึงแม็กนีโตสเฟียร์ซึ่งเป็นบริเวณที่สนามธรณีแม่เหล็กกระทบกันกับลมสุริยะ ภายในชั้นสตราโทสเฟียร์มีชั้นโอโซนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีส่วนช่วยป้องกันพื้นผิวโลกจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตอันมีความสำคัญยิ่งต่อสรรพชีวิตบนโลก มีการกำหนดเส้นคาร์มานที่ระดับ 100 กิโลเมตรเหนือผิวโลกเป็นบทนิยามในทางปฏิบัติที่แบ่งขอบเขตระหว่างบรรยากาศและอวกาศ พลังงานความร้อนทำให้โมเลกุลบางส่วนที่ขอบนอกของบรรยากาศมีความเร็วเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่สามารถหลุดพ้นออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการเสียบรรยากาศออกสู่อวกาศอย่างช้า ๆ แต่สม่ำเสมอ เพราะไฮโดรเจนที่ไม่ได้ถูกยึดเหนี่ยวมีมวลโมเลกุลต่ำจึงสามารถขึ้นถึงความเร็วหลุดพ้นได้ง่ายกว่าและรั่วไหลออกสู่อวกาศภายนอกในอัตราที่สูงกว่าแก๊สอื่น การรั่วของไฮโดรเจนสู่อวกาศได้ช่วยสนับสนุนให้บรรยากาศโลกตลอดจนพื้นผิวเกิดการเปลี่ยนผันจากภาวะรีดิวซ์ในช่วงต้นมาเป็นภาวะออกซิไดซ์อย่างเช่นในปัจจุบัน การสังเคราะห์ด้วยแสงเป็นแหล่งช่วยป้อนออกซิเจนอิสระ แต่ด้วยการเสียไปซึ่งสารรีดิวซ์ดังเช่นไฮโดรเจนนี้เองจึงเชื่อกันว่าเป็นภาวะเริ่มต้นที่จำเป็นต่อการเพิ่มพูนขึ้นของออกซิเจนอย่างกว้างขวางในบรรยากาศ การที่ไฮโดรเจนสามารถหนีออกไปจากบรรยากาศได้จึงอาจส่งอิทธิพลต่อธรรมชาติของชึวิตที่พัฒนาขึ้นบนโลก ในบรรยากาศที่มีออกซิเจนเป็นจำนวนมากในปัจจุบันนั้น ไฮโดรเจนส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นน้ำก่อนมีโอกาสหนีออกไป แต่การเสียไฮโดรเจนส่วนใหญ่นั้นมาจากการสลายของมีเทนในบรรยากาศชั้นบน === สนามความโน้มถ่วง === ความโน้มถ่วงของโลกเป็นความเร่งที่ถ่ายทอดแก่วัตถุเนื่องจากการกระจายของมวลในโลก ความเร่งความโน้มถ่วงใกล้ผิวโลกมีค่าประมาณ 9.8 เมตรต่อวินาที2 ความแตกต่างท้องถิ่นของภูมิลักษณ์ ธรณีวิทยาและโครงสร้างแปรสัณฐานที่อยู่ลึกลงไปทำให้เกิดความแตกต่างท้องถิ่นและภูมิภาคเป็นวงกว้างในสนามความโน้มถ่วงของโลก เรียก ค่าผิดปกติของความโน้มถ่วง ===สนามแม่เหล็ก=== ส่วนหลักของสนามแม่เหล็กโลกสร้างขึ้นในแก่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระบวนการไดนาโมอันเปลี่ยนพลังจลน์ของการเคลื่อนพาของไหลไปเป็นพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสนามแม่เหล็ก ตัวสนามแผ่ออกจากบริเวณแก่นผ่านชั้นเนื้อโลกและขึ้นสู่ผิวโลกอันเป็นตำแหน่งที่ประมาณได้อย่างหยาบ ๆ เป็นแม่เหล็กขั้วคู่ ขั้วของแม่เหล็กขั้วคู่มีตำแหน่งใกล้เคียงกับขั้วโลกภูมิศาสตร์ ที่เส้นศูนย์สูตรของสนามแม่เหล็กมีความเข้มสนามแม่เหล็กที่พื้นผิวเท่ากับ และมีโมเมนต์ขั้วคู่แม่เหล็กโลกที่ การเคลื่อนที่พาในแก่นนั้นมีความยุ่งเหยิงทำให้ขั้วแม่เหล็กมีการเขยื้อนและเปลี่ยนแปลงแนวการวางตัวเป็นระยะ ๆ เป็นสาเหตุของการกลับขั้วสนามแม่เหล็กตามช่วงเวลาอย่างไม่สม่ำเสมอเฉลี่ยไม่กี่ครั้งในทุก ๆ ล้านปี โดยการกลับขั้วครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อราว ====แม็กนีโตสเฟียร์==== ขอบเขตของสนามแม่เหล็กโลกในอวกาศกำหนดขอบเขตของแม็กนีโตสเฟียร์ (magnetosphere) ไอออนและอิเล็กตรอนจากลมสุริยะถูกแม็กนีโตสเฟียร์เบี่ยงเบน ความดันจากลมสุริยะบีบฝั่งกลางวันของแม็กนีโตสเฟียร์ไปประมาณ 10 รัศมีโลก และทำให้ด้านกลางคืนของแม็กนีโตสเฟียร์ยืดขยายออกเป็นหางยาว ด้วยเหตุที่ความเร็วของลมสุริยะสูงกว่าความเร็วของคลื่นที่แผ่ออกจากลมสุริยะมาก จึงเกิดโบว์ช็อค (bowshock) เหนือเสียงในส่วนหน้าด้านกลางวันของแม็กนีโตสเฟียร์ภายในลมสุริยะ อนุภาคมีประจุถูกกักเก็บอยู่ในแม็กนีโตสเฟียร์ พลาสมาสเฟียร์ (plasmasphere) กำหนดเป็นอนุภาคหลังงานต่ำที่ตามเส้นสนามแม่เหล็กเมื่อโลกหมุน กระแสวง (ring current) กำหนดโดยอนุภาคพลังงานปานกลางซึ่งเคลื่อนไปสัมพัทธ์กับสนามธรณีแม่เหล็กแต่ยังมีเส้นทางที่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสนามแม่เหล็กเป็นหลัก และแถบเข็มขัดรังสีแวนอัลเลนซึ่งเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงที่เคลื่อนที่อย่างสุ่มเสียมากแต่ยังอยู่ภายในแม็กนีโตสเฟียร์ ระหว่างการเกิดพายุแม่เหล็ก อนุภาคมีประจุสามารถเบี่ยงทิศทางจากแม็กนีโตสเฟียร์ส่วนนอกเข้ามาในชั้นไอโอโนสเฟียร์ของโลกได้โดยตรงตามแนวเส้นสนาม ซึ่งในบริเวณนี้อะตอมที่อยู่ในบรรยากาศสามารถถูกกระตุ้นและกลายเป็นประจุอันเป็นสาเหตุของการเกิดออโรรา ==วงโคจรและการหมุนรอบตัวเอง== ===การหมุน=== คาบการหมุนรอบตัวเองของโลกสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์หรือวันสุริยคตินั้นเท่ากับ ของเวลาสุริยคติกลาง (เอสไอ) เพราะวันสุริยะของโลกในปัจจุบันยาวกว่าวันในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เล็กน้อยอันเนื่องมาจากผลความเร่งน้ำขึ้นลง ในแต่ละวันจึงยาวขึ้นผันแปรไประหว่าง 0 ถึง 2 มิลลิวินาที เอสไอ คาบการหมุนรอบตัวเองของโลกสัมพัทธ์กับดาวฤกษ์ไม่เคลื่อนที่เรียกว่าวันดาราคติ โดยหน่วยงานการหมุนของโลกและระบบอ้างอิงสากล (IERS: International Earth Rotation and Reference Systems Service) คือ จากเวลาสุริยคติกลาง (ยูที (เวลาสากล) 1) หรือ คาบการหมุนรอบตัวเองของโลกสัมพัทธ์กับการหมุนควงหรือการเคลื่อนที่เฉลี่ยของจุดวสันตวิษุวัตมักเรียกว่า วันดาวฤกษ์ คือ จากเวลาสุริยคติกลาง (ยูที1) หรือ ณ ปี ค.ศ. 1982 ดังนั้นเองวันดาวฤกษ์จึงสั้นกว่าวันดาราคติประมาณ 8.4 มิลลิวินาที ความยาวของเวลาสุริยคติกลางในหน่วยวินาทีเอสไอสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้จากหน่วยงานไออีอาร์เอสสำหรับช่วงเวลาจากปี ค.ศ. 1623–2005 และปี ค.ศ. 1962–2005 ต่างจากดาวตกในบรรยากาศและดาวเทียมวงโคจรต่ำต่าง ๆ เทหฟ้าโดยมากมีการเคลื่อนที่ปรากฏไปทางด้านตะวันตกของท้องฟ้าของโลกในอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง หรือ 15 ลิปดาต่อนาที สำหรับวัตถุที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรฟ้าจะเคลื่อนไปเทียบเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางปรากฏของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ในทุก ๆ สองนาที เมื่อมองจากพื้นโลกขนาดปรากฏโดยประมาณของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นถือว่าเท่ากัน ===วงโคจร=== โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 150 ล้านกิโลเมตรในทุก ๆ หรือหนึ่งปีดาวฤกษ์ ส่งผลให้การเคลื่อนที่ปรากฏของดวงอาทิตย์คล้อยไปทางตะวันออกเทียบกับดาวฤกษ์ฉากหลังในอัตราราวหนึ่งองศาต่อวัน หรือเทียบเท่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ในทุก ๆ 12 ชั่วโมง การเคลื่อนไปเช่นนี้ใช้เวลาเฉลี่ยราว 24 ชั่วโมงหรือหนึ่งวันสุริยะสำหรับการหมุนรอบตัวเองตามแกนครบหนึ่งรอบของโลกซึ่งดวงอาทิตย์กลับสู่เมอริเดียนอีกครั้ง ความเร็วของโลกในวงโคจรโดยเฉลี่ยประมาณ ซึ่งเร็วมากพอที่จะเคลื่อนผ่านระยะทางเท่ากันกับเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกที่ประมาณ ในเจ็ดนาที และผ่านระยะทางถึงดวงจันทร์ที่ประมาณ ในเวลาราว 3.5 ชั่วโมง โลกและดวงจันทร์โคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลร่วมในทุก ๆ 27.32 วัน สัมพัทธ์กับดาวฤกษ์พื้นหลัง เมื่อประกอบกันเข้ากับวงโคจรร่วมโลก–ดวงจันทร์รอบดวงอาทิตย์แล้ว เกิดเป็นคาบของเดือนจันทรคตินับจากอมาวสีหนึ่งไปอีกอมาวสีหนึ่งราว 29.53 วัน เมื่อมองจากขั้วฟ้าเหนือ การเคลื่อนที่ของโลก ดวงจันทร์ และการหมุนรอบแกนดาวของทั้งคู่ล้วนเป็นไปในทิศทวนเข็มนาฬิกา เมื่อมองจากจุดสูงเหนือขั้วเหนือของทั้งดวงอาทิตย์และโลก วงโคจรของโลกจะมีทิศทางทวนเข็มนาฬิการอบดวงอาทิตย์ วงโคจรและระนาบแกนไม่ได้วางตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยแกนหมุนของโลกมีการเอียงประมาณ 23.4 องศาจากแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (หรือสุริยวิถี) และระนาบโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเอียง ±5.1 องศาเทียบกับระนาบโลก–ดวงอาทิตย์ หากปราศจากการเอียงเช่นนี้ จะเกิดอุปราคาทุกสองสัปดาห์สลับกันระหว่างจันทรุปราคาและสุริยุปราคา ทรงกลมฮิลล์หรือทรงกลมอิทธิพลโน้มถ่วงของโลกมีรัศมีประมาณ 1.5×106 กิโลเมตร เป็นระยะทางสูงสุดที่แรงโน้มถ่วงของโลกมีอิทธิพลเหนือกว่าดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อื่นที่อยู่ห่างออกไป วัตถุใด ๆ ในรัศมีนี้จะโคจรรอบโลก หรือไม่ก็หลุดลอยออกไปโดยการรบกวนเชิงโน้มถ่วงจากดวงอาทิตย์ โลกรวมทั้งระบบสุริยะทั้งหมดนั้นตั้งอยู่ในดาราจักรทางช้างเผือก และโคจรด้วยระยะห่างประมาณ 28,000 ปีแสงจากศูนย์กลางดาราจักร อยู่ในแขนเกลียวนายพรานเหนือกว่าระนาบดาราจักรประมาณ 20 ปีแสง ===การเอียงของแกนโลกและฤดูกาล=== แกนโลกเอียงประมาณ 23.439281° เทียบกับแกนของระนาบโคจร โดยจะชี้ไปขั้วฟ้าเสมอ เนื่องจากความเอียงของแกนโลก ปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบจุดใด ๆ บนพื้นผิวจึงผันแปรไปตามแต่ละช่วงของปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนฤดูกาลในแต่ละภูมิอากาศโดยฤดูร้อนในซีกโลกเหนือจะเกิดขึ้นเมื่อทรอปิกออฟแคนเซอร์หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่วนฤดูหนาวเกิดเมื่อทรอปิกออฟแคปริคอนในซีกโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ในระหว่างฤดูร้อน กลางวันจะยาวกว่าและดวงอาทิตย์จะมีตำแหน่งสูงขึ้นบนท้องฟ้า ส่วนในฤดูหนาว ภูมิอากาศจะเย็นลงและกลางวันจะสั้นลง ในละติจูดเขตอบอุ่นทางเหนือดวงอาทิตย์จะขึ้นเหนือกว่าทิศตะวันออกจริงระหว่างครีษมายันและลับฟ้าเหนือกว่าทิศตะวันตกจริง (กลับกันในฤดูหนาว) ในช่วงฤดูร้อนของเขตอบอุ่นในซีกโลกใต้ดวงอาทิตย์จะขึ้นใต้กว่าทิศตะวันออกจริงและลับฟ้าไปใต้กว่าทิศตะวันตกจริง เหนืออาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไปจะมีกรณีสุดขั้วหนึ่งโดยที่ตลอดช่วงหนึ่งของปีจะไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงเลย ซึ่งนานสุดหกเดือนเต็ม ณ ขั้วโลกเหนือพอดี เรียกว่ากลางคืนขั้วโลก ส่วนในซีกโลกใต้สถานการณ์จะกลับตรงกันข้ามโดยการที่ขั้วโลกใต้วางตัวในแนวตรงข้ามกับขั้วโลกเหนือ อีกหกเดือนให้หลัง ขั้วโลกเหนือจะเกิดอาทิตย์เที่ยงคืน คือเป็นกลางวันตลอด 24 ชั่วโมง กลับกับขั้วโลกใต้ โดยข้อตกลงทางดาราศาสตร์ ฤดูกาลทั้งสี่นั้นกำหนดโดยอายันซึ่งเป็นจุดในวงโคจรที่แกนโลกเอียงเข้าหาหรือออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด และวิษุวัตซึ่งเป็นจุดที่ทิศทางการเอียงของแกนกับทิศทางสู่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกัน สำหรับซีกโลกเหนือเหมายันจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 21 ธันวาคม ครีษมายันเกิดขึ้นใกล้กับวันที่ 21 มิถุนายน วสันตวิษุวัตเกิดขึ้นราววันที่ 20 มีนาคม และศารทวิษุวัตจะประมาณวันที่ 23 กันยายน สำหรับซีกโลกใต้สถานการณ์จะกลับกันโดยวันที่เกิดครีษมายันกับเหมายันและวสันตวิษุวัตกับศารทวิษุวัตจะสลับกัน มุมการเอียงของแกนโลกถือว่าค่อนข้างเสถียรมาช้านาน ความเอียงของแกนยังมีการส่ายซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ขึ้นลงเล็กน้อยอย่างไม่สม่ำเสมอโดยมีคาบหลักราว 18.6 ปี ทิศทางการวางตัวของแกนโลก (นอกเหนือจากมุมเอียงแล้ว) ยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในลักษณะการหมุนควงโดยครบรอบวัฏจักรในทุก ๆ เวลาประมาณ ลักษณะการหมุนควงนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ปีดาวฤกษ์กับปีฤดูกาลแตกต่างกัน การเคลื่อนที่ทั้งสองรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นโดยความดึงดูดที่ผันแปรไปของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กระทำต่อส่วนโป่งบริเวณศูนย์สูตรของโลก ขั้วโลกทั้งคู่ยังมีการเคลื่อนตำแหน่งได้หลายเมตรไปมาตามพื้นผิวโลก การเคลื่อนของขั้วนี้ประกอบกันขึ้นจากวัฏจักรที่หลากหลายซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่าการเคลื่อนกึ่งคาบ ตัวอย่างการเคลื่อนลักษณะนี้ซึ่งเกิดเป็นประจำด้วยวัฏจักรประมาณ 14 เดือนก็คือการส่ายแชนด์เลอร์ (Chandler wobble) อัตราเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกยังผันแปรไปตามปรากฏการณ์ต่าง ๆ รู้จักกันในชื่อการผันแปรความยาวของวัน ในสมัยปัจจุบัน จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของโลกเกิดขึ้นประมาณวันที่ 3 มกราคม และจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดเกิดขึ้นประมาณวันที่ 4 กรกฎาคม สองวันนี้เปลี่ยนแปลงตลอดอันเนื่องมาจากการเคลื่อนถอยของวิษุวัตและปัจจัยของวงโคจรอย่างอื่น ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนเป็นรอบ ๆ เรียก วัฏจักรมิลานโควิตช์ การเปลี่ยนแปลงระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ทำให้พลังงานจากดวงอาทิตย์มาถึงโลกเพิ่มขึ้น ณ จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเทียบกับจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณร้อยละ 6.9 เพราะซีกโลกใต้มีการเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ในเวลาใกล้เคียงกันกับตำแหน่งที่โลกเดินทางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซีกโลกใต้จึงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากกว่าที่ซีกโลกเหนือได้รับเล็กน้อยตลอดช่วงเวลาของปี ผลที่เป็นอยู่นี้มีนัยสำคัญน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงพลังงานอันเนื่องมาจากความเอียงของแกนอยู่มาก และส่วนใหญ่ของพลังงานส่วนเกินที่ได้รับมาจะถูกดูดซับไปโดยน้ำอันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของซีกโลกใต้ == ถิ่นที่อยู่อาศัยได้ == ดาวเคราะห์ที่สามารถค้ำจุนต่อสิ่งมีชีวิตได้ เรียกว่า ดาวเคราะห์อยู่อาศัยได้ โดยไม่จำเป็นว่าสิ่งมีชีวิตจะต้องกำเนิดจากดาวเคราะห์นั้น โลกมีน้ำในรูปของเหลว ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่โมเลกุลสารอินทรีย์ซับซ้อนสามารถรวมตัวกันหรือมีอันตรกิริยาต่อกันได้ และมีพลังงานเพียงพอค้ำจุนเมแทบอลิซึม ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ตลอดจนความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจร อัตราการหมุนรอบตัวเอง ความเอียงของแกนดาว ประวัติศาสตร์ธรณีวิทยา การมีชั้นบรรยากาศคอยค้ำจุน และมีสนามแม่เหล็ก ทั้งหมดล้วนเกื้อหนุนให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่พื้นผิวดังเช่นในปัจจุบัน ===ชีวมณฑล=== บ้างมีการกล่าวถึงรูปแบบสิ่งชีวิตต่าง ๆ บนดาวเคราะห์ว่าประกอบขึ้นเป็น "ชีวมณฑล" เชื่อกันทั่วไปว่าชีวมณฑลของโลกเริ่มวิวัฒน์ขึ้นเมื่อประมาณ 3.5 พันล้านปีก่อน จำแนกได้เป็นชีวนิเวศต่าง ๆ กัน ที่มีพืชและสัตว์ต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันกว้าง ๆ อยู่อาศัย ชีวนิเวศบนดินแบ่งตามหลักใหญ่ได้ตามละติจูด ความสูงจากระดับน้ำทะเล และระดับความชื้นต่าง ๆ ส่วนชีวนิเวศบกที่อยู่ในบริเวณอาร์กติกหรือแอนตาร์กติกเซอร์เคิล, ที่ที่มีระดับความสูงมาก หรือในพื้นที่แล้งสุดขั้ว มีพืชและสัตว์เพียงเล็กน้อย ความหลากหลายของสปีชีส์จะสูงสุดในพื้นที่ลุ่มชื้นบริเวณละติจูดศูนย์สูตร ===ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้พื้นที่=== โลกมีทรัพยากรหลากหลายซึ่งมนุษย์แสวงหาประโยชน์ ทรัพยากรที่เรียก ทรัพยากรไม่หมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ จะมีทดแทนตามเวลาทางธรณีวิทยาเท่านั้น เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ปริมาณมากที่ถูกกักเก็บสามารถขุดเจาะได้จากเปลือกโลก ประกอบด้วยถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ มนุษย์ใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ทั้งเพื่อการผลิดพลังงานและเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี เนื้อสินแร่จำนวนมากยังก่อตัวขึ้นภายในเปลือกโลกผ่านกระบวนการกำเนิดแร่ อันเป็นผลจากการปะทุของหินหลอมเหลว การกัดเซาะ และการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค วัตถุเหล่านี้เป็นแหล่งเนื้อแร่ของโลหะหลายชนิดตลอดจนธาตุมีประโยชน์อื่น ชีวภาคของโลกก่อกำเนิดผลิตภัณฑ์ชีวภาพหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ประกอบด้วยอาหาร ไม้ ยารักษาโรค ออกซิเจน และช่วยรีไซเคิลของเสียอินทรีย์จำนวนมาก ระบบนิเวศบนบกต้องอาศัยหน้าดินและน้ำจืด ในขณะที่ระบบนิเวศมหาสมุทรต้องอาศัยสารอาหารที่ละลายในน้ำซึ่งถูกชะมาจากแผ่นดิน ในปี 1980 พื้นดินของโลก (50.53 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่ป่าและต้นไม้ (67.88 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นทุ่งหญ้าและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และ (15.01 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูก จำนวนพื้นที่ชลประทานโดยประมาณในปี 1993 อยู่ที่ มนุษย์ยังดำรงชีวิตบนพื้นดินโดยใช้วัสดุก่อสร้างขนิดต่าง ๆ ก่อสร้างที่พักอยู่อาศัย ===อันตรายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม=== พื้นที่บริเวณกว้างบนพื้นผิวโลกเผชิญสภาพอากาศร้ายแรง เช่น พายุหมุนเขตร้อน เฮอริเคน หรือไต้ฝุ่นซึ่งครอบงำสิ่งมีชีวิตในพื้นที่เหล่านั้น ระหว่างปี 1980 ถึง 2000 ภัยธรรมชาติดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 11,800 รายต่อปี ในหลายที่ยังต้องประสบกับแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด ทอร์นาโด หลุมยุบ พายุหิมะ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และหายนะภัยหรือพิบัติภัยอื่น ๆ พื้นที่ท้องถิ่นหลายแห่งยังได้รับผลกระทบจากมลพิษทั้งทางน้ำและอากาศอันมีสาเหตุจากมนุษย์ ฝนกรดและสารพิษนานาชนิด การเสียพื้นที่สีเขียว (การทำปศุสัตว์มากเกินไป การทำลายป่า การเกิดทะเลทราย) การสูญเสียสัตว์ป่า การสูญพันธุ์ของสปีชีส์ ดินเสื่อมคุณภาพ ดินถูกทำลายและการกัดเซาะ มีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกิจกรรมของมนุษย์กับปรากฏการณ์โลกร้อนอันเนื่องมาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การคาดคะเนความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การละลายของธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็ง พิสัยอุณหภูมิที่รุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของลมฟ้าอากาศและการเพิ่มของระดับน้ำทะเลปานกลางทั่วโลก ===ภูมิศาสตร์มนุษย์=== วิชาการเขียนแผนที่ซึ่งทำการศึกษาและสร้างแผนที่ในเชิงปฏิบัติ วิชาภูมิศาสตร์ซึ่งทำการศึกษาพื้นที่ ภูมิประเทศ ผู้อยู่อาศัย และปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนโลก ล้วนมีประวัติศาสตร์อันแข็งขันที่อุทิศแก่การพรรณนาโลก วิศวกรรมสำรวจซึ่งทำการกำหนดที่ตั้งและระยะทาง ตลอดจนขอบเขตอีกบางส่วนจากการเดินเรืออันต้องกำหนดตำแหน่งและทิศทาง ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นร่วมไปกับวิชาการเขียนแผนที่และภูมิศาสตร์ ทั้งหมดนั้นได้อำนวยและให้ปริมาณข้อสนเทศที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสม จำนวนประชากรมนุษย์บนโลกได้เพิ่มขึ้นถึงเจ็ดพันล้านคนโดยประมาณในวันที่ 31 ตุลาคม 2011 ผลการคาดคะเนชี้ว่าประชากรมนุษย์บนโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9.2 พันล้านคนในปี 2050 จำนวนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่นั้นคาดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์ผันแปรมากทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่อาศัยในทวีปเอเชีย เมื่อถึงปี 2020 คาดว่าราวร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะอยู่อาศัยในเมืองมากกว่าในพื้นที่แถบชนบท ประมาณกันว่าพื้นที่หนึ่งในแปดของผิวโลกเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ โดยที่พื้นที่ราวสามในสี่ของผิวโลกถปกคลุมด้วยมหาสมุทร มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่เป็นแผ่นดินกว่าครึ่งของแผ่นดินเป็นพื้นที่แห้งแล้ง (ร้อยละ 14) ภูเขาสูง (ร้อยละ 27) หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ นิคมถาวรเหนือสุดของโลก คือ เมืองอเลิร์ท บนเกาะเอลสเมียร์ ในนูนาวุต ประเทศแคนาดา (82°28′เหนือ) ส่วนตำแหน่งใต้สุดคือ สถานีขั้วโลกใต้อมุนด์เซน–สก็อตในทวีปแอนตาร์กติกา โดยมีที่ตั้งเกือบตำแหน่งเดียวกันกับขั้วโลกใต้ (90°ใต้) รัฐเอกราชอ้างสิทธิ์เหนือพื้นผิวดินทั้งหมดของโลกยกเว้นเพียงบางส่วนของทวีปแอนตาร์กติกา แปลงที่ดินเล็ก ๆ ตามฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดานูบ และพื้นที่ไม่มีการอ้างสิทธิ์บริเวณบีทาวิลซึ่งอยู่ระหว่างประเทศอียิปต์และซูดาน ในปี 2015 โลกมีรัฐสมาชิกสหประชาชาติ 193 รัฐ บวกรัฐผู้สังเกตการณ์ 2 รัฐ และดินแดนในภาวะพึ่งพิงและรัฐที่ได้รับการรับรองจำกัด 72 ดินแดนและรัฐ ในประวัติศาสตร์โลกยังไม่เคยมีรัฐบาลเอกราชใดมีอำนาจเหนือโลกทั้งใบ บางรัฐชาติจำนวนหนึ่งที่เคยพยายามครองโลกแต่ล้มเหลว สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างรัฐบาลทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าแทรกแซงกรณีพิพาทระหว่างชาติรัฐต่าง ๆ จึงหลีกเลี่ยงการขัดกันด้วยอาวุธ สหประชาชาติใช้เป็นที่สำหรับการทูตระหว่างประเทศตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก ต่อเมื่อมีฉันทามติจากชาติสมาชิกอนุญาตแล้วจึงมีกลไกเข้าแทรกแซงด้วยกำลังได้ มนุษย์คนแรกที่ได้โคจรรอบโลกคือ ยูริ กาการิน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961 หากนับรวมทั้งหมดจนถึง 30 กรกฎาคม 2010 มีมนุษย์ทั้งสิ้นราว 487 คนเคยเยือนอวกาศและในจำนวนนี้ สิบสองคนเคยเดินบนดวงจันทร์ ปกติมนุษย์ในอวกาศมีเฉพาะที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเท่านั้น ลูกเรือของสถานีมีจำนวนทั้งสิ้นหกคนซึ่งจะมีการผลัดเปลี่ยนการปฏิบัติภารกิจทุกหกเดือน ระยะทางที่ไกลที่สุดที่มนุษย์เคยเดินทางออกไปจากโลกคือ โดยเกิดขึ้นในระหว่างภารกิจ อะพอลโล 13 ในปี 1970 ==ดวงจันทร์== ดวงจันทร์เป็นดาวบริวารขนาดค่อนข้างใหญ่ มีพื้นผิวแข็ง คล้ายดาวเคราะห์โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณหนึ่งในสี่ของโลก เป็นดาวบริวารขนาดใหญ่สุดในระบบสุริยะเมื่อเทียบสัดส่วนกับดาวเคราะห์ แม้ว่าแครอนมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบสัดส่วนกับดาวเคราะห์แคระพลูโต ดาวบริวารที่โคจรรอบดาวเคราะห์อื่น ๆ ก็เรียก "ดวงจันทร์" ตามดวงจันทร์ของโลก การดึงเชิงโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงจันทร์ก่อให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงบนโลก ผลเช่นเดียวกันที่เกิดกับดวงจันทร์นำไปสู่ภาวะการตรึงด้วยแรงไทด์ (tidal locking) ทำให้ระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์เท่ากันกับเวลาที่ใช้โคจรรอบโลก ผลคือดวงจันทร์จะหันด้านเดียวเข้าหาโลกเสมอ ในขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกแต่ละรอบ พื้นผิวส่วนต่าง ๆ ของหน้าที่หันสู่โลกจะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ นำไปสู่ปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม ส่วนหน้ามืดแยกออกจากส่วนสว่างโดยเขตสนธยาสุริยะ (solar terminator) จากอันตรกิริยาน้ำขึ้นน้ำลง ดวงจันทร์จึงถอยห่างออกไปจากโลกในอัตราประมาณ 38 มิลลิเมตรต่อปี อีกหลายล้านปีข้างหน้าการเคลื่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ รวมถึงวันของโลกที่ยาวขึ้นประมาณ 23 ไมโครวินาทีทุกปี จะทวีขึ้นจนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในระหว่างยุคดีโวเนียนเมื่อประมาณ หนึ่งปีโลกมี 400 วัน โดยวันหนึ่งมีเวลา 21.8 ชั่วโมง ดวงจันทร์อาจมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยการช่วยบรรเทาภูมิอากาศของโลกไม่ให้รุนแรงเกินไป หลักฐานบรรพชีวินวิทยาและแบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่าความเอียงของแกนโลกมีเสถียรภาพอยู่ได้โดยอันตรกิริยาขึ้นลงกับดวงจันทร์ นักทฤษฎีบางส่วนเชื่อว่าหากปราศจากเสถียรภาพนี้เมื่อต้องเผชิญกับแรงบิดที่ส่งมาจากจากดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่กระทำต่อส่วนโป่งบริเวณศูนย์สูตรของโลกแล้ว แกนหมุนของโลกอาจไร้เสถียรภาพถึงขั้นโกลาหล โดยจะแสดงการเปลี่ยนแปลงอย่างสับสนอลหม่านในทุก ๆ หลายล้านปีดังในกรณีของดาวอังคาร เมื่อมองจากโลก ดวงจันทร์อยู่ห่างออกไปพอให้ขนาดปรากฏของดวงจันทร์เกือบเท่ากับขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์ ขนาดเชิงมุม (หรือมุมตัน) ของวัตถุทั้งสองเสมอกันเพราะเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์แม้จะมากกว่าของดวงจันทร์ร่วม 400 เท่า แต่ระยะทางมาถึงโลกก็ไกลกว่า 400 เท่าด้วยเช่นกัน สภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุให้สุริยุปราคาทั้งแบบเต็มดวงและแบบวงแหวนปรากฏบนโลกได้ ทฤษฎีการกำเนิดดวงจันทร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือสมมติฐานการชนใหญ่ โดยกล่าวว่าดวงจันทร์เกิดขึ้นจากที่ดาวเคราะห์ยุคแรกขนาดเท่าดาวอังคารชื่อ เธีย พุ่งชนโลกระยะแรก สมมติฐานนี้อธิบายเกี่ยวกับปริมาณเหล็กและธาตุระเหยง่ายที่ไม่ค่อยพบบนดวงจันทร์ ตลอดจนข้อเท็จจริงที่องค์ประกอบของดวงจันทร์แทบเหมือนกับองค์ประกอบของเปลือกโลก ==ดาวเคราะห์น้อยและดาวเทียม== โลกมีดาวเคราะห์น้อยร่วมวงโคจรอย่างน้อยห้าดวงด้วยกัน อาทิเช่น 3753 ครูอิทเนและ ดาวเคราะห์น้อยโทรจันร่วมทางได้แก่ ซึ่งเคลื่อนไปตามเส้นทางล้ำหน้าโลก ณ ตำแหน่งจุดสามเหลี่ยมลากร็องจ์ (Lagrange triangular point) หรือแอล4 ในวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกขนาดเล็ก เข้าเฉียดระบบโลก–ดวงจันทร์ประมาณทุก 20 ปี ระหว่างการเฉียดแต่ละครั้ง สามารถโคจรรอบโลกได้ช่วงสั้น ๆ จนถึงเดือนมิถุนายน 2016 มีดาวเทียมในระหว่างปฏิบัติการ 1,419 ดวงโคจรรอบโลก ยังมีดาวเทียมที่ยุติการใช้งานแล้วและขยะอวกาศที่มีการติดตามอีก 17,729 ชิ้น ดาวเทียมใหญ่สุดของโลกคือสถานีอวกาศนานาชาติ ==มุมมองด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม== สัญลักษณ์ทางดาราศาสตร์มาตรฐานของโลกประกอบด้วยกากบาทที่มีวงกลมล้อมรอบอยู่ เป็นตัวแทนของสี่มุมโลก วัฒนธรรมมนุษย์พัฒนามุมมองต่าง ๆ ของโลก บางทีโลกก็มีบุคลาธิษฐานเป็นเทพเจ้า ในหลายวัฒนธรรม เทพมารดา (mother goddess) เป็นเทพเจ้าความอุดมสมบูรณ์หลักด้วย และเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลักไกอาเปรียบเทียบสิ่งแวดล้อมของโลกกับสิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งมีชีวิตกำกับตัวเองเดี่ยว ๆ ที่นำไปสู่การสร้างเสถียรภาพอย่างกว้างขวางซึ่งภาวะการอยู่อาศัยได้ ปรัมปราการสรรค์สร้างในหลายศาสนามีว่า เทพเจ้าเหนือธรรมชาติพระองค์เดียวหรือหลายพระองค์ทรงสร้างโลก การสอบสวนทางวิทยาศาสตร์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในมุมมองของมนุษย์ต่อโลก ในโลกตะวันตก ความเชื่อเรื่องโลกแบน ถูกแทนด้วยโลกทรงกลมอันเนื่องจากพีทาโกรัสในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ต่อมาเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพจนคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตั้งทฤษฎีว่าโลกเป็นวัตถุเคลื่อที่โดยเทียบกับดาวเคราะห์อื่นในระบบสุริยะครั้งแรก เนื่องจากความพยายามของนักวิชาการคริสต์ศาสนิกชนผู้ทรงอิทธิพลและนักบวชอย่างเจมส์ อัชเชอร์ ผู้มุ่งหาอายุของโลกผ่านการวิเคราะห์พงศาวลีวิทยาในคัมภีร์ไบเบิล ชาวตะวันตกก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยทั่วไปจึงเชื่อว่าโลกมีอายุเก่าสุดไม่กี่พันปี จนระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่นักธรณีวิทยาทราบว่าโลกมีอายุหลายล้านปีแล้ว ลอร์ดเคลวินใช้อุณหพลศาสตร์คาดคะเนอายุของโลกไว้ระหว่าง 20 ถึง 400 ล้านปีในปี 1864 ทำให้เกิดการอภิปรายอย่างเข้มข้นในเรื่องนี้ จนเมื่อมีการค้นพบกัมมันตภาพรังสีและการวัดอายุจากกัมมันตรังสีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มีกลไกน่าเชื่อถือสำหรับการหาอายุของโลก พิสูจน์ว่าโลกมีอายุในหลักพันล้านปี มโนทัศน์ของโลกเปลี่ยนอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อมนุษย์มองโลกครั้งแรกจากวงโคจร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยภาพถ่ายของโลกที่โครงการอะพอลโลส่งกลับมา == เชิงอรรถ == ==ดูเพิ่ม== ทรงกลมท้องฟ้า วิทยาศาสตร์โลก ปรากฏการณ์โลกร้อน ==อ้างอิง== == แหล่งข้อมูลอื่น == Earth – Profile – Solar System Exploration – NASA Earth Observatory – NASA Earth – Videos – International Space Station: * Video (01:02) – Earth (time-lapse) * Video (00:27) – Earth and auroras (time-lapse) Google Earth 3D, interactive map Interactive 3D visualization of the Sun, Earth and Moon system GPlates Portal (University of Sydney) ดาวเคราะห์เขตอาศัยได้ ดาวเคราะห์คล้ายโลก
thaiwikipedia
721
เจมส์ กอสลิง
เจมส์ กอสลิง (James Gosling) เกิดเมื่อ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 ผู้ให้กำเนิดภาษาจาวา ของบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ของแผนก Sun's Developer Products group นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแคนาดา
thaiwikipedia
722
พืช
พืช เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่ประเภทหนึ่งอยู่ในอาณาจักรพืช (Kingdom Plantae) ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น ไม้ดอก พืชล้มลุก และเฟิร์น พบได้ทั้งบนบกและในน้ำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เนื้อเยื่อส่วนใหญ่ประกอบด้วยหลายเซลล์ นิวเคลียสมีผนังเซลล์ ห่อหุ้ม เคลื่อนที่ไม่ได้ ได้แค่เอียงตัว จะสามารถเห็นได้ชัดเจน เมื่อมีแดดส่อง พืชจะเอียงตัวไปที่แดด ไม่มีอวัยวะเกี่ยวกับความรู้สึก มีคลอโรฟิลล์ซึ่งเป็นสารสีเขียว ช่วยในการสังเคราะห์และเจริญเติบโต นอกจากนี้ยังมีลักษณะพิเศษที่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นก็คือการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่มีพืชจำพวกปรสิตประมาณ 300 ชนิดที่ไม่สังเคราะห์ด้วยแสงเอง แต่เกาะดูดอาหารจากพืชชนิดอื่น == นิยาม == อริสโตเติลแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นพืช (โดยทั่วไปไม่เคลื่อนไหว) และสัตว์ (ซึ่งเคลื่อนไหวบ่อยครั้งและหาอาหารกิน) ในระบบของลินเนียสแบ่งเป็นอาณาจักร Vegetabilia (ภายหลังเป็น Metaphyta หรือ Plantae) และ สัตว์ (Metazoa) ตั้งแต่นั้นมาพืชได้มีรากฐานที่ชัดเจนทำให้หลาย ๆ กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างฟังไจและกลุ่มของสาหร่ายสีเขียวหลาย ๆ กลุ่มถูกย้ายไปอาณาจักรใหม่ อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งที่ยังคงมีการพิจารณาในหลายๆบริบทขึ้นอยู่กับวิธีการและความนิยม เมื่อชื่อ Plantae หรือพืชเกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะในอนุกรมวิธาน ทั่วไปมันจะอ้างถึง 1 ใน 3 กลุ่ม ก็คือ: พืชชั้นสูง หรือที่รู้จักกันในชื่อ Embryophyta หรือ Metaphyta พืชสีเขียว - หรือที่รู้จักกันในชื่อ Viridiplantae, Viridiphyta หรือ Chlorobionta - ประกอบไปด้วย Embryophyte ที่เหลือ, Charophyta (stonewort โบราณ) , และ Chlorophyta (สาหร่ายสีเขียว เช่น sea lettuce) Archaeplastida - หรือที่รู้จักกันในชื่อพืช (Plantae) sensu lato, Plastida หรือ Primoplantae - ประกอบด้วยพืชสีเขียวที่เหลือ, อย่าง Rhodophyta (สาหร่ายสีแดง) และ Glaucophyta (สาหร่าย glaucophyte) กลุ่มของพืชที่กว้างที่สุดนี้ประกอบไปด้วยยูแคริโอตจำนวนมากที่รับเอาคลอโรพลาสต์มาโดยการดูดกลืนสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว สิ่งที่สามารถสังเคราะห์แสงได้เรามักเรียกว่าพืชได้อย่างไม่เป็นทางการ แต่เมื่อเราพิจารณาทางอนุกรมวิธานแล้วมันอาจไม่ใช่แม้กระทั่งญาติใกล้ชิดของพืชเลยก็ได้ มีพืชราวๆ 375,000 ชนิดและทุกปีมีการค้นพบและจัดจำแนกใหม่ๆโดยนักวิทยาศาสตร์ == ความหลากหลาย == ประมาณ 350,000 สปีชีส์ของพืชที่ถูกกะประมาณว่ายังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ แบ่งออกเป็นพืชมีเมล็ด, พืชไม่มีท่อลำเลียง, เฟิร์น และพืชใกล้เคียงเฟิร์น ในปีพ.ศ. 2547 มีการระบุไปแล้ว 287,655 ชนิด เป็นพืชมีดอก 258,650 ชนิด, เป็นพืชไม่มีท่อลำเลียง 16,000 ชนิด,เป็นเฟิร์น 11,000 ชนิดและเป็นสาหร่ายสีเขียว 8,000 ชนิด === วิวัฒนาการชาติพันธุ์ === == ดูเพิ่ม == พฤกษศาสตร์ == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == อาณาจักร (ชีววิทยา) พฤกษศาสตร์
thaiwikipedia
723
ระบบย่อยอาหาร
ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract, GI tract, alimentary canal หรือ gut) ระบบทางเดินอาหาร อาจเรียกอีกอย่างว่าระบบย่อยอาหาร (digestive tract) ระบบอวัยวะนี้มีเฉพาะในสัตว์หลายเซลล์ (multicellular animals) ที่ต้องกินอาหารและย่อยอาหาร เพื่อรับสารอาหารและพลังงานและขับถ่ายของเสียออกไป == กายวิภาคพื้นฐาน == === ทางเดินอาหาร === thumb ในมนุษย์ที่โตเต็มที่จะมีระบบทางเดินอาหาร ยาวประมาณ 7 เมตรครึ่ง หรือ 25 ฟุต ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ ปาก (Mouth) ในช่องปากมีอวัยวะดังนี้ * ต่อมน้ำลาย (salivary glands) * เยื้อเมือกช่องปาก (mucosa) * ฟัน (teeth) * ลิ้น(tongue) คอหอย (Pharynx) หลอดอาหาร (Esophagus) และ ปากกระเพาะ (cardia) กระเพาะอาหาร (Stomach) ประกอบด้วย * ปากกระเพาะ (cardiac) * กระพุ้งกระเพาะอาหาร (fundus) * กระเพาะส่วนปลาย (antrum, pylorus) * หูรูดกระเพาะส่วนปลาย (pyloric sphincter) ลำไส้ (intestine หรือ Bowel) : * ลำไส้เล็ก (small intestine) มีสามส่วนดังนี้: ** ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ** ลำไส้เล็กส่วนกลาง (jejunum) ** ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) * ลำไส้ใหญ่ (large intestine) มีสามส่วนดังนี้: ** กระพุ้งไส้ใหญ่ หรือ ซีกัม (cecum) (เป็นที่อยู่ของ ไส้ติ่ง (vermiform appendix)) ** ไส้ใหญ่ (colon) ประกอบด้วย *** ไส้ใหญ่ส่วนขึ้น (ascending colon) *** ไส้ใหญ่ส่วนขวาง (transverse colon) *** ไส้ใหญ่ส่วนลง (descending colon) *** ไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoid flexure) ** ไส้ตรง (rectum) ทวารหนัก (anus) === อวัยวะที่เกี่ยวข้อง === ตับ (liver) ปล่อย น้ำดี (bile) เข้าไปในลำไส้เล็กโดยระบบน้ำดี (biliary system) และไปเก็บที่ถุงน้ำดี (gallbladder) ตับอ่อน (pancreas) จะปล่อยของเหลวไอซอสโมติก (isosmotic fluid) ซึ่งประกอบด้วยไบคาร์บอเนต (bicarbonate) และเอ็นไซม์หลายชนิด เช่น ทริปซิน (trypsin) ไคโมทริปซิน (chymotrypsin) ไลเปส (lipase) คาร์บอกซี่เปปซิเดส (carboxypeptidase) แพนคลิเอติก อะไมเลส (amylase) นิวเคลส (nuclase enzymes) == อ้างอิง == National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases, National Institutes of Health. Coico, R., Sunshine, G., and Benjamini, E. (2003) "Immunology: A short Course 5th ed." Pgs 11-12. == แหล่งข้อมูลอื่น == Anatomy atlas of the Digestive System ทางเดินอาหาร
thaiwikipedia
724
สรีรวิทยา
สรีรวิทยา (physiology) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่และระบบการทำงานในสิ่งมีชีวิต ถือเป็นสาขาย่อยของชีววิทยา สรีรวิทยามุ่งเน้นที่สิ่งมีชีวิต ระบบอวัยวะ อวัยวะหนึ่ง เซลล์ และโมเลกุลชีวภาพว่าทำหน้าที่ทางเคมีและกายภาพในสิ่งมีชีวิตอย่างไร ตามรายงานจากชั้นของสิ่งมีชีวิต สาขานี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสรีรวิทยาด้านเภสัช, สัตว์, พืช, เซลล์ และการเปรียบเทียบ สาขาสรีรวิทยาของสัตว์นั้นหมายรวมถึงเครื่องมือและวิธีการศึกษาสรีรวิทยาของมนุษย์ซึ่งนำมาใช้ศึกษาในสัตว์ด้วย สาขาสรีรวิทยาของพืชก็สามารถใช้วิธีการศึกษาเช่นเดียวกับสัตว์และมนุษย์ด้วยเช่นกัน สาขาวิชาอื่น ๆ ที่ถือกำเนิดจากการศึกษาวิจัยทางสรีรวิทยา ได้แก่ ชีวเคมี ชีวฟิสิกส์ ชีวกลศาสตร์ และเภสัชวิทยา == ประวัติศาสตร์ == == เนื้อหาของสรีรวิทยา == === มนุษย์และสัตว์ === สรีรวิทยาของมนุษย์เป็นสาขาวิชาที่ซับซ้อนที่สุดในสรีรวิทยา สาขานี้แบ่งย่อยออกเป็นสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีความสอดคล้องกัน สัตว์หลายชนิดมีกายวิภาคคล้ายกับมนุษย์ จึงมีการศึกษาในสาขาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน สรีรวิทยากล้ามเนื้อ ศึกษาการทำงานของกล้ามเนื้อ ประสาทสรีรวิทยา ศึกษาสรีรวิทยาของสมองและเส้นประสาท สรีรวิทยาของเซลล์ ศึกษาการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของเซลล์ สรีรวิทยาของเยื่อหุ้มเซลล์ ศึกษาการแลกเปลี่ยนสารผ่านทางเยื่อหุ้มเซลล์ วิทยาต่อมไร้ท่อ ศึกษาการทำงานของฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อ ==อ้างอิง== ==แหล่งข้อมูลอื่น== physiologyINFO.org – public information site sponsored by the American Physiological Society
thaiwikipedia
725
พาร์เซก
พาร์เซก (parsec; มาจาก parallax of one arcsecond ตัวย่อ: pc) เป็นหน่วยวัดระยะทางทางดาราศาสตร์ มีค่าเท่ากับความสูงของสามเหลี่ยมมุมฉากที่มีเส้นฐานยาว 1 หน่วยดาราศาสตร์และมีมุมยอด 1 พิลิปดา หรือเท่ากับ หรือ 206,265 หน่วยดาราศาสตร์ เทียบเป็นระยะทางได้ 3.2616 ปีแสง (3.26 ปีแสง) เท่ากับระยะทาง 31 ล้านล้านกิโลเมตร. ค่าพาร์เซกเป็นค่าที่นักดาราศาสตร์ใช้วัดระยะทางภายในดาราจักร การวัดระยะจากโลกถึงดาวฤกษ์ เรียกว่าการวัดพารัลแลกซ์ดาวฤกษ์ ดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้าเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุด โดยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปประมาณ 1.3 พาร์เซก หรือราว 4.2 ปีแสง ดวงดาวส่วนใหญ่ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ล้วนอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 500 พาร์เซก พารัลแลกซ์ คือ ปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตมองจาก 2 จุด แล้วเห็นตำแหน่งของวัตถุเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับวัตถุอ้างอิง ทดลองได้โดยใช้มือถือวัตถุยื่นไปข้างหน้า แล้วสังเกตวัตถุดังกล่าวด้วยตาซ้าย และขวาจะสังเกตเห็นตำแหน่งของวัตถุเปลี่ยนไปหรือไม่ === การคำนวณค่าพาร์เซก === ตามคำนิยามในปีค.ศ. 2015 1 หน่วยดาราศาสตร์ของความยาวเส้นรองรับมุม 1 พิลิปดา (หรือ 1 อาร์กวินาที) ณ ใจกลางวงกลมที่มีรัศมี 1 พาร์เซก โดยการแปลงหน่วยองศาหน่วยนาทีหน่วยวินาทีไปเป็นเรเดียน \frac{1 \mbox{ pc}}{1 \mbox{ au}} = \frac{180 \times 60 \times 60}{\pi} และ 1 \mbox{ au} = 149\,597\,870\,700 \mbox{ m} (คำนิยามของหน่วยดาราศาสตร์ ในปีค.ศ. 2012) ดังนั้น \pi \mbox{ pc} = 180 \times 60 \times 60 \mbox{ au} = 180 \times 60 \times 60 \times 149\,597\,870\,700 = 96\,939\,420\,213\,600\,000 \mbox{ m} (ตามคำนิยามในปีค.ศ. 2015) ดังนั้น 1 \mbox{ pc} = \frac{96\,939\,420\,213\,600\,000}{\pi} = 30\,856\,775\,814\,913\,673 \mbox{ m} (ไปยังเมตรที่ใกล้เคียงที่สุด) ประมาณว่า, ในภาพข้างบน (ไม่ตามสเกล), S คือดวงอาทิตย์ และ E คือโลก ณ จุดหนึ่งของวงโคจร ทำให้ระยะทาง ES เท่ากับ 1 หน่วยดาราศาสตร์ (au) มุม SDE คือ 1 พิลิปดา ( ขององศา) ดังนั้น ตามคำอธิบาย D คือจุดในอวกาศที่มีระยะทาง 1 พาร์เซกจากดวงอาทิตย์ ถ้าคำนวณผ่านตรีโกณมิติ ระยะทาง SD จะคำนวณแบบนี้: \mathrm{SD} = \frac{\mathrm{ES} }{\tan 1 } \mathrm{SD} \approx \frac{\mathrm{ES} }{1 } = \frac{1 \, \mbox{au} }{\frac{1}{60 \times 60} \times \frac{\pi}{180}} = \frac{648\,000}{\pi} \, \mbox{au} \approx 206\,264.81 \mbox{ au} . เพราะหน่วยดาราศาสตร์มีความยาว จึงคำนวณเป็นแบบนี้: ดังนั้น ถ้า 1 ly ≈ เมตร แล้ว ≈ ตามวิธีทางคณิตศาสตร์ เพื่อคำนวณระยะทางที่มีหน่วยเชิงมุมจากเครื่องมีอในหน่วยพิลิปดา สูตรจะเป็นไปตามนี้: \text{ระยะทาง}_\text{ดาว} = \frac {\text{ระยะทาง}_\text{โลก-ดวงอาทิตย์}}{\tan{\frac{\theta}{3600}}} โดย θ เป็นค่ามุมในหน่วยพิลิปดา ระยะทางระหว่างโลก-ดวงอาทิตย์มีค่าคงที่ ( หรือ ly) การคำนวณระยะทางดาว จะใช้หน่ายเดียวกันกับระยะทางโลก-ดวงอาทิตย์ (ป.ล. ถ้าระยะทางโลก-ดวงอาทิตย์ = หน่วยของระยะทางดาว คือหน่วยดาราศาสตร์; ถ้าระยะทางโลก-ดวงอาทิตย์ = ly หน่วยของระยะทางดาว คือปีแสง) ==อ้างอิง== หน่วยความยาว มาตรดาราศาสตร์ หน่วยวัดในดาราศาสตร์
thaiwikipedia
726
อาวุธนิวเคลียร์
อาวุธนิวเคลียร์ เป็นวัตถุระเบิดซึ่งมีอำนาจทำลายล้างมาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันอย่างเดียว หรือ นิวเคลียร์ฟิชชันและนิวเคลียร์ฟิวชันรวมกัน ปฏิกิริยาทั้งสองปลดปล่อยพลังงานปริมาณมหาศาลจากสสารปริมาณค่อนข้างน้อย การทดสอบระเบิดฟิชชัน (อะตอม) ลูกแรกปลดปล่อยพลังงานออกมาเทียบเท่ากับทีเอ็นทีประมาณ 20,000 ตัน การทดสอบระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ (ระเบิดไฮโดรเจน) ลูกแรก ปลดปล่อยพลังงานออกมาเท่ากับทีเอ็นทีประมาณ 10,000,000 ตัน อาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์สมัยใหม่ที่หนักกว่า 1,100 กิโลกรัมเล็กน้อย สามารถก่อให้เกิดแรงระเบิดเทียบเท่ากับการจุดระเบิดทีเอ็นทีมากกว่า 1.2 ล้านตัน ดังนั้น กระทั่งวัตถุนิวเคลียร์ลูกเล็ก ๆ ที่ขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าระเบิดธรรมดา สามารถทำลายล้างนครทั้งนครได้ ด้วยแรงระเบิดไฟและกัมมันตรังสี อาวุธนิวเคลียร์ถูกพิจารณาว่าเป็นอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง และการใช้และควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ได้กลายเป็นจุดสนใจสำคัญของนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนับแต่ถือกำเนิดขึ้น มีอาวุธนิวเคลียร์เพียงสองชิ้นเท่านั้นที่เคยใช้ตลอดห้วงการสงคราม ทั้งสองครั้งโดยสหรัฐอเมริกายามสงครามโลกครั้งที่สองใกล้ยุติ วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 วัตถุประเภทจุดระเบิดยูเรเนียม (uranium gun-type) ชื่อรหัสว่า "ลิตเติลบอย" ถูกจุดระเบิดเหนือนครฮิโรชิมะของญี่ปุ่น อีกสามวันให้หลัง วันที่ 9 สิงหาคม วัตถุประเภทจุดระเบิดภายในพลูโตเนียม (plutonium implosion-type) ชื่อรหัสว่า "แฟตแมน" ระเบิดเหนือนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น การทิ้งระเบิดทั้งสองลูกส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปประมาณ 200,000 ศพ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน จากการบาดเจ็บฉับพลันที่ได้รับจากการระเบิด นับแต่การทิ้งระเบิดฮิโรชิมะและนางาซากิ อาวุธนิวเคลียร์ถูกจุดระเบิดกว่าสองพันโอกาสเพื่อจุดประสงค์ด้านการทดสอบและสาธิต มีเพียงไม่กี่ชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์หรือถูกสงสัยว่ากำลังแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศที่ทราบว่าเคยจุดระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ และได้รับการรับรองว่าครอบครองอาวุธนิวเคีลยร์ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต (รัสเซียเป็นผู้สืบทอดอำนาจนิวเคลียร์) สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ นอกเหนือจากนี้ อิสราเอลยังถูกเชื่ออย่างกว้างขวางว่าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ได้รับการรับรองว่ามี รัฐหนึ่ง แอฟริกาใต้ เคยยอมรับว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ที่ทำขึ้นก่อนหน้านี้ในอดีต แต่นับแต่นั้นได้แยกประกอบคลังแสงของตนและส่งให้กับผู้คุ้มครองนานาชาติ สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกาประเมินว่ามีหัวรบนิวเคลียร์กว่า 15,700 หัวทั่วโลกใน พ.ศ. 2558 โดยมีราว 4,120 หัวถูกเก็บไว้ในสถานะ "ปฏิบัติการ" คือ พร้อมใช้งานได้ทันที == ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ == === ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน === === ประเทศที่ได้รับการแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์ === === ประเทศที่เคยมีอาวุธนิวเคลียร์ === == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == กำลังรบนิวเคลียร์โลก Nuclear Forces & Global Nuclear Stockpiles จาก กรมข่าวทหารอากาศ The Nuclear Fuel Cycle จาก BBC News / Indepth วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ The Nuclear Fuel Cycle จาก สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย สิ่งประดิษฐ์ของสหรัฐ
thaiwikipedia
727
ชนิด (ชีววิทยา)
redirect สปีชีส์
thaiwikipedia
728
ฟังก์ชัน (คณิตศาสตร์)
ในคณิตศาสตร์ ฟังก์ชัน คือ ความสัมพันธ์ จากเซตหนึ่งที่เรียกว่าโดเมน ไปยังอีกเซตหนึ่งที่เรียกว่าโคโดเมน (บางครั้งคำว่าเรนจ์อาจถูกใช้แทน แต่เรนจ์นั้นมีความหมายอื่นด้วย "โคโดเมน" จึงเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะไม่กำกวม) โดยที่สมาชิกตัวหน้าไม่ซ้ำกัน ความคิดรวบยอดของฟังก์ชันนี้เป็นพื้นฐานของทุกสาขาของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ == แนวคิด == แนวคิดที่สำคัญที่สุดคือ ฟังก์ชันนั้นเป็น "กฎ" ที่กำหนดผลลัพธ์โดยขึ้นกับสิ่งที่นำเข้ามา ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง แต่ละคนจะมีสีที่ตนชอบ (แดง, ส้ม, เหลือง, ฟ้า, น้ำเงิน, คราม หรือม่วง) สีที่ชอบเป็นฟังก์ชันของแต่ละคน เช่น จอห์นชอบสีแดง แต่คิมชอบสีม่วง ในที่นี้สิ่งที่นำเข้าคือคน และผลลัพธ์คือ 1 ใน 7 สีดังกล่าว มีเด็กบางคนขายน้ำมะนาวในช่วงฤดูร้อน จำนวนน้ำมะนาวที่ขายได้เป็นฟังก์ชันของอุณหภูมิภายนอก ตัวอย่างเช่น ถ้าภายนอกมีอุณหภูมิ 85 องศาฟาเรนไฮด์ จะขายได้ 10 แก้ว แต่ถ้าอุณหภูมิ 95 องศา จะขายได้ 25 แก้ว ในที่นี้ สิ่งที่นำเข้าคืออุณหภูมิ และผลลัพธ์คือจำนวนน้ำมะนาวที่ขายได้ ก้อนหินก้อนหนึ่งปล่อยลงมาจากชั้นต่างๆของตึกสูง ถ้าปล่อยจากชั้นที่สอง จะใช้เวลา 2 วินาที และถ้าปล่อยจากชั้นที่แปด จะใช้เวลา (เพียง) 4 วินาที ในที่นี้ สิ่งนำเข้าคือชั้น และผลลัพธ์คือระยะเวลาเป็นวินาที ฟังก์ชันนี้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง เวลาที่ก้อนหินใช้ตกถึงพื้นกับชั้นที่มันถูกปล่อยลงมา (ดู ความเร่ง) "กฎ" ที่นิยามฟังก์ชันอาจเป็น สูตร, ความสัมพันธ์ (คณิตศาสตร์) หรือเป็นแค่ตารางที่ลำดับผลลัพธ์กับสิ่งที่นำเข้า ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของฟังก์ชันคือมันจะมีผลลัพธ์เหมือนเดิมตลอดเมื่อให้สิ่งนำเข้าเหมือนเดิม ลักษณะนี้ทำให้เราเปรียบเทียบฟังก์ชันกับ "เครื่องกล" หรือ "กล่องดำ" ที่จะเปลี่ยนสิ่งนำเข้าไปเป็นผลลัพธ์ที่ตายตัว เรามักจะเรียกสิ่งนำเข้าว่า อาร์กิวเมนต์ (argument) และเรียกผลลัพธ์ว่า ค่า (value) ของฟังก์ชัน ชนิดของฟังก์ชันธรรมดาเกิดจากที่ทั้งอาร์กิวเมนต์และค่าของฟังก์ชันเป็นตัวเลขทั้งคู่ ความสัมพันธ์ของฟังก์ชันมักจะเขียนในรูปสูตร และจะได้ค่าของฟังก์ชันมาทันทีเพียงแทนที่อาร์กิวเมนต์ลงในสูตร เช่น f (x) =x^2 ซึ่งจะได้ค่ากำลังสองของ x ใดๆ โดยนัยทั่วไปแล้ว ฟังก์ชันจะสามารถมีได้มากกว่าหนึ่งอาร์กิวเมนต์ เช่น g (x,y) =xy เป็นฟังก์ชันที่นำตัวเลข x และ y มาหาผลคูณ ดูเหมือนว่านี่ไม่ใช่ฟังก์ชันจริงๆดังที่เราได้อธิบายข้างต้น เพราะว่า "กฎ" ขึ้นอยู่กับสิ่งนำเข้า 2 สิ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราคิดว่าสิ่งนำเข้า 2 สิ่งนี้เป็น คู่อันดับ (x,y) 1 คู่ เราก็จะสามารถแปลได้ว่า g เป็นฟังก์ชัน โดยที่อาร์กิวเมนต์คือคู่อันดับ (x,y) และค่าของฟังก์ชันคือ xy ในวิทยาศาสตร์ เรามักจะต้องเผชิญหน้ากับฟังก์ชันที่ไม่ได้กำหนดขึ้นจากสูตร เช่นอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกในเวลาใดเวลาหนึ่ง นี่เป็นฟังก์ชันที่มีสถานที่และเวลาเป็นอาร์กิวเมนต์ และให้ผลลัพธ์เป็นอุณหภูมิของสถานที่และเวลานั้นๆ เราได้เห็นแล้วว่าแนวคิดของฟังก์ชันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การคำนวณด้วยตัวเลขเท่านั้น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่การคำนวณด้วย แนวคิดของคณิตศาสตร์เกี่ยวกับฟังก์ชัน เป็นแนวคิดโดยทั่วไปและไม่ได้จำกัดอยู่แค่สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขเท่านั้น แน่นอนว่าฟังก์ชันเชื่อมโยง "โดเมน" (เซตของสิ่งนำเข้า) เข้ากับ "โคโดเมน" (เซตของผลลัพธ์ที่เป็นไปได้) ดังนั้นสมาชิกแต่ละตัวของโดเมนจะจับคู่กับสมาชิกตัวใดตัวหนึ่งของโคโดเมนเท่านั้น ฟังก์ชันนั้นนิยามเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นอน ดังที่จะกล่าวต่อไป เป็นเหตุจากลักษณะทั่วไปนี้ แนวคิดรวบยอดของฟังก์ชันจึงเป็นพื้นฐานของทุกสาขาในคณิตศาสตร์ == ประวัติ == ในทางคณิตศาสตร์ "ฟังก์ชัน" บัญญัติขึ้นโดย ไลบ์นิซ ใน พ.ศ. 2237 เพื่ออธิบายปริมาณที่เกี่ยวข้องกับเส้นโค้ง เช่น ความชันของเส้นโค้ง หรือจุดบนเส้นโค้ง ฟังก์ชันที่ไลบ์นิซพิจารณานั้นในปัจจุบันเรียกว่า ฟังก์ชันที่หาอนุพันธ์ได้ และเป็นชนิดของฟังก์ชันที่มักจะแก้ด้วยผู้ที่ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์ สำหรับฟังก์ชันชนิดนี้ เราสามารถพูดถึงลิมิตและอนุพันธ์ ซึ่งเป็นการทฤษฎีเซต พวกเขาได้พยายามนิยามวัตถุทางคณิตศาสตร์ทั้งหมดด้วย เซต ดีริคเลท และ โลบาเชฟสกี ได้ให้นิยามสมัยใหม่ของฟังก์ชันออกมาเกือบพร้อมๆกัน ในคำนิยามนี้ ฟังก์ชันเป็นเพียงกรณีพิเศษของความสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม เป็นกรณีที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ความแตกต่างระหว่างคำนิยามสมัยใหม่กับคำนิยามของออยเลอร์นั้นเล็กน้อยมาก แนวคิดของ ฟังก์ชัน ที่เป็นกฎในการคำนวณ แทนที่เป็นความสัมพันธ์ชนิดพิเศษนั้น อยู่ในคณิตตรรกศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงทฤษฎี ด้วยหลายระบบ รวมไปถึง แคลคูลัสแลมบ์ดา ทฤษฎีฟังก์ชันเวียนเกิด และเครื่องจักรทัวริง == นิยามอย่างเป็นรูปนัย == ฟังก์ชัน f จากข้อมูลนำเข้าในเซต X ไปยังผลที่เป็นไปได้ในเซต Y (เขียนเป็น f:X\rightarrow Y) คือความสัมพันธ์ระหว่าง X กับ Y ซึ่ง สำหรับทุกค่า x ใน X จะมี y ใน Y ซึ่ง x f y ( x มีความสัมพันธ์ f กับ y) นั่นคือ สำหรับค่านำเข้าแต่ละค่า จะมีผลลัพธ์ใน Y อย่างน้อย 1 ผลลัพธ์เสมอ ถ้า x f y และ x f z แล้ว y = z นั่นคือ ค่านำเข้าหลายค่าสามารถมีผลลัพธ์ได้ค่าเดียว แต่ค่านำเข้าค่าเดียวไม่สามารถมีผลลัพธ์หลายผลลัพธ์ได้ ค่านำเข้า x แต่ละค่า จากโดเมน จะมีผลลัพธ์ y จากโคโดเมนเพียงค่าเดียว แทนด้วย f (x) จากนิยามข้างต้น เราสามารถเขียนอย่างสั้นๆได้ว่า ฟังก์ชันจาก X ไปยัง Y คือเซตย่อย f ของผลคูณคาร์ทีเซียน X \times Y โดยที่แต่ละค่าของ x ใน X จะมี y ใน Y ที่แตกต่างกัน โดยที่คู่อันดับ (x, y) อยู่ใน f เซตของฟังก์ชัน f:X\rightarrow Y ทุกฟังก์ชันแทนด้วย Y^X เรียกว่าปริภูมิฟังก์ชัน สังเกตว่า |Y^X| = |Y|^{|X|} (อ้างถึง จำนวนเชิงการนับ) ความสัมพันธ์ระหว่าง X กับ Y ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข (1) นั่นคือฟังก์ชันหลายค่า ฟังก์ชันทุกฟังก์ชันเป็นฟังก์ชันหลายค่า แต่ฟังก์ชันหลายค่าไม่ทุกฟังก์ชันเป็นฟังก์ชัน ความสัมพันธ์ระหว่าง X กับ Y ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข (2) นั่นคือฟังก์ชันบางส่วน ฟังก์ชันทุกฟังก์ชันเป็นฟังก์ชันบางส่วน แต่ฟังก์ชันบางส่วนไม่ทุกฟังก์ชันเป็นฟังก์ชัน "ฟังก์ชัน" คือความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขทั้งสองเงื่อนไข ดูตัวอย่างต่อไปนี้ Multivalued function.svg สมาชิก 3 ใน X สัมพันธ์กับ b และ c ใน Y ความสัมพันธ์นี้เป็นฟังก์ชันหลายค่า แต่ไม่เป็นฟังก์ชัน Partial function.svg สมาชิก 1 ใน X ไม่สัมพันธ์กับสมาชิกใดๆเลยใน Y ความสัมพันธ์นี้เป็นฟังก์ชันบางส่วน แต่ไม่เป็นฟังก์ชัน Total function.svg ความสัมพันธ์นี้เป็นฟังก์ชันจาก X ไปยัง Y เราสามารถหานิยามฟังก์ชันนี้อย่างชัดแจ้งได้เป็น f=\{ (1,d) , (2,d) , (3,c) \} หรือเป็น f (x) =\left\{\begin{matrix} d, & \mbox{if }x=1 \\ d, & \mbox{if }x=2 \\ c, & \mbox{if }x=3. \end{matrix}\right. == โดเมน, โคโดเมน และเรนจ์ == X ซึ่งคือเซตข้อมูลนำเข้าเรียกว่า โดเมนของ f และ Y ซึ่งคือเซตของผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ เรียกว่า โคโดเมน เรนจ์ของ f คือเซตของผลลัพธ์จริงๆ {f (x) : x ในโดเมน} ระวังว่าบางครั้งโคโดเมนจะถูกเรียกว่าเรนจ์ เนื่องจากความผิดพลาดจากการจำแนกระหว่างผลที่เป็นไปได้กับผลจริงๆ ฟังก์ชันนั้นเรียกชื่อตามเรนจ์ของมัน เช่น ฟังก์ชันจำนวนจริง หรือ ฟังก์ชันจำนวนเชิงซ้อน เอนโดฟังก์ชัน คือฟังก์ชันที่โดเมนและเรนจ์เป็นเซตเดียวกัน ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แบบชนิดข้อมูลของอาร์กิวเมนต์และค่าที่คืนกลับมาระบุโดเมนและโคโดเมน (ตามลำดับ) ของโปรแกรมย่อย ดังนั้นโดเมนและโคโดเมนจะถูกกำหนดไว้ในแต่ละฟังก์ชัน แต่เรนจ์จะเกี่ยวกับว่าค่าที่คืนกลับมาจะเป็นอย่างไร == ฟังก์ชันหนึ่งต่อหนึ่ง ฟังก์ชันทั่วถึง และฟังก์ชันหนึ่งต่อหนึ่งทั่วถึง == เราสามารถแบ่งฟังก์ชันตามลักษณะความสัมพันธ์ได้ดังนี้ ฟังก์ชันหนึ่งต่อหนึ่ง (1-1) ฟังก์ชันจะคืนค่าที่ไม่เหมือนกันหากนำเข้าค่าคนละค่ากัน กล่าวคือ ถ้า x1 และ x2 เป็นสมาชิกของโดเมนของ f แล้ว f (x1) = f (x2) ก็ต่อเมื่อ x1 = x2 ฟังก์ชันทั่วถึง (แบบ onto) ฟังก์ชันจะมีเรนจ์เท่ากับโคโดเมน กล่าวคือ ถ้า y เป็นสมาชิกใดๆของโคโดเมนของ f แล้วจะมี x อย่างน้อย 1 ตัว ซึ่ง f (x) = y ฟังก์ชันหนึ่งต่อหนึ่งทั่วถึง เป็นฟังก์ชันที่เป็นทั้งฟังก์ชันหนึ่งต่อหนึ่ง และฟังก์ชันทั่วถึง มักจะใช้แสดงว่าเซต X และเซต Y มีขนาดเท่ากัน == ภาพ และบุพภาพ == ภาพ (image) ของ xโดยที่ x ∈ X ภายใต้ f คือผลลัพธ์ f (x) ภาพของเซตย่อย A⊂X ภายใต้ f คือเซตย่อย Y ซึ่งมีนิยามดังนี้ f[A] = {f (x)  | x อยู่ใน A} บางครั้ง อาจใช้ f (A) แทน f[A] สังเกตว่าเรนจ์ของ f คือภาพ f (X) ของโดเมนของมัน. ในฟังก์ชันข้างบน ภาพของ {2, 3} ภายใต้ f คือ f ({2, 3}) = {c, d} และเรนจ์ของ f คือ {c, d} บุพภาพ (preimage) (หรือ ภาพผกผัน) ของเซต B ⊂ Y ภายใต้ f คือเซตย่อยของ X ซึ่งมีนิยามคือ f −1 (B)  = {x อยู่ใน X | f (x) ∈B} สำหรับฟังก์ชันข้างบน บุพภาพของ {a, b} คือ f −1 ({a, b}) = {1} == กราฟของฟังก์ชัน == กราฟของฟังก์ชัน f คือเซตของคู่อันดับ (x, y (x)) ทั้งหมด สำหรับค่า x ทั้งหมดในโดเมน X มีทฤษฎีบทที่แสดงหรือพิสูจน์ง่ายมากเมื่อใช้กราฟ เช่น ทฤษฎีบทกราฟปิด ถ้า X และ Y เป็นเส้นจำนวนจริง แล้วนิยามนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดของกราฟ สังเกตว่าเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองเซต X และ Y มักจะแสดงด้วยเซตย่อยของ X×Y นิยามอย่างเป็นทางการของฟังก์ชันนั้นระบุฟังก์ชัน f ด้วยกราฟของมัน == ตัวอย่างฟังก์ชัน == ความสัมพันธ์ wght ระหว่างบุคคลกับน้ำหนักในเวลาใดเวลาหนึ่ง ความสัมพันธ์ cap ระหว่างประเทศกับเมืองหลวงของประเทศนั้น ความสัมพันธ์ sqr ระหว่างจำนวนธรรมชาติ n กับกำลังสอง n2 ความสัมพันธ์ ln ระหว่างจำนวนจริงบวก x กับลอการิทึมฐานธรรมชาติ ln (x) แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนจริงกับลอการิทึมฐานธรรมชาตินั้นไม่เป็นฟังก์ชัน เพราะว่าจำนวนจริงทุกจำนวนไม่ได้มีลอการิทึมฐานธรรมชาติ นั่นคือเป็นความสัมพันธ์ไม่ทั้งหมด ความสัมพันธ์ dist ระหว่างจุดบนระนาบ R2 กับระยะทางจากจุดกำเนิด (0,0) ชนิดของฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ที่มักใช้กันเช่น การบวก การลบ การคูณ การหาร พหุนาม เลขยกกำลัง ลอการิทึม ราก อัตราส่วน และตรีโกณมิติ ฟังก์ชันเหล่านี้มักเรียกว่า ฟังก์ชันพื้นฐาน แต่คำนี้จะมีความหมายต่างออกไปตามสาขาของคณิตศาสตร์ ตัวอย่างของฟังก์ชันที่ไม่เป็นพื้นฐาน (ฟังก์ชันพิเศษ) เช่น ฟังก์ชันเบสเซิล และฟังก์ชันแกมมา == คุณสมบัติของฟังก์ชัน == ฟังก์ชันอาจเป็น ฟังก์ชันคู่หรือคี่ ฟังก์ชันต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่อง ฟังก์ชันจำนวนจริง หรือ ฟังก์ชันเชิงซ้อน ฟังก์ชันสเกลาร์ หรือ ฟังก์ชันเวกเตอร์ == ฟังก์ชันแบบ n-ary : ฟังก์ชันหลายตัวแปร == ฟังก์ชันที่เราใช้ส่วนมักจะเป็น ฟังก์ชันหลายตัวแปร ค่าที่ได้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆกัน จากมุมมองของคณิตศาสตร์ ตัวแปรทั้งหมดต้องแสดงอย่างชัดแจ้งเพื่อที่จะเกิดความสัมพันธ์แบบฟังก์ชัน - ไม่มีปัจจัย "ซ่อนเร้น" อยู่ และเช่นกัน จากมุมมองของคณิตศาสตร์ ไม่มีความแตกต่างเชิงคุณภาพระหว่างฟังก์ชันตัวแปรเดียวกับฟังก์ชันหลายตัวแปร ฟังก์ชันสามตัวแปรจำนวนจริงนั้นก็คือฟังก์ชันของ triple ((x,y,z)) ของจำนวนจริง ถ้าโดเมนของฟังก์ชันหนึ่งเป็นเซตย่อยของ ผลคูณคาร์ทีเซียน ของ n เซต แล้ว เราเรียกฟังก์ชันนี้ว่า ฟังก์ชัน n-ary ตัวอย่างเช่นฟังก์ชัน dist มีโดเมน \mathbb{R}\times\mathbb{R} จึงเป็นฟังก์ชันทวิภาค ในกรณีนี้ dist ((x,y)) เขียนอย่างง่ายเป็น dist (x,y) การดำเนินการ ก็เป็นฟังก์ชันหลายตัวแปรชนิดหนึ่ง ในพีชคณิตนามธรรม ตัวดำเนินการเช่น "*" นั้นนิยามจากฟังก์ชันทวิภาค เมื่อเราเขียนสูตรเช่น x*y ในสาขานี้ เสมือนกับว่าเราเรียกใช้ฟังก์ชัน * (x,y) โดยปริยาย เพียงแต่เขียนในรูปสัญกรณ์เติมกลาง (infix notation) ซึ่งสะดวกกว่า ตัวอย่างที่สำคัญทางทฤษฎีตัวอย่างหนึ่งคือ กำหนดการเชิงฟังก์ชัน ซึ่งใช้แนวคิดของฟังก์ชันเป็นศูนย์กลาง ด้วยวิธีนี้ การจัดการฟังก์ชันหลายตัวแปรทำได้เหมือนเป็นการดำเนินการ ซึ่งแคลคูลัสแลมบ์ดา มีวากยสัมพันธ์ (syntax) ให้เรา == การประกอบฟังก์ชัน == ฟังก์ชัน f: X → Y และ g:Y → Z สามารถประกอบกันได้ ซึ่งจะได้ผลเป็นฟังก์ชันประกอบ g o f: X → Z ซึ่งมีนิยามคือ (g o f) (x) = g (f (x)) สำหรับทุกค่าของ x ใน X ตัวอย่างเช่น สมมติว่าความสูงของเครื่องบินที่เวลา t เป็นไปตามฟังก์ชัน h (t) และความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศที่ความสูง x เป็นไปตามฟังก์ชัน c (x) ดังนี้น (c o h) (t) จะบอกความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศรอบๆเครื่องบินที่เวลา t === ฟังก์ชันผกผัน === ถ้าฟังก์ชัน f: X → Y เป็นฟังก์ชันหนึ่งต่อหนึ่งต่อเนื่อง แล้ว พรีอิเมจของสมาชิก y ใดๆในโคโดเมน Y จะเป็นเซตโทน ฟังก์ชันจาก y ∈ Y ไปยังพรีอิเมจ f −1 (y) ของมัน คือฟังก์ชันที่เรียกว่า ฟังก์ชันผกผัน ของ f เขียนแทนด้วย f −1 ตัวอย่างหนึ่งของฟังก์ชันผกผันสำหรับ f (x) = 2x คือ f −1 (x) = x/2 ฟังก์ชันผกผันคือฟังก์ชันที่ย้อนการกระทำของฟังก์ชันต้นแบบของมัน ดู อิเมจผกผัน บางครั้งฟังก์ชันผกผันก็หายากหรือไม่มี พิจารณา f (x) = x^2 ฟังก์ชัน f (x) =\sqrt{x} ไม่ใช่ฟังก์ชันผกผันเมื่อโดเมนของ f คือ \mathbb{R} คณิตศาสตร์มูลฐาน
thaiwikipedia
729
ทวีปเอเชีย
เอเชีย (Asia; Ασία อาเซีย) เป็นทวีปขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในโลก พื้นที่ส่วนมากตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกตะวันออก ทวีปเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของทวีปยูเรเชียรวมกับทวีปยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของทวีปแอฟโฟร-ยูเรเชียร่วมกับยุโรปและแอฟริกา ทวีปเอเชียมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 44,579,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 30% ของแผ่นดินทั่วโลกหรือคิดเป็น 8.7% ของผิวโลกทั้งหมด ทวีปเอเชียเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มานานและเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมแรก ๆ ของโลกหลายแห่ง เอเชียไม่ได้เป็นเพียงทวีปขนาดใหญ่และมีประชากรเยอะ แต่ยังมีสถานที่และการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นมีขนาดใหญ่ แต่เช่นเดียวกันทวีปเอเชียก็มีบริเวณที่มีประชากรเบาบางด้วย ทั้งนี้ทวีปเอเชียมีประชากรราว 4.5 พันล้านคน คิดเป็น 60% ของประชากรโลก โดยทั่วไปทางตะวันออกของทวีปติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทางใต้ติดมหาสมุทรอินเดียและทางเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์กติก บริเวณชายแดนระหว่างเอเชียและยุโรปมีประวัติศาสตร์และโครงสร้างวัฒนธรรมมากมายเพราะไม่มีการแยกกันด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจน จึงมีการโยกย้ายติดต่อกันในช่วงสมัยคลาสสิก ทำให้บริเวณนี้สามารถเห็นความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ภาษา ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของตะวันออกกับตะวันตก และแบ่งจากกันอย่างเด่นชัดกว่าการขีดเส้นแบ่ง เขตแดนที่เด่นชัดของเอเชียคือตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซ, แม่น้ำยูรัล, เทือกเขายูรัล, ช่องแคบตุรกี, ทางใต้ของเทือกเขาคอเคซัส, ทะเลดำและทะเลแคสเปียน จีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่คริสต์ศักราชที่ 1 ถึง 1800 จีนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญและดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้ไปทางตะวันออก และตำนาน ความมั่งคั่งและความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมโบราณของอินเดียกลายเป็นสัญลักษณ์ของเอเชีย สิ่งเหล่านี้จึงดึงดูดการค้า การสำรวจและการล่าอาณานิคมของชาวยุโรป การค้นพบเส้นทางข้ามทะเลมหาสมุทรแอตแลนติกโดยบังเอิญจากยุโรปไปอเมริกาของโคลัมบัสในขณะที่กำลังค้นหาเส้นทางไปยังอินเดียแสดงให้เห็นความดึงดูดใจเหล่านี้ เส้นทางสายไหมกลายเป็นเส้นทางการค้าหลักของฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกในขณะที่ช่องแคบมะละกากลายเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ ช่วงศตวรรษที่ 20 ความแข็งแรงของประชากรเอเชียและเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก) เติบโตเป็นอย่างมากแต่การเติบโตของ ประชากรโดยรวมลดลงเรื่อย ๆ เอเชียเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาหลักบนโลกหลายศาสนา อาทิศาสนาคริสต์, ศาสนาอิสลาม, ศาสนายูดาห์, ศาสนาฮินดู, พระพุทธศาสนา, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิเต๋า, ศาสนาเชน, ศาสนาซิกข์, ศาสนาโซโรอัสเตอร์และศาสนาอื่น ๆ อีกมากมาย เนื่องจากเอเชียมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายทางแนวคิด ภูมินามวิทยาของเอเชียมีตั้งแต่สมัยคลาสสิกซึ่งคาดว่าน่าจะตั้งตามลักษณะผู้คนมากกว่าลักษณะทางกายภาพ เอเชียมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งด้านภูมิภาค กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม, สภาพแวดล้อม, เศรษฐศาสตร์, ประวัติศาสตร์และระบบรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันอย่างมาก เช่น พื้นเขตร้อนหรือทะเลทรายในตะวันออกกลาง, ภูมิอากาศแบบอบอุ่นทางตะวันออก ภูมิอากาศแบบกึ่งอารกติกทางตอนกลางของทวีปและภูมิอากาศแบบขั้วโลกในไซบีเรีย == ศัพทมูลวิทยา == เดิมที คำว่า "เอเชีย" นั้นเกิดจากแนวความคิดต้องการสร้างอารยธรรมแบบตะวันตก คำว่า "เอเชีย" ในฐานะที่เป็นชื่อสถานที่นั้น แม้ปรากฏในภาษาปัจจุบันหลายภาษาหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่ปรากฏแหล่งที่มาดั้งเดิมแน่ชัด ทั้งไม่ปรากฏด้วยว่าเป็นหรือมาจากภาษา,ละตินแปลว่าดินแดนที่แตกต่างสุดแต่เท่าที่ทราบ "เอเชีย" เป็นชื่อที่เก่าแก่มากที่สุดชื่อหนึ่งซึ่งได้รับการบันทึกเอาไว้ และมีผู้เสนอแนวคิดมากมายเกี่ยวกับศัพทมูลวิทยาของคำนี้ === ยุคโบราณสมัยคลาสสิก === คำ "Asia" ในภาษาละติน และคำ "Ἀσία" ในภาษากรีกนั้นปรากฏว่าเป็นคำเดียวกัน นักประพันธ์ชาวโรมันแปลคำว่า "Ἀσία" เป็น "Asia" และชาวโรมันเองตั้งชื่อท้องที่แห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันอยู่ในทวีปเอเชียนี้ว่า "Asia" อนึ่ง ครั้งนั้นยังมีดินแดนที่เรียก "เอเชียน้อย" (Asia Minor) และ "เอเชียใหญ่" (Asia Major คืออิรักในปัจจุบัน) ด้วย เนื่องจากหลักฐานแรกสุดเกี่ยวกับชื่อ "เอเชีย" นี้เป็นหลักฐานภาษากรีก เมื่อว่ากันตามพฤติการณ์แล้ว จึงเป็นไปได้ว่า คำ "เอเชีย" มาจากคำ "Ἀσία" ในภาษากรีก แต่ที่มา ที่ไปเกี่ยวกับการรับหรือถ่ายทอดคำนั้นยังค้นไม่พบ เพราะยังขาดบริบททางภาษา เฮรอโดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ชาวกรีก เป็นบุคคลแรกที่ใช้คำ "เอเชีย" เรียกทวีป ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเขาประดิษฐ์คำนี้ขึ้น แต่เพราะข้อเขียนเรื่อง ฮิสตอรีส์ (Histories) ของเขาเป็นงานชิ้นเดียวที่บรรยายทวีปเอเชียไว้โดยละเอียดและเหลือรอดมาถึงยุคปัจจุบัน เฮรอโดตัสนิยามคำว่า "เอเชีย" เอาไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความ เขากล่าว่า เขาได้อ่านผลงานของนักภูมิศาสตร์หลายคนซึ่งปัจจุบันสาบสูญไปทั้งสิ้นแล้ว พบว่า ชาวกรีกส่วนใหญ่ถือกันว่า ชื่อทวีปเอเชียนั้นมาจากชื่อของนางฮีไซโอนี (Hesione) ภริยาของพรอมีเธียส (Prometheus) ขณะที่ชาวลิเดียถือว่า ชื่อทวีปเอเชียมาจากชื่อเจ้าชายเอเซียส (Asies) โอรสแห่งโคติส (Cotys) และนัดดาของพระเจ้าเมนีส (Manes) เฮรอโดตัสแสดงความเห็นแย้งว่า ชื่อ "เอเชีย" มาจากชื่อของพรายนางหนึ่งซึ่งเป็นเทพีประจำเมืองลิเดียตามความในเทพปกรณัมกรีก และแสดงความสงสัยไว้ว่า เหตุใดจึงเอานามสตรีสามนาง "ไปตั้งเป็นนามภูมิภาคซึ่งแท้จริงแล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" กล่าวคือ ชื่อนางยูโรปา (Europa) สำหรับยุโรป นางเอเชียสำหรับเอเชีย และนางลิเบีย (Libya) สำหรับแอฟริกา ความสงสัยข้างต้นของเฮรอโดตัสอาจเป็นเพียงการแสดงความไม่เห็นด้วยหลังจากที่ได้อ่านวรรณกรรมกรีกหลายต่อหลายฉบับและได้สดับตรับฟังถ้อยคำของคนอื่น ๆ แต่มิได้หมายความว่า เขาไม่ทราบเหตุผลที่เอาชื่อสตรีเพศไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ เพราะตามศาสนากรีกโบราณแล้ว สถานที่ทั้งปวงมีเทพารักษ์เป็นสตรี และสถานที่อื่น ๆ หลายแห่งในครั้งนั้นก็เอาชื่อสตรีมาตั้ง เช่น เอเธนส์ (Athens), ไมซีนี (Mycenae) และธีบส์ (Thebes) === ยุคสำริด === ก่อนสมัยวรรณกรรมของกรีกข้างต้น ท้องที่แถบทะเลอีเจียนนั้นตกอยู่ในยุคมืด โดยในครั้งที่เริ่มยุคมืดนี้ ผู้คนได้เลิกเขียนหนังสือเป็นพยางค์ แต่ก็ยังมิได้เริ่มใช้ตัวอักษร และนับขึ้นไปก่อนสมัยนั้นอีกซึ่งเป็นยุคสัมฤทธิ์ ปรากฏบันทึกหลายฉบับของจักรวรรดิอัสซีเรีย จักวรรดิฮิตไทต์ และรัฐไมซีเนียหลาย ๆ รัฐแห่งจักรวรรดิกรีก ที่เอ่ยถึงภูมิภาคซึ่งได้แก่เอเชียในปัจจุบัน บันทึกเหล่านี้เป็นเอกสารทางการเมืองการปกครอง ไม่มีเนื้อหาเชิงวรรณกรรมแม้แต่น้อย บรรดารัฐไมซีเนียนั้นถูกกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งทำลายจนล่มจมไปทั้งสิ้นเมื่อราว ๆ 1200 ปีก่อนคริสตกาล กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้ใดแท้จริงยังไม่ทราบ แต่ก็มีสำนักทางความคิดสำนักหนึ่งถือสืบ ๆ กันมาจนบัดนี้ว่า เป็นการรุกรานของชาวดอริส (Dorian invasion) การที่หมู่พระราชวังถูกเพลิงเผาพลาญนั้นส่งผลให้เหล่าบันทึกทางการเมืองการปกครองข้างต้นซึ่งจารด้วยอักษรกรีกลงบนแผ่นดินเหนียวถูกอบเป็นแผ่นแข็ง แผ่นจารึกเหล่านี้ต่อมาได้รับการถอดรหัสโดยคณะผู้สนใจคณะหนึ่ง ซึ่งรวมถึงนักวิทยาการเข้ารหัสลับผู้เยาว์รายหนึ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คือ ไมเคิล เวนทริส (Michael Ventris) ผู้ซึ่งต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากนักวิชาการจอห์น ชัดวิก (John Chadwick) ในการบุกเบิกท้องที่แถบนี้ นักโบราณคดีคาร์ล เบลเกน (Carl Blegen) ได้พบกรุสมบัติขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ณ ซากเมืองพีลอส (Pylos) ในกรุนี้มีบัญชีรายชื่อบุคคลหญิงชายจำนวนมากซึ่งทำขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายประการ หญิงชายจำนวนหนึ่งในกลุ่มที่ปรากฏนามในบัญชีข้างต้นถูกเอาตัวลงเป็นทาส และถูกใช้งานในการค้าขาย เช่น ให้เย็บปักถักร้อย โดยในเวลาที่ถูกเกณฑ์มา ลูกเล็กเด็กแดงของพวกเขามักถูกนำพามาด้วย คนทั้งนั้นถูกเรียกด้วยถ้อยคำหยาบช้าเพื่อใช้บ่งบอกถึงแหล่งกำเนิดของพวกเขา เช่น มีการใช้ว่า "aswiai" แปลว่า นางคนเอเชีย (women of Asia) ข้อนี้ เบื้องต้นมีการตั้งข้อสังเกตว่า พวกเขาถูกจับถูกคร่ามาจากเอเชีย แต่เมื่อปรากฏว่า บางคนถูกพามาจากแห่งอื่นก็มี เช่น กลุ่มที่เรียก "ไมลาเทีย" (Milatiai) นั้นมาจากอาณานิคมไมเลทัส (Miletus) ของกรีก ชัดวิกจึงตั้งสมมุติฐานว่า บัญชีรายชื่อข้างต้นระบุถึงสถานที่ที่คนเหล่านี้ถูกซื้อขาย มากกว่าจะเป็นสถานที่ที่ได้ตัวมา คำว่า "aswiai" เป็นอิตถีลึงค์ซึ่งเป็นพหูพจน์ ส่วนอิตถีลึงค์เอกพจน์คือ "aswia" ซึ่งใช้เป็นทั้งชื่อประเทศประเทศหนึ่งและเป็นคำเรียกสตรีของประเทศนี้ด้วย และปุรุสลึงค์คือ "aswios" ในการนี้ ปรากฏว่า ประเทศ Aswia คือ สันนิบาตอัสสุวา (Assuwa league) ซึ่งเป็นสหพันธรัฐตั้งอยู่ตอนกลางของจักรวรรดิลิเดีย หรือทางตะวันตกของบริเวณแอนาโทเลีย (Anatolia) หรือที่เรียกกันว่า "เอเชียโรมัน" (Roman Asia, คือ ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) และถูกชาวฮิตไทต์ในรัชสมัยพระเจ้าทุดฮาลิยาที่ 1 (Tudhaliya I) ยึดครองเมื่อราว ๆ 1400 ปีก่อนคริสกาล จึงมีผู้เสนอว่า ชื่อทวีปเอเชียอาจมาจากชื่อสันนิบาตดังกล่าวก็เป็นได้ ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับที่มาที่ไปของคำว่า "เอเชีย" ว่า คำนี้อาจมาจากคำในภาษาแอกแคด (Akkadian) ว่า "" มีความหมายว่า ออกไป (go outside) หรือ ขึ้น (ascend) สื่อว่า เป็นทิศทางที่ดวงตะวันขึ้นสู่ฟากฟ้าในภูมิภาคตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่า คำดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับคำในภาษาฟีนิเชีย (Phoenician) ว่า "asa" ซึ่งหมายถึง ตะวันออก ตรงกันข้ามกับชื่อทวีปยุโรปซึ่งตั้งสมมุติฐานกันว่า มาจากคำในภาษาแอกแคดว่า "erēbu (m)" ซึ่งหมายความว่า เข้าไป (enter) หรือ ลง (set) สื่อถึงอาการที่ตะวันตก ที.อาร์. เรด นักประพันธ์ชาวอเมริกัน สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ เขากล่าวว่า คำ "เอเชีย" ในภาษากรีกนั้นต้องมาจากคำ "asus" ในภาษาอัสซีเรียที่หมายความว่า ตะวันออก เป็นแน่ ตรงกันข้ามกับคำ "ยุโรป" ที่มาจากคำ "ereb" ในภาษาเดียวกัน หมายถึง ตะวันตก ส่วนนักภาษาศาสตร์ดักลัส ฮาร์เปอร์ (Douglas Harper) บันทึกว่า "เอเชีย" มาจากภาษาละตินซึ่งมาจากภาษากรีก ว่ากันว่ามาจากคำ asu ในภาษาแอกแคด แปลว่า 'ออกไป, ขึ้น' ซึ่งสื่อถึงดวงตะวัน ฉะนั้น เอเชียแปลว่า 'แดนอาทิตย์อุทัย' (the land of the sunrise)" == ภูมิศาสตร์เอเชีย == == ที่สุดในทวีปเอเชีย == {|class="wikitable" |- ! จุดที่สุดในทวีปเอเชีย !! สถานที่ !! ประเทศ/ทวีป !! หมายเหตุ |- |จุดเหนือสุด:||แหลมเชลยูสกิล||ประเทศรัสเซีย|| |- |จุดใต้สุด:||เกาะปามานา||ประเทศอินโดนีเซีย|| |- |จุดตะวันออกสุด:||แหลมเดจนอวา ||ประเทศรัสเซีย|| |- |จุดตะวันตกสุด:||แหลมบาบา||ประเทศตุรกี|| |- |ยอดเขาที่สูงที่สุด:||ยอดเขาเอเวอเรสต์*||เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก||ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย |- |แม่น้ำสายยาวที่สุด:||แม่น้ำแยงซี||ประเทศจีน|| |- |เกาะที่ใหญ่ที่สุด:||เกาะบอร์เนียว||ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน|| |- |แอ่งน้ำใหญ่ที่สุด:||แม่น้ำอ็อบ||ประเทศรัสเซีย|| |- |ทะเลสาบใหญ่ที่สุด:||ทะเลแคสเปียน*||เอเชียกลางและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้|| |- |ผิวน้ำต่ำที่สุด:||ทะเลเดดซี*||ประเทศอิสราเอลและจอร์แดน||ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 400 เมตร |- |ผืนแผ่นดินต่ำที่สุด:||ทะเลสาบไบคาล*||ไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย||ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,750 เมตร |- |ปริมาณน้ำฝนสูงที่สุด:||รัฐอัสสัม*||ประเทศอินเดีย||10,719 มิลลิเมตรต่อปี |} เป็นข้อมูลที่สุดในโลกด้วย == การแบ่งภูมิภาค == ทวีปเอเชียนอกจากจะเป็นอนุภูมิภาคของยูเรเชีย ยังอาจแบ่งออกเป็นส่วนย่อยดังนี้ === เอเชียเหนือ === นักภูมิศาสตร์ใช้คำนี้น้อยมาก แต่โดยปกติหมายถึงรัสเซีย เรียกอีกอย่างว่าไซบีเรีย บางครั้งรวมถึงประเทศทางตอนเหนือของเอเชียด้วย เช่น คาซัคสถาน === เอเชียกลาง === เอเชียกลาง เป็นภูมิภาคที่เกิดขึ้นใหม่จากประเทศต่าง ๆ ที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต (เฉพาะที่มีเขตแดนอยูในทวีปเอเชีย) มีขนาดพื้นที่ประมาณ 4,021,431 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 61,551,945 คน (กุมภาพันธ์ 2553) เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อันกว้างใหญ่ของภูมิภาค เอเชียกลางจึงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยอย่างเบาบางที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (เฉลี่ยทั้งภูมิภาค 15 คนต่อตารางกิโลเมตร) และเหตุที่ประเทศภูมิภาคเอเชียกลางไม่มีทางออกสู่ทะเล การส่งออกและการค้าของเอเชียกลางจึงพัฒนาอย่างช้า ๆ โดยประเทศส่งออกหลักของกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ได้แก่ รัสเซีย ยุโรปตะวันออก และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ลักษณะภูมิประเทศของเอเชียกลางเป็นแบบที่ราบสูง แต่จะมีที่ราบลุ่มบริเวณทะเลแคสเปียน ด้านศาสนา ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียกลางนับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ === เอเชียตะวันออก === เอเชียตะวันออก หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 11,640,000 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 15 และ 20 ของพื้นที่ทั้งหมดของทวีปเอเชีย นับเป็นภูมิภาคย่อยซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในทวีปเอเชีย ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ประเทศจีน มีพื้นที่ประมาณ 9,584,492 ตารางกิโลเมตร เอเชียตะวันออกมีประชากรมากกว่า 1,500 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 40 ของของชาวเอเชียทั้งหมด หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อัตราความหนาแน่นของประชากรในเอเชียตะวันออกอยู่ที่ 230 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราความหนาแน่นโดยเฉลี่ยของประชากรโลกถึง 5 เท่า ประเทศที่มีประชากรมากที่สุด คือ ประเทศจีน มีประชากรประมาณ 1,322,044,605 หรือร้อยละ 85 ของประชากรในภูมิภาค ส่วนประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด คือ ไต้หวัน ความหนาแน่นเฉลี่ย 626.7 คนต่อตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ เอเชียตะวันออกยังเป็นภูมิภาคที่ได้ชื่อว่าเจริญที่สุดในทวีปเอเชีย เพราะเป็นภูมิภาคเดียวที่การทำอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน ส่วนประเทศมองโกเลียและเกาหลีเหนือ อุตสาหกรรมยังไม่ค่อยพัฒนานัก เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของเอเชียตะวันออก ได้แก่ โตเกียว ฮิโระชิมะ นะงะซะกิ โซล ปูซาน ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ไทเป อินช็อน เทียนสิน ฮ่องกง เป็นต้น === เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ === เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ เอเชียอาคเนย์ มีพื้นที่ประมาณ 4,600,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 593,000,000คน (2008) ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 116.5 คนต่อตารางกิโลเมตร มีที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ประกอบด้วยประเทศ 11 ประเทศ ลักษณะทำเลที่ตั้งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร ส่วนภาคพื้นทวีป ได้แก่ พม่า ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และมาเลเซียตะวันตก และภาคพื้นสมุทร ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียตะวันออก ติมอร์-เลสเต บรูไน และสิงคโปร์ ลักษณะภูมิประเทศแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำ (ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) ที่ราบสูง (ที่ราบสูงในรัฐฉาน เทือกเขายะไข่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของลาว ตอนเหนือของมาเลเซียตะวันตก) และ เขตหมู่เกาะ (หมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ เกาะสิงคโปร์) โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นแบบเกษตรกรรม ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไนซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปมาก ในขณะเดียวกันทุกประเทศก็พัฒนาอุตสาหกรรมจนมีความก้าวหน้าไปมาก เช่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในปัจจุบัน กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเมืองใหญ่ที่สำคัญหลายเมือง เช่น จาการ์ตา (เมืองใหญ่ที่สุดในภูมิภาค) กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สงขลา โฮจิมินห์ซิตี ฮานอย ปูตราจายา กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ บันดาร์เซอรีเบอกาวัน ภูเก็ต เป็นต้น === เอเชียใต้ === เอเชียใต้ หรือ ชมพูทวีป หรือ อนุทวีป เป็นทวีปที่อยู่ทางใต้ของทวีปเอเชีย เป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เอเชียใต้มีพื้นที่ประมาณ 5,180,000 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 10 ของทวีปเอเชีย ภูมิภาคนี้ยังเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก มีจำนวนประชากรกว่า 1 พันล้านคนอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งคิดเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 1 ใน 3 ของชาวเอเชียทั้งหมด หรือ 1 ใน 5 ของประชากรโลก อัตราความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ 305 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าอัตราความหนาแน่นโดยเฉลี่ยของประชากรโลกถึง 7 เท่า ประเทศที่มีประชากรมากที่สุด คือ ประเทศอินเดีย (1,198,003,000 คน) ลักษณะภูมิประเทศของเอเชียใต้ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง (เช่นที่ราบสูงเดกกันในประเทศอินเดีย) และยังมีที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา (ในประเทศอินเดีย) ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ (ในประเทศปากีสถาน) และที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร (ในประเทศบังกลาเทศ) ทางตอนเหนือของเอเชียใต้ติดกับที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย ทำให้มีอากาศหนาวเย็น ด้านเศรษฐกิจ ทุกประเทศยังมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรม อุตสาหกรรมยังไม่พัฒนามากนัก มีเพียงอินเดียชาติเดียวที่พัฒนาอุตสาหกรรมได้เจริญรุ่งเรือง เพราะได้รับการช่วยเหลือจากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน นอกจากนี้ ภาษาที่ใช้ในเอเชียใต้มีมากถึง 800 ภาษา แต่ภาษากลางจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียใต้ คือ มุมไบ ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตะวันตกของประเทศอินเดีย {|class="wikitable" ! ธงชาติ ! ประเทศ ! เมืองหลวง ! พื้นที่ (ตร.กม.) ! ประชากร |- ||||อินเดีย||นิวเดลี||3,287,240|| |- ||||ปากีสถาน||อิสลามาบาด||803,940|| |- ||||อัฟกานิสถาน||คาบูล||647,500|| |- ||||บังกลาเทศ||ธากา||147,570|| |- ||||เนปาล||กาฐมาณฑุ||147,181|| |- ||||ศรีลังกา||ศรีชยวรรธนปุระโกฏเฏ||65,610|| |- ||||ภูฏาน||ทิมพู||48,394|| |- ||||มัลดีฟส์||มาเล||300|| |} === เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ === เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หรือ ตะวันออกกลาง หรือ เอเชียตะวันตก มีพื้นที่ประมาณ 6,835,434 ตารางกิโลเมตร เป็นดินแดนที่ปกคลุมไปด้วยทะเลทรายแห้งแล้งกว้างใหญ่ ในภูมิภาคนี้ยังมีแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นแหล่งอารยธรรมโลก คือ แม่น้ำไทกริส-ยูเฟรทีสในประเทศอิรัก เป็นบริเวณที่มีการทำการเกษตรได้ดีที่สุด ด้วยลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ดินแดนแถบนี้จึงอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน ทำให้น้ำมันกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศในแถบนี้ อย่างไรก็ตาม เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ยังให้กำเนิดศาสนาที่สำคัญ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาย และศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าดินแดนแถบนี้จะแห้งแล้ง แต่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เพราะมีอาณาเขตติดต่อกับทวีปแอฟริกาทางด้านตะวันตก และทวีปยุโรปทางตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ลักษณะภูมิประเทศของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง (เช่น ที่ราบสูงอิหร่านและที่ราบสูงอานาโตเลีย) นอกจากนี้ ยังมีบริเวณที่เป็นคาบสมุทรที่สำคัญ คือ คาบสมุทรอาหรับ ลักษณะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ คือ อุตสาหกรรมน้ำมัน (โดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก) ประเทศที่มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมมากที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ ตุรกี ตุรกี ไซปรัส อาร์มีเนีย จอร์เจีย อิสราเอล ปาเลสไตน์ และอาเซอร์ไบจาน อาจถูกจัดให้อยู่ในทวีปยุโรปในบางครั้ง เนื่องจากมีลักษณะทางวัฒนธรรมจากทวีปยุโรปมากกว่าทวีปเอเชีย == ประชากร == ประชากรของเอเชียมีประชากรร้อยละ 60 ของประชากรโลก ทวีปเอเชียประกอบด้วยหลายเผ่าพันธุ์ จำแนกตามเชื้อชาติได้ดังนี้ เผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ แบ่งได้เป็น 2 พวก * พวกมองโกลอยด์เหนือ เป็นพวกผิวเหลืองและเป็นประชากรส่วนมากของทวีปเอเชีย อาศัยตามทางเอเชียเหนือและทางเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย เกาหลี เป็นต้น * พวกมองโกลอยด์ใต้ เป็นพวกผิวเหลืองอาศัยอยู่ตามทางตอนเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น เผ่าพันธุ์คอเคซอยด์ เป็นพวกผิวขาว รูปร่างสูงใหญ่เหมือนชาวทวีปยุโรป แต่ตาและผมสีเข้มกว่า อาศัยอยู่ในเขตเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคเหนือของปากีสถานและอินเดีย เช่น ชนชาติอาหรับ ปากีสถาน เนปาล และบางส่วนของชาวอินเดีย เผ่าพันธุ์นิกรอยด์ เป็นพวกผิวดำ มีรูปร่างเล็ก ผมหยิก เช่น บางส่วนของอินเดีย ศรีลังกา และหมู่เกาะต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ == เศรษฐกิจ == ตารางแสดงประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจหรือจีดีพีมากที่สุดในทวีปเอเชีย 10 อันดับแรก ข้อมูลโดย IMF ตารางแสดงประเทศในทวีปเอเชียที่มีจีดีพีต่อหัวมากที่สุด 10 อันดับแรก ข้อมูลโดย IMF === เอเชียกลาง === เกษตรกรรม: พื้นที่ซึ่งมีการเกษตรกรรมหนาแน่นคือบริเวณหุบเขาลุ่มแม่น้ำฝั่งตะวันออก เช่น หุบเขาเฟียร์กานา มีการปลูกธัญพืชและผลไม้ต่างๆ เช่น พีช แตงโม แอพริคอต การเลี้ยงสัตว์ก็ถือเป็นอาชีพสำคัญ โดยเลี้ยงแพะ แกะ และวัว ไร้ฝ้ายขนาดใหญ่ก็เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับการชลประทานจากแม่น้ำอามูดาร์ยา อุตสาหกรรม: ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียกลางยังคงยากจน เพราะไม่มีชายฝั่งทะเล เศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาเกษตรกรรม พาณิชยกรรม: คู่ค้าสำคัญ: === เอเชียตะวันออก === เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีการพัฒนาอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปมาก (ยกเว้นประเทศมองโกเลียและเกาหลีเหนือที่อุตสาหกรรมยังไม่พัฒนามากนัก) ซึ่งได้รับการยอมรับจากตลาดโลกอย่างกว้างขวาง สรุปได้ดังนี้ อุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก มีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย มีการผลิตทั้งอุตสาหกรรมขนาดหนักและอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การต่อเรือ การผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เมืองอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว ฮิโระชิมะ โอะซะกะ นะโงะยะ นะงะซะกิ โยะโกะฮะมะ เป็นต้น อุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ ประเทศเกาหลีใต้ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรวดเร็วมากจนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย (รองจากญี่ปุ่น) อุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ได้แก่ การต่อเรือ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น เมืองอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางและตอนล่างของประเทศ เช่น โซล ปูซาน อุตสาหกรรมในจีน ประเทศจีน สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้รวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากวัตถุดิบมีมาก ค่าจ้างแรงงานต่ำ และนโยบายของรัฐบาลที่เชิญญชวนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อาวุธสงคราม การทอผ้า รถบรรทุก ฯลฯ เมืองอุตสาหกรรมของประเทศจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนสิน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น อุตสาหกรรมในไต้หวัน อุตสาหกรรมของไต้หวัน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบาและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ของเล่นเด็ก เมืองหลักของอุตสาหกรรมไต้หวัน คือ ไทเป พาณิชยกรรม กรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่นและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของประเทศจีน เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม การประมง การประมงน้ำจืด: ประเทศจีนเป็นผู้นำในการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด โดยมีแหล่งประมงที่สำคัญอยู่ที่แม่น้ำแยงซีและมณฑลกวางตุ้ง การประมงน้ำเค็ม: ประเทศญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีการทำประมงทางทะเลมากที่สุดในโลก มีเรือประมงที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีก้าวหน้า แหล่งสำคัญอยู่ที่ คูริลแบงก์ ทางเหนือของเกาะฮกไกโด การทำป่าไม้: การทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในประเทศจีน: มีการทำป่าไม้ในภาคเหนือของประเทศ แถบมณฑลเฮย์หลงเจียงและมณฑลเสฉวน การทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในประเทศญี่ปุ่น: เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกที่มีการพัฒนาการทำป่าไม้ไปมาก === เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ === เกษตรกรรม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด การเพาะปลูกเพื่อยังชีพ: เป็นการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม อาศัยฝนตามธรรมชาติ ใช้ความรู้หรือเทคโนโลยีมาช่วยไม่มากนัก เช่น การเพาะปลูกในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ติมอร์-เลสเต เป็นต้น การเพาะปลูกเพื่อการค้า: เป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาดโลก ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรกรรมได้มาก โดยเฉพาะข้าว ประเทศที่ปลูกข้าวมาก ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น การทำเหมืองแร่::แร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ ดีบุก น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โดยประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศที่ส่งออกดีบุกมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมากที่สุดในโลก และน้ำมันก็เป็นสินค้าส่งออกของหลาย ๆ ประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังพบก๊าซธรรมชาติมากในอ่าวไทยในประเทศไทยและอ่าวเมาะตะมะในประเทศพม่า อุตสาหกรรม: ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมเท่าที่ควร เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน และความรู้ทางเทคโนโลยี ยกเว้นสิงคโปร์ซึ่งอุตสาหกรรมได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพอุตสาหกรรมจึงยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร พาณิชยกรรม: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งการค้าสำคัญอีกแห่งหนึ่ง อันเนื่องมาจาก การขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาค และในภูมิภาคก็ยังมีสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น ยางพารา ดีบุก น้ำมันปาล์ม ข้าวโพด ข้าวเจ้า ฯลฯ เมืองที่เป็นศูนย์กลางของพาณิชยกรรมของภูมิภาคนี้ คือ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพมหานคร และจาการ์ตา เป็นต้น การประมง: สภาวะทางธรรมชาติทั่วไปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งที่อุดมด้วยสัตว์น้ำ ทั้งแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย การประมงจึงเป็นอาชีพสำคัญของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกอาชีพหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเล ในปัจจุบัน ทุกประเทศได้ขยายน่านน้ำเศรษฐกิจจำเพาะจาก 12 ไมล์ทะเล เป็น 200 ไมล์ทะเล ทำให้จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น แต่การจับสัตว์น้ำในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เสียสมดุลทางธรรมชาติ ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่จับปลาได้มากเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมา คือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ตามลำดับ การทำป่าไม้ ประเทศที่มีผลผลิตจากป่าไม้ ได้แก่ ประเทศมาเลเซียและพม่า เนื่องจากมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ === เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ === เกษตรกรรม: อุตสาหกรรม: พาณิชยกรรม: การประมง: คู่ค้าสำคัญ: == ดูเพิ่ม == เอเชียนเกมส์ - การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย เอเชียนคัพ - การแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศในเอเชีย == อ้างอิง == ==บรรณานุกรม== ==อ่านเพิ่ม== Embree, Ainslie T., ed. Encyclopedia of Asian history (1988) *vol. 1 online; vol 2 online; vol 3 online; vol 4 online Higham, Charles. Encyclopedia of Ancient Asian Civilizations. Facts on File library of world history. New York: Facts On File, 2004. Kamal, Niraj. "Arise Asia: Respond to White Peril". New Delhi: Wordsmith, 2002, Kapadia, Feroz, and Mandira Mukherjee. Encyclopaedia of Asian Culture and Society. New Delhi: Anmol Publications, 1999. Levinson, David, and Karen Christensen, eds. Encyclopedia of Modern Asia. (6 vol. Charles Scribner's Sons, 2002). ==แหล่งข้อมูลอื่น== ทวีป
thaiwikipedia
730
ทวีปอเมริกาเหนือ
อเมริกาเหนือ (North America) เป็นทวีปที่มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในซีกโลกเหนือและเกือบทั้งหมดในซีกโลกตะวันตก; เป็นอนุทวีปทางเหนือของทวีปอเมริกา ทางเหนือติดกับมหาสมุทรอาร์กติก ทางตะวันออกติดมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิก ทางใต้ติดกับทวีปอเมริกาใต้และทะเลแคริบเบียน ทวีปอเมริกาเหนือมีพื้นที่ประมาณ 24,709,000 ตารางกิโลกเมตร หรือคิดเป็น 16.5% ของผืนดินและคิดเป็น 4.8% ของผิวโลก ทวีปอเมริกาเหนือใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา และมีประชากรเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากเอเชีย แอฟริกาและยุโรป ในปี 2013 ประชากรประมาณ 579 ล้านคนในรัฐอิสระ 23 แห่งคิดเป็น 7.5% ของประชากรโลก หากรวมหมู่เกาะใกล้เคียง (อาทิแคริบเบียน) ทวีปอเมริกาเหนือแบ่งเป็นภูมิภาคย่อยได้หลายภูมิภาค เช่น แคริบเบียน อเมริกาเหนือ อเมริกากลางซึ่งแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนตามขอบเขตของประเทศโดยมีแม่น้ำรีโอแกรนด์เป็นแนวเขตแดน ทวีปอเมริกาเหนือมีประชากรมนุษย์เป็นครั้งแรกในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดโดยเดินทางผ่านสะพานแผ่นดินเบอรินเจียเมื่อประมาณ 40,000 ถึง 17,000 ปีก่อน ประชากรมนุษย์กลุ่มนี้รู้จักกันในชื่อพาลีโอ-อินเดียนซึ่งอยู่ในช่วง 10,000 ปีก่อน (จุดเริ่มต้นของยุคอาร์เคอิกหรือเมสโซ-อินเดียน) คลาสสิกสเตจมีช่วงเวลาประมาณคริสต์ศตวรรษ 6 ถึง 13 ศตวรรษ ยุคก่อนโคลัมเบียนสิ้นสุดใน ค.ศ. 1492 และเริ่มมีการอพยพและการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปในช่วงยุคแห่งการสำรวจและช่วงต้นของยุคกลางทำให้รูปแบบวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของการตั้งอาณานิคมของยุโรปในอเมริกาเหนือ เช่น ชาวผิวขาว ชาวพื้นเมือง ทาสชาวแอฟริกาและกลุ่มชนรุ่นหลัง อิทธิพลของชาวยุโรปมีมากที่สุดในบริเวณทางเหนือของทวีปขณะที่อิทธิพลของชนพื้นเมืองและชาวแอฟริกันมีมากบริเวณภาคใต้ของทวีป == ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ == ทวีปอเมริกาเหนือเป็นทวีปที่พบใหม่ แต่พบว่ามีชนชาวเอเชียอพยพผ่านเข้าไปในอเมริกาเหนือทาง ช่องแคบแบริง เมื่อประมาณ 35000-12000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่ง คือชาวอเมริกัน-อินเดียน โดยมีการค้นพบเครื่องมือหินเป็นหลักฐาน ต่อจากนั้นมีการอพยพลงใต้ ทำให้เริ่มมีชนเผ่าพื้นเมืองตั้งแต่เหนือสุดลงไปสู่ทางทิศใต้ของอเมริกาเหนือ == ดินแดนและภูมิภาคย่อย == แผ่นดินผืนใหญ่ของทวีปประกอบไปด้วย 3 ประเทศใหญ่คือ แคนาดา,สหรัฐอเมริกาและ เม็กซิโก พื้นที่ทางใต้ของทวีปซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าซึ่งอาจเรียกเป็นภูมิภาคย่อยว่าอเมริกากลาง ในภูมิภาคอเมริกากลางนี้ประกอบได้ด้วย เบลีซ, คอสตาริกา, เอลซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, นิการากัว และปานามา นอกจากพื้นที่บนผืนทวีปแล้วยังมีหมู่เกาะจำนวนมากซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับแผ่นดินใหญ่ของทวีปดินแดนหมู่เกาะที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่มักจะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า แคริบเบียน ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศอิสระคือ แอนทีกาและบาร์บิวดา, บาฮามาส, บาร์เบโดส, คิวบา, ดอมินีกา, สาธารณรัฐโดมินิกัน, กรีเนดา, เฮติ, จาเมกา, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเชีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ และตรินิแดดและโตเบโก และดินแดนภายใต้ความคุ้มครองได้แก่ แองกวิลลา (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), อารูบา (ดินแดนของเนเธอร์แลนด์), หมู่เกาะเคย์แมน (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), กัวเดอลุป (ดินแดนของฝรั่งเศส), มาร์ตีนิก (ดินแดนของฝรั่งเศส), มอนต์เซอร์รัต (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), เกาะนาแวสซา (ดินแดนของสหรัฐ), กือราเซา (ดินแดนของเนเธอร์แลนด์), ปวยร์โตรีโก (ดินแดนของสหรัฐ), หมู่เกาะเติกส์และเคคอส (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), หมู่เกาะเวอร์จิน (ดินแดนของสหรัฐ) และซินต์มาร์เติน (ดินแดนของเนเธอร์แลนด์) หมู่เกาะซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในทวีปอเมริกาเหนือด้วยได้แก่ เบอร์มิวดา (ดินแดนของสหราชอาณาจักร), กรีนแลนด์ (ดินแดนของเดนมาร์ก) และแซ็งปีแยร์และมีเกอลง (ดินแดนของฝรั่งเศส) === ตารางรายชื่อประเทศและดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ === == ที่ตั้ง ขนาด และอาณาเขต == === ที่ตั้ง === ทวีปอเมริกาเหนือตั้งอยู่ในเขตซีกโลกเหนือระหว่างละติจูด 7 องศา 15 ลิปดาเหนือถึง 83 องศา 38 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูด 55 องศา 42 ลิปดาตะวันตกถึง 172 องศา 30 ลิปดาตะวันตก ทวีปอเมริกาเหนือมีพื้นที่ประมาณ 22,063,997 ตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกาตามลำดับ บริเวณที่กว้างที่สุดของทวีป คือ ตั้งแต่ช่องแคบเบริงถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ ส่วนบริเวณที่ยาวที่สุดของทวีป คือตั้งแต่คาบสมุทรบูเทียถึงคอคอดปานามา ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของทวีป คือกว้างประมาณ 74 กิโลเมตร ทวีปอเมริกาเหนือ มีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมหัวกลับ คือมีฐานกว้างอยู่ทางด้านเหนือและปลายแหลมอยู่ทางตอนใต้ ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือมีทั้งหมด 23 ประเทศ โดยแบ่งออกส่วน 3 ส่วนคือ แองโกลอเมริกา ได้แก่ ประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำริโอแกรนด์ขึ้นไป ลาตินอเมริกา ได้แก่ ประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำริโอแกรนด์ลงมา หมู่เกาะเวสต์อินดีส ได้แก่ ประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน === อาณาเขต === ทวีปอเมริกาเหนือมีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ - จดมหาสมุทรอาร์กติกและทะเลโบฟอร์ด ทิศตะวันออก - จดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศใต้ - ติดต่อกับทวีปอเมริกาใต้ ทิศตะวันตก - จดมหาสมุทรแปซิฟิกและช่องแคบเบริงที่กั้นระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปเอเชีย == ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ == {|class="wikitable" |- ! จุดที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ !! สถานที่ !! รัฐ/ประเทศ |- |จุดเหนือสุด:||แหลมมอริสเจซุป||กรีนแลนด์ |- |จุดใต้สุด:||แหลมมาเรียโต||เบรากวัส/ปานามา |- |จุดตะวันออกสุด:|||แหลมเซนต์ชาร์ลส์||นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์/แคนาดา |- |จุดตะวันตกสุด:||แหลมพรินซ์ ออฟเวลส์||อะแลสกา/ สหรัฐอเมริกา |- |ยอดเขาที่สูงที่สุด:||ยอดเขาเดนาลีหรือแมกคินลีย์||อะแลสกา/สหรัฐอเมริกา |- |แม่น้ำที่ยาวที่สุด:||แม่น้ำมิสซิสซิปปิ||สหรัฐอเมริกา |} == เขตภูมิประเทศของทวีปอเมริกาเหนือ == ทวีปอเมริกาเหนือมีลักษณะทางกายภาพเป็นแผ่นดินใหญ่และเกาะขนาดต่างกันจำนวนมาก มีพื้นที่เป็นอ่าว ทะเล ซึ่งเป็นส่วนของมหาสมุทรอาร์กติก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิก บนแผ่นดินใหญ่มีพื้นที่เป็นเทือกเขา ทิวเขา ที่ราบสูง ที่สูง ที่ราบ และอื่นๆ แบ่งลักษณะภูมิประเทศได้ 7 เขต ดังนี้ === เขตเทือกเขาสูงและที่ราบสูงด้านตะวันตก === ได้แก่ เทือกเขาที่วางตัวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในแนวเหนือ - ใต้ ตั้งแต่เหนือสุดไปจนใต้ของทวีป และต่อเนื่องลงไปถึงเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้ ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสุดสลับซับซ้อนหลายแนว ที่สำคัญเช่น เทือกเขาร็อกกี , เทือกเขาอะแลสกา , เทือกเขาบรุกส์ , เทือกเขาโคสต์ , และเทือกเขาเชียร์เนวาดา ในประเทศสหรัฐอเมริกา เทือกเขาแมกเคนซีในประเทศแคนาดา เทือกเขาเชียร์รามาเดรออกซิเดนตัลในประเทศเม็กซิโกมียอดเขาแมกคินลีย์บนเทือกเขาอะแลสกาเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ คือ มีระดับความสูง 6,194 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ในระหว่างเทือกเขาสูงที่ต่อเนื่องกันจะพบที่ราบสูงคั่นอยู่ระหว่างเทือกเขา ที่สำคัญเช่น ที่ราบสูงอะแลสกา , ที่ราบสูงเกรตเบซิน , ที่ราบสูงโคโลราโด , ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ราบสูงบริดิชโคลัมเบียในประเทศแคนาดา ที่ราบสูงแม็กซิโกในประเทศแม็กซิโก === บริเวณคะเนเดียนชีลด์ (Canadian Shield) === เป็นพื้นที่ของหินฐานทวีปซึ่งกำเนิดในมหายุคพรีแคมเบรียน (Precambrian) มีอายุมากกว่า 541 ล้านปีมาแล้ว ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง นับตั้งแต่ลุ่มน้ำแมกเคนซีไปทางตะวันออกจนถึงคาบสมุทรแลบราดอร์ เนื่องจากมีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่มาเป็นเวลานาน จึงผ่านการครูดถูบนผิวหินจากการกระทำของธารน้ำแข็ง ทำให้ในปัจจุบันเกิดเป็นภูมิประเทศ 3 แบบ ดังนี้ ==== ที่ราบรอบอ่าวฮัดสัน ==== มีตะกอนเป็นเศษหิน ทราย และดินที่ธารน้ำแข็งพามาสะสมอยู่ในพื้นที่ราบ ==== ทะเลสาบ ==== มีทะเลสาบขนาดเล็กและใหญ่บริเวณตอนใต้ของที่ราบอ่าวฮัดสัน เกิดจากกระบวนการกระทำของธารน้ำแข็ง ได้แก่ กลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ ทะเลสาบเกรตแบร์ และทะเลสาบวินนิเพก ==== ที่สูงลอเรนเชียน (Laurentian) ==== เป็นพื้นที่ที่มีความสูงเหลืออยู่จากการกร่อนโดยธารน้ำแข็ง มีภูเขาสูงและทะเลสาบ จำนวนมาก === เทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachians) === ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของทวีปทอดแนวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก กำเนิดจากการยกตัวขึ้นของชั้นหิน ทำให้เปลือกโลกสูงขึ้นเป็นเทือกเขาแอปพาเลเชียน เมื่อประมาณ 400 ล้านปีที่แล้ว ประกอบด้วย ทิวเขาต่างๆ ได้แก่ ทิวเขาไวต์ ทิวเขากรีน ทิวเขาแคตสกิลล์ ทิวเขาแอลลิเกนี ทิวเขาบลูริดจ์ และทิวเขาคัมเบอร์แลนด์ === ที่ราบเกรตเพลนส์ (Great Plains) === เป็นที่ราบเชิงเขากว้างใหญ่ด้านทิศตะวันออกของระบบเทือกเขาร็อกกี เกิดจาก เศษหิน ทราย และดินที่แตกกระจัดกระจายอยู่เชิงเขาแล้วถูกกระแสน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ พาตะกอน กรวด หิน ทรายสะสมตัวทิ้งไว้ เนื่องจากกระแสน้ำลดปริมาณและความเร็วลง == อ้างอิง == หมายเหตุ อ้างอิง == แหล่งข้อมูลอื่น == Houghton Mifflin Company, "North America" Interactive SVG version of Non-Native American Nations Control over N America 1750–2008 animation ภูมิภาคในทวีปอเมริกา ทวีป
thaiwikipedia
731
ทวีปแอฟริกา
แอฟริกา (Africa) เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย ทั้งในแง่ของขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร ด้วยพื้นที่ประมาณ 30.3 ล้านตารางกิโลเมตร รวมทั้งเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ข้างเคียง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 6% ของพื้นผิวโลกทั้งหมด และนับเป็นพื้นที่ประมาณ 20.4% ของพื้นดินทั้งหมด ใน ค.ศ. 2018 แอฟริกามีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน นับเป็น 16% ของประชากรโลก ประชากรในแอฟริกาเป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก ใน ค.ศ. 2012 ค่ามัธยฐานของอายุประชากรอยู่ที่ 19.7 ปี ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 30.4 ปี แม้ว่าแอฟริกาจะมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ว่ารายได้ประชากรต่อหัวของทวีปกลับต่ำที่สุดในโลกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ อุปสรรคเชิงภูมิศาสตร์, ผลกระทบจากลัทธิล่าอาณานิคม, สงครามเย็น, ความไม่เป็นประชาธิปไตย และ นโยบายที่ผิดพลาด แม้ว่าความมั่งคั่งของทวีปจะต่ำ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจพร้อมกับจำนวนประชากรอายุน้อยจำนวนมากในปัจจุบัน ทำให้แอฟริกาเป็นตลาดเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ทวีปแอฟริกาถูกล้อมรอบด้วยทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือ คลองสุเอซและทะเลแดงบริเวณคาบสมุทรไซนายทางตะวันออกเฉียงเหนือ มหาสมุทรอินเดียทางตะวันออก และมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตก เกาะมาดากัสการ์และเกาะเล็กรอบ ๆ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทวีป แอฟริกาประกอบด้วย 54 รัฐเอกราช 8 ดินแดน และ 2 รัฐที่ยังไม่ถูกยอมรับโดยสหประชาชาติโดยพฤตินัย แอลจีเรียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในทวีป ส่วนไนจีเรียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ประเทศในทวีปแอฟริกาได้ร่วมมือกันจัดตั้งสหภาพแอฟริกาขึ้น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาดดิสอาบาบา แอฟริกามีเส้นศูนย์สูตรผ่านกลางทวีปและมีเขตภูมิอากาศมากมาย แอฟริกาเป็นทวีปเดียวเท่านั้นที่มีพื้นที่ภูมิอากาศแบบอบอุ่นอยู่ในทั้งซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ พื้นที่และประเทศส่วนใหญ่ในทวีปจะตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ แต่ก็มีหลายประเทศอยู่ในซีกโลกใต้เช่นกัน แอฟริกามีความหลากหลายทางชีวภาพมาก สามารถพบจำนวนของสัตว์ขนาดใหญ่ได้มากที่สุด เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สูญพันธุ์ยุคควอเทอร์นารีน้อยที่สุด ถึงอย่างนั้นแอฟริกาประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหลายอย่าง เช่น การขยายตัวของเขตทะเลทราย การทำลายป่า การขาดแคลนน้ำและปัญหาอื่น ๆ มีความกังวลว่าปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทวีปแอฟริกา จากการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพบว่าแอฟริกาเป็นทวีปที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากที่สุด มีการยอมรับเป็นวงกว้างว่าแอฟริกาโดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันออกเป็นถิ่นกำเนิดของมนุษย์และเคลดวงศ์ลิงใหญ่ นั้นหมายความว่าแอฟริกามีประวัติที่ซับซ้อนยาวนาน บรรพบุรุษและต้นกำเนิดของวงศ์ลิงใหญ่ถือกำเนิดขึ้นราว 7 ล้านปีก่อน เช่น ซาเฮลแอนโทรปุสชาเดนซิส, ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส, ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส, โฮโมอิเร็กตัส, โฮโมแฮบิลิส และ โฮโมเออร์แกสเตอร์— โครงกระดูกที่เก่าแก่ที่สุดของโฮโมซาเปียน (มนุษย์ยุคปัจจุบัน) พบในเอธิโอเปีย แอฟริกาใต้ และ โมร็อกโก โดยมีอายุประมาณ 200,000 ปี, 259,000 ปีและ 300,000 ปีตามลำดับ จึงเชื่อได้ว่าโฮโมซาเปียนถือกำเนินในแอฟริการาว 350,000–260,000 ปีก่อน อารยธรรมของมนุษย์ในยุคแรก อย่าง อียิปต์โบราณ และฟินิเชียถือกำเนิดในแอฟริกาเหนือ ประวัติศาสตร์อันยาวนานและซับซ้อนของอารยธรรม การค้า และการอพยพ ทำให้แอฟริกามีกลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและภาษาที่หลากหลาย ในช่วง 400 ปีที่ผ่านมาอิทธิพลจากยุโรปแพร่เข้ามาในแอฟริกาเป็นอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่การค้าและค้าทาสทำให้ชาวแอฟริกันพลัดถิ่นไปอยู่ทวีปอเมริกาเป็นจำนวนมาก ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศในยุโรปเข้ามาล่าอาณานิคมเกือบครบทุกพื้นที่ในทวีปนี้ ชาวยุโรปเข้ามาตักตวงทรัพยากรและหาประโยชน์จากชุมชนในท้องที่ ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาเกิดจากกระบวนการให้เอกราชในคริสต์ศตวรรษที่ 20 == ที่สุดในทวีปแอฟริกา == {|class="wikitable" |- ! จุดที่สุดในทวีปแอฟริกา!! สถานที่ !! รัฐ/ประเทศ |- |จุดเหนือสุด||แหลมบองก์||บิเซิร์ท/ตูนิเซีย |- |จุดใต้สุด||แหลมอะกะลัส||เวสเทิร์นแคป/แอฟริกาใต้ |- |จุดตะวันออกสุด||แหลมแฮฟูน||พุนต์แลนด์/โซมาเลีย |- |จุดตะวันตกสุด||แหลมเวิร์ด||ดาการ์/เซเนกัล |- |ยอดเขาที่สูงที่สุด||ยอดเขาคีโบ||เขาคิลิมันจาโร/แทนซาเนีย |- |เกาะที่ใหญ่ที่สุด||เกาะมาดากัสการ์||มาดากัสการ์ |- |แม่น้ำที่ยาวที่สุด||แม่น้ำไนล์||อียิปต์ |- |ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุด||ทะเลทรายสะฮารา|| |} == ลักษณะภูมิประเทศ == ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นพรมแดนระหว่างทวีปยุโรปทางตอนเหนือ และมีคลองสุเอซเป็นพรมแดนระหว่างทวีปเอเชียทางตะวันออกเฉียงเหนือ จุดเด่นของทวีปแอฟริกาคือ มีที่ราบสูงถึง 2 ใน 3 ของทวีป โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกของทวีป เป็นที่ราบสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1,500 – 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีแนวภูเขาไฟที่ดับแล้ว มีแนวทะเลสาบขนาดใหญ่ แล้วจะลาดต่ำไปทางตะวันตก มีเกาะมาดากัสการ์ เทือกเขา แบ่งออกเป็น 2 เขตคือ # เขตภูเขาทางภาคเหนือ เป็นเขตเทือกเขาเกิดใหม่อายุราวพอ ๆ กับเทือกเขาแอลป์ในทวีปยุโรป เรียกว่า เทือกเขาแอตลาส ขนานไปกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเขตพื้นที่ประเทศโมร็อกโก แอลจีเรีย และตูนิเซีย # เขตภูเขาทางภาคใต้ ได้แก่ เทือกเขาดราเคนสเบิร์ก ในประเทศแอฟริกาใต้และเลโซโท ทะเลทราย แบ่งเป็น 2 เขตคือ # เขตทะเลทรายตอนเหนือ ได้แก่ ทะเลทรายสะฮารา (ซึ่งเป็นทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) และทะเลทรายลิเบีย บริเวณนี้จะเกิดลมร้อนในทะเลทรายสะฮารา เรียกว่า ซิร็อกโก # เขตทะเลทรายตอนใต้ ได้แก่ ทะเลทรายนามิบ และทะเลทรายคาลาฮารี แม่น้ำ # แม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในโลก ต้นน้ำคือทะเลสาบวิกตอเรีย ไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน # แม่น้ำคองโก เป็นแม่น้ำเขตศูนย์สูตร ไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติก # แม่น้ำไนเจอร์ อยู่ในส่วนแอฟริกาตะวันตก ต้นน้ำอยู่ที่ประเทศเซียร์ราเลโอน ไหลลงสู่อ่าวกินี # แม่น้ำแซมเบซี อยู่ทางด้านตะวันออกของทวีปมีแอ่งน้ำตก น้ำค่อนข้างไหลเชี่ยว ไหลลงมหาสมุทรอินเดีย ที่ประเทศโมซัมบิก === กระแสน้ำในมหาสมุทร === กระแสน้ำอุ่นโมซัมบิก ไหลเลียบชายฝั่งทางด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา ทำให้อากาศอบอุ่นและชุ่มชื้น กระแสน้ำเย็นกานาเรียส ไหลเลียบชายฝั่งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา ทำให้อากาศเย็นและแห้งแล้ง กระแสน้ำอุ่นกินี ไหลเลียบชายฝั่งทางด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทำให้มีอากาศอบอุ่นและชุ่มชื้น กระแสน้ำเย็นเบงเกวลา ไหลเลียบชายฝั่งทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ทำให้มีอากาศเย็นและแห้งแล้ง == ภูมิอากาศ == ส่วนใหญ่จะมีทะเลทราย อากาศแห้งแล้ง ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรในทวีป ส่วนมากจะอยู่ทางตอนเหนือสุดและใต้สุดของทวีป ซึ่งมีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน มีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาอยู่บริเวณตอนเหนือ และใต้แนวศูนย์สูตร ภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น (Tropical Rain-forest Climate) ได้แก่ พื้นที่ตอนกลางของที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก ชายฝั่งตอนใต้ของที่ราบสูงตะวันตก และด้านตะวันตกของเกาะมาดากัสการ์ ภูมิอากาศแบบทะเลทรายเขตร้อน (Tropical Desert Climate) พบได้ตามแนวเส้นทรอปิกออฟแครนเซอร์ นับตั้งแต่ประเทศมอริเตเนีย มาลี แอลจีเรีย ไนเจอร์ ลิเบีย อียิปต์ ซูดาน และตามแนวเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น บริเวณประเทศแองโกลา นามีเบีย และบอตสวานา ทางภาคเหนือของแอฟริกามีทะเลทรายกว้างใหญ่ ได้แก่ ทะเลทรายสะฮารา ทะเลทรายลิเบีย และทะเลทรายนูเบียส่วนทางภาคใต้มีทะเลทรายคาลาฮารี และทะเลทรายนูเบีย == การสำรวจ == ประเทศในยุโรปชาติแรกที่สำรวจแอฟริกา คือโปรตุเกส และหลังจากนั้นก็ถูกสำรวจโดย อังกฤษ ฝรั่งเศส และ ดัตช์ เป็นต้น นักสำรวจที่ยิ่งใหญ่ของแอฟริกามีหลายท่านด้วยกัน นักสำรวจที่รู้จักกันดีคือ ดร. เดวิด ลิฟวิงสโตน์ == เศรษฐกิจ == แม้ว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่แอฟริกากลับเป็นทวีปที่ยากจนและด้อยพัฒนา ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่นการระบาดของโรคร้ายแรง (ได้แก่ โรคเอดส์ และมาลาเรีย) รัฐบาลคอร์รัปชันและละเมิดสิทธิมนุษยชน การที่รัฐบาลขาดการวางแผน ระดับการรู้หนังสือที่ต่ำ การขาดแคลนเงินทุนต่างชาติ และความขัดแย้งระหว่างชนชาติที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในรูปของกองโจร ไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากรายงานการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2004 ประเทศที่อยู่อันดับต่ำสุด 26 ประเทศ (อันดับ 151 ถึง 175) ล้วนเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา === ข้อมูลเศรษฐกิจ === ตารางแสดงประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจหรือจีดีพีมากที่สุดในทวีปแอฟริกา 10 อันดับแรก ข้อมูลโดย IMF แสดงตารางประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีจีดีพีต่อหัวมากที่สุด 10 อันดับแรก ข้อมูลโดย IMF === การคมนาคมขนส่ง === ทวีปแอฟริกายังมีปัญหาทางด้านการคมนาคมขนส่งมากกว่าทวีปอื่น ๆ เนื่องจากหลายประเทศขาดเงินทุนที่จะนำมาพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งให้ทันสมัย ประกอบกับทวีปแอฟริกามีลักษะภูมิประเทศและมีลักษณะภูมิสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่ง เช่น มีเขตทะเลทรายที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีพื้นที่ลุ่มและป่าดิบที่กว้างใหญ่ และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงและภูเขา การคมนาคมขนส่งของทวีปแอฟริกาจึงใช้วิธีการดั้งเดิมกันทั่วไป ==== ทางน้ำ ==== แม่น้ำไนล์เป็นแม่น้ำที่มีบทบาทสำคัญในการคมนาคมขนส่งของทวีปแอฟริกาต่อเนื่องกันหลายศตวรรษ แต่ละปีมีเรือชนิดต่างๆล่องขึ้นลงตามแม่น้ำไนล์มากกว่า 13000 ลำ ในอดีตมีการใช้เรือใบแล่นขึ้นตามแม่น้ำไนล์ เนื่องจากมีลมพัดขึ้นเหนือและลงใต้สลับกันตามฤดูกาล ส่วนคลองสุเอซ เป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างทะเล เมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือ และทะเลแดงทางใต้ คลองมีความยาว 163 กิโลเมตรและกว้าง 60 เมตร คลองสุเอซทำให้การเดินเรือระหว่างทวีปยุโรปและเอเชียสะดวกรวดเร็วขึ้น ==== ทางอากาศ ==== ทวีปแอฟริกามีสายการบินที่ใช้ติดต่อกันทั้งระหว่างประเทศภายในทวีป และระหว่างทวีป ประเทศที่มีระบบการคมนาคมขนส่งทางอากาศที่ดีในทวีปแอฟริกา ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย เคนยา ไนจีเรีย และกานา ศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ ไคโร ประเทศอียิปต์, เลกอส ประเทศไนจีเรีย, โจฮันเนสเบิร์ก และเคปทาวน์ประเทศแอฟริกาใต้ == ประชากร == === จำนวนประชากร === ทวีปแอฟริกามีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากทวีปเอเชีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดคือประเทศไนจีเรีย รองลงมาคือ ประเทศอียิปต์ ซึ่งมีอัตราการเพิ่มของประชากรสูง ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 30.5 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร (2552) === เชื้อสายของประชากร === นิกรอยด์ หรือเรียกว่า แอฟริกันนิโกร เป็นชนกลุ่มใหญ่สุดของทวีป โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ * บันตู อยู่ในแถบแอฟริกาตะวันออก กลาง และใต้ เช่น เผ่าคิคูยู วาตูซี มาไซ * ซูดานนิโกร อยู่ในแถบแอฟริกาตะวันตกและทะเลทรายสะฮารา * ปิกมี บริเวณลุ่มแม่น้ำคองโก * บุชแมนและฮอตเทนทอต บริเวณทะเลทรายคาลาฮารี คอเคซอยด์ มาจากคาบสมุทรอาหรับ อยู่ในแถบอียิปต์และซูดาน จากชาวยุโรปบริเวณแหลมกู๊ดโฮป และตอนเหนือของทวีป === ภาษา === ทวีปแอฟริกามีภาษาพูดมากกว่า 1,000 ภาษา เนื่องจากทวีปแอฟริกามีประชากรอยู่หลายเผ่าพันธุ์ และแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 4 กลุ่ม กลุ่มภาษาเซมิติก ได้แก่ ภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาของคนส่วนใหญ่ในแอฟริกาเหนือและบางส่วนในแอฟริกาตะวันออก กลุ่มภาษาซูดาน เป็นภาษาของประชากรในประเทศต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ตั้งแต่ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกไปทางตะวันออกถึงประเทศแทนซาเนีย กลุ่มภาษาบันตู เป็นภาษาของประชากรในประเทศต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของทวีปแอฟริกา กลุ่มภาษาบันตูมีหลายภาษา เช่น ภาษาซูลู สวาฮิลี กลุ่มภาษาเฮาซา เป็นกลุ่มภาษาทางการค้าของประชากรทางภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา กลุ่มภาษาเฮาซามีหลายภาษา เช่น ภาษาฟูลานี แมนดา คะวา == ขนาดพื้นที่ == ทวีปแอฟริกามีพื้นที่ประมาณ 30,400,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่เป็น 3 เท่าของทวีปยุโรป และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากทวีปเอเชีย ประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด คือ แอลจีเรีย (2,344,872 ตารางกิโลเมตร), สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (2,322,163 ตารางกิโลเมตร) และซูดาน (1,760,000 ตารางกิโลเมตร) ตามลำดับ ในแง่ภูมิภาค ภูมิภาคที่มีขนาดพื้นที่มากที่สุดคือ แอฟริกาเหนือ (8,533,021 ตารางกิโลเมตร) ส่วนภูมิภาคที่มีขนาดพื้นที่น้อยที่สุดคือ แอฟริกาใต้ (3,083,998 ตารางกิโลเมตร) == ประวัติศาสตร์ == == การแบ่งภูมิภาค == ทวีปแอฟริกาสามารถแบ่งได้ 5 ภูมิภาคใหญ่ ๆ ดังนี้ == อ้างอิง == ==ข้อมูล== ==อ่านเพิ่ม== ดูเพิ่มที่ Moore, Clark D., and Ann Dunbar (1968). Africa Yesterday and Today, in series, The George School Readings on Developing Lands. New York: Praeger Publishers. Naipaul, V.S. The Masque of Africa: Glimpses of African Belief. Picador, 2010. ==แหล่งข้อมูลอื่น== ข้อมูลทั่วไป African & Middle Eastern Reading Room จาก the United States Library of Congress Africa South of the Sahara จาก Stanford University The Index on Africa จาก The Norwegian Council for Africa Aluka Digital library of scholarly resources from and about Africa Africa Interactive Map จาก the United States Army Africa ประวัติศาสตร์ African Kingdoms The Story of Africa จาก BBC World Service Africa Policy Information Center (APIC) Hungarian military forces in Africa สื่อข่าว allAfrica.com current news, events and statistics Focus on Africa วารสารจาก BBC World Service ทวีป
thaiwikipedia
732
ทวีปอเมริกาใต้
อเมริกาใต้ เป็นทวีปที่เส้นศูนย์สูตรพาดผ่าน อยู่ในซีกโลกตะวันตกและมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกใต้ เป็นอนุทวีปทางใต้ของทวีปอเมริกา มีการใช้ทวีปอเมริกาใต้ในการเรียกแทนภูมิภาคต่าง ๆ (เช่น ลาตินอเมริกา กรวยใต้) เพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมากจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ทางตะวันตกของทวีปติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก และทางเหนือติดกับทวีปอเมริกาเหนือ และ ทะเลแคริบเบียน ทวีปอเมริกาใต้ประกอบด้วยรัฐอธิปไตย 12 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา ปารากวัย เปรู ซูรินาม อุรุกวัย และ เวเนซุเอลา 1 จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส เฟรนช์เกียนา และดินแดนในภาวะพึ่งพิงอย่าง หมู่เกาะฟอล์กแลนด์และดินแดนโพ้นทะเลของบริเตน นอกจากนี้หมู่เกาะเอบีซี, เซนต์เฮเลนา อัสเซนชัน และตริสตันดากูนยา, เกาะบูเว, บางส่วนของปานามา, เกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช, ประเทศตรินิแดดและโตเบโก มักนับรวมอยู่ในเขตของทวีปอเมริกาใต้ด้วย อเมริกาใต้มีขนาดพื้นที่ประมาณ 17,840,000 ล้านตารางกิโลเมตร ใน ค.ศ. 2018 มีประชากรอยู่ที่ 423 ล้านคน อเมริกาใต้มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจาก เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือตามลำดับ ส่วนจำนวนประชากรเป็นอันดับ 5 รองจากเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ บราซิลเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีป คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในทวีป รองลงมาคือ โคลัมเบีย อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา และเปรู ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บราซิล สามารถสร้างมูลค่าจีดีพีได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีทวีป ทำให้บราซิลขึ้นเป็นมหาอำนาจประจำภูมิภาคนี้ การตั้งถิ่นฐานของประชากรจะตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทางตะวันตกและทางตะวันออกของทวีป ภายในทวีปและภูมิภาคปาตาโกเนียเป็นพื้นที่ ๆ มีการตั้งถิ่นฐานเบาบางที่สุด บริเวณทางตะวันตกและทางใต้ของทวีปมีลักษณะเป็นเทือกเขา ส่วนทางตะวันออกจะมีทั้งพื้นที่สูง และที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ โดยมีแม่น้ำสายใหญ่ที่สำคัญ เช่น แม่น้ำแอมะซอน แม่น้ำโอริโนโก แม่น้ำปารานาไหลผ่าน ทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของประชากรในทวีปนี้มีต้นกำเนิดจากปฏิสัมพันธ์ของชนพื้นเมืองกับกองกิสตาดอร์และผู้อพยพชาวยุโรป ชาวพื้นเมืองกับทาสชาวแอฟริกัน ผลจากการเป็นอาณานิคมเป็นเวลานานทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในทวีปพูดภาษาโปรตุเกสและภาษาสเปนเป็นหลัก มีวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตแบบตะวันตก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้นเมื่อนำเทียบกับ ยุโรป เอเชีย และ แอฟริกาแล้วอเมริกาใต้ถือเป็นทวีปที่สงบสุขและมีสงครามเพียงเล็กน้อย == ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ == หลักฐานทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ พบว่ามีคนอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ตั้งแต่ประมาณ 12,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยพบเครื่องมือหินและเครื่องใช้ที่ทำด้วยหนังสัตว์ในประเทศชิลี กระทั่ง 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในประเทศเปรูปัจจุบันมีวัฒนธรรมนาสคาเกิดขึ้น โดยมีการศึกษาเกี่ยวกับการโคจรของดวงอาทิตย์และมีการใช้เครื่องประดับ ประชากรในทวีปอเมริกาใต้ สันนิษฐานว่าอพยพมาจากทวีปเอเชียเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือโดยผ่านช่องแคบเบริง แล้วเดินทางลงใต้ผ่านอเมริกากลางจนถึงอเมริกาใต้เช่นปัจจุบัน ดังนั้นชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือจึงมีความสัมพันธ์กันทางเชื้อชาติ โดยในเปรู อินเดียนแดงได้สร้างจักรวรรดิอินคา ครอบคลุมอาณาเขตกว้างขวางทางตะวันตกของทวีป โดยมีเมืองกุสโกเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2042 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางด้วยเรือมายังรอยต่อของอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งชื่อของเขาก็เป็นที่มาของประเทศโคลอมเบียในปัจจุบัน กระทั่ง พ.ศ. 2043 ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปโดยเฉพาะประเทศสเปน อิตาลี โปรตุเกส อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้เข้ามาสำรวจ และยึดครองดินแดนเป็นอาณานิคมเป็นจำนวนมาก ประเทศเจ้าของอาณานิคมจากยุโรปยึดครองและได้ผลประโยชน์จากดินแดนในทวีปอเมริกาใต้มานานหลายร้อยปี จนกระทั่งใน พ.ศ. 2261 โฆเซ เด ซาน มาร์ติน ปลดปล่อยประเทศอาร์เจนตินา, ชิลี, และเปรูให้เป็นอิสระจากสเปน และปลดปล่อยประเทศบราซิลให้เป็นอิสระจากโปรตุเกสในเวลาต่อมา ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสยังคงยึดครองดินแดนเฟรนช์เกียนาทางตอนเหนือของทวีปเอาไว้ == ลักษณะทางกายภาพ == === ทำเลที่ตั้งและอาณาเขต === ทวีปอเมริกาใต้ตั้งอยู่บนซีกโลกใต้เป็นส่วนมากโดยอยู่ระหว่างละติจูดที่ 12 องศาเหนือ ถึง 56 องศาใต้ และลองจิจูด 35 องศาตะวันออก ถึง 117 องศาตะวันตก มีเนื้อที่ประมาณ 17.8 ล้านตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยล่ะ 14 ของแผ่นดินโลก ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และมีเนื้อที่แผ่นดินติดต่อกันทำให้ชายฝั่งของทะเลมีน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของทวีป โดยทวีปอเมริกาใต้มีแผ่นดินใหญ่รูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม ===อาณาเขต=== ทวีปอเมริกาใต้มีอาณาเขตติดต่อกับทวีปต่าง ๆ ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับประเทศปานามาของทวีปอเมริกาเหนือ และจดทะเลแคริบเบียน ทิศตะวันออก จดมหาสมุทรแอตแลนติก อาณาเขตสิ้นสุดที่เกาะจอร์เจียใต้ ทิศตะวันตก จดมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และอาณาเขตสิ้นสุดที่เกาะอีสเตอร์ของประเทศชิลี ทิศใต้ จดช่องแคบเดรกในทวีปแอนตาร์กติกา และ อาณาเขตสิ้นสุดที่แหลมฮอร์นของประเทศชิลี ทวีปอเมริกาใต้ประกอบด้วย 13 ประเทศ และ 3 เขตการปกครอง ซึ่งแบ่งออกตามลักษณะภูมิประเทศได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ เขตที่สูงกายอานา อยู่ทางตอนเหนือของทวีป มี 4 ประเทศ คือ ประเทศกายอานา ซูรินาม เวเนซุเอลา และโคลอมเบีย ประเทศโคลอมเบียมีประชากรมากที่สุดในเขตนี้ เขตเทือกเขาแอนดีส อยู่ทางภาคตะวันตกของทวีป ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ ประเทศเปรู เอกวาดอร์ โบลิเวีย และ ชิลี ประเทศโบลิเวียมีเนื้อที่มากที่สุด ส่วนประเทศเปรูมีประชากรมากที่สุดในเขตนี้ เขตลุ่มน้ำตะวันออกเฉียงใต้ของเทือกเขาแอนดิส ประกอบด้วยประเทศอาร์เจนตินา ปารากวัย และ อุรุกวัย ประเทศอาร์เจนตินามีเนื้อที่และประชากรมากที่สุดในเขตนี้ เขตลุ่มน้ำแอมะซอนและที่ราบสูงบราซิล ได้แก่ ประเทศบราซิล ซึ่งมีเนื้อที่มากกว่า 8.5 ล้านตารางกิโลเมตร ตารางแสดงประเทศในทวีปอเมริกาใต้ == ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ == {|class="wikitable" |- ! จุดที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ !! สถานที่ !! ประเทศ (จังหวัด/แคว้น/รัฐ) |- |จุดเหนือสุด||แหลมกายีนาส ||ประเทศโคลอมเบีย (จังหวัดกวาคีรา) |- |จุดใต้สุด||แหลมฟาวเวิร์ด||ประเทศชิลี (แคว้นมากายาเนสและลาอันตาร์ตีกาชีเลนา) |- |จุดตะวันออกสุด||แหลมโคเคอรูส||ประเทศบราซิล (รัฐปาราอีบา) |- |จุดตะวันตกสุด||แหลมปารีนเนียส||ประเทศเปรู (แคว้นปิวรา) |- |ยอดเขาที่สูงที่สุด||ยอดเขาอากอนกากวา||ประเทศอาร์เจนตินา (รัฐเมนโดซา) |- |เกาะที่ใหญ่ที่สุด||เกาะติเอร์ราเดลฟูเอโก||ประเทศอาร์เจนตินา (รัฐติเอร์ราเดลฟูเอโก) และประเทศชิลี (แคว้นมากายาเนสและลาอันตาร์ตีกาชีเลนา) |- |แม่น้ำที่ยาวที่สุด||แม่น้ำแอมะซอน||ประเทศเปรู (แคว้นโลเรโต), ประเทศโคลอมเบีย (จังหวัดอามาโซนัส), และประเทศบราซิล (รัฐอามาโซนัส, รัฐปารา, รัฐอามาปา) |- |ผิวน้ำต่ำที่สุด||ทะเลสาบซานตากรุซ||ประเทศอาร์เจนตินา (รัฐซานตากรุซ) |} == ลักษณะภูมิประเทศ == แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ === เขตที่สูงกายอานา === เขตที่สูงกายอานาประกอบด้วย เขตที่สูงกายอานา (Guiana Highland) และที่ลุ่มยาโนส (Llanos) เป็นพื้นที่อยู่ทางทิศเหนือสุดของทวีป เป็นหินอัคนีหรือหินแกรนิต มีความยาวในแนวตะวันออกถึงตะวันตกมากว่า 1,600 กิโลเมตร พื้นที่สูงเริ่มจากตอนใต้ของประเทศเวเนซุเอลาไปถึงเหนือสุดของประเทศบราซิล ประกอบด้วยที่ราบสูง มีร่องน้ำลึกมาก มีน้ำตกที่สูงสุดของโลก คือ น้ำตกเอนเจลซึ่งมีความสูง 979 เมตร ที่ลุ่มยาโนสอยู่ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของที่สูงกายอานา เป็นพื้นที่ราบลุ่มระหว่างเทือกเขาแอนดีสและที่สูงกายอานา อยู่ในประเทศโคลอมเบียและประเทศเวเนซุเอลา มีแม่น้ำที่สำคัญ คือ โอริโนโค (Orinoco) ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำทำให้เป็นที่ราบลุ่มสมบูรณ์ === เขตเทือกเขาแอนดีส === เทือกเขาแอนดีส เป็นเทือกเขาแคบวางตัวยาวในแนวเหนือ-ใต้เลียบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ เริ่มตั้งแต่แหลมเหนือสุดของทวีปอเมริกาใต้ เป็นแนวยาวลงไปจนสุดแหลมฮอร์นของประเทศชิลี ด้านทิศตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิก มีชายฝั่งแคบมากและภูเขาสูงชัน มีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลลงมหาสมุทรแปซิฟิก บางบริเวณเป็นเขตแห้งแล้งหรือหนาวเย็นจัด ด้านทิศตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสจะมีความลาดชันน้อยกว่าซีกตะวันตก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำแอมะซอน เป็นต้น === เขตลุ่มน้ำภาคใต้ === เขตลุ่มน้ำภาคใต้อยู่ทางทิศตะวันออกของเทือกเขาแอนดีส เริ่มตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศโบลิเวียไปจนสุดแหลมภาคใต้ของประเทศอาร์เจนตินา ประกอบด้วยที่ราบแพมพาส (Pampas) และปาตาโกเนีย (Patagonia) ในประเทศอาร์เจนตินา ที่ราบแพมพาสมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติขนาดใหญ่ และมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านไปลงสู่อ่าวริโอเดลาปลาตา (Río de la Plata) ระหว่างเมืองหลวงของประเทศอุรุกวัย (กรุงมอนเตวิเดโอ) และประเทศอาร์เจนตินา (กรุงบัวโนสไอเรส) ที่ราบปาตาโกเนีย มีภูมิอากาศแบบทะเลทรายหนาวเย็น อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอาร์เจนตินา มีพื้นที่ค่อนข้างขรุขระและมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น พื้นที่บางส่วนเป็นธารน้ำแข็งและทะเลสาบ ชายฝั่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเพนกวิน, แมวน้ำ, วาฬ, และสัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ === เขตลุ่มแม่น้ำแอมะซอนและที่สูงบราซิล === เขตลุ่มน้ำแอมะซอนและที่สูงบราซิลในประเทศบราซิล เริ่มตั้งแต่ด้านตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสในประเทศเปรูจนถึงด้านตะวันออกของบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกลุ่มน้ำแอมะซอน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "แอมะโซเนีย" (Amazonia) เป็นพื้นที่ราบต่ำ มีระดับความสูงต่ำกว่า 200 เมตร มีความลาดเทน้อยมาก แม่น้ำมีความยาว 6,570 กิโลเมตร คลุมพื้นที่มากกว่า 8 ล้านตารางกิโลเมตร พื้นที่เต็มไปด้วยป่าดิบชื้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนที่สูงบราซิลอยู่ทางทิศตะวันออกติดมหาสมุทรแอตแลนติก เริ่มตั้งแต่ตอนกลางของประเทศบราซิลลงไปติดประเทศอุรุกวัย มีความยาวประมาณ 1,280 กิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขาไม่สูงมากนัก นอกจากภูมิประเทศทั้งหมด 4 เขต แล้ว ทวีปอเมริกาใต้ยังมีชายฝั่งทะเล โดยทางตะวันออกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก และทางตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของทวีปจะเป็นฟยอร์ด (Fjord) ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของธารน้ำแข็ง และมีสัตว์หลายชนิดอาศัยอยู่ ทางตอนเหนือของทวีปมีแม่น้ำไหลลงทะเลแคริบเบียน แม่น้ำแอมะซอนไหลจากเทือกเขาแอนดีสลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกที่เมืองมากาปา ประเทศบราซิล โดยบริเวณปากแม่น้ำนั้นมีเกาะเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีแม่น้ำปารากวัย, แม่น้ำอุรุกวัย, แม่น้ำซาลาโต, แม่น้ำซูบัต, และแม่น้ำสายสั้น ๆ อีกจำนวนมาก ไหลจากทางทิศตะวันตกของทวีปไปลงมหาสมุทรแอตแลนติกทางด้านตะวันออก == ลักษณะภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติ == === ลักษณะภูมิอากาศ === ทวีปอเมริกาใต้ มีเนื้อที่ส่วนมากอยู่ในเขตร้อน โดยเฉพาะทางตอนเหนือของทวีป จะมีลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อนจนถึงแบบอบอุ่น ส่วนในทางใต้จะได้รับอิทธิพลจากขั้วโลกใต้ ทำให้มีอากาศหนาวเย็น สามารถแบ่งภูมิอากาศตามแบบเคิปเปนได้ดังนี้ เขตภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น หรือฝนตกชุกเขตร้อน (Af) และภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน (Am) มีฝนตกชุกมากทั้งปี เช่น พื้นที่ชายฝั่งตะวันตกและตอนใต้ของประเทศโคลอมเบีย ตอนเหนือและชายฝั่งตะวันออกของประเทศบราซิล เป็นต้น เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) เป็นเขตภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับแล้ง ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศบราซิลและทางทิศตะวันตกของประเทศเอกวาดอร์ เขตภูมิอากาศแบบทะเลทรายเขตร้อน (BWh) เป็นเขตภูมิอากาศที่มีฝนตกน้อยกว่า 250 มิลลิเมตรต่อปี เช่น พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศเวเนซุเอลาที่ติดกับทะเลแคริบเบียน เป็นต้น เขตภูมิอากาศแบบทะเลทรายเขตหนาว (BWk) เป็นเขตภูมิอากาศแบบทะเลทรายแต่มีอากาศหนาวเย็น ได้แก่ พื้นที่ทางตะวันตกของเทือกเขาแอนดีส ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณประเทศเปรูและชิลี เขตภูมิอากาศแบบแห้งแล้งกึ่งทะเลทรายหรือทุ่งหญ้าสเตปป์ (BSh) เป็นเขตภูมิอากาศแบบแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในรอบปี 380-760 มิลลิเมตร ได้แก่ พื้นที่ทางเหนือสุดของทวีปในประเทศโคลอมเบียและทางตอนกลางของอาร์เจนตินา เขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Cfa) เป็นเขตที่มีฝนตกชุก เนื้องจากชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก มีกระแสน้ำอุ่นบราซิลไหลเลียบชายฝั่งลงมาทางทิศใต้ เช่น บริเวณประเทศอาร์เจนตินาและอุรุกวัยที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก เขตภูมิอากาศแบบชื้นภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก (Cfb) มีฤดูหนาวยาวนาน ได้แก่ พื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศชิลีและปลายแหลมของทวีป เขตภูมิอากาศแบบที่สูง (H) เป็นภูมิอากาศที่หนาวเย็นบนเทือกเขาสูง ได้แก่ บริเวณเทือกเขาแอนดีส === ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ === ทวีปอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในโลก โดยลุ่มน้ำแอมะซอนนั้นเป็นพื้นที่ป่าไม้เขตร้อนที่สำคัญ พืชพรรณธรรมชาติในทวีปอเมริกาแบ่งออกได้เป็นเขตดังนี้ ==== ป่าดิบ ==== เป็นป่าไม้ที่มีลำต้นสูง ไม่มีกิ่วสาขาในระดับต่ำ รากมีลักษณะเป็นแนวนูนขึ้นมาบนต้น ใบใหญ่ และมีสีเขียวตลอดปี พันธุ์ไม้มีความหลากหลายมาก มักพบกล้วยไม้ ไม้เลื้อย เช่น เถาวัลย์ เฟิร์น และมอส เป็นต้น ป่าดิบชื้นในลุ่มน้ำแอมะซอนเป็นป่าไม้ประมาณร้อยล่ะ 25 ของพื้นที่ป่าไม้โลก นอกจากนั้นยังพบป่าดินชื้นในประเทศเวเนซุเอลา โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ อีกด้วย == หมายเหตุ == == อ้างอิง == === ข้อมูล === "South America". The Columbia Gazetteer of the World Online. 2005. New York: Columbia University Press. Latin American Network Information Database == แหล่งข้อมูลอื่น == ทวีป
thaiwikipedia
733
มหาสมุทรอินเดีย
มหาสมุทรอินเดีย เป็นผืนน้ำที่มีขนาดกว้างใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก กินพื้นที่ประมาณ หรือประมาณ 19.8% ของพื้นน้ำบนโลก ทางเหนือติดกับตอนใต้ของทวีปเอเชีย (อนุทวีปอินเดีย) ทางตะวันตกติดกับคาบสมุทรอาหรับและทวีปแอฟริกา ทางตะวันออกติดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบทะเลอันดามัน และประเทศออสเตรเลีย ทางใต้ติดกับมหาสมุทรใต้ แยกจากมหาสมุทรแอตแลนติกที่บริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกาบนเส้นเมริเดียน 20° ตะวันออก และแยกจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่เส้นเมริเดียน 147° ตะวันออก ตอนเหนือสุดของมหาสมุทรอินเดียอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ที่บริเวณละติจูด 30° เหนือ มหาสมุทรมีความกว้างมากที่สุดอยู่ระหว่างจุดใต้สุดของแอฟริกาและออสเตรเลีย ด้วยระยะทางเกือบ 10,000 กิโลเมตร มีพื้นน้ำ 70,560,000 ตารางกิโลเมตร รวมทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย แต่ไม่รวมมหาสมุทรใต้หรือ 19.5% ของมหาสมุทรโลก มหาสมุทรอินเดียมีปริมาตรประมาณ 264,000,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือ 19.8% ของปริมาณมหาสมุทรโลก มีความลึกเฉลี่ย 3,741 เมตร และมีความลึกสูงสุด 7,906 เมตร == ประเทศและดินแดน == ริมขอบของมหาสมุทรมีเกาะเล็กๆจำนวนมาก ประเทศที่เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ มาดากัสการ์ (เดิมเป็นสาธารณรัฐมาลากาซี) ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมทั้งคอโมโรส, เซเชลส์, มัลดีฟส์, มอริเชียส และศรีลังกา รวมทั้งหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย และประเทศติมอร์-เลสเตทางฝั่งตะวันออกของเกาะติมอร์ มหาสมุทรอินเดียมีความสำคัญในฐานะเส้นทางผ่านระหว่างเอเชียและแอฟริกา ในอดีตจึงมีข้อพิพาทบ่อยครั้ง แต่เนื่องจากมหาสมุทรมีขนาดใหญ่ ไม่มีประเทศใดที่สามารถครอบครองได้จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1800 เมื่อสหราชอาณาจักรเข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ รายชื่อประเทศและดินแดน (ตัวเอียง) กับแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย (รวมทั้งทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย) วนตามเข็มนาฬิกา ได้แก่ แอฟริกา (ฝรั่งเศส) (มายอต และ เรอูนียง) เอเชีย (สหราชอาณาจักร) (ออสเตรเลีย) (ออสเตรเลีย) ออสตราเลเซีย หมู่เกาะแอชมอร์และคาร์เทียร์ (ออสเตรเลีย) มหาสมุทรอินเดียตอนใต้ เกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมกดอนัลด์ (ออสเตรเลีย) (ฝรั่งเศส) ปรินซ์เอ็ดเวิร์ดไอแลนด์ (แอฟริกาใต้) == อ้างอิง == === ข้อมูล === == แหล่งข้อมูลอื่น == อินเดีย มหาสมุทรอินเดีย
thaiwikipedia
734
ทวีปแอนตาร์กติกา
แอนตาร์กติกา (Antarctica ) เป็นทวีปที่อยู่ใต้สุดของโลก ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอนตาร์กติกในซีกโลกใต้และเป็นที่ตั้งขั้วโลกใต้ทางภูมิศาสตร์ เกือบทั้งหมดอยู่ในวงกลมแอนตาร์กติกและล้อมรอบด้วยมหาสมุทรใต้ มีพื้นที่ประมาณ 14 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ใหญ่กว่าทวีปออสเตรเลียถึง 2 เท่า พื้นที่ 98% ของทวีปปกคลุมด้วยน้ำแข็งหนาเฉลี่ย 1.9 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดเว้นแต่ส่วนเหนือสุดของคาบสมุทรแอนตาร์กติก โดยค่าเฉลี่ยแล้วแอนตาร์กติกาเป็นทวีปที่หนาวที่สุด แห้งแล้งที่สุด ลมแรงที่สุดและมีความสูงโดยเฉลี่ยมากที่สุด แอนตาร์กติกาเป็นทะเลทรายที่มีหยาดน้ำฟ้าเฉลี่ย 200 มิลลิเมตรต่อปีตามแนวชายฝั่งและพื้นที่ภายใน ในช่วงไตรมาสที่สามซึ่งเป็นช่วงที่หนาวสุดของปีจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย -63 °C แต่ (ที่สถานีวอสตอค ของรัสเซีย) อุณหภูมิที่วัดได้เคยต่ำถึง -89.2 °C (และเคยวัดได้ถึง -94.7 °C โดยเป็นการวัดจากดาวเทียมในอวกาศ) บางสถานที่มีคนราว 1,000 ถึง 5,000 คนอาศัยในสถานีวิจัยที่กระจายอยู่ทั่วทั้งทวีปตลอดทั้งปี สิ่งมีชีวิตในแอนตาร์กติกาจะเป็นพวกสาหร่าย, แบคทีเรีย, เห็ดรา, พืช, โพรทิสต์และสัตว์บางชนิดเช่น ตัวเห็บ, ตัวไร, หนอนตัวกลม, เพนกวิน, สัตว์ตีนครีบและหมีน้ำส่วนพืชก็จะเป็นพวกทันดรา แม้ว่ามีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการมีอยู่ของดินแดนใต้ตั้งแต่ยุคโบราณ แอนตาร์กติกาถูกระบุว่าเป็นดินแดนสุดท้ายบนโลกในประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบ เพราะไม่มีใครเคยพบเลยจนกระทั่ง พ.ศ. 2363 นักสำรวจชาวรัสเซียเฟเบียน ก็อทลีป ฟอน เบลลิ่งเชาเซนและมิคาอิล ลาซาเรฟที่อยู่บนเรือสลุบวอสตอค และเรือสลุบเมอร์นีย์ ได้สังเกตเห็นหิ้งน้ำแข็งฟิมโบลแต่ก็ไม่ได้สนใจ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อมนุษย์ ขาดแคลนทรัพยากรในการสำรวจและความห่างไกลของพื้นที่ ต่อมา พ.ศ. 2438 ทีมสำรวจชาวนอร์เวย์ได้รับการยืนยันถึงการมาเยือนดินแดนแห่งนี้เป็นครั้งแรก ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นดินแดนใต้การปกครองร่วมโดยพฤตินัยตามกฎหมายระหว่างประเทศและอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบสนธิสัญญาแอนตาร์กติกที่ลงนามครั้งแรกโดย 12 ประเทศใน พ.ศ. 2502 และตามด้วยการลงนามอีกเพิ่ม 38 ประเทศ ระบบสนธิสัญญานี้ห้ามมิให้มีการทำเหมืองแร่ กิจกรรมทางทหาร ทดลองระเบิดนิวเคลียร์และการกำจัดกากนิวเคลียร์ แต่จะสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และปกป้องชั้นโอโซนของทวีป ทำให้มีการทดลองอย่างต่อเนื่องโดยนักวิทยาศาสตร์ 4,000 คนจากหลายประเทศบนทวีปนี้ == นิรุกติศาสตร์ == ชื่อแอนตาร์กติกา (Antarctica ) เป็นการถอดเป็นอักษรโรมันจากคำประสมภาษากรีกคำว่า ἀνταρκτική (antarktiké ) เป็นคำนามเพศหญิงของ ἀνταρκτικός (antarktikós คำนามเพศชาย) ซึ่งมีความหมายว่า "ตรงข้ามกับอาร์กติก" หรือ "ตรงข้ามกับทิศเหนือ" 350 ปีก่อนคริสต์ศักราชแอริสตอเติลเขียนเกี่ยวกับภูมิภาคแอนตาร์กติกลงในหนังสืออุตุนิยมวิทยาของเขา, มารินัส ออฟ ไทเออร์ได้ใช้ชื่อนี้ในแผนที่โลกตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ของเขา ซึ่งถูกพบอยู่ในสภาพที่ไม่ได้ดูแลรักษา, นักประพันธ์ชาวโรมันไฮจีนัสและอพูเลียส (คริสต์ศตวรรษที่ 1-2) ใช้คำว่า polus antarcticus แทนขั้วโลกใต้ซึ่งเป็นการถอดเป็นอักษรโรมันจากชื่อภาษากรีก, ภาษาฝรั่งเศสโบราณรับมาเป็น pole antartike (ภาษาฝรั่งเศสปัจจุบัน pôle antarctique) โดยมีหลักฐานใน พ.ศ. 1813 และภาษาอังกฤษสมัยกลางรับมาต่อเป็นคำว่า pol antartik ในบทความวิชาการโดยเจฟฟรีย์ ชอสเซอร์ ใน พ.ศ. 1934 (ภาษาอังกฤษปัจจุบัน Antarctic Pole ) ก่อนที่จะมีความหมายทางภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน คำนี้จะเอาไว้ใช้เรียกสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ "ตรงข้ามกับทางเหนือ" เช่นอาณานิคมฝรั่งเศสที่ก่อตั้งขึ้นในบราซิลเป็นเวลาสั้น ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เรียกว่า "แอนตาร์กติกฝรั่งเศส" (France Antarctique, França Antártica) ในช่วงทศวรรษปี 2433 จอห์น จอร์จ บาร์โธโลมิวชาวสกอตแลนด์ได้ทำแผนที่โดยใช้คำว่าแอนตาร์กติกาเป็นชื่อทวีปเป็นครั้งแรก == การเปลี่ยนแปลงชื่อ == ในยุโรปจินตนาการที่มีมายาวนานถึงทวีปที่ขั้วโลกใต้ (แต่ขณะนั้นยังไม่ได้ค้นพบ) เรียกขานดินแดนนี้ว่า เทร์รา ออสตราลิส (Terra Australis) ซึ่งบางครั้งจะย่อเป็น 'ออสตราเลีย (Australia)' ดังเช่นในภาพพิมพ์ไม้ที่ชื่อว่า Sphere of the winds ที่บันทึกอยู่ในตำราทางโหราศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในแฟรงค์เฟิร์ตในปี พ.ศ. 2088 แม้ว่าชื่อเต็มดังกล่าวจะเป็นที่รู้จัก แต่ชื่อย่อ 'ออสตราเลีย' ก็ได้ถูกใช้ในแวดวงวิชาการของยุโรป จากนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้ปกครองอาณานิคมที่ซิดนีย์ได้ยกเลิกชื่อดินแดนที่มีที่มาจากภาษาดัตช์ที่เรียกว่า นิวฮอลแลนด์ (Nieuw Holland) แต่แทนที่จะตั้งชื่อใหม่พวกเขาได้นำชื่อ 'ออสตราเลีย' จากทวีปที่ขั้วโลกใต้มาใช้แทน ทำให้ทวีปที่ขั้วโลกใต้ไม่มีชื่อเรียกเป็นเวลากว่าแปดสิบปี ระหว่างช่วงเวลานั้นนักภูมิศาสตร์ได้พยายามหาชื่อที่เหมาะสม โดยค้นหาคำในบทกวีที่จะมาใช้แทน มีการเสนอคำอย่างเช่น อุลติมา (Ultima) และ อันติโปเดีย (Αντιποδια) จนในที่สุด แอนตาร์กติกา ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงทศวรรษปี 2433 == การศึกษาวิจัยในขั้วโลกใต้ == เพื่อให้การศึกษาวิจัยด้านทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในทวีปแอนตาร์กติกา ประเทศต่าง ๆ จึงได้ตกลงร่วมมือสร้างศูนย์วิจัย โดยเริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 ทำให้สามารถวัดความหนาและปริมาณของน้ำแข็งที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกาได้ และยังค้นพบว่าภายใต้น้ำแข็งที่หนากว่า 2,000 เมตรนั้น ยังมีแผ่นดินที่กว้างใหญ่อยู่ หลังจากนั้นการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับทวีปแอนตาร์กติกาก็ได้รับความสนใจมากขึ้นทีเดียว และในปี 2553 หลายประเทศได้ร่วมลงนามก่อตั้งสนธิสัญญาสำหรับทวีปแอนตาร์กติกาขึ้น โดยให้ทุกประเทศสามารถเข้าทำการศึกษาวิจัยได้ ยกเว้นแต่การทำกิจกรรมด้านทหาร === ศูนย์วิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกา === ดินแดนหลาย ๆ แห่งในทวีปแอนตาร์กติกาถูกประเทศต่าง ๆ อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง เช่น ประเทศอาร์เจนตินา, ชิลี, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจักร เป็นต้น และในดินแดนเหล่านี้ก็จะมีศูนย์วิจัยของประเทศต่าง ๆ ตั้งอยู่ ทั้งทวีปแอนตาร์กติกามีศูนย์วิจัยของประเทศต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศ จำนวน 60 แห่ง ในช่วงฤดูหนาวจะมีนักวิจัยทำงานอยู่ที่นี่ประมาณ 1,000 คน และจะเพิ่มเป็น 4,000 คนในฤดูร้อน ในศูนย์วิจัยแมกเมอร์โดที่อยู่ในเขตที่นิวซีแลนด์อ้างกรรมสิทธิ์ เป็นศูนย์วิจัยและชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในแอนตาร์กติกา สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 1,000 คน == ภูมิประเทศ == แอนตาร์กติกาเป็นทวีปที่อยู่ทางทิศใต้สุดของโลก โดยตั้งอยู่ในเขตแอนตาร์กติกเซอร์เคิลรอบขั้วโลกใต้ ล้อมโดยมหาสมุทรใต้ มีพื้นที่มากกว่า 14 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีชายฝั่งยาว 17,968 กิโลเมตร ประมาณร้อยละ 98 ของแอนตาร์กติกาถูกปกคลุมด้วยพืดน้ำแข็งแอนตาร์กติกา พืดน้ำแข็งหนาเฉลี่ย 1.6 กิโลเมตร ทวีปนี้มีน้ำแข็งถึงราวร้อยละ 90 ของน้ำแข็งทั้งหมดบนโลก ทำให้มีน้ำจืดประมาณร้อยละ 70 ของโลก ถ้าน้ำแข็งทั้งหมดละลายแล้ว ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 61 เมตร จุดที่สูงที่สุดของทวีปคือยอดเขาวินสันแมสซิฟ มีความสูง 4,892 เมตร ตั้งอยู่ในเทือกเขาเอลส์เวิร์ท ถึงแม้ว่าแอนตาร์กติกาจะมีภูเขาไฟจำนวนมาก แต่มีเพียงแห่งเดียวที่ทราบแน่ชัดว่ายังคงคุกรุ่นอยู่คือภูเขาไฟเอเรบัสบนเกาะรอสส์ ในปีพ.ศ. 2547 นักสำรวจชาวอเมริกันและแคนาดาค้นพบภูเขาไฟใต้น้ำในคาบสมุทรแอนตาร์กติก โดยหลักฐานแสดงให้เห็นว่าภูเขาไฟนี้อาจยังคุกรุ่นอยู่เช่นกัน == อาณาเขตแอนตาร์กติกา == {|class="wikitable sortable" |- ! ปีที่เริ่มอ้างสิทธิ์ ! ประเทศ ! scope="col" style="width: 120px;" |ดินแดน ! ชื่อในภาษาท้องถิ่น ! ขอบเขตการอ้างสิทธิ์ ! class=unsortable |แผนที่ |- |style="text-align:center;" |2382 | | อาเดลีแลนด์ |Terre Adélie |142°02'ตะวันออก ถึง 136°11'ตะวันออก |90px |- |style="text-align:center;" |2451 | | อาณานิคมหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (2451-2505) บริติชแอนตาร์กติกเทร์ริทอรี (2505-) |Falkland Islands DependenciesBritish Antarctic Territory |20°00′W to 80°00′W รวมทั้งพื้นที่ซ้อนทับ: 53°00′W ถึง 25°00′W อ้างสิทธิ์โดย อาร์เจนตินา (2486) 74°00′W ถึง 53°00′W อ้างสิทธิ์โดย ชิลี (2483) และ อาร์เจนตินา (2486) 80°00′W ถึง 74°00′W อ้างสิทธิ์โดย ชิลี (2483) |90px |- |style="text-align:center;" |2466 | | รอสส์ดีเพนเดนซี |Ross Dependency |150°00′ ตะวันตกถึง 160°00′ ตะวันออก |90px |- |style="text-align:center;" |2472 | | เกาะปีเตอร์ที่ 1 |Peter I Øy | |90px |- |style="text-align:center;" |2476 | | ออสเตรเลียนแอนตาร์กติกเทร์ริทอรี |Australian Antarctic Territory |160°00′ตะวันออกถึง 142°02'ตะวันออก และ136°11'ตะวันออกถึง 44°38'ตะวันออก |90px |- |style="text-align:center;" |2482 | | ควีนมอดแลนด์ |Dronning Maud Land |44°38'ตะวันออกถึง 20°00′ตะวันตก |90px |- |style="text-align:center;" |2483 | | ชิเลียนแอนตาร์กติกเทร์ริทอรี |Territorio Chileno Antártico |53°00′ตะวันตกถึง 90°00′ตะวันตก |90px |- |style="text-align:center;" |2486 | | อาร์เจนไทน์แอนตาร์กติกา |Antártida Argentina |25°00′ตะวันตกถึง 74°00′ตะวันตก |90px |- class="sortbottom" | |style="text-align:center;" |(ไม่มี) |ดินแดนที่ไม่ถูกอ้างสิทธิ์(มารีเบิร์ดแลนด์) |Marie Byrd Land |90°00′ตะวันตกถึง 150°00′ตะวันตก(ยกเว้น เกาะปีเตอร์ที่ 1) |90px |} === อดีตอาณาเขต === {|class="wikitable sortable" |- ! ปีที่อ้างสิทธิ์ ! ประเทศ ! ดินแดน ! ชื่อในภาษาท้องถิ่น ! ขอบเขตการอ้างสิทธิ์ ! ข้อมูล ! class=unsortable |แผนที่ |- |style="text-align:center;" |2455-2455 | | ยามาโตะยูคิฮาระ |大和雪原 |150°00′ ตะวันตกถึง 160°00′ ตะวันออก |ปัจจุบันดินแดนนี้คือ รอสส์ดีเพนเดนซี |90px |- |style="text-align:center;" |2482-2488 | | นิวสวาเบีย |Neuschwabenland |44°38'ตะวันออกถึง 20°00′ตะวันตก |ปัจจุบันดินแดนนี้คือ ควีนมอดแลนด์ |90px |} == ดูเพิ่ม == == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == 16px ศัพท์ภาษาอังกฤษแบบแอนตาร์กติก ที่ วิกิพจนานุกรม Antarctic Place-names Commission – Ministry of Foreign Affairs of Bulgaria Antarctica – In Our Time, BBC Radio 4 British Services Antarctic Expedition 2012 Antarctic Treaty Secretariat, de facto government British Antarctic Survey (BAS) U.S. Antarctic Program Portal Australian Antarctic Division South African National Antarctic Programme – Official Website Portals on the World – Antarctica from the Library of Congress NASA's LIMA (Landsat Image Mosaic of Antarctica) (USGS mirror) The Antarctic Sun (Online newspaper of the U.S. Antarctic Program) Antarctica and New Zealand (NZHistory.net.nz) Journey to Antarctica in 1959 – slideshow by The New York Times Listen to Ernest Shackleton describing his 1908 South Pole Expedition (The National Film and Sound Archive of Australia, 2007) Map of Antarctican subglacial lakes Video: The Bedrock Beneath Antarctica White Ocean of Ice Antarctica and climate change blog ทวีป เขตปลอดทหาร
thaiwikipedia
735
พ.ศ. 2548
พุทธศักราช 2548 ตรงกับปีคริสต์ศักราช 2005 เป็นปีปกติสุรทินที่วันแรกเป็นวันเสาร์ตามปฏิทินกริกอเรียน และเป็น ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1367 (วันที่ 16 เมษายน เป็นวันเถลิงศก) ปกติมาส อธิกวาร ตามปฏิทินจันทรคติไทย ปีฟิสิกส์โลก ปีสากลแห่งสินเชื่อรายย่อย ปีสากลสำหรับกีฬาและพลศึกษา == ผู้นำประเทศไทย == พระมหากษัตริย์: พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) นายกรัฐมนตรี: พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 19 กันยายน พ.ศ. 2549) == เหตุการณ์ == === มกราคม === 18 มกราคม วันสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ๙ แห่ง === กุมภาพันธ์ === 6 กุมภาพันธ์ - พรรคไทยรักไทย ของนายกรัฐมนตรีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (เกิน 2 ส่วน 5) ในสภาผู้แทนราษฎรจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย 14 กุมภาพันธ์ - เกิดระเบิดรถยนต์ของอดีตประธานาธิบดีราฟิก ฮารี แห่งเลบานอนทำให้นายฮารีเสียชีวิตพร้อมกับคนอื่นรวม 20 คน 16 กุมภาพันธ์ - พิธีสารเกียวโตเริ่มมีผลบังคับใช้ === มีนาคม === 31 มีนาคม - ค้นพบดาวเคราะห์น้อยมาคีมาคี === เมษายน === 8 เมษายน - พิธีพระศพสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 27 เมษายน - แอร์บัส เอ380 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกออกบินครั้งแรก === พฤษภาคม === 5 พฤษภาคม - พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร === กรกฎาคม === 4 กรกฎาคม - ยานดีปอิมแพกต์ขององค์การนาซายิงวัตถุพุ่งชนดาวหางเทมเพล 1 ทำให้เกิดหลุมเพื่อศึกษาองค์ประกอบของดาวหาง 6 กรกฎาคม - ที่ประเทศสิงคโปร์ คณะกรรมการโอลิมปิกสากลประกาศเลือกกรุงลอนดอนให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 6 กรกฎาคม-8 กรกฎาคม - การประชุมจี 8 จัดขึ้นที่สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร 7 กรกฎาคม - ผู้ก่อการร้าย ก่อเหตุระเบิด 4 ครั้งต่อเนื่อง ที่รถไฟใต้ดินและรถประจำทาง กลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร === สิงหาคม === === กันยายน === === ตุลาคม === 12 ตุลาคม - ยานเสินโจว 6 ของจีน นำนักบินอวกาศ 2 คนขึ้นโคจรในวงโคจรรอบโลกเป็นเวลานาน 5 วัน 19 ตุลาคม - เริ่มการพิจารณาซัดดัม ฮุสเซน == วันเกิด == 26 มกราคม - วรินท์รัตน์ ยลประสงค์ นักร้องชาวไทย 14 กุมภาพันธ์ - จักร วรรธนะสิน ลูกชายของ เจตริน วรรธนะสิน 13 มีนาคม - ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนา นักแสดงลูกครึ่งไทย-เยอรมัน 15 เมษายน - กันตพัฒน์ เกษมสันต์ นักแสดงชาวไทย 29 เมษายน - สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร 9 มิถุนายน - กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ นักแสดง นักร้องชาวไทย 26 มิถุนายน - เจ้าหญิงอะเลกซียาแห่งเนเธอร์แลนด์ 3 กรกฎาคม - ชินารดี อนุพงษ์ภิชาติ นักแสดงชาวไทย 9 กรกฎาคม - ปานรดา คเชนทร์นุกูล นักแสดงชาวไทย 7 สิงหาคม - อธิป โสดา นักร้องลูกทุ่งชาวไทย 25 สิงหาคม - จิรายุ ขุนรักษ์ นักแสดง พิธีกรชาวไทย 19 กันยายน - ชญานิน เต่าวิเศษ นักแสดง ยูทูบเบอร์ชาวไทย 2 ตุลาคม - ณรกร ณิชกุลธนโชติ นักร้อง นักแสดงชาวไทย 15 ตุลาคม - เจ้าชายคริสเตียนแห่งเดนมาร์ก 30 ตุลาคม - ศุกลวัฒน์ พวงสมบัติ แร็ปเปอร์ชาวไทย 31 ตุลาคม - เลโอนอร์ เจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียส 3 ธันวาคม - เจ้าชายสแวร์ มักนุสแห่งนอร์เวย์ * เจ้าชายไอเมอริกแห่งเบลเยียม * เจ้าชายนีโคลัสแห่งเบลเยียม == วันถึงแก่กรรม == 29 มกราคม - วันชาติ พึ่งฉ่ำ (หนู เชิญยิ้ม/คลองเตย) นักแสดงชาวไทย 19 กุมภาพันธ์ - อำนวย กลัสนิมิ (ครูเนรมิต) ผู้กำกับภาพยนตร์ ศิลปินแห่งชาติชาวไทย 13 มีนาคม - เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือ (เกิด 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2478) 2 เมษายน - สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (ประสูติ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463) 6 เมษายน - สริ ยงยุทธ นักดนตรีชาวไทย อดีตหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ (เกิด 2 ธันวาคม พ.ศ. 2456) 1 สิงหาคม - ศรีสุดา รัชตะวรรณ นักร้องชาวไทย (เกิด 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473) 13 พฤศจิกายน - ไวกูรส์ บุญถนอม นักร้องชาวไทย 13 พฤศจิกายน - เอ็ดดี เกอร์เรโร นักมวยปล้ำอาชีพชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน == บันเทิงคดีที่อ้างอิงถึงปีนี้ == เดธโน้ต : ตัวละครแอล (แอล. ลอว์ไลท์) ถึงแก่กรรมในวันที่ 5 พฤศจิกายนของปีนี้ == รางวัลโนเบล == สาขาเคมี – Robert Grubbs, Richard Schrock, Yves Chauvin สาขาวรรณกรรม – ฮาโรลด์ พินเทอร์ สาขาสันติภาพ – สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ, มุฮัมมัด อัลบะรอดะอี สาขาฟิสิกส์ – รอย เจย์ กลอเบอร์, จอห์น ลิวอีส ฮอลล์, ธีโอดอร์ วูล์ฟกาง ฮานช์ สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ – แบร์รี เจ. มาร์แชลล์, เจ. โรบิน วอร์เรน สาขาเศรษฐศาสตร์ – Robert Aumann, Thomas Schelling == ดูเพิ่ม == กีฬาใน พ.ศ. 2548
thaiwikipedia
736
พ.ศ. 2547
พุทธศักราช 2547 ตรงกับปีคริสต์ศักราช 2004 เป็นปีอธิกสุรทินที่วันแรกเป็นวันพฤหัสบดีตามปฏิทินกริกอเรียน เป็นปีอธิกมาส ปกติวาร ตามปฏิทินไทยจันทรคติ ปีวอก ฉศก จุลศักราช 1366 (วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก) กำหนดให้เป็น: ปีสากลแห่งข้าว (โดยสหประชาชาติ) ปีสากลแห่งการระลึกถึงการต่อสู้กับความเป็นทาสและการเลิกทาส (โดยยูเนสโก) ปีอาหารปลอดภัย (ประเทศไทย) == ผู้นำประเทศไทย == พระมหากษัตริย์: พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) นายกรัฐมนตรี: พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 19 กันยายน พ.ศ. 2549) == เหตุการณ์ == === มีนาคม === ===มีนาคม=== 11 มีนาคม - เกิดระเบิดครั้งใหญ่บนขบวนรถไฟ กรุงมาดริด ประเทศสเปน มีผู้เสียชีวิต 191 คน === เมษายน === 28 เมษายน – เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ: เวลาเช้า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกว่า 200 คน พยายามปล้นปืนและทำร้ายเจ้าหน้าที่พร้อมกันหลายจุดในจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา กลุ่มคนร้ายหลบหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ เจ้าหน้าที่ล้อมไว้จนเวลาประมาณ 14.00 น. พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี สั่งยิงถล่มด้วยอาวุธหนัก มีผู้ก่อการเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้รวม 108 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย ===พฤษภาคม=== === มิถุนายน === 8 มิถุนายน – เกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งแรกในคริสต์สหัสวรรษนี้ ===กรกฎาคม=== === สิงหาคม === 13 สิงหาคม – พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ === กันยายน === 1 กันยายน - มีการจับตัวประกันเป็นนักเรียนในโรงเรียนเบลลาน ซึ่งอยู่ที่เซาท์ออสซีเชีย ประเทศรัสเซีย มีผู้เสียชีวิต 344 คน 9 กันยายน - เกิดเหตุระเบิดสถานทูตออสเตรเลียในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิต 8 คน === ตุลาคม === 25 ตุลาคม - กรณีตากใบ: เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมหลายร้อยคน หน้า สภ.อ.ตากใบ ตำบลตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หลังสลายการชุมนุมแล้ว มีผู้เสียชีวิต 4 คน และเจ้าหน้าที่ได้ส่งผู้ชุมนุมจำนวนมากขึ้นรถบรรทุก หลังจากนั้นพบว่ามีผู้ชุมนุมอีก 78 คน เสียชีวิตบนรถเนื่องจากขาดอากาศหายใจ === ธันวาคม === 26 ธันวาคม - เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย วัดขนาดได้ 9.1-9.3 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ ซัดเข้าฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย อาทิ ศรีลังกา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไทย รวมถึงชายฝั่งบางส่วนของทวีปแอฟริกา มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 230,000-280,000 คน โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต 5,395 คน === ไม่ทราบวัน === ค้นพบ ธาตุอูนอูนเทรียม และ อูนอูนเพนเทียม == วันเกิด == 21 มกราคม - เจ้าหญิงอิงกริด อเล็กซันดราแห่งนอร์เวย์ 19 กุมภาพันธ์ - มิลลี บ็อบบี บราวน์ นักแสดงและนางแบบชาวอังกฤษเชื้อสายสเปน 18 มีนาคม - อชิรญา นิติพน นักร้อง และนักแสดงหญิงชาวไทย 1 พฤษภาคม - ชาร์ลี ดาเมลิโอ นักเต้นชาวอเมริกัน 13 มิถุนายน - นรวิชญ์ ฐิติเจริญรักษ์ นักแสดงชายชาวไทย 26 มิถุนายน - ธนชัย ศักดิ์ชัยเจริญกุล นักกีฬาไอซ์ฮอกกี้เยาวชนทีมชาติไทย 23 กรกฎาคม - กาญจน์โสภณ วิรุณนิติพนธ์ ลูกชายของ แวนดา สหวงษ์ 5 สิงหาคม - ปาโบล กาบี นักฟุตบอลชาวสเปน 3 ตุลาคม - โนอาห์ สแนปป์ นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายแคนาดา 18 ตุลาคม - ณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุล นักแสดงชายชาวไทย 11 พฤศจิกายน * พณิชพล ธีระรัตน์สกุล นักแบดมินตันชายชาวไทย * พรรคพล ธีระรัตน์สกุล นักแบดมินตันชายชาวไทย 17 พฤศจิกายน - อธิวัตน์ แสงเทียน นักแสดงชายชาวไทย 21 พฤศจิกายน - นารีนาท เชื้อแหลม นักร้องหญิงชาวไทย 15 ธันวาคม - วิทิตา สระศรีสม นักร้องหญิงชาวไทย == วันถึงแก่กรรม == 1 มกราคม – สุรศักดิ์ นานานุกูล นักการเมือง อดีตรัฐมนตรี (เกิด 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486) 20 มีนาคม - สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์ (พระราชสมภพ 30 เมษายน พ.ศ. 2452) 30 มีนาคม - ซัลวาโตเร่ เบอรูนี่ นักมวยสากลชาวอิตาลี 2 พฤษภาคม – สกุล ศรีพรหม นักการเมือง อดีตรัฐมนตรี (เกิด 28 เมษายน พ.ศ. 2475) 5 มิถุนายน – โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 40 (เกิด 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454) 16 มิถุนายน – จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 10 (เกิด 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454) 1 กรกฎาคม – มาร์ลอน แบรนโด นักแสดงชาวอเมริกัน (เกิด 3 เมษายน พ.ศ. 2467) 28 กรกฎาคม – ฟรานซิส คริก นักเคมีรางวัลโนเบล (เกิด 8 มิถุนายน พ.ศ. 2459) 30 สิงหาคม – เฟร็ด ลอว์เรนซ์ วิปเปิล นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน (เกิด 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449) 10 ตุลาคม – คริสโตเฟอร์ รีฟ นักแสดงชาวอเมริกัน (เกิด 25 กันยายน พ.ศ. 2495) 28 ตุลาคม - สมุทร์ สหนาวิน ข้าราชการ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง (เกิด 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2464) 11 พฤศจิกายน * ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ (เกิด 24 สิงหาคม พ.ศ. 2472) * อิทธิ พลางกูร นักร้องชาวไทย (เกิด 30 มกราคม พ.ศ. 2498) 1 ธันวาคม - เจ้าชายแบร์นฮาร์ดแห่งลิพเพอ-บีสเตอร์เฟลด์ (พระราชสมภพ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2454) 18 ธันวาคม – เจ้าหญิงคิกูโกะ พระชายาในเจ้าชายโนบูฮิโตะ พระปิตุลานีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (ประสูติ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2454) 19 ธันวาคม – เฮอร์เบิร์ต ซี. บราวน์ นักเคมีรางวัลโนเบล (เกิด 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2455) 26 ธันวาคม – คุณพุ่ม เจนเซ่น (เกิด 16 สิงหาคม พ.ศ. 2526) == รางวัล == === รางวัลโนเบล === สาขาเคมี – Aaron Ciechanover, Avram Hershko, Irwin Rose สาขาวรรณกรรม – เอลฟรีเดอ เยลิเนค สาขาสันติภาพ – วังการี มาไท สาขาฟิสิกส์ – เดวิด เจ. กรอส, เอช. เดวิด พอลิตเซอร์, แฟรงก์ วิลเชก สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ – ริชาร์ด แอกเซล, ลินดา บี. บัค สาขาเศรษฐศาสตร์ – Finn E. Kydland, Edward C. Prescott ==อ้างอิง==
thaiwikipedia
737
วิศวกรรมซอฟต์แวร์ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย
วิศวกรรมซอฟต์แวร์ใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer-Aided Software Engineering) หรือ เคส เป็นการใช้ซอฟต์แวร์ในการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ เครื่องมือในการสร้างซอฟต์แวร์นี้จะเรียกว่า CASE Tool CASE Tool แบ่งออกเป็น 2 ชนิด Upper CASE – มักจะถูกใช้ในขั้นตอนการพัฒนาในช่วงแรก ๆ เช่น การเก็บความต้องการ, การออกแบบ Lower CASE – มักถูกใช้ในขั้นตอนช่วงหลัง เช่น การเขียนโปรแกรม, การตรวจสอบความถูกต้อง == อ้างอิง == Case Analyst WorkBenches : A Detailed Product Evaluation" Volume 1 pp 229-242 by Evans R. Rock == ดูเพิ่ม == วิศวกรรมซอฟต์แวร์ CASE Tools CASE tool index UML CASE tools Agile CASE Tool ซอฟต์แวร์ การพัฒนาซอฟต์แวร์
thaiwikipedia
738
การจัดการโครงการ
การจัดการโครงการ (หรืออาจใช้ว่า การบริหารโครงการ, การบริหารจัดการโครงการ)(Project management) เป็นหลักการความรู้ในการวางแผน จัดระเบียบ รับประกัน จัดการ ชี้นำ และควบคุมทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้โครงการบรรลุเป้าประสงค์ การจัดการโครงการเป็นการวางแผนและการจัดการทรัพยากรต่างๆ ทั้งทรัพยากรด้านบุคคลและรายละเอียดของกิจกรรมต่างภายในโครงการ โดยคาดคะเนทิศทางและระยะเวลาของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งถึงโครงการสำเร็จ รวมถึงการกำหนดช่วงเวลาในการปฏิบัติงานในกิจกรรมต่างๆภายในโครงการ เพื่อจะทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ และสามารถที่จะประมาณราคาของโครงการได้ การจัดการโครงการมีหัวใจสำคัญคือการจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง เวลา ราคา และคุณภาพ ในทรัพยากรที่กำหนดเพื่อให้ได้เป้าหมายตามต้องการ ในแต่ละโครงการจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีการระบุวันเริ่มและวันสิ้นสุดงาน ซึ่งจุดนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างจากการทำงานธุรกิจทั่วไปที่มีลักษณะงานที่มีรูปแบบการทำงานแน่นอน และมีการทำงานซ้ำเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าตามต้องการ การจัดการงานต่างๆ และความรู้ทางเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ ในการจัดการโครงการ และ การจัดการทางธุรกิจนั้นมีความแตกต่างกัน ความท้าทายของการจัดการโครงการคือการเข้าถึงเป้าหมายได้ทั้งหมดตามที่กำหนดไว้ ขณะที่ยังคงจัดการข้อจำกัดและทรัพยากรที่มี ข้อจำกัดทั่วไปในการจัดการโครงการได้แก่ ขอบเขตงาน เวลา เงินทุน และข้อจำกัดต่อมาคือ การจัดสรรทรัพยากร การประยุกต์และนำทรัพยากรที่มีทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ตามเป้าหมาย == ประวัติ == การจัดการโครงการได้ถูกพัฒนาจากหลากหลายสาขารวมถึง การก่อสร้าง วิศวกรรม และการทหาร บิดาแห่งวงการจัดการโครงการได้แก่ เฮนรี แกนต์ (Henry Gantt) ซึ่งเป็นผู้ใช้แกนต์ชาร์ต(หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Harmonogram ซึ่งถูกเสนอเป็นครั้งแรกโดย Karol Adamiecki)เป็นเครื่องมือในการจัดการโครงการ และคนที่สองคือ เฮนรี่ ฟาโยล (Henri Fayol) ผู้บุกเบิกในด้านการจัดการโครงการด้วยการคิดค้น 5 หลักการทำงานด้านการจัดการ ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของความรู้ในการจัดการโครงการ ทั้ง แกนต์และฟาโยลเป็นลูกศิษย์ของเฟเดอริก วินส์โล เทเลอร์ (Frederick Winslow Taylor) ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎี การจัดการทางวิทยาศาสตร์ (scientific management) ซึ่งงานของเขาเป็นการบุกเบิกเครื่องมือในการจัดการโครงการสมัยใหม่ รวมถึง การทำโครงสร้างรายละเอียดของงานต่างๆในโครงสร้าง (work breakedown structure; WBS) และการเคลื่อนย้ายทรัพยากร (resource allocation) ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นการเริ่มต้นของยุคของการจัดการโครงการสมัยใหม่ที่วิศวกรรมหลากหลายสาขาในโครงการได้มาทำงานเป็นทีมเดียวกัน หลังจากนั้นการจัดการโครงการกลายเป็นหลักการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นจากหลักการในการจัดการทางวิศวกรรม ก่อนปีค.ศ. 1950 ในประเทศสหรัฐอเมริกา การจัดการโครงการส่วนใหญ่ใช้แกนต์ชาร์ต, เทคนิคและเครื่องมือเฉพาะตัวต่างๆมากมาย ในช่วงเวลาขณะนั้นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับวางแผนระยะเวลาต่างๆในโครงการ 2 แบบจำลอง ได้ถูกพัฒนาขึ้น อย่างแรกคือ Critical Path Model (CPM) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท DuPont Corporation และบริษัท Remington Rand Corporation เพื่อใช้สำหรับการจัดการในเรื่องของการบำรุงรักษาโรงงานอุตสาหกรรม แบบจำลองอีกแบบหนึ่งคือ Program Evaluation and Review Technique (PERT) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดย Booz Allen Hamilton ซึ่งเขาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาจรวดนำวิถี Polaris สำหรับเรือดำน้ำ ซึ่งในเวลาต่อมาแบบจำลองทั้งสองได้ถูกนำไปใช้ในบริษัทต่างๆ อย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเทคโนโลยีในการประเมินราคาของโครงการ, การจัดการต้นทุนและเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดย Hans Lang และบุคคลอื่นๆ ในปี ค.ศ. 1956 American Association of Cost Engineers (ปัจจุบันคือ AACE International; Association for the Advancement of Cost Engineering) ได้ถูกตั้งขึ้นและดำเนินงานเรื่อยมาจนกระทั่งในปี ค.ศ. 2006 ได้เผยแพร่ Total Cost Management ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติแบบครบวงจรในการจัดการโครงการ ในปี ค.ศ. 1967 องค์กรที่ชื่อว่า International Project Management Association (IPMA) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในทวีปยุโรป โดยสมาคมสำหรับการจัดการโครงการต่างๆ เพื่อเป็นองค์กรกลางในการวางโครงสร้างและดูแลโครงสร้างสำหรับการจัดการโครงการ IPMA ได้มีการออกใบประกาศนียบัตร 4 ระดับ โดยยึดจาก IPMA Competence Baseline (ICB). ในปี ค.ศ. 1967 องค์กรที่ชื่อว่า Project Management Institute (PMI) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา และได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ A Guide to the Project Management Body of Knowledge (PMBOK) ซึ่งได้อธิบายแนวทางการปฏิบัติในการจัดการโครงการซึ่งโดยพื้นฐานคือ "most projects, most of the time." PMI ได้แบ่งใบประกาศนียบัตรออกเป็นหลายระดับ == วิธีการในการจัดการโครงการ == == ขั้นตอนและกระบวนการจัดการโครงการ == การกำหนดโครงการ การจัดเตรียมโครงการ การประเมินโครงการและการอนุมัติโครงการ การนำโครงการไปปฏิบัติ การประเมินผลโครงการ == อ้างอิง == == ดูเพิ่ม == วิศวกรรมคุณค่า == แหล่งข้อมูลอื่น == การบริหารจัดการโครงการ พรีเซนเตชันโดย ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ การจัดการโครงการคืออะไร ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล กสท โทรคมนาคม การจัดการโครงการ
thaiwikipedia
739
ค.ศ. 2004
redirect พ.ศ. 2547
thaiwikipedia
740
ค.ศ. 2005
redirect พ.ศ. 2548
thaiwikipedia
741
โทมัส ฮอบส์
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) (5 เมษายน พ.ศ. 2131 (ค.ศ. 1588) — 4 ธันวาคม พ.ศ. 2222 (ค.ศ. 1679)) เป็นนักปรัชญาการเมือง ชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานที่สำคัญคือหนังสือชื่อ Leviathan ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2194 หนังสือเล่มนี้กลายเป็นฐานประเด็นในแนวปรัชญาการเมืองตะวันตกในสมัยต่อมาในเกือบทุกแนว ถึงแม้ว่าทุกคนได้รู้จักโทมัส ฮอบส์จากงานเขียนเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองตะวันตกก็จริง แต่ที่จริงแล้วฮอบส์ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ไว้อีกหลายด้าน เช่น ประวัติศาสตร์ เรขาคณิต เทววิทยา จริยธรรม รวมทั้งด้านปรัชญาทั่ว ๆ ไปอีกหลายเรื่อง และที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันว่า รัฐศาสตร์ (political science) นอกจากนี้สิ่งที่ฮอบบส์เชื่อที่ว่า "มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติมีการร่วมมือกันก็โดยมุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว" ซึ่งข้อคิดนี้ได้รับการพิสูจน์ในทฤษฎีของ ปรัชญามานุษยวิทยาต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน == ชีวิตในวัยเยาว์และการศึกษา == โทมัส ฮอบส์ เกิดที่วิลท์ไชร์ ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรของพระราชาคณะแห่งชาร์ลตัน และ เวสต์พอร์ตซึ่งหนีออกจากประเทศอังกฤษเนื่องจากการกลัวโทษแขวนคอและปล่อยลูก 3 คนทิ้งไว้ให้พี่ชายชื่อฟรานซิสดูแล ฮอบบส์ได้เข้าเรียนในโรงเรียนโบสถ์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นตามลำดับ ฮอบส์เป็นนักเรียนดีและได้เข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่เฮิร์ทฟอร์ดคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเมื่อ พ.ศ. 2146 ที่มหาวิทยาลัย ฮอบส์ได้เป็นครูกวดวิชาให้กับบุตรชายของวิลเลียม คาเวนดิช บารอนแห่งฮาร์ดวิกซึ่งกลายเป็นมิตรภาพกับครอบครัวนี้อย่างต่อเนื่องกันไปชั่วชีวิต ฮอบบส์กลายเป็นคู่หูของวิลเลียมผู้เยาว์ ได้ร่วม "การท่องเที่ยวครั้งใหญ่" (Grand tour -ประเพณีของคนอังกฤษชั้นสูงวัยหนุ่มระหว่างประมาณ พ.ศ. 2200 - พ.ศ. 2360 เพื่อท่องยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่อเรียนรู้ แสวงหาและสัมผัสกับปรัชญาและวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ที่รุ่งเรืองในที่นั้น) ฮอบบส์ได้สัมผัสกับวิทยาศาสตร์และวิธีการคิดเชิงวิฤติของยุโรปซึ่งแตกต่างกับ "ปรัชญาอัสมาจารย์" (scholastic philosophy) ที่ได้เขาเคยเรียนที่ออกซฟอร์ดซึ่งมุ่งเรียนอย่างจริงจังทางกรีกคลาสสิกและละติน แม้ว่าฮอบส์จะมีโอกาสได้คลุกคลีกับนักปรัชญามีชื่อเช่น เบน จอนสัน และ ฟรานซิส เบคอนมานานแต่ก็ไม่ได้สนใจด้านปรัชญาจนกระทั่งถึงหลังจาก พ.ศ. 2172 คาเวนดิชซึ่งได้เลื่อนเป็นเอร์ลแห่งเดวอนไชร์ผู้เป็นนายจ้างฮอบส์ได้เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2171 และภริยาหม้ายของคาเวนดิชได้บอกเลิกจ้างเขา แต่ในเวลาต่อมาฮอบบส์ก็ได้งานใหม่เป็นครูกวดวิชาให้กับลูกของเซอร์เกอร์วาส คลิฟตันซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในปารีสและจบลงเมื่อ พ.ศ. 2174 เนื่องจากการได้พบกับครอบครัวคาเวนดิชอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นงานกวดวิชาให้กับลูกชายของนักเรียนเก่า ในช่วงต่อมาอีก 7 ปี ฮอบส์ได้เพิ่มพูนความรู้ด้านปรัชญาไปพร้อมกับงานกวดวิชาซึ่งทำให้เขาเกิดความอยากรู้อยากอภิปรายเกี่ยวปรัชญามากขึ้นและได้กลายเป็นนักอภิปรายปรัชญาหลักที่เป็น "ขาประจำ" ในยุโรป และจากปี พ.ศ. 2180 เป็นต้นมา ฮอบส์ได้ถือว่าตนเองเป็นนักปรัชญาและผู้รอบรู้ == ปารีส == ที่ปารีสฮอบส์ได้ศึกษาลัทธิปรัชญาในหลาย ๆ ด้านและได้ทดลองเข้าถึงปัญหาด้วยแนวทางฟิสิกส์ ได้พยายามไปถึงการวางระบบความคิดที่ละเอียดบรรจงขึ้นซึ่งได้กลายเป็นงานที่ฮอบบ์ได้อุทิศชีวิตให้ ฮอบส์ได้ทำศาสตรนิพนธ์หลายเรื่อง เช่นเกี่ยวกับลัทธิที่เป็นระบบเกี่ยวกับร่างกายเพื่อแสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ทางกายภาพสามารถอธิบายอาการเคลื่อนไหวได้อย่างไร ฮอบบ์ได้แยกเอา มนุษย์ ออกจากอาณาจักรของธรรมชาติและพืชพรรณ ในอีกศาสนตรนิพนธ์หนึ่ง ฮอบบ์ได้แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวเฉพาะบางอย่างของร่างกายเนื่องมาจากผลของปรากฏการณ์ผัสสาการ (ศัพท์ปรัชญา = sensation) ความรู้ วิภาพ (ความชอบ = affection) และกัมมภาวะ (ความดูดดื่ม, กิเลส = passion) และสุดท้ายในศาสตรนิพนธ์อันลือชื่อ ฮอบบ์แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ถูกผลักดันเข้าสังคมได้อย่างไรและตั้งประเด็นว่าจะต้องออกกฎระเบียบใช้บังคับหากไม่ต้องการให้มนุษย์ต้องตกสู่ "ความเหี้ยมโหดและความทุกข์ระทม" ทำให้ฮอบบ์เสนอการรวมปรากฏการณ์ที่ว่าแยกกันของ ร่างกาย" มนุษย์และ รัฐ เข้าเป็นหนึ่งเดียว โทมัส ฮอบบ์กลับบ้านเมื่อ พ.ศ. 2180 ในขณะที่อังกฤษกำลังเกิดสงครามกลางเมืองสู้กันระหว่างบิชอปซึ่งมีผลกระทบต่องานศึกษาค้นคว้าทางปรัชญา แต่ฮอบส์ก็สามารถเขียนศาสตรนิพนธ์เรื่อง "Human Nature" และ "De Corpore Politico" แล้วเสร็จและตีพิมพ์ร่วมกันภายหลังใน 10 ปีต่อมาในชื่อ "The Element Of Law" ในปี พ.ศ. 2183 ฮอบส์ได้หนีกลับไปฝั่งเศสอีกครั้งด้วยรู้ว่าการเผยแพร่ศาสตรนิพนธ์ที่เขาเขียนขึ้นกำลังให้ร้ายแก่ตัวเอง คราวนี้ฮอบส์ไม่ได้กลับบ้านอีกเป็นเวลา 11 ปี ฮอบส์ได้เขียนหนังสืออื่น ๆ อีกหลายเล่มเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง เขาเกิดในยุคเดียวกับ เดส์การตส์ และเขียนบทวิจารณ์ตอบบทหนึ่งของหนังสือ "การครุ่นคิด" ของเดส์การตส์ซึ่งตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2184 งานเขียนหลาย ๆ เรื่องของฮอบส์ได้ส่งให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้นในวงวิชาการด้านปรัชญา == เลอไวอะทัน == "เลอไวอะทัน" (Leviathan) (พ.ศ. 2194) เป็นศาสตรนิพนธ์ชิ้นเอกด้านปรัชญาทางการเมืองที่ฮอบส์ใช้เผยแพร่ "ลัทธิพื้นฐานของสังคมกับรัฐบาลที่ชอบธรรม" ซึ่งเนื้อหาของหนังสือนี้ได้กลายเป็นต้นตำหรับของงานวิชาการทางปรัชญาด้าน "สัญญาประชาคม" และในหนังสือ "สภาวะตามธรรมชาติของมวลมนุษย์" ในเวลาต่อมา ซึ่งว่าในขณะที่คน ๆ หนึ่งที่อาจแข็งแรงหรือฉลาดกว่าใคร ๆ แต่เมื่อกำลังจะถูกฆ่าให้ตาย ในฐานะมนุษย์ตามสภาวะตามธรรมชาติ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็จะต่อสู้ทุกวิถีทาง ฮอบส์ถือว่าการต่อสู้ป้องกันตัวเพื่อเอาชีวิตรอดจากสิ่งใดก็ตามในโลกเป็นสิทธิ์และความจำเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์ เลอไวอะทันเป็นงานที่ฮอบส์เขียนขึ้นในระหว่างความยากลำบากของสงครามกลางเมืองของอังกฤษที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงที่มีการเรียกร้องให้มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ลงรอยที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง มีการยอมให้ใช้อำนาจมากไปบ้างเพื่อรักษาสันติภาพ ด้วยสภาวะความยุ่งเหยิงทางการเมืองขณะนั้นทำให้ทฤษฎีทางการเมืองของฮอบส์ที่ว่า องค์อธิปัตย์ หรือ อำนาจอธิปไตยควรมีอำนาจในการควบคุมพลเรือน ทหาร ตุลาการ และศาสนาได้รับการยอมรับ ฮอบส์แสดงออกมาอย่างเปิดเผยว่าองค์อธิปัตย์จะต้องมีอำนาจครอบคลุมไปถึงศรัทธาและลัทธิ และว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นย่อมเป็นการนำไปสู่ความแตกแยกในที่สุด === ฮอบบีเซียน (Hobbesian) === คำว่า ฮอบบีเซียน ในภาษาอังกฤษใหม่บางครั้งหมายถึงสถานการณ์ของการแข่งขันที่ไม่มีการควบคุม มีแต่ความเห็นแก่ตัวและไร้อารยธรรม เป็นความหมายที่นิ่งแล้ว แต่ก็เพี้ยนไม่ตรงความเป็นจริงด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ประการแรกเลอไวอะทันได้พรรณาสถานการณ์นี้ไว้จริงแต่เพื่อเพียงใช้สำหรับการวิจารณ์ อีกประการหนึ่งฮอบส์และเป็นหนอนหนังสือเป็นกระดากที่จะชี้แจง อีกความหมายหนึ่งที่ใช้เกือบทันทีหลังการตีพิมพ์คือ "อำนาจคือธรรม" == ชีวิตบั้นปลาย == ฮอบส์ได้พยายามตีพิมพ์ผลงานด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่ไม่ค่อยดีนักไปพร้อม ๆ กับงานด้านปรัชญา ในช่วงของ ยุคปฏิสังขรณ์'' (The Restoration) (การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ ราชวงศ์สกอตแลนด์ และราชวงศ์ไอร์ริชโดยพระเจ้าชาร์ลที่ 2 กษัตริย์หนุ่มของอังกฤษ) ชื่อเสียงของฮอบส์ได้โด่งดังขึ้นจนพระเจ้าชาร์ล ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของฮอบส์เมื่อครั้งยังเป็นปรินซ์ออฟเวลล์ลี้ภัยอยู่ในปารีสจำได้ จึงมีรับสั่งให้ฮอบส์เข้ารับราชการในราชสำนักและพระราชทานบำนาญแก่ฮอบส์ปีละ 100 ปอนด์ พระเจ้าชาร์ลต้องช่วยปกป้องฮอบส์จากการถูกกล่าวหาว่าเขียนหนังสือหมิ่นศาสนาและไม่ยอมรับว่าพระเจ้ามีตัวตนจากซึ่งเกิดจากความพยายามของรัฐสภาที่จะออกกฎหมายเพื่อเอาผิดฮอบส์ แม้จะเอาผิดฮอบส์ไม่ได้ แต่ก็มีผลทำให้ฮอบส์ไม่กล้าตีพิมพ์งานของเขาในอังกฤษอีก ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2222 ฮอบส์ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ ตามด้วยภาวะเส้นเลือดในสมองแตกจนเป็นอัมพาต ฮอบส์เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมปีนั้น ด้วยวัย 91 ปี ศพได้รับการฝังที่สนามของโบสถ์อัลท์ฮักนาล ในเดวอนไชร์ ประเทศอังกฤษ โทมัส ฮอบส์ มีอายุยืนยาวมาก มีชีวิตอยู่ตรงกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และสมเด็จพระเพทราชาในสมัยอยุธยาซึ่งในช่วงนั้นมีกษัตริย์อยุธยาครองราชย์รวมแล้วถึง 12 รัชกาล == อ้างอิง == Macpherson, C. B. (1962). The Political Theory of Possessive Individualism: Hobbes to Locke. Oxford: Oxford University Press. Robinson, Dave & Groves, Judy (2003). Introducing Political Philosophy. Icon Books. ISBN 1-84046-450-X. นักปรัชญาชาวอังกฤษ นักปรัชญาการเมือง
thaiwikipedia
742
ภาษาคาซัค
คาซัค (qazaqşa หรือ qazaq tılı, қазақша หรือ қазақ тілі, , , – "คาซัค ติลิ") เป็นภาษากลุ่มเตอร์กิกในเอเชียกลาง ภาษาคาซัคเป็นหนึ่งในภาษาราชการของประเทศคาซัคสถาน และนอกจากนี้ยังมีคนพูดภาษานี้ในอัฟกานิสถาน จีน อิหร่าน คีร์กีซสถาน มองโกเลีย รัสเซีย ทาจิกิสถาน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน ยูเครน และอุซเบกิสถาน ในเยอรมนีมีคนที่พูดภาษาคาซัคตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทั่วโลกมีคนพูดภาษาคาซัคเป็นภาษาแม่ประมาณ 6.5 ล้านคน เขียนโดยใช้อักษรซีริลลิก อักษรละติน (ในตุรกี) และอักษรอาหรับที่มีการดัดแปลง (ในประเทศจีน อิหร่าน และอัฟกานิสถาน) == การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ == ผู้พูดภาษาคาซัค (ส่วนใหญ่เป็นชาวคาซัค) กระจายในแถบเทือกเขาเทียนชานไปจนถึงทะเลแคสเปียนฝั่งตะวันตก เป็นภาษาราชการของประเทศคาซัคสถาน ซึ่งมีผู้พูดเกือบสิบล้านคน (ตามข้อมูลจาก CIA World Factbook ในด้านประชากรและสัดส่วนผู้พูดภาษาคาซัค) ในประเทศจีน มีผู้พูดภาษาคาซัคในจีนเกือบ 2 ล้านคนในจังหวัดปกครองตนเองชนชาติคาซัค อีหลี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ == ระบบการเขียน == การเขียนภาษาคาซัคเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 โดยภาษาคาซัคยุคโบราณ เขียนด้วยอักษรออร์คอน มีอักษร 24 ตัว ภาษาคาซัคสมัยใหม่เขียนด้วยอักษรซีริลลิก อักษรละตินและอักษรอาหรับ ปัจจุบัน ภาษาคาซัคเขียนด้วยอักษรซีริลลิก โดยอักษรซีริลลิกที่ใช้ในภาษาคาซัคเป็นอักษรรัสเซียที่มีอักษรเพิ่มขึ้นมา 9 ตัว: Ә, Ғ, Қ, Ң, Ө, Ұ, Ү, Һ, İ ในขณะที่ผู้พูดภาษาคาซัคในจีนยังคงเขียนด้วยภาษาอาหรับแบบที่คล้ายกับอักษรอาหรับสำหรับภาษาอุยกูร์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 นูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ ประธานาธิบดีของคาซัคสถานเสนอให้ใช้อักษรละตินเป็นอักษรราชการแทนอักษรซีริลลิกในคาซัคสถาน รัฐบาลคาซัคสถานได้ประกาศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ว่าคาซัคสถานจะปรับมาใช้อักษรละตินภายใน 10-12 ปี โดยใช้งบประมาณราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ == สัทวิทยา == ภาษาคาซัคมีการเปลี่ยนเสียงสระระหว่างสระหน้าและสระหลัง โดยมีข้อยกเว้นสำหรับคำบางคำที่เป็นคำยืมจากภาษาอื่น มีระบบการเปลี่ยนเสียงของสระห่อริมฝีปากแบบภาษาคีร์กิซแต่มีการใช้น้อยกว่า === พยัญชนะ === นี่คือตารางแสดงหน่วยเสียงพยัญชนะของภาษาคาซัคมาตรฐาน === สระ === ภาษาคาซัคมีหน่วยเสียงสระ 12 เสียง ในจำนวนนี้เป็นสระประสม 3 เสียง == ไวยากรณ์ == === ประโยค === การเรียงคำในประโยคเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา มีการใช้ปัจจัยแบบรูปคำติดต่อ === การก === ภาษาคาซัคมี 7 การก {|class="wikitable" |+การผันคำนาม !การก !หน่วย !รูปแบบที่เป็นไปได้ !keme "เรือ"||aua "ลม"||şelek "ตะกร้า"||säbız "แคร์รอต"||bas "หัว"||tūz "เกลือ"||qan "เลือด"||kün "วัน" |- !Nom | —||—||keme||aua||şelek||säbız||bas||tūz||qan||kün |- !Acc | -ny||-nı, -ny, -dı, -dy, -tı, -ty ||kemenı||auany||şelektı||säbızdı||basty||tūzdy||qandy||kündı |- !Gen | -nyñ||-nıñ, -nyñ, -dıñ, -dyñ, -tıñ, -tyñ||kemenıñ||auanyñ||şelektıñ||säbızdıñ||bastyñ||tūzdyñ||qannyñ||künnıñ |- !Dat | -ga||-ge, -ğa, -ke, -qa||kemege||auağa||şelekke||säbızge||basqa||tūzğa||qanğa||künge |- !Loc | -da||-de, -da, -te, -ta||kemede||auada||şelekte||säbızde||basta||tūzda||qanda||künde |- !Abl | -dan||-den, -dan, -ten, -tan, -nen, -nan||kemeden||auadan||şelekten||säbızden||bastan||tūzdan||qannan||künnen |- !Inst | -men||-men(en), -ben(en), -pen(en)||kememen||auamen||şelekpen||säbızben||baspen||tūzben||qanman||künmen |} === สรรพนาม === ภาษาคาซัคมีสรรพนามแทนบุคคล 8 คำ {|class="wikitable" |+สรรพนามแทนบุคคล ! colspan="2" | ! เอกพจน์ ! พหุพจน์ |- ! colspan="2" | บุรุษที่ 1 | Men | Bız |- ! rowspan="2" | บุุษที่ 2 ! | Sen | Sender |- ! | Sız | Sızder |- ! colspan="2" | บุรุษที่ 3 | Ol | Olar |} === กาล/จุดมุ่งหมาย/มาลา === ภาษาคาซัคมีรุปแบบผสมของกาล จุดมุ่งหมาย และมาลาผ่านการใช้รูปแบบของกริยาที่หลากหลาย หรือผ่านระบบกริยาช่วยหรืออาจเรียกว่ากริยาอ่อน {|class="wikitable" |+หน่วยเสียงที่ระบุบุคคล !||สรรพนาม||Copulas||Possessive endings||อดีต/เงื่อนไข |- !1st sg |men||-mın||-(ı)m||-(ı)m |- !2nd sg |sen||-sı||-(ı)ñ||-(ı)ñ |- !3rd sg |ol||-/-dır||-||— |- !1st pl |bız||-bız||-(ı)mız||-(ı)k/-(y)q |- !2nd sng formal & pl |sız||-sız||-(ı)ıñız||-(ı)ñız/-(y)ñyz |- !3rd pl |olar||-/-dır||—||— |} == อ้างอิง == ==อ่านเพิ่ม== Mark Kirchner: "Kazakh and Karakalpak". In: The Turkic languages. Ed. by Lars Johanson and É. Á. Csató. London [u.a.] : Routledge, 1998. (Routledge language family descriptions). S.318-332. == แหล่งข้อมูลอื่น == Kazakh Cyrillic–Latin (new) converter Kazakh Cyrillic–Latin (old)–Arabic converter Kazakh language, alphabet and pronunciation Aliya S. Kuzhabekova, "Past, Present and Future of Language Policy in Kazakhstan" (M.A. thesis, University of North Dakota, 2003) Kazakh language recordings , British Library Kazakh – Apertium KazakhTurkish Dictionary Kazakhstan in the CIA World Factbook US Peace Corps Kazakh Language Courses transcribed to HTML ตระกูลภาษาเตอร์กิก ภาษาในประเทศคาซัคสถาน ภาษาในประเทศจีน ภาษาในประเทศอิหร่าน ภาษาในประเทศอัฟกานิสถาน ภาษาในประเทศคีร์กีซสถาน ภาษาในประเทศมองโกเลีย ภาษาในประเทศรัสเซีย ภาษาในประเทศทาจิกิสถาน ภาษาในประเทศตุรกี ภาษาในประเทศเติร์กเมนิสถาน ภาษาในประเทศอุซเบกิสถาน ภาษาประธาน–กรรม–กริยา
thaiwikipedia
743
ประเทศอาร์มีเนีย
อาร์มีเนีย หรือ อาร์เมเนีย (Armenia, ; Հայաստան
thaiwikipedia
744
ลิตร
ลิตร (litre [บริติช], liter [อเมริกัน]; สัญลักษณ์เอสไอ คือ L และ l สัญลักษณ์อื่น: ℓ) เป็นหน่วยเมตริกของปริมาตร ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1 ลูกบาศก์เดซิเมตร (dm3), 1000 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซม.3) หรือ 0.001 ลูกบาศก์เมตร (ม.3) ลูกบาศก์เดซิเมตร (หรือลิตร) มีปริมาตร (ดูภาพ) จึงมีค่าเท่ากับหนึ่งในพันลูกบาศก์เมตร ระบบเมตริกฝรั่งเศสดั้งเดิมใช้ลิตรเป็นหน่วยฐาน คำว่า litre มาจากหน่วยฝรั่งเศสเก่าที่มีชื่อว่า litron ซึ่งมาจากกรีกไบแซนไทน์—โดยเป็นหน่วยน้ำหนัก ไม่ใช่ปริมาตร และมีค่าประมาณ 0.831 ลิตร หน่วยลิตรยังใช้ในระบบเมตริกหลายรูปแบบ และยอมรับใช้ในหน่วยฐานเอสไอ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หน่วยฐานเอสไอก็ตาม (หน่วยเอสไอของมวลคือลูกบาศก์เมตร (ม.3) สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศใช้วิธีการสะกดเป็น "litre" ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ส่วนรูปสะกด "liter" มักใช้ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน น้ำเหลวหนึ่งลิตรมีมวลเกือบเท่ากับหนึ่งกิโลกรัม เพราะเดิมมีการนิยามใน ค.ศ. 1795 ว่า กิโลกรัมเป็นมวลน้ำหนึ่งลูกบาศก์เดซิเมตร ณ อุณหภูมิที่น้ำแข็งละลาย การนิยามเมตรและกิโลกรัมใหม่ในภายหลังทำให้ความสัมพันธ์นี้ถูกยกเลิกไป ==หมายเหตุ== ==อ้างอิง== ==บรรณานุกรม== Bureau International des Poids et Mesures. (2006). "The International System of Units (SI)" (on-line browser): *Table 6 (Non-SI units accepted for use with the International System). Retrieved 2008-08-24 National Institute of Standards and Technology. (December 2003). The NIST Reference on Constants, Units, and Uncertainty: International System of Units (SI) (web site): * Note on SI units. Retrieved 2008-08-24. * Recommending uppercase letter L. Retrieved 2008-08-24. Taylor, B.N. and Thompson, A. (Eds.). (2008a). The International System of Units (SI) . United States version of the English text of the eighth edition (2006) of the International Bureau of Weights and Measures publication Le Système International d' Unités (SI) (Special Publication 330). Gaithersburg, MD: National Institute of Standards and Technology. Retrieved 2008-08-18. Taylor, B.N. and Thompson, A. (2008b). Guide for the Use of the International System of Units (Special Publication 811). Gaithersburg, MD: National Institute of Standards and Technology. Retrieved 2008-08-23. Turner, J. (Deputy Director of the National Institute of Standards and Technology). (16 May 2008)."Interpretation of the International System of Units (the Metric System of Measurement) for the United States". Federal Register Vol. 73, No. 96, p. 28432-3. UK National Physical Laboratory. Non-SI Units หน่วยปริมาตร
thaiwikipedia
745
จังหวัดกำแพงเพชร
กำแพงเพชร ใช้อักษรย่อ กพ เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคกลางตอนบน มีพื้นที่เป็นอันดับที่ 4 ของภาคกลาง รองจากจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดนครสวรรค์ และมีพื้นที่เป็นอันดับที่ 22 ของประเทศไทย และมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 54 ของประเทศ นับเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณเก่าแก่หลายแห่ง เช่น เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร เมืองคณฑี เป็นต้น มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย เช่น
thaiwikipedia
746
โอเชียเนีย
โอเชียเนีย (Oceania) เป็นชื่อภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ที่รวมออสตราเลเชีย, เมลานีเชีย, ไมโครนีเชีย และพอลินีเชีย คาดว่าโอเชียเนียมีพื้นที่ กินพื้นที่ซีกโลกตะวันออกถึงตะวันตก และประชากรประมาณ 44.5 ล้านคนใน ค.ศ. 2021 เมืองเทียบกับทวีป ภูมิภาคโอเชียเนียมีพื้นที่ดินเล็กที่สุดและมีประชากรน้อยเป็นอันดับ 2 รองจากทวีปแอนตาร์กติกา ศูนย์กลางประชากรหลักในภูมิภาคนี้อยู่ในซิดนีย์, เมลเบิร์น, บริสเบน, เพิร์ท, ออกแลนด์, แอดิเลด และโฮโนลูลู ผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกในออสเตรเลีย, นิวกินี และหมู่เกาะขนาดใหญ่ทางตะวันออก เริ่มเดินทางมาถึงเมื่อมากกว่า 60,000 ปีที่แล้ว ชาวยุโรปเริ่มสำรวจโอเชียเนียในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา โดยชาวโปรตุเกสเดินทางมาถึงหมู่เกาะตานิมบาร์ หมู่เกาะแคโรไลน์บางส่วน และปาปัวนิวกินีตะวันตกในช่วง ค.ศ. 1512 ถึง 1526 เจมส์ คุก ผู้ที่ภายหลังเดินทางมาถึงหมู่เกาะฮาวาย ออกสำรวจครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเขาเดินทางไปที่ตาฮีตี ตามมาด้วยออสเตรเลียตะวันออกเป็นครั้งแรก == ประเทศ == (ตาราวา) (อาปีอา) (นูกูอาโลฟา) (ฟูนาฟูตี) (นาอูรู) (เวลลิงตัน) (พอร์ตมอร์สบี) (เงรุลมุด) (ซูวา) (ปาลีกีร์) (พอร์ตวิลา) (โฮนีอารา) (มาจูโร) (แคนเบอร์รา) == ดินแดน == | ฮากัตญา | ไซปัน | ปาโกปาโก | อาวารัว | ปาเปเอเต | อาโลฟี | แอดัมส์ทาวน์ | อาตาฟู แต่ละอะทอลล์มีศูนย์กลางการบริหาร | มาตา-อูตู | นูเมอา | คิงส์ตัน | เวสต์ไอแลนด์ | เดอะเซตเทิลเมนต์ == ภูมิประเทศ == โอเชียเนียส่วนใหญ่เป็นเกาะและพืดหินปะการัง กระทั่งแผ่นดินเกิดการยกตัว นอกจากนี้ ยังมีที่เป็นภูเขาไฟ เทือกเขาขรุขระทุรกันดาร ที่ราบแคบ ๆ ป่าทึบ และทุกประเทศลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ภูมิอากาศร้อนชื้น ยกเว้นนิวซีแลนด์ที่เป็นแบบภาคพื้นสมุทร ฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี ชุกมากแถบฝั่งตะวันตกของเกาะใต้ และออสเตรเลียที่แบ่งออกได้เป็น 7 เขตภูมิอากาศ คือ ร้อนชื้น ร้อนสลับแห้ง ทุ่งหญ้าเขตร้อน ทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย เมดิเตอร์เรเนียน อบอุ่นชื้นแบบภาคพื้นสมุทร และแบบทะเลทราย ในทวีปโอเชียเนียนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างจะเกี่ยวเนื่องกันของประเทศแต่ละประเทศ จักรวรรดิและอาณาจักรต่าง ๆ ที่สำคัญในโอเชียเนีย เช่น อาณาจักรของชาวเมารี จักรวรรดิตูอิตองงา หมู่เกาะโซโลมอน จักรวรรดิตูอิปูโลตูและจักรวรรดิตูอิมานูอา เป็นต้น เกือบทั้งหมดเคยตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคมจากโลกตะวันตกมีทั้งประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา บางประเทศก่อกำเนิดจากผลพวงของสงคราม ทั้งสงครามระหว่างคนพื้นเมืองด้วยกันเองอย่างตองงา หรือการรวมประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของหมู่เกาะโซโลมอน เฉพาะอย่างยิ่งการก่อเกิดของประเทศสำคัญคือออสเตรเลีย ก็เป็นผลมาจากหลังสงครามประกาศอิสรภาพในสหรัฐอเมริกายุติลง และอังกฤษมองหาแผ่นดินใหม่สำหรับการตั้งถิ่นฐานของผู้กระทำผิดแทนที่อาณานิคมในเขตแอตแลนติกเหนือ คำ "โอเชียเนีย" ได้มาจากชื่อของ "เปลือกโลกมหาสมุทร" (oceanic plate) ทั้งนี้ เปลือกโลกประกอบด้วยแผ่นขนาดใหญ่ 6-10 แผ่น และมีแผ่นเล็ก ๆ ที่ประกอบกันขึ้นหลาย ๆ แผ่นต่อกันเหมือนแผ่นกระเบื้อง แผ่นเปลือกโลกเหล่านี้แบ่งเป็นเปลือกโลกทวีป (continental plate) และเปลือกโลกมหาสมุทร (oceanic plate) == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == "Australia and Oceania" from National Geographic ทวีป
thaiwikipedia
747
เครยอนชินจัง
เครยอนชินจัง (; Crayon Shin-chan) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ชินจังจอมแก่น เป็นอนิเมะญี่ปุ่น เรื่องและภาพโดยโยะชิโตะ อุซุอิ ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นโดยสำนักพิมพ์ Futabasha ในประเทศไทยตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ และได้รับการสร้างเป็นแอนิเมชัน ในปี พ.ศ. 2535 เรื่องเกียวกับเด็กอนุบาลวัย5ขวบชื่อโนฮาระชินโนะสุเกะเป็นเด็กลามกแต่มีความอ่อนโยนและน่ารักในบางทีชอบกินขนมช็อกโกบี มีไอดอลคือหน้ากากแอ้คชั่น == ที่มาของชื่อเรื่อง == อ.โยะชิโตะ อุซุอิได้นั่งกลัดกลุ้มกับผู้ดูแลการทำงานของอาจารย์ ว่าจะให้เรื่องนี้ชื่อว่าอะไร แล้วจะให้เนื่อเรื่องเกี่ยวกับเด็กอนุบาลหรือจะให้เกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาล จู่ๆผู้ดูแลก็คิดคำว่า"เครยอนชินจัง"ขึ้นมาได้ โดยคำว่าเครยอน เป็นภาษาอังกฤษแปลว่าสีเทียน ซึ่งสื่อถึงความเป็นเด็กอนุบาลได้อย่างชัดเจน อาจารย์ชอบชื่อนี้มากจึงนำมาใส่เป็นชื่อเรื่องทันที แล้วก็ให้เนื่อเรื่องเกี่ยวกับเด็กอนุบาลที่ชื่อว่า"โนะฮาร่า ชินโนะสุเกะ" == เนื้อเรื่อง == เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชินจัง (โนะฮาร่า ชินโนะสุเกะ; Nohara Shinnosuke) เด็กอนุบาลวัย 5 ขวบ ผู้มีนิสัยทะลึ่งและแก่แดดเกินวัย เช่น ชอบผู้หญิงหุ่นดีหน้าตาดี พ่อของชินจัง (โนฮาร่า ฮิโรชิ ) เป็นคนที่ ชอบทำเท่ให้สาวๆเห็น ชาวสาวหุ่นดีหน้าตาดี เป็นมนุษย์เงินเดือนเพื่อหวังเป็นหัวหน้าฝ่ายและยังต้องผ่อนบ้านอีก32ปี แม่ของชินจัง (มิซาเอะ) มีนิสัยขี้เหนียว แต่โมโหง่ายและน่ากลัว ใบหน้ามีรอยเหี่ยวย่น(รอยตีนกา) .ชินจังมีน้องสาวหนึ่งคนชื่อฮิมาวาริ. ครอบครัวของชินจังเลี้ยงหมาไว้หนึ่งตัว มีชื่อว่าเจ้าขาว (ชิโระ). เพื่อนๆ ของชินจังที่พบในเรื่องบ่อยๆ คือ คาซามะคุง, เนเน่จัง, มาซาโอะคุง, และ โบจัง ชินจังมักจะชอบแสดงท่าทางแปลกๆ เช่น ทำตัวเป็นมนุษย์ต่างดาวนู้ดครึ่งก้น หรือเอากางเกงในมาครอบหัวทำเพื่อทำเลียนแบบหน้ากากแอ็คชั่นหรือกันตั้มที่เป็นการ์ตูนเรื่องโปรดของชินจัง ชินจังเองเป็นคนที่ชื่นชอบและชื่นชมในตัวหน้ากากแอ็คชั่นมาก มีขนมโปรดคือ ช็อกโกบี การละเล่นของชินจังที่โรงเรียนคือ เล่นเป็นยุง เล่นเป็นอึ เล่นซ่อนแอบแบบไม่มีคนหา(ส่วนใหญ่แล้วจะเล่นกับโบจัง) เล่นแกล้งตายบนหิมะ เล่นพ่อ แม่ ลูก (เมื่อถูกเนเน่จังบังคับ)เล่นซ่อนหา เล่นไล่จับ == ตัวละคร == === ตัวละคร (หลัก) === ====ครอบครัวโนะฮาร่า==== โนะฮาร่า ชินโนะสึเกะ ชื่อเล่น ชินจัง เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม (อายุ 5 ขวบ) หมู่เลือด บี ส่วนสูง 105.9 เซนติเมตร ตัวละครเอกของเรื่อง มีนิสัยแก่แดด เจ้าชู้ กะล่อน ชื่นชอบสาวสวยหุ่นดีคล้ายฮิโรชิ ชอบเข้าบ้านคนอื่นโดยไม่ได้รับ อนุญาต หาเรื่องป่วนได้ทุกเวลา ชอบตามคนนู้นคนนี้ไปทั่ว ปรากฏตัวแบบที่คนไม่ทันได้เห็น พูดจาฉะฉาน มักใช้คำพูดเกินเด็ก แต่มักจะใช้คำผิดอยู่บ่อยๆ หรือพูดไปโดยไม่ได้รู้ความหมายของคำๆนั้น ชอบแทงใจดำคน ปากสว่าง เก็บความลับคนอื่นไม่ค่อยเก่ง อ่านใจคนเก่งมาก (ดังที่พบเห็นได้จากการไปห้างสรรพสินค้า ที่มักจะรู้เล่ห์กลของพนักงานขาย) ชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน ชอบทำให้คนอื่นเข้าใจผิดจากการพูด การฟังผิดๆ ถูกๆ ของตัวเอง ชอบโชว์ช้างน้อง โชว์ก้นในที่สาธารณะ อึหรือฉี่ไม่เป็นที่เป็นทาง(คือปวดเมื่อไหร่ก็ปล่อยตรงนั้นเลย) แต่แท้จริงแล้วเป็นคนที่รักครอบครัวและคนรอบข้าง ที่สำคัญกว่านั้นสิ่งที่ไม่มีใครพูดถึงคือ ความมีน้ำใจของชินจัง มีความเฉลียวฉลาด กล้าหาญ มีคุณธรรม และสุดท้ายเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแถมยังชอบช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนด้วยที่เมื่อเห็นคนเดือดร้อนก็จะเข้าไปช่วย(ถึงแม้ว่าบางครั้งจะทำให้เรื่องเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม) แอบชอบนานาโกะ นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เจอกันโดยบังเอิญ จนกลายเป็นเพื่อนกัน ความสามารถพิเศษของชินจังคือ มีปฏิกิริยาตอบโต้กับสาวสวยรวดเร็ว ลอกเลียนแบบเก่ง ทำเครื่องแต่งกายเก่งคอสเพลย์(ส่วนใหญ่มักจะเป็นชุดสัตว์ ที่ก็ไม่รู้ว่าไปแอบทำตอนไหน) เต้นเก่ง และมักจะเป็นคนที่ดวงดีสุดๆในหลายๆสถานการณ์ มีการละเล่นที่แปลกๆไม่เหมือนคนปกติทั่วไปอย่างการเล่นแกล้งตาย หรือการซ่อนหาโดยไม่มีคนหา ของกินที่ชินจังโปรดปรานที่สุดคือ ช็อกโกบี และขอกินที่เกลียดที่สุดคือพริกหยวก โดยจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้ไม่ต้องกินมัน แต่ก็มักจะถูกมิซาเอะใช้กำลังบังคับให้กิน จึงต้องจำใจกินอย่างช่วยไม่ได้ ให้เสียงพากย์ไทยโดย อรุณี นันทิวาส(EVS), รัตติยากร ริมสินธุ(ช่อง3) และนพวรรณ เหมะบุตร(ปัจจุบัน) โนะฮาร่า ฮิมาวาริ (วัยคลาน) น้องสาวของชินโนะสุเกะ ซนมาก มีนิสัยคล้ายมิซาเอะ ชื่นชอบเครื่องประดับและดาราหนุ่มหล่อ(ซึ่งนิสัยก็ได้มาจากมิซาเอะ โดยคำว่า ฮิมาวาริ มาจากชื่อห้องเรียนที่ชินโนซึเกะเรียนอยู่ (ฮิมาวาริ แปลว่า ดอกทานตะวัน) โนะฮาร่า มิซาเอะ เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม (อายุ 29 ปี) แม่ของชินโนะสุเกะ ภรรยาของฮิโรชิ เป็นแม่บ้าน ชอบใส่กางเกงในสีใส ฉูดฉาด ขนหน้าแข้งดก ท้องลาย อ้วน ก้นใหญ่ (ทำให้มีปัญหากับการใส่กางเกงอยู่เป็นประจำ) ใบหน้ามีรอยเหี่ยวย่น(รอยตีนกา) ชอบนอนกลางวัน ทำอาหารไม่เก่ง ท้องผูกบ่อย จึงทำให้ถูกชินโนะสุเกะนำไปล้อเสมอ นอกจากนั้นยังมีเรื่องอับอายขายหน้าเพื่อนบ้านจากการเล่นกับชินจัง หรือจากการที่ชินจังเอาเรื่องต่างๆไปเล่าให้คนทั่วไปฟังอยู่ตลอด มีนิสัยขี้เหนียว โมโหง่าย แต่หายเร็ว ในการทำโทษชินโนะสุเกะนั้นมีทั้งเบาถึงหนักเช่น เขกหัวทำให้หัวปูดโน ปั่นหัว(หรือปั่นนรก) หยิกแก้ม หยิกหู โดยที่หนักที่หนักที่สุดคือ ตีก้น10ทีรวด รักการช็อปปิ้ง ชอบของลดราคา มักใช้เงินไปกับการซื้อของไม่จำเป็น โดยส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องมือออกกำลังกาย(ที่ใช้แค่ครั้งสองครั้งก็เลิก) และอาหารลดน้ำหนัก ซึ่งมักจะแอบเอาเงินของบ้านเอาไปซื้อเป็นประจำ ชอบดาราหนุ่มหล่อ ขนาดตอนนอนก็มักจะฝันว่าได้เจอกับหนุ่มหล่อ ให้เสียงพากย์ไทยโดย วิภาดา จตุยศพร(EVS), จุฑามาศ ชวนเจริญ(ช่อง3) โนะฮาร่า ฮิโรชิ (อายุ 35 ปี) พ่อของชินโนะสุเกะ สามีของมิซาเอะ (อายุ 35 ปี) มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท ตำแหน่งหัวหน้าแผนก มีนิสัยเจ้าชู้ กะล่อน ชอบเข้าหาสาวสวย เลยมักจะทำให้มีเหตุการณ์ที่มิซาเอะเข้าใจผิดว่าฮิโรชินอกใจตนอยู่บ่อยครั้ง(ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากความเข้าใจผิดของชินโนะสึเกะ) ชอบดื่มเบียร์เป็นชีวิตจิตใจ(ประมาณว่าขาดสักวันจะลงแดงตาย) เลี้ยงดูชินโนซึเกะแบบเพื่อนมากกว่าจะเป็นพ่อลูก ใจดีกว่ามิซาเอะ และเป็นคนที่เท้าเหม็นมาก ให้เสียงพากย์ไทย โดยไกวัล วัฒนไกร(EVS), สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล(ช่อง3) เจ้าขาว (ชิโร่) สุนัขเพศผู้(น่าจะเป็นพันธุ์ทาง-พันธุ์ผสม แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดไว้)ที่ถูกทิ้ง ซึ่งชินจังนำมาเลี้ยง แต่มักจะไม่ได้รับการเอาใจใส่จากชินจังเท่าที่ควร เช่น ลืมให้อาหาร ไม่พาไปเดินเล่น(จะทำก็ต่อเมื่อมิซาเอะสั่ง แต่ก็เคยแอบหนีอีกเหมีอนกัน) มีนิสัยชอบเก๊กหล่อเมื่อสุนัขตัวเมียเดินผ่าน มีอยู่ตอนหนึ่ง มิซาเอะขายเจ้าขาวไปแต่ก็มาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง แม่ชื่อบอร์ช มีพี่น้องรวมเจ้าขาวด้วยเป็น 4 ตัว มีแฟนชื่อเมงุจัง ====เพื่อนโนฮาร่า ชินโนะสุเกะ (ชินจัง)==== ซากุราดะ เนเน่ มีชื่อเล่นว่า เนเน่จัง เป็นเด็กสาวในกลุ่มของชินโนะสุเกะ ในช่วงแรกๆของเรื่อง เธอเป็นเด็กน้อยไร้เดียงสา อ่อนโยน เรียบร้อย แถมยังขี้แยพอๆกับมาซาโอะคุง แต่ปัจจุบันหลังจากที่ฮิมาวาริเกิด เธอจะมีนิสัยขี้โมโห ชอบใช้ความรุนแรง ขู่บังคับเพื่อนๆ แก่แดด ชอบเรื่องซุบซิบนินทา(เหมือนพวกป้าๆชาวญี่ปุ่น) ยุ่งเรื่องชาวบ้าน(โดยเฉพาะครูที่โรงเรียน) แต่ซ่อนไว้โดยการทำนิสัยน่ารัก ชอบเล่นพ่อแม่ลูกเป็นชีวิตจิตใจและบังคับให้คนอื่นเล่นด้วย เนเน่จังจะต่อยตุ๊กตากระต่ายตัวเล็กที่ติดตัวไว้ใต้ชุดกระโปรงเป็นการระบายอารมณ์ ซึ่งเลียนแบบมาจากคุณแม่ของเนเน่จังนั่นเอง (ถึงแม้เนเน่จังจะมีคนชอบด้วยนิสัยด้านดีของเธอมาก เช่นทักษะการพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่น จับผิดคนอื่นเก่ง แต่ถ้าพูดถึงเธอในแง่ของตัวละครที่คนไม่ค่อยชอบหรือถึงขั้นเกลียดเธอเลยก็เพราะด้วยอุปนิสัยด้านแย่ของเธอที่ทำให้คนดูหัวเสียเอามากๆ หรือคอนเทนต์ในการเล่นพ่อแม่ลูกที่เกินเด็กบ้าง เช่น การหย่าร้างสามีที่มีชู้ หรือ ภรรยาที่ถูกสามีทำร้าย และปัญหาครอบครัว) คาซามะ โทโอรุ มีชื่อเล่นว่า คาซามะคุง เป็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะร่ำรวย เนื่องจากพ่อไปทำงานที่ต่างประเทศ คาซามะจึงต้องอาศัยอยู่กับแม่ ที่แมนชั่นสุดหรู เดิมคาซามะ มีนิสัยขี้โอ่ ชอบอวดร่ำอวดรวยในบางครั้ง แต่ในภายหลังนิสัยอวดรวยของคาซามะถูกเอาออก และเปลี่ยนให้คาซามะเป็นเด็กขยันและจริงจังแทน มีนิสัยติดแม่มากๆ เป็นคนที่ขี้ระแวง และกลัวความล้มเหลวเป็นอย่างมาก หากเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น หรือไม่เป็นไปดั่งที่ตนคาดหวัง ก็จะคิดมาก หดหู่ สิ้นหวัง ราวกับว่าโลกทั้งใบของเขาได้จบสิ้นลงแล้ว แต่ก็เป็นเด็กสุภาพ อ่อนน้อม มีความมั่นใจในตัวเองสูง และเป็นเด็กเรียนดีของห้อง เพราะเรียนพิเศษ(แต่บางครั้งก็ไม่อยากเรียน) มักถูกชินโนซึเกะแซวเล่นและคอยปั่นป่วนตลอดเวลา เลยทำให้ไม่กล้าเปิดเผยความชอบส่วนตัวสักเท่าไหร่ (เช่นชอบการ์ตูนสาวน้อยเวทมนตร์ โมเอะ-P) เกรงจะถูกชินโนะสุเกะเอาไปล้อ แต่จริงๆแล้วเป็นเพื่อนที่สนิทกับชินจังมาก และบางครั้งก็แต่งคอสเพลย์เป็นตัวละครจากอนิเมะสาวน้อยเวทมนตร์ มีจุดอ่อนอยู่ที่หู ที่ถ้าถูกงับหรือเป่า จะรู้สึกเสียวซ่าน(ซึ่งชินจังก็มักจะแกล้งคาซามะด้วยวิธีนี้ประจำ) ซาโต้ มาซาโอะ มีชื่อเล่นว่า มาซาโอะคุง เป็นเด็กผมโล้น ทำให้ถูกล้อว่า 'เจ้าหัวข้าวปั้น' มีนิสัยขี้ระแวง ขี้แย อ่อนแอ ถูกหลอกง่ายจึงมักถูกเด็กที่โตกว่ารังแก หรือถูกเพื่อนๆลากไปพัวพันกับเรื่องแปลกๆเสมอ(โดยเฉพาะชินจังและเนเน่จัง) แต่บางครั้งหากเจ้าตัวได้ลงมือทำอะไรไป แล้วมีคนชมมากๆ หรือทำแล้วทำให้ตัวเองดูโดดเด่น ก็จะปรากฎอีกบุคลิกนึงขึ้นมา คือกลายเป็นคนมีความมั่นใจสูง(จนเหลิง) และมีความเย่อหยิ่ง ไม่ฟังใคร(ซึ่งมักเห็นได้บ่อยในเดอะมูฟวี่) หลงรักไอย์อย่างโงหัวไม่ขึ้นตั้งแต่ไอย์มาอยู่โรงเรียนนี้ จึงยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ไอย์มาสนใจตัวเองบ้าง ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะรู้ว่าไอย์นั้นหลงรักชินจังคนเดียวก็ตาม ในกลุ่มของชินจังนั้น มาซาโอะจัดว่าเป็นเด็กที่ดูธรรมดาที่สุดในกลุ่ม มีงานอดิเรกคือ สะสมของเล่น โบจัง เป็นเด็กที่พูดน้อยและตัวสูงที่สุดในกลุ่ม ลักษณะเด่นคือ มีน้ำมูกไหลย้อยตลอดเวลาและมีคำพูดติดปากว่า "โบ" เป็นเด็กที่ดูลึกลับ และมีความลับอยู่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว เพราะในเรื่องนั้น ไม่มีการปรากฎตัวของพ่อและแม่ของโบจังเลย มีตอนที่กลุ่มชินจังพยายามตามสืบหาพ่อแม่ของโบจัง และได้เห็นแม่ของโบจังจากระยะไกล และหลังจากนั้นไม่รู้อะไรอีกเลย มีความเก่งด้านศิลปะเชิงนามธรรม และมักจะเชี่ยวชาญ รอบรู้ในเรื่องที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆเสมอ ได้รับรางวัลประกวดวาดภาพหลายครั้ง เช่น หัวใจของอีกา มีงานอดิเรกคือ การสะสมหินรูปร่างแปลกๆ ซึโอโตเมะ ไอย์ มีชื่อเล่นว่า ไอย์จัง เป็นคุณหนูลูกเศรษฐี เป็นทั้งเพื่อนและคู่กัดของเนเน่จัง ปรากฏตัวในหนังสือการ์ตูนเล่มที่ 16(ฉบับแปลไทย) มักจะชอบพูดจาเกี่ยวกับเรื่องฐานะที่ร่ำรวยของตนเอง ซึ่งทำให้มีปัญหากับเนเน่จังอยู่บ่อยครั้ง หลงรักชินโนะสุเกะมาก ชนิดที่ว่าแม้เจ้าตัวจะทำเรื่องบ้าๆบอๆไร้สาระแค่ไหนไอย์ก็มองว่าดูดี ดูเท่ไปหมด แต่เจ้าตัวก็หาได้สนใจไม่ มีความสามารถพิเศษในการจัดงานต่างๆ(โดยใช้บอดี้การ์ด) และทำให้เด็กผู้ชายคนอื่นๆตกหลุมรักได้ === ตัวละคร (รอง) === ซากุระดะ โมเอโกะ แม่ของเนเน่จัง เบื้องหน้าจะเห็นว่าเป็นคุณแม่ที่แสนใจดี มักจะถูกชินโนะสึเกะเข้ามาก่อกวน ทำลายความสงบสุขในชีวิตของตนและครอบครัว(โดยเฉพาะเรื่องของกิน)เป็นประจำ จึงมักระบายอารมณ์โดยการต่อยตุ๊กตากระต่าย จนติดเป็นนิสัยและทำให้เนเน่จังเลียนแบบนิสัยนี้ของโมเอโกะในที่สุด มักจะท้องผูกอยู่บ่อยๆ และทำอาหารออกมารสจัดมาก จึงมักจะถูกชินโนะสึเกะยกเอามาแซวบ่อยๆ คาซามะ มิเนโกะ แม่ของคาซามะ มีหน้าตาสะสวย และหุ่นค่อนข้างดี เริ่มแรกของเรื่อง มีนิสัยเข้มงวด จริงจัง อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี จึงบังคับให้ลูกไปเรียนพิเศษหลายๆที่ ไม่ว่าจะเป็นหลังเลิกเรียนอนุบาล หรือในวันหยุด ทำให้บางครั้งก็ถูกต่อต้านโดยคาซามะ ต่อมาจึงถูกเปลี่ยนให้มีนิสัยใจดี ใจกว้าง และโอ๋ลูกแบบสุดๆ เนื่องจากทำอาหารเก่ง จึงมักจะทำอาหารหรูๆเลี้ยงพวกเพื่อนๆของคาซามะที่มาเที่ยวที่บ้านอยู่บ่อยๆ คุณนาย ซาโต้ แม่ของมาซาโอะ มีหน้าตาคล้ายคลึงกับมาซาโอะ มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน มีอาชีพเป็นแม่บ้าน โอฮาร่า นานาโกะ ชินโนซึเกะมักเรียกเธอว่า พี่นานาโกะ อยู่อพาร์ทเม้นท์ชื่อว่า"กิ้งก่ามีพิษ" เป็นสาวมหาลัยที่รูปร่างดี และมีหน้าตาสะสวย นิสัยใจดี สุภาพ อ่อนหวาน มีคุณพ่อเป็นนักเขียนนิยายชื่อดัง(ซีรีส์สดใส) ซึ่งหวงลูกสาวมาก ไปไหนต้องตามไปด้วย ถึงขนาดไม่ทำงานทำการ นานาโกะเป็นคนที่น่ารัก และเป็นคนที่ชินโนะซึเกะแอบชอบด้วย มีความฝันอยากเป็นครูโรงเรียนอนุบาล ครูโยชินาง่า มิโดริ (อิชิซากะ มิโดริ) ครูประจำชั้นห้องทานตะวัน มักเหนื่อยหน่ายใจกับพฤติกรรมทะเล้นๆของชินโนซึเกะ แต่ก็ภูมิใจที่ตัวเองได้มาเป็นครูอนุบาล เป็นคู่ปรับกับครูมัตสึซากะ มักจะหาเรื่องทะเลาะกับอยู่บ่อยครั้ง แต่หากมองลึกๆแล้วทั้งคู่ก็สนิทสนมกันมากๆ มีแฟนคือ อิชิซากะ จุนอิจิ ภายหลังได้แต่งงานกัน โดยมีพ่อสื่อแม่สื่อคือกลุ่มของชินจัง โดยจัดงานแต่งงานที่โรงเรียนอนุบาล ถึงแม้จะเกิดปัญหาขึ้นมากมาก ไม่ว่าจะฝนตก ทำให้งานติดขัด ไม่ราบรื่น แต่ทั้งคู่ก็ฝ่าฝันมันไปได้(ส่วนหนึ่งก็เพราะชินจัง) ปัจจุบันมีลูกสาว ชื่อ โมโมะ(แต่ในอนิเมะปัจจุบันเลือกที่จะให้ครูโยชินาง่ายังไม่มีลูก ด้วยเหตุผลที่ปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแน่ชัด) ครูมัตสึซากะ อุเมะ ครูประจำชั้นห้องกุหลาบ เกิดและเติบโตที่บ้านนอก แต่ชอบทำตัวให้คนอื่นเข้าใจว่าตัวเองเป็นสาวสวยไฮโซ เกิดและโตที่รปปงงิ มักจะไม่พอใจที่มีคนเรียกเธอว่าอุเมะ(โดยส่วนใหญ่ชินโนะสึเกะจะเป็นคนเรียก) เพราะชื่ออุเมะแปลว่าบ๊วย เป็นชื่อที่ดูธรรมดาและเชยมาก ขัดกับลุคที่เธอพยายามสร้างให้คนภายนอกเห็น มีนิสัย ด่าเก่ง ปากจัด ขี้โอ่ ทำให้มีเรื่องต่อล้อต่อเถียงกับโยชินนาง่าอยู่บ่อยครั้ง แต่จริงๆทั้งคู่ก็สนิทสนมกันดี มีจุดอ่อนเรื่องหาแฟนไม่ได้สักที จะไปดูตัวกี่ครั้งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าตลอด เคยมีแฟนคนแรกและคนเดียวคือหมอเกียวดะ โทคุโร่ ซึ่งเป็นหมอกระดูกที่เคยดูแลเรื่องกระดูกหักของครูมัตสึซากะในตอนที่ขณะขาหักเข้าโรงพยาบาล แต่หมอโทคุโร่ได้เสียชีวิตจากการวางระเบิดของผู้ก่อการร้าย ระหว่างที่ไปค้นหาฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ต่างประเทศ มีพี่สาว 2 คนชื่อ มัตสึและทาเคะ หน้ากากแอ็คชั่น ฮีโร่ในดวงใจของชินโนซึเกะ เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ซึ่งปรากฏตัวทางโทรทัศน์ มีชื่อในร่างมนุษย์คือโก โกทาโร่ (郷 剛太郎) ซึ่งเป็นสตั๊นท์แมนภาพยนตร์ และหน้ากากแอ็คชั่นนี้ยังถือเป็นตัวละครการ์ตูนคนสำคัญของชินจัง ทั้งนี้ หน้ากากแอ็คชั่นคือบุรุษผู้สวมหน้ากากที่ใช้วิชาพิเศษผสานคาราเต้ในการต่อสู้กับเหล่าร้าย เพื่อปกป้องโลก และเป็นหนึ่งในตัวละครที่ปรากฏตัวในชินจังเดอะมูฟวี่อยู่หลายภาค ครั้งแรกเขาได้ปรากฏตัวในชินจังจอมแก่นเดอะมูฟวี่ตอนCrayon Shin-chan: Action Kamen vs Leotard Devil (ญี่ปุ่น: クレヨンしんちゃん アクション仮面VSハイグレ魔王) ในเนื้อเรื่องนี้หน้ากากแอ็คชั่นได้ปรากฏตัวต่อหน้าชินจังและปราบเหล่าร้ายร่วมกัน มีท่าไม้ตายคือ แอ็คชั่นบีม ซากุระ มิมิโกะ เป็นนางเอกที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องหน้ากากแอ็คชั่น มักจะมีบทให้ต้องถูกเหล่าร้ายจับไปเป็นตัวประกัน ให้หน้ากากแอคชั่นต้องเข้าไปช่วยอยู่เสมอ ครูอาเงโอะ มาซึมิ ครูประจำชั้นห้องซากุระ(มาแทนครูโคอิซุมิที่ออกไป) มี 2 บุคลิก โดยปกติเมื่อใส่แว่นจะมีท่าทางสงบเสงี่ยม เรียบร้อยและขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อถอดแว่นออกจะเปลี่ยนบุคลิก กลายคนห้าว มีความมั่นใจ ไม่กลัวใครหน้าไหน เก่งทางด้านคอมพิวเตอร์ แอบทำเว็บไดอารี่เป็นของตนเองแต่กลุ้มใจที่ไม่มีใครเข้ามาดูเลยสักคนเนื่องจากไม่กล้าบอกว่าตนเองมีเว็บไซต์ มีความสนใจในตัวของคุโรอิโซะ บอดี้การ์ดของไอย์อยู่เล็กน้อย ครูใหญ่ ทาคาคูระ บุนตะ (คุณครูหัวหน้าแก๊ง) ครูใหญ่แห่งโรงเรียนอนุบาลฟุตาบะ มีหน้าตากับการแต่งกายคล้ายหัวหน้าแก๊งยากูซ่า ทำให้ทุกคน(รวมถึงตัวเอง)กลัว แต่จริง ๆแล้วเป็นคนใจดี และขี้แยมากครูใหญ่มีลูก ชารู้จังลูกสาวครูใหญ่ คุณนาย ทาคาคูระ ภรรยาของคุณครูใหญ่ ฮนดะ เคย์โกะ (น้าโอเคย์) เป็นเพื่อนสนิทของมิซาเอะ มีสามีอายุน้อยกว่า(ชินจังและมิซาเอะคิดว่าไปหลอกแต่งงาน) ชินจังมักจะนำเรื่องนี้ไปเล่าเพื่อนบ้านของน้าเคย์โกะ ให้อับอายเป็นประจำ มีลูกชาย 1 คนชื่อ ฮิโตชิ คันดะโดริ ชิโนบุ ประธานชมรมมวยปล้ำหญิง เพื่อนของนานาโกะ มีรูปร่างใหญ่ ล่ำบึ๊ก เป็นคนที่ฮำหมัดชอบ แต่เจ้าตัวปฏิเสธ เพราะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่นั่นคือการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ คิโยมิ เอส ซื่อเล่นว่า เอสจัง เป็นผู้ประกาศข่าวหญิงทางโทรทัศน์ ที่ชินจังหลงใหล คลั่งใคล้มาก ๆ คุโรอิโซะ เป็นบอดี้การ์ดของไอย์จังและคนขับรถของไอย์จัง จะคอยปกป้องไอย์จังอยู่ตลอดไม่ว่าจะสถานที่ใดก็ตามที่มีไอย์จัง เวลาอยู่ที่โรงเรียนจะอยู่ตามต้นไม้ พุ่มไม้เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนไอย์จัง มีนิสัยแอบซุ่มซ่ามและชอบทำอะไรผิดพลาดเสมอๆ มักจะโดนไอย์จังขู่ให้ไปที่บ้านของชินจังถ้าไม่ไปจะแฉความลับที่ตัวเองทำงานพลาดหรือแอบอู้ให้พ่อแม่ของเธอฟัง === ตัวละครอื่น ๆ === โนะฮาร่า กิงโนะสึเกะ พ่อของฮิโรชิ และเป็นปู่ของชินโนะสุเกะ หัวล้าน หน้าตาและนิสัยคล้ายกับชินโนะสุเกะ เจ้าชู้ กะล่อน ขี้เล่น(แผลง ๆ) ชอบเด็กเอ๊าะ ๆ ไม่รู้จักแก่ ชอบเล่นแกล้งตายจนทำให้มิซาเอะเกือบช็อก โนะฮาร่า ซึรุ แม่ของฮิโรชิ และเป็นย่าของชินโนะสุเกะ เป็นคนสนุกสนานเช่นเดียวกับกิงโนะสึเกะ ซึ่งคุณปู่ของชินจังมักอยู่ในอำนาจ มีความขี้เล่นอยู่เล็กน้อย เคยเล่นเป็นผีคอยาวจนมิซาเอะนอนชักแหง่วๆ โนะฮาร่า เซมาชิ คุณลุงของชินโนะสุเกะ และเป็นพี่ชายของฮิโรชิ ในมังงะปรากฏตัวครั้งแรกในเล่มที่ 24 มีอาชีพเป็นชาวนา มีนิสัยขี้เหนียวมาก จนขึ้นคาน แต่ปัจจุบันแต่งงานกับแม่หม้ายลูกติดชื่ออิคุนะ โคยาม่า โยชิจิ พ่อของมิซาเอะ และเป็นตาของชินโนะสุเกะ อดีตครูใหญ่โรงเรียนมัธยม มักไม่ถูกชะตากับกิงโนะสุเกะ จึงหาเรื่องทะเลาะได้ทุกครั้งเมื่อเจอกัน(และมักจะเจอกันโดยบังเอิญเสียทุกครั้ง)มีนิสัยเคร่งขรึม ยึดขนบธรรมเนียม ต่างจากกิงโนะสึเกะ แต่บางครั้ง ก็เป็นคนสนุกสนานพอๆกับกิงโนะสึเกะ โคยาม่า ฮิซาเอะ แม่ของมิซาเอะ และเป็นยายของชินโนะสุเกะ เป็นคนใจดี คอยประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างของโยชิจิกับกิงโนะซึเกะ โคยาม่า มาซาเอะ พี่สาวมิซาเอะ และเป็นป้าของชินโนะสุเกะ อดีตคุณครูสอนภาษาญี่ปุ่น มักแต่งตัวด้วยชุดกิโมโน นิสัยขี้เล่น ชอบแกล้งมิซาเอะอยู่เสมอ โดยใช้หน้ากาก แต่ก็แพ้ชินจัง ชอบใส่ชุดกิโมโน โคยาม่า มุซาเอะ น้องสาวมิซาเอะและเป็นน้าของชินโนะสุเกะ มีอาชีพเป็นช่างภาพ เคยตกงานอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งมิซาเอะให้ความช่วยเหลือ โดยการให้มาอาศัยอยู่ที่บ้าน และด้วยนิสัยส่วนตัวหลายๆอย่าง(ซึ่งมักจะเป็นนิสัยเสีย) ทำให้เข้ากับชินโนะสึเกะได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันย้ายออกไปอยู่คนเดียวแล้ว คาวามูระ ยาซึโอะ มีฉายาว่า ชีต้า เป็นเด็กห้องกุหลาบ เป็นนักกีฬาประจำห้อง มีจุดเด่นคือชอบใส่เสื้อลายเสือชีต้า เป็นคู่ปรับของชินโนซึเกะ มักพ่ายแพ้ให้กับความกะล่อนของชินโนซึเกะบ่อยครั้ง ฮิโทชิ เด็กห้องกุหลาบ มีนิสัยแย่ ทำตัวนักเลง ชอบรังแกคนที่อ่อนแอกว่าโดยเฉพาะมาซาโอะคุง เทรุโนบุ เด็กห้องกุหลาบ มีนิสัยแย่พอ ๆกับฮิโทชิ ชอบรังแกมาซาโอะคุง จับคู่รังแกกับฮิโทชิ แก๊งแมงป่องแดงแห่งไซตามะ เป็นแก๊งนักเรียนม.ปลาย 3 คน ชอบบังเอิญแสดงตัวในสวนสาธารณะเวลาที่กลุ่มชินโนะสุเกะ กำลังเล่น ทำให้ถูกนึกว่าเป็นตลกคาเฟ่ มีท่าประหลาด ๆประจำแก๊งค์เสมอ (เรียงจากซ้าย (หัวสิว) มารี (เล็บขบ) ริวโกะ (ตาปลา) โอกิง) แต่มักทำตัวเป็นประโยชน์ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เคยช่วยงานที่โรงเรียนอนุบาล มักจะได้ชินโนะซิเกะช่วยเวลาคับขันเสมอ(และบังอิญทุกครั้ง) มิตจี้และโยชิริง เป็นคู่รักข้าวใหม่ปลามัน เป็นเพื่อนบ้านของครอบครัวโนฮาระ มักจะมีปัญหาให้ครอบครัวโนะฮาระคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ(และมักจะเป็นเรื่องไร้สาระ) ชอบแอบเข้ามาในบ้านโนะฮาระ เพื่อมากินข้าวฟรีอยู่บ่อยครั้ง(ทำให้ครอบครัวโนะฮาระแทบไม่ได้กินอะไรเลย) บูริบูริซาเอมอน/คุณหมูดุ๊กดิ๊ก ตัวละครในจินตนาการของชินโนะสุเกะ ซึ่งชินโนะสุเกะเคยเขียนการ์ตูนเล่นบ่อยครั้ง เป็นหนึ่งในตัวละครที่ได้รับความนิยม ถึงขนาดมีตอนพิเศษที่ให้บูริบูริซาเอมอนเป็นตัวหลักเลยทีเดียว หน้ากากแอ็คชั่นเกิร์ล หน้ากากแอ็คชั่นผู้หญิง ที่โก โกทาโร่(หน้ากากแอ็คชั่นร่างคน) เป็นผู้คัดเลือกมาให้มาทำงานร่วมกัน หุ่นยนต์คันตั้ม อนิเมะหุ่นยนต์ในดวงใจของชินโนซึเกะ โดยชื่อคันตั้มเป็นการล้อซีรีส์กันดั้ม สาวน้อยเวทมนตร์ โมเอะ-P อนิเมะประเภทมาโฮโชโจ หรือสาวน้อยเวทมนตร์ ที่เนเน่จังและคาซาม่าชื่นชอบ ชิโนบุ ซาคาอิ นักศึกษาสาวที่ไปทำงานพิเศษแต่ก็ถูกไล่ออกเพราะชินจังไปก่อกวนทุกครั้ง เกียวดะ โทคุโร่ เป็นหมอกระดูก ทำงานอยู่ในคลินิกของตน เป็นคนที่มีความคลั่งไคล้ในกระดูกเป็นอย่างมาก ถึงขนาดไปต่างประเทศเพื่อไปร่วมขุดฟอสซิลไดโนเสาร์ยังต่างประเทศเลยทีเดียว เป็นแฟนคนแรกและคนเดียวของครูมัตสึซากะ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว จากการวางระเบิดของผู้ก่อการร้ายขณะที่อยู่ต่างประเทศ คาวาคุจิ ลูกน้องของฮิโรชิที่ทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน สมโง่ กระบือเรียกพี่ (ยงโร่) เพื่อนอยู่ที่แฟลตรูหนู (ปรากฏตัวครั้งแรกอยู่เล่ม 19) อดีตเด็กเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยสอบไม่ติด 3 ครั้งรวด ในการสอบครั้งที่ 4 ได้ครอบครัวโนะฮาร่าช่วยเหลือ จึงสอบติด(เพราะคิดว่าสมโง่จะสอบเข้าจุลา ที่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ(ต้นฉบับญี่ปุ่นคือไทโด หรือมหาวิทยาลัยโตเกียว) เลยคิดไปไกลว่าถ้าสมโง่จบออกมาแล้วประสบความสำเร็จจะมาตอบแทนพวกตนอย่างเต็มที่ แต่จริงๆจุลาที่ว่าก็คือจุลาคาซาบลังก้า การช่าง(ต้นฉบับญี่ปุ่นคือมหาวิทยาลัยอุตสาหการโตเกียวคาซึคาเบี้ยน เรียกย่อๆว่าไทโด) จึงทำให้ครอบครัวโนะฮาร่าผิดหวังเป็นอย่างมาก) ลิลลี่ โคยูกิ (โคยูกิ ซูซาน) ชื่อจริง เก็นบุ อิวาโอะ(สมชาย หัวจรดเท้า) กะเทยที่ทำงานอยู่ร้านน้ำชาสาวประเภทสอง ยูจัง หรือเจนจริต ยู (ยาคูสึคูริ ยู) นักแสดงสาวสวยที่มีฝีมือ แต่ถ้าไม่แต่งหน้าก็จะเป็นแค่สาวจิ้มลิ๊มและไม่มีความมั่นใจ เจ๊ลำไย มีอันจะกิน (โอยะ นูชิโยะ) เจ้าของแฟลตรูหนู ชอบเล่นกับฮิมาวาริ เป็นคนทำคลอดให้กับคุณครูโยชินาง่า(แต่จริงๆแล้ว เจ๊ลำไยเป็นเคยคนเกลียดเด็กมาก่อน เพราะเคยเสียสามีและลูกสาวไปเมื่อ 30 ปีก่อน) นายช่างหญ่าย (โอนิงาวาระ จิคุโซ) ช่างก่อสร้าง มักจะทำงานเสร็จช้ากว่ากำหนด เพราะถ้าโมโหขึ้นมา จะไม่ทำงานทันที เช่น แกะน้ำจิ้มถั่วหมักไม่ลงถ้วย เป็นแฟนกับหมออ้อย เป็นคนซ่อมบ้านให้กับครอบครัวโนะฮาร่า ชอบเลียอมยิ้ม หมออ้อย (ฮะคุอิโนะ เท็นโกะ) เป็นพยาบาล แฟนของนายช่างหญ่าย เวลาหงุดหงิดจะมาเลียอมยิ้มบนดาดฟ้า คุณฮำหมัด (โอมาตะ) เจ้าชายแห่งประเทศอับกาวิตถาร มีนิสัยชอบอำคนเล่น หลงรักชิโนบุ เพราะสำหรับประเทศอับกาวิตถาร ผู้หญิงที่สวยคือผู้หญิงที่บึกบึน และได้คบกันอยู่พักนึง แต่สุดท้ายก็เลิกกัน ปัจจุบันแต่งงานแล้วที่ประเทศบ้านเกิด มีองครักษ์ชื่อฮำเหม็ด ปรากฏตัวเฉพาะในมังงะ คุณนายมอนโร (มอนโร มาริ) คุณนายฝรั่งสาวสวยบ้านตรงข้าม มีรูปร่างสะบึม ขวัญใจของฮิโรชิ ชอบใช้ให้ฮิโรชิไปช่วยเหลืองานที่บ้านอยู่เสมอ แอ๊บแบ๊ว (เลิศอลัง) ณ ส้นตึก (คุตซึโซโกะ อาซึโกะ) คุณแม่ยังสาว อายุ 18 ปี มีลูกสาวชื่อ แอ๊บแหวว(อาสึมิ) อายุ 2 ปี นับถือมิซาเอะเป็นรุ่นพี่ ลุงหนูผี (อาจารย์โยดะ) เจ้าของแฟรน์ไซน์ไก่ย่างสามบวกสองดาว ชินโนะซึเกะชอบเรียกว่า จารย์โยดา เพราะส่วนสูงและหน้าตาคล้ายกัน ยาเนะอูระ โคจิ ไอ้หนุ่มก่อสร้าง ลูกมือของนายช่างหญ่าย เป็นแฟนของคันนะ ลูกสาวนายช่างหญ่าย ถ้าเข้าใกล้เมื่อไหร่ นายช่างหญ่ายจะโมโหถึงขนาดไม่ทำงาน เซ็นจู เฮย์ฮาจิ คุณตาที่มาขอซื้อเจ้าขาวไปเลี้ยง (แต่ก็ให้ชินโนะซึเกะคืนไปอยู่ดี) มีนิสัยใจดี อดีตเป็นนักผจญเพลิงสถิติช่วยชีวิตคนถึง300คน อุริมะ คุริโยะ (เซลเลดี้ จากนรก) เป็นพนักงานขายหนังสือฝึกซ้อมหัดเรียนของเด็กอนุบาลที่พยายามจะขายของให้แม่ของชินจังที่ไม่สำเร็จเพราะถูกแม่ของชินจังเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้าย เป็นผู้หญิงที่มีหน้าตาเหมือนกระเทย ทำให้ชินจังชอบเรียกว่า พี่สาวกระเทยหรือคนแต่งหญิงในเวอร์ชันอนิเมะ(พากย์ไทย) == ลำดับการออกอากาศภาคอนิเมะในประเทศไทย == ===สถานีโทรทัศน์=== {|class="wikitable " style="font-size:small" |- ! ปีที่ฉายในญี่ปุ่น !! ปีที่ฉายในไทย !! สถานีโทรทัศน์ในไทย !!ตอน |- || พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป || พ.ศ. 2539-2545, 2553-2554 || ช่อง 3 วันจันทร์-วันอังคาร 17:30-18:00 น. (พ.ศ. 2539) วันจันทร์-วันอังคาร 16:00-16:30 น. (พ.ศ. 2540) วันจันทร์-วันพฤหัสบดี 15:30-15:45 น. (พ.ศ. 2541) วันจันทร์-วันอังคาร 15:30-16:00 น. (พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2542) วันจันทร์-วันศุกร์ 19:00-19:30 น. (พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2543) วันจันทร์ 19:00-19:30 น. (พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2545) ไม่ทราบวัน 16:00-16:30 น. (พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2554) || 1-300+ |- || พ.ศ. 2548-2549 || พ.ศ. 2557-2558 || ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี วันจันทร์ 16:00 - 16:30 น. || 526-577 |- || พ.ศ. 2552-2554 || พ.ศ. 2559-2560 || ช่อง 3 เอชดี วันอาทิตย์ 07:50 - 08:20 น. || 684-735 |- || พ.ศ. 2554-2555 || พ.ศ. 2560-2561 || ช่อง 3 แฟมิลี่ วันเสาร์ 9:30-10:00 น. / วันอาทิตย์ 10:00-10:30 น. || 736-787 |} ===สตรีมมิ่ง=== พ.ศ. 2535 เป็นต้นไปตอนที่ออกอากาศทางสตรีมมิ่งจะเป็นตอนย่อย ซึ่งแบ่งออกมาจากตอนหลักที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ จากหนึ่งตอน แบ่งย่อยออกมาเป็น 2-3 ตอน และในปี พ.ศ.2565-2566 POPS ได้สตรีมมิ่งทาง YouTube โดยแบ่งออกเป็น วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17:00น. และเดอะมูฟวี่วันอาทิตย์ เวลา 20:00น. {|class="wikitable " style="font-size:small" |- ! ปีที่ฉายในญี่ปุ่น !! ปีที่ฉายในไทย !! ชื่อช่องสตรีมมิ่ง !!ตอน |- |พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป |พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน |POPS Anime Thailand (ทาง ยูทูบ) |ไม่ทราบ |- |พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป |1 ธันวาคม 2565 - ปัจจุบัน |POPS Anime Thailand (ทางยูทูบ) |1A- |- || พ.ศ.2548 เป็นต้นไป || 6 มกราคม 2566 - ปัจจุบัน || POPS Anime Thailand (ทางยูทูบ || 492A-(นับแบบไทย) 527A-(นับแบบญี่ปุ่น) |- |พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป |2 มิถุนายน 2566 - ปัจจุบัน |POPS Anime Thailand (ทางยูทูบ |806A-(นับแบบไทย) 1006B-(นับแบบญี่ปุ่น) |} == เดอะ มูฟวี่ == ในส่วนภาพยนตร์ ลิขสิทธิ์เป็นของ HOLLYWOOD THAILAND นำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกในประเทศไทย ได้แก่ ศึกยอดคุณพ่อโรบอต เมื่อ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และ ผจญภัยต่างแดนกับสงครามกระบองเพชรยักษ์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 ก่อนจะวางจำหน่ายในรูปแบบ ดีวีดี ในเวลาต่อมาไล่เลี่ยกับ ตอน ต้องไปช่วยเจ้าหญิงซะแล้ว และ บุกแดนคาวบอย จัดจำหน่ายโดย แฮนด์เมด ดิสทริบิวชั่น และ อีวีเอส เอนเทอร์เทนเมนต์ เป็นผู้จัดจำหน่าย ก่อนที่จะนำภาคก่อนหน้ามาลงให้ชมใน ไลน์ทีวี และ POPS ภาคเจ้าหนูกังฟูดุ๊กดิ๊ก พิชิตสงครามราเม็ง ภาคฮันนีมูนป่วนแดนจิงโจ้ ตามหาคุณพ่อสุดขอบฟ้า และ ผจญภัยแดนวาดเขียนกับ ว่าที่ 4 ฮีโร่สุดเพี้ยน ได้บริษัท ดรีม เอกซ์เพรส (เดกซ์) นำเข้ามาฉายและลงให้กับแอพ AIS PLAY ในปี พ.ศ. 2565 ลิขสิทธิ์ผู้จัดจำหน่ายในประเทศเไทยป็น ADK Emotions Bangkok เจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงจากญีปุ่นแทนที่ดรีม เอกซ์เพรส (เดกซ์) โดยนำภาพยนตร์ ปริศนา! บุปผาแห่งโรงเรียนเทนคะสุ เตรียมเข้าฉายในประเทศไทย 9 มีนาคม พ.ศ. 2566 ==หนังสือการ์ตูน ในประเทศไทย== สำนักพิมพ์เนชั่น - ชินจัง 1-33 เล่มจบ - ชินจังผจญภัยต่างแดน 1 เล่มจบ (ขนาดเล่มเท่ากับชุด 33 เล่มจบ) - ชินจัง ภาคโรงหนัง 1-9 เล่มจบ - ชินจัง สงครามกลางเมือง - ชินจัง ตะลุยอาณาจักรสัตว์ป่า - ชินจัง ตะลุมบอนจักรวรรดิผู้ใหญ่ - ชินจัง หน้ากากแอ๊คชั่น vs จอมมารขาเว้าสูง - ชินจัง ปฏิบัติการสปายทองคำ - ชินจัง ป๋มกับเจ้าหญิงอวกาศ - ชินจัง ผู้กล้าแห่งดาบทองคำ - ชินจัง เจ้าเวลาหาเจ้าสาว - ชินจัง สมบัติลับแห่งอาณาจักรดุ๊กดิ๊ก - ชินจัง คัลเลอร์ ภาคแอนิเมชัน 1-6 เล่มจบ - ชินจัง คัลเลอร์ เดอะ มูฟวี่ 1-2 เล่มจบ - ชินจัง ช๊อตฮอตตอนฮิต 1-5 เล่มจบ - ชินจัง ภาคใหม่กิ๊ก 1-10 เล่มยังไม่จบ - สภาษิตวันละนิดกับชินจัง 1 เล่มจบ - ชินจัง jumbo 1-17 เล่มจบ - ชินจังจอมแก่น 1-10 เล่มจบ (สำนักพิมพ์จัมโบ้) - ชินจังกะน้องตัวป่วน 1-5 เล่มจบ (สำนักพิมพ์ Soft Entertainment Comics) == ประเทศที่ตีพิมพ์ชินจัง == == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == Watch Creyon Shin-Chan on YouTube POPS Anime Thailand (ประเทศไทย) Official Futabasha Crayon Shin-chan website Official TV Asahi Crayon Shin-chan website Official FUNimation Shin Chan website Official ComicsOne Crayon ShinChan website (Archive) Watch Shin-chan episodes on FUNimation's video page Watch Shin-Wars on YouTube (Uploaded by FUNimation) Official Crayon Shin-chan movie website List of Crayon Shin-chan episodes Official Crayon Shin-chan Spanish website การ์ตูน การ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนญี่ปุ่นแนวเซเน็ง‎ อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2535 ตัวละครกลุ่มห้า
thaiwikipedia
748
มหาสมุทรแอตแลนติก
มหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) เป็นมหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 5 ของพื้นผิวโลก ชื่อของมหาสมุทรมาจากนิยายปรัมปรากรีก หมายถึง "ทะเลของแอตลาส" มหาสมุทรแอตแลนติกเป็นแอ่งที่มีรูปร่างเหมือนตัวเอส (S) ติดกับทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ทางตะวันตก ส่วนทางตะวันออกติดกับ ทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกา ปัจจุบันมีการแบ่งมหาสมุทรแอตแลนติกเป็น 2 ส่วน คือ แอตแลนติกเหนือและแอตแลนติกใต้ โดยใช้บริเวณที่เกิดการเปลี่ยนทิศของกระแสน้ำที่ละติจูด 8° เหนือเป็นแนวแบ่ง มหาสมุทรแอตแลนติกเชื่อมกับมหาสมุทรแปซิฟิกทางมหาสมุทรอาร์กติกซึ่งอยู่ทางเหนือ ส่วนทางใต้เชื่อมทางช่องแคบเดรก จุดเชื่อมต่ออีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ คือ คลองปานามา เส้นแบ่งระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรอินเดีย คือ เส้นเมริเดียน 20° ตะวันออก และแยกจากมหาสมุทรอาร์กติกด้วยเส้นที่ลากจากกรีนแลนด์ ผ่านตอนใต้สุดของสฟาลบาร์ (Svalbard) ไปยังตอนเหนือของนอร์เวย์ มหาสมุทรแอตแลนติกมีพื้นน้ำประมาณ 106,460,000 ตารางกิโลเมตร ปริมาตรของมหาสมุทรเมื่อรวมทะเลที่อยู่ติดกันมีค่า 310,410,900 ลูกบาศก์กิโลเมตร มีความลึกเฉลี่ย 3,646 เมตร จุดที่ลึกที่สุดคือปวยร์โตรีโกเทรนช์มีความลึก 8,486 เมตร (27,840 ฟุต) == ความกว้างและข้อมูล == พ.ศ. 2496 องค์การอุทกวิทยาสากลได้กำหนดอาณาเขตของมหาสมุทร แต่ถึงอย่างนั้นบางองค์กรก็ไม่ได้ใช้ตามการกำหนดเขตนี้อย่างเช่นเดอะเวิลด์แฟกต์บุ๊ก ทางตะวันตกของแอตแลนติกติดกับทวีปอเมริกา ติดกับมหาสมุทรอาร์กติกบริเวณทะเลกรีนแลนด์ ทะเลนอร์วีเจียน ทะเลแบเร็นตส์ ทางตะวันออกติดกับทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกาติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียนบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ (ซึ่งติดกับทะเลดำที่ติดกับทวีปเอเชีย) ทางตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดียโดนใช้เส้นเมริเดียนที่ 20 องศาตะวันออกเป็นจุดเชื่อมต่อ และในแผนที่ช่วงหลัง ๆ ได้ใช้เส้นขนานที่ 60 องศาใต้เป็นเส้นแบ่งกับมหาสมุทรใต้ == อ้างอิง == == ดูเพิ่ม == == แหล่งข้อมูลอื่น == Atlantic Ocean. Cartage.org.lb. "Map of Atlantic Coast of North America from the Chesapeake Bay to Florida" from 1639 via the World Digital Library มหาสมุทร มหาสมุทรแอตแลนติก
thaiwikipedia
749
มหาสมุทรใต้
มหาสมุทรใต้ (Southern Ocean) หรือที่รู้จักกันในชื่อ มหาสมุทรแอนตาร์กติก (Antarctic Ocean) เป็นมหาสมุทรที่อยู่ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นที่สุดท้ายที่องค์การอุทกศาสตร์สากล (International Hydrographic Organization) นิยามให้เป็นมหาสมุทรเมื่อปี พ.ศ. 2543 แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันมาก่อนหน้านั้นในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการสมุทรศาสตร์นานแล้ว โดยในอดีต มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย มีขอบเขตไกลลงไปถึงทวีปแอนตาร์กติกา มหาสมุทรใต้มีรูปร่างเป็นวงกลมล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา นับจากละติจูด 60° ใต้ ลงไปถึงชายฝั่งแอนตาร์กติกา อย่างไรก็ตาม นิยามนี้ไม่ได้ใช้ตรงกันทั่วโลก ในประเทศออสเตรเลีย มหาสมุทรใต้ยังรวมถึงพื้นที่ที่เป็นผืนน้ำระหว่างชายฝั่งทางใต้ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กับทวีปแอนตาร์กติกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนที่ชายฝั่งของเกาะทัสมาเนียและออสเตรเลียใต้ ที่ระบุพื้นที่นั้นว่าเป็น มหาสมุทรใต้ แทนที่จะเป็น มหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันของคนทั่วไป == ภูมิศาสตร์ == มหาสมุทรใต้มีความลึกประมาณ 4,000 ถึง 5,000 เมตร (13,000 และ 16,000 ฟุต) โดยส่วนใหญ่จะมีเฉพาะพื้นที่น้ำตื้นเท่านั้น จุกที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรใต้คือ 7,236 เมตร (23,740 ฟุต) อยู่ทางด้านใต้สุดของร่องลึกแซนด์วิชใต้ที่ 60°00'S, 024°W ไหล่ทวีปแอนตาร์กติกาโดยทั่วไปแคบแต่ขอบนอกมักลึกผิดปกติอาจมีระดับความลึกถึง 800 เมตร (2,600 ฟุต) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก 133 เมตร (436 ฟุต) ฤดูกาลของดวงอาทิตย์มีอิทธิพลต่อความผันผวนของขนาดมหาสมุทรและแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา โดยเฉลี่ยอาจมีแผ่นน้ำแข็งตั้งแต่ 2.6 ล้านตารางกิโลเมตรในเดือนมีนาคม จนถึงประมาณ 18.8 ล้านตารางกิโลเมตรในช่วงเดือนกันยายน ทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่าเจ็ดเท่า == ภูมิอากาศ == อุณหภูมิของมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 10 ถึง -2 องศาเซลเซียส พายุหมุนเคลื่อนตัวสู่ทิศตะวันออกไปรอบ ๆ ทวีป และมักมีความรุนแรงเนื่องจากอุณหภูมิที่ต่างกันมากระหว่างน้ำแข็งกับมหาสมุทรเปิด พื้นที่จากละติจูด 40° ใต้ลงไปถึงวงกลมแอนตาร์กติกา มีค่าเฉลี่ยของความเร็วลมสูงที่สุดในโลก ช่วงฤดูหนาวมหาสมุทรใต้จะหนาวเย็นจนเป็นน้ำแข็ง และแผ่ไกลออกไปถึงละติจูด 65° ใต้ ของมหาสมุทรแปซิฟิก และ 55° ใต้ ของมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส กระแสลมจากในแผ่นดินที่พัดต่อเนื่องสู่ชายฝั่งบางแห่ง ทำให้ชายทะเลนั้นปราศจากน้ำแข็งตลอดทั้งฤดูหนาว == แหล่งข้อมูลอื่น == Oceanography Image of the Day, from the Woods Hole Oceanographic Institution The CIA World Factbook's entry on the Southern Ocean The Fifth Ocean from Geography.About.com The International Bathymetric Chart of the Southern Ocean (IBCSO) National Geophysical Data Center U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) : Limits of Oceans and Seas (2nd Edition), extant 1937 to 1953, with limits of Southern Ocean. NOAA In-situ Ocean Data Viewer Plot and download ocean observations NOAA FAQ about the number of oceans Commission for the Conservation of Antarctic Marine Living Resources มหาสมุทรใต้ มหาสมุทร
thaiwikipedia
750
มหาสมุทรอาร์กติก
มหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) ตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ และส่วนใหญ่อยู่ในเขตขั้วโลกเหนืออาร์กติก เป็นมหาสมุทรขนาดเล็กที่สุดและตื้นเขินที่สุดในห้ามหาสมุทรตามการแบ่งมหาสมุทรหลักของโลก องค์กรอุทกศาสตร์โลก (IHO) ยอมรับว่ามหาสมุทรอาร์กติกเป็นมหาสมุทร แม้นักอุทกศาสตร์บางคนจะเรียกบริเวณนี้ว่า ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาร์กติก หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ทะเลอาร์กติก โดยจัดว่าบริเวณนี้เป็นหนึ่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของมหาสมุทรแอตแลนติก หรืออาจมองว่า เป็นส่วนเหนือสุดของมหาสมุทรโลกที่ล้อมรอบทั้งหมด มหาสมุทรอาร์กติกมีรูปร่างคล้ายวงกลม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ เกือบเท่ากับขนาดของทวีปแอนตาร์กติกา แนวชายฝั่งยาว ล้อมรอบด้วยทวีปยุโรป, ทวีปเอเชีย, ทวีปอเมริกาเหนือ และกรีนแลนด์ รวมทั้งเกาะต่างๆ และทะเลแบเร็นตส์, ทะเลโบฟอร์ต, ทะเลชุกชี, ทะเลคารา, ทะเลลัปเตฟ, ทะเลไซบีเรียตะวันออก, ทะเลลิงคอล์น, ทะเลแวนเดล, ทะเลกรีนแลนด์ และทะเลนอร์เวย์ เชื่อมกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่ช่องแคบเบริง และเชื่อมกับมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทะเลกรีนแลนด์ มหาสมุทรอาร์กติกบางส่วนปกคลุมด้วยทะเลน้ำแข็งตลอดทั้งปีและเกือบทั้งมหาสมุทรในฤดูหนาว อุณหภูมิและความเค็มของมหาสมุทรอาร์กติกแตกต่างกันไปตามฤดูกาล เมื่อน้ำแข็งหลอมเหลวและแข็งตัว ความเค็มของมหาสมุทรมีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในมหาสมุทรหลักทั้งห้า เนื่องจากการระเหยที่ต่ำ กระแสไหลเข้าอย่างหนักของน้ำจืดจากแม่น้ำและลำธาร การเชื่อมโยงที่จำกัดและการไหลออกไปยังมหาสมุทรโดยรอบที่มีความเค็มสูงกว่า การหดตัวของน้ำแข็งในฤดูร้อนมีบันทึกว่าลดลงถึง 50% ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐ (NSIDC) ใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อหาบันทึกประจำวันของน้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติก และอัตราการหลอมเหลวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเฉลี่ยและปีที่ผ่านมา สันลอมอนอซอฟ (Lomonosov ridge) ซึ่งเป็นสันมหาสมุทรที่อยู่ใต้ทะเล แบ่งมหาสมุทรอาร์กติกออกเป็น 2 ส่วน คือ แอ่งยูเรเชีย (เรียกบริเวณนี้ว่าแนนสัน - Nansen) มีความลึก 4,000-4,500 เมตร และแอ่งอเมริกาเหนือ (เรียกบริเวณนี้ว่าไฮเพอร์โบเรียน - Hyperborean) มีความลึกประมาณ 4,000 เมตร ความลึกเฉลี่ยของมหาสมุทรอาร์กติก คือ 1,038 เมตร (3,407 ฟุต) == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == อาร์กติก อาร์กติก จุดที่สุดในโลก มหาสมุทรอาร์กติก
thaiwikipedia
751
แมกนีเซียม
แมกนีเซียม (Magnesium) เป็นธาตุในตารางธาตุที่มีสัญลักษณ์ Mg และเลขอะตอม 12 แมกนีเซียมเป็นธาตุที่มีอยู่มากเป็นอันดับ 8 และเป็นส่วนประกอบของเปลือกโลกประมาณ 2% และเป็นธาตุที่ละลายในน้ำทะเลมากเป็นอันดับ 3 โลหะอัลคาไลเอิร์ธตัวนี้ส่วนมากใช้เป็นตัวผสมโลหะเพื่อทำโลหะผสมอะลูมิเนียม-แมกนีเซียม == ค้นพบ == ผู้ค้นพบธาตุแมกนีเซียม ซึ่งมีสามบุคคลที่เป็นนักเคมีแต่ละคนจะมีความเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าที่สำคัญ # Joseph Black แพทย์ นักฟิสิกส์และนักเคมีชาวสก็อตและคนแรกที่ได้รับการยอมรับว่าผงขาว (MgO) เป็นสารประกอบของตัวเองใน ค.ศ.1755 เขาพบว่ามันถูกแยกออกจากกันแคลเซียมคาร์บอเนต # Sir Humphry Davy นักเคมีชาวอังกฤษที่มีเครดิตอย่างกว้างขวางว่าเป็นบุคคลที่ค้นพบแมกนีเซียมใน ค.ศ.1808 ผู้บุกเบิกในการอิเล็กโทรไลต์ Davy ใช้วิธีการใหม่แล้วที่จะแยกแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบของตัวเอง # Antoine AB Bussy นักเคมีชาวฝรั่งเศสที่เป็นคนแรกที่ค้นพบวิธีการที่จะแยกแมกนีเซียมในปริมาณมาก เขาเผยแพร่ผลการวิจัยของเขาใน ค.ศ.1831 ใน "Mémoire sur le Radical métallique de la Magnésie" == สมบัติทางเคมี == สามารถทำปฏิกิริยาอย่างช้า ๆ กับน้ำเย็น และจะรวดเร็วมากขึ้นถ้าใช้น้ำร้อนได้ก๊าซไฮโดรเจน และทำปฏิกิริยากับกรดได้อย่างรวดเร็วเกิดก๊าซไฮโดรเจน แมกนีเซียมมีสถานะเป็นโลหะ ถูกนำมาใช้ในทางการค้าและเมื่อนำแมกนีเซียมมาเปรียบเทียบกับโลหะชนิดอื่น ๆ คุณสมบัติที่เด่นชัดที่สุดของแมกนีเซียมคือการเป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้แมกนีเซียมยังมีคุณสมบัติในการนำไปแปรรูปที่ง่ายมากและยังมีความแข็งแรงมากอีกด้วย ซึ่งความแข็งแรงของของแมกนีเซียมนั้นจะขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ยิ่งบริสุทธิ์มากความแข็งแรงของแมกนีเซียมก็จะน้อยลง เพราะด้วยเหตุนี้แมกนีเซียมส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดที่ถูกนำมาใช้จะอยู่ในรูปของแมกนีเซียมผสม แมกนีเซียมสามารถนำไปขึ้นรูปได้โดยการรีด ดึง ตี ได้ง่าย และสามารถนำใช้ทำดอกไม้ไฟ พลุ ได้อีกด้วย และใช้ทำเป็นวัสดุผสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการออกซิเดชันในโลหะต่าง ๆ หากเกิดการออกซิเดชันแล้วจะเกิดการกร่อนของโลหะเกิดขึ้น เช่น อะลูมิเนียมผสมทองแดงผสม == ความสำคัญ == แมกนีเซียมมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นธาตุที่ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดได้ และยังเป็นส่วนในการช่วยการเปลี่ยนแปลงน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานอีกด้วย โดยทั่วไปปกติในร่างกายของมนุษย์จะมีแมกนีเซียมอยู่เฉลียอยู่ที่ประมาณ 21 กรัม หรือ 21,000 มิลลิกรัม หากร่างกายขาดแมกนีเซียม จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันป้องกันระบบกล้ามเนื้อและระบบย่อยอาหารอาจทำงานผิดปกติ ระบบประสาทบางส่วนอาจถูกทำลาย กระดูกอ่อนจนร่างกายรับน้ำหนักไม่ไหว ร่างกายจะเก็บสะสมพลังงานไว้ไม่ได้ โดยศัตรูของแมกนีเซียม ได้แก่ แอลกอฮอล์ และยาขับปัสสาวะ นอกจากนี้คนที่ผิวแพ้ง่ายมักจะขาดแมกนีเซียม เนื่องจากแมกนีเซียมน้อยเกินไปจะทำให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่ไม่ดี การสร้างเกราะป้องกันผิวก็แย่ตามไปด้วย แมกนีเซียมยังจำเป็นสำหรับการพัฒนาเซลล์ให้เปลี่ยนเป็นเซลล์ชั้นขี้ไคลด้วยและยังช่วยลดการหลังของฮีสตามีน ที่เป็นสาเหตุของอาการคันของผิวหนังด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยเผาผลาญไขมันและเปลี่ยนเป็นพลังงาน ช่วยรักษาอาการซึมเศร้า ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ช่วยทำให้หลอดเลือดและหัวใจแข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ช่วยทำให้ฟันแข็งแรง และยังช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย == ในสภาพแวดล้อม == แมกนีเซียมเป็นธาตุที่มีมากที่สุดเป็นอันดับ 8 และเป็นส่วนประกอบของเปลือกโลกประมาณ 2% ของเปลือกโลกโดยน้ำหนักและแมกนีเซียมก็เป็นธาตุที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดที่ละลายในน้ำทะเล แมกนีเซียมมีอยู่มากในธรรมชาติ และจะพบในแร่ธาตุหินมาก เช่น โดโลไมต์ แม่เหล็ก แมกนีเซียมยังพบในน้ำทะเล น้ำทะเลใต้ดิน แมกนีเซียมมีโครงสร้างเป็นโลหะที่มีมากที่สุดในเปลือกโลกเกินโดยเฉพาะมีมากกว่าอะลูมิเนียมและเหล็ก == ผลกระทบต่อสุขภาพของแมกนีเซียม == การสัมผัส: การสัมผัสกับแมกนีเซียม แมกนีเซียมมีความเป็นพิษที่ต่ำและไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การสูดดม: การสูดดมทำให้ระคายเคืองเยื่อเมือกและระบบทางเดินหายใจส่วนบน ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก ตา: ทำให้เกิดการระคายเคืองและอนุภาคของแมกนีเซียมสามารถฝังในตาได้ ผิวหนัง: การฝังของอนุภาคในผิว การบริโภคผงแมกนีเซียมในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง แมกนีเซียมยังไม่ได้ทดสอบ แต่มันก็ไม่ได้สงสัยว่าเป็นสารก่อมะเร็งกลายพันธุ์ การสัมผัสกับแมกนีเซียมออกไซด์ ภายหลังจากการเผาไหม้ การเชื่อมหรืองานโลหะหลอมเหลว สามารถทำให้ไข้ฟูมโลหะที่มีอาการชั่วคราวต่อไปนี้ มีไข้หนาวสั่นคลื่นไส้อาเจียนและปวดกล้ามเนื้อ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นได้ 4–12 ชั่วโมงหลังจากได้รับและมีอายุนานถึง 48 ชั่วโมง == อันตรายทางกายภาพ == แมกนีเซียมอาจติดไฟได้เองเมื่อสัมผัสกับอากาศหรือความชื้นที่ระคายเคืองหรือเป็นพิษ ทำปฏิกิริยารุนแรงกับอนุมูลอิสระที่แข็งแกร่ง ทำปฏิกิริยารุนแรงกับสารที่ก่อให้เกิดไฟ == การปฐมพยาบาล == การสูดดม : ไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ตา : ล้างตาด้วยน้ำให้สะอาด ปรึกษาแพทย์ ผิวหนัง : ล้างด้วยสบู่และน้ำอย่างละเอียดเพื่อขจัดอนุภาคของแมกนีเซียม การกลืนกิน : ถ้าหากกินผงแมกนีเซียมเข้าไปเป็นจำนวนมากจะทำให้อาเจียนและควรไปปรึกษาแพทย์ == การรับประทานแมกนีเซียม == แนะนำให้รับประทานแมกนีเซียม เป็นอาหารเสริมประมาณวันละ 300 มก. และควรรับประทาน แมกนีเซียม ที่ไม่มีผลทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว เช่น แมกนีเซียมออกไซด์ และ แมกนีเซียมฟอสเฟต ซึ่งร่างกายจะได้รับธาตุฟอสฟอรัส ช่วยในการสร้างความหนาแน่นของกระดูก == ข้อควรระวังในการรับประทาน == แมกนีเซียม คือ ควรควบคุมปริมาณของแคลเซียมควบคู่ไปด้วย โดยอัตราส่วนของแคลเซียมต่อแมกนีเซียมควรจะอยู่ประมาณ600 มก.ต่อ300 มก. แต่ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ได้รับแมกนีเซียมเพียง 150-300 มก. ในขณะที่แคลเซียมมีคนหันมาบริโภคมากขึ้นเพื่อป้องกันโรคกระดูกในผู้สูงอายุนั้นควรใส่ใจกับปริมาณของแมกนีเซียมด้วยเช่นกัน ผู้ดื่มนมในปริมาณมากควรหันมาบริโภคแมกนีเซียมให้มากขึ้น หากได้รับแคลเซียม มากเกินไปจะไปขัดขวางการดูดซึมแมกนีเซียมในร่างกาย == หน้าที่และประโยชน์ == แมกนีเซียม จะสังเคราะห์โปรตีนให้ร่างกาย และเป็นโคเอนไซม์ที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งในร่างกายที่จะทำงานร่วมกับ แคลเซียม อันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย แมกนีเซียม ยังช่วยให้การผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เป็นปกติ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและเซลล์ต่างๆ มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบเลือด และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยหน้าที่และประโยชน์ของแมกนีเซียม มีดังนี้ มีส่วนควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อเช่นเดียวกับ แคลเซียม โดยจำเป็นสำหรับการส่งสัญญาณทางประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับการเผาผลาญสารอาหาร และการสังเคราะห์โปรตีน ช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต้านทานความหนาว ในที่อากาศเย็น ความต้องการแมกนีเซียมจะสูงขึ้น จำเป็นสำหรับการเติบโตของกระดูกและฟัน สำคัญในการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ของวิตามิน บี ซี และ อี จำเป็นสำหรับการเผาผลาญแคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม และโพแทสเซียม ป้องกันโรคทางหลอดเลือดหัวใจ โดยจะไปลดความดันเลือดลงและป้องกันการเกาะของโคเลสเตอรอลในหลอดเลือดแดง ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยในการควบคุมสมดุลของกรด–ด่างในร่างกาย อาจทำหน้าที่เป็นตัวยาสงบประสาทตามธรรมชาติช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรน และลดความถี่ในการเกิดได้ ลดอาการซึมเศร้า และช่วยให้นอนหลับโดยเป็นตัวที่ช่วยในการสร้างสารเมลาโตนิน ป้องกันไม่ให้ แคลเซียม จับตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต จำเป็นต่อการรวมตัวของ parathyroid hormone ซึ่งมีบทบาทในการดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูก ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ลดอาการปวดเค้นหน้าอกในผู้ป่วยโรคหัวใจ ป้องกันและรักษาโรคหอบหืด บรรเทาและป้องกัน อาการปวดประจำเดือนโดยการคลายกล้ามเนื้อมดลูก การรับประทานแมกนีเซียม จะช่วยลดการเกิดตะคริวในหญิงมีครรภ์ที่มีระดับของแมกนีเซียมต่ำได้ ช่วยป้องกันการเกิดอาการ ไมเกรน คนที่มีปัญหาโรค ไมเกรน มักจะมีปริมาณ แมกนีเซียม ในเลือดต่ำ ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับสมองได้ เช่น ซึมเศร้า ไมเกรน เครียด == แหล่งแมกนีเซียมในธรรมชาติ == แมกนีเซียมสามารถพบได้ใน ผักสีเขียวเข้ม กล้วย ข้าวกล้อง มะเดื่อ ฝรั่ง อัลมอนต์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโพด จมูกข้าวสาลี เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่วลิสง งา และในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ == การประยุกต์ใช้งาน == สารประกอบแมกนีเซียมถูกนำมาใช้เป็นวัสดุทนความร้อนในเตาเผาวัสดุ และใช้บุผิวในการผลิตโลหะ (เหล็ก เหล็กกล้า โลหะ แก้วและปูนซีเมนต์) ที่มีความหนาแน่นเพียง 2 ใน 3 ของอะลูมิเนียม และมีการใช้งานจำนวนมากในกรณีที่มีการลดน้ำหนักในการสร้างเครื่องบินและสร้างขีปนาวุธ == อ้างอิง == ธาตุเคมี โลหะแอลคาไลน์เอิร์ธ วัสดุศาสตร์ วัตถุเจือปนอาหาร
thaiwikipedia
752
นัสซิงเบ เอยาเดมา
นัสซิงเบ เอยาเดมา (Gnassingbé Eyadéma; 26 ธันวาคม พ.ศ. 2480 − 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548) เป็นอดีตประธานาธิบดีของประเทศโตโก ดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 38 ปี (พ.ศ. 2510 − 2548) ซึ่งนับเป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่นานที่สุดในทวีปแอฟริกา ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ระหว่างการเดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส == ประวัติ == เอยาเดมาเกิดในครอบครัวชาวนาเผ่าคาบิเยทางตอนเหนือของประเทศโตโก เขาเคยเข้าร่วมกับกองทัพของฝรั่งเศสและเคยไปรบในอินโดจีนและอัลจีเรีย ก่อนที่จะกลับสู่โตโกใน พ.ศ. 2505 ในปีถัดมา เขาก่อรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีซิลวานัส โอลิมพิโอ และสนับสนุนให้นิโคลาส กรูนิสกี้ มารับตำแหน่งผู้นำประเทศแทน แต่ใน พ.ศ. 2510 เขาก็ก่อรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และขึ้นดำรงตำแหน่งประธาธิบดีของโตโกเองด้วยอายุ 29 ปี เอยาเดมาได้รับความนิยมมากในช่วงแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ด้วยความเป็นเผด็จการและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ความนิยมนั้นตกลงอย่างรวดเร็ว เขาโดนลอบสังหารหลายครั้งแต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง เมื่อกระแสต่อต้านรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เอยาเดมาก็ยอมให้มีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าเอยาเดมาชนะไปด้วยคะแนน 96.42% เพราะไม่มีคู่แข่งที่น่าเชื่อถือ เขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2541 และเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย แม้จะมีเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เอยาเดมาสัญญาว่าจะยอมลงจากตำแหน่งเมื่อหมดวาระใน พ.ศ. 2546 แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำตามสัญญา เขายอมที่จะ "เสียสละอีกครั้ง" เพื่อความสงบและความมั่นคงของประเทศด้วยการเป็นประธานาธิบดีต่อไป เอยาเดมาปกครองประเทศโตโกอย่างเผด็จการมาโดยตลอด ทำให้ประเทศขาดระบบจัดการปัญหาต่าง ๆ เมื่อเขาเสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2548 ด้วยโรคหัวใจ นักวิจารณ์เกรงว่าโตโกจะเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในเหมือนประเทศโกตดิวัวร์ == อ้างอิง == Gnassingbé Eyadéma Biography ชาวโตโก ประธานาธิบดีโตโก ผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางการบิน
thaiwikipedia
753
จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน หรือรู้จักกันในชื่อ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (The Quality of Life of a South East Asian : A Chronical of Hope from Womb to Tomb ต่อมารู้จักกันในชื่อ From Womb to Tomb) เป็นบทความ 2 หน้า ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการพื้นฐานในชีวิตของผู้เขียน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงเสียชีวิต แต่งขึ้นโดย อ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้ 4 วัน และเผยแพร่เป็นภาษาไทยในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับตุลาคม 2516 ในเนื้อหาของบทความโดยหลักเป็นข้อเรียกร้อง รัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับหลักประกันสังคมและคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่คนคนหนึ่งพึงมี รวมไปถึงเรื่องทั่วไปในสังคมซึ่งยังคงใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน ผู้แต่งใช้คำศัพท์ที่ไม่ซับซ้อน สามารถเข้าใจได้ง่าย เป็นหนึ่งในบทความที่มีการคัดลอกและถ่ายทอดมากที่สุดบทความหนึ่งในสังคมไทย == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และโรงทาน , จุมพฏ สายหยุด, กรุงเทพธุรกิจ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2546 — วิเคราะห์เปรียบเทียบ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน กับ ข้อเสนอ หลักประกันชีวิตคนไทย 10 ข้อ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วรรณกรรมไทย
thaiwikipedia
754
คุกกี้
คุกกี้ คือขนมอบชิ้นเล็ก ๆ รูปร่างแบน ซึ่งทำจากแป้งสาลี คำว่าคุกกี้มีที่มาจากคำในภาษาดัตช์ koekje ซึ่งหมายถึง "เค้กชิ้นเล็ก ๆ" แรกเริ่มเดิมทีนั้น คุกกี้ทำโดยการแบ่งแป้งขนมเค้กที่ผสมแล้วออกมาส่วนหนึ่ง จากนั้นแบ่งออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำเข้าเตาอบ เพื่อทดสอบอุณหภูมิที่จะใช้อบขนมเค้ก คำว่า "คุกกี้" (cookie) ใช้กันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในขณะที่ในสหราชอาณาจักรจะเรียกขนมแบบเดียวกันนี้ว่า "บิสกิต" (biscuit) == การใช้คำ == ในประเทศที่ประชากรพูดภาษาอังกฤษส่วนใหญ่นอกสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหราชอาณาจักร จะเรียกขนมชนิดนี้ว่า บิสกิต (biscuit) และคำว่า คุกกี้ (cookie) นั้นจะใช้เรียกบิสกิตชนิดหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่มีการใช้ทั้งสองคำ เช่น คุกกี้แมรีแลนด์ (Maryland Cookies) จากอเมริกา ขณะที่บางที่จะใช้สองคำนี้ในความหมายต่างกัน ในภาษาอังกฤษในอเมริกาเหนือ บิสกิตคือขนมปังชนิดไม่หมัก (quick bread) ชนิดหนึ่งคล้ายสกอน ในสกอตแลนด์ คำว่า คุกกี้ ในบางครั้งใช้เรียกขนมปังชนิดนุ่มแบบไม่มีไส้ (plain bun) == อ้างอิง == คุกกี้ อาหารว่าง ของหวาน
thaiwikipedia
755
สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์
สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นทฤษฎีที่อยู่ฉากหลังของการออกแบบคอมพิวเตอร์ โดยทั่วไปหมายถึง การออกแบบ โครงสร้างของหน่วยประมวลผลกลาง (ซึ่งก็คือ การออกแบบจำนวนเรจิสเตอร์ที่จำเป็น และหน้าที่ที่จำเป็นของ หน่วยควบคุมกับหน่วยประมวลผลตัวเลข) ชุดของคำสั่งเครื่อง และการอ้างหน่วยความจำ เทคนิคอื่นๆ เช่น การประมวลผลแบบไปป์ไลน์ ประเภทของสถาปัตยกรรมการประมวลผลแบบขนาน ของโปรเซสเซอร์ SISD (Single Instruction Single Data stream) คือ โปรเซสเซอร์ ที่ใช้การประมวลผลด้วยชุดข้อมูลเพียงชุดเดียว และ ทำงานด้วยคำสั่งเดียว ภายใน 1 สัญญาณนาฬิกา MISD (Multiple Instruction Single Data stream) คือ โปรเซสเซอร์ ที่ใช้การประมวลผลด้วยชุดข้อมูลเพียงชุดเดียว แต่ทำงานด้วยได้หลายคำสั่ง ภายใน 1 สัญญาณนาฬิกา มักจะไม่ค่อยมีใครพัฒนาโปรเซสเซอร์แบบนี้ SIMD (Single Instruction Multiple Data stream) คือ โปรเซสเซอร์ที่ใช้การประมวลผลด้วยชุดข้อมูลหลายชุด แต่ทำงานด้วยคำสั่งเดียว ภายใน 1 สัญญาณนาฬิกา และได้ผลลัพธ์หลายชุด ใช้ในโปรเซสเซอร์แบบ Pentium MMX MIMD (Multiple Instruction Multiple Data stream) คือ โปรเซสเซอร์ที่ใช้การประมวลผลด้วยชุดข้อมูลหลายชุด และทำงานด้วยได้หลายคำสั่ง ภายใน 1 สัญญาณนาฬิกา RISC (Reduced Instruction- Set Computing หรือชิปที่มีการลดทอนคำสั่ง) คือ โปรเซสเซอร์ที่มีชุดคำสั่งที่มีรูปแบบและขนาดที่แน่นอน สามารถประมวลผลได้ภายใน 1 สัญญาณนาฬิกา การอ้างอิงหน่วยความจำจะใช้คำสั่ง Load และ Store ที่สามารถอ้างอิงหน่วยความจำได้โดยตรงเท่านั้น ใช้การอ้างตำแหน่งแบบตรงๆ ง่ายโดยมีรูปแบบจำกัดอยู่ 2 แบบ คือ 1.แบบอ้างผ่าน Register ( Register Indirect ) Register จะเก็บค่าตำแหน่งไว้ แล้ว ทำการอ้างตำแหน่งนั้นๆผ่าน Register 2.ในแบบ Index จะเป็นการอ้างตำแหน่งจากค่าคงที่ที่มาในคำสั่งนั้นๆเลย CISC (Complex Instruction-Set Computing) คือสถาปัตยกรรมของโปรเซสเซอร์ ที่ใช้คำสั่งซับซ้อนที่มีความยาวเปลี่ยนไปตามชนิดของคำสั่ง มีคำสั่งให้ใช้งานมากมาย ทำให้เขียนโปรแกรมง่าย และโปรแกรมมีขนาดเล็ก การทำงานของคำสั่งจะใช้ Microcode โดยคงความเข้ากันได้กับโปรเซสเซอร์รุ่นเก่า ทำให้ไม่ต้องเขียนโปรแกรมใหม่ SMP (Symmetric MultiProcessing) คือสถาปัตยกรรมของการใช้โปรเซสเซอร์ หลายตัว ที่ใช้ทรัพยากรของระบบเช่น บัส หน่วยความจำ I/O ร่วมกัน ไม่สามารถแบ่งเป็น partition ย่อยๆได้ และสมรรถนะของระบบจะลดลงเมื่อใช้โปรเซสเซอร์ มากกว่า 8 ตัว ความสามารถในการขยายสเกลยังจำกัด แต่สามารถใช้โปรแกรมแบบเดิมได้ไม่ต้องเขียนขึ้นใหม่ == การแบ่งกันใช้งานและการติดต่อสื่อสาร == Shared-bus topology คือการต่อโปรเซสเซอร์ หลายตัวให้ใช้งาน Frontside บัสเส้นเดียวร่วมกัน แต่มีข้อเสียคือ จะเกิดคอขวดที่เกิดจากรอคอยการใช้บัสร่วมกัน และทำให้เกิดประจุไฟฟ้าสะสมบนบัส ซึ่งจะเกิดการรบกวนสัญญาณข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถใช้โปรเซสเซอร์ ได้สูงสุดไม่เกิน 4 ตัวมีใช้ใน บัส GTL+ ของ Intel x86 และ บัส MPX ของ SMP G4 (Apple) Point-to-point topology คือการต่อโปรเซสเซอร์ หลายตัวโดยให้โปรเซสเซอร์ แต่ละตัวมี Frontside บัสของตัวเองที่ต่อตรงไปยังชุดชิปหลัก จะแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ Shared-bus topology ได้ มีใช้ใน บัส EV6 ของ Athlon == Cache Coherence == คือการทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ในแคชของโปรเซสเซอร์ ทุกตัวมีความสอดคล้องกับโปรเซสเซอร์ตัวอื่นๆ Snoop คือการจัดการให้แคชของโปรเซสเซอร์แต่ละตัว คอยฟังว่ามีการร้องขอข้อมูลในหน่วยความจำที่โปรเซสเซอร์กำลังใช้งานอยู่ของโปรเซสเซอร์ตัวอื่นๆทุกตัวหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารสถานะของข้อมูล เพื่อประสานงานการใช้ข้อมูลร่วมกันโดยเกิดข้อขัดแย้งน้อยที่สุด แต่จะเกิดปัญหาความล่าช้าบนระบบ Shared-bus เพราะการ snoop จะลด bandwidth ของบัสที่ใช้งานร่วมกัน แต่ในระบบ point-to-point จะมี snoop bus ต่างหาก ทำให้แคชสามารถทำงานโดยไม่ต้องไปรบกวนการทำงานของส่วนอื่นๆ Data Intervention คือเทคนิคที่เพิ่มความเร็วในการประสานการของทำงานของแคช โดยการที่แคชของโปรเซสเซอร์ต้องการอ่านข้อมูลเดียวกัน ที่กำลังใช้งานอยู่และเพิ่งจะเริ่มแก้ไข ก็จะส่งสัญญาณบอกโปรเซสเซอร์อีกตัวให้รอรับข้อมูลที่จะส่งไปให้ ไม่ต้องไปขอจากหน่วยความจำหลักให้เสียเวลา MPP (Massively Parallel Processing) คือสถาปัตยกรรมของการใช้โปรเซสเซอร์หลายตัว โดยที่โปรเซสเซอร์แต่ละตัว จะมีทรัพยากรระบบ (I/O, หน่วยความจำ) ของตนเองเป็นหน่วยๆย่อยมีการควบคุมตนเอง การเชื่อมโยงจะใช้ hardware หรือ software ก็ได้ สามารถขยายสเกลได้ดีมาก แต่ต้องเขียนโปรแกรมใหม่ ไม่สามารถใช้ของเดิมได้ CMP (Cellular MultiProcessing) คือสถาปัตยกรรมของการใช้โปรเซสเซอร์หลายตัว ที่ผสมผสานข้อดีของ SMP และ Clustering เข้าด้วยกัน โดยแบ่งโปรเซสเซอร์ออกเป็นหน่วยเล็ก ที่เรียกว่า subpod (ประกอบด้วย โปรเซสเซอร์ 2 คู่ที่แต่ละคู่ใช้บัสแยกกัน และ cache แบบ L3 และสามารถใช้ระบบปฏิบัติการของตนเองหรือรวมกันเป็นหน่วยเดียวก็ได้) ที่ใช้ ทรัพยากรของระบบ (หน่วยความจำ, I/O) ร่วมกัน การเชื่อมโยงใช้ลักษณะการติดต่อแบบ Crossbar (เป็นการเชื่อมต่อแบบจุดต่อจุดโดยตรง ที่สามารถกำจัดการขัดข้องที่จุดๆเดียวได้) สามารถขยายสเกลได้ดีมาก และสามารถใช้โปรแกรมแบบเดิมได้ไม่ต้องเขียนขึ้นใหม่ NUMA (Non-Uniform Memory Access) คือสถาปัตยกรรมของการใช้โปรเซสเซอร์หลายตัว ที่ผสมผสานข้อดีของ SMP และ MPP เข้าด้วยกัน โดยแบ่งเป็นหน่วยย่อยของหลายๆ โปรเซสเซอร์ ที่ใช้ทรัพยากรของระบบ (หน่วยความจำ, I/O) ร่วมกัน สามารถขยายสเกลได้ดีมาก และสามารถใช้โปรแกรมแบบเดิมได้ไม่ต้องเขียนขึ้นใหม่ Clustering คือ สถาปัตยกรรมของการเชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกัน โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อสร้างระบบที่ใหญ่ขึ้นและล้มเหลวยาก (ระบบจะไม่หยุดทำงานง่ายๆ) == ดูเพิ่ม == ไมโครโพรเซสเซอร์ == อ้างอิง by ISS == ISCA:proceddings of the International symposium on Computer Architecture ASPLOS: international conference on Architectural Support for Programming languages and Operating Systems ACM Transactions on Computer Systems IEEE computer IEEE Micro Microprocessor Reports RSBD RIBM AUTO == อ้างอิง == Hennessy and Patterson (2006). Computer Architecture: A Quantitative Approach (Fourth Edition ed.). Morgan Kaufmann. ISBN 978-0-12-370490-0. Tanenbaum, Andrew S. (1979). Structured Computer Organization. Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice-Hall. ISBN 0-13-148521-0.
thaiwikipedia
756
มหาสมุทร
มหาสมุทร (ocean) เป็นผืนน้ำทะเลขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ใน 4 (71%) ของพื้นผิวโลก มหาสมุทรเรียงตามลำดับขนาดจากมากไปน้อยได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรใต้ และมหาสมุทรอาร์กติก คำว่า sea หรือทะเล บางครั้งใช้แทนคำว่า "ocean" หรือ "มหาสมุทร" ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันได้ แต่หากเจาะจงการพูดแล้ว sea คือแหล่งน้ำเค็ม (ส่วนหนึ่งของมหาสมุทร) ส่วนที่มีพื้นที่ติดพื้นดิน มวลน้ำเค็มปกคลุมประมาณ 72% ของพื้นผิวโลก (~3.6 กม.2) และถูกแบ่งเป็นมหาสมุทรหลัก ๆ และทะเลขนาดเล็กอีกหลายแห่ง โดยมหาสมุทรจะครอบคลุมพื้นที่โลกประมาณ 71% มหาสมุทรประกอบด้วยน้ำของโลก 97% และนักสมุทรศาสตร์กล่าวว่ามหาสมุทรในโลกเพิ่งได้มีการสำรวจไปได้เพียง 5% เท่านั้น ปริมาตรสุทธิมีประมาณ 1.35 พันล้านลูกบาศก์กิโลเมตร (320 ล้านลูกบาศก์ไมล์) มีความลึกเฉลี่ยที่ เนื่องจากมหาสมุทรเป็นส่วนประกอบหลักของอุทกภาคของโลก มหาสมุทรจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรคาร์บอน และมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศและลมฟ้าอากาศ มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตกว่า 230,000 สปีชีส์ แม้ว่ามหาสมุทรในส่วนที่ลึก ๆ ส่วนมากยังคงไม่ถูกสำรวจ และเชื่อกันว่ามีสิ่งมีชีวิตใต้น้ำมากกว่า 2 ล้านชนิดอยู่ในนั้น จุดกำเนิดของมหาสมุทรนั้นยังไม่มีคำตอบ แต่มีความคิดว่ามันเกิดขึ้นในบรมยุคเฮเดียน และอาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกระบวนการกำเนิดชีวิตจากสิ่งไร้ชีวิต == ดูเพิ่ม == หิมะภาค อุทกภาค == อ้างอิง == ธรณีสัณฐานชายฝั่งและมหาสมุทร สมุทรศาสตร์ แหล่งน้ำ
thaiwikipedia
757
เทือกเขาหิมาลัย
หิมาลัย (हिमालय, จากภาษาสันสกฤต: หิมะ हिम|hima กับ อาลยฺ आलय|ālaya) เป็นเทือกเขาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกซึ่งแยกอนุทวีปอินเดียออกจากที่ราบสูงทิเบต ในเทือกเขาประกอบด้วยยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกหลายจุด ในจำนวนนี้มีทั้งยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ภูเขาเอเวอเรสต์ ที่พรมแดนเนปาลกับทิเบต และมีภูเขาที่สูงที่สุดในโลกกว่า 50 ภูเขา ความสูงเกิน จากระดับน้ำทะเล ในจำนวนนี้มีภูเขาสิบลูกจากภูเขาสูงเกิน 8,000 เมตรทั่วโลกจำนวนสิบสี่ลูก ในขณะที่ยอดเขาสูงสุดนอกเอเชีย (เขาอากองกากัวในเทือกเขาแอนดีส) สูงเพียง เทิอกเขาหิมาลัยเกิดจากการมุดของแผ่นเปลือกโลกอินเดียลงใต้แผ่นยูเรเชีย เทือกเขากินพื้นที่จากตะวันตกถึงตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันออกถึงตะวันออกเฉียงเหนือ ความยาวกว่า มีผู้อยู่อาศัยบนหิมาลัยรวม 52.7 ล้านคน ในพื้นที่ห้าประเทศ: ภูฏาน, จีน, อินเดีย, เนปาล และ ปากีสถาน เทือกเขาฮินดูกูชในอัฟกานิสถาน และ Hkakabo Razi ในพม่ากับบังกลาเทศ มักไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย แต่จะถูกนับรวมในระบบแม่น้ำฮินดูกูชหิมาลายัน == อ้างอิง == หิมาลัย ภูมิศาสตร์เอเชีย
thaiwikipedia
758
บาลานซ์สกอร์การ์ด
บาลานซ์ สกอร์การ์ด (balanced scorecard) เป็นเทคนิควิธีในการประเมินประสิทธิภาพขององค์กร == ประวัติ == ในอดีตที่ผ่านมามีบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายหลายบริษัท เช่น AT&T และ ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ต้องประสบปัญหาขาดทุน และกลายสภาพไปเป็นบริษัทที่ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิมในปัจจุบัน เนื่องจากสาเหตุที่พอสรุปได้ดังนี้ มั่นใจในระบบการทำงานของบริษัทแบบเดิมมากเกินไป ฐานะการเงินของบริษัทในช่วงรุ่งเรืองนั้นยังดีอยู่มาก จึงไม่ตระหนักว่าบริษัทกำลังดำเนินไปในทางที่ตกต่ำลง ไม่รู้จักเพิ่มเติม, ปรับปรุง และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบสารสนเทศ มาใช้ในบริษัท เนื่องจากมีเหตุการณ์ประเภทนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ดร. Kaplan และ Norton (จาก Harvard Business School) จึงตระหนักว่า เครื่องมือที่ใช้วัดประสิทธิภาพของบริษัทแบบเก่า ๆ นั้น มีจุดอ่อนและกำกวม (เช่น ดูแต่ตัวเลขสถานะการเงินของบริษัท ซึ่งเป็นแค่มุมเดียวของความสำเร็จของบริษัท และมักเป็นจากอดีต ไม่ได้แสดงถึงศักยภาพและแนวโน้มบริษัทในอนาคต) ทั้งสองจึงได้พยายามคิดค้นเครื่องมือใหม่ ที่ช่วยให้ผู้บริหารของบริษัทเข้าใจสถานะของบริษัทในหลาย ๆ มุมมองได้อย่างถูกต้องและกระชับ ซึ่งเครื่องมือใหม่ที่ว่าก็คือ บาลานซ์ สกอร์การ์ด (Balanced Scorecard) นี่เอง คือจะพยายามถ่วงดุลผลประโยชน์ของบริษัทในทุก ๆ ด้าน เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนทั้งปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน บาลานซ์ สกอร์การ์ดซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการแบบใหม่ จึงเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารองค์กร == คุณสมบัติ == บาลานซ์ สกอร์การ์ด จะวัดศักยภาพของบริษัทใน 4 ด้าน (การเลือกที่จะวัดอะไร, อย่างไร และมีเป้าหมายคืออะไร เป็นหน้าที่ของผู้บริหารและที่ปรึกษา) แง่มุมด้านการเงิน (The Financial Perspective) เป็นตัวชี้วัดที่ผู้บริหารคุ้นเคยดี เช่น อัตราส่วนทางการเงิน, ลูกหนี้, กระแสเงินสด แง่มุมด้านลูกค้า (The Customer Perspective) ดูสิ่งที่มีผลกระทบต่อลูกค้าโดยตรง เช่น เวลาเฉลี่ยในการให้บริการลูกค้า, อันดับของบริษัท ถ้าเรียงจากความพอใจของลูกค้า หรือเรียงจากการตำหนิของลูกค้า แง่มุมด้านกระบวนการและประสิทธิภาพการทำงาน (The Business Process/Internal Operations Perspective) ดูสิ่งที่มีผลกระทบต่อกระบวนการทำงานภายในธุรกิจ เช่น เวลาเฉลี่ยที่ต้องใช้ในการทำงานแต่ละอย่าง, จำนวนงานที่ต้องทำใหม่, ความสำเร็จในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ ๆ แง่มุมด้านการการเรียนรู้และเติบโต (The Learning and Growth Perspective) เช่น รายได้จากสินค้าใหม่ ๆ, การมีส่วนร่วมของพนักงานในการให้ข้อเสนอแนะ, การฝึกอบรมพนักงาน == ประโยชน์ == ในแง่ตัวเลขวัดประสิทธิภาพ, ช่วยให้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม (เช่น ปีนี้ต้องมีลูกค้าเฉลี่ยอย่างต่ำ 28.87 คนต่อวัน) และตรวจสอบศักยภาพปัจจุบันว่าใกล้เคียงเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ (correlation) ของมุมมองต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ถ้าตัวเลขด้าน internal operations สูง จะทำให้ ตัวเลขด้าน customer สูงไปด้วย ความสัมพันธ์ในมุมมองต่าง ๆ ช่วยให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ ในเป้าหมาย และแผนใหม่ ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ยังช่วยให้เราวางเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย == ดูเพิ่ม == คลังข้อมูล KPI == อ้างอิง == http://www.balancedscorecard.org/basics/bsc1.html การจัดการ ซอฟต์แวร์ทางธุรกิจ
thaiwikipedia
759
Complex Text Layout
CTL เป็นอักษรย่อ จาก Complex Text Layout (แปลตามตัว: การออกแบบข้อความซับซ้อน) ในทางคอมพิวเตอร์ ใช้เรียกกลุ่มภาษา ที่ต้องการขั้นตอนที่ซับซ้อนในการแสดงผล บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือบนกระดาษพิมพ์ ตัวอย่างภาษาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ภาษาอาหรับ ภาษาฮิบรู ภาษาฮินดี และ ภาษาไทย == อ้างอิง == == ดูเพิ่ม == CJK Unicode Typography ส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้
thaiwikipedia
760
คลังข้อมูล
คลังข้อมูล (data warehouse) คือ ฐานข้อมูลขนาดยักษ์ ที่รวบรวมฐานข้อมูลจากหลายแหล่งหลายช่วงเวลา ซึ่งอาจมี schema แตกต่างกัน มาไว้รวม ณ ที่เดียวกัน (และใช้ schema เดียวกัน) == ความแตกต่างจากฐานข้อมูล == โดยปกติแล้ว ฐานข้อมูลในองค์กรทั่วไปจะมีลักษณะที่ค่อนข้างทันต่อเหตุการณ์ เช่น ฐานข้อมูลพนักงานก็จะเก็บเฉพาะพนักงานในปัจจุบัน จะไม่สนใจข้อมูลพนักงานเก่า ๆ ในอดีต ซึ่งอาจจะมีข้อมูลอะไรบางอย่าง ที่มีประโยชน์สำหรับผู้บริหาร ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพและคุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กร. นอกจากนี้ ฐานข้อมูลแต่ละอันมักถูกออกแบบมาใช้เก็บข้อมูลเฉพาะด้าน จึงมีข้อมูลเฉพาะบางส่วนขององค์กรเท่านั้น ฉะนั้นคลังข้อมูลจึงถูกออกแบบมา เพื่อรวบรวมข้อมูลในทุกส่วนของทั้งบริษัท ทั้งเก่าและใหม่ไว้ด้วยกัน ไม่มีการลบทิ้งข้อมูลเก่า ๆ ที่ไม่จริงในปัจจุบัน โดยสรุปคือ คลังข้อมูล (Data Warehouse) ใช้เพื่อการวิเคราะห์ (ข้อมูลทั้งอดีตและปัจจุบัน) ฐานข้อมูล (Data Base) ใช้เพื่อทำการประมวลผล (เฉพาะข้อมูลปัจจุบัน) ถ้าองค์กรมีคลังข้อมูลหลาย ๆ อันเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น คลังข้อมูลด้านการเงิน และ คลังข้อมูลด้านทรัพยากรมนุษย์ เรามักเรียกคลังข้อมูลเฉพาะด้านเหล่านี้ว่า ตลาดข้อมูล (data marts) อนึ่ง กระบวนการในการใช้ข้อมูลในคลังข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และวางแผนในทางธุรกิจ มักถูกเรียกว่า การบริหารธุรกิจอย่างชาญฉลาด (business intelligence). == ประเด็นที่ต้องพิจารณา == ในการรวมฐานข้อมูล อาจมีปัญหาว่าฐานข้อมูลแต่ละอัน อาจถูกออกแบบจากผู้ออกแบบหลายๆ คนทำให้มี schema แตกต่างกันไป (schema ในที่นี้หมายถึงการออกแบบ REA model ว่าจะมีกี่ตาราง แต่ละตารางเชื่อมกันอย่างไร มีอะไรเป็น primary key, foreign key เป็นต้น) ปัญหาใหญ่ก็คือจะนำฐานข้อมูลที่มีความแตกต่างกันมารวมกันได้อย่างไร เมื่อรวมกันแล้วต้องการให้ schema ของคลังข้อมูลมีลักษณะแบบไหน. การออกแบบคลังข้อมูลโดยทั่วไป มักจะออกแบบตรงข้ามกับฐานข้อมูลอย่างสิ้นเชิง * การออกแบบฐานข้อมูลเรามักต้องการให้มี schema ที่ปรับปรุงได้ง่ายๆ (เพราะเราต้องประมวลผลบ่อย) คือในแต่ละตารางมี primary key น้อยๆ และมีตารางจำนวนมากเชื่อมต่อกัน นั่นคือใน REA model มักจะมีหลาย ๆ ตาราง * ในคลังข้อมูลเราต้องการให้เรียกข้อมูลที่ต้องการดู (query) ง่ายๆ และรวดเร็ว นอกจากนั้นเราไม่ค่อยได้แก้ไขปรับปรุงคลังข้อมูล จึงมักออกแบบให้มีตารางน้อยๆ schema ที่นิยมใช้ในคลังข้อมูลคือ star schema (ดู Fig. 15-7) == การวิเคราะห์ข้อมูลในคลังข้อมูล == มีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ === Online Analytical Processing === Online Analytical Processing (OLAP) คือการใช้คำค้น (query) เพื่อค้นหาข้อมูลในคลังข้อมูลเหมือนในฐานข้อมูล เหตุผลที่เราไม่ค้นในฐานข้อมูล แต่มาทำในคลังข้อมูลแทนมีสองสาเหตุคือ ความเร็ว ความครอบคลุมของข้อมูลทั้งบริษัทที่มีอยู่ในคลังข้อมูล ลักษณะการจัดเก็บข้อมูลที่ OLAP สามารถเรียกใช้ รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพมีอยู่ 3 ชนิดที่ (OLAP) สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ 1. ฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (Relational DataBase) โดยทั่วไปแล้วระบบงานประจำมีการจัดเก็บข้อมูลแบบ RDBMS และ data warehouse ก็มีการจัดเก็บข้อมูลแบบ RDBMS ซึ่งอาจจะมีโครงสร้างข้อมูล แบบ star schema และอาจจะเป็นได้ทั้ง normalized & denormalized 2. ฐานข้อมูลหลายมิติ ( multidimentional database) ข้อมูลที่จัดเก็บในฐานข้อมูลหลายมิติอาจมาจากฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ หรือระบบงานปัจจุบันโดยจะแปลง การจัดเก็บข้อมูลเสียใหม่ โดยมีโครงสร้างการจัดเก็บแบบ array โดยทั่วไปแล้วฐานข้อมูลหลายมิติจะยอมให้สิทธิการเขียนข้อมูลลงในฐานข้อมูล ในช่วงเวลาหนึ่งเพียงคนเดียว แต่อนุญาตให้หลาย ๆ คน เข้าค้นหาข้อมูลในเวลาเดียวกัน หรือมิฉะนั้นก็อนุญาตให้ค้นหาข้อมูลเพียงอย่างเดียว 3. เก็บข้อมูลไว้ที่ client ลักษณะของfile (client-base files) ในกรณียอมให้client ดึงข้อมูลจำนวนไม่มากนักมาเก็บไว้ซึ่งเหมาะกับการประมวลผลแบบกระจาย หรือการสร้างคำสั่งให้ข้อมูลปรากฏบน web OLAP ที่เกี่ยวข้องกับสาขาอื่นๆ OLAP นับเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อสาขาธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากความซับซ้อนที่มากขึ้น และเวลาที่น้อยลงสำหรับการตัดสินใจทางธุรกิจ OLAP จึงเป็นคำตอบที่เหมาะสมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะจุดเด่นที่สำคัญของ OLAP ประกอบด้วย การตอบสนองต่อการคิวรีของผู้ใช้ที่กินเวลาไม่มาก การทำงานที่ไม่ขึ้นกับขนาดและความซับซ้อนของฐานข้อมูล แอปพลิเคชัน OLAP ช่วยงานการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบ การนำเสนอในมุมมองเฉพาะ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังและคาดการณ์ข้อมูลในอนาคตตามโมเดลการตอบคำถามแบบ "What-If" === การทำเหมืองข้อมูล === การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) คือ การหารูปแบบ (pattern) อะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในข้อมูล ที่มองผิวเผินแล้วไม่อาจสังเกตเห็นได้ เนื่องจากข้อมูลมีปริมาณมาก เช่น การค้นหากฎความสัมพันธ์ (association rules) ของสินค้าในห้างสรรพสินค้า เราอาจพบว่าลูกค้าร้อยละ 90 ที่ซื้อเบียร์ จะซื้อผ้าอ้อมเด็กด้วย, ซึ่งเป็นข้อมูลให้ทางห้างคิดรายการส่งเสริมการขายใหม่ๆ ได้; หรือ ธนาคารอาจพบว่า คนทั่วไปที่มีอายุ 20-29 ปี และมีรายได้ในช่วง 20,000-30,000 บาท มักซื้อเครื่องเล่นเอ็มพีสาม, ธนาคารอาจเสนอให้คนกลุ่มนี้ทำบัตรเครดิต โดยแถมเครื่องเล่นดังกล่าว เป็นต้น.......................... == ลักษณะเด่นของคลังข้อมูล == ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนที่ต่ำก็ตาม เนื่องจากมีการให้ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง จึงสามารถทำให้องค์กรเกิดความได้เปรียบคู่แข่งขันในแง่ของการได้รับข้อมูลและสารสนเทศก่อนคู่แข่งขันเสมอ จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อทำการกำหนดเป็นกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางในการดำเนินงานได้ก่อนคู่แข่งขัน เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภค ความต้องการทางตลาด และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจของผู้ตัดสินใจ เนื่องจากคลังข้อมูลได้รับการให้ข้อมูลที่รับมาจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน มีความสอดคล้องกัน และวิเคราะห์ตามประเด็นที่ผู้ตัดสินใจต้องการ อีกทั้งข้อมูลที่มีอยู่ในคลังข้อมูลก็มีปริมาณมากทั้งข้อมูลในอดีตและปัจจุบัน จึงทำให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย ทำให้สะดวกและรวดเร็วในการค้นหาข้อมูลต่างๆ และลดความซ้ำซ้อนกันของข้อมูลอีกด้วย == ดูเพิ่ม == ฐานข้อมูล การทำเหมืองข้อมูล Balanced scorecard ระบบสารสนเทศ ธุรกิจอัจฉริยะ
thaiwikipedia
761
ธีรยุทธ บุญมี
ศาสตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี (เกิด 10 มกราคม พ.ศ. 2493) เป็นนักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง และนักเขียนรางวัลศรีบูรพา อดีตเลขาธิการ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา เคยเป็นอาจารย์ประจำ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ สาขามนุษยวิทยา ในปี พ.ศ. 2555ด้วยวิธีพิเศษ == ประวัติ == ธีรยุทธ บุญมี เกิดในครอบครัวที่ยากจน มีบิดาเป็นทหาร เขารับศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย บิดาชื่อนายฉิม บุญมี มารดาชื่อนางสมจิตร บุญมี มีนิสัยรักการอ่านมาแต่เด็ก หัวดี และเรียนเก่ง มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ ด้วยความสนใจเขาได้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ส่งนิตยสารอย่างวิทยาสารและชัยพฤกษ์ตอนอยู่ ม.ศ. 4-5 เขาได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น ศ.ดร. ระวี ภาวิไล ซึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ ศ.ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต และได้มีโอกาสสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง ส่วนด้านงานเขียนเขาก็สนิทสนมคลุกคลีกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ เสถียร จันทิมาธร ซึ่งเป็นนักเขียนแถวสยามรัฐ === ชีวิตนักศึกษา === ธีรยุทธ บุญมี สมัครสอบเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ปัญหาความยากจนของทางบ้าน เขาจึงเลือกที่เป็นวิศวกรแทนที่จะไปทางสายวิทยาศาตร์ที่ชอบเนื่องจากเขาสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศในสายวิทยาศาสตร์ ด้วยคะแนน 91.90 เปอร์เซนต์ในปี พ.ศ. 2511 เขาไม่สามารถสมัครสอบทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อต่างประเทศเช่นเดียวกับผู้สอบได้อันดับหนึ่งคนอื่นๆ ด้วยเหตุผลว่าอายุเกิน แต่เนื่องจากวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ทำให้เขาหันเหความสนใจไปด้านกิจกรรมตอนเป็นนิสิต จากกิจกรรมเชิงวิชาการ ขยับมาเป็นกิจกรรมด้านสังคม ธีรยุทธ บุญมี เข้าเป็นสมาชิกศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และได้เป็นเลขาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2515 ช่วงนั้น ศนท. มีบทบาททางการเมืองในการรณรงค์เรียกร้องต่างๆ เช่นการรณรงค์ให้ชื้อสินค้าไทยและไม่ซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น เรื่องการล่าสัตว์ป่าของกลุ่มนายทหารและตำรวจในทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น === เหตุการณ์ 14 ตุลา === ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ธีรยุทธ บุญมี เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งกลุ่มเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อขอรัฐธรรมนูญคืนจากรัฐบาลเผด็จการซึ่งนำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งวันนั้นเป็นวันเสาร์ สมาชิกกลุ่มจำนวน 25 คน ได้ไปถือโปสเตอร์ แจกใบปลิว หนังสือ และบัตรลงประชามติที่ตลาดนัดสนามหลวง ในวันนั้นเป็นหนึ่งใน 11 คนที่ถูกตำรวจสันติบาลจับกุม ตรวจค้นบ้านและยึดเอกสารใบปลิว เมื่อมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม จนกระทั่งมีการเดินขบวนในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในที่สุด ธีรยุทธและผู้ที่ถูกจับกุมคนอื่น ๆ ก็ได้รับการปล่อยตัว และหลังจากนั้น ธีรยุทธยังได้เป็นหนึ่งในแกนนำของผู้ชุมนุมเข้าเจรจากับทางรัฐบาล จนได้ข้อสรุปเพียงพอที่จะยุติการชุมนุม แต่ทว่าสถานการณ์ในส่วนของผู้ชุมนุมเริ่มที่จะควบคุมความสงบไม่อยู่แล้ว เนื่องจากรอคอยผลการเจรจาเป็นเวลานาน ประกอบกับจำนวนผู้ชุมนุมที่มาก ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร เมื่อทางธีรยุทธออกมา และพบกับสถานการณ์เช่นนี้ ก็ได้ขอผู้ที่ทำการนำผู้ชุมนุม ขึ้นรถปราศรัยชี้แจงกับผู้ชุมนุมด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้ยุติการชุมนุมลงโดยสงบ แต่ทว่าในที่สุดก็เกิดการปะทะและนองเลือดกันในรุ่งเช้าวันต่อมา === หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา และชีวิตการทำงาน === เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้เดินทางไปใช้ชีวิตในป่าแถบจังหวัดน่าน และเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ในฐานะเลขานุการประสานงานผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย เป็นเวลาถึงสี่ปีครึ่ง ก่อนจะเดินทางไปทำงานวิจัยในสาขาปรัญชาและสังคมวิทยาที่สถาบันสังคมศึกษา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้วุฒิเทียบเท่าปริญญาโท และศึกษาต่อปริญญาเอกสาขาสังคมมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยไนเมเกน ประเทศเดียวกัน ใน แต่ไม่ได้สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็เลิกเรียนเสียก่อน (ปัจจุบันจึงยังเป็น Phil.D. Candidate อยู่) หลังจากเรียนจบ ก็สมัครทำงานเป็นวิศวกรของบริษัทเอกชนอยู่ระยะหนึ่ง เคยทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันสังคมศึกษา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และทำงานวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยบีเลเฟลท์ ประเทศเยอรมนี เมื่อกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2528 จึงเริ่มบทบาททางการเมือง ในฐานะนักคิด นักวิชาการ นักปรัชญา โดยทำการวิจารณ์การเมืองและสำรวจประชามติ เคยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา ปัจจุบัน ธีรยุทธเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดว่าตัวเองเป็นนักคิดมากกว่านักเขียน จึงเน้นการทำงานด้านวิชาการ โดยพยายามเขียนหนังสือ ตำรา และบทความทางวิชาการ พร้อมโจมตีการทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ == งานทางวิชาการ == ธีรยุทธ บุญมี มีผลงานเขียนและปาฐกถาวิจารณ์การเมืองจำนวนมาก เขาได้รับรางวัลศรีบูรพา ในปี พ.ศ. 2549 ร่วมกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตัวอย่างงานเขียนและบทวิเคราะห์ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ เช่น สังคม วัฒนธรรมหลังการเลือกตั้ง ก.พ.2548 การเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม การเมือง ครั้งที่ 2 ของไทย , อนาคตการเมืองไทยและนโยบายของรัฐบาลทักษิณ 2 และ รัฐธรรมนูญแบบภูมิปัญญาไทย ซึ่งสนับสนุนการทำรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ปัญญาชนหลายฝ่ายวิจารณ์ธีรยุทธว่าเขาอาศัยสถานภาพนักวิชาการไปสนับสนุนการรัฐประหารจนเกินขอบเขตที่เหมาะสม ข้อเสนอของธีรยุทธเรื่อง โครงสร้างการเมืองแบบไทย และ รัฐธรรมนูญแบบภูมิปัญญาไทย ถูกวิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่มุ่งฟื้นฟูการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยผ่านบทบาทของศาลและชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ไม่ต่างกับแนวคิด "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ที่เผด็จการทหารในช่วง 2519-2531 ใช้ในการอธิบายการเมืองไทย == ผลงานหนังสือ == แวน เดอ โพสต์, ลอเรนส์, ธีรยุทธ บุญมี [แปล]. บทเพลงปลาวาฬ. กรุงเทพฯ : วัลยา, [ม.ป.ป.]. ISBN 978-974-89060-5-8 ธีรยุทธ บุญมี. ความคิดหลังตะวันตก. กรุงเทพฯ : สายธาร, [ม.ป.ป.]. ISBN 978-974-9609-28-6 ธีรยุทธ บุญมี. ชาตินิยมและหลังชาตินิยม. กรุงเทพฯ : สายธาร, [ม.ป.ป.]. ISBN 978-974-9609-55-2 ธีรยุทธ บุญมี. สังคมเข้มแข็ง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 2536. ISBN 974-89159-1-3 ลามูร์, หลุยส์, ธีรยุทธ บุญมี [แปล]. ปรัชญาคาวบอยของหลุยส์ ลามูร์ : แผ่นดิน กาแฟ และผู้หญิง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มิ่งมิตร, 2537. ISBN 974-89203-6-4 ธีรยุทธ บุญมี. ปรัชญาแห่งความเอื้ออาทร. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วัลยา, 2537. ธีรยุทธ บุญมี. ปรัชญาแห่งการปฏิรูปการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วัลยา, 2540. ISBN 974-89498-1-8 ธีรยุทธ บุญมี. ภาพรวมการเมือง สังคม วัฒนธรรมไทย 2000. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543. ธีรยุทธ บุญมี. สายไปเสียแล้ว. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อิมเมจ, 2544. ISBN 974-88384-5-5 ธีรยุทธ บุญมี. ถอดรื้อปรัชญา และศิลปะแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2546. ISBN 974-8468-93-3 ธีรยุทธ บุญมี. พหุนิยม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546. ธีรยุทธ บุญมี. ความหลากหลายของชีวิต : ความหลากหลายทางวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2547. ISBN 974-9609-49-2 ธีรยุทธ บุญมี. ทิศทางประเทศไทย เมื่อโลกหยุดค้อมหัวให้ตะวันตก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. ISBN 974-323-242-7 ธีรยุทธ บุญมี. Road Map ประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2547. ISBN 978-974-9609-29-3 ธีรยุทธ บุญมี. การเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม การเมือง ครั้งที่ 2 ของไทย. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2548. ISBN 974-9609-63-X ธีรยุทธ บุญมี. ฝ่ากรงขังสีเทา. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2548. ISBN 978-974-9609-85-9 ธีรยุทธ บุญมี. ตุลาการภิวัฒน์. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2549. ISBN 974-288-449-8 ธีรยุทธ บุญมี. การเดินทางในจิตใจ บทตริตรองชีวิตและธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2550. ISBN 978-974-09-5451-4 ธีรยุทธ บุญมี. ขุนเขา ความงาม และมิ่งมิตร. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2550. ISBN 978-974-09-3689-3 ธีรยุทธ บุญมี. ความคิด สองทศวรรษ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. ISBN 978-974-02-0030-7 ธีรยุทธ บุญมี. ฤๅษีเลี้ยงเต่า. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2550. ISBN 978-974-7170-31-3 ธีรยุทธ บุญมี. การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์ เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2551. ISBN 978-974-518-433-6 ธีรยุทธ บุญมี. มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2551. ISBN 978-974-16-3795-9 ธีรยุทธ บุญมี. โลก Modern & Post modern. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2552. ISBN 978-974-7056-08-1 == หนังสือที่เกี่ยวกับธีรยุทธ == เริงศักดิ์ ปานเจริญ. ธีรยุทธ บุญมี กับ ณรงค์ กิตติขจร กุหลาบพันธุ์เดียวแต่ต่างสี. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จักรานุกูลการพิมพ์, 2517. == เครื่องราชอิสริยาภรณ์ == == อ้างอิง == ข้อมูลบางชีวประวัติ ประสาร มฤคพิทักษ์, เรื่องดีๆ ของคนดีๆ == แหล่งข้อมูลอื่น == "เด็กไทยมีความสามารถมากกว่าระบบ" ธีรยุทธ บุญมี คนเดือนตุลา 2516 นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ธีรยุทธ บุญมี - เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คำวิจารณ์แนวความคิดของธีรยุทธ บุญมี โดยศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คำวิจารณ์จากวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน นักเคลื่อนไหวชาวไทย นักวิชาการชาวไทย นักเขียนชาวไทย ข้าราชการพลเรือนชาวไทย อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ - มนุษยศาสตร์ นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา บุคคลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ศาสตราจารย์ บุคคลจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช. ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.
thaiwikipedia
762
สุรชัย จันทิมาธร
สุรชัย จันทิมาธร หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ หงา คาราวาน เป็นนักร้องนำและหนึ่งในผู้ก่อตั้งวงคาราวาน สุรชัยเป็นนักแต่งเพลงชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของวงการเพลงไทย ผู้คนในวงการเพลงเพื่อชีวิตมักเรียกเขาอย่างนับถือว่า น้าหงา หรือ พี่หงา และได้รับการยกย่องให้เป็น อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต และเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2553 สาขาวรรณศิลป์ == ประวัติ == สุรชัยเกิดที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2491 ในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายเขมร เป็นบุตรชายคนที่ 4 ของนายยุทธและนางเล็ก จันทิมาธร มีชื่อเล่นว่า "หงา" ซึ่งเป็นภาษาเขมรมีความหมายถึง เด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ ที่น่ารัก (มีชื่อเดิมว่า องอาจ จันทิมมาธร แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สุรชัย ตามชื่อของสุรชัย ลูกสุรินทร์ นักมวยไทยที่มีชื่อเสียงที่สุรชัยชื่นชอบ) อูซ้บ (น้าหงา บิดารับราชการเป็นครูใหญ่โรงเรียนรัตนบุรี ดังนั้นจึงเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของสุรชัยมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่เมื่อโตขึ้นมาได้เข้ากรุงเทพ ฯ เพื่อเรียนต่อในด้านศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ และได้รู้จักกับนักคิด นักเขียนคนอื่น ๆ ที่ต่อมากลายมาเป็นนักเขียนชั้นแนวหน้าคนอื่น ๆ ของประเทศ เช่น สุวรรณี สุคนธา, สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นต้น ซึ่งการเป็นนักเขียนของสุรชัยเริ่มต้นขึ้นที่นี่ ในปี พ.ศ. 2516 สุรชัยได้ร่วมกับ วีระศักดิ์ สุนทรศรี (แดง) ก่อตั้งวงท.เสนและสัญจร ขึ้น และเมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้รวมกับวงบังคลาเทศ แบนด์ ของมงคล อุทก (หว่อง) และทองกราน ทานา เปลี่ยนเป็นวงคาราวาน สุรชัยได้แต่งเพลงเพื่ออุทิศให้กับบุคคลสำคัญของไทยหลายคน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, ปรีดี พนมยงค์, สืบ นาคะเสถียร และ รงค์ วงษ์สวรรค์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา สุรชัยและพรรคพวกบางส่วนได้หลบหนีเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเฉกเช่นนักศึกษาและปัญญาชนคนอื่น ๆ โดยสุรชัยทำหน้าที่คอยให้ความบันเทิง ร้องเพลง โดยมีชื่อจัดตั้งว่า "สหายพันตา" เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง สุรชัยและพรรคพวกได้เดินทางออกจากป่า และได้แต่งเพลงซึ่งเป็นเพลงอมตะของคาราวานและสุรชัย บอกเล่าถึงสภาพจิตใจที่ออกจากป่ามาสู่เมือง คือเพลง คืนรัง ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งก่อนขึ้นแสดงดนตรีเพื่อการกุศลของยูนิเซฟ โดยใช้เวลาแต่งเพียง 5 นาที แต่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเพลงหนึ่งเลยทีเดียว ปี 2553 ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2553 สาขาวรรณศิลป์ === ชีวิตส่วนตัว === สุรชัยมีภรรยาสองคน และบุตรชาย 2 คน ภรรยาคนแรกชื่อ จิราพร จันทิมาธร มีบุตรชายคือ คณิน จันทิมาธร ส่วนภรรยาคนที่สอง พิสดา จันทิมาธร มีบุตรชายคือ พิฆเณศร์ จันทิมาธร (กันตรึม) เกิดปี พ.ศ. 2538 == ผลงานเพลง == === อัลบั้มเดี่ยว === ชุด ถนนมิตรภาพ (พ.ศ. 2527) ถนนมิตรภาพ (2:58) แดนเสรี (2:15) คนนอก (4:25) อีแหมะ (3:36) แด่เพื่อน (2:40) จากภูผาถึงทะเล (3:18) นครราชสีมา (2:06) เพลงไม่มีชื่อ (2:03) ปรีดี พนมยงค์ (3:00) ซูจัง (4:16) ความรัก (2:46) สุคนธา (3:42) ชุด ดวงดาว ดวงตา ดวงใจ (พ.ศ. 2530) ดวงดาว ดวงตา ดวงใจ (4:02) ช่างมันฉันไม่แคร์ (2:09) บางที (1:39) ACTIVE (4:57) ลอยลง (3:06) ต้นหญ้ากับสายลม (4:13) สุดขอบสายรุ้ง [สินใจ เปล่งพานิช] (2:01) ดอกไม้ให้คุณ [บรรเลง] (3:12) กาลิเลโอ (14:22) ความคับแค้น (1:07) ไหวเอน (4:23) ช่างมันฉันไม่แคร์ [Saxophone Version] (2:45) ชุด หมายเหตุจากเมืองจีน (พ.ศ. 2532) สำเริงคนดี (3:17) คืนเดือนหงาย (3:42) สร้างไพร (3:17) เกียวโต (3:26) ดอกไม้หายไป (4:04) เทียนอันเหมิน (3:55) ถั่งโถมโหมแรงไฟ [บรรเลง] (3:50) ปู่กับหลาน (3:10) ทางเปลี่ยว (3:03) ลานข้าว [แดง อินโดจีน] (3:46) ชุด ลุงไม้ไทย (พ.ศ. 2533) ใจคน (3:05) รู้ว่าเขาหลอก (3:44) คำถาม (4:02) ไหวเอน (4:53) เธอ (2:03) ลำเพลินสอนน้อง (3:37) ลุงไม้ไทย (3:58) ดวงดาว ดวงตา ดวงใจ (4:07) บ่เบี้ยบ้านไพร (3:34) ของสองฝั่ง (2:26) ตอบเดือนเพ็ญ (3:56) กระหน่ำกลองให้ก้องดังไปทั้งแผ่นดิน (3:00) ชุด ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง (พ.ศ. 2535) หาดไม้ขาว (4:13) ฝูงสุดท้าย (3:58) ใต้ร่มไม้ (3:21) เป็นอะไรที่... (3:40) จากวันนั้น (3:22) คิด (3:33) บรู๊ซ สปริงสทีน (4:54) ข้าวลาลาน (4:52) ชายคนนั้น (4:18) ให้ทั้งยวง (3:56) สาละวิน (3:54) ( อัลบั้มคู่ รักและหวัง ร่วมกับ สุนทรี เวชานนท์) (พ.ศ. 2535) คนทั่วไป (2:54) รักและหวัง (3:44) ยิ้มรับตะวัน (3:04) รำวงชาวฟ้า (4:35) น้าหงาบลูส์ (4:04) ไร้คำตอบ (3:28) พี่น้องผองเพื่อน (3:20) แด่เจ้าดอกไม้ (3:44) หนุ่มชาวดง (2:54) ที่ใจของเรา (3:01) ใกล้ตาไกลตีน (4:48) ผู้ใหญ่ลา35 (3:42) ชุด คนไม่เต็ม (พ.ศ. 2538) จากป่าเขา บุญสม (TAXI METER) หยุดก่อน ปณิธาณ คนไม่เต็ม คนเดินทาง ป่ากับเมือง อีสานกู คนล่าสัตว์ คาราวาน ชุด คาถา 2540 (พ.ศ. 2539) เจ้าควายน้อย เสียดาย 2 คนของแผ่นดิน คาถา 2540 วัฏสงสาร น้ำฝน แก่นขอน เห่... ให้ชายแดน คนอะไรไม่รู้ ระบัดไบ เล่าเพลง ชุด รักเมื่อเดือนเมษา (พ.ศ. 2540) รักเมื่อเดือนเมษา ฉันเป็นดอกไม้ ป่าตะโกน ถนนมิตรภาพ กาเหว่า ชีวิตใหม่ คัมโบเดีย แสงดาวแห่งศรัทธา หลับตาเก็บฝัน จดหมายจากชาวนา เสี่ยว ก้อนเกลือ ชุด พ่อเราอดทน (พ.ศ. 2545) เพื่อนเก่าบ้านเกิด เก็บแผ่นดิน กรรม เธอ พ่อ แม่น้ำ สืบ พายุผันคีรี ดอกไม้ ขอบคุณ ดาว สัญญาใบตอง ชุด หนังสือในชื่อเธอ (พ.ศ. 2553) "แผ่นที่ 1" ยังหนุ่ม คนเดินทาง เส้นทางเมล็ดข้าว ชาวนา แม่เรวา วันเสาร์ เยี่ยมยามถามข่าว แม่นางรัฐฉาน ปาย เพลงไม่มีชื่อ รงค์ วงษ์สวรรค์ "แผ่นที่ 2" แคน สังคีต คาวบอย ดักแด้ นกเขาขันสันติภาพ เปลี่ยนแปลง 2548 ภูมิซรอล 7 ตุลา ลูกปืน เราจะบรรลุชัย (WE SHALL OVERCOME) สันติภาพ 53 ฯลฯ === อัลบั้มภาคพิเศษ === ร่วมกับ วิสา คัญทัพ ชุด แลนด์ ออฟ สไมล์ (กำลังใจ) (พ.ศ. 2527) กำลังใจ เมื่อก่อนนี้ ร้อยบุปผา สงสารความจน ตัวใครตัวมัน ส้มตำบัณฑิต แลนด์ออฟไสมล์ ยังเหมือนเดิม จ๊อกกี้ ก็แล้วแต่ ชุด เย้ยฟ้าท้าดิน (พ.ศ. 2531) เย้ยฟ้าท้าดิน แสงดาวแห่งศรัทธา โลกวันนี้ (สปัน) พี่ชาย ลาวฝั่งซ้าย คนขายข้าว ลาถิ่นเดิม คืนฟ้าดำ ลูกผู้ชาย ข้าวขอบลาน ชุด เลี้ยวขวา (พ.ศ. 2534) เหน่อโคราช จบไม่ลง ซากุระราตรี ดั่งดวงใจ สู้ต่อไป สมศักดา คนดี วัวไม่ลืมตีน ให้เธอรู้ แม่ฮ่องสอน ไอ้ทน ชุด ศรีบูรพา (พ.ศ. 2537) ศรีบูรพา บ้านเมืองนี้ โลกวันนี้ ดอกไม้เมืองลาว เดือนแจ้งที่ฝั่งของ อุดม สีสุวรรณ เก็บรักไว้ในรัก ยิ้มยิ้มไว้ สุดใจบิน จาก ร่วมกับ สุนทรี เวชานนท์ ชุดรักและหวัง (พ.ศ. 2535) คนทั่วไป รักและหวัง ยิ้มรับตะวัน รำวงชาวฟ้า น้าหงาบลูส์ ไร้คำตอบ พี่น้องผองเพื่อน แด่เจ้าดอกไม้ หนุ่มชาวดง ที่ใจของเรา ใกล้ตาไกลตีน ผู้ใหญ่ลา35 ร่วมกับ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ชุด รัตติกาล (พ.ศ. 2537) หนาวน้ำตา รักเขาทำไม ฝันเป็นจริง เพื่อน พระตั้ง นกจากพราก เหงื่อคนแรงควาย กระเรียนเถื่อน ไหมแพรวา จ้ำจี้ ร่วมกับ ยืนยง โอภากุล ชุด สุรชัยกึ่งศตวรรษ (พ.ศ. 2541) แด่สหายพันตา - แอ๊ด คาราบาว แดดส่องหน้า ฟ้าส่องหลัง - แอ๊ด คาราบาว ลุงขี้เมา - หงา คาราวาน ถั่งโถมโหมแรงไฟ - แอ๊ด คาราบาว หน่อไม้บ่ใส่เกลือ - มงคล อุทก ทะเลใจ - หงา คาราวาน อานนท์ - แอ๊ด คาราบาว บิ๊กสุ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ดอกไม้ให้คุณ - แอ๊ด คาราบาว สุรชัย 3 ช่า - แอ๊ด คาราบาว & หงา คาราวาน ร่วมกับ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ชุด อคูสติกคอนเสิร์ตนี้ไม่มีเหงา (6 เมษายน พ.ศ. 2534) แผ่นที่ 1 พเนจร - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ฉันคือประชาชน - หงา คาราวาน ตลอดเวลา - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ตาคำ - หงา คาราวาน หนุ่มพเนจร - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ลิง - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คนจร - หงา คาราวาน บ่เบี้ย - หงา คาราวาน ถึงเพื่อน - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ & หงา คาราวาน แผ่นที่ 2 ความรัก - หงา คาราวาน ช่างมันฉันไม่แคร์ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ & หงา คาราวาน เปิบข้าว - หงา คาราวาน เรียนและงาน - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ลูกอีสาน - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ค่ำลง - หงา คาราวาน เหงา - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ สัตว์รักสัตว์ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คืนรัง - หงา คาราวาน & พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ถั่งโถมโหมแรงไฟ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ชุด คอนเสิร์ต 3 ตำนานเพื่อชีวิต ร่วมกับ ยืนยง โอภากุล (26 กันยายน พ.ศ. 2541) แผ่นที่ 1 OVERGER คนกับควาย - หงา คาราวาน ฉานสเตท - แอ๊ด คาราบาว หนุ่มน้อย - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ดวงจำปา (ประเทศลาว ต้นฉบับ) - หงา คาราวาน & พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เราและเธอ - หงา คาราวาน & พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เห่ไห้ชายแดน - หงา คาราวาน เรฟูจี - แอ๊ด คาราบาว กัมพูชา - แอ๊ด คาราบาว เมด อิน ไทยแลนด์ - แอ๊ด คาราบาว ถึงเพื่อน - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ 6 ตุลาคม 2519 - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ บ้าน - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ถั่งโถมโหมแรงไฟ - หงา คาราวาน คนตีเหล็ก - หงา คาราวาน เจ้าตาก - แอ๊ด คาราบาว แผ่นที่ 2 จิตร ภูมิศักดิ์ - หงา คาราวาน & แอ๊ด คาราบาว & พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ TALKING SONG - หงา คาราวาน ไถ่เธอคืนมา - หงา คาราวาน ตะวันชิงพลบ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ สุดใจ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ตลอดเวลา - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ Ft. ฤทธิพร อินสว่าง , ศุ บุญเลี้ยง ปรีดี พนมยงค์ - หงา คาราวาน อองซานซูจี - แอ๊ด คาราบาว อังกอร์วัด - แอ๊ด คาราบาว กอทูเล - แอ๊ด คาราบาว แด่สหายพันตา - แอ๊ด คาราบาว & พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คาราวาน - หงา คาราวาน สันติภาพ - หงา คาราวาน & แอ๊ด คาราบาว & พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ แสงดาวแห่งศรัทธา - หงา คาราวาน & แอ๊ด คาราบาว & พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ชุด คอนเสิร์ต 3 ตำนานเพื่อชีวิต คอนเสิร์ตดนตรีสานใจ... นำนักกีฬาไทยไปโอลิมปิก ร่วมกับ คาราบาว (24 มีนาคม พ.ศ. 2555) ชุด วันพัก...เพลงชีวิต 1-2 ร่วมกับ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (พ.ศ. 2547) วันพัก...เพลงชีวิต ชุดที่ 1 สันติภาพ - หงา คาราวาน วันเวลา - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ถึงเพื่อน - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คนตีเหล็ก - หงา คาราวาน แม่ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ขอบฟ้า - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ตลอดเวลา - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ฉันเป็นดอกไม้ - หงา คาราวาน แค่นั้น - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เจ้าสาวผีเสื้อ - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ จำปาตีนโต - หงา คาราวาน ต้นขับขี่ - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ วันพัก...เพลงชีวิต ชุดที่ 2 คาราวาน - หงา คาราวาน ตังเก - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หนุ่มพเนจร - หงา คาราวาน คิดถึงบ้าน - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ไถ่เธอคืนมา - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ถามยาย - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ดอกไม้ให้คุณ - หงา คาราวาน มาตามสัญญา - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คิดถึง - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ฮิโรชิมา - หงา คาราวาน ลำตะคอง - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ฝนจางนางหาย - พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ชุด พระเจ้าหัวฟู (พ.ศ. 2564) พระเจ้าหัวฟู - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คาราวาน - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ จิตร ภูมิศักดิ์ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, หงา คาราวาน, แอ๊ด คาราบาว ความรัก - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, ลีเดีย ศรัณย์รัชต์ แค่เจ้าดอกไม้ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คนอะไรไม่รู้ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ บ่เปี้ยบ้านไพร - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, หงา คาราวาน คนนอกคอก - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เจ้าควายน้อย - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ พิณ พนมไพร - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, หงา คาราวาน, แอ๊ด คาราบาว, เล็ก คาราบาว ถนนมิตรภาพ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ช่างมันฉันไม่แคร์ - พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, เล็ก คาราบาว ร่วมกับ แฮมเมอร์ ชุด 2 ขุนพลเพลงเพื่อชีวิต (พ.ศ. 2553) เรารักพระเจ้าอยู่หัว ปักษ์ใต้รูเมาะฮ์กีตอ ปักษ์ใต้บ้านเรา กาเซะตาเนาะไอย์ รักบ้านเกิด กรุงเทพฯ จากใจกลุ่มตานี เราเป็นอิสลาม รักไทยนิยมไทย บินหลา ที่นี่ไม่มีครู ข้ามาคนเดียว แม่ สะตอ นาแล้ง ชาวนา ผีเสื้อ บุษบาขายถ่าน ของขวัญ แผ่นนี้คือไทย ร่วมกับ มงคล อุทก, วิสา คัญทัพ, ปิยะ ตระกูลราษฎร์ ชุด 4 ล้อเลี้ยวซ้าย (พ.ศ. 2534) ยืมเขามายืด ลูกทุ่ง ติดลม หัวอกจราจร อยู่ดีกว่าตาย กำลังใจ คนนอกสังคม หนึ่งปีที่ทรมาณ หนุ่มสุพรรณฝันเพ้อ ความในใจ ร่วมกับ มงคล อุทก, วิสา คัญทัพ, เพชร พนมรุ้ง ชุด คาวบอย 2 แผ่นดิน (พ.ศ. 2536) หนาวหมอก ลูกทุ่งเสียงทอง สวรรค์บ้านนอก สวรรค์ชาวนา เมื่อฉันขาดเธอ เชียวขวาง ชมหมู่ไม้ กุหลาบปากซัน ซังคนหลายใจ ชาวดง ร่วมกับ วสุ ห้าวหาญ ''ชุด ร้องเพลง วสุ ห้าวหาญ (พ.ศ. 2557) สิงห์ ตจว. คนมีเมียน้อย อย่ารักพี่เลย วงเวียนวีรชน ฉันและเธอที่โรงงานชานเมือง นักสู้จากอีสาน คิดฮอด เพียรคิดถึงเธอ เจ้าหญิงทิชชู่ รักอีกแล้วเหรอ == อัลบั้มอื่น ๆ == Soundtrack กว่าดอกรักจะบาน ยอดหญ้าไหว + ที่ดอยวาว (Bootleg) ชีวิตและความหวัง + ชีวิตและความรัก ลูกทุ่งเพื่อชีวิต 1-2 Never Die ร่วมกับ แฮมเมอร์ รวมเพลงประกอบภาพยนตร์ ของ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ดีที่สุด ตำนานคนจร บทเพลงเถื่อนเถื่อน ใต้ท็อปบู๊ด อคูสติก 1 == อัลบั้มรวมเพลง == กำไรชีวิต 1 (2534) รวมเพลงเพื่อชีวิต สุรชัย-มงคล-พงษ์เทพ-ฅาราวาน (2535) ผูกพัน (2536) - จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส บทเพลงจากภูผา (2536) หมายเหตุประเทศไทย (2536) ภูผา รำลีก (2537) (ภายหลังได้มีการเปลี่ยนปกใหม่ พร้อมชื่อใหม่เป็น "บทเพลงจากภูผา ฝากใจสู่นาคร ดาวแดงแห่งภูพาน) น้ำใจพี่น้องผองเพื่อน ประเสริฐ จันดำ (2538) กวี 4 ด้าน (2538) เพื่อชีวิตร้องลูกทุ่ง (2539) ตนเพลง รวมยอดเพลงเพื่อชีวิต 1-4 (2539) ป่าตะโกน (2539) - จัดทำขึ้นเพื่อรักษา ป่าใหญ่ สานใยชีวิต ตุลาธาร (2540) - จัดทำขึ้นเพื่อรำลึก 25 ปี 14 ตุลา 12 ชีวิต หัวใจสัมพันธ์ (2540) 12 คน 12 แบบ ทั้งแสบทั้งคัน (2541) เหมันต์สะออน (2541) เพื่อชีวิตพันล้าน (2541) เสรีภาพ (2541) - จัดทำขึ้นเพื่อสมทบทุนสร้างอนุสรณ์สถาน14 ตุลาคม ฅ.ฅนดนตรี 1-2 (2541) ตนเพลง รวมยอดเพลงเพื่อชีวิต 5-6 (2541) 13 ชีวัน มันกว่ากันเยอะ (2542) ตำนานหัวใจสีขาว ชุดที่ 1 (2542) - จัดทำขึ้นเพื่อโครงการหัวใจสีขาว (หยุดเอดส์) โดยรายได้ทั้งหมดมอบให้มูลนิธิธรรมรักษ์ บ้านพักผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายในประเทศไทย เพลงหนังข้างถนน (2543) สะใจคอเพลง (2544) ตุลาอาลัย (2544) เพื่อรักเพื่อชีวิต (2545) กองไฟในสายฝน (2545) เพื่อชีวิต ใจเกินร้อย 2 (2545) เพื่อชีวิตท็อปดาวน์โหลด (2546) รวมบทเพลง ตะวันแดง 2003 (2546) รวมฮิต ค.เพื่อชีวิต ตะวันแดง 2003 (2546) ประวัติศาสตร์ - 12 ขุนพล ฅ. เพื่อชีวิต (2546) หลวงตามหาบัว มหัศจรรย์มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ (2546) - จัดทำขึ้นเพื่อจารึกหลวงตาช่วยชาติ ตำนานประชาธิปไตย (2546) เพลงเฉลิมพระเกียรติองค์ราชา (2548) - จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซับน้ำตาอันดามัน (2548) - จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์ สึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ 3 ช่าแดนซ์ (2549) โรงเรียนเพื่อชีวิต (2549) ร่วมพลิกชะตากรรมชาติ อ่าน คิด ลงประชามติ รธน. (2550) - จัดทำขึ้นโดย คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ในคณะกรรมการอำนวยการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฯ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มนต์เพลงคาราบาว (2550) บันทึกประวัติศาสตร์เพลงชีวิต พันธมิตรประชาธิปไตย (2551) - จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนกองทุนเพลงกู้ชาติ เพลงชีวิตกินใจ (2553) สามช่าเพลงชีวิต (2553) แสงดาวแห่งศรัทธา (2553) - จัดทำขึ้นเพื่อมูลนิธิ มิตรภาพบำบัด เป็นมูลนิธิที่ทำหน้าที่สืบสานเจตนารมณ์ในการสร้างเครือข่ายจิตอาสา เรื่องเล่า นี่แหละทางรอด โดย สัญญลักษณ์ เทียมถนอน (2553) - จัดทำโดย บริษัท ปตท. จำกัด 3 ช่า สามัคคี (2554) ทองผืนเดียวกัน (2554) - จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบในปี 2554 โดยรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชอัธยาศัย 3 ตำนานเพื่อชีวิต (2555) รำลึก 15 สีบสาน 20 ปี วีรชนพฤษภา 35 (2555) - จัดทำขึ้นเพื่อคารวะวีรชนพฤษภา 35 เพื่อชีวิตฮิตเกินร้อย (2556) 7+1 (เจ็ดบวกหนึ่ง) (2556) ขึ้นหิ้ง (2557) เพื่อชีวิตฮิตซึ้ง ๆ (2557) 3 ตำนานดนตรีเพื่อชีวิต (2557) เพื่อชีวิตฮิตตลอดกาล 1-2 (2557) ลูกทุ่งเพื่อชีวิตฮิตมาราธอน ชุด 3 (2557) หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ (2557) 9 ปี ถนนดนตรี 92.5 FM RADIO THAILAND (2558) - จัดทำขึ้นเพื่อร่วมก่อตั้งกองทุนศิลปินเพื่อชีวิต 20 ปี โลโซ เราและนาย (2559) บนเส้นทางกลับบ้าน (2559) เพื่อชีวิตฮิตเต็มร้อย (2561) ปรัชญา จิตวิญญาณ ตำนานเพื่อชีวิต (2561) เอฟซีลุงพล (2563) - จัดทำขึ้นเพื่อกล่าวขอขอบคุณลุงพล หัวใจเพื่อชีวิต (2563) == ศิลปินรับเชิญในอัลบั้ม == เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง ร้อยห้า ในอัลบั้ม มันดี ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (2529) เป็นนักร้องประสานเสียงในอัลบั้มรวมเพลงจากชุด 1, 2, 3, 4 ของ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (2530) เล่นอคูสติกกีตาร์และนักร้องรับเชิญในเพลง น้ำใต้น้ำตา ในอัลบั้ม คนไร้ราก ของ มงคล อุทก (2532) เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง สุรชัย 3 ซ่า และ พลจันทรเดือนเพ็ญ ในอัลบั้ม ทำมือ ของ แอ๊ด คาราบาว (2532) เล่นกีตาร์และนักร้องรับเชิญในเพลง ช่างมันฉันไม่แคร์, นักร้องรับเชิญในเพลง อยู่บนดิน ในอัลบั้ม เสือตัวที่ 11 ของ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (2533) เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง เหล้าจ๋า ในอัลบั้ม ก้นบึ้ง ของ แอ๊ด คาราบาว (2533) เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง คำสัญญา และ เล่นกีตาร์ในเพลง สาละวินสันติภาพ ในอัลบั้ม เขาพระวิหาร ของ อินโดจีน (2534) เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง คนไทย ในอัลบั้ม เราคนไทย ของ เล็ก คาราบาว (2534) เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง แด่เดือนเพ็ญ ในอัลบั้ม จำได้เสมอ ของ โฮป (2536) เล่นกีตาร์โซโล่ในเพลง พ่อเป็นกรรมกร ในอัลบั้ม ใจเกินร้อย ของ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (2540) เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง กำลังใจ ร่วมกับ สมเกียรติ อริยะชัยพานิชย์ ในอัลบั้ม Bakery Rare Grooves 2 ของ รวมศิลปิน (2541) เป็นนักร้องประสานเสียงในเพลง ฉันเลือกเอง ในอัลบั้ม ปีนปายสายรุ้ง ของ สุเทพ โฮป (2543) เป็นนักร้องรับเชิญในเพลง อยากไปบอลโลก ในอัลบั้ม สามัญชน ของ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (2546) == ผลงานหนังสือ == เรื่องสั้น : "มาจากที่ราบสูง", "เดินไปสู่หนไหน", "ความบ้ามาเยือน", "ข้างถนน" และรวมเล่มเป็น "ก่อนเคลื่อนคาราวาน" รวมเรื่องสั้น : "ดวงตะวันสีแดง", "ดอกอะไรก็ไม่รู้" (รวมเรื่องสั้นคัดสรรเน้นฉากเมือง) บทกวี : "จารึกบนหนังเสือ", "เมดอินเจแปน" และ "เนื้อนัย (เพลง) " นวนิยายเล่มเดียว : "ก่อนฟ้าสาง" บันทึกและความเรียง : "จากราวไพร สู่ป่าคอนกรีต", "คือคนลำเค็ญ ดนตรีคาราวาน" และ "ผ่านตา พันใจ" ผลงานเพลงเด่น ๆ : "กุลา", "สานแสงทอง", "คนกับควาย" (สมคิด สิงสง, วิสา คัญทัพ), เปิบข้าว (จิตร ภูมิศักดิ์), "นกสีเหลือง" (วินัย อุกฤษณ์), "ความแค้นของแม่", "บ้านนาสะเทือน", "คนตีเหล็ก", "ดอกไม้ให้คุณ" ===ผลงานเพลงที่กล่าวถึงศิลปินท่านอื่นๆ === เพลง สุรชัย จันทิมาธร ร้องโดย พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, ประทีป ขจัดพาล แต่งขึ้นเพื่อเป็นการเคารพต่อศิลปินรุ่นพี่อย่าง สุรชัย จันทิมาธร ในงานคอนเสิร์ต "40 ปี มิตรภาพบนถนนดนตรี สุรชัย จันทิมาธร" และ คอนเสิร์ต "60 ปี วีรชนคนกล้า" เพลง พระเจ้าหัวฟู ร้องโดย พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เป็นบทเพลงที่กล่าวถึงศิลปินรุ่นพี่ โดยมีเนื้อร้องอยู่ท่อนหนึ่งที่กล่าวถึงชื่อของ สุรชัย จันทิมาธร และบรรจุอยู่ในอัลบั้มพิเศษ "พระเจ้าหัวฟู" == คอนเสิร์ต == คอนเสิร์ต เวลคัม ทู อิสานเขียว (27 ธันวาคม 2530) คอนเสิร์ต ปิด-เปิด สัญญา (7 พฤศจิกายน 2535) อคูสติกคอนเสิร์ต อันปลั๊ก (ปลั๊กหลุด) (สิงหาคม 2536) คอนเสิร์ต Live On The Road หงา คาราวาน บทเพลงสัญจร (2536) กระทิง คอนเสิร์ต เขาใหญ่ มหกรรมคอนเสิร์ตเพลงเพื่อชีวิต (23 ตุลาคม 2536) อคูสติกคอนเสิร์ต ดนตรี กลางแจ้ง ผ้าแดง และคำภีร์ (25 พฤศจิกายน 2537) คอนเสิร์ต รวมนํ้าใจศิลปินเพื่อชีวิต แต่มิตร ประเสริฐ จันดำ (22 กันยายน 2538) คอนเสิร์ต ดิน น้ำ ลม ไฟ (3 ธันวาคม 2538) คอนเสิร์ต สืบภู สืบไพร สืบใจ (3 กันยายน 2539) อคูสติกคอนเสิร์ต ให้กันและกัน (1-8 พฤศจิกายน 2540) คอนเสิร์ต 30 ปี สุรพล สมบัติเจริญ (21 สิงหาคม 2541) คอนเสิร์ต โครงการ หัวใจสีขาว (3 พฤศจิกายน 2542) คอนเสิร์ต 10 ฅนดนตรี 10 ปี สืบ นาคะเสถียร (3 กันยายน 2543) คอนเสิร์ต จากภูผาถึงทะเล (2544) คอนเสิร์ต ดนตรีในสวนปีที่ 8 สมัยกาลดนตรีไทย (11 มีนาคม 2544) คอนเสิร์ต ปันศรัทธาและอาทร (2545) คอนเสิร์ต หมูกับหงาเพื่อป่าชุมชน (9 มิถุนายน 2545) คอนเสิร์ต ถูกใจคนไทย ร่วมใช้สินค้าถูกกฎหมาย (18 สิงหาคม 2545) คอนเสิร์ต สร้างไพร (1 กันยายน 2545) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 8 (8 ตุลาคม 2545) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 9 (5 เมษายน 2546) คอนเสิร์ต 30 ปี หงา คาราวาน (21 มิถุนายน 2546) คอนเสิร์ต The Duet เพื่อชีวิต of Love (22 พฤศจิกายน 2546) คอนเสิร์ต ดนตรีในสวน ปีที่ 11 สมัยกาลดนตรีไทย (16 กุมภาพันธ์ 2547) คอนเสิร์ตเพื่อช้าง (24 กันยายน 2547) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 10 (11 ธันวาคม 2547) คอนเสิร์ต ดนตรีในสวนปีที่ 12 สมัยกาลดนตรีไทย (7 กุมภาพันธ์ 2548) คอนเสิร์ต 30 ปี ประชาธิปไตย (กันยายน 2548) คอนเสิร์ต สายน้ำ ตำนาน คาราวาน และดวงดาว (5 พฤษภาคม 2549) คอนเสิร์ต 19 เข้า 20 "เสือออกลาย" (22 กรกฎาคม 2549) คอนเสิร์ต เดือนหงายกลางป่า (2 กันยายน 2549) คอนเสิร์ต เอาประเทศไทยของเราคืนมา (19 กันยายน 2549) คอนเสิร์ต สายน้ำ สามัญชน (30 กันยายน 2549) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 3 (21 มกราคม 2550) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 1 (28 เมษายน 2550) คอนเสิร์ต รวมพลัง คนไทยทั้งแผ่นดิน (23 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2550) คอนเสิร์ต เพื่อนช่วยเพื่อน แด่โฆษกคนยาก (8 กรกฏาคม 2550) คอนเสิร์ต มนต์เพลงคาราบาว (7 กรกฎาคม 2550) คอนเสิร์ต พันธมิตรประชาธิปไตย (22 ธันวาคม 2550) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 11 (26 ธันวาคม 2550) คอนเสิร์ต เพื่อชีวิต Freedom Romantic For Life Concert (21 มกราคม 2551) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 2 (15 มีนาคม 2551) คอนเสิร์ต 60 ปี วีรชนคนกล้า (29 เมษายน 2551) คอนเสิร์ต ศิลปะ ดนตรี กวี ขา (13 กรกฎาคม 2551) คอนเสิร์ต แด่คนช่างฝัน (13 กันยายน 2551) คอนเสิร์ต ฮักเสี่ยว (22 พฤศจิกายน 2551) คอนเสิร์ต Road To Country Carabao & Friends (29 พฤศจิกายน 2551) คอนเสิร์ต รักบ้านเกิด เพื่อการศึกษา จากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง (ธันวาคม 2551) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 12 (12 ธันวาคม 2551) คอนเสิร์ต กระทิงดนตรีเพื่อสัตว์ป่าคู่พงไพร ครั้งที่ 5 (24 มกราคม 2552) คอนเสิร์ต พันธ์เล (22 สิงหาคม 2552) คอนเสิร์ต คาราบาว 3 ช่า สามัคคี ตอน ลูกทุ่งแฟนเทเชีย (31 พฤษภาคม 2552) คอนเสิร์ต หงา คาราวาน เพื่อโรงเรียนบ้านดอยช้าง (29 ธันวาคม 2552) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 13 (30 มกราคม 2553) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อชีวิตและธรรมชาติ ครั้งที่ 14 (23 มกราคม 2553) คอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 1 (6 กุมภาพันธ์ 2553) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 3 (14 มีนาคม 2553) คอนเสิร์ต อยู่อย่างสิงห์ (20 เมษายน 2553) คอนเสิร์ต จุดประกายครั้งที่ 40 ฅนนอกคอก (15 สิงหาคม 2553) คอนเสิร์ต 20 ปี สืบ นาคะเสถียร (19 กันยายน 2553) คอนเสิร์ต แสงดาวแห่งศรัทธา (25 กันยายน 2553) คอนเสิร์ต รักษ์เภตรา ตะรุเตา (27 กันยายน 2553) คอนเสิร์ต ดนตรี กวี ชีวิต เพื่อน้าหว่อง (5 ตุลาคม 2553) คอนเสิร์ต รวมใจเพื่อ หว่อง คาราวาน (12 ตุลาคม 2553) คอนเสิร์ต 40 ปี the legend of the guitar (20 - 21 พฤศจิกายน 2553) คอนเสิร์ต 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน (19 ธันวาคม 2553) คอนเสิร์ต ปายปิ่นโต (25 ธันวาคม 2553) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 15 (19 กุมภาพันธ์ 2554) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 4 (19 มีนาคม 2554) คอนเสิร์ต คิดดี..ทำดี ครั้งที่ 1 (4 มิถุนายน 2554) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 5 (17 มีนาคม 2555) อคูสติกคอนเสิร์ต การเดินทาง ของ หงา คาราวาน (31 มีนาคม 2555) คอนเสิร์ต คืนให้แผ่นดินเกิด สานฝันสู่สันติสุข 2 (28 เมษายน 2555) คอนเสิร์ต 80 ปี รงค์ วงษ์สวรรค์ (20 พฤษภาคม 2555) คอนเสิร์ต เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อ ดอน สอนระเบียบ (23 มิถุนายน 2555) คอนเสิร์ต 35 ปี จรัล มโนเพ็ชร (19 ตุลาคม 2555) คอนเสิร์ต หัวใจเพื่อชีวิต 25 ปี พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ รักกัน…ตลอดเวลา (15 ธันวาคม 2555) คอนเสิร์ต มหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต ครั้งที่ 16 (12 มกราคม 2556) คอนเสิร์ต รำลึก แดง อินโดจีน (24 มกราคม 2556) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 6 (16 มีนาคม 2556) คอนเสิร์ต อัศจรรย์เพลงพิณ เส้นสายลายศิลป์ กับ มงคล อุทก (16 มีนาคม 2556) คอนเสิร์ต เพื่อเพื่อน For Friends (20 มีนาคม 2556) คอนเสิร์ต 25 ปี พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (มีหวัง) (31 มีนาคม 2556) คอนเสิร์ต 60 ปี สัญญาหน้าฝน (5 พฤษภาคม 2556) คอนเสิร์ต รำลึก สุดใจ คำภีร์ (18 มิถุนายน 2556) คอนเสิร์ต 40 ปี มิตรภาพบนถนนดนตรี สุรชัย จันทิมาธร (13 กรกฎาคม 2556) คอนเสิร์ต 60 ปี ชีวิตละคร นพพล โกมารชุน (2 พฤศจิกายน 2556) คอนเสิร์ต หนึ่งก้าว 60 พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ (3 พฤศจิกายน 2556) คอนเสิร์ต ฟาร์ม เฟสติวัล ออน เดอะฮิลล์ ปีที่ 2 (14 พฤศจิกายน 2556) คอนเสิร์ต เทศกาลศิลปะน่าน ตอน น่าน เนิบ เนิบ (23 กุมภาพันธ์ 2557) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 7 (2 มีนาคม 2557) คอนเสิร์ต คิดดี..ทำดี ครั้งที่ 2 (8 มีนาคม 2557) คอนเสิร์ต แลชีวิต..เพื่อเด็กด้อยโอกาส (7 มิถุนายน 2557) คอนเสิร์ต ป่าตะโกน เพื่อผืนป่าตะวันตก (21 สิงหาคม 2557) คอนเสิร์ต รำลึก 24 ปี สืบ นาคะเสถียร (31 สิงหาคม 2557) คอนเสิร์ต Cambodia Bigband (26 - 27 กันยายน 2557) คอนเสิร์ต เพลงนี้ เพลงเรา ธรรมศาสตร์ พวกเราเจ้าของ (13 ธันวาคม 2557) คอนเสิร์ต คืนรัง (20 ธันวาคม 2557) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 8 (7 มีนาคม 2558) คอนเสิร์ต วง 2 สไตล์ (4 สิงหาคม 2558) คอนเสิร์ต รักษ์ทะเล (9 ตุลาคม 2558) คอนเสิร์ต คืนรัง 2 (6 ธันวาคม 2558) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 9 (5 มีนาคม 2559) คอนเสิร์ต Kbank แก๊ง 3 ช่า VS คาราบาว เฟสติวัล ลูกสิงหราช LAEMSING FESTIVAL SONGKRAN (9 เมษายน 2559) คอนเสิร์ต เพื่อชีวิต แถวหน้า (29 เมษายน 2559) คอนเสิร์ต คนจรย้อนเรื่อง (23 กรกฎาคม 2559) คอนเสิร์ต เพื่อเพื่อน อมตะ (ตาผุยชุมแพ) (27 กรกฎาคม 2559) คอนเสิร์ต 35 ปี คาราบาว (27 สิงหาคม 2559) คอนเสิร์ต พอดีงาม ภาพและเพลงโดย มงคล อุทก และ เพื่อน (10 ธันวาคม 2559) คอนเสิร์ต The Duet เพื่อชีวิต Concert (23 มกราคม 2560) คอนเสิร์ต คิดแล้ว ต้องทำ (3 กุมภาพันธ์ 2560) คอนเสิร์ต ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ (7 กุมภาพันธ์ 2560) คอนเสิร์ต คืนรัง 3 (25-26 กุมภาพันธ์ 2560) คอนเสิร์ต ฅนนอกคอก (มีนาคม 2560) คอนเสิร์ต มันส์เพื่อพี่ มันนี่เพื่อน้อง (15 มีนาคม 2560) คอนเสิร์ต ตำนานเพลงเพื่อชีวิต (14 เมษายน 2560) คอนเสิร์ต 30 ปี คำภีร์ (7 พฤษภาคม 2560) คอนเสิร์ต เพลงรักเพลงชีวิต Song For Life (13 พฤษภาคม 2560) คอนเสิร์ต ผืนป่าสะท้าน บ้านนาสะเทือน (12 สิงหาคม 2560) คอนเสิร์ต สุเทพโชว์ The Unforgettable (19 สิงหาคม 2560) คอนเสิร์ต คาราวาน บัลลาดแอนด์บลูส์ (31 สิงหาคม 2560) คอนเสิร์ต คืนรัง กับ มาตามสัญญา (2 กันยายน 2560) คอนเสิร์ต คำภีร์ 30 ปี แกเพื่อนฉัน (9 กันยายน 2560) คอนเสิร์ต ดนตรีในสวน (1 ตุลาคม 2560) คอนเสิร์ต เมล็ดพันธุ์ของพ่อ (19 พฤศจิกายน 2560) คอนเสิร์ต หนองย่างเสือ เฟสติวัล 2017 (1 ธันวาคม 2560) คอนเสิร์ต โรฮิงญา (19 ธันวาคม 2560) คอนเสิร์ต เพื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไว้ให้ลูกหลาน (11 มกราคม 2561) คอนเสิร์ต คืนรัง 4 (20 มกราคม 2561) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 10 (10 มีนาคม 2561) คอนเสิร์ต เพื่อผู้พิทักษ์ป้า (19 มีนาคม 2561) คอนเสิร์ต เสียงจากป่าตะวันตก (19 เมษายน 2561) คอนเสิร์ต ฉันคือเธอ - I am You (12 พฤษภาคม 2561) คอนเสิร์ต 101 ปี ชาตกาล (31 พฤษภาคม 2561) คอนเสิร์ต รวมนํ้าใจเพื่อผู้อยากไร้ (8 มิถุนายน 2561) คอนเสิร์ต จากภูผาถึงทะเล (25 สิงหาคม 2561) คอนเสิร์ต รำลึก มงคล อุทก (22 กันยายน 2561) คอนเสิร์ต เพื่อนพิณเพลงพนมไพร (24 กันยายน 2561) คอนเสิร์ต สหาย (10 พฤศจิกายน 2561) คอนเสิร์ต วิถี 70 ปี หงา คาราวาน กับเพื่อนฮักแพง (15 พฤศจิกายน 2561) คอนเสิร์ต ศิลปส่องทางกัน : 72 ปี นิวัติ กองเพียร (8 ธันวาคม 2561) คอนเสิร์ต history festival 2018 (23 ธันวาคม 2561) คอนเสิร์ต ชีวิตสัมพันธ์ Rock On The Beach (11 มกราคม 2562) คอนเสิร์ต ดอกไม้ใต้หญ้า (13 มกราคม 2562) คอนเสิร์ต คืนรัง 5 (19 มกราคม 2562) คอนเสิร์ต คิดแล้ว ต้องทำ 2 (29 มิถุนายน 2562) คอนเสิร์ต คิดถีงหว่อง (14 กันยายน 2562) คอนเสิร์ต คืนฟื้นสุข 2 (10 พฤศจิกายน 2562) คอนเสิร์ต สหาย 2 (16 พฤศจิกายน 2562) คอนเสิร์ต คืนรัง 6 (17 มกราคม 2563) คอนเสิร์ต ลมทวน (25 มกราคม 2563) คอนเสิร์ต ผาดำ ครั้งที่ 11 (27 มีนาคม 2563) คอนเสิร์ต รำลึก เจตจันทร์ อังกุลดี (8 กันยายน 2563) คอนเสิร์ต คิดถึงหว่อง 2 (21 พฤศจิกายน 2563) คอนเสิร์ต เพื่อแม่ (19 มีนาคม 2564) คอนเสิร์ต รำลึก แดง คาราวาน (22 ธันวาคม 2564) คอนเสิร์ต หมายเหตุจากหมู่บ้าน กาลครึ่งหนึ่ง ของ สุรชัย จันทิมาธร (19 มีนาคม 2565) คอนเสิร์ต ขึ้นหิ้ง (12 มีนาคม 2565) คอนเสิร์ต สายธารกาลเวลา (29 พฤษภาคม 2565) คอนเสิร์ต Galileo Revival (4 มิถุนายน 2565) คอนเสิร์ต pazan camping ep 2 (25 มิถุนายน 2565) คอนเสิร์ต ขุนพิณในดวงใจ (10 กันยายน 2565) คอนเสิร์ต รำลึก 32 ปี สีบ นาคะเสถียร (2 - 3 กันยายน 2565) คอนเสิร์ต มีชื่อโฟล์คเฟสติวัล 3 (4 พฤศจิกายน 2565) คอนเสิร์ต Green Music 2023 (12 กุมภาพันธ์ 2566) คอนเสิร์ต 75 บริบูรณ์ สุรชัย จันทิมาธร (7 พฤษภาคม 2566) == ผลงานการแสดง == ทองปาน (2519) รับบท นักดนตรี เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ (2528) รับบท หงา ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529) รับบท หงา ตะกายดาว (2533) ช่อง 9 เสือ โจรพันธุ์เสือ (2541) รับบท เสือพาน พ่อ ตอน ความฝันอันสูงสุด (2542) ช่อง 5 รับบท หงา สุริโยไท (2544) รับบท เฒ่านก เก็บแผ่นดิน (2544) ช่อง 7 รับบท พ่อเฒ่า รับเชิญ น้ำพุ (2545) ช่อง 7 รับเชิญ ป่าโหดคนพันธุ์ดุ (2547) บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม (2547) รับบท ท่านโชติ เพชรพันธการ (พ่อของชายชล) อสูรสาว (2549) รับบท พรานหงา แคนลำโขง (2549) ช่อง 7 รับเชิญ องค์บาก 2 (2551) รับบท ครูระเบิด ตู้ม คู่กรรม (2556) รับบท ตาผล รับเชิญ พันท้ายนรสิงห์ (2558) รับบท เฒ่าอ่ำ กรุงเทพราตรี Bangkok nites (2561) คืนรัง (2562) รับบท เจ้าพ่อหงา เก็บแผ่นดิน (2565) รับบท พ่อเฒ่า == ผลงานการประพันธ์เพลง == ใต้ต้นสะแบง - ศิริพร อำไพพงษ์ ประพนธ์ - วิสา คัญทัพ กระเป๋าเดินทาง - จั๊กจั่น วันวิสา รักคือความเปลี่ยนแปลง - เสถียร ทำมือ คน คน - ชัคกี้ ธัญญรัตน์ ตุลา - มงคล อุทก ชาวกรุง'85 - ชัคกี้ ธัญญรัตน์ ร่องรอยและเส้นทาง - อู๋ ธรรพ์ณธร มาลี - ชัคกี้ ธัญญรัตน์ กิน - มงคล อุทก รั้ว - ชัคกี้ ธัญญรัตน์ ลูกราบสูง - อินโดจีน เงาร้าย - ชัคกี้ ธัญญรัตน์ == เพลงพิเศษ == เพลง ขวานไทยใจหนื่งเดียว (2547) - จัดทำขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยมีความรักสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพลง 193 วันรำลึก (2552) เพลง ต้องกล้า คนหัวใจสิงห์ (2553) - จัดทำขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่คนในสังคมให้กล้าที่จะเอาชนะอุปสรรคสำคัญ คือ การชนะใจตนเอง เพลง ครองแผ่นดินโดยธรรม (2554) - จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลง ไทยแลนด์โอลิมปิก ร่วมกับ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ และ แอ๊ด คาราบาว (2555) - เนื้อหาเกี่ยวกับการส่งแรงใจให้นักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 30 “ลอนดอนเกมส์ 2012” == รายการ == ต้องกล้า ตอน ผู้จัดการทีมฟุตบอลอาชีพ หนองคาย เอฟที (17 พฤศจิกายน 2553) โจ๊กตัดโจ๊ก ตันฉบับสลับเพลง (30 เมษายน 2566) ในเพลง ไม่ต้องมีคำบรรยาย (ต้นฉบับจาก ต้าร์ มิสเตอร์ทีม) == รางวัล == รางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบสำหรับศิลปิน นักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่ามีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง มาทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2531 ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2553 สาขาวรรณศิลป์ รางวัลเมขลา ครั้งที่ 24 รางวัลศิลปิน เพลงเพื่อชีวิต มณีเมขลาดีเด่นยอดนิยม ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พ.ศ. 2554 == เครื่องราชอิสริยาภรณ์ == พ.ศ. 2554 80px เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.) == อ้างอิง == สูจิบัตรคอนเสิร์ต 30 ปี หงา คาราวาน (14 มิถุนายน พ.ศ. 2546-หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) == แหล่งข้อมูลอื่น == ฟังเพลงคืนรัง - หงา คาราวาน บุคคลจากอำเภอรัตนบุรี สุรชัย จันทิมาธร นักร้องชายชาวไทย นักเคลื่อนไหวชาวไทย นักดนตรีเพื่อชีวิต นักแต่งเพลงชาวไทย นักกีตาร์ชาวไทย ศิลปินสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ศิลปินสังกัดเอสพี ศุภมิตร ศิลปินสังกัดชัวร์ เอนเทอร์เทนเมนท์ นักเขียนชาวไทย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุคคลจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.
thaiwikipedia
763
สืบ นาคะเสถียร
สืบ นาคะเสถียร (31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 – 1 กันยายน พ.ศ. 2533) เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจาการพยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ == ประวัติ == สืบมีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" มีชื่อเล่นว่า "แดง" เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กับนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน ตนเองเป็นคนโต ได้แก่ กอบกิจ นาคะเสถียร เป็นน้องชายคนกลาง และกัลยา รักษาสิริกุล เป็นน้องสาวคนสุดท้อง สืบ สมรสกับนิสา นาคะเสถียร มีบุตรสาวหนึ่งคน คือ ชินรัตน์ นาคะเสถียร สืบ มีบุคลิกเอกลักษณ์อุดมการณ์คล้ายคลึงเหมือน จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียน == การศึกษาและการงาน == สืบศึกษาระดับประถมตอนต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี มีผลการเรียนดีมาตลอด เมื่อว่างเรียนก็ช่วยเหลือครอบครัวทำไร่ไถนา และยกเสริมแนวคันนาเองเพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้นจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2514 หลังจากสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่การเคหะแห่งชาติ จนถึงปี พ.ศ. 2517 และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518 เมื่อสำเร็จปริญญาโท สืบเข้ารับราชการเป็นพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ขณะนั้นกองอนุรักษ์สัตว์ป่าเพิ่งก่อตั้งขึ้น และสืบเลือกหน่วยงานนี้เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า งานแรกของสืบคือ การประจำอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ณ ที่นั้น สืบได้ทราบว่ามีผู้ทรงอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ต่อมาปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล จึงศึกษาระดับปริญญาโทอีกที่สาขาอนุรักษวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2524 แล้วกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าหลายรุ่น ครั้นปี พ.ศ. 2526 สืบขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว ในระยะนี้ สืบได้ทำงานทางวิชาการอันเป็นที่รักของเขาอย่างเต็มที่ จึงผูกพันกับสัตว์และป่า งานวิจัยเริ่มแรกว่าด้วยจำนวน ชนิด พฤติกรรม และการทำรังของนก สืบยังริเริ่มใช้เครื่องมือสมัยใหม่บันทึกการวิจัย เช่น กล้องวีดิทัศน์ กล้องถ่ายภาพ และการสเก็ตซ์ภาพ ข้อมูลของสืบกลายเป็นผลงานวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในภายหลัง เช่น สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก กับทั้งวีดิทัศน์ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าและการทำลายป่าในประเทศไทย ที่สืบผลิตขึ้นเองทั้งสิ้น === การทำงานที่แก่งเชี่ยวหลาน === สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่มากกว่าหนึ่งแสนไร่ แต่มีงบประมาณเริ่มต้นเพียงแปดแสนบาท ไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ป่า แต่สืบมิได้ย่อท้อคงพยายามทำงานและศึกษาข้อมูลทั้งทางหนังสือและพรานท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2528 สืบได้ติดตามนักวิจัยชาวต่างชาติซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก พร้อมด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าไปสำรวจกวางผา สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่ เวลานั้นชาวบ้านจุดไฟล่าสัตว์จนเกิดไฟป่า คณะของสืบหนีไฟป่าเป็นโกลาหล และคำนึง ณ สงขลา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตกหน้าผาถึงแก่ความตาย ในปี พ.ศ. 2529 สืบได้เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งเพราะปัญหาการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม ช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนมากที่เหลือถึงแก่ความตาย สืบจึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่าซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ ในภายหลังจึงได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เช่น คัดค้านรัฐบาลในการที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี สืบยังได้รายงานผลการอพยพสัตว์ต่อสาธารณชนเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักภัยป่า โดยยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติชนิดที่ชดเชยภายหลังมิได้ แต่ความพยายามของสืบนั้นไร้ผล จนกระทั่งนักอนุรักษ์ได้รวมกลุ่มสนับสนุนสืบ โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนจึงระงับไป ระหว่างนั้น สืบได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานีอีกตำแหน่ง และปี พ.ศ. 2530 ได้ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงในจังหวัดนราธิวาสด้วย === การทำงานที่ห้วยขาแข้ง === ในปี พ.ศ. 2531 สืบกลับเข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า และพยายามเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นแหล่งมรดกโลกเพื่อเป็นหลักประกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวจะได้รับการพิทักษ์รักษาถาวร ปลายปี พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และได้เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วย ครั้นปี พ.ศ. 2533 สืบจึงตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และได้ดำเนินกิจกรรมหลายประการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและอพยพสัตว์ป่าที่ยังตกค้างอยู่ในแก่งเชี่ยวหลาน ความพยายามของสืบนั้นประสบผลสำเร็จน้อย เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ให้ความสนใจ ชาวบ้านท้องถิ่นก็สนใจปากท้องมากกว่า จึงรับจ้างผู้มีอิทธิพลเข้ารุกรานป่าเสมอมา สืบเสนอให้สร้างแนวป่ากันชนเพื่อกันชาวบ้านออกนอกแนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ในแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน == ผลงานวิชาการของสืบ == สืบได้ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะด้านสำรวจนก กวางผา เลียงผา และนิเวศวิทยาที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งยังได้เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ผลงานวิจัยของเขา เป็นต้นว่า การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2524 รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2526 รายงานผลการวิจัย วางแผนขั้นรายละเอียดสำหรับ ฟื้นฟูสภาพป่าไม้และการจัดการป่าไม้บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำคลองแสง โครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2527 การศึกษานิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ในบริเวณโครงการ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพาน ตามพระราชดำริ พ.ศ. 2528 นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง พ.ศ. 2529 รายงานผลการจับเนื้อทราย ที่เกาะกระดาด พ.ศ. 2529 เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ พ.ศ. 2529 สำรวจถิ่นที่อยู่อาศัยของเก้งหม้อ นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี และ จังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และ จังหวัดตาก กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 โดย สืบ นาคะเสถียร, นริศ ภูมิภาคพันธุ์, ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ การสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับ สัตว์ป่าในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส การอพยพสัตว์ป่า ในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา สัมมนาสัตว์ป่า พ.ศ. 2532 วิเคราะห์ความเหมาะสม จากรายงานและแผนการ แก้ไขผลกระทบด้านทรัพยากร ป่าไม้และสัตว์ป่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แควใหญ่ตอนบน รายงานการประเมินผลงาน ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฏร์ธานี == การเสียชีวิต == ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันหลาย ๆ ด้าน และเพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว ==เกียรติยศ== === วันสำคัญ === มีการจัดวันที่สืบเสียชีวิต วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสืบนาคะเสถียร ขึ้น === วัฒนธรรมสมัยนิยม === หงา คาราวาน ได้แต่งเพลงชื่อ "สืบ นาคะเสถียร" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สืบ แอ๊ด คาราบาว ได้แต่งเพลงชื่อ "สืบทอดเจตนา" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สืบเมื่อปี พ.ศ. 2533 ในอัลบั้ม "โนพลอมแพลม" สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดทำสารคดีชื่อ "แสงไฟไม่เคยดับ" เพื่อเป็นการรำลึกถึงสืบ ออกอากาศทางช่องเดียวกันในช่วงเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2556 ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง" เป็นภาพยนตร์ในโครงการคีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยผู้รับบทสืบ นาคะเสถียร คือ นพชัย ชัยนาม ช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี ได้จัดทำในรายการ ข่าวดังข้ามเวลา ตอน ตายเพื่อตื่น สืบ นาคะเสถียร ออนแอร์วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ไททศมิตร (TaitosmitH) ได้แต่งเพลงชื่อ "หัวหน้าสืบ" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สืบเมื่อปี พ.ศ. 2563 ===สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติ=== ปลาค้างคาวนาคะเสถียร (Oreoglanis nakasathiani Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009) ==อ้างอิง== สืบ นาคะเสถียร ชีวประวัติ สืบ นาคะเสถียร ==แหล่งข้อมูลอื่น== เว็บไซต์มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ข้าราชการพลเรือนชาวไทย บุคคลจากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ บุคคลจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุคคลจากอำเภอเมืองปราจีนบุรี นักอนุรักษ์ธรรมชาติ ผู้ฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนชาวไทย
thaiwikipedia
764
อัศนี พลจันทร
อัศนี พลจันทร หรือในนามปากกาว่า นายผี และ สหายไฟ หรือ ลุงไฟ (15 กันยายน พ.ศ. 2461 — 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530) นักประพันธ์และนักปฏิวัติชาวไทย รู้จักกันในฐานะผู้แต่งเพลงเดือนเพ็ญ (คิดถึงบ้าน) == ประวัติ == อัศนี พลจันทร เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2461 ที่บ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี บิดาคือ พระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) มารดาคือ สอิ้ง พลจันทร ซึ่งหากสืบเชื้อสายทางบิดาขึ้นไปจนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จะพบว่าต้นตระกูลคือ พระยาพลเดือน เดิมชื่อนายจันทร์ เคยรบกับพม่า จนได้ชัยชนะและเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อัศนี พลจันทร จบชั้นมัธยม 5 แล้วศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2479 ในขณะที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สนใจในด้านวรรณกรรมโดยใช้นามปากกาว่า นายผี และเป็นที่รู้จักเมื่ออัศนีได้เป็นคนควบคุมคอลัมน์กวี ในนิตยสารรายสัปดาห์ เอกชน (นิตยสาร) ชีวิตครอบครัว อัศนี สมรสกับ วิมล พลจันทร มีบุตรด้วยกัน 2 คน ทั้งหญิงชาย ได้แก่ วิมลมาลี พลจันทร กับ โกลิศ พลจันทร == การทำงาน == อัศนีเริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ถูกย้ายไปที่จังหวัดปัตตานี เนื่องจากมีปัญหากับหัวหน้างาน อยู่ปัตตานีได้ 2 ปีก็ถูกสั่งย้ายไปที่สระบุรี ด้วยทางการได้ข่าวว่าให้การสนับสนุนชนชาวมลายูต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านไป 4 ปีเศษมีคำสั่งให้ย้ายไปอยุธยา เนื่องจากขัดแย้งกับข้าหลวง จากนั้นถูกสั่งให้กลับมาประจำกองคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย เหตุเพราะความเป็นคนตรงไปตรงมา ภายหลังมีปัญหาท้ายที่สุดจึงตัดสินใจลาออกเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2495 ในช่วง พ.ศ. 2495 จอมพล ป. มีคำสั่งให้จับกุมนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่มีผลงานไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ทำให้อัศนีต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผลงานวรรณกรรมในช่วงนั้นคือ "ความเปลี่ยนแปลง", "เราชนะแล้วแม่จ๋า" ในปี พ.ศ. 2504 ได้ปรากฏตัวอีกครั้งในนาม สหายไฟ ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อสมาชิกพรรคถูกจับกุมทำให้อัศนีต้องหลบหนีไปอยู่เวียดนามและจีน เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 ในแขวงอุดมไซ ประเทศลาว และได้นำกระดูกกลับสู่ประเทศไทยเมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 == ผลงานเขียน == ช่วงชีวิตของอัศนี มีงานเขียน บทกวี มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ อีศาน ที่ลงพิมพ์ในสยามสมัย นับเป็นบทกวีที่ลือเลื่อง จนกลายเสมือนเป็นตัวแทนนายผี จิตร ภูมิศักดิ์ ยกย่องกวีบทนี้ว่า ตีแผ่ความยากเข็ญของชีวิตและปลุกเร้าจิตวิญญาณการต่อสู้ของประชาชนได้อย่างเพียบพร้อม มีพลัง ทั้งเชิดชูนายผีเป็น มหากวีของประชาชน โดยผลงานได้มีการกล่าวถึงมากมายในช่วง เหตุการณ์ 14 ตุลา เพลง คิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ ที่อัศนีเขียนขึ้นเพราะความรู้สึกคิดถึงบ้านนับเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียงและขับขานในวาระต่างๆ มากที่สุดเพลงหนึ่ง ทำให้ชื่อ นายผี อัศนี พลจันทร เป็นที่รู้จักและจดจำในวงกว้าง == นามปากกา == นามปากกาของอัศนีมีเป็นจำนวนมาก เช่น นายผี ลุงไฟ อินทรายุทธ กุลิศ อินทุศักดิ์ ประไพ วิเศษธานี กินนร เพลินไพร หง เกลียวกาม จิล พาใจ อำแดงกล่อม นางสาวอัศนี == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == นาย คือ บดี ผี คือ ปิศาจ 100 ปี 'นายผี' จากอัยการ นักเขียน สู่นักปฏิวัติ บุคคลจากอำเภอเมืองราชบุรี ข้าราชการฝ่ายอัยการชาวไทย นักเขียนชาวไทย นักแต่งเพลงชาวไทย นักเคลื่อนไหวชาวไทย บุคคลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย บุคคลจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักลัทธิคอมมิวนิสต์ นักปฏิวัติ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชาวไทยที่เสียชีวิตในประเทศลาว ผู้ลี้ภัยชาวไทย บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์
thaiwikipedia
765
หงา คาราวาน
redirect สุรชัย จันทิมาธร
thaiwikipedia
766
เดือนเพ็ญ (เพลง)
เพลงเดือนเพ็ญ หรือ เพลงคิดถึงบ้าน เขียนเนื้อร้องและทำนองโดย อัศนี พลจันทร (หรือที่รู้จักกันในนามปากกาว่า นายผี หรือ สหายไฟ) หากนับเพลงนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สมควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็น สุดยอดเพลงเพื่อชีวิต ด้วยเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียงและขับขานในวาระต่าง ๆ มากที่สุดเพลงหนึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และน้อยคนเหลือเกินที่ได้ฟังเพลงนี้แล้วจะรู้สึกเฉย ๆ กับความหมายที่กินใจที่เพลงสื่อออกมา เพลงคิดถึงบ้านนี้ ทำให้ชื่อ นายผี อัศนี พลจันทร เป็นที่รู้จักและจดจำในวงกว้าง อัศนี พลจันทร แต่งเพลงนี้ขึ้น เพราะความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวเขาเอง ด้วยเหตุการณ์ทางสังคมในสมัยนั้น ทำให้เขาต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเป็นเวลานาน พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เป็นคนนำเพลง "คิดถึงบ้าน" นี้ออกมาจากราวป่า และบันทึกเสียงครั้งแรกในนามวงคาราวาน กับอัลบั้มชุด "บ้านนาสะเทือน" เมื่อปี 2526. ต่อมาในปี 2527 แอ๊ด คาราบาว ได้นำมาบันทึกเสียงอีกครั้ง ในอัลบั้มชุด "กัมพูชา" และได้เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น "เดือนเพ็ญ" พร้อมทั้งสลับท่อนเนื้อร้องจากเดิม หลังจากนั้นมีผู้นำเพลงนี้ไปบันทึกเสียงอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในอัลบั้มปกติ และการแสดงสด อาทิ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, คนด่านเกวียน, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป, คีตาญชลี, คาราวาน, สายัณห์ สัญญา, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, ยอดรัก สลักใจ, คาราบาว, โจ้ วงพอส, ฟอร์ด สบชัย, หนู มิเตอร์, นิค นิรนาม, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย และในมหกรรมคอนเสิร์ตถูกใจคนไทย เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ ก็ได้นำมาร้องร่วมกับแอ๊ด คาราบาวด้วย หงา คาราวาน บันทึกถึงที่มาของเพลงนี้ว่า เพลงนี้ได้รับการบรรเลงและนำมาขับร้องซ้ำหลายครั้งโดยศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ ในคอนเสิร์ตของเอ็กซ์ เจแปน ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 โยชิกิ หัวหน้าวงได้นำเพลงนี้บรรเลงด้วยเปียโนในช่วงอังกอร์ เป็นต้น ==== เนื้อเพลงต้นฉบับ ==== เนื่องจากเพลง "คิดถึงบ้าน" นี้ เป็นการถ่ายทอดแบบปากต่อปาก หรือที่โบราณเรียกว่า ต่อเพลง จึงเป็นเหตุให้เนื้อร้อง เพี้ยนคำไปบ้าง เนื้อร้องฉบับนี้ ได้รับการตรวจทานจาก "ป้าลม" หรือ วิมล พลจันทร ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของนายผี คัดจากหนังสือ "รำลึกถึงนายผี จากป้าลม" จัดพิมพ์ในวาระอายุครบ 72 ปี) ตัวเอนคือคำร้องซึ่งไม่ตรงกับฉบับที่แพร่หลาย เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นยิ่งหนอยามเมื่อลมพัดมา แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา กองไฟสุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว ให้พี่น้องเรานอนหลับอุ่นสบาย เรไรร้องฟังดังว่า เสียงเจ้าที่เฝ้าคอยหา ลมเอ๋ยช่วยมากระซิบข้างกาย ข้ายังคอยอยู่มิหน่าย มิเลือนเคลื่อนคลาย คิดถึงมิวายที่เราจากมา ลมเอยจงเป็นสื่อให้ น้ำรักจากห้วงดวงใจ ของข้านี้ไปบอกเขานะนา ให้คนไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้าในอกแม่เอย ==== ความหมายของคำในเพลง ==== ลม นัยแรกหมายถึง ลมที่พัดทั่วไป ส่วนอีกนัยคือ ภรรยาของผู้แต่งซึ่งก็คือ วิมล พลจันทร หรือ สหายลม น้ำรัก ในความหมายเก่า หมายถึง น้ำใจ, น้ำคำ ==อ้างอิง== คิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) โดย รัตติกาล ด ดนตรีเพื่อชีวิต == แหล่งข้อมูลอื่น ==
thaiwikipedia
767
สหายไฟ
redirect อัศนี พลจันทร
thaiwikipedia
768
มหากวีแห่งประชาชน
redirect อัศนี พลจันทร
thaiwikipedia
769
วันพีซ
วันพีซ เป็น การ์ตูนญี่ปุ่นเขียนโดย เออิจิโระ โอดะ เรื่องราวของการตามหา "วันพีซ" โดยผู้ที่ได้มาครอบครองจะได้เป็นจ้าวแห่งโจรสลัด เริ่มลงตีพิมพ์ในนิตยสาร โชเน็นจัมป์ ของสำนักพิมพ์ ชูเอฉะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และเนื่องจากความโด่งดัง วันพีซ จึงได้รับการดัดแปลงเป็น อนิเมะ นวนิยาย รวมไปถึง เกม อีกหลายภาคด้วยกัน ในประเทศไทย วันพีซได้ลิขสิทธิ์โดย สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ ตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูน ซี-คิดส์ รายสัปดาห์ ส่วนฉบั นัดทะพง ได้ลิขสิทธิ์โดย Audio & Video Entertainment (เฉพาะภาคแรก) และ ดรีม เอกซ์เพรส (เดกซ์) (ตั้งแต่ภาคแรก) เคยออกอากาศทางฟรีทีวี ช่อง ไอทีวี, ทีไอทีวี, โมเดิร์นไนน์ทีวี, ช่อง 3 และช่อง 7HD และผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม ช่องการ์ตูนคลับแชนแนล วันพีซเป็นการ์ตูนที่ได้รับการตีพิมพ์ที่สุดในโลก โดยตีพิมพ์ไปมากกว่า 320 ล้านเล่มทั่วโลกระหว่างปี พ.ศ. 2540 ถึง 2557 จุดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่การที่ผู้วาดได้สร้างสรรค์ความฝันซึ่งต้องการลอยพร้อมกับเหล่ามิตรแท้ในวัยเด็กของหลาย ๆ คนได้อย่างมีเสน่ห์ โดยระหว่างลอยนั้น ลูฟี่และผองเพื่อนต้องเจออุปสรรคในการพิสูจน์เพื่อนแท้มากมาย รวมทั้งได้เรียนรู้เรื่องราวและตำนานของบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในเนื้อเรื่อง == เนื้อเรื่อง == === เนื้อเรื่องครึ่งแรก === ==== อีสต์บลู ==== วันพีซ เป็นเรื่องราวในยุคทองของโจรสลัด โจรสลัดทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อค้นหา สมบัติในตำนานที่เรียกว่า "วันพีซ" โดยผู้ที่เคยครอบครองวันพีซนั้นมีอยู่คนเดียวตามที่เปิดเผยคือ ราชาแห่งโจรสลัด โกลด์ ดี โรเจอร์ ซึ่งหลังจากที่ ได้ครอบครองวันพีซแล้ว โกลด์ ดี โรเจอร์ ได้เป็นราชาโจรสลัด ชายผู้ได้ทั้ง ความมั่งคั่ง ชื่อเสียงและอำนาจ ผู้ที่ได้ทุกอย่างในโลกมาครอบครองนั้น ได้สั่งสลายกลุ่ม จากนั้นแยกย้ายกันไปไม่มีใครรู้อีก 1 ปีต่อมา ก็ได้มอบตัวและยอมรับโทษการประหารชีวิตที่เกาะโพลสตาร์ ที่เมืองโล้คทาวน์บ้านเกิดของตน และก่อนตายได้มีคนถามโรเจอร์เรื่องสมบัติของโรเจอร์ โรเจอร์ได้ทิ้งคำพูดสุดท้ายที่เปลี่ยนยุคสมัยของโจรสลัดว่า "สมบัติของฉันน่ะเหรอ อยากได้ก็เอาไปสิ ไปหาเอาเลย ฉันเอาทุกอย่างบนโลกไปไว้ที่นั่นหมดแล้ว" จากนั้นก็ถูกประหารทันที แล้วเหล่าคนดูในลานประหารก็โห่ร้องกันอย่างดีใจ กับคนที่ทราบข่าวก็ออกเดินเรือไปเป็นโจรสลัดกัน โจรสลัดทั้งหลายจึงมุ่งหน้าสู่ แกรนด์ไลน์ เพื่อตามหาวันพีซ จนโลกได้เข้าสู่ยุคสมัยของโจรสลัด 22 ปีกว่าต่อมา เด็กหนุ่มที่ใส่หมวกฟางมีพลังพิเศษจากผลปีศาจ จึงเป็นผู้มีพลังพิเศษ ในวันเกิดอายุ 17 ปี ได้ออกเดินเรือไปเป็นโจรสลัด กับออกรวบรวมพรรคพวกจากการผจญภัยในอีสต์บลู ตอนแรกออกเรือด้วยเรือเล็ก แต่เรือพังเพราะเจอน้ำวน จึงไปซ่อนตัวในถังไม้ พอตื่นเจอกับเด็กที่ชื่อโคบี้ได้ฟังว่าโคบี้ทำงานรับใช้บนเรือโจรสลัดมา 2 ปี โดยมีความฝันอยากเป็นทหารเรือ ลูฟี่จึงได้เตือนสติกับไปกอัลบีดา แล้วบอกพวกโจรสลัดให้เอาเรือเล็กมากับทั้งคู่ออกเรือไปส่งโคบี้ที่เกาะใกล้ ๆ พอไปถึงเกาะโยสึบะ ในเมืองเชล พบว่าถูกปกครองด้วยเผด็จการของทหารเรือที่นำโดยพันเอกมอร์แกน กับเจอโซโลนักล่าค่าหัวที่โดนจับ จึงไปช่วยโซโลกับชวนมาเป็นโจรสลัด จัดการกับมอร์แกน กับช่วยให้โคบี้เข้ากองทัพเรือ แล้วตอนเดินเรือทั้งคู่เกิดหิวลูฟี่ก่อเรื่องจะไปจับนกกิน แต่ดันโดนนกยักษ์จับบนฟ้า พอเจอเกาะจึงตกลงมาที่เมืองออเรนเจอกับ นามิ จอมโจรที่ขโมยสมบัติกับแผนที่เดินเรือไปแกรนด์ไลน์ กับถูกนามิหลอกจับไปต่อรองกับโจรสลัด ตัวตลกบากี้ แล้วพอโซโลมาช่วย ทั้ง 3 ร่วมมือกันจัดการพวกบากี้ กับออกเรือโดยมีนามิเป็นพวก กับออกเรือต่อพอไปถึงเกาะต่อไปคือเกาะเกคโค ที่หมู่บ้านไซรัปเจอ อุซปจอมโกหก แล้วทั้ง 4 คุยกันจนรู้ว่าอุซปคือลูกของยาซปที่เป็นลูกเรือของกลุ่มโจรสลัดผมแดง โดยช่วยอุซปจัดการกับกลุ่มโจรสลัดแมวดำ ที่นำโดยคุโระเพื่อช่วยหมู่บ้าน แล้วอุซปขอเข้าร่วมกับได้เรือคาราเวลที่ชื่อโกอิ้งแมรี่เป็นรางวัลจึงออกเรือ แล้วลูฟี่กับอุซปก่อเรื่องไปยิงโขดหินถล่มโดยที่มีคนนอนพักอยู่ ซึ่งคนที่นอนพักอยู่คือ โจนี่กับโยซาคุ 2 นักล่าค่าหัว พอทราบว่ารู้จักกับโซโลจึงปรับความเข้าใจกัน กับได้เบาะแสเรื่องชายตาเหยี่ยวที่ในภัตตราคารลอยทะเลบาราติเอ จึงเดินเรือไป แล้วลูฟี่ก่อเรื่องพังร้าน ต้องทำงานชดใช้ กับมีรองเชฟคือซันจิ แล้วพอกลุ่มโจรสลัดครีกบุมานำโดย ดอนครีก ลูฟี่ร่วมมือสู้กับซันจิ นามิออกเรือหนีกลับบ้านเกิด พอมิฮอว์ค 1 ใน 7 เจ็ดโจรสลัดมา โซโลไปท้าสู้ผลออกมาแพ้อย่างง่ายดายกับได้บาดแผล กับถูกเตือนสติจนเข้าใจ แล้วที่เหลือออกเรือตามนามิไป จนเหลือแต่ลูฟี่ที่ต้องร่วมมือกับซันจิปกป้องภัตราคาร พอจัดการครีกได้ก็พักฟื้นพอหายดี ก็ออกเรือโดยมีซันจิมาเป็นพวก ไปดกาะโคโนมิ ในหมู่บ้านโคโคยาชิใที่เป็นฐานของกลุ่มโจรสลัดอารอง ที่นำโดยอารอง พอนามิรู้ตัวว่าอารองโดนหลอก กลุ่มหมวกฟางจึงจัดการพวกอารองจนพินาศ หลังจากนั้นก็ออกเรือโดยนามิเป็นลูกเรืออย่างทางการ แล้วก็มุ่งหน้าไปโล้กทาวน์ที่เกาะโพลสตาร์เพื่อเตรียมซื้อของก่อนเข้าแกรนด์ไลน์ พอไปถึงทุกคนเตรียมซื้อของกันเสร็จ แล้วลูฟี่ก่อเรื่องไปยืนบนลานประหารโดนบากี้กับอัลบีดาจับเพื่อเตรียมประหาร โดนเกิดเหตุฟ้าผ่าจนลูฟี่รอด กับทั้งหมดก็หนีจากพันเอกสโมคเกอร์ที่เป็นคนคุมที่นี่ โดยมีชายที่ชื่อดราก้อนมาช่วยไว้ แล้วกลุ่มหมวกฟางก็ออกเรือเดินทางเข้าสู่แกรน์ไลน์ ==== แกรนด์ไลน์ ==== ทะเลครึ่งแรกที่เป็นเซอไวเวิลของโจรสลัดนับไม่ถ้วนจากทั่วโลกและทะเลทั้ง 4 ต่างมาถึงปากทางเข้าเพื่อเดินทางต่อ โดยสภาพอากาศแปรปรวน ==== อลาบาสต้า ==== พอเข้ามาแกรนด์ไลน์มาได้เข้าใจถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน กับการเดินทางโดยใช้ล็อกโพสเดินทางจากเกาะหนึ่งไปอีกเกาะหนึ่ง จนไปพอถึงที่วิสกี้พีค จึงไปพัวพันกลุ่มนักล่าค่าหัวบนเกาะที่เป็นคนของบริษัทบาร็อกเวิร์คส์ โดยทราบถึงตัวจริงของบอสคือ ครอคโคไดล์ 1 ใน 7 เทพโจรสลัด โดยต้องหนีจากการไล่ล่า กับพาตัวเจ้าหญิงวีวี่ไปส่งที่อลาบาสต้า พอมาถึงลิตเติ้ล การ์เด้นก็ได้เห็นคนยักษ์ในตำนานต่อสู้กันกับช่วยคนยักษ์จากพวก Mr.3 กับ Mr.5 ของบาร็อกเวิร์คส์ ทั้งยังหลอกพวกบาร็อกเวิร์คส์ว่าพวกตนตายแล้ว กับได้เอเทอนอลโพสในการเดินทางไปอลาบาสต้า แต่การดินทางต้องหยุดแวะพักที่เกาะดรัมเพื่อพานามิไปหาหมอ โดยสู้กับวาโปลราชาจอมชั่วร้าย แล้วได้ช็อปเปอร์เรนเดียร์ จมูกน้ำเงิน ที่กินผลปีศาจจนเป็นเรนเดียร์มนุษย์ที่มีความรู้ทางการแพทย์มาเป็นพวก พอไปถึงอลาบาสต้า ลูฟี่ได้พบกับเอสผู้ที่เป็นพี่ชาย แล้วแยกทางกันกับเดินทางไปหาคณะปฏิวัติ โดยทั้งกลุ่มต้องผจญกับทะเลทรายบนเกาะแต่พอถึงยูบาก็ทราบว่าตนต้องกลับไปทางเดิมเพราะฐานของคณะปฏิวัติอยู่ตรงเมืองข้าง ๆ ที่ตนพวกตนแวะซื้อของบนเกาะ จนลูฟี่คิดว่าจะไปจัดการกับครอคโคไดล์ ซึ่งเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะเห็นว่าไม่ว่าทางไหนมีคนต้องตายกันหมด แต่ทั้งกลุ่มก็ติดกับจนถูกขังไป แต่โชคดีซันจิกับช็อปเปอร์วางแผนช่วนหนีออกมาได้ ขณะเดินทางไปที่เมืองหลวง ลูฟี่สู้กับครอคโคไดล์จนแพ้ ส่วนกลุ่มหมวกฟางที่เหลือไที่เมืองหลวงต้องสู้กับพวกบาร็อกเวิร์คส์จนกำจัดพวกระดับสูงจนหมด จนลูฟี่ขี่เปรูกลับมาสู้ครอคโคไดล์ทั้งที่มองจุดอ่อนของครอกโคไดล์ออกแต่ก็แพ้ ทางกลุ่มหมวกฟางต้องหาระเบิดเพื่อหยุดการระเบิด แต่พอเจอระเบิดนั้นระเบิดเป็นระเบิดเวลาเปรูที่เป็นทหารอาสาบินเอาระเบิดไปทิ้งซึ่งเป็นการฆ่าตัวตาย แล้วลูฟี่ที่รอดตายก็ไปท้าครอคโคไดล์อีกครั้งจนชนะ แล้วฝนก็ตกลงมาอีกครั้ง สงครามที่ไม่มีการหยุดก็หยุดลง โดยหลังจากงานเลี้ยงกลุ่มหมวกฟางคิดจะเดินทางต่อ จึงให้เวลาวีวี่ในการคิด โดยพอไปถึงเรือพบกับMr.2 ที่ออกเรือไม่ได้จงขอร่วมเดินทางด้วย กลุ่มหมวกฟางจะไปรับวีวี่ Mr.2 อาสาถ่วงเวลา จนกลุ่มหมวกฟางไปถึงจุดนัดพบได้จากลากับวีวี่ แลวหนีจากกองทัพเรือสำเร็จ แล้วนิโค โรบินรองบอสของบาร็อกเวิร์คส์มาขอเข้ากลุ่ม ทางเปรูที่รอดตายแต่เจ็บหนะกจึงกลับไปที่วังก็พบกลุมศพของตน จึงไปบอกว่าตนมมีชีวิตจึงถูกต้อนอย่างดี ==== เกาะแห่งท้องฟ้า หรือ สกายเปีย ==== เรือตกจากฟ้ากับพบเบาะแสเกาะท้องฟ้า จึงไปสืบเกาะใกล้ๆ ที่ชื่อจายา พอถามก็ถูกขำ พอไปอีกด้านของเกาะพบกับทายาทของโนแลนด์จอมโกหก(นิทานของนอร์ทบลู)ทราบการไปเกาะท้องฟ้า ทางรัฐบาลโลกจัดประชุมหา 1 ใน 7 เทพโจรสลัดคนใหม่แทน พวกหนวดดำส่งสารจะทำผลงานคือล่าพวกหมวกฟางแต่ล้มเหว พวกหมวกฟางไปถึงเกาะท้องฟ้า หวังหาเมืองขุมทองในตำนาน แต่ไปพัวพันกับสงครามของแชนเดียร์กับชาวสกายเปีย ที่เบื้องหลังคือการละเล่นของพวกบริก้านำโดยเทพคุมกฏทั้ง 4 กับก็อดเอเนล ผู้อ้างตัวคือเทพ เพราะพลังผลปีศาจ ผลโกโรโกโร (สายฟ้า) หวังได้ทองนำมาขับเคลื่อนเป็นพลังให้เรือเดินทางไปดวงจันทร์ พอครบกำหนดทุกฝ่ายต่อต้านเอเนล เอเนลคิดทำเกาะท้องฟ้าพินาศ ลูฟี่จึงต้องสู้ตัดสินกับเคาะระฆังทองคำ เพื่อให้เสียงส่งไปถึงพวกคริกเก็ตให้ทราบว่าเมืองขุมทองมีอยู่จริง กับหาขุมทองไปในตัวสำเร็จ พอสิ้นสุดลงก็นำสมบัติที่เป็นทองคำกับนำเรือลงสู่ทะเลสีฟ้าเพื่อกลับไปผจญภัยต่อ ==== วอเตอร์ 7 ==== หลังจากกลับมาที่ทะเลสีฟ้าอีกครั้ง ก็มุ่งต่อไปกับหาช่างซ่อมเรือเนื่องจากเรือเสียหายอย่างหนัก จนไปแข่งเดวี่แบ็คไฟท์ เพื่อชิงลูกเรือกับธงจนผลออกมากลุ่มหมวกฟางชิงธงไป เพื่อแก้แค้นให้ทงยิทเรื่อที่ฟ็อกซี่ทำร้ายม้า จากนั้นกล่มหมวกฟางได้พบกับอาโอคิยิ โดยอาโอคิยิมาเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับโรบินเพื่อยืนยัน โดยเตือนเรื่องโรบิน แล้วสู้กับลูฟี่ชนะอย่างง่ายดายแต่ก็ปล่อยไปเพราะครอคโคไดล์ จากนั้นกลุ่มหมวกฟางก็เดินทางต่อไปถึงวอเตอร์ 7 เอาสมบัติไปแลกเป็นเงินได้ 300 ล้าน ออกตามหาช่างคลุมเรือ แต่ผลออกมาเรื่องเรือเสียหายอย่างหนักเกินไป เงินก็ถูกขโมยไป 200 ล้าน อุซปทก็บาดเจ็บ โรบินก็หายตัวไป พอกลุ่มไปแก้แค้นเรื่องเงินกับอุซป ลูฟี่ก็คิดเรื่องจะซื้อเรือใหม่ จึงเกิดการแตกคอกับอุซปดวลตัวต่อตัวลูฟี่ชนะ อุซปออกจากกลุ่มยกเรือให้อุซป แล้วกลุ่มหมวกฟางถูกใส่ความว่าเกี่ยวข้องกับคดีที่ไอซ์เบิร์กถูกทำร้าย เพราะโรบินอยู่ในเหตุการณ์ พอกลุ่มหมวกฟางสงสัยจนผลออกมาทราบว่ารัฐบาลโลกอยู่เบื้องหลัง หมายจะเอาแปลนพลูตัน จึงส่ง CP9 แฝงตัวในวอเตอร์ 7 จนโรบินถูกจับกุม อุซปที่ถูกแฟรงกี้เตือนสติก็เข้าใจเรื่องเรือ แต่ทั้งคู่ก็ถูกกุมตัวไปพร้อมกัน ซันจิแอบตามไป กลุ่มหมวกฟางที่เหลือจึงเตรียมตัวไปช่วยโรบินออกมา โดยเข้าสู่เอนิเอส ล็อบบี้ โดยมีกาเลล่าคอมปานีกับตระกูลแฟรงกี้เป็นกองหนุน แล้วสู้กับรัฐบาลโลกที่นำโดย CP9 ที่มีคำสั่งบัสเตอร์คอล ผลออกมากลุ่มหมวกฟางช่วยโรบินสำเร็จ แล้วหนีลงเรือโกอิ้งแมรี่ แต่พอหนีจากรัฐบาลโลกสำเร็จ เรือก็เสียหายอย่างหนักจนลูฟี่ต้องเผาเรือทิ้งทั้งน้ำตา ขณะพักผ่อนอยู่นั้นที่เกาะบานาโลที่เป็นเกาะข้าง ๆ กลุ่มหนวดดำพอทราบข่าวก็คิดจะไปล่าลูฟี่ แต่เอสมาขวางจึงเกิดการสู้กันระหว่างทีชกับเอส ผลออกมาทีชชนะ ทีชจึงเอาตัวเอสไปต่อรองแลกกับตำแหน่ง 7 เทพโจรสลัดจนสำเร็จจากนั้นก็เลิกไล่ล่าลูฟี่ไป ทางกลุ่มหวกฟางที่พักผ่อนรอเรือลำใหม่อยู่นั้น เรือกองทัพเรือ 1 ลำมาโดยคนที่มาคือพลเรือโทการ์ฟ ชายที่เป็นปู่ของลูฟี่ โดยพาลูกศิษย์ 2 คนมาหาลูฟี่กับโซโลโดยทั้ง 2 คนนั้นคือโคบี้กับเฮลเมปโป ลูฟี่กับโซโลจึงไปคุยกับทั้งคู่ โดยการ์ฟบอกกับลูฟี่ว่าดราก้อนคือพ่อของลูฟี่ จนที่ทุกฝ่ายแตกตื่นกันใหญ่ ยกเว้นลูฟี่ที่ไม่รู้เรื่อง จากนั้นก็แยกกัน พอกลุ่มหมวกฟางจะออกเดินทางก็ต้องชวนแฟรงกี้มาเป็นพวกจนสำเร็จ แล้วรอให้อุซปมาขอโทษเพื่อรับเข้ากลุ่มอีกครั้ง จนออกเรือต่อกับหนีจากการโจมตีของการ์ฟอย่างหวุดหวิด ==== ทริลเลอร์บาร์ค ==== ขณะเดินเรือไปซักพักพบถังประหลาดที่เปิดออกเป็นพลุ กับเรือหลงเข้าทะเล ฟลอเรี่ยน ไทรแองเกิ้ล พบกับเรือผีสิงที่มีโครงกระดูกพูดได้ ที่ชื่อว่าบรู๊ค แท้จริงเป็นคนที่กินผลโยมิโยมิเข้าไป กลุ่มหมวกฟางจึงกินเลี้ยง แล้วเลี้ยงก็ถูกโยงไปติดกับทริลเลอร์บาร์ค ที่บนเกาะมีแต่ซอมบี้มีชีวิต แล้วคนบนเรือถูกชิงเงาไป โดยบอสของเกาะคือเก็กโค โมเรีย 1 ใน 7 เทพโจรสลัด แล้วกลุ่มหมวกฟางก็ถูกชิงเงาไป นามิถูกจับตัว สมาชิกที่เหลือจึงพบกับบรู๊คอีกครั้งบรู๊คบอกสาเหตุของตนพร้อมกับเรื่องซอมบี้ พอกลับไปรวมตัวที่เหลือก็วางแผนชิงเงา ช่วยนามิ จัดการโมเรีย จนโมเรียปลุกออสด้วยเงาของลูฟี่ ทางโมเรียทราบข่าวว่าทีชเป็นเจ็ดเทพโจรสลัดคนใหม่ กับถูกเตือนเรื่องหมวกฟางจากคุมะ 1 ใน 7 เทพโจรสลัด โมเรียไม่สนกับลุยต่อจนผลออกมาโมเรียกับออสแพ้ลูฟี่ โมเรียก็ฝืนเอาเงาทั้งหมดในทริลเลอร์บาร์คมมาใส่ร่างตน 1 พันเงา สู้กับลูฟี่จนพ่ายแพ้ ทางลูฟี่ที่เหนื่อยล่าจนสลบไป คุมะโผล่มากับรับคำสั่งให้ฆ่าปิดปากคนบนเกาะกับพาโมเรียไปรักษา แต่คุมะมอบขอเสนอให้คือมอบลูฟี่ให้ตน แล้วตนจะไว้ชีวิตทุกคนบนเกาะ แต่ทุกคนไม่เอา คุมะจึงจัดการทุกคน มีแต่โซโลที่ยืนอยู่ โซโลยืนกรานขอแลกชีวิตตน คุมะจึงเอาความเจ็บปวดกับความเหนื่อยของลูฟี่ออกมาให้โซโลที่สาหัสอยู่แล้ว ผลออกมาโซโลสาหัสเกือบตายจนต้องพักฟื้น พอโซโลฟื้นก็มีงานเลี้ยง โดยบรู๊คเข้ามาร่วมกลุ่มด้วย แล้วลอร่ามาบอกเรื่องบีเบิ้ลการ์ดกระดาษแห่งชีวิต โดยลูฟี่พกไว้ใบหนึ่ง จึงทราบว่าชีวิตของเอสใกล้ตาย แต่ลูฟี่ไม่สนจึงเดินเรือไปต่อ ==== มหาสงคราม หรือ สงครามมารีนฟอร์ด ==== กลุ่มหมวกฟางเดินทางมาถึงเรดไลน์(ครึ่งทาง) พบกับนางเงือกที่ชื่อเคย์มี่ กับปลาดาวพูดได้ที่ชื่อปักปากุ ทั้งคู่ขอร้องให้ไปช่วยฮัจจิน ที่โดนโทบิอุโอะนำโดยดูวัลจับตัวไป จนรู้ว่าแท้จริงฮัจจินคือฮาจิ 1 ในพวกอารองที่หนีรอดคนเดียว โดนดูวัลหน้าจริงนั้นเหมือนหมายจับภาพวาดของซันจิ แล้วเกิดการต่อสู้กัน จนซันจิก็โกรธจนเตะหน้าดูวัลทำศัลยกรรมให้หล่อกว่าตน จนดูวัลสำนึกบุญคุณ จากนั้นกลุ่มหมวกฟางไปหมู่เกาะชาบอนดี้ก็ออกตามหาช่างคลุมเรือตามตำแนะนำของฮาจิ แต่เคย์มี่ก็ถูกแก๊งลักพาตัวจับตัวไปร้านค้ามนุษย์ พอกลุ่มหมวกฟางไปเพื่อซื้อคืน แต่ชาวมังกรฟ้าซื้อในราคาสูงกับยิงฮาจิ ลูฟี่โกรธจึงไปทำร้ายชาวมังกรเป็นต้นเหตุให้กองทัพเรือส่งพลเรือเอกคิซารุมา โดยโจรสลัดที่เป็นซูเปอร์โนวา อีก 8 กลุ่มที่เหลือต้องหนีด้วย ทางกลุ่มหมวกฟางพอเจอช่างคลุมเรือ โดยแท้จริงคือซิลเวอร์ เรย์ลี่ รองกัปตันของกลุ่มโจรสลัดโรเจอร์ ได้ทราบความจริงที่โรเจอร์ป้วยเป็นโรคไม่มีทางรักษากับพอผจญภัยสำเร็จสั่งสลายตัว 1ปีต่อมาไปมอบตัว แต่ลูฟี่ไม่อยากรู้เกี่ยวกับวันพีชจากปากของเรย์ลี่ โดยเรย์ลี่อาสาคลุมเรือให้แต่ต้องใช้เวลา 3 วัน ทางกลุ่มหมวกฟางที่คิดจะแยกย้ายนั้น เจอกับแปซิฟิสต้า เซนโตมารุ คิซารุ จนกลุ่มสู้ไม่ไหว โชคดีที่คุมะมาช่วยไว้ส่งกลุ่มหมวกฟางให้หนีกระจัดกรจายกันไป ทางลูฟี่ที่พลัดหลงกับเพื่อนไปตกที่เกาะอเมซอนลิลลี่ ที่เป็นเกาะสตรี พบโบอา แฮนค็อก 1 ใน 7 เทพโจรสลัด จนโดนจับตัวไปลานประลอง ทางพวกมากาเร็ตที่ขอร้องให้ไว้ชีวิตถูกแฮนค็อกสาปเป็นหิน แล้วฮาคิราชันย์ในตัวลูฟี่ตื่นขึ้นมา แล้วลูฟี่สู้กับบาคูราชนะอย่างง่ายดาย ตอนสู้ซานเดอร์โซเนียร์กับแมรี่โกลด์ ลูฟี่ช่วยซานเดอร์โซเนียร์ปิดแผ่นหลังเอาไว้ จึงจบการประลอง แฮนค็อกยื่นทางเลือกให้ลูฟี่ระหว่างคลายคำสาปหรือได้เรือออกจากเกาะ ซึ่งลูฟี่เลือกเสียสละคือขอให้คลายคำสาปพวกมากาเร็ตโดยไม่ลังเล ต่อมาแฮนค็อกให้ดูแผ่นหลังอีกที กับเล่าความจริงเรื่องตราสัญลักษ์ที่เคยเป็นทาสชาวมังกรฟ้า ทราบข่าวเรื่องการประหารของเอสจึงขอร้องให้แฮนค็อกพาตนลอบเข้าคุกนรกอิมเพลดาวน์ แต่แฮนค็อกนั้นก็ป่วยไข้ใจ เพราะตกหลุมรักลูฟี่ จึงยอมช่วยลูฟี่ พอลูฟี่ลอบเข้าไปได้ จึงแยกกัน ทางแฮนค็อกนั้นไปหาเอสก่อนเพื่อบอกว่าลูฟี่ลอบเข้ามา ทางกองทัพเรือนั้นเตรียมเรียกรวมพลทหารเก่งๆมีชื่อทั่วโลกกับ 7 เทพโจรสลัด เปิดศึกสงครามกับหนวดขาว ทางผมแดงไปถ่วงเวลาไคโด(คิดไปโค่นหนวดขาว) ทางลูฟี่บุกลงทุกชั้นเจอกับ บากี้ กาดิโน (Mr.3) เบนทัม (Mr.2) แล้วสู้กับพัสดีแมกเจลแลนจนโดนพิษสารพัดเข้าไป เบนทัม จึงปลอมตัวไป Level 5 เพื่อช่วยลูฟี่หาตัวอิวานคอฟให้รักษาลูฟี่ พอลูฟี่หายดี จึงเผลอบอกไปว่าเป็นลูกของดราก้อน จากนั้นลูฟี่ อิวานคอฟ อินาซูมะ จนบุกลงไป Level 6 แต่ช้าไปเอสถูกส่งตัวไปแล้ว ลูฟี่จึงต้องจึงต้องปล่อยตัว ครอคโคไดล์กับจินเบ 2 ใน 7 เทพโจรสลัด กับรีบขึ้นไปทุกชั้นเพื่อปล่อยนักโทษมาร่วมทัพ มีเรื่องกับกลุ่มหนวดดำเล็กน้อยและปล่อยผ่านไป ส่วนกลุ่มนักโทษที่แหกคุกนั้นที่มีอยู่ 2 กลุ่มคือบากี้กับลูฟี่ทั้ง 2 กลุ่มรวมตัวกัน เมื่อพอถึง Level 1 แต่มีปัญหาคือต้องการเรือเพื่อใช้เดินเรือ จินเบจึงอาสาแบกประตตูพานักโทษจำนวนหน่งไปชิงเรือ โดยมีครอคโคไดล์ ดัส กับบากี้ ทั้ง 3 ไปกับจินเบชิงเรือมาได้ ส่วนพวกที่รออยู่ที่คุกนั้นส่วนหนึ่งรอคอย กับอีกส่วนท่นำโดยลูฟี่กับกาดิโนและนักโทษจำนวนหนึ่ง สู้ถ่วงเวลาแมกเจลแลน จนสู้ไม่ไหวกับหนีไปรวมกับกลุ่มที่อยู่ประตู แล้วอิวานคอฟที่ปลิวขึ้นมาถึงตรงประตูกับพาพวกนักโทษแหกคุกหนีออกมา ขึ้นเรือ จนแผนแหกคุกสำเร็จ แต่แมกเจลแลนไม่ยอมรามือ คิดจะติดเรือกองทัพเรือไปนำตัวนักโทษกลับมา แต่เพราะการเสียสละของ เบนทัม ที่เลือกอยู่ที่คุกต่อเพื่อเปิดประตูแห่งความยุติธรรมให้นักโทษแหกคุกไปมารีนฟอร์ดสำเร็จ มารีนฟอร์ดกองทัพเรือได้รวมตัวทหารเรือที่มีชื่อเสียงกับมีฝีมือทั้งหมดมารวมตัวกัน มี 5 ใน 7 เทพโจรสลัด อดีตของเอสถูกแฉว่าเป็นลูกของราชาโจรสลัดโกลด์ ดี โรเจอร์ ทางกลุ่มหนวดขาวเรียกกลุ่มกับพันธมิตรทั้งหมดมาจึงเกิดมหาสงครามเพื่อช่วยเอสกัน ทางลูฟี่ที่นำพวกนักโทษแหกคุกไปถึงช้าก็เข้าร่วมสงคราม จนลูฟี่ถูกแฉว่าเป็นลูกของดราก้อน ทางลูฟี่ถึงขีดจำกัดหมดแรง ขอให้อิวานคอฟฟื้นพลัง แม้ลูฟี่ถูกเตือนถ้าได้รับอีกทีอายุขัยสั้นกว่าเดิมกับถึงตาย ลูฟี่ไม่สนกับลุยต่อจนฮาคิราชันย์ก็ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง แล้วก็ไปช่วยเอสออกมาได้ แล้วทั้งคู่ก็หนีไปขึ้นเรือ หนวดขาวจึงอาสาถ่วงเวลาให้ แล้วเอสเสียชีวิตในสงครามเพื่อปกป้องลูฟี่กับบอกลา ทางลูฟี่เสียใจจนหมดสติความเหนื่อยลากับความเจ็บปวดทั้งหมดสั่งสมมาจนทำให้อาการสาหัสจนโคม่าไป จินเบจึงพาลูฟี่หนีต่อไป แล้วหนวดดำนำกลุ่มที่มีนักโทษที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มาเข้าร่วมสงครามฆ่าหนวดขาวกับชิงพลังมา กองทัพเรือคลั่งไล่ฆ่ากวาดล้างพวกหนวดขาวที่เหลือกับสู้กับพวกหนวดดำไปพ้อมกัน สงครามเริ่มปั่นป่วนไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดลง แล้วลอว์พาตัวลูฟี่กับจินเบขึ้นเรือหนี แล้วแชงค์มาขอให้หยุดสงคราม จนสงครามสิ้นสุดลง หลังจากจบสงครามไปไม่นาน ลูฟี่ที่ฟื้นขึ้นมาก็เสียใจการตายของเอสนึกถึงอดีตจนรู้ว่าตนอ่อนแอ แล้วได้ถูกเตือนสติจากจินเบจนเข้าใจ แล้วเรย์ลี่ก็มายื่นข้อเสนอว่าให้ลูฟี่ไปมารีนฟอร์ดเพื่อทำการส่งสารให้พรรคพวกให้มารวมตัวกันในอีก 2 ปี ทางกลุ่มหมวกฟางที่ทราบข่าวก็เสียชีวิตของเอสตอนแรกก็คิดจะไปรวมตัวแต่พอได้ข้อความก็เข้าใจ โดยลูฟี่ก็ฝึกใช้ฮาคิจากเรย์ลี่ ==== ช่วงหลังจากจบมหาสงคราม หรือ สงครามมารีนฟอร์ด ตอนที่กลุ่มหมวกฟางหายตัวไป ==== หลังจากจบมหาสงครามไปไม่นานเกิด พวกยุคสมัยที่เลวร้ายที่สุด 9 กลุ่ม(ยกเว้นพวกหมวกฟาง)เข้าโลกใหม่จนปั่นป่วน เกิดศึกชิงอำนาจที่ไร้หนวดขาว โดยหนวดดำนำหน้า 1 ก้าว จัดการบอนนี่ง่ายๆ กับไปยึดอาณาเขตของหนวดขาวมาเป็นของตนจนหมด กับไล่ล่าผู้มีพลังพิเศษเพื่อชิงพลังมากับสร้างกองทัพ ส่วนพวกที่หลงไปอาณาเขตบิ๊กมัมคือ คิด อาพู แพ้ขุนพลสวีตจนบาดเจ็บจึงถูกพาตัวออกจากอาณาเขต มีแต่เบจจ์ที่ยอมเข้าร่วม ส่วนอูรูจจัดการสแนค(1 ใน 4 ขุนพลรสวีต)กับหนีออกได้ เพราะแพ้แครกเกอร์จนสาหัส ทางเดรคไปอาณาเขตของไคโดสู้กับผู้คุมเกาะจนไคโดมาแล้วสู้กันผลคือเดรคยอมเข้าร่วมกับไคโด ส่วนโฮคินส์ไม่ทราบ กองทัพเรือมีการหาจอมพลคนใหม่ จอมพลเรือเซนโงคุเสนอพลเรือเอกอาโอคิยิ(คุซัน) แต่รัฐบาลโลกสนับสนุนพลเรือเอกอาคาอินุ(ซากาสุกิ) ทั้ง 2 ความเห็นไม่ตรงกัน จึงเกิดศึกสู้ตัดสินกันหาผู้ชนะคือจอมพลเรือคนใหม่ที่เกาะพังค์ฮาซาร์ด 10 วัน ทั้ง 2 สาหัสปางตาย ผลคือซากาสุกิชนะคือพลเรือเอกคนใหม่ ทางคุซันขอลาออก กองทัพเรือเปลี่ยนแปลงคือเป็นรูปแบบเผด็จการ กับมีการเกณฑ์ทหารเรือจากทั่วโลก จนได้ทหารที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดย 2 พลเรือเอกใหม่ที่เข้ามาได้แก่ ฟูจิโทระ(อิชโช)กับเรียวคุเกียว(อารามากิ)ทางรัฐบาลโลกเฟ้นหา 7 เทพโจรสลัดคนใหม่แทน 3 ตำแหน่งที่ว่างจนครบคือบากี้ จากประวัติถูกแฉ กับลอว์ที่นำหัวใจโจรสลัด 100 ดวงมาต่อรอง โดย 1 ปีผ่านไป วีเบิ้ลชายผู้อ้างคือลูกชายแท้ๆ ของหนวดขาวจนครบ ทางมัลโก้ได้นำทัพหนวดขาวไปล้างแค้นกับพวกหนวดดำ จึงเกิดสงครามขึ้นผลคือหนวดดำชนะถูกยอมรับจากทั่วโลกคือ 1 ใน 4 จักรพรรดิคนใหม่ === เนื้อเรื่องครึ่งหลัง(2 ปีหลังจบมหาสงคราม) === ====โลกใหม่==== ครึ่งหลังGrandline คือทะเลสุดท้ายกับอันตรายสุด สภาพอากาศแปรปรวนสุด อำนาจรัฐบาลโลกเข้าไม่ถึง ส่วนใหญ่ถูกปกครองโดย 4 จักพรรดิ คือ ทะเลคนเก่งถึงอยู่รอด คนอ่อนแอต่างหนี มีน้อยที่หนีรอด ทางรอดมี 2 ทาง คือ อยู่ใต้อาณัติ 4 จักพรรดิ หรือท้าทายเรื่อยๆทุกคนเชื่อว่าใครครองโลกใหม่ คือราชาโจรสลัดคนต่อไป การเดินเรือต้องใช้ล็อกโพสโลกใหม่(มี 3 เข็ม เดินเรือไปถึงเข็มสุดท้าย) ==== 2 ปีหลังจบมหาสงคราม ==== มีข่าวลือว่ากลุ่มหมวกฟาง(ตัวปลอม)กลับมาหมู่เกาะชาบอนดี้ เกณฑ์โจรสลัดมาเข้าร่วมก่อเข้าโลกใหม่ โดยกลุ่มหมวกฟางตัวจริงกลับมารวมตัวพอดีเผยตัวเป็นข่าวดังไปทั่วโลก หลบหนีจากทหารเรือมุ่งหน้าสู่เกาะมนุษย์เงือกสำเร็จ ==== เกาะมนุษย์เงือก ==== กลุ่มหมวกฟางไปถึงเกาะมนุษย์เงือกสำเร็จ แม้ถูกกลุ่มคาริบูไล่ล่าช่วงนึง แต่จับกัปตันคาริบูขังไว้ในถังไม้ แต่เงือกสาวก่อเรื่องเปิดถังไม้ทำให้คาริบูถูกปล่อยออกมาไล่จับเงือกเพื่อนำไปขายเป็นทาส พอถูกเชิญเข้าวัง มาดามเชอร์รี่ก่อเรื่องทำนายว่า ลูฟี่คือภัยร้ายทำเกาะมนุษย์เงือกพินาศ จนทั้งเกาะต่างพากันไล่ล่า ทางกลุ่มเงือกรุ่นใหม่นำโดยโฮดี้ โจนส์กับกลุ่มฟลายอิ้งนำโดยฟานเดอ เดคเคน รุ่นที่ 9เป็นพันธมิตรกันก็ใช้โอกาสนี้เพื่อหวังเปิดศึกยึดเกาะพอดี ทางลูฟี่แอบพาเจ้าหญิงเงือกชิราโฮชิพาไปป่ามนุษย์เงือก พบจินเบฟังเรื่องอดีตของเกาะมนุษย์เงือกตอนฟิชเชอร์ ไทเกอร์ กับราชินีโอโตฮิเมะ ที่ทั้ง 2 ใช้แนวคิดที่ต่างกันเพื่อทำให้มีสันติ แต่ทั้ง 2 ก็เสียชีวิตด้วยฝีมือของมนุษย์ ทำให้จินเบยอมเข้าร่วมกับ 7 เทพโจรสลัดเพื่อสานสัมพันธ์กับปล่อยตัวอารอง กับโฮดี้นำทัพบุกยึดวังแพ้โซโลง่ายดาย(ในน้ำโดยโซโลยังไม่ได้เอาจริง) แต่โฮดี้กินยาESเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดมากไปจนหุ่นบึกกับผมขาว อันตรายกว่าเดิม ประกาศประหารราชวงศ์ริวงูตั้งตนเป็นราชาองค์ใหม่เข้าร่วมรีเวอรี่ แผนฆ่าผู้นำประเทศทั่วโลกในที่ประชุม เพื่อเป็นใหญ่ในโลก และเผยว่าโฮดี้คือตัวการจัดฉากฆ่าราชินีโฮโตฮิเมะ ทางจินเบที่มาก่อนไม่ไหวเรียกกลุ่มหมวกฟางมาร่วมรบ กับเดคเคนใช้พลังปาโนอา(เรือยักษ์ในตำนาน)ใส่เกาะมนุษย์เงือก แต่ถูกโฮดี้ทำร้ายจนสลบไป โนอาดิ่งลงเกาะมนุษย์เงือก ลูฟี่สู้ตัดสินชนะโฮดี้ กับพังโนอาเพื่อช่วยเกาะมนุษย์เงือก แม้เจ้าหญิงชิราโฮชิใช้พลังเรียกเจ้าทะเลมาลากโนอา(พังไปครึ่งนึง)ทัน แต่ลูฟี่เสียเลือดมาก จินเบมีเลือดกรุ๊ปเดียวกันยอมบริจาครักษาเพราะเป็นโจรสลัด ความขัดแย้งของเผ่าจึงจบลง พวกเงือกรุ่นใหม่ถูกเกณฑ์มาเป็นทหารในวังชดใช้ความผิด พวกทาสมนุษย์ถูกปล่อยเป็นอิสระ แกนนำถูกจับขังแต่ก็แก่เพราะฤทธิ์ของยาESที่กินมากเกินไป วาดาสึมิตัวใหญ่ไปจึงถูกเนรเทศไปนอกเกาะ กับมีปาร์ตี้กัน โรบินคุยราชาเนปจูนเรื่องพลังเจ้าหญิงเงือกคือโพเซดอน 1 ในอาวุธโบราณ ทางคาริบูแอบเข้าวังตอนศึกปล่อยเงือกสาว ไปปล้นสมบัติในวังจนหมดกับแอบฟังโรบินจึงไปจับตัวเจ้าหญิงชิราโฮชิ แต่ลูฟี่โซโล ซันจิจัดการทัน กับตามไปชิงสมบัติมาแทน พบพีคอมส์กับทามาโกะ(กลุ่มบิ๊กมัม)ที่มารับค่ายืมธงคือ ของหวาน 10 ตัน แต่ไม่มีเพราะโรงงานพัง ลูฟี่ยอมรับผิดเองหาเรื่องบิ๊กมัม แต่มอบสมบัติให้หมดเป็นค่าชดเชย บิ๊กมัมจึงยอม(มีกล่องทามาเตบาโก สมบัติระดับชาติ ข้างในคือกล่องES ที่โฮดี้ขโมยไปผลิต แต่ถูกยัดใส่ระเบิดไว้แทนโดยไม่มีใครรู้) ทางจินเบยังไม่พร้อมที่จะไปร่วมกับกลุ่มพวกฟาง เพราะต้องขอถอนตัวกับบิ๊กมัมก่อน กลุ่มหมวกฟางจึงบอกลากับมุ่งหน้าสู่โลกใหม่ ====เดรสโรซ่า ==== กลุ่มหมวกฟางเพิ่งเข้าโลกใหม่ได้รับข้อความว่า มีซารูไรอยู่พังค์ ฮาซาร์ด(เกาะปิดตาย อดีตคือศูนย์วิจัยโบราณของทหารเรือใช้นักโทษคือหนูทดลอง แต่เกิดระเบิดเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะฝีมือของซีซาร์ และหลังจบมหาสงคราม 2 พลเรือเอก(คุซันกับซากาสุกิ)ใช้เวทีสู้กันชิงเป็นจอมพล ตลอด 10 วันจนเกาะตรงกลางเป็นรู และ2 ฝั่งซีก ฝั่งนึงร้อนละอุ อีกฝั่งหนาวสุดขั้ว) ลูฟี่ โซโล อุซป โรบินไปสำรองฝั่งร้อนฆ่ามังกร(สิ่งมีชีวิตเทียม)กินเป็นอาหาร พบขาของซามูไรที่พูดได้ ทางพวกที่อยู่บนเรือถูกวางยาสลบจับไปฝั่งหนาว(เว้นบรู๊ค) พบชิ้นส่วนพูดได้ประกอบเป็นหัวคน(ซามูไร) หนีออกจากศูนย์วิจัยพบเด็กๆที่ตัวโตผิดปกติ ทางG-5(ทหารเรือนอกรีต)นำโดยสโมคเกอร์กับทาชิงิได้เบาะแสจากโจรสลัดที่เพิ่งเป็นอิสระจากโฮดี้ว่ากลุ่มหมวกฟางกลับมากับสัญญาณฉุกเฉินของพังค์ ฮาซาร์ด ไปพบลอว์ 1 ใน 7 เทพโจรสลัดใช้เป็นบ้านพักตากอากาศ แต่เรื่องเกิดปั่นป่วน ลอว์ใช้พลังสลับร่างทุกคน ทางกลุ่มหมวกฟางกลับไปรวมตัวได้ปรึกษาหาทางกัน แล้วMaster ของเกาะคือ ซีซาร์ได้ส่งนักฆ่า(เยติ) แต่ลอว์มาช่วยกับขอเป็นพันธมิตรกันเพื่อโค่น ไคโด 1 ใน 4 จักรพรรดิ วางแผนจับซีซาร์ กับหายารักษาเด็กๆที่เสพยากับถูกวิจัยเปลี่ยนมนุษย์เป็นคนยักษ์ แต่แผนพังเพราะเวอร์โก้(ผู้นำG-5)มาช่วยซีซาร์โดยทั้ง 2 เป็นพวกของJoker(นายหน้ารายใหญ่ในโลกใต้ดิน) ตัวจริงคือ ดองกี้โฮเต้ โดฟลามิงโก้ 1 ใน 7 เทพโจรสลัดที่ชั่วร้ายที่สุด ซีซาร์เริ่มขายอาวุธใหม่ ชิโนคุนิทำให้ทั้งเกาะถูกปกคลุมไปด้วยควันพิษ ใครถูกควันตัวถูกเปลือกหุ้มแข็งกับทนมานตายในครึ่งวัน ทางซามูไรได้ร่างคืนขอบคุณซันจิเผยว่าชื่อ คินเอมอนมาเพื่อหาลูกชายที่ชื่อโมโมโนะสุเกะ กลุ่มหมวกฟางกับG-5ร่วมตัวกันเพื่อเข้าศูนย์วิจัยเพื่อหนีชิโนคุนิ ลอว์สลับร่างเดิมคืนให้หมด กับทำแผนต่อ ช่วยพวกเด็กๆจากศูนย์วิจัยทั้งหมด ลอว์(สโมคเกอร์ถ่วงเวลาชิงหัวใจลอว์คืน)ชนะเวอร์โก้ทำลายSAD(สารเคมีส่วนประกอบสร้างผลปีศาจเทียมสายโซออน) เตือนโดฟลามิงโก้ถึงยุคใหม่ ลูฟี่พบกับมังกรตัวจิ๋ว(โมโมโนะสุเกะที่กินผลปีศาจเทียมของเวก้าพังค์) สู้ตัดสินชนะซีซาร์จับเป็นตัวประกัน มีปาร์ตี้กับG-5และพวกนักโทษ จากนั้นG-5นำพวกเด็กๆกับนักโทษพาตัวไปรักษา กลุ่มหมวกฟางมีคินเอมอน ลอว์ โมโมโนะสุเกะ กับซีซาร์ไปเดรสโรซ่า ลอว์โทรหาโดฟลามิงโก้ต่อรองคืนซีซาร์ถ้าลาออกจาก 7 เทพโจรสลัด ในวันถัดมา วันต่อมา ข่าวบอกโดฟลามิงโก้ลาออกจาก 7 เทพโจรสลัด กับพันธมิตรของลูฟี่กับลอว์ เดรสโรซ่าสงบสุขผิดปกติ จึงแบ่งทีมกัน แต่โดฟลามิงโก้ปล่อยข่าวลวงกับมีพลเรือเอกฟูจิโทระหนุนอยู่ ลูฟี่ติดกับเข้าร่วมแข่งชิงผลเมระ เมระของเอสเข้ารอบชิง แต่ให้ซาโบ(พี่น้องร่วมสาบานที่คิดว่าตายไปในอดีต)มาลงแข่งแทน รู้ถึงอดีตว่า 10 ปีก่อน โดฟลามิงโก้ใส่ความราชา ยึดประเทศเป็นฮีโร่ กับสาปผู้รู้ความจริงทุกคนเป็นของเล่น ใช้เป็นทาสแรงงานขนส่งสิ่งผิดกฎหมายทั่วโลก ซันจิไปรวมตัวกับพวกบนเรือ(นามิ ช็อปเปอร์ บรู๊ค โมโมโนะสุเกะ)พาตัวซีซาร์หนีจากกลุ่มบิ๊กมัมไปโซก่อน ทำให้กลุ่มหมวกฟางที่อยู่บนเกาะหาทางกันต่อ ผลคืออุซปทำหน้าล้อเลียนใส่ซูการ์ตกใจจนสลบ ทำให้คำสาปของเล่นคลาย ทุกคนกลับมาจำได้กับความลับถูกเปิดโปง ซาโบใช้จังหวะนั้นชนะการแข่งชิงผลเมระเมระกินสำเร็จ โดฟลามิงโก้ใช้กรงนกกับจัดเกมล่าดาวกลุ่มหมวกฟางกับผู้เกี่ยวข้องแลกเกมรางวัล ลอว์เตือนลูฟี่ว่าถ้าโค่นโดฟลามิงโก้ จะต้องทำสงครามกับไคโดจริงๆ ทกลุ่มหมวกฟางกับลอว์และนักสู้ที่ไม่สนเงินรางวัลบุกวังเพื่อสู้กับโดฟลามิงโก้ คินเอมอนช่วยคันจูโร่จากที่ทิ้งขยะสำเร็จมารวมตัว ทุกคนพยายามดันกรงนก สุดท้ายลูฟี่ใช้เกียร์ 4 สู้ตัดสินชนะโดฟลามิงโก้ พลเรือเอกฟูจิโทระจึงเผยความจริงของเดรสโรซ่าไปเกาะใกล้ก้มหัวขอโทษราชาริคุเรื่องระบบ 7 เทพโจรสลัด ทางกลุ่มหมวกฟางที่พักฟื้นจนหายดีจึงออกเดินทางไปโซ ได้กองเรือหมวกฟางใต้อาณัติ 5,650 คน กับปาร์ตี้กัน ====โฮลเค้ก==== พวกหมวกฟางไปโซ เกาะลับแลบ้านเกิดเผ่ามิงค์เพื่อรวมตัวกับพวกฮาร์ตกับหมวกฟางที่เหลือ ที่เพิ่งรอดการจากล่มสลาย เพราะพวกไคโดนำโดยแจ็ค(1 ในดารานำของไคโด)บุกมาหาตัวไรโซกับใช้อาวุธแก๊สพิษของซีซาร์ Koro แต่แจ็คก็ต้องออกจากโซไปช่วยโดฟลามิงโก้แต่พลาดข่าวบอกตาย นามิ ซันจิ ช็อปเปอร์ บรู็ค ช่วยไล่พวกที่เหลือของแจ็คไป กับกำจัดแก๊สพิษ รักษาเผ่ามิงค์ทัน พีคอมส์(1 ในพวกบิ๊กมัม)สำนึกบุญคุณยอมถอยถ้าส่งตัวซีซาร์มา แต่เบจจ์ทำร้ายพีคอมส์จับทุกคน พาซันจิร่วมปาร์ตี้น้ำชาในฐานะตัวแทนตระกูลวินสโมคแต่งงานกับลูกสาของบิ๊กมัม ซันจิที่ถูกขู่จึงยอมพาซีซาร์ไป ช่วยปล่อยนามิ ช็อปเปอร์ บรู๊ค ทุกคนหาทางปิดเรื่องซามูไร แต่คินเอมอนกับคันจูโร่เผยตัว เผ่ามิงค์ยอมบอกว่าไรโซปลอดภัย แต่ผู้นำเผ่ามิงคืตีกัน โมโมโนะสุเกะจึงเผยตัวแกล้งเป็นพ่อลูกกับคินเอมอน แท้จริงคือลูกของโอเด้ง(ไดเมียวแคว้นคุริ ทายาทตระกูลโคสึกิ บรรพบุรุษผู้สร้างโพเนกลีฟ)สั่งให้ผู้นำเผ่ามิงค์ยอมดีกัน โดยบอกสาเหตุว่าโอเด้งก่อบาปหนีออกจากวาโนคุนิ ไปเป็นโจรสลัดกับหนวดขาว แล้วไปร่วมกับโรเจอร์พิชิตแกรนด์ได้ รู้ความลับของโลก แต่ไม่เคยบอกความลับการผจญภัยกับใคร สละชีวิตปกป้องพวกพ้องตาย จึงต้องหนีจากวาโนคุนิมาสร้างทัพทำสงครามกับไคโด แจ็ครอดตายมาโซสั่งทัพเรือยิงขาช้างสุนิชา(โซ)จบเรื่อง แต่โมโมโนะสุเกะสั่งสุนิชาไล่แจ็คไปสำเร็จ จึงแบ่งทีมกันไป ลูฟี่ นามิ ช็อปเปอร์ บรู็ค โดยมีพีคอมส์ เพโดร แครอท(แอบตามมา)ไปโฮลเค้กช่วยซันจิ ทางลอว์นำพวกฮาร์ตกับ 3 ซามูไร กับพวกหมวกฟางที่เหลือไปวาโนคุนิเตรียมทัพก่อน ทางโมโนโนะสุเกะกับอินุอาราชิอยู่โซก่อนถามสาเหตุทำไมถึงสุนิชาถึงเดินทั่วโลกใหม่ไร้จุดหมาย กับเนโกะมามุชินำทีมหาตัวมัลโก้(หัวหน้าหน่วย 1 ของหนวดขาว) พวกหมวกฟางพบเรือเจลม่าช่วงนึง พอเข้าอาณาเขตของบิ๊กมัมพบพุดดิ้งเจ้าสาวของซันจิบอกเส้นทางเดินเรือไปโฮลเค้กสำเร็จ ก็ถูกป่าล่อลองปั่นหัวแยกกัน ลูฟี่กับนามิสู้ชนะแคร็กเกอร์(1 ในขุนพลสวีต)พบซันจิ(ถูกขู่) แต่ซันจิฝืนใจทำร้ายลูฟี่ ลูฟี่กับนามิสู้แพ้ทัพบิ๊กมัมจับขัง แต่ถูกจินเบก่อกบฎมาช่วไว้รวมตัวกับทุกคน คัดลอกโพเนกลีฟสำเร็จ ลูฟี่จึงไปจุดนัดพบรอซันจิเปิดใจคุยกัน เป็นพันธมิตรกับเบจจ์พังงานแต่ง โดยซีซาร์(ไม่เต็มใจ)มาร่วมด้วย แผนฆ่าบิ๊กมัมพลาด กับกล่องทามาเตบาโกตกระเบิดใส่ปราสาท พวกหมวกฟางกับไฟร์แทงค์จึงแยกกันหนี ซันจิแยกตัวไปช่วยพุดดิ้งกับจิฟฟ่อนทำเวดดิ้งเค้กหยุดบิ๊กมัมคลั่ง เพโดรสละชีวิตระเบิดตัวเองให้พวกหมวกฟางออกเรือ ลูฟี่สู้คาตาคุริ(ขุนพลสวีต)กับฝึกฮาคิสังเกตุระดับสูง ื่งคาตาคุริรู้ว่าแฟลมป์(น้องสาว)ช่วยโกง ก็ไม่พอใจทำร้ายตัวเองให้สาหัสพอๆกับลูฟี่ สู้ตัดสินกัน ลูฟี่ใช้เกียร์ 4 สเนคแมนชนะ กับถูกซันจิพาตัวขึ้นเรือ ทางGerma 66 กับพวกไทโยร่วมมือกับถ่วงเวลาพวกบิ๊กมัม ให้พวกหมวกฟางออกจากอาณาเขตบิ๊กมัมสำเร็จ แต่จินเบขอไปช่วยพวกไทโยรับคำสั่งลูฟี่ให้กลับมาเจอกันในวาโนคุนิ ====วาโนคุนิ==== พวกหมวกฟางไปถึงวาโนคุนิ ลูฟี่หลงแยกกับพรรคพวกไปช่วยทามะ(เด็กสาวยากจน)จากพวกไคโด แฝงตัวเป็นชาวบ้านร่วมโซโลกับลอว์(ติดไปด้วย)ป่วนทั่วแคว้นคุริชิงเสบียงมาแจกจ่าย พอรวมตัวกันในปราสาทโอเด้ง พวกคินเอมอนเผยว่า คือคนจากวาในยุค 20 ปีก่อน(ถูกโทคิภรรยาของโอเด้งส่งข้ามยุคมาอนาคต)แต่ไคโดเมามาคุริ ลูฟี่ท้าสู้แพ้ไคโดง่ายๆ กับถูกจับเป็นนักโทษในแคว้นอุด้งสนิทกับคิดและปู่เฮียว โอโรจิเริ่มรู้แผนไล่จับคนสักจันทร์เสี้ยวบนข้อเท้า โซโลถูกกิวคิมารุ(โจร)ขโมยดาบชูซุย ช่วยโคมุราซากิ(ฮิโยริ น้องสาวของโมโมโนะสุเกะ)กับโอโตโกะจากมือพิฆาต คามาโซ(คิลเลอร์กินSMILEพลาด)ทางยาสึอิเอ(อดีตไดเมียวฮาคุไม)สละชีวิตเปลี่ยนโค้ดลับอ้างว่าเล่นสนุกก่อนถูกโอริจิฆ่าตาย ชาวเมืองยากจนได้แต่ขำเพราะทุกคนกินSMILE(ผลปีศาจเทียมที่ล้มเหลว)ทางควีน(ดารานำ)มาตรวจตราแคว้นอุด้งจับลูฟี่กับปู่เฮียวมาแข่งซูโม่ประหาร ทางคิดแหกคุกพบคิลเลอร์จึงถูกจับทั้งคู่ถูกจับกดน้ำ บิ๊กมัมความจำเสื่อม(นำทัพมาวาโนแต่ถูกคิงซัดเรือตกน้ำตกแยกกับลูกๆ)ถูกช็อปเปอร์ คิคุ โมโมโนะสุเกะกับทามะล่อไปช่วยลูฟี่ที่อุด้งเกิดคลั่งถูกควีนทำร้ายจนกลับมาจำได้กับสลบ ควีนพาตัวไปโอนิกาชิมะ ลูฟี่ยึดคุกได้นักโทษมาเป็นพวก ทางคิดเล่นตัวแยกไปหาพวกพ้องรวมตัวก่อน ทางพันธมิตร นินจา โจรสลัด มิงค์ ซามูไรแผนราบรื่นไปมาก ลูฟี่ฝึกฮาคิเกราะระดับสูง โซโลได้รับดาบเอ็นมะ(ดาบของโอเด้ง)ฮิโยริสืบทอดมา รวบรวมทัพซามูไร แปลนฐานไคโด เรือโดยสาร จึงแยกทางกันไปรอพบกันในวันศึก โชกุน โอโรจิรู้แผนจากสปายจึงปิดทุกทาง วันศึกที่นัดพบเป็นกองซากเรือ ฝนตก ไม่พบใคร ซามูไรปลอกดาบแดงจึงขึ้นเรือเล็กไปต่อลำพังแค่ 7 คนโดยต่างสงสัยว่า ใครคือสปาย คันจูโร่เผยว่าชื่อ คุโรซึมิ คันจูโร่ คือ สปายของโอโรจิ เพราะตอนเด็กพ่อแม่ถูกฆ่าตายกลางเวทีแค่เพราะตระกูลคุโรซึมิ จึงถูกพวกโอโรจิช่วยกับเล่นบทสปายแฝงตัวร่วมกับโอเด้ง แต่ 3 โจรสลัดนำโดย ลูฟี่ ลอว์ คิด รวมตัวกัน จินเบมาร่วมศึกทัน กับเหล่ากองทัพทยอยมารวมตัวก่อนสำเร็จ(เพราะคินเอมอนอ่านโค้ดผิด)คันจูโร่จึงจับตัวโมโมโนะสุเกะไปแจ้งโอโรจิที่โอนิกาชิมะก่อน ทางพันธมิตร นินจา โจรสลัด มิงค์ ซามูไรประชุมแผนรบ พังเรือซามูไรทิ้งกับแฝงตัวเข้างาน โดยให้ลูฟี่กับคิดคือนกต่อ ทางซามูไรปลอกดาบแดงได้อิโซมาแทนที่จนครบ ชนะทัพของคันจูโร่ ทางโอโรจิกลัวจึงจับโมโมโนะสุเกะไปเตรียมประหาร ไคโดได้เผยถึงแผนชินโอนิกาชิมะ ประกาศเป็นพันธมิตรกับบิ๊กมัม ค้นหาอาวุธโบราณ ไปหาวันพีซ ตัดหัวโอโรจิ กับให้สมุนของโอโรจิมาเข้าพวกกับให้ยามาโตะ(ลูกสาว)เป็นโชกุนสร้างเกาะโจรสลัดขึ้นมา ซามูไรปลอกดาบแดงบุกสู้ไคโดบนยอกเกาะ เกิดศึกทางพันธมิตร นินจา โจรสลัด มิงค์ ซามูไรประทะกลุ่มโจรสลัดร้อยอสูร สงครามบนเกาะลอยฟ้า 5,400:30,000 คน ควีนแพร่เชื้ออสูรเยือกแข็งใส่มิตรกับศัตรู โซโลจัดการอาพูนำยาแก้มาให้ช็อปเปอร์ทำยารักษาทุกคน จนได้พวกเพิ่ม ทามะแอบเข้าเกาะแบ่งคิบิดังโงะให้Gifter กินเป็นพวก กับสมุนระดับล่างย้ายข้างตาม ไคโดชนะซามูไรปลอกดาบแดงร่วมมือกับบิ๊กมัม สู้ชนะ ลูฟี่ คิด ลอว์ โซโล คิลเลอร์ ทุกคนแยกบิ๊กมัมกับไคโด ลูฟี่ฝึกฮาคิราชันย์หุ้มโจมตีผลคือแพ้ไคโดตกเกาะไป ถูกพวกฮาร์ตช่วยรักษา คันจูโร่หวังฆ่าโมโมโนะสุเกะก็แพ้คินเอมอนจนสาหัสใกล้ตายถูกโอโรจิสั่งให้สร้างคะเซ็นโบเผาทั้งเกาะ ทาง 6 ล่องนภากับดารานำแพ้กันหมด โมโมโนะสุเกะตามหาลูฟี่เจอ ก็ขอร้องให้ชิโนบุใช้พลังเปลี่ยนให้โตขึ้นอายุ 28 เพื่อเป็นมังกรตัวโตสำเร็จช่วยพาลูฟี่กับกลุ่มฮาร์ตไปโอโนกาชิมะรบต่อ ดารานำแพ้หมด บิ๊กมัมแพ้คิดกับลอว์ ยามาโตะกับโมโมโนะสุเกะหาทางหยุดไม่ให้เกาะหรือตกได้ ไคโดชนะลูฟี่(ถูกCP0ช่วยโกง)ไม่พอใจจึงฆ่าCP0ทิ้ง แต่ลูฟี่ฟื้นขึ้นเพราะผลปีศาจในตัวเพิ่งตื่นเป็นเกียร์ 5 สู้ตัดสินกับไคโดชนะ จินเบกับไรโซช่วยกันดับไฟทั่วโอนิกาชิมะสำเร็จ เด็นจิโร่ฆ่าโอโรจิกับช่วยฮิโยริไว้ โมโมโนะสุเกะถูกยามาโตะเตือนสติสร้างเมฆไฟพยุงโอนิกาชิมะไม่ให้ตกสำเร็จก็ตั้งตนเป็นโชกุนปกครองวาโนอย่างมีสันติสุข พลเรือเอกเรียวคุเกียวมาวาโนเพื่อจับตัวลูฟี่ แต่ถูกแชงค์ใช้ฮาคิราชันย์ขู่จึงยอมถอย พอพักฟื้นเสร็จ 3 กัปตัน ลูฟี่ ลอว์ คิด เลือกเส้นทางก่อนจากกัน และแบ่งโร้ดโพเนกลีฟของไคโดให้กัน ===ศึกสุดท้าย=== หลังจบรีเวอรี(ช่วงก่อนวันศึกในวาโน)มีมติยุบระบบ 7 เทพโจรสลัด ซาโบนำ 3 แม่ทัพของคณะปฏิวัติสู้กับ 2 พลเรือเอก ทำแผนสำเร็จคือทำลายตรามังกรฟ้ากับคลังเสบียง ปลดปล่อยทาสมากสุดกับช่วยคุมะสำเร็จ เพื่อล่อให้ภาคีอัศวินเทพออกมา ราชาคอบร้าไปหา 5 ผู้เฒ่าถูกอิมฆ่าเพราะรู้มากเกินไป ซาโบอยู่ในเหตุการณ์หนีไป ทางวาโปลแอบดูเกิดกลัวจึงพาวีวี่หนีไปซ่อนตัวกับสำนักข่าวของมอร์แกน แฮนค็อกถูกทหารเรือกับกลุ่มหนวดดำบุก แต่เรย์ลี่มาทุกฝ่ายจึงยอมถอย วีวีลไล่ทหารเรือในบ้านเกิดหนวดขาว แต่ถูกพลเรือเอกเรียวคุเกียวจับตัวไป ทั่วโลกทราบข่าวการแพ้ของ 2 ใน 4 จักรพรรดิ(บิ๊กมัมกับไคโด) มีคนมาแทนที่ครบคือ ลูฟี่(ชนะไคโด) กับบากี้ ก่อตั้งCross guild(องค์กรล่าทหารเรือมี 2 ใน 7 เทพโจรสลัดรุ่นแรก มิฮอว์คกับครอคโคไดล์ร่วมมือ)ทางวาโน 3 กัปตัน(ลูฟี่,คิด,ลอว์)แยกทางกันไป ได้แก่ ลอว์ไปเกาะWinner แพ้ทีช ถูกชิงโร้ดโพเนกลีฟ แต่เบโปได้พาลอว์หนีไป ทางคิดไปเอลบัฟ แพ้แชงค์ง่ายดายถูกชิงโร้ดโพเนกลีฟ ซาโบถูกใส่ความฆ่าราชาคอบร้าหนีไปซ่อนในลูลูเชีย ทางอิมทดลองใช้Mother Flame ใส่ลูลูเชียพอดีเป็นหลุมทะเลยักษ์กับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 1 เมตร กับหมายล่าวีวี่เพื่อถอนรากถอนโคนไปด้วย แม้ซาโบหนีมาบอกเรื่องอิมให้ดราก้อนกับอิวานคอฟรู้เท่านั้น(กลัวเกิดภัย)ทางรัฐบาลโลกส่งเซราฟิม 3 ตัวไปหยุดปฏิวัติทั่วโลก กลุ่มหมวกฟางไปEgghead เกาะวิทยาศาสตร์ ช่วยบอนนี(เรือล่ม)พบเวก้าพังค์ทั้ง 7 รู้เรื่องร้อยปีแห่งความว่างเปล่ามากไปจึงขอติดเรือหมวกฟางไป ถูกCP0(ลุจจิ คาคุ สตุสซี่)ไล่ฆ่า ทุกฝ่ายชิงสิทธิสั่งเซราฟิม 4 ตัว แม้รอดภัยCP0 เพราะสตุสซี่(สปายของเวก้าพังค์)บอนนีรู้ความจริงก็เข้าใจกับเลิกฆ่าเวก้าพังค์ แต่เซราฟิม 4 ตัวเกิดคลั่ง ตัวการคือ ยอร์ค(เวก้าพังค์คนที่ 6)เพราะหวังอยากเป็นชาวมังกรฟ้าจับ CP5,7,8ล่อCP0มาให้เกิดเรื่องแต่แรก กลุ่มหมวกฟางจึงต้องปล่อยCP0(ลุจจิ,คาคุ)มาร่วมสู้ชั่วคราว ทางกาฟนำหน่วยSWORDกับทหารเรือที่เห็นด้วยไปเกาะฮาจิโนสึเพื่อช่วยโคบี้กับปล่อยทาสหนีมาได้สำเร็จ แต่กาฟถ่วงเวลาถูกจับตัวไปแทน ทางCross guild แม้ราบรื่น มิฮอว์คกับครอคโคไดล์คิดสร้างประเทศยูโธเปียรัฐทหารขึ้นมา บากี้ไม่เห็นด้วยเพราะไม่ตรงกับแนวทางโจรสลัดโดยรู้ว่า แชงค์เริ่มล่าวันพีซ บากี้จึงบ้าเห็นว่าฐานะเท่าเทียมกัน อยากเป็นราชาโจรสลัดกับประกาศล่าวันพีซเพื่ออยากชนะแชงค์ คือเกมล่าชิงสมบัติ ทำให้ครอคโคไดล์กับมิฮอว์คโกรธแค้นต้องยอมแม้ไม่เต็มใจ วันต่อมากลุ่มหมวกฟางจับยอร์คเป็นตัวประกันต่อรองกับ 5 ผู้เฒ่าได้ แต่แซทเทิร์น(1 ใน 5 ผู้เฒ่า)กับคิซารุ นำทัพพลเรือโท 9 คนกับ เรือรบ 100ลำ(ทหารเรือ 30,000คน)ไปEggheadเพื่อเปิดศึกกับกลุ่มหมวกฟาง == ภาพรวม == === ข้อตั้ง === ซีรีส์มุ่งสนใจมังกี้ ดี. ลูฟี่ ชายหนุ่มผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากไอดอลวัยเด็กและโจรสลัดทรงพลัง "ผมแดง" แชงคูส ออกเดินทางจากทะเลอีสบลูไปค้นหาสมบัติขึ้นชื่อ วันพีซ แล้วประกาศตนเป็นราชาโจรสลัด ลูฟี่พยายามจัดตั้งลูกเรือของตน คือ โจรสลัดหมวกฟาง ช่วยและผูกมิตรกับนักดาบชื่อ โรโรโนอา โซโร แล้วมุ่งหน้าออกค้นหาวันพีซ ต่อมา นามิ ต้นหนและโจร, อุซป พลแม่นปืนและคนหลอกลวง , และวินสโมค ซันจิ เชฟผู้ซึ่งยังเป็นเจ้าชายจากครอบครัวนักฆ่า ก็เข้าร่วมด้วย ทั้งหมดได้เรือมาลำหนึ่งชื่อ โกอิ้งแมรีและผชิญหน้ากับโจรสลัดฉาวโฉ่แห่งอีสบลู เมื่อลูฟี่และลูกเรือของเขาล่องเรือผจญภัย มีผู้เข้าร่วมลูกเรือในภายหลัง รวมทั้งโทนี่ โทนี่ ช็อปเปอร์ หมอและเรนเดียร์, นิโค โรบิน นักโบราณคดีและอดีตนักฆ่า, แฟรงกี ช่างต่อเรือไซบอร์ก นักดนตรีโครงกระดูก บรุค และนายท้ายเรือ จินเบและยังได้เรือลำใหม่ชื่อ เธาซันด์ ซันนี่ ปัจจุบันมี 999 ตอน == ฉากท้องเรื่อง == โลกของวันพีซมีมนุษย์และเผ่าพันธุ์อื่นจำนวนมากอาศัยอยู่ เช่น "มนุษย์เงือก" คนแคระ เผ่ามิงค์ (เผ่าพันธุ์สัตว์คล้ายมนุษย์) ชาวเกาะท้องฟ้า และยักษ์ กินอาณาเขตสองมหาสมุทร ซึ่งคั่นด้วยเทือกเขาขนาดยักษ์เรียก เรดไลน์ ( Reddo Rain) ซึ่งเป็นทวีปเดียวในโลก แกรนด์ไลน์ ทะเลซึ่งทอดตั้งฉากกับแกรนด์ไลน์ แบ่งมหาสมุทรออกเป็นสี่ทะเล ได้แก่ นอร์ทบลู อีสบลู เวสต์บลู และเซาท์บลู มีทะเลสองสายล้อมรอบแกรนด์ไลน์ เรียก คามเบลท์ คล้ายกับละติจูดม้า ซึ่งแทบไม่มีลมหรือกระแสน้ำมหาสมุทร และเป็นที่เพาะพันธุ์สัตว์ทะเลขนาดใหญ่มาก เรียก ด้วยเหตุนี้ คามเบลท์จึงเป็นปราการอย่างดีแก่ผู้ที่พยายามเข้าแกรนด์ไลน์ ทว่า เรือกองทัพเรือ สมาชิกองค์การระหว่างรัฐบาลที่เรียก รัฐบาลโลก สามารถใช้ เพื่ออำพรางตนจากเจ้าทะเลและสามารถผ่านคามเบลท์ได้ เรืออื่นถูกบีบให้ใช้เส้นทางอันตรายกว่า ผ่านภูเขาที่แยกแรกของแกรนด์ไลน์กับเรดไลน์ เป็นระบบคลองที่เรียก น้ำทะเลจากมหาสมุทรทั้งสี่ไหลขึ้นภูเขานั้นและรวมกันบนยอดไหลลงมาเป็นคลองที่ห้าเข้าสู่ครึ่งแรกของแกรนด์ไลน์ ครึ่งหลังของแกรนด์ไลน์ซึ่งอยู่เลยแยกสองกับเรดไลน์ เรียกว่า กระแสน้ำและลมฟ้าอากาศของทะเลเปิดของแกรนด์ไลน์เอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างยิ่ง ส่วนใกล้เกาะต่าง ๆ ภูมิอากาศจะคงที่ สนามแม่เหล็กในแกรนด์ไลน์ทำให้เข็มทิศปกติทำงานไม่ได้ ทำให้เดินเรือได้ยากขึ้น และต้องใช้เข็มทิศพิเศษที่เรียก ล็อกโพสทำงานโดยล็อกปลายด้านหนึ่งกับสนามแม่เหล็กของเกาะ แล้วล็อกกับสนามแม่เหล็กของอีกเกาะหนึ่ง เวลาสำหรับตั้งขึ้นอยู่กับเกาะ กระบวนการนี้สามารถข้ามได้โดยมี ล็อกโพสแบบนี้ที่ตั้งกับเกาะใดเกาะหนึ่งอย่างถาวรและไม่เปลี่ยน โลกของวันพีซยังมีการผิดกาละ อย่าง สัตว์คล้ายหอยทากที่ติดกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และทำหน้าที่เหมือนโทรศัพท์หมุน เครื่องโทรสาร กล้องสอดแนมและอุปกรณ์คล้ายกัน เปลือกของสัตว์ที่อาศัยอยู่บนท้องฟ้าบางชนิด สามารถใช้บรรจุพลังงานจลน์ ลม เสียง ภาพ ความร้อนและคล้ายกัน และมีการใช้ประโยชน์หลากหลาย ==ผลปีศาจ== ผลไม้ลายก้นหอยให้พลังพิเศษแก่ผู้กิน 1 คน(เฉพาะใครที่กินคำแรกเท่านั้น)ตำนานกล่าวว่าคือร่างแปลงของปีศาจ หรือสมบัติแห่งท้องทะเล ความเป็นไปได้ในวิวัฒการนาการของมนุษย์ ที่ใครเคยใฝ่ฝันอย่างแรงกล้า มีหลายคนใช้เวลาทั้งชีวิตออกหาแค่ 1 ผลแต่พลาด(เพราะหายากกว่าสมบัติกับ ราคาสูงถึง 100 ล้าน ถ้ารู้พลังก่อนกินจะแพงขึ้น)ในโลกมีหลายผลไม่เคยถูกระบุ กินเท่านั้น(ถึงรู้พลัง)ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ถ้าใครใช้เป็นจะเก่งขึ้น แต่ถ้าผลถูกกินไปแล้วแค่ 1 คำ(ใครกินเร็วกว่าได้พลัง คนช้าอดได้พลัง)เหลือแค่ผลรสห่วยใครกินต่อ(มีพลังหรือไม่)ก็ไร้พลัง กับใครมีพลังอยู่แล้วร่างไม่ระเบิด ไม่รับความเสี่ยง ขายก็ไร้ราคา โดยหลัก มี 3 ชนิด พารามิเซีย: ทำให้ผู้ใช้มีพลังเหนือมนุษย์ พบได้มากสุด ที่ไม่แน่นอน มีทั้งพลังที่ด้อยหรือเก่นกว่าสาโกีย โซออน: ทำให้ผู้ใช้มีพลังสัตว์ได้ 3 ร่าง คือ ร่างคน(ปกติ)ร่างสัตว์(สัตว์ตามผลนั้น)ร่างครึ่งสัตว์(สมดุล)พื้นฐานคือเพิ่มพลังกายภาพ บางชนิดเป็นพันธุ์มายา(สัตว์ในตำนาน หายากพอๆ กับสายโลเกีย)และสายดึกดำบรรด์(สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์)แต่ในกรณีสัตว์พันธุ์เดียวกันกินผลชนิดนั้น เช่น ม้ากิน ผลอุมะ อุมะ ใช้พลังไม่ได้(เป็นม้าอยู่แล้ว)แค่รับความเสี่ยงว่ายน้ำไม่ได้ตลอดชีวิต กับหมดแรงตอนแตะหินไคโรเท่านั้น โลเกีย:หายากสุด ทำให้ผู้ใช้เป็นสสารตามชนิดนั้น การโจมตีกายภาพจะไร้ผลทะลุผ่านตัว เว้นแต่จะแพ้ทางสสารกันเอง เช่น ไฟ แพ้น้ำ เป็นต้น รูปแบบตื่น:วิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของผู้ใช้ เพิ่มพลังใหม่ให้ผู้ใช้ เป้นได้ก็ต่อเมื่อจิตใจผู้ใช้ตามพลังทัน พารามิเซีย: ส่งผลถึงสภาพแวดล้อม นอกจากร่างผู้ใช้ โซออน: ทำให้เกิดร่างที่ 4 =ร่างครึ่งสัตว์ที่ทรงพลังกับอันตรายและฟื้นตัวเร็วเก่งกว่าเดิม แต่พันธุ์สัตว์มายา รูปแบบจะคลุมเคลือ โรเกีย:ไม่ระบุ จุดอ่อน:ใครได้พลังมีปีศาจสถิตในตัวความเสี่ยงตามมาคือถูกทะเลรังเกลียด = ใครว่ายน้ำได้หรือไม่จะว่ายน้ำไม่ได้ตลอดชีวิต ตกน้ำจืดหรือทะเล จมอย่างเดียว(ถึงมีคลื่นในแม่น้ำหรือทะเลไม่ถูกซัด)กรณีอาบน้ำแบบฝักบัวเหมือนฝนโปรยๆ จะไม่เป็นไร(เว้นแต่พลังแพ้ทางน้ำ)แต่ถ้าจุ่มตัวในที่มีน้ำขังถึงเต็มตัวจะมีผลเหมือนตกน้ำคือหมดแรงจนเป็นอัมพาตแต่ยังใช้พลังได้อยู่ แตะหินไคโร(พอมีแรงกายภาพอยู่บ้างแต่ไร้พลัง)กับถ้าผู้ใช้ตายหรือผลปีศาจถูกทำลาย จะไปเกิดใหม่ ในผลไม้ธรรมดาในชนิดเดียวกันในรัศมีใกล้สุด ถ้าใครมีพลังกินผลที่ 2 ร่างจะระเบิดตายทันที(ปีศาจ 2 ตัวสู้กันจนตัวผู้ใช้รับภาระไม่ไหวระเบิดตาย)แต่ในกรณีใครมีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ กินผล 2 จะไม่เป็นไรแต่รับความเสี่ยงมากกว่าเดิม ===ผลปีศาจเทียม=== มนุษย์สร้างด้อยกว่าของจริง จุดอ่อนคือใครกินว่ายน้ำไม่ได้ แต่ถ้าผู้ใช้ตายหรือผลถูกทำลายจะไม่เกิดใหม่ ตื่นเหมือนของจริงไม่ได้ ====เวก้าพังค์==== สกัดดจากนำเลือดกับDNAของผู้ใช้พลัง(มีชีวิตอยู่เท่านั้น) โซออน:สร้างออกมาเป็นผลได้ *โซออน พันธุ์สัตว์มายา:ใช้งบกับทุนหลายปี(ต่างกันแค่สี) พารามิเซีย:นำองค์ประกอบสายเลือดของผู้ใช้ที่มีชีวิตมาสร้างเลือดแบบพิเศษ(กรีนบลัด =เลือดสีเขียว)แล้วนำเลือดนั้นเข้าร่างใครจะทำให้ได้พลัง โรเกีย:ยากมาก ====SMILE==== ผลงานซีซาร์ นำSAD(สารเคมีองค์ประกอบทางสายเลือดสัตว์ที่มีตัวตนอยู่หลายชนิด)ให้พืชดูดซึมจนออกผลแอปเปิ้ลลายจุด มีความเสี่ยงกว่าของจริงคือ สำเร็จแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น 9 ผล(พลาด)ว่ายน้ำไม่ได้กับขำตลอดชีวิต ส่งผลต่อใครกินผลเหลือต่ออีกที ส่วนผลสำเร็จมีพลังสัตว์ 1 ชนิดกับติดในร่างครึ่งสัตว์ไร้ความเสถียรนั้นตลอดไป บางรายคืนร่างได้(มีแค่ร่างคนกับครึ่งสัตว์ไร้เสถียรเท่านั้น)ไคโดซื้อสร้างทัพ gifter 500 คน(สำเร็จ) === สิ่งของกินผลปีศาจ === เทคโนโลยีใหม่ของแกรนไลน์ นำวัตถุหรือสารเคมีกินผลปีศาจ(คิดค้นโดยเวก้าพังค์)ทำได้เฉพาะสายโซออนเท่านั้น จึงทำให้มีชีวิตได้(มีชีวิตกับนิสัยตามสายโซออนชนิดนั้น)ถ้าวัตถุนั้นอยู่กับผลปีศาจ 2 ผล จะไร้ผล(แม้มีสายโซออนในนั้นหรือไม่)เพราะวัตถุ 1 ชิ้นรองรับได้แค่ 1 ผล == สื่อ == == รายชื่อตอน == == เพลงประกอบ == เพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูนวันพีซ จำนวนมากได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับผู้ถือลิขสิทธิ์ในมังงะเรื่อง วันพีซ ของ เออิชิโร โอะดะ เพลงธีมและตัวละครต่าง ๆ ในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 49 อัลบั้มเดี่ยว ซึ่งบางส่วนในจำนวนนั้นถูกปล่อยตัวมาในรูปแบบอัลบั้มรวมเพลง 6 อัลบั้ม หรือ 16 ซีดีเพลงประกอบภาพยนตร์ == ภาพยนตร์ == == วิดีโอเกม == เกมอื่น ๆ == รางวัล == === มังงะ === มังงะชุดนี้ เข้ารอบสุดท้ายในรายการ รางวัลวัฒนธรรมเท็ตสึกะ โอซามุ สามสมัย ช่วงปี ค.ศ. 2000-2002 ด้วยยอดจำนวนแฟนที่เสนอเข้าชิงรางวัลมากที่สุดในช่วงสองปีแรก ใน ค.ศ. 2008 จากผลการสำรวจโดย โอริคอน พบว่าเหล่าวัยรุ่นชาวญี่ปุ่นเลือกให้เป็นมังงะที่มีความน่าสนใจมากที่สุดอีกด้วย == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เว็บไซต์มังงะอย่างเป็นทางการ เว็บไซต์อนิเมะอย่างเป็นทางการ วันพีซ ที่วิเกีย แผนที่โลกวันพีซ ที่khooz โทเอแอนิเมชัน การ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเน็ง มังงะที่ตีพิมพ์ในพุทธทศวรรษ 2540 มังงะที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2541 อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2540 อนิเมะ ทูนามิ สงครามในอนิเมะและมังงะ
thaiwikipedia
770
แม่น้ำ
แม่น้ำ (river) เป็นทางน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ เป็นคำศัพท์ทั่วไปที่ในทางวิทยาศาสตร์หมายถึงกระแสน้ำตามธรรมชาติทั้งหลาย รวมทั้งกระแสน้ำขนาดเล็ก เช่น ลำธาร คลอง เป็นต้น น้ำฝนที่ตกลงบนพื้นดินจะไหลไปยังแม่น้ำแล้วออกสู่มหาสมุทรหรือแอ่งน้ำขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำมีส่วนประกอบโดยพื้นฐานหลายส่วน อาจมีแหล่งกำเนิดจากต้นน้ำหรือน้ำซับ แล้วไหลสู่กระแสน้ำหลัก ลำธารสายเล็กที่ไหลลงสู่แม่น้ำเรียกว่าแคว โดยปกติกระแสน้ำจะไหลไปตามร่องน้ำที่ขนาบข้างด้วยตลิ่ง ที่จุดสิ้นสุดของแม่น้ำหรือปากแม่น้ำ มักมีลักษณะแผ่ขยายออก เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta) หรือชะวากทะเล (Estuary) == ดูเพิ่ม == ==== ทั่วไป ==== ที่ราบลุ่มแม่น้ำ วัฏจักรของน้ำ กระบวนการของธารน้ำ ==== การข้าม ==== สะพาน เรือข้ามฟาก อุโมงค์ ==== รายชื่อ ==== รายชื่อแม่น้ำในประเทศไทย == อ้างอิง == Jeffrey W. Jacobs. "Rivers, Major World". Water Encyclopaedia. Luna B. Leopold (1994). A View of the River. Harvard University Press. ISBN 0-674-93732-5. OCLC 28889034. ISBN. — a non-technical primer on the geomorphology and hydraulics of water. == แหล่งข้อมูลอื่น ==
thaiwikipedia
771
การแบ่งประเภท
redirect การแบ่งประเภทข้อมูล
thaiwikipedia
772
เกาะ
เกาะ (island) เป็นพื้นดินที่ล้อมรอบด้วยน้ำ มีขนาดเล็กกว่าทวีป อาจอยู่ในมหาสมุทร ทะเล ทะเลสาบ หรือแม่น้ำ เกาะขนาดเล็กเรียกว่า เกาะเล็ก (isle) ซึ่งรวมถึงอะทอลล์ (atoll) หรือ เกาะปะการังวงแหวน และ เกาะปริ่มน้ำ (key หรือ cay) ที่เป็นเกาะขนาดเล็กโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นน้ำ เกาะหลายเกาะที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า กลุ่มเกาะ (archipelago) อาจแบ่งเกาะในทะเลได้เป็น 4 ประเภท คือ เกาะริมทวีป (continental island), เกาะกลางสมุทร (oceanic island), เกาะปะการัง (atoll) และเกาะภูเขาไฟ (volcanic island) และเกาะภายในทวีปคือ เกาะแม่น้ำ (river island) นอกจากนี้ยังมีเกาะเทียม (artificial island) ที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ == นิยาม == เกาะ หมายถึง แผ่นดิน หรือบริเวณพื้นดิน หิน หรือทรายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำและอยู่เหนือน้ำตลอดเวลา (คงพื้นผิวที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติเหนือน้ำได้ในเวลาน้ำขึ้น) ทั้งนี้เกาะอาจอยู่ในทะเล แม่น้ำ หรือที่ลุ่มน้ำขัง เช่น บึง หรือทะเลสาบ == ดูเพิ่ม == รายชื่อเกาะเรียงตามขนาด == อ้างอิง == ธรณีสัณฐานชายฝั่งและมหาสมุทร ธรณีสัณฐานธารน้ำ คำศัพท์สมุทรศาสตร์
thaiwikipedia
773
ปฏิทินจันทรคติไทย
ปฏิทินจันทรคติไทย (อังกฤษ: Thai lunar calendar) คือ ปฏิทินที่นับตามคติการโคจรของดวงจันทร์ โดยหมายดูจากปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม สำหรับปฏิทินจันทรคติ ของไทย จะมีด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้ ปฏิทินจันทรคติราชการ หรือปฏิทินหลวง เป็นแบบที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม อาศัยการกำหนดรูปแบบปีทางจันทรคติ อย่างไรก็ตาม หลักการคำนวณหารูปแบบปีจันทรคติ ยังไม่มีการสรุปเป็นสูตรที่ตายตัวแน่ชัด ใช้เป็นปฏิทินจันทรคติราชการทั่วไป ตลอดจน พระสงฆ์ไทยคณะมหานิกาย ปฏิทินจันทรคติปักขคณนา เป็นแบบที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ มีสูตรคำนวณที่แน่ชัด และมีความแม่นยำตามธรรมชาติกว่าแบบราชการอยู่มาก และให้ทรงนำมาใช้ในพระสงฆ์ไทย คณะธรรมยุติกนิกาย == การนับช่วงเวลา == การนับช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติไทย เป็นการนับโดยถือเอาการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์เป็นหลัก ดังนี้ คืนเดือนดับ จะสังเกตไม่เห็นดวงจันทร์ คืนข้างขึ้น จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยว นิดเดียวแล้วค่อยๆ โตขึ้นในแต่ละวันจนเต็มดวง คืนเดือนเพ็ญ จะสังเกตเห็นดวงจันทร์สว่างเต็มดวงมากที่สุดในรอบเดือนจันทรคติ คืนข้างแรม จะสังเกตเห็นดวงจันทร์ค่อยๆ แหว่งเป็นรูปเสี้ยวเล็กลงๆ จนในที่สุดดวงจันทร์ก็มืดทั้งดวง การอ่านวันตามแบบจันทรคติจะอ่านเป็นตัวเลขโดยเริ่มที่วันอาทิตย์เป็นหนึ่ง และนับต่อไปตามลำดับจนถึงวันเสาร์นับเป็นเจ็ด และมีการกำหนดดิถีดวงจันทร์และตัวเลขเดือนกำกับอย่างย่อ โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวเลข ดังตัวอย่าง อ่านว่า วันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 การนับวันทางจันทรคติตามหลักของปฏิทินราชการ (ซึ่งแตกต่างจากหลักของปฏิทินจันทรคติปักขคณนา) ได้กำหนดให้ เริ่มนับวันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงขึ้น 15 ค่ำ แล้วจึงขึ้นวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 14 ค่ำ ในเดือนคี่ และวันแรม 15 ค่ำ ในเดือนคู่ จึงทำให้เดือนคี่มี 29 วัน เดือนคู่มี 30 วัน การนับเดือนทางจันทรคติ เริ่มต้นนับเดือนธันวาคมเป็นเดือน 1 เรียกว่าเดือนอ้าย มกราคมเป็นเดือนที่ 2 เรียกว่า เดือนยี่ และนับเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงเดือน 12 ยกเว้นเขตภาคเหนือตอนบน หรือดินแดนล้านนาเดิม ที่มีการนับเดือนเร็วกว่า 2 เดือน กล่าวคือ ในวันลอยกระทง ตรงกับเดือน 12 ใต้ และตรงกับเดือน 2 เหนือ (12, 1, 2) ส่วนวันมาฆบูชา ตรงกับเดือน 3 ใต้ และ เดือน 5 เหนือ การนับปีทางจันทรคติ นับตามเวลาการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 29 วันครึ่งในเวลา 1 เดือน ถ้านับ 29 วัน เวลาจะขาดไป 12 ชั่วโมง แต่ถ้านับ 30 วัน เวลาจะเกินไป 12 ชั่วโมง จึงต้องนับ 59 วัน เป็น 2 เดือน โดยให้นับเดือนคี่มี 29 วัน และเดือนคู่มี 30 วัน โดยเดือนคี่เป็นเดือนต้น เดือนคู่เป็นเดือนรองถัดไป สลับจนครบ 12 เดือน แล้วเริ่มต้นใหม่ ถ้านับวันปีทางจันทรคติจะมีเพียง 354 วัน ซึ่งมีวันน้อยกว่าปีทางสุริยคติถึง 11 วันต่อปี เมื่อรวม 3 ปี จะได้ 33 วัน ดังนั้นในทุกๆ 3 ปีทางจันทรคติ จะมีเดือน 8 สองหน คือจะมี 13 เดือน เรียกปีนั้นว่า ปีอธิกมาส ==ปีปฏิทินไทย== แบ่งเป็น ๓ แบบ คือ ปีปกติ มี ๑๒ เดือน ปีอธิกมาส มี ๑๓ เดือน มีเดือนพิเศษแทรกระหว่างเดือน ๗ กับเดือน ๘ เรียกว่า"เดือน ๘ หนแรก" ปีอธิกวาร มี ๑๒ เดือน มีวัน"แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๗" ===วัตถุประสงค์ของการแทรกเดือนและวัน=== ปีอธิกมาส เพื่อให้โดยเฉลี่ย ๑ ปีมี ๓๖๕.๒๕๖๓๖๓ วัน ตามรอบปีดาวฤกษ์ ปีอธิกวาร เพื่อให้โดยเฉลี่ย ๑ เดือนมี ๒๙.๕๓๐๕๘๘ วัน ตามเดือนจันทร์ดับ ===วิธีหาปีอธิกมาส=== ๑ ปีมี ๓๖๕.๒๕๖๓๖๓/๒๙.๕๓๐๕๘๘ = ๑๒.๓๖๘๗๔๖๗๐ เดือน จึงต้องแทรก ๑ เดือนทุกๆ ๑/๐.๓๖๘๗๔๖๗๐ = ๒.๗๑๑๘๘๘ ปี ๑๙ ปี แทรก ๗ ครั้ง ๑๖๐ ปี แทรก ๕๙ ครั้ง ๑๖๑๙ ปี แทรก ๕๙๗ ครั้ง ลอย ชุนพงษ์ทอง ได้คิดค้นสูตรหาอธิกมาส โดยปีมหาศักราชนั้น จะเป็นปีอธิกมาสก็ต่อเมื่อ :F=mod(x-0.45222,2.7118886) และ F โดย x คือ ม.ศ. mod(a,b) เป็นเศษเหลือจากการหาร a ด้วย b ๐.๔๕๒๒๒ เป็นค่าคงที่ซึ่งสอดคล้องกับปฏิทินไทยในประวัติศาสตร์ช่วง ๕๐๐ ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ม.ศ.๑๗๙๓(พ.ศ. ๒๔๑๕,ค.ศ.๑๘๗๒) F=mod(1794-0.45222,2.7118886) F=2.7013>=1 จึงไม่เป็นปีอธิกมาส ===วิธีหาเดือนอธิกมาส=== ลอย ชุนพงษ์ทอง คิดสูตรคำนวณเดือนอธิกมาส แบบพระราชประสงค์ของ ร.๔ ดังนี้ :M=11.5- \lfloor F \times 12 \rfloor เช่น ม.ศ. ๑๗๙๔, F=0.9894 เป็นปีอธิกมาส M=11.5- \lfloor 0.9894 \times 12 \rfloor =0.5 แทรกเดือน ๐.๕ เรียกว่า เดือน ๑ หนแรก (เดือน ๑ หนที่สอง คือเดือน ๑ จริง) อีกวิธีหนึ่งคือหาช่วงที่พระอาทิตย์อยู่ราศีใดราศีหนึ่งมีจันทร์ดับสองครั้ง เดือนนั้นเป็นอธิกมาส == ความแตกต่างระหว่างการบอกเฟสของดวงจันทร์ในปฏิทินจันทรคติไทยกับการสังเกตดวงจันทร์จริง == เฟสของดวงจันทร์ที่ใช้เพื่อใช้จัดทำปฏิทินจันทรคติไทย ใช้เวลาเที่ยงคืน ในการคำนวณหาเฟสของดวงจันทร์เสมือน ที่ถือว่าโคจรรอบโลกด้วยอัตราเร็วคงที่ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับการสังเกตเห็นเฟสดวงจันทร์ในท้องฟ้าจริง (อาจคลาดเคลื่อนไปจากดวงจันทร์ได้ถึง 0.65 วัน) จันทร์ดับ หรือวันเดือนดับ ในทางปฏิทินจันทรคติไทย หมายถึง คืนที่ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวเล็กที่สุด ในรอบเดือนนั้น เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติจึงทำให้พบวันจันทร์ดับนี้ได้ในคืนข้างแรม 14- 15 ค่ำ หรืออาจเป็นขึ้น 1-2 ค่ำ แต่ในทางดาราศาสตร์ จันทร์ดับ หรือ New Moon จะต้องเป็นวันที่ดวงจันทร์ขึ้นและตกพร้อมกับดวงอาทิตย์ หรือ ดวงจันทร์มีมุมห่าง 0 องศากับดวงอาทิตย์ จึงไม่สามารถสังเกตเห็นเสี้ยวของดวงจันทร์ได้ จันทร์เพ็ญ หรือวันเดือนเพ็ญ หรือวันเดือนเต็มดวง ปฏิทินจันทรคติไทย หมายถึง คืนที่ดวงจันทร์มีความสว่างเต็มดวงมากที่สุด ในรอบเดือนนั้น โดยหลักการแล้วจะไม่ใช่ทั้ง ข้างขึ้น หรือข้างแรม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง ระหว่างข้างขึ้นและข้างแรม ในปฏิทินจันทรคติไทย เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติจึงทำให้พบวันเพ็ญในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำ หรือช่วงวันแรม 1-2 ค่ำ ก็ได้ ส่วนในทางดาราศาสตร์นั้น จันทร์เพ็ญ หรือ Full Moon จะเป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ที่มุมห่าง 180 องศากับดวงอาทิตย์ จะสังเกตเห็นดวงจันทร์มีความสว่างเต็มดวง มีรูปร่างเป็นวงกลม ช่วงเวลาที่พบจันทร์เพ็ญนั้นมีโอกาศเกิดขึ้นในเวลากลางวันดังนั้นจึงอาจจะไม่สังเกตเห็นจันทร์เพ็ญนี้ จันทร์กึ่งดวง ไม่จำเป็นต้องเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ หรือแรม 8 ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระ อาจเป็นวันขึ้น 7 ค่ำ หรือแรม 7 ค่ำ ก็ได้ ปฏิทินจันทรคติไทยพบว่ามีความคลาดเคลื่อนจากการสังเกตดวงจันทร์ในท้องฟ้าจริง ซึ่งอาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการคำนวณเฟสของดวงจันทร์ในปฏิทินจันทรคติไทย 2 ส่วน คือ ส่วนการทดวัน (ทางปฏิทิน) ซึ่งมีค่าได้ถึง 0.5วัน โดยเฉพาะในเดือน 6 ของปีอธิกวารเป็นช่วงที่รอทดวัน กับส่วนความเป็นวงรีของ วงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก (ทางดาราศาสตร์) ซึ่งมีค่าได้ถึง 0.65 วัน อีกส่วนหนึ่ง == การสังเกตดวงจันทร์อย่างง่าย == วันจันทร์เพ็ญ วันจันทร์เพ็ญควรเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเท่านั้น แต่เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติจึงอาจเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ หรือแรม 1 ค่ำก็ได้ ผู้ที่เคยสังเกตดวงจันทร์เป็นประจำจะสามารถจำแนกดวงจันทร์วันเพ็ญกับดวงจันทร์ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำได้ การดูจันทร์เพ็ญอย่างง่าย (วิธีหนึ่ง) ในเขตร้อน เช่นประเทศไทย ให้ดูเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดังนี้ 1.ถ้าคืนนั้นเป็นจันทร์เพ็ญ จะเห็นดวงจันทร์กำลังขึ้นพอดี อยู่ฝั่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ 2.ถ้าดวงจันทร์อยู่สูงเกิน 7 องศา แสดงว่ายังไม่ถึงวันจันทร์เพ็ญ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าดวงจันทร์ด้านล่างยังแหว่งอยู่ เป็นข้างขึ้น เช่น ขึ้น 14 ค่ำ (หรืออาจเป็นขึ้น 15 ค่ำก็ได้ในบางเดือน) 3.ถ้าดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วราว 1/2 ชั่วโมง แต่ดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นเลย และเมื่อดวงจันทร์ขึ้นแล้วให้สังเกตว่า ดวงจันทร์ด้านบนจะแหว่งไปเล็กน้อย กรณีนี้เป็นแรม 1 - 2 ค่ำ วันจันทร์ดับอย่างง่าย วันจันทร์ดับควรเป็นวันแรม 14-15 ค่ำเท่านั้น แต่เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของปฏิทินจันทรคติวันจันทร์ดับอาจเป็นวันขึ้น 1 ค่ำได้ (มีโอกาส ราว 50%) การดูจันทร์ดับอย่างง่ายในเขตร้อน เช่นประเทศไทย ให้ดูเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดังนี้ 1.ถ้าคืนนั้นดวงจันทร์ยังไม่ดับ จะไม่เห็นดวงจันทร์เลย เพราะดวงจันทร์ตกขอบฟ้าไปก่อนดวงอาทิตย์ เช่น วันแรม 13-14-15 ค่ำ 2.ถ้าคืนนั้นเป็นคืนจันทร์ดับพอดี อาจไม่เห็นดวงจันทร์ก็ได้ เพราะดวงจันทร์จะตกไล่เลี่ยกับดวงอาทิตย์ คือตกก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์ไม่เกิน ครึ่งชั่วโมง เช่น แรม 14-15 ค่ำ ขึ้น 1 ค่ำ 3.ถ้าคืนนั้นเป็นคืนอมาวสี(จันทร์ดับ) คือ คืนถัดจากคืนจันทร์ดับ จะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวบางๆ หงายท้อง และตกตามหลังดวงอาทิตย์ไป ราว 1/2 ชั่วโมง เช่น ขึ้น 2 ค่ำ อาจเป็นขึ้น 1 ค่ำก็ได้ ในบางเดือน) วันจันทร์กึ่งดวง รูปร่างดวงจันทร์ครึ่งดวงสังเกตได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตามหากต้องดูให้ละเอียดขึ้น ให้สังเกตดังนี้ 1.การสังเกตดวงจันทร์ครึ่งดวงข้างขึ้น ให้ดูตอนที่ดวงอาทิตย์ตก ดวงจันทร์จะอยู่กลางฟ้า (ทางทิศใต้) พอดี ส่วนมากเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ แต่อาจเป็นขึ้น 7 ค่ำก็ได้ 2.การสังเกตดวงจันทร์ครึ่งดวงข้างแรม ให้ดูในตอนที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงจันทร์จะอยู่กลางฟ้า (ทางทิศใต้) พอดี ส่วนมากตรงกับวันแรม 8 ค่ำ แต่อาจเป็นแรม 7 ค่ำก็ได้ การดูจันทร์ดับ/เพ็ญจากอุปราคา จันทรุปราคา จะเกิดในคืนจันทร์เพ็ญเท่านั้น มักเป็นวันขึ้น 15 ค่ำและมีโอกาสเกิดในวันขึ้น 14 ค่ำได้ด้วย แต่มีโอกาสน้อยมาก แต่บางครั้งอาจเป็นแรม 1 ค่ำก็ได้ โดยเฉพาะถ้าขึ้นจันทรุปราคาในช่วงหัวค่ำ ส่วนสุริยุปราคา มักจะเกิดในวันจันทร์ดับ แต่ในบางครั้งเกิดในวันถัดไปก็ได้ โดยเฉพาะหากเกิดช่วงเช้า วันเกิดสุริยุปราคามักตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ หรือวันแรมสุดท้ายของเดือน == ดูเพิ่ม == ปฏิทินจันทรคติ ปฏิทินไทเดิม เวลามาตรฐานไทย == อ้างอิง == จันทรคติไทย
thaiwikipedia
774
รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส (Square) เป็นรูปทรงเรขาคณิตสองมิติ จัดอยู่ในหมวดหมู่รูปสี่เหลี่ยม ในขณะเดียวกัน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็มีคุณสมบัติเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปสี่เหลี่ยมรูปว่าว และรูปสี่เหลี่ยมด้านขนานด้วยเช่นกัน == คุณสมบัติ == มีด้านทั้งหมดสี่ด้าน ด้านทุกด้านยาวเท่ากัน ด้านที่อยู่ตรงข้ามกันจะขนานกัน มีมุมทั้งหมดสี่มุม มุมภายในทุกมุมกางออก 90° (มุมฉาก) เท่ากัน เส้นทแยงมุมทั้งสองเส้นยาวเท่ากัน เส้นทแยงมุมทั้งสองตัดกันเป็นมุมฉากที่จุดกึ่งกลางรูป เมื่อเส้นทแยงมุมทั้งสองแบ่งครึ่งกันและกัน เส้นทแยงมุมแบ่งครึ่งรูปเป็นสามเหลี่ยมมุมฉาก มีแกนสมมาตรมากที่สุด 4 แกน == พื้นที่และความยาวรอบรูป == === พื้นที่ === พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีสูตรการคำนวณหาพื้นที่สองสูตรด้วยกัน สูตรแรกคำนวณจากการนำความยาวด้านยกกำลังสอง หรือมาจากความกว้างรูปคูณด้วยความสูงรูป (ซึ่งสำหรับรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมีด้านเท่ากัน) หรือสูตรที่สองคำนวณด้วยความยาวเส้นทแยงมุม ด้วยการนำความยาวเส้นทแยงมุมยกกำลังสอง จะได้สี่เหลี่ยมที่มีพื้นที่เป็นสองเท่าของรูปที่สนใจ แล้วจึงหารด้วยสอง เขียนเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ได้ว่า ====== สูตรแรก หาจากความยาวด้าน ====== a \times a หรือ a^{2} ตัวอย่าง เมื่อ a (ด้าน) = 7 7 \times 7 = 49 หรือ 7 ^ 2 = 49 ดังนั้นพื้นที่ของสี่เหลี่ยมจัตุรัสคือ 49 ตารางหน่วย ====== สูตรที่สอง หาจากความยาวเส้นทแยงมุม ====== \frac{1}{2}(b)^2 ตัวอย่าง เมื่อ b (เส้นทแยงมุม) = 6.5 \frac{1}{2}(6.5)^2=21.125 ดังนั้นพื้นที่ของสี่เหลี่ยมจัตุรัสคือ 21.125 ตารางหน่วย === ความยาวรอบรูป === ความยาวรอบรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คำนวณจากผลรวมของความยาวด้านทั้ง 4 ด้าน ซึ่งเท่ากันทุกด้าน จึงเท่ากับความยาวด้านคูณด้วย 4 เขียนเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ได้ว่า 4a ตัวอย่าง เมื่อ a (ด้าน) = 12 4 \times 12 = 48 ดังนั้นความยาวรอบรูปของสี่เหลี่ยมจัตุรัสคือ 48 หน่วย จัตุรัส
thaiwikipedia
775
ปฏิทินปักขคณนา
ปักขคณนา หรือ ปักษคณนา เป็นปฏิทินจันทรคติไทยประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีการคำนวณหาวันขึ้นแรมให้แม่นยำตรงตามการโคจรของดวงจันทร์เป็นสำคัญ โดยไม่ได้นับวันตามการขึ้นตกของดวงอาทิตย์ แต่ใช้วิธีการนับโดยการยึดหาวันเพ็ญ และ วันดับ แทน สำหรับการคำนวณวันที่จะใช้กระดานปักขคณนา ในการช่วยคำนวณ ซึ่งจะซับซ้อนกว่าการนับปกติ สำหรับระบบปฏิทินจันทรคติแบบปักขคณนานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงค้นคิดวิธีคำนวณขึ้นใช้ในพระสงฆ์คณะธรรมยุติ เพื่อใช้ในการทำศาสนกิจต่อไป == ศัพทมูล == ปักขคณนา เป็นคำที่เกิดคำว่า ปักขะ ซึ่งเป็นภาษาบาลี ที่แปลว่า ปักษ์ (ปักษฺ ใน ภาษาสันสกฤต) หรือครึ่งรอบเดือน ในความหมายอีกแง่หนึ่ง หมายถึง ปีกข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งก็คือ ข้าง ในแง่ ข้างขึ้น หรือข้างแรม มารวมกับคำว่า คณนา ซึ่งแปลว่า การคำนวณ ดังนั้น ปักขคณนา จึงแปลว่า การนับปักษ์ หรือ วิธีคำนวณดิถีตามปักษ์ ใช้กำหนดวันธรรมสวนะของพระสงฆ์คณะธรรมยุติ ปฏิทินปักขคณนา เป็นปฏิทินจันทรคติที่แบ่งเดือนเป็นสองส่วน ส่วนละครึ่งเดือน (ก่อน-หลังคืนเดือนเพ็ญ) อุปมาได้กับการบอกเวลาแบบนาฬิกาสิบสองชั่วโมง (AM-PM) (ซึ่งแบ่งวันเป็นสองส่วน ก่อน-หลังเที่ยง) มีใช้ในหมู่พระธรรมยุติกนิกาย เป็นคนละแบบกับปฏิทินหลวง ซึ่งเป็นรอบ 1 เดือน ระบบปฏิทินปักขคณนานี้เป็นระบบปฏิทินจันทรคติ ที่มีความเที่ยงตรงต่อปรากฏการณ์บนท้องฟ้ากว่าปฏิทินหลวง ด้วยเหตุที่เป็นรอบครึ่งเดือน อีกทั้งสามารถเลือกทดวัน ได้ทุกเดือน มีข้อน่าสังเกตที่สำคัญมากประการหนึ่ง คือ ตัวเลขในระบบปฏิทินปักขคณนา โดยเฉลี่ยแล้ว มีค่าน้อยกว่า ตัวเลขค่ำในปฏิทินหลวงอยู่ 0.5 ในช่วงข้างขึ้น และน้อยกว่า 0.265 ในช่วงข้างแรม ดังเช่น วันเพ็ญในปฏิทินหลวงมีค่าเฉลี่ยเป็น 15.265 ค่ำ หรือ ขึ้น 15 ค่ำ ค่อนข้างไปทางแรม 1 ค่ำ ขณะที่วันเพ็ญในปฏิทินปักขคณนา มีค่าเฉลี่ยเป็น ปักข์ 14.765 หรือที่ขึ้น 15 ค่ำ ค่อนข้างมาทางขึ้น 14 ค่ำ == การคำนวณข้างขึ้นข้างแรม == ตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "วิธีปักขคณนา" จากหนังสือ "ความรู้เรื่องปักขคณนา", มหามกุฏราชวิทยาลัย, หน้า 42 (ตัวสะกดรักษาตามต้นฉบับเดิม) ได้กล่าวถึงที่มาและวิธีการคำนวณไว้ว่า จะว่าด้วยกาลนับปักข์ตามมัชฌิมะคติให้ปริสัช ที่ไม่รู้ภาษามคธได้เข้าใจ ก็คำที่เรียกว่าปักข์นั้น คือแปลว่าปีกแห่งเดือน คือนับแต่พระจันทร์เพ็ญจนดับ ดับจนเพ็ญเรียกว่าปักข์หนึ่ง ๆ ก็ในปักข์หนึ่งนั้นบางทีมีวัน 14 15 ก็ในปักข์ 15 นั้น เรียกว่า ปักข์ถ้วน ในปักข์ 14 นั้น เรียกว่า ปักข์ขาด ก็ปักข์ถ้วนสาม ปักข์ขาดหนึ่งเรียกว่า จุละวัคค์ ปักข์ถ้วนสี่ ปักข์ขาดหนึ่ง เรียกว่า มหาวัคค์ จุละวัคค์สองที มหาวัคค์ทีหนึ่ง เรียกว่า จุลละสะมุหะ จุละวัคค์สามที มหาวัคค์ทีหนึ่ง เรียกว่ามหาสะมุหะ ในชั้นนี้ใช้มหาสะมุหะเป็นพื้น มหาสมุหะหกครั้ง จุลสะมุหะทีหนึ่ง เรียกมหาพยุหะ มหาสะมุหะห้าครั้ง จุละสะมุหะทีหนึ่ง เรียกว่า จุละพยุหะ ในชั้นนี้ใช้จุละพยุหะเป็นพื้น ฯ จุละพยุหะเก้าที มหาพยุหะทีหนึ่ง เรียก จุลสัมพยุหะ จุลพยุหะสิบที มหาพยุหะทีหนึ่ง เรียกว่า มหาสัมพยุหะ ในชั้นนี้ใช้มหาสัมพยุหะเป็นพื้น มหาสัมพยุหะมาได้สิบเจ็ดที จุละสัมพยุหะมาทีหนึ่ง เมื่อเป็นไปได้เท่านี้ คะติพระ 1, 2 ว่าจะได้เป็นเหมือน โดยมัชฌิมะคะติครั้งหนึ่ง ฯ วัตถุประสงค์ของปักขคณนาก็เพื่อหาวันจันทร์เพ็ญ หรือ วันจันทร์ดับ และ วันจันทร์ครึ่งดวง ให้ใกล้เคียงกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ซึ่งแต่ละปักข์จะมี 14-15 วัน ต้องตรวจดูเป็นปักษ์ๆ ไป สำหรับปักข์ที่มี 15 วัน ใช้คำ ปักษ์ถ้วน หรือ ปักษ์เต็ม และ สำหรับปักข์ที่มี 14 วัน ใช้คำว่า ปักษ์ขาด == กระดานปักขคณนา == กระดานปักขคณนา เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยคำนวณปฏิทินจันทรคติแบบปักขคณนาวิธี โดยมีเป็นแผ่นกระดานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และใช้หมุดไม้ในการช่วยเดินปักษ์ โดยกระดานปักขคณนานี้ เชื่อกันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดค้นขึ้นในขณะที่ผนวชอยู่ โดยอาศัยหลักตำราสารัมภ์มอญ ซึ่งใช้หลักการทดดิถีไปทีละวันๆ จึงเกิดเป็นรูปแบบกระดานปักขคณนาวิธีขึ้นมา ด้วยค่าระยะ 1 มาสที่ ทรงเลือกใช้ มีค่าเฉลี่ยปักข์ละ 14.7652967570875วัน (หรือ 289577÷294180 x15) หรือ เดือนละ 29.530593514175วัน ซึ่งใกล้เคียงกับค่า synodic month สมการของ Chapront-Touze and Chapront ได้คำนวณไว้ที่ราว 29.530589 สำหรับคริตศตวรรษที่ 21 == การเดินหมุดในกระดานปักขคณนา == {|class="wikitable" |- ! rowspan="2" |ชื่อแถว!! rowspan="2" |ช่องเทียบ!!colspan="18"|ช่องเดินหมุด |- |๑ |๒ |๓ |๔ |๕ |๖ |๗ |๘ |๙ |๑๐ |๑๑ |๑๒ |๑๓ |๑๔ |๑๕ |๑๖ |๑๗ |๑๘ |- !สัมพยุหะ |(ไม่มี) |มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||จุล |- style="border-top: 2px solid black" !rowspan="2"|พยุหะ |มหาสัมพยุหะ |จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||มหา|| colspan="7" | |- |จุลสัมพยุหะ |จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||จุล||มหา|| colspan="8" | |- style="border-top: 2px solid black" !rowspan="2"|สมุหะ |มหาพยุหะ |มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||จุล|| colspan="11" | |- |จุลพยุหะ |มหา||มหา||มหา||มหา||มหา||จุล|| colspan="12" | |- style="border-top: 2px solid black" !rowspan="2"|วรรค |มหาสมุหะ |จุล||จุล||จุล||มหา|| colspan="14" | |- |จุลสมุหะ |จุล||จุล||มหา|| colspan="15" | |- style="border-top: 2px solid black" !rowspan="2"|ปักข์ |มหาวรรค |มหา||มหา||มหา||มหา||จุล|| colspan="13" | |- |จุลวรรค |มหา||มหา||มหา||จุล|| colspan="14" | |- style="border-top: 2px solid black" !rowspan="2"|วัน (ค่ำ) |มหาปักข์ |๑||๒||๓||๔||๕||๖||๗||๘||๙||๑๐||๑๑||๑๒||๑๓||๑๔||๑๕|| colspan="3" | |- |จุลปักข์ |๑||๒||๓||๔||๕||๖||๗||๘||๙||๑๐||๑๑||๑๒||๑๓||๑๔|| colspan="4" | |} กระดานปักขคณนา ปกติมีอยู่ 5 แถว ได้แก่ สัมพยุหะ พยุหะ สมุหะ วรรค ปักข์ โดยชั้นสัมพยุหะมีแถวเดียว นอกเหนือจากนั้นจะมีแถวย่อย 2 แถว แยกเป็นมหาและจุล กระดานของจริงไม่มีช่องวัน แต่ที่ใส่นี้ก็เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น กระดานปักขคณนามักใช้อักษรขอม "ម" แทน "มหา" และ "ច" แทน "จุล" เมื่อเริ่มนับปักขคณนา เราจะเริ่มวางหมุดลงให้จัดตัวในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยเริ่มวางหมุดลงตรงแถวแรกคือสัมพยุหะ หากหมุดอยู่ตรง 'มหา' นั่นคือ ชั้นถัดลงไปก็ต้องวางที่แถว 'มหา' (แถวย่อยบน) หากหมุดอยู่ตรง 'จุล' นั่นคือ ชั้นถัดลงไปต้องวางที่แถว 'จุล' (แถวย่อยล่าง) แล้วก็ทำในทำนองเดียวกันจนวางหมุดตรงตำแหน่งแรกของวันได้ การวางตำแหน่งหมุดในแต่ละแถว ต้องพิจารณาตัวอักษรที่วางลงไป แล้วแถวถัดลงไปจะมีแถวย่อยตามที่แถวบนได้กำหนด เมื่อวางตำแหน่งแรกถูกต้องจะเป็นดังนี้คือ มหาสัมพยุหะ 1 จุลพยุหะ 1 มหาสมุหะ 1 จุลวรรค 1 มหาปักข์ 1 แรม 1 ค่ำ ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งปักขคณนาของวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.ISO 2279 (ตรงกับ พ.ศ.ราชการ 2278 หรือ ค.ศ.1736) ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปักขคณนา ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ให้ถือว่าเป็นวันปักข์ที่ 1 และเป็นปักข์ที่ 1 ซึ่งตรงกับข้างแรม) จากนั้น จึงทำการเดินหมุดไปทุก ๆ วัน ทีละช่อง จนสุดแถวของวัน แล้วก็เลื่อนปักข์ไปหนึ่งช่องทุกครั้งที่สุดแถววัน พร้อมนับวันใหม่ ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมพิจารณาว่า ในแถวปักข์มีหมุดตรงกับตัวจุลหรือมหา พอทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนสุดแถวปักข์ ก็ทำการเลื่อนวรรคไปหนึ่งช่อง พร้อมตั้งต้นปักข์ใหม่, พอสุดวรรค ก็ทำการเลื่อนสมุหะไปได้หนึ่งช่อง, พอสุดสมุหะ ก็ทำการเลื่อนพยุหะไปได้หนึ่งช่อง, พอสุดพยุหะ ก็เลื่อนสัมพยุหะไปได้หนึ่งช่อง, พอสุดสัมพยุหะ ก็ให้เริ่มปักขคณนาใหม่อีกรอบ (บันทึกว่าปักขคณนาผ่านไปแล้ว 1 รอบ) เดือนในปฏิทินปักขคณนา จะมี 2 ปักข์คือ ปักข์ขาด (14 วัน) กับ ปักข์ถ้วน (15 วัน) ในแต่ละเดือนอาจเป็น ปักข์ถ้วน-ปักข์ถ้วน (30 วัน) หรือ ปักข์ถ้วน-ปักข์ขาด (29 วัน) ก็เป็นได้ขึ้นอยู่กับการนับรอบปักข์นั้น , ปฏิทินปักขคณนาไม่มีกฎเรื่องเดือนคี่มี 29 วัน หรือ เดือนคู่มี 30 วัน แบบปฏิทินจันทรคติไทย ดังนั้นเดือนคี่อาจมี 30 วันได้ถ้าเป็นปักข์ถ้วนทั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน ปฏิทินปักขคณนาไม่มีการใช้ อธิกวาร เพราะใช้ปักข์กำหนดจำนวนวันเป็นเดือนปฏิทินปักขคณนาที่วาง อธิกมาส ตามพระราชาธิบายเรื่องอธิกมาส ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทุก ๆ 19 ปี จะมีเดือน อธิกมาส 7 ครั้ง วางอธิกมาสทุก ๆ 33 , 33 , 32 , 33 , 32 , 33 และ 32 เดือนตามลำดับ จะวางหลังเดือน ๘ เรียกเดือนแปดสองหน หรือ เดือนแปดหลัง (๘๘) จำนวนวันในเดือนที่เพิ่มเข้ามา อาจไม่เท่ากับ 30 วัน หรือจำนวนวันในเดือนอธิกมาสตามปฏิทินจันทรคติไทย อาจเพิ่ม 29 วันก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับรอบปักข์นั้น ๆ ว่า ปักข์ถ้วน หรือ ปักข์ขาด === เลขใช้บอกปักข์ === เลขใช้บอก สัมพยุหะ พยุหะ สมุหะ วรรค ปักข์ เช่น มหาสัมพยุหะ 7 จุลพยุหะ 6 มหาสมุหะ 1 จุลวรรค 2 มหาปักข์ 2 เป็น ๗ฉ๑ข๒ มหาสัมพยุหะ 8 จุลพยุหะ 7 มหาสมุหะ 2 มหาวรรค 4 มหาปักข์ 2 เป็น ๘ษ๒๔๒ === วิธีคำนวณแบบเจ้าคุณลอย === พระราชภัทราจารย์ (ลอย สิริคุตโต) แห่งวัดโสมนัสวิหาร (พ.ศ. 2514) จึงเสนอวิธีคำนวณ ดังต่อไปนี้ หาวันจูเลียน UT12 ของวันที่ต้องการหาก่อน (วันจูเลียน UT12 = วันจูเลียน UT0 + 0.5) ตั้งวันจูเลียน UT12 ลบด้วย 2355147 ผลที่ได้เป็นวันปักข์ นำวันปักข์หารด้วย 16168 ผลที่ได้ให้บวก 1 เป็นตำแหน่งสัมพยุหะ ส่วนเศษหมายไว้ก่อน นำเศษจากข้อ 3 หารด้วย 1447 ผลที่ได้ให้บวก 1 เป็นตำแหน่งพยุหะ ส่วนเศษให้นำไปใช้ต่อในขั้นต่อไป นำเศษจากข้อ 4 หารด้วย 251 ผลที่ได้ให้บวก 1 เป็นตำแหน่งสมุหะ ส่วนเศษให้นำไปใช้ต่อในขั้นต่อไป นำเศษจากข้อ 5 หารด้วย 59 ผลที่ได้ให้บวก 1 เป็นตำแหน่งวรรค ส่วนเศษให้นำไปใช้ต่อในขั้นต่อไป นำเศษจากข้อ 6 หารด้วย 15 ผลที่ได้ให้บวก 1 เป็นตำแหน่งปักษ์ ส่วนเศษให้นำไปใช้ต่อในขั้นต่อไป เศษที่ได้จากขั้นที่ 7 คือตำแหน่งวัน เมื่อคำนวณได้แล้ว ก็ให้วางหมุดตามตำแหน่งที่คำนวณได้จากบนลงล่าง โดยพิจารณาตำแหน่ง ว่าตำหน่งของหมุดในแถวบนจะมีผลต่อตำแหน่งของหมุดในแถวย่อยที่อยู่ถัดลงไป เช่น ถ้าวรรคตรงกับ ม ก็แสดงว่าปักษ์จะตรงกับมหาปักษ์ เป็นต้น :หมายเหตุ สูตรการหารหาเศษข้างต้น แม้เป็นเป็นสูตรที่ดีแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากหากมีหมุดตัวหนึ่งตัวใดตกในแถวรอง เช่น เมื่อวันปักข์ 98956 ได้ผลจากกสูตรเป็น 7-2-2-5-1:12 แต่ควรจะได้ 7-2-2-4-5:12 เนื่องจากแถววัคค์ (แถวที่3) มีได้เต็มที่ คือ หลักที่ 4 ไม่มีทางเป็น 5 ได้ จึงต้องไม่ทดหมุดแถวปักข์ (แถวที่2) พระคุณเจ้าจึงแนะนำให้ลองวางหมุด เพื่อดูความเป็นไปได้ก่อนสรุป :เนื่องจากวันแรกของกระดานเป็นวันปักข์ที่1 และมีเลขปักข์คือ1 ตรงกับปักข์แรม1ค่ำ เลขปักข์ของวันใด ๆ และการหาข้างขึ้นหรือข้างแรม จากหลักเลขคณิตได้ดังนี้ เลขปักข์ = (วันปักข์ - ตำแหน่งวัน) ÷ 14.7652967570875 + 1 โดยปรับเศษขึ้นลง ให้ได้จำนวนเต็ม หากเลขปักข์เป็นเลขคี่ เช่น ปักข์ที่ 1 ของกระดาน เป็นข้างแรม หากเลขปักข์เป็นเลขคู่ เช่น ปักข์ที่ 2 ของกระดาน เป็นข้างขึ้น === ตัวอย่างการคำนวณ === วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 คำนวณวันจูเลียน UT12 เป็น 2454467 คิดวันปักข์ได้เป็น 2454467 - 2355147 = 99320 คำนวณและวางหมุดลงบนกระดานจากบนลงล่าง พร้อมพิจารณาอักษรในแต่ละช่องและตำแหน่งของหมุดในแถวหลั่นลงไป หาตำแหน่งสัมพยุหะจาก 99320 ÷ 16168 = 6 เศษ 2312 บวกผลที่ได้ด้วย 1 ได้ตำแหน่งสัมพยุหะ 7 มีอักษร ม อยู่ หาตำแหน่งพยุหะจาก 2312 ÷ 1447 = 1 เศษ 865 บวกผลที่ได้ด้วย 1 ได้ตำแหน่งพยุหะ 2 มีอักษร จ อยู่ หาตำแหน่งสมุหะจาก 865 ÷ 251 = 3 เศษ 112 บวกผลที่ได้ด้วย 1 ได้ตำแหน่งสมุหะ 4 มีอักษร ม อยู่ หาตำแหน่งวรรคจาก 112 ÷ 59 = 1 เศษ 54 บวกผลที่ได้ด้วย 1 ได้ตำแหน่งวรรค 2 มีอักษร จ อยู่ หาตำแหน่งปักษ์จาก 54 ÷ 15 = 3 เศษ 8 ได้ตำแหน่งปักษ์ 4 มีอักษร จ อยู่ จึงเป็นปักษ์ขาด เศษเหลือคือ 8 (วันที่ 8) อาจเขียนโดยย่อว่า 7-2-4-2-4:8 หรือ 1:7-2-4-2-4:8 เมื่อหมายถึงกระดานที่ 1 หาข้างขึ้นข้างแรมดังนี้ (99320-8)÷14.7652967570875 +1 = 6727.04 ปัดเศษลง ได้ 6727 เป็นเลขคี่ จึงเป็นข้างแรม ได้ตำแหน่ง วันที่ 8 เป็นข้างแรม คือ แรม 8 ค่ำ นั่นเอง วันสุดท้ายของปักข์ (ปักข์เต็มตรงกับ15 หรือปักข์ขาดตรงกับ14) จะตรงวันจันเพ็ญหรือจันทร์ดับ วันปักข์ที่ 7 ตรงกับวันจันทร์ครึ่งดวง วันข้างต้นทั้ง4วัน เป็นวันออกอุโบสถของพระสงฆ์ในธรรมยุตินิกาย == อ้างอิง == ปฏิทิน วัฒนธรรมไทย
thaiwikipedia
776
การแทนความรู้
การแทนความรู้ (Knowledge representation) เป็นสาขาหลักที่สำคัญที่สุด สาขาหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์. ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถนิยามคำว่า ความรู้ และ ความฉลาด ได้อย่างรัดกุมหรือสมบูรณ์ แต่มนุษย์เราโดยส่วนใหญ่ ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ความรู้กับความฉลาด เป็นสองสิ่ง ที่มีความสัมพันธ์ และความขึ้นต่อกัน สูงมาก. การพัฒนาสร้างสติปัญญาเทียม ให้ฉลาดเทียบเคียงได้กับมนุษย์ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องออกแบบความรู้ของเครื่องจักรให้ ดีและมีประสิทธิภาพ == ความหมายของการแทนความรู้ == การแทนความรู้ คือ การนำเสนอความรู้ ให้อยู่ในรูปที่เครื่องจักรสามารถนำไปใช้ได้. เนื่องจากมนุษย์แทนความรู้โดยใช้ภาษา (language) นักวิจัยสาขาปัญญาประดิษฐ์ จึงได้สร้างภาษาสำหรับแทนความรู้ขึ้นมาเช่นเดียวกัน. ภาษาที่ใช้แทนความรู้มีมากมายหลายวิธีในปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งโดยปกติแล้วคำว่าภาษาที่แทนความรู้ได้ดี ประกอบไปด้วยลักษณะที่พอสรุปได้ดังนี้ สามารถแทนความรู้ที่ซับซ้อนได้ (language is expressive) ความรู้ที่ถูกแทนควรอยู่ในรูปแบบที่กระชับ ประหยัดหน่วยความจำ (language is compact) ความรู้สามารถถูกนำไปใช้คิดหาเหตุผลหรืออนุมาน (inference) เพื่อใช้ในปัญหาต่างๆ ได้โดยง่าย (language is convenient for automated reasoning) สามารถเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง ให้อยู่ในรูปภาษาที่เราใช้ได้โดยง่าย (language is convenient for automated learning) ไม่มีภาษาใดในปัจจุบัน ที่นักวิจัยทุกคนยอมรับว่า ดีที่สุดในวงการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ โดยภาษาที่ใช้ในการแทนความรู้แต่ละภาษา จะมี “ศักยภาพในการแทนความรู้” หรือ “ความสามารถในการแสดงความรู้ของภาษา” (expressiveness) ได้ในระดับที่ต่างกัน นั่นคือความรู้บางประเภทที่มีความซับซ้อน จะไม่สามารถนำเสนอสู่เครื่องจักรที่ใช้ภาษาง่ายเกินไปได้ แต่การแทนความรู้ที่ซับซ้อนเกินไป ก็จะถูกนำไปใช้งาน และเรียนรู้ได้ยาก. นั่นคือในสถานการณ์ทั่วไป ผู้ใช้งานต้องเผชิญกับทางเลือก (dilemma/tradeoff) ว่า ต้องการนำเสนอความรู้ ในรูปแบบที่ซับซ้อนได้ดี [1. และ 2.] หรือว่าต้องการใช้งานความรู้นั้นได้อย่างสะดวก [3. และ 4.]. ในบทความนี้ จะนำเสนอเฉพาะประเด็น 1. และ 2. เท่านั้น ส่วนรายละเอียดของประเด็น 3. และ 4. สามารถดูได้ที่หัวข้อ การให้เหตุผลของเครื่อง และ การเรียนรู้ของเครื่อง == ชนิดของการแทนความรู้ == ในการอ่านหัวข้อนี้ถ้าผู้อ่านมีความรู้เรื่องโมเดลเชิงวัตถุ (object-oriented model) จะสามารถเข้าใจได้ดี เพราะเราสามารถมองความรู้ให้อยู่ในรูปของวัตถุและความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุได้ ศักยภาพในการแทนความรู้ที่ซับซ้อนของภาษามีสองประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาดังนี้ === ความสามารถในการแทนความรู้เกี่ยวกับวัตถุและความสัมพันธ์ประเภทเดียวกัน === โดยประเด็นแรกคือ ภาษานั้นแสดงความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ ของวัตถุและความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุได้ดีแค่ไหน โดยภาษาที่ดีควรจะความรู้ประเภทเดียวกันของวัตถุหรือความสัมพันธ์ประเภทเดียวกันได้อย่างประหยัด โดยเฉพาะกรณีที่เราพิจารณาโดเมนของวัตถุที่เป็นอนันต์(infinitely many objects) เช่น ความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่มีวัตถุคือตัวเลขนั้น บางภาษาสามารถใช้ตัวอักขระจำนวนจำกัด (finite) เพื่อแทนความรู้ที่เป็นอนันต์ได้ ตัวอย่างของความรู้ประเภทนี้คือกฎการสลับที่ของการบวกของตัวเลขซึ่งเราสามารถเขียนให้อยู่ในรูปภาษาพีชคณิตอย่างง่ายได้สั้นๆ ดังนี้ a+b = b+a นั่นคือเราสามารถแทน a และ b ด้วยตัวเลขใดๆในโดเมนที่พิจารณาก็ได้ ซึ่งตัวเลขทั้งหมด ในโดเมนจะมีคุณสมบัติการสลับที่นี้ทั้งหมด โดยไม่ว่าเราจะพิจารณาโดเมนของจำนวนจริง จำนวนเต็ม หรือจำนวนเชิงซ้อนก็ตามจะมีคุณสมบัติการสลับที่ที่ว่านี้ จะเห็นว่าในที่นี้เราใช้เพียง 7 อักขระแทนความรู้มากมายมหาศาล แทนที่จะเป็น 1+2 = 2+1, 1+3 = 3+1, 2+3+ 3+2, ... === ความสามารถในการแทนความรู้ที่ไม่แน่นอน === ประเด็นนี้พิจารณาว่า ภาษานั้นสามารถแสดงความรู้ที่ไม่แน่นอน (uncertainty in knowledge) ได้หรือไม่ โดยความรู้ที่ไม่แน่นอนอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ (Ruhla, 1992) เช่น ความไม่แน่นอนเกิดจากการชั่ง, การตวง หรือการวัดของเรามีความคลาดเคลื่อน (error in measurement) ความไม่แน่นอนเกิดจากความรู้ของเราไม่สมบูรณ์ (ignorance/incomplete knowledge) เราไม่มีโมเดลความรู้ที่สมบูรณ์ (หมายถึงสามารถทำนายได้ถูกต้อง 100%) เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เช่น ในปัจจุบันเราไม่สามารถทำนายสภาพดินฟ้าอากาศล่วงหน้าได้สมบูรณ์แบบไม่ว่าเราจะมีข้อมูลเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศในปัจจุบันมากแค่ไหนก็ตาม อย่างไรก็ตามเราก็ยังสามารถนำข้อมูลที่เรามีทั้งหมดมาหาเหตุผลที่เหมาะสมหรืออนุมานเพื่อทำนายสภาพดินฟ้าอากาศที่น่าจะเป็นในวันรุ่งขึ้นได้อยู่ดี และนี่คือพลังของภาษาที่สามารถใส่ความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องถูกต้อง 100% ได้ เราไม่สามารถสังเกตสิ่งที่ปรากฏทั้งหมดในธรรมชาติได้แม้ว่าเราจะมีโมเดลความรู้ที่สมบูรณ์ (หรือสมมุติว่าสมบูรณ์) ก็ตาม เนื่องจากสิ่งที่ปรากฏทั้งหมดในธรรมชาติมีมากมายมหาศาล เช่น ทฤษฎีจลนศาสตร์ของแก๊สที่ถูกคิดค้นโดยเจมส์ คล๊าก แมกซ์เวลล์ได้แสดงความรู้เกี่ยวกับความเร็วเฉลี่ยของแก๊สและพลังงานเฉลี่ยในรูปทฤษฎีความน่าจะเป็น ความไม่แน่นอนเกิดจากความอ่อนไหวต่อสภาวะเบื้องต้น (sensitivity to initial conditions) ในระบบพลวัต เช่น ปรากฏการณ์เคออส ซึ่งถูกค้นพบโดยอองรี ปวงกาเร ความไม่แน่นอนเกิดจากธรรมชาติโดยตรง เช่น ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัมที่เชื่อว่าถูกต้องในวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน === ประเภทของการแทนความรู้ในงานวิจัยปัจจุบัน === ด้วยเหตุนี้เราจึงพอจะแบ่งประเภทของภาษาที่ใช้แสดงความรู้ได้เป็น 4 ประเภทคือ ความรู้ที่แสดงความรู้จำนวนอนันต์ได้ก็ต่อเมื่ออักขระมีจำนวนอนันต์ และไม่สามารถแทนความรู้ที่มีความไม่แน่นอนได้ เช่น ตรรกศาสตร์แบบฉบับ, การเรียนรู้ต้นไม้ตัดสินใจ, หรือ ออโตมาตาสถานะจำกัด ความรู้ที่แสดงความรู้จำนวนอนันต์ได้ก็ต่อเมื่ออักขระมีจำนวนอนันต์ แต่สามารถแทนความรู้ที่มีความไม่แน่นอนได้ เช่น ตรรกศาสตร์คลุมเครือ, เครือข่ายเบย์ ความรู้ที่แสดงความรู้จำนวนอนันต์ได้โดยอักขระจำนวนจำกัด แต่ไม่สามารถแทนความรู้ที่มีความไม่แน่นอนได้ (หรือไม่สามารถแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยธรรมชาติของภาษา) เช่น ตรรกศาสตร์อันดับหนึ่ง (หรือ ตรรกศาสตร์ภาคแสดงในศัพท์บัญญัติ ) ความรู้ที่แสดงความรู้จำนวนอนันต์ได้โดยอักขระจำนวนจำกัด และสามารถแทนความรู้ที่มีความไม่แน่นอนได้ โดยความรู้ประเภทสุดท้ายนี้มีศักยภาพของภาษาสูงมากซึ่งก็ทำให้การใช้มันซับซ้อนมากไปด้วย งานวิจัยในช่วงห้าปีหลังก็เริ่มมาสร้างภาษาที่สามารถแสดงความรู้ประเภทสุดท้ายนี้กันอย่างคึกคัก (ดูเว็บไซต์ของ PLM - Probabilistic Logical Models) == อ้างอิง == Stuart J. Russell, Peter Norvig (2003) "Artificial Intelligence: A Modern Approach" (2nd Edition), Prentice Hall, New Jersey, ISBN 0137903952. Charle Ruhla. "The Physics of Chance: From Blaise Pascal to Niels Bohr". Oxford University Press (December 1, 1992). == ดูเพิ่ม == ปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ของเครื่อง == แหล่งข้อมูลอื่น == Probabilistic-Logical Model Repository การให้เหตุผล แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ การแทนความรู้ ปัญญาประดิษฐ์
thaiwikipedia
777
หวง อี้ (นักเขียน)
บุคคลอื่นที่ชื่อ หวง อี้ ดูที่ หวง อี้ หวง อี้ (อักษรจีน: 黄易 พินอิน: Huáng Yì; พ.ศ. 2495 – 5 เมษายน พ.ศ. 2560) เป็นนามปากกาของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และนิยายกำลังภายในชาวฮ่องกง ชื่อจริง หวง จู่เฉียง (黄祖强) หลังเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจีนฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) เข้าทำงานที่สำนักงานฮ่องกงอาร์ต ดีเวลล็อปเมนต์ เคาน์ซิล จนได้เลื่อนขั้นเป็นระดับรองผู้อำนวยการ เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในเมื่อ ค.ศ. 1987 โดยช่วงแรกเขียนควบคู่ไปกับนิยายวิทยาศาสตร์ ในภายหลังจึงเปลี่ยนมาเขียนกำลังภายในเพียงอย่างเดียว โดยนิยายกำลังภายใน เรื่องแรกคือ เทพทลายนภา หวง อี้ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560 ที่โรงพยาบาลที่ฮ่องกง ด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน สิริอายุ 65 ปี == ผลงาน == ผลงานของหวง อี้ที่จัดพิมพ์ในประเทศไทยแปลโดย น.นพรัตน์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ เรียงตามลำดับการจัดพิมพ์ดังนี้ เจาะเวลาหาจิ๋นซี (尋秦記) - 8 เล่ม (2543, ฉบับตีพิมพ์ใหม่ลดลงเหลือ 7 เล่ม) มังกรคู่สู้สิบทิศ (大唐雙龍傳) - 21 เล่ม (ต.ค. 2544) ขุนศึกสะท้านปฐพี (荆楚 爭雄記) - 1 เล่ม (มี.ค. 2546) เทพมารสะท้านภพ (覆雨翻雲) - 18 เล่ม (พ.ค. 2548) จอมคนแผ่นดินเดือด (邊荒傳說) - 23 เล่ม (ก.ย. 2549) เทพทลายนภา (破碎虚空) - 1 เล่ม (ก.ย. 2550) ศึกรักแดนสนธยา (云梦城之谜) - 4 เล่ม (พ.ย. 2550) ผู้พิชิตดาราจักร (星际浪子) - 6 เล่ม (มี.ค. 2552) ผจญภัยข้ามขอบฟ้า (凌渡宇系列) - 6 เล่ม (ส.ค. 2553) นักล่ามหาประลัย (超级战士) - 2 เล่ม (พค. 2555) เหยี่ยวมารสะท้านสิบทิศ (日月當空) - 18 เล่ม จบภาค เหยี่ยวมารสัประยุทธ์สิบทิศ (龍戰在野) - 18 เล่ม เป็นภาคต่อจากเหยี่ยวมารสะท้านสิบทิศ (ม.ค. 2558) เหยี่ยวมารสยบสิบทิศ - 22 เล่ม เป็นภาคสุดท้ายที่หวง อี้เขียนไม่จบ === เรียงตามลำดับการเขียน === ขุนศึกสะท้านปฐพี (พ.ศ. 2530 และแก้ไขปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2538, ใช้ชื่อ ศึกเลียดก๊ก พิมพ์ปี 2532 ว.ณ เมืองลุง แปล) เทพทลายนภา (พ.ศ. 2531 และแก้ไขปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2539, ใช้ชื่อ เหยี่ยวเหนือฟ้า พิมพ์ปี 2533 ว.ณ เมืองลุง แปล) ผจญภัยข้ามขอบฟ้า (พ.ศ. 2531) เทพมารสะท้านภพ (พ.ศ. 2535) ผู้พิชิตดาราจักร (พ.ศ. 2537) เจาะเวลาหาจิ๋นซี (ก.ค. 2537) มังกรคู่สู้สิบทิศ (ม.ค. 2539) นักล่ามหาประลัย (พ.ศ. 2543) จอมคนแผ่นดินเดือด (พ.ศ. 2544) ศึกรักแดนสนธยา (พ.ศ. 2549) เหยี่ยวมารสะท้านสิบทิศ เหยี่ยวมารสัประยุทธ์สิบทิศ เหยี่ยวมารสยบสิบทิศ (กำหนดไว้ 36 เล่ม แต่เขียนถึงบทที่ 1 เล่ม 23 ก็เสียชีวิต) === เรียงตามลำดับเวลาในประวัติศาสตร์จีน === ขุนศึกสะท้านปฐพี (ยุคชุนชิว) เจาะเวลาหาจิ๋นซี (ต้นราชวงศ์ฉิน) จอมคนแผ่นดินเดือด (ปลายราชวงศ์จิ้น ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น ก่อนยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้) มังกรคู่สู้สิบทิศ (ปลายราชวงศ์สุย ต่อ ต้นราชวงศ์ถัง) เหยี่ยวมารสะท้านสิบทิศ เหยี่ยวมารสัประยุทธ์สิบทิศ และเหยี่ยวมารสยบสิบทิศ (สมัยบูเช็กเทียน ต้นราชวงศ์ถัง เดินเรื่องหลังเหตุการณ์ในมังกรคู่สู้สิบทิศเล่มจบ ประมาณ 60 ปี) เทพทลายนภา (ราชวงศ์หยวน) เทพมารสะท้านภพ (ต้นราชวงศ์หมิง) ผจญภัยข้ามขอบฟ้า (ปัจจุบัน) นักล่ามหาประลัย (โลกอนาคต) ผู้พิชิตดาราจักร (โลกอนาคต) สำหรับเรื่อง ศึกรักแดนสนธยานั้น หวง อี้ไม่ได้ระบุช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอน === ผลงานที่ถูกดัดแปลงในสื่ออื่น === ผลงานเรื่องเจาะเวลาหาจิ๋นซี, มังกรคู่สู้สิบทิศ และเทพมารสะท้านภพได้รับการดัดแปลงเป็นละครชุดทางโทรทัศน์โดย TVB ของประเทศจีน ผลงานเกือบทุกเรื่องมีเวอร์ชันหนังสือการ์ตูนเช่นกัน == คำวิจารณ์ == เนื่องจากหวง อี้เป็นนักเขียนยุคใหม่ที่เขียนนิยายกำลังภายในในช่วงที่ตลาดซบเซา เพราะการเสียชีวิตของโก้วเล้ง และการหยุดเขียนของกิมย้ง สองนักเขียนนิยายระดับปรมาจารย์ ทำให้ผลงานของหวง อี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ฝ่ายที่ชื่นชอบหวง อี้ได้ยกว่าหวง อี้มีความสามารถในการแต่งนิยายให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์จีนช่วงต่างๆ อย่างกลมกลีน และมีการค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงเขียนบรรยายฉากสงครามได้อย่างสมจริง ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าทางผู้จัดพิมพ์ ได้ยกย่องหวง อี้สูงเกินไปเพื่อเหตุผลในการตลาด เมื่อเทียบฝีมือแล้ว หวง อี้ยังด้อยกว่าสองปรมาจารย์อยู่ขั้นหนึ่ง เพราะผลงานของหวง อี้มักจะยาวเกินความจำเป็น ใช้ตัวละครเปลือง และบุคลิกของตัวละครค่อนข้างซ้ำกัน == อ้างอิง == จอมเทพอักษราแห่งบูรพาทิศ หวง อี้ - มติชน - สัมภาษณ์หวง อี้ในช่วงเดินทางมาประเทศไทยเพื่อโปรโมทเทพทลายนภา "หวง อี้" สุดยอดนักเขียนน้ำใจงาม บุกเยี่ยมแฟนหนังสือที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง - สยามดารา กระทบไหล่จอมยุทธ์ - ไทยรัฐ คอลัมน์ซูมซอกแซก 23 กย. 2550 หน้า 5, อาลัยจอมยุทธ์ "หวง อี้" ราชันกำลังภายในยุคใหม่. "เหะหะพาที" โดย ซูม. ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21630: วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา นักเขียนนิยายกำลังภายใน หวง อี้ บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2560 เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
thaiwikipedia
778
ฮิโนโทริ วิหคเพลิง
ฮิโนโทริ วิหคเพลิง (Phoenix) เรื่องและภาพโดย เท็ตซึกะ โอซามุ เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีเรื่องเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด โดยเกี่ยวพันกับ ฟีนิกซ์ นกไฟ หรือ โฮโอ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตอมตะ นอกจากนั้นยังสอดแทรกปรัชญาที่หลากหลาย และเป็นแนวคิดที่สื่อออกมาให้เห็นภาพของสังคมมนุษย์ ได้เป็นอย่างดี ฉบับภาษาญี่ปุ่นมี 16 เล่ม และภาคพิเศษอีก 1 เล่ม คือ ฮิโนโทริ วิหคเพลิง ภาคสงครามสามแผ่นดิน โดยเป็นการ์ตูนที่โอซามุใช้เวลาเขียนตลอดชีวิตของเขา โดยเริ่มเขียนในปี ค.ศ. 1954 และเขียนเล่มสุดท้ายก่อนเสียชีวิตในปี 1989 เนื้อหาในแต่ละเล่มจะต่อเนื่องกันบ้างหรือไม่ต่อเนื่องกัน ฉบับภาษาไทยเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ == เนื้อเรื่อง == == ตัวละคร == == รายชื่อตอน == == รายละเอียดของแต่ละเล่ม == ยึดตามฉบับภาษาไทย === เล่ม 11-12: ภาคไฟสงคราม === ตีพิมพ์ครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1978-1980 โดยตรงกับเล่ม Turbulent Times ของฉบับภาษาญี่ปุ่น และ Civil War ในฉบับที่ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยได้แบ่งภาคไฟสงครามออกเป็น 2 เล่ม คือ เล่ม 11-12 เนื้อเรื่องจับความในปลายสมัยเฮอัน เป็นเรื่องของชายตัดไม้ชื่อ "เบนตะ" และคู่หมั้นชื่อ "โอบุ" ซึ่งต้องพลัดพรากกันไปอยู่คนละฝ่ายในสงคราม โดยตัวละครในประวัติศาสตร์จริงอย่าง มินาโมโตะ โนะ โยชิซึเนะ และ ไทระ โนะ คิโยโมริ ได้มีบทบาทด้วย การ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนญี่ปุ่นแนวเซเน็ง‎ ภาพยนตร์ญี่ปุ่น เทซูกะโปรดักชัน
thaiwikipedia
779
แอร์เกียร์ ขาคู่ทะลุฟ้า
แอร์เกียร์ ขาคู่ทะลุฟ้า เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องและภาพโดยอิโตะ โองุเระ หรือที่รู้จักกันในนามปากกาว่า Oh! great เรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งขันแอร์เกียร์ ซึ่งคล้าย ๆ กับสเก็ต แต่เป็นรองเท้าสเก็ตที่ติดมอเตอร์แรงสูง ทำให้มีความเร็วสูง และทำให้ไต่กำแพงได้ ซึ่งท่าทางการเล่นต่างๆ จะเรียกว่า "ทริค" ลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเป็นของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ปัจจุบันตีพิมพ์ลงนิตยสาร KCWeekly ส่วนฉบับอนิเมะ ได้ลิขสิทธิ์จำหน่ายโดย TIGA == เนื้อเรื่อง == มินามิ อิซึกิ เด็กหนุ่มเลือดร้อนวิวาทเก่ง มีสัตว์เลี้ยงเป็นอีกาชื่อว่า "คู" อาศัยอยู่บ้านโนะยามาโนะ และชอบเรื่องมวยปล้ำเป็นพิเศษ แต่ได้มาสนใจ A.T เพราะพบกับชิมูกะ ไรเดอร์สาวสวยสุดเซ็กซี่เจ้าของฉายา"นกนางแอ่น" เขาจึงหัดเล่น A.T โดยมีพี่น้องตระกูลโนะยามาโนะคอยช่วยเหลือจนเริ่มเล่นเก่งขึ้น เมื่อรับรู้กติกาและการแบทเทิลแล้วจึงเข้าชิงชัยกับคู่ต่อสู้มากมาย จนกระทั่งรวบรวมคนมาตั้งทีมของตัวเอง คือทีม"โคะคาราซึมารู"ได้สำเร็จ โคะคาราซึมารูออกไล่ล่าสร้างอาณาเขตของตัวเองให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆจนเริ่มมีชื่อเสียงทำให้หลายฝ่ายเริ่มจับตามอง กระทั่งได้เข้าแข่งและถล่มทีม BEHEMOTH (เบฮีม็อท) ที่นำโดยอุโด้ อากิระ เจ้าของ"เรกาเลีย (ราชกกุธภัณฑ์) แห่งเขี้ยว"และมีสมาชิกกว่าพันคนได้สำเร็จ รวมทั้งสามารถชิงเรกาเลียแห่งเขี้ยวกลับมาคืนแก่ AGITO ทำให้ทีมมี"ราชาแห่งเขี้ยว"เป็นกำลังหลักเพิ่มขึ้น โคะคาราซึมารูจึงเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว และสร้างวีรกรรมที่ไรเดอร์ทั่วไปรวมถึงราชาคาดไม่ถึงอีกหลายครั้ง ค้นหาเส้นทางของตนเจอและได้รับการยืนยันแล้วว่าเส้นทางของอิซึกิคือ"เส้นทางแห่งสายลม" (Wing road) จนกระทั่งนกนางแอ่น ชิมูกะ ได้รวบรวมราชาหลายต่อหลายคนก่อตั้งเป็น"ทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ GENESIS" เจเนซิสมีสมาชิกรวมกว่าพันสามร้อยคน (เป็นทีมนับร้อยที่สังกัดราชาคนนั้นๆอยู่แล้วและมารวมตัวกัน) และประกาศศิโรราบแก่ทีมโคะคาราซึมารูโดยไม่มีเงื่อนไข และยังคิดให้อิซึกิขึ้นเป็นหัวหน้าใหญ่ เนื่องจากเจเนซิสมีความเชื่อว่าอิซึกิคือ"ชายผู้ใกล้เคียงตำแหน่งราชาแห่งท้องฟ้า"มากที่สุด ซึ่งต่อไปหากได้ตำแหน่งนี้ นั่นหมายความว่าอิซึกิจะมีอำนาจในการปกครองเรกาเลียและราชาทั้งหมด ทว่าอิซึกิยังไม่ยอมรับข้อเสนอ และยังประกาศสงครามกับเจเนซิสโดยไม่รีรอเช่นกัน โคะคาราซึมารูจึงฝึกฝนตัวเองขึ้นอย่างหนัก พร้อมกับลางร้ายที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับการกลับมาของ Sleeping forest (ป่าแห่งการหลับใหล) ทีมไรเดอร์ที่ร้ายกาจซึ่งจะคอยล่าผู้ที่ต้องการปกครองเรกาเลียแห่งท้องฟ้า ระหว่างนั้น "ป่าแห่งการหลับใหล"ก็เริ่มเผยโฉมออกมาเล่นงานไรเดอร์และเหล่าราชา โดยเฉพาะการเล่นงานนูเอะ ราชาแห่งสายฟ้า (Rising road) ที่ทำให้"เรกาเลียแห่งฟ้าร้อง"พังยับเยิน อิซึกิรู้ความจริงว่าริงโกะ หรือเพื่อนสาวสมัยเด็กที่โตมาด้วยกันคือ Crazy apple ผลไม้ต้องห้าม หัวหน้าใหญ่ของ"ป่าแห่งการหลับใหล" เธอเป็น"ราชินีแห่งหนาม" (Sonia road) เจ้าของ"เรกาเลียแห่งหนาม" เมื่อเธอและอิซึกิต่อสู้กัน ในตอนแรกอิซึกิเสียเปรียบอย่างหนักเพราะหนามของริงโกะมีไว้เพื่อฟาดฟันสายลมโดยเฉพาะ รวมทั้งยังได้พลังเสริมจากเรกาเลียด้วย ทว่าคุรุรุ ว่าที่ราชาแห่งการเชื่อมต่อได้มาช่วยเหลือไว้ได้ทันและมอบเรกาเลียแห่งสายลม"บากรัม"แก่อิซึกิ โฉมหน้าการต่อสู้จึงเปลี่ยนไป กลายเป็นจุดกำเนิดของราชาคนใหม่ และเป็นการแบทเทิลระหว่าง"ราชาแห่งสายลม"และ"ราชินีแห่งหนาม"อีกด้วย ผลจากการต่อสู้นี้คือเสมอ หลังจากนั้นอิซึกิได้บอกลาบ้านที่อาศัยมาตลอดสิบกว่าปีและออกจากบ้านโนยามาโนะเพื่อค้นหาความหมายในการปีนสู่ท้องฟ้าของตนพร้อมกับอากิโตะและ Aion Clock แห่งเจเนซิส แล้วจึงไปอยู่ที่บ้านของลูกทีม คาซึและทำการฝึกฝนอยู่กับทีมโคะคาราซึมารู == ตัวละคร == ===Minami Ikki (Karasu) === มินามิ อิซึกิ (อิกกิ) ฉายา Baby Face แห่งฮิงาจูแก๊ง Guns หลังจากได้เล่น A.T.(Air Trek) จึงประทับใจในประสิทธิภาพของ A.T. และเล่นเรื่อยมา โดยได้สร้างกลุ่ม"โคะคาราซึมารู"ในภายหลัง ซึ่งเป็นทีม A.T.ประกอบด้วย "ราชาแห่งเขี้ยว" อากิโตะ(+AGITO) , มิคุระ คาซึ , ข้าวปั้น , อดีตราชาแห่งความมืด บุจจะ และเข้าร่วม Part War จากนั้นจึงผ่านเข้ามาสู่การแข่งกรัมสเกลทัวร์นาเม้นต์พร้อมกับการสนับสนุนของทีมร้านเครื่องมือ "Tool Toul to" นำโดย "ราชินีแห่งการเชื่อมต่อ" (Lyin Road) คุรุรุ ในตอนแรก ได้รับตำแหน่ง"ราชาแห่งสายลม" (Wing road) ผู้ถือครองเรกาเลียแห่งสายลม"บากรัม" ทว่าก็ถูกทาเคอุจิ โซร่า อดีตราชาแห่งสายลมคนก่อนทรยศหักหลังและชิงตำแหน่งราชาแห่งสายลมไป จนถึงกับหมดกำลังใจ จนกระทั่งมิคุระ คาซึ มาช่วยไว้ โดยการรวบรวมคู่แข่งในสมัยก่อนมารวมตัวกัน พร้อมกับเปิดเมโมรี่ของSpit Fireให้ดู อิซึกิจึงรวบรวมกำลังใจจากพวกพ้องทำให้ยืนหยัดขึ้นได้อีกครั้ง อาจารย์ใหญ่จึงบัญญัติสร้างเส้นทางขึ้นมาใหม่ แต่งตั้งอิซึกิให้กลายเป็น"ราชาแห่งพายุ"(Hurricane road) แทนตำแหน่งเดิม อิซึกิถูกคาดหวังว่าจะกลายเป็น"ราชาแห่งท้องฟ้า" เนื่องจากฝีมือ นิสัยชอบทำอะไรที่คนอื่นคาดไม่ถึง และคุณสมบัติ Hawk eyeและ Trick path ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของ"ราชาแห่งท้องฟ้า" ===Noyamano Ringo === ริงโกะ (ที่หมายถึง แอปเปิ้ล)ในบรรดาพี่น้องบ้านโนยามาโนะ ริงโกะเป็นลูกคนที่ 3 เป็นเพื่อนแต่สมัยเด็กของอิกกิ เป็นผู้สืบทอดที่ถูกต้องและหัวหน้าใหญ่แห่ง Sleeping Forest (ป่าแห่งการหลับใหล) โดยใจจริงของริงโกะก็แอบชอบอิกกิ แต่ความที่เป็นศัตรูโดยธรรมชาติจึงไม่สามารถไปยืนอยู่เคียงข้างอิกกิได้ เป็น "ราชินีแห่งหนาม" เจ้าของเส้นทางแห่งหนาม (Sonia road) === Noyamano Mikan === โนยามาโนะ มิกัง เป็นลูกคนรองของบ้านโนยามาโนะ ชอบแกล้งอิกกิเป็นชีวิตจิตใจ สังกัด Sleeping Forest และเป็น Gravity Children เหมือนกัน เส้นทางของเธอคือ Gale road (ไม่มีเรกาเลีย) === Noyamano Ume === ลูกสาวคนเล็กของบ้านโนะยามาโนะ ชอบสวมเสื้อตัวใหญ่รุ่มร่าม และมักทำตุ๊กตาหน้าตาพิลึกพิลั่นออกมาตลอด มีความชำนาญเรื่องจักรกล อาจเทียบเคียงฝีมือการสร้างหรือซ่อมแซมเครื่องจักรกับทีมร้านเครื่องมือ (Tool Toul To) ได้ สังกัดทีม Sleeping Forest อาจเป็นช่างฝีมือของทีม === Noyamano Rika === โนยามาโนะ ริกะ เป็นลูกคนโตของบ้านโนยามาโนะ คอยดูแลเรื่องต่างๆภายในบ้าน เคยเป็นโปรมวยปล้ำหญิง อดีตสังกัดกับ Sleeping Forest และเป็นอดีตเจ้าของเส้นทางที่ชื่อว่า Sonia Road 「荊蕀の道」 (เส้นทางแห่งหนาม) ส่วนตัวแล้ว ริกะกังวลเรื่องอิกกิเกี่ยวกับการเล่น A.T. (เธอเป็นญาติห่างๆของอิกกิ) หลังจากถูกล้างสมองโดยโซร่า ทำให้ Brain Charger ถูกปลุกขึ้นมา มีพลังสูงส่งมากเหนือกว่า คิริคุ โซร่า หรือ นิเคะ มาก === Simca (Shimuka) === ชิมูกะ เจ้าของฉายา"นกนางแอ่น" ไรเดอร์สาวสวยที่เป็นแรงบันดาลใจให้มินามิ อิซึกิอยากเล่น A.T เธอเป็นผู้ก่อตั้งทีม A.Tที่แข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่ที่สุดชื่อว่า GENESIS ซึ่งภายในทีมมีราชาอยู่ 4 คน จุดประสงค์เพื่อต้องการรวบรวมราชาอยู่ในทีมของตนเพื่อปีนสู่ยอดหอคอยแห่งTropion ภายหลังไปขอร่วมทีมกับโคะคาราซึมารูของอิกกิ เพราะเธอเชื่อมั่นว่าอิกกิคือคนที่สามารถก้าวสู่การเป็น"ราชาแห่งท้องฟ้า" (Sky road) ได้ แม้เธอจะดูเหมือนไรเดอร์ทั่วไป ไม่ใช่ราชาของเส้นทางใดและไม่มีเรกาเลีย แต่เธอมีพลังในการขับเคลื่อนราชาและเหล่าไรเดอร์คนอื่นๆโดยไม่รู้สาเหตุ สนิทสนมกับ"ราชาแห่งเปลวเพลิง" SPIT FIRE และรู้จักมักคุ้นกับราชาคนอื่นๆเช่นนูเอะและโยชิซึเนะเป็นอย่างดี ได้เป็น ว่าที่ "ราชินีแห่งท้องฟ้า" แทนอิกกิ === Mikura kazuma === มิคุระ คาซึมะ หรือเพื่อนๆเรียกว่า "คาซึ" เพื่อนสมัยเด็กของอิกกิ มีอีกนามว่า "นายจืดจาง" เป็นตัวละครที่ไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นจึงได้รับฉายานี้ คาซึเป็นไรเดอร์จำพวกความเร็วหรือ Speed Rider スピード・ライダー ภายหลังได้รับชื่อว่า สเตลท์ 「ステルス」 (Stealth ให้นึกถึงเครื่องบินที่ความเร็วสูงเป็นหลัก) เขาเป็นเพื่อนร่วมทีมคนสำคัญที่มีบทบาทในการผลักดันให้อิกกิบินขึ้นสู่ท้องฟ้า คอยเตือนสติและเป็นแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งที่สุดในทีม เขาเป็นไรเดอร์หนึ่งเดียวที่เป็นพยานการตายของ SPIT FIRE ในเหตุการณ์ที่ถูกพี่น้องทาเคอุจิโจมตี SPIT FIRE เอาตัวเข้าปกป้องคาซึและได้รับการส่งมอบ"เรกาเลียแห่งเปลวเพลิง"มา ตั้งแต่วันนั้น เขาจึงฝึกฝนเทคนิคเดียวกับ SPIT FIRE และได้รับทริคอันยอดเยี่ยมมามากมาย ภายหลังได้ขึ้นเป็น"ราชาแห่งเปลวเพลิง"เต็มตัว === Onigiri (ข้าวปั้น) === ลักษณะของหัว เหมือนข้าวปั้น ข้าวปั้นเป็นเพื่อนของอิกกิในสมัยเด็กๆ และเป็นตัวละครที่บ๊องที่สุดในบรรดาตัวละครทั้งหมดแหละนะ ด้วยพลังของข้าวปั้นจึงทำให้เกิดเส้นทางที่ชื่อว่า Smell Road หรือ "ราชาแห่งกลิ่น "และเวลาเจอผู้หญิงทีโป๊ๆจะมีพลังสูง === Akito x Agito x รินโด === "ราชาแห่งเขี้ยว" เจ้าของเส้นทาง "Bloody Road" 「血の道」ผู้มีสามบุคลิก ครอบครองเรกาเลียแห่งเขี้ยว เพื่อนเก่าของอุโด้ อากิระและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นอัจฉริยะในการต่อสู้ ในอดีตอาศัยอยู่กับวานิจิม่า ไคโตะ พี่ชายและหัวหน้ากลุ่ม[ลม] G•Men ซึ่งเป็นตำรวจที่คอยจับกุมพวกที่ใช้ A.T. ในทางที่ผิด แท้จริงแล้วเป็นลูกชายของไคโตะกับกาเซล หลังจากคบกันได้ไม่นานกาเซลก็ถูกพี่น้องทาเคอุจิสังหาร แต่ช่วยชีวิตเด็กในท้อง(อากิโตะ)ไว้ได้ บุคลิกทั้งสาม 1.รินโด เจ้าของร่างคนแรกสุด หนึ่งในร่างทดลอง Brain Charger ที่มีศักยภาพการต่อสู้เทียบเคียงกับ Gravity Children 2.อากิโตะ นิสัยเหมือนเด็กและอ่อนโยน คอยประสานระหว่างรินโดและ AGITO 3.AGITO (เหงือกปลา) บุคลิกที่ถูกเรียกว่าราชาแห่งเขี้ยว มีฝีมือการใช้ A.T สูง ไม่ชอบใจรินโดและไม่อยากให้อีกฝ่ายเป็นคนควบคุมร่าง === ทาเคอุจิ โซร่า & ทาเคอุจิ SORA === โซร่าเป็นอดีตหัวหน้ารุ่นแรกของ Sleeping Forest เป็นคนรักของริกะ ใช้ชีวิตบนรถเข็นเนื่องจากเหตุการเมื่อตอนที่ Sleeping Forest รุ่นก่อนแยกตัวกัน ปัจจุบันเป็นหัวหน้า GENESIS ว่ากันว่าใกล้เคียงราชาแห่งท้องฟ้ามากที่สุด เขาทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยฝึกฝนทริคให้กับอิกกิเพื่อให้อิกกิมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็น"ราชาแห่งสายลม" และอิกกิก็นับถือโซร่าว่าเป็นเหมือนพี่ชายแท้ ๆ ทว่าทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้แผนการเข้าสู่กรัมสเกลทัวร์นาเม้นต์ของเขาเป็นไปได้ด้วยดี ทำตามคำขอร้องของริกะโดยการขโมยบากรัมไปและทรยศหักหลังอิกกิ จากนั้นจึงเฝ้าดูการเติบโตและความเคลื่อนไหวของโลก A.T จนกระทั่งกรัมสเกลทัวร์นาเมนต์ที่เป็นแบทเทิลระหว่างเจเนซิสและป่าแห่งการหลับใหล เขาโค่นราชาและราชินีทั้งหมดลงได้อย่างราบคาบและชิงเรกาเลียแห่งท้องฟ้าได้สำเร็จและก้าวขึ้นส่จุดสูงสุดของโลก A.T จากนั้นจึงเข้าสู่การปะทะกันครั้งสุดท้ายระหว่างเขาและ"ราชาแห่งพายุ" มินามิ อิกกิที่เคยหักหลังมาก่อน SORA[นิเคะ] เป็นน้องแฝดของโซร่า คอยทำเรื่องสกปรกให้พี่ชาย มีตำแหน่งเป็นราชาแห่งหิน เจ้าของเส้นทางJade Road(หลอมร่วมสายลมและหินเข้าด้วยกัน) เชื่อกันว่าอาจมีพลังสูงส่งกว่าคิริคุแห่ง Sleeping Forest มาก โดยมีแบทเทิลเลเวลเกิน 400 ภายหลังพ่ายแพ้ให้กับคาซึ จากความร่วมมือของ AION Clock , SPIT FIRE, ข้าวปั้น, เบนเคย์ และอิกกิ ดร.มินามิ (มินามิ รินทา) เป็นผู้คิดค้นและวิจัยวิทยาการใหม่ๆในโลก A.T. และเป็นผู้สร้างRegaliaรวมถึงสร้างเหล่า Gravity Children ขึ้นมาด้วย (คาดว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอิกกิทางสายเลือด) === โคะคาราซึมารู (Kogarasumaru) === ทีมระดับB Class มินามิ อิซึกิ (อิกกิ) ราชาแห่งพายุ เจ้าของเส้นทาง Hurricane Road ในอดีตเป็น"ราชาแห่งสายลม"และว่าที่ "ราชาแห่งท้องฟ้า" วานิจิม่า อากิโตะ ราชาแห่งเขี้ยว เจ้าของเส้นทาง Bloody Road มีสามบุคลิกอยู่ในตัวเอง คือ AGITO อากิโตะ และรินโด บุจจะ มิโฮโตเคะ อิสสะ อดีตราชาแห่งความมืด ปัจจุบันได้เป็นราชาแห่งขุนเขา มิคุระ คาซึมะ (คาซึ) ราชาแห่งเปลวเพลิง เจ้าของเส้นทาง Flame Road เพื่อนสนิทของอิกกิ ที่อิกกิเคยตั้งตำแหน่งตอนเริ่มสร้างทีมว่าเป็นทาสคนที่ 5 โอนิกิริ (ข้าวปั้น) ราชาแห่งกลิ่น เจ้าของเส้นทาง Smell Road (อิกกิเคยตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีลามกให้) มีแบทเทิลเลเวลสูงถึง 326 === สลีปปิ้ง ฟอร์เรส (Sleeping Forest) === ทีมระดับ A โนยามาโนะ ริงโกะ ราชินีแห่งหนาม เจ้าของเส้นทาง Sonia Road หัวหน้าใหญ่ของ Sleeping Forest แอบรักอิกกิ และต่อมาได้เป็นจูนเนอร์ของอิกกิ โนยามาโนะ มิกัง ราชินีแห่งลม เจ้าของเส้นทาง Gale Road โนยามาโนะ ชิราอุเมะ (อุเมะ) น้องคนสุดท้องของตระกูลโนยามาโนะ เป็นเด็กช่างฝีมือที่มีพรสวรรค์ กาบิชิ ราชาแห่งเขาสัตว์ เคยไล่ล่าคาซึแต่ถูก AION Clock ขัดขวาง โอม ราชินีแห่งน้ำ เคยต่อสู้กับเบนเคย์และทีมโคะคาราซึมารู (ไม่มีอิกกิ) และพ่ายแพ้จึงคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ได้คาซึช่วยชีวิตไว้ คิริคุ อดีตราชาแห่งหิน หนึ่งในทีม Sleeping Forest รุ่นแรกสุด หลงรักริกะแต่ไม่สมหวัง ถูกนิเคะขโมยเรกาเลียไป ภายหลังได้ร่วมมือกับทีมของอิกกิเพื่อต่อต้านเจเนซิสและกำราบความทะเยอทะยานของโซร่า === เจเนซิส (Genesis) === ทีมระดับ A class ชิมูกะ เจ้าของฉายา"นกนางแอ่น" น้องสาวฝาแฝดของคิริคุที่เชื่อมั่นในตัวอิกกิ เป็นเจ้าหญิงแห่งกลุ่ม Genesis Aion Clock ซาโนะ ยาสึโยชิ ต้องการเป็นราชาแห่งเปลวเพลิง หลังจาก SPIT FIRE เสียชีวิตจึงลอบเข้ามาขโมย Regalia แห่งเปลวเพลิงไป ว่ากันว่าแท้ที่จริงเขามีพลังสูงส่งอยู่ในระดับเดียวกับราชา ถูกนิเคะสังหารในการต่อสู้ที่เรือรบ ซึ่งเขาได้ส่งมอบเรกาเลียแห่งเปลวเพลิงให้แก่คาซึก่อนแล้ว SPIT FIRE ราชาแห่งเปลวเพลิง เจ้าของเส้นทาง Flame Road หนึ่งใน Sleeping Forest รุ่นแรกที่ยังรั้งตำแหน่งราชาไว้ได้ตลอด อาชีพหลักเป็นช่างเสริมสวยที่มีพรสวรรค์และมีฐานะดี ทั้งยังเป็นหัวหน้ากลุ่ม Volcano ที่มีอีกหลายทีมร่วมสังกัด ขอลาออกจากเจเนซิสและเสียชีวิตหลังการสู้กับโซร่าและนิเคะ โดยได้สืบทอดเรกาเลียแห่งเปลวเพลิงไปสู่คาซึ โยชิซึเนะ ราชาแห่งความกึกก้อง เจ้าของเส้นทาง Over Road หัวหน้าทีม Trident ผู้ยิ่งใหญ่แห่งตะวันตก เป็นสาขาของ Genesis ในคันไซ เฉลียวดฉลาดและมีมันสมองเป็นเลิศ ขอถอนตัวจากเจเนซิสและถูกนิเคะสังหารหลังจากสู้กับหุ่นยนยักษ์ แต่ได้ส่งต่อเรกาเลียแห่งความกึกก้องให้แก่ทีมโคะคาราซึมารู เบนเคย์ "เทพผู้คุ้มครองนานิวะ" No.2 ของ Trident เธอเสียขาไปหนึ่งข้างจากการลอบโจมตีของนิเคะพร้อมกับโยชิซึเนะ และได้นำเรกาเลียแห่งความกึกก้องมาให้อิซิกิเพื่อสร้างเรกาเลียแห่งพายุ นูเอะ ราชาแห่งสายฟ้า เจ้าของเส้นทาง Rising Road หัวหน้าทีม Black Crow ที่มีแต่ Gravity Children ร่วมสังกัด เป็นลูกชายของ HANGED MAN หรือตัวจริงคือ Black Burn อดีตสมาชิก Sleeping Forest รุ่นแรก นิเคะ (ทาเคอุจิ Sora) ราชาแห่งหิน เจ้าของเส้นทาง Jade Road น้องชายฝาแฝดของโซร่าที่อยู่เบื้องหลังและทำเรื่องสกปรกให้กับพี่ชาย ขโมยเรกาเลียของคิริคุไป มีร่างกายที่แข็งแกร่งทนทาน แต่ถูกสังหารโดยความร่วมมือของคาซึ ข้าวปั้น AION และ SPIT FIRE === ทูล โทล ทู (Tool Toul To) === ทีมระดับ A class ลูกทีมของ Tool Toul To ที่เป็นได้จูนเนอร์ของราชา มีหน้าที่ปรับจูน ซ่อมแซมและเสริมสร้างเรกาเลียให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้นจึงมีบางคนที่ออกเดินทางพร้อมกับราชาของตน อาจอยู่อาศัยกินนอนไปด้วยกันเพื่อจูนจังหวะให้เข้ากันที่สุด เช่น คุรุรุ ฮาโกะ และคานง มากิงามิ อิเนะ อดีตราชินีแห่งการเชื่อมต่อ หนึ่งใน Sleeping Forest รุ่นแรก เป็นอาจารย์ของทีมร้านเครื่องมือทุกคน เป็นทั้งจูนเนอร์และคนรักของ SPIT FIRE คุรุรุ ราชินีแห่งการเชื่อมต่อ (ส่งมอบตำแหน่งมาจากมากิงามิ) เจ้าของเส้นทาง Lyin Road มีพรสวรรค์ในการใช้เครื่องมือสร้างหรือซ่อมแซม เป็นจูนเนอร์ของมินามิ อิซึกิ คานง จูนเนอร์ของโนยามาโนะ ริงโกะ เคยขโมยจูบของริงโกะต่อหน้าต่อตาอิกกิ พกกีต้าร์(เครื่องมือ)ไปไหนมาไหนด้วยตลอด ฮาโกะ จูนเนอร์ของโซร่า ทรยศทีมร้านเครื่องมือเพราะริษยาพรสวรรค์ของคุรุรุ โคโนมิ รูน เพื่อนของมากิงามิ ชายที่ทำหน้าที่ปรับแต่งและดูแลภายในหอคอยกรัมสเกล มีร่างกายเป็นหุ่นยนต์ ดวงตาไม่ได้โฟกัสไปที่จุดใด ต่อสู้เก่ง มานะ จูนเนอร์ของนูเอะ === เบฮีมอธ (Behemoth) === ทีมระดับ D class อุโด้ อากิระ อดีตราชาแห่งเขี้ยว เพื่อนเก่าของอากิโตะ ได้ต่อสู้กับพวกอิกกิและ Agito ในศึก "Behemoth" แล้วได้เสียชีวิตไป นูเอะได้ใช้ทริกชุบชีวิตอากิระขึ้นมา ภายหลังมอบตัวให้กับตำรวจเพื่อปกป้องไรเดอร์ภายในทีมกว่าพันคน แล้วกลับเข้าทำงานใน [ลม] G men Aion clock ซาโนะ ยาสึโยชิ ใช้ทริคในการหยุดเวลา อากิโตะบอกว่าเขาชอบผู้ชายด้วยกัน ภายหลังเข้าร่วมกับ GENESIS แต่ให้ความช่วยเหลือโคะคาราซึมารูและถูกนิเคะสังหาร Gorgon shell มิมาซากะ เรียว เสียชีวิตในการต่อสู้ของโซร่ากับ SPIT FIRE แต่ภายหลังพบยังมีชีวิตเป็นเจ้าหญิงนิทราในห้องทดลองของ Aion clock Hammer บันโด มิซึรุ มือขวาของอากิระ เคารพภักดีต่ออากิระอย่างที่สุด มีพลังหมัดที่รุนแรง ภายหลังที่เบฮีม็อธขาดผู้นำก็ทำการรวบรวมพรรคพวกขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันกลายเป็นพันธมิตรของโคะคาราซึมารู Hekatoncheirbomb โกะโชคาวาระ ฟูเมย์ === [ลม] G men === วานิจิม่า ไคโตะ (หัวหน้าหน่วย [ลม] G men ของตำรวจ คอยจับ rider เป็นพี่ชายของอากิโตะ) ภายหลังถูกเปิดเผยว่าแท้ที่จริงเป็น"พ่อ"ของ อากิโตะ & อาคิโตะ == Kings and Roads == ราชาแห่งเส้นทางทั้ง 8 ที่ได้รับการเล่าลือมาว่าเป็นเส้นทางหลักที่จะทำให้ก้าวขึ้นไปสู่ยอดหอคอยแห่ง Tropion ที่ว่ากันว่ามี "เรกาเลียแห่งท้องฟ้า" หลับใหลอยู่ได้ แท้จริงแล้ว เส้นทางไม่ได้มีแค่ 8 เท่านั้น แต่สามารถมีได้เท่าๆกับจำนวนไรเดอร์ทุกคนในโลก เพียงแต่ไรเดอร์ส่วนใหญ่ยังไม่มีใครค้นพบเส้นทางของตน หรือยังไม่มีพลังพอจะก้าวสู่การเป็นราชาเท่านั้น เรกาเลีย (ราชกกุธภัณฑ์) จะถูกสร้างขึ้นให้เข้ากับการวิ่งของราชาคนนั้นๆโดย"ร้านเครื่องมือ"จากฝีมือของ Link Tuner ประจำตัวของราชา (บางชิ้นถูกสร้างโดยดร.มินามิ) เป็น A.T Part แบบพิเศษที่สร้างจากวัสดุที่ดีกว่า A.T ทั่วไป และประกอบขึ้นมาด้วยองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง เช่น ประวัติการวิ่ง แนวทาง วิธีการวิ่ง ความเข้ากันของอุปกรณ์ และการปรับจูนจังหวะเสียงให้เข้ากับจังหวะการวิ่งของราชาด้วย คนที่จะปรับจูนเรกาเลียได้ นอกจากร้านเครื่องมือแล้วจะต้องเป็นผู้มีความสามารถอันไร้เทียมทานที่ฟังจังหวะเสียงในร่างกายของราชาได้ หรือเรียกกันว่า ผู้มี"ตารางเวลาแห่งเสียง" เรกาเลียหนึ่งชิ้นสามารถสร้างจากเรกาเลียชิ้นอื่นได้โดยดึง Part มาประกอบกันใหม่ A.T ของมินามิ อิซึกิก็ประกอบจากเรกาเลียแห่งความกึกก้องที่โยชิซึเนะแห่ง Trident เหลือไว้ และเรกาเลียแห่งพายุก็ได้รับการประกอบจากชิ้นส่วนของเรกาเลียแห่งฟ้าร้องเช่นกัน SPIT FIRE ตำแหน่ง : ราชาแห่งเปลวเพลิง เส้นทาง : Flame Road (เส้นทางแห่งเปลวเพลิง) Link Tuner : อดีตราชินีแห่งการเชื่อมต่อ มากิงามิ อิเนะ สังกัด : ในอดีตสังกัดกับ Sleeping Forest ปัจจุบันสังกัดกับ GENESIS สถานะปัจจุบัน : เสียชีวิต สปิทไฟร์ (ไฟแห่งจิตวิญญาณ) เป็นราชาที่สนใจในตัวอิซึกิและทีมโคะคาราซึมารูเป็นอย่างมาก ครอบครองเรกาเลียแห่งเปลวเพลิง มีทริคการวิ่งที่ทำให้เกิดเปลวไฟขึ้นมาหลังจากที่ล้อเคลื่อนผ่านไปได้ โดยปกติหากไม่ได้สวมใส่ A.T ก็จะทำงานเป็นช่างเสริมสวย ซึ่ง SPIT FIRE เป็นช่างที่มีพรสวรรค์ ชอบเล่นเปียโนและมีฐานะดีพอสมควร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Tool Toul To โดยเฉพาะกับอิเนะ เมื่อก่อนสังกัดกับ Sleeping Forest รุ่นแรก และรู้เรื่องราวต่างๆเป็นอย่างดี SPIT FIRE ตั้งใจจะให้มิคุระ คาซึสืบทอดเรกาเลียของตัวเองต่อไป หลังจากตัดสินใจจะถอนตัวจากการเป็น"ราชาแห่งเปลวเพลิง" และใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่การสืบทอดนั้นจบอย่างไม่สวยหรู เขาสู้กับพี่น้องทาเคอุจิร่วมกับ AION Clock แต่พลาดท่า เขาจึงเอาตัวเข้าปกป้องคาซึพร้อมกับส่งมอบเรกาเลียแห่งเปลวเพลิงให้ไป ก่อนจะถูกไฟของนิเคะเผาเสียชีวิตในที่สุด ถึงแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เขาได้หลงเหลือข้อมูลปริมาณมหาศาลชุดหนึ่งทิ้งไว้ให้กลุ่ม Volcano และโคะคาราซึมารู ทั้งการคาดการณ์ว่าตนเองจะถูกสังหาร ข้อมูลการต่อสู้ เคล็ดลับ วิธีการและเรื่องราวต่างๆผ่านทางเมโมรี่การ์ดของ A.T รวมทั้งจำลองสภาพการต่อสู้ระหว่างตัวเขาเองกับสมาชิกทีมทั้งสองไว้ด้วย นอกจากนั้นยังเหลือวิดีโอเอาไว้พูดคุยกับสมาชิกอื่น เช่นโคะคุเอ็นและอิกกิ ทำให้คนเหล่านั้นยืนขึ้นและบินด้วยปีกของตัวเองได้ เป็นราชาที่ได้รับการยอมรับว่าหลงเหลือ"ร่องรอย"และสืบทอดดวงไฟของตัวเองให้แก่ไรเดอร์คนอื่นอย่างยอดเยี่ยมที่สุด โยชิซึเนะ ตำแหน่ง : ราชาแห่งความกึกก้อง เส้นทาง : Over Road (เส้นทางแห่งความกึกก้อง) Link Tuner : ?? สังกัด : Trident แห่งคันไซ สถานะปัจจุบัน : เสียชีวิต ราชาแห่งความกึกก้อง หัวหน้าทีมยักษ์ใหญ่แห่งคันไซที่มีเบนเคย์เป็นมือขวา แม้ภายนอกจะเป็นเพลย์บอยจอมหลีสาวและติดเกมไปวันๆ แต่แท้จริงแล้วเป็นชายที่มีมันสมองเป็นเลิศ จอมวางแผนที่มองการณ์ไกลกว่าคนอื่นหลายก้าว ชอบพูดล้อเล่น แต่ถ้าถอดแว่นออกเมื่อไหร่ ทุกคำพูดที่ออกมาล้วนแต่จริงจังและเอาจริงทั้งสิ้น "เรกาเลียแห่งความกึกก้อง"ของโยชิซึเนะสามารถดูดกลืนสายลมและแปลงมาเป็นพลังของตนได้ จึงนับว่าเป็นศัตรูสุดแกร่งโดยธรรมชาติของผู้ใช้สายลมอย่างมินามิ อิซึกิหรือกระทั่งราชาแห่งเขี้ยวอย่าง AGITO เขาได้ยอมรับอิกกิให้เป็นหัวหน้าใหม่ของไทรเด้นท์หลังจากอิกกิเคลียร์การทดสอบที่เขาตั้งขึ้นมาได้ Trident จึงประกาศศิโรราบแก่โคะคาราซึมารู จนกระทั่งถูกชักชวนให้เข้ากับนกนางแอ่น ชิมูกะ สู่กองกำลัง GENESIS เขามีบทบาทในการเป็นเอ็กซ์ตร้าโค้ชของโคะคาราซึมารูและสนับสนุนการฝึกซ้อมอย่างเอาจริงเอาจัง ในที่สุด ทาเคอุจิ โซร่าก็ตัดสินใจจะเก็บกวาดราชาที่ไม่ใช่ Gravity Children ทิ้งให้หมด โยชิซึเนะรู้ว่าตนต้องถูกหมายหัวมาตั้งแต่แรก จึงวางแผนรองรับไว้หลายชั้น ดังนั้นเมื่อทางโซร่านำหุ่นยนต์ยักษ์บุกถล่มคันไซพร้อมกับนิเคะ เขาได้สู้สุดฝีมือเพื่อหยุดยั้งความพินาศจนตนเองบาดเจ็บเต็มทีและถูกนิเคะสังหาร แต่ทาง GENESIS ก็ไม่ได้เรกาเลียแห่งเสียงกึกก้องไป เนื่องจากโยชิซึเนะถอดมันและส่งมอบให้เบนเคย์หนีไปก่อนที่ตนเองจะถูกฆ่า ประจวบเหมาะกับที่ A.T ของอิกกิพัง เบนเคย์จึงมอบเรกาเลียให่แก่อิกกิเพื่อสร้างแกนเรกาเลียแห่งพายุ ซึ่งเธอมั่นใจว่าโยชิซึเนะต้องรู้เรื่องนี้มาก่อน ก่อนหน้าที่โยชิซึเนะจะถูกสังหาร เขาได้ประกาศลาออกจาก GENESIS และพูดต่อหน้าพี่น้องทาเคอุจิว่าไรเดอร์ฝั่งคันไซทั้งหมดจะไม่อยู่ใต้อาณัติของ GENESIS อีกต่อไป ดังนั้นเบนเคย์ที่เสียขาในการต่อสู้เดียวกันจึงสานต่อคำประกาศด้วยการพาพรรคพวกทั้งหมดแยกตัวจากเจเนซิสโดยสมบูรณ์ นูเอะ ตำแหน่ง : ราชาแห่งสายฟ้า เส้นทาง : Rising Road (เส้นทางแห่งสายฟ้า) Link Tuner : มานะ สังกัด : Black Crow สถานะปัจจุบัน : ยังมีชีวิต ราชาแห่งสายฟ้า หัวหน้าทีม Black Crow ที่รวบรวมสมาชิกเด็กๆซึ่งล้วนแต่เป็น Gravity Children เอาไว้ เป็นลูกชายของ Black Burn ราชาแห่งสายฟ้าคนก่อนที่สังกัดกับ Sleeping Forest มีความสามารถในการใช้สายฟ้าสร้างภาพลวงตาและสู้โดยใช้เส้นลวดจากชุดเกราะทั้งร่างกาย อายุน้อยกว่าราชาคนอื่น ๆ (ยกเว้นอิกกิและอากิโตะ) เข้าร่วมกับ GENESIS ตามคำชักชวนของชิมูกะ และไม่ยอมถอนตัวแม้จะรู้ว่าทาเคอุจิ โซร่าจะทำอะไร เนื่องจากเขาได้รับคำสัญญาแล้วว่าถ้าการต่อสู้นี้ GENESIS เป็นฝ่ายชนะ โซร่าที่เป็น Gravity Children เหมือนกันจะสร้างโลกที่พวกเด็กๆในทีมของเขาสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างปกติสุข ในภายหลัง การต่อสู้ที่เรือรบ เขาต่อสู้กับมินามิ อิซึกิ และถูกแบล็คเบิร์นกำราบจนบาดเจ็บ ขณะนั้นลูกทีมใน Black Crow ก็เหน็ดเหนื่อยกับการซัพพอร์ตนูเอะ ในสภาวะที่ทุกอย่างเริ่มพังทลาย อิกกิได้ท้าให้นูเอะกับเขาวิ่งแข่งกันไปยังโกล์แบบ 1-1 โดยไม่มีลูกทีมคอยช่วย นูเอะได้รับการซ่อมแซมเรกาเลียชั่วคราวและออกวิ่งไปกับอิกกิ เขาพยายามทำให้อิกกิลดความเร็วลงด้วยการใช้เส้นลวดพันร่างอิกกิไว้ แต่ผลคืออิกกิกลับดึงดันวิ่งไปข้างหน้าจนอุปกรณ์ของนูเอะพังเสียหายและพ่ายแพ้ไป ในที่สุดเขาจึงยอมศิโรราบและมอบแกนของ"เรกาเลียแห่งสายฟ้า"ให้อิกกิเพื่อนำไปสร้างเป็นแกนกลางของเรกาเลียแห่งพายุ มากิงามิ อิเนะ คนที่สอง ซุเมรางิ คุรุรุ ตำแหน่ง : ราชินีแห่งการเชื่อมต่อ เส้นทาง : Lyin Road (เส้นทางแห่งการเชื่อมต่อ) Link Tuner : - King's Tuner : SPIT FIRE / มินามิ อิซึกิ สังกัด : อดีตสังกัดกับ Sleeping Forest ปัจจุบันสังกัด Tool Toul To สถานะปัจจุบัน : ยังมีชีวิต มากิงามิ อิเนะ หัวหน้าของ Tool Toul To ทีมร้านเครื่องมือที่ประกาศตัวเป็นกลางไม่เข้ากับทีมใด จุดเด่นคือม้วนผมสูง (ถูก AGITO เรียกว่า "ยัยหอยสังข์โรคจิต") มีหน้าที่คือการดูแลหอคอยกรัมสเกลและซ่อมแซมปรับจูนเรกาเลียของเหล่าราชาเท่านั้น เธอเป็นจูนเนอร์ของ SPIT FIRE และเป็นคนรักของเขาตั้งแต่สังกัดกับSleeping Forest เธอเคยให้อิกกิและ AGITO เข้าไปยังด้านหลังของกรัมสเกลเพื่อพบเจอกับ Sleeping Forest และพยายามให้เสียงระฆังNine Fallลั่นช้าลงแม้แต่วินาทีเดียวเพื่อยืดเวลาให้ทีมโคะคาราซึมารูแข็งแกร่งขึ้น ในเวลาต่อมาได้มอบหมายหน้าที่หัวหน้าของร้านเครื่องมือและตำแหน่ง"ราชินีแห่งการเชื่อมต่อ"ให้แก่คุรุรุ ซุเมรางิ คุรุรุ ลูกทีมของ Tool Toul To และลูกศิษย์ของอิเนะ นิสัยซุ่มซ่ามและประหม่า แต่มีพรสวรรค์ด้านการซ่อมแซมปรับจูนสูง สามารถบินเข้าไปในโลกแห่ง "Infinity Scale" รวมทั้งยังสร้างแกนกลางเรกาเลียแห่งสายลม"บากรัม"ได้จนเป็นที่อิจฉาของฮาโกะ เพื่อนร่วมทีมเดียวกัน มีจุดเด่นคือสัญลักษ์กากบาทและกิ๊บติดผมจำนวนมาก แอบชอบอิกกิหลังจากได้สัมผัสกับปีกและสายลมของอิกกิ ภายหลังได้รับการสืบทอดการเป็นหัวหน้าและตำแหน่งราชินีแห่งการเชื่อมต่อ ได้เป็นจูนเนอร์ No.1 ของอิกกิและเป็นคนสร้างเรกาเลียแห่งพายุจากความช่วยเหลือของริงโกะ Kings and Roads''' {|class="wikitable" !align="left"|เส้นทาง !align="left"|Regalia !align="left"|ราชาคนปัจจุบัน !align="left"|ราชาคนเก่า !align="left"|ว่าที่ราชา |- | align = "left"|Wing Road | align = "left"|สายลม | align = "left"|n/a | align = "left"|ทาเคอุจิ โซร่า | align = "left"|ikki |- | align = "left"|Flame Road | align = "left"|เปลวเพลิง | align = "left"|คาซึ | align = "left"|SPIT FIRE | align = "left"|n/a |- | align = "left"|Rising Road | align = "left"|สายฟ้า | align = "left"|นูเอะ | align = "left"|Black Burn | align = "left"|n/a |- | align = "left"|Sonia Road | align = "left"|หนาม | align = "left"|ริงโกะ | align = "left"|ริกะ | align = "left"|n/a |- | align = "left"|Bloody Road | align = "left"|เขี้ยว | align = "left"|Agito | align = "left"|อุโด้ อากิระ | align = "left"|n/a |- | align = "left"|Over Road | align = "left"|เสียงกึกก้อง | align = "left"|โยชิซึเนะ | align = "left"|Dontores | align = "left"|n/a |- | align = "left"|Lyin Road | align = "left"|n/a | align = "left"|คุรุรุ | align = "left"|มากิงามิ อิเนะ | align = "left"|n/a |- | align = "left"|Jade Road | align = "left"|หิน | align = "left"|ทาเคอุจิ SORA (นิเคะ) | align = "left"|คิริคุ | align = "left"|n/a |- | align = "left"|Sky Road | align = "left"|ท้องฟ้า | align = "left"|ทาเคอุจิ โซระ | align = "left"|n/a | align = "left"|ikki |- | align = "left"|Hurricane Road | align = "left"|พายุ (สร้างจากregalia 7 อัน -สายลม/เปลวเพลิง/สายฟ้า/หนาม/เขี้ยว/เสียงกึกก้อง/หิน) | align = "left"|อิกกิ | align = "left"|n/a | align = "left"|n/a |} == รายชื่อตอน == อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2549 การ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเน็ง‎ อนิเมะและมังงะเกี่ยวกับกีฬา โทเอแอนิเมชัน
thaiwikipedia
780
อาร์ม หัตถ์เทพมืออสูร
อาร์ม หัตถ์เทพมืออสูร เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นผลงานของ เรียวจิ มินางาวะ ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นโดยสำนักพิมพ์โชงะกุกัง ตีพิมพ์ในประเทศไทยโดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ ต่อมาถูกนำมาทำเป็นอนิเมะ ในปี พ.ศ. 2544 ความยาว 52 ตอน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอก ทาคาซึกิ เรียว ผู้ค้นพบว่าตัวเองมีนาโนแมชชีน (เครื่องจักรกลที่มีขนาดเล็กมาก ๆ) ที่เรียกว่า อาร์ม อยู่ในร่างกาย และใช้พลังของอาร์มเข้าต่อกรกับองค์การร้าย ตัวละครในเรื่องโดยเฉพาะเหล่าอาร์มนั้นนำชื่อมาจากเรื่อง อลิสในดินแดนมหัศจรรย์ ของ หลุยส์ แครอล ลงพิมพ์ในนิตยสาร Shonen Sunday ในญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์. ความยาว 23 เล่มจบ == ตัวละคร == ทาคาซึคิ เรียว ชินงู ฮายาโตะ ทาเคชิ คุรุมะ เค อัล โบเอน คาซึมิ คีสเรด คีสบลู คีสกรีน คีสซิลเวอร์ คีสไวโอเล็ท คีสแบล็ค คีสไวท์ อลิส == ตัวละครที่นำมาจากเรื่องอลิศในแดนมหัศจรรย์ == จาบาว็อค (Jabberwock) ไนท์ (Knight) ไวท์แรบบิท (White Rabbit) ควีนออฟฮาร์ต (Queen of Heart) กริฟฟอน (Griffon) แมด แฮตเตอร์ (Mad Hatter) เชไชร์แคท (Chesire Cat) โดร์เมาส์ (Dormouse) มาร์ชแฮร์ (Marsh Hair) ฮัมป์ตี้ ดัมป์ตี้ (Humpty Dumpty) == รายชื่อตอน == การ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเน็ง‎ ทีเอ็มเอสเอ็นเตอร์เทนเมนต์
thaiwikipedia
781
ฮายาโอะ มิยาซากิ
ฮายาโอะ มิยาซากิ (; เกิด 5 มกราคม พ.ศ. 2484) เป็นนักวาดมังงะ ผู้กำกับ และผู้สร้างอนิเมะชาวญี่ปุ่น ที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง จากการคร่ำหวอดในวิชาชีพเป็นเวลาราวห้าทศวรรษ มิยาซากิได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าเป็นผู้สร้างภาพยนตร์อนิเมะ ร่วมกับอิซาโอะ ทาคาฮาตะ ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ความสำเร็จของภาพยนตร์เหล่านี้ทำให้เขาได้รับการเปรียบเทียบกับวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งเป็นผู้สร้างแอนิเมชันชาวอเมริกัน กับ นิค พาร์ค ซึ่งเป็นผู้สร้างแอนิเมชันชาวอังกฤษ รวมถึง โรเบิร์ต เซเม็กคิส ผู้บุกเบิกการสร้างแอนิเมชัน นิตยสารไทม์ ยกย่องว่าเขาเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง มิยาซากิเริ่มทำงานที่ โตเอแอนิเมชัน ในตำแหน่งศิลปินคนกลาง ในการสร้างภาพยนตร์ Gulliver's Travels Beyond the Moon เขาได้เสนอความคิดที่เป็นฉากจบของเรื่องได้ในที่สุด มิยาซากิทำงานในหลายหน้าที่ในวงการอนิเมะชันราวสิบปีจนกระทั่งได้มีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ จอมโจรลูแปงที่ 3 ตอนปราสาทของคาริออสโตร ซึ่งเผยแพร่ใน พ.ศ. 2522 หลังจากความสำเร็จในภาพยนตร์เรื่องที่สอง มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม เขาจึงร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ซึ่งก็ได้ผลิตผลงานภาพยนตร์ของเขาออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเรื่องโมะโนะโนะเกะฮิเมะ (Princess Mononoke) มิยาซากิจึงเกษียณอายุงานตัวเองไปชั่วคราว หลังจากการพักช่วงสั้น ๆ มิยาซากิก็กลับมากำกับภาพยนตร์เรื่องเซ็น โทะ ชิฮิโระ โนะ คะมิกะกุชิ (Spirited Away) และผลิตภาพยนตร์ออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพยนตร์ของมิยาซากิประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์และได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ในญี่ปุ่นเป็นเวลายาวนาน เขาไม่เป็นที่รู้จักมากนักในโลกตะวันตกจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2540 มิราแมกซ์ได้เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องโมะโนะโนะเกะฮิเมะของเขาออกไป โมะโนะโนะเกะฮิเมะเคยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดในญี่ปุ่นแห่ง พ.ศ. 2540 จนกระทั่งไททานิคมาทำลายสถิติลง โมะโนะโนะเกะฮิเมะยังเป็นภาพยนตร์อนิเมะเรื่องแรกที่ได้รับรางวัล Picture of the Year จาก เจแปนีส-อคาเดมีอะวอร์ด Spirited Away ภาพยนตร์เรื่องถัดไปของเขาทำลายสถิติรายได้ของไททานิคในญี่ปุ่นลง และกวาดรางวัล พิกเจอร์ออฟเดอะเยียร์ จาก เจแปน-อคาเดมี่อะวอร์ด และเป็นภาพยนตร์อนิเมะเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ มิยาซากิยังมีผลงานภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย ภาพยนตร์ของมิยาซากิมักจะมีแก่นเรื่องที่คล้ายคลึงกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและเทคโนโลยี หรือ ความยากลำบากในการดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมสันตินิยม ตัวละครเอกของเรื่องมักจะเป็นเด็กหญิงที่ห้าวหาญและเป็นอิสระ สะท้อนถึงความคิดสตรีนิยมของมิยาซากิ แนวคิดสังคมนิยมของมิยาซากิยังสะท้อนออกมาในภาพยนตร์ของเขาด้วย โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ มิยาซากิเป็นคนที่วิพากษ์ทุนนิยมและโลกาภิวัตน์อย่างเปิดเผยซึ่งอาจสังเกตได้จากงานภาพยนตร์ของเขาเช่นกัน ในขณะที่ภาพยนตร์สองเรื่องของเขา
thaiwikipedia
782
เทพมรณะ
เทพมรณะ หรือ บลีช เป็นผลงานการ์ตูนญี่ปุ่นของไทโตะ คุโบะ ตีพิมพ์ลงนิตยสารโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์ในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ส่วนในประเทศไทยนั้นถูกตีพิมพ์ในนิตยสารบูม โดยมีสำนักพิมพ์เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในรูปแบบวีซีดีและดีวีดีโดยบริษัทโรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ == เนื้อเรื่อง == คุโรซากิ อิจิโกะ เด็กมัธยมปลายอายุ 15 ปีผู้มีความสามารถมองเห็นวิญญาณ วันหนึ่งเขาได้พบกับยมทูตหญิงชื่อ คุจิกิ ลูเคีย ในขณะที่เธอกำลังตามล่าฮอลโลว์ตัวหนึ่งและพลาดให้กับฮอลโลว์ตัวนั้น ลูเคียจึงเสนอให้อิจิโกะถ่ายโอนส่วนหนึ่งของแรงดันวิญญาณ ของเธอไป แต่ลูเคียกลับพลาดปล่อยให้แรงดันวิญญาณถูกดูดไปจนหมด อุราฮาร่า คิสึเกะ จึงแนะนำให้ใช้ร่างเทียมเพื่อฟื้นพลังและเพื่อให้อิจิโกะเข้าช่วยงานเจ้าหล่อนในการเป็นยมทูตแทนระหว่างที่เธอพักฟื้นพลังอยู่ในโลกมนุษย์ ตลอดเวลาที่ลูเคียพักฟื้นพลัง ลูเคียใช้ชีวิตเป็นนักเรียนในโรงเรียนเดียวกับอิจิโกะและได้พบกับ ซาโดะ "แช้ด" ยาสึโทระ อิโนะอุเอะ โอริฮิเมะ และอิชิดะ อุริว ควินซีคนสุดท้ายในฐานะเพื่อนร่วมชั้น แต่ทว่าความผิดปกติของอิจิโกะที่กลายเป็นยมทูต ทำให้อุริวประกาศตนเป็นศัตรู และท้าแข่งกำจัดฝูงฮอลโลว์กับอิจิโกะ เหตุการณ์ในครั้งนั้นพลังฟูลบริงเกอร์ของซาโดะ และอิโนะอุเอะตื่นขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว และทั้งสี่ก็เอาชนะฝูงฮอลโลว์ได้อย่างยากเย็น เวลาแห่งความสนุกผ่านไป 6 เดือน โซลโซไซตี้สามารถจับแรงดันวิญญาณของลูเคียที่หายไปได้ จึงได้ส่ง คุจิกิ เบียคุยะ และ อาบาราอิ เร็นจิ มาพาตัวลูเคียกลับไปรับโทษข้อหาหลบหนีการปฏิบัติหน้าที่ที่โซลโซไซตี้ ก่อนจะพบว่าจริง ๆ แล้วลูเคียเสียพลังยมทูตให้อิจิโกะไปซึ่งถือเป็นโทษหนักในโซลโซไซตี้ เบียคุยะจึงตัดโซ่กรรมและวิญญาณหลักของอิจิโกะ ทำให้พลังยมทูตของลูเคียที่อยู่ในตัวอิจิโกะหายไป อุราฮาระจึงจัดโปรแกรมฝึกพิเศษให้อิจิโกะนำพลังยมทูตของตัวเองที่ถูกซ่อนอยู่ในส่วนลึกสุดของวิญญาณกลับมา ในขณะเดียวกัน ชิโฮอิน โยรุอิจิ แมวปริศนาที่ตัวตนที่แท้จริงคืออดีตหัวหน้าหน่วยลงทัณฑ์ของโซลโซไซตี้ ได้เสนอให้ซาโดะและอิโนะอุเอะฝึกพลังของตัวเองเพื่อใช้ในการบุกโซลโซไซตี้ และทำนองเดียวกันอุริวก็แอบฝึกใช้ถุงมือเสริมพลังควินซีเพื่อใช้ในการนี้โดยเฉพาะ เมื่อการฝึกแล้วเสร็จอุราฮาระจึงเปิดประตูผ่านโลกให้พวกอิจิโกะเดินทางไปโซลโซไซตี้ได้อย่างปลอดภัย เมื่อถึงที่นั่นทั้ง 4 คนได้เข้าต่อสู้กับ 13 หน่วยพิทักษ์อย่างหนักหน่วงเพื่อขัดขวางการประหารลูเคียจากข้อหาที่ส่งมอบพลังวิญญาณให้บุคคลอื่น การเคลื่อนไหวของพวกอิจิโกะในเซย์เรย์เทย์ ทำให้เกิดคดีที่ ไอเซ็น โซสึเกะ หนึ่งในหัวหน้าหน่วยของ 13 หน่วยพิทักษ์ถูกลอบสังหารกลางเมือง คดีนี้ทำให้ 13 หน่วยพิทักษ์เกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก และพวกอิจิโกะที่พ่ายแพ้ในการต่อสู้ต้องถูกจับเข้าห้องขังในฐานะนักโทษ ด้วยความช่วยเหลือของโยรุอิจิ อิจิโกะสามารถล้มการประหารลูเคียและเอาชนะเบียคุยะได้สำเร็จ แต่การต่อสู้ระหว่างอิจิโกะและเบียคุยะกลับทำให้พลังลึกลับบางอย่างที่อยู่ในตัวอิจิโกะตื่นขึ้นพร้อมกันด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดในเซย์เรย์เทย์ทำให้ไอเซ็นตัดสินใจเผยตัวตนที่แท้จริง และเผยแผนการทั้งหมดที่ตนวางไว้ ไอเซ็นวางแผนที่จะชิง โฮเงียคุ วัตถุพิเศษที่จะทำให้เส้นแบ่งเขตพลังวิญญาณของยมทูตและฮอลโลว์พังทลายลง แลกกับการได้รับพลังที่เหนือกว่ายมทูตและฮฮล์โลว์มาครอบครอง วัตถุนี้ถูกสร้างขึ้นโดย อุราฮาระ คิสึเกะ แต่มันอันตรายมากเกินกว่าที่สติปัญญาของเขาจะทนมันไหว อุราฮาระจึงใช้วิธีการแทรกซึมเข้าดวงวิญญาณและฝังโฮเงียคุไว้ในร่างวิญญาณตนหนึ่ง ซึ่งวิญญาณตนนั้นคือ คุจิกิ ลูเคีย แต่ทว่าคุจิกิลูเคียกลับหายตัวไปในโลกมนุษย์ ไอเซ็นจึงเข้าสังหารวังกลาง 46 ห้อง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศาลสูงสุดที่คอยควบคุมทุกสิ่งอย่างในโซลโซไซตี้ลงทั้งหมด และออกคำสั่งส่งยมทูตและหน่วยไล่ล่าออกตามหาลูเคียในโลกมนุษย์จนพบตัวสำเร็จ พริบตาที่พบตัวไอเซ็นจึงออกคำสั่งให้เบียคุยะ และเร็นจิพาตัวกลับมารับโทษประหาร ไอเซ็นตั้งใจใช้โซเคียคุทำให้วิญญาณลูเคียระเหิดไป เพื่อที่จะได้ชิงโฮเงียคุมาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อการประหารล่มไอเซ็นจึงใช้วิธีแทรกซึมเข้าดวงวิญญาณแบบเดียวกับที่อุราฮาระทำ และเขาก็ชิงโฮเงียคุได้สำเร็จ ก่อนแปรพักตร์ไปเป็นศัตรูและอาศัยอยู่ในลาสนอร์เช่ส์ ป้อมปราการแห่งใหม่ที่เขาสร้างขึ้นใน ฮูเอโกมุนโด้ โลกของเหล่าฮอลโลว์ และสร้างกองทัพฮอล์โลว์ถอดหน้ากาก "อาร์รันคาร์" เพื่อหวังทำลายโซลโซไซตี้ให้พังพินาศ หลายเดือนหลังจากนั้น ฮิราโกะ ชินจิ ชายปริศนาได้ปรากฎตัวขึ้นต่อหน้าอิจิโกะเพื่อแนะนำตัวว่าเขาคือไวเซิร์ด และอิจิโกะคือหนึ่งในพวกของเขา ซึ่งจริงๆ แล้วพวกไวเซิร์ด คือกลุ่มยมทูตที่ถูกไอเซ็นใช้เป็นหนูทดลองการกลายสภาพเป็นฮอลโลว์เมื่อ 110 ปีก่อน แม้การทดลองของไอเซ็นจะล้มเหลว แต่อุราฮาระกลับทำให้พวกฮิราโกะสามารถกลายเป็นไวเซิร์ดได้สำเร็จ ฮิราโกะเสนอวิธีการสยบพลังบางอย่างที่เรียกว่าฮอลโลว์ในตัวอิจิโกะ แต่อิจิโกะขอปฏิเสธที่จะเข้าเป็นพวกและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ไม่นานหลังจากนั้นอาร์รันคาร์กลุ่มแรกถูกส่งมายังโลกมนุษย์เพื่อมาดูลาดเลาและคอยสังเกตการณ์อิจิโกะ แต่อุลคิโอร่าหนึ่งในอารันคาร์ที่เดินทางมาได้ตัดสินว่าอิจิโกะเป็นเพียงขยะที่ไม่ควรค่าแก่การสังหาร ไอเซ็นจึงปล่อยให้อิจิโกะมีชีวิตไปพลางก่อน อิจิโกะสิ้นหวังกับพลังยมทูตที่บัดนี้เหมือนไม่ใช่พลังของตัวเอง จึงได้ละทิ้งหน้าที่ตัวแทนยมทูตและเก็บตัวเงียบนานแรมเดือน โซลโซไซตี้ที่บัดนี้ถูกควบคุมโดย ยามาโมโตะ เก็นริวไซ ชิเงคุงิ หัวหน้าใหญ่ของ 13 หน่วยพิทักษ์เห็นสถานการณ์ไม่สู้ดี จึงได้ส่งลูเคีย เร็นจิ รวมถึงยมทูตอีก 4 คนคือ มาดาราเมะ อิกคาคุ, อายาเซกาว่า ยูมิจิกะ, มัตสึโมโต้ รันงิคุ และฮิสึกายะ โทชิโร่ มาอยู่ประจำเมืองคาราคุระเพื่อคอยคุ้มกันโลกมนุษย์จากการบุกของเหล่าอารันคาร์และไอเซ็น ระหว่างนั้นเองเก็นริวไซได้คอยสืบหาเบาะแสของไอเซ็นจากที่ซ่อนตัวในวังกลาง 46 ห้อง จนได้รู้ความจริงว่าเป้าหมายที่แท้จริงของไอเซ็น คือการสร้างกุญแจราชันย์ โอเค็น กุญแจที่สามารถนำทางไปยังวังแห่งราชันย์ที่ซ่อนอยู่ในโซลโซไซตี้ได้ และวัตถุดิบคือเมืองคาราคุระพร้อมผู้คนและวิญญาณบนโลกมนุษย์ทั้งเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ไอเซ็นทำตามแผนได้สำเร็จและสามารถต่อกรกับพวกอารันคาร์ได้ อิจิโกะจึงยอมขอความช่วยเหลือจากเหล่าไวเซิร์ดในการคุมพลังฮอลโลว์ แช้ดขอความช่วยเหลือจากอุราฮาระในการฝึกใช้พลังเพิ่มเติม อุราฮาระจึงขอให้เร็นจิช่วยใช้บังไคฝึกพลังให้ อิโนะอุเอะเองก็เดินทางไปยังโซลโซไซตี้เพื่อฝึกพลังกับลูเคียที่นั่น อุริวได้รับข้อเสนอจากริวเค็นเพื่อฟื้นพลังควินซีที่เขาเสียไปในระหว่างการต่อสู้ในโซลโซไซตี้ให้ แต่ระหว่างที่พวกอิจิโกะฝึกอย่างหนัก และโซลโซไซตี้เองก็วางแผนรับมือไอเซ็นอยู่นั้น ไอเซ็นได้เดินเกมบุกโลกมนุษย์อีกครั้งโดยส่งกองทัพอารันคาร์มาทั้งหมด 5 ตน ทั้ง 5 เข้าถล่มพวกอิจิโกะอย่างหนักหน่วง แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น อุลคิโอร่าดักโจมตีอิโนะอุเอะระหว่างทางที่กำลังเดินทางกลับโลกมนุษย์ และบังคับให้เธอเดินทางไปฮูเอโกมุนโด้ไปด้วยกัน อิโนะอุเอะไม่มีทางเลือกเลยยอมเดินทางไปด้วย เก็นริวไซที่รู้เรื่องจึงตัดสินให้อิโนะอุเอะคือผู้ทรยศ ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือทุก ๆ อย่าง และเรียกหน่วยฮิสึกายะกลับมาเตรียมความพร้อมก่อนสงครามฤดูหนาวจะเริ่มต้น อิจิโกะไม่มีทางเลือกจึงไปขอให้อุราฮาระเปิดประตูผ่านโลกไปยังฮูเอโกมุนโด้ให้ อิจิโกะ ซาโดะ และอุริว ทั้งสามคนจึงเดินทางไปฮูเอโกมุนโด้เพื่อชิงตัวอิโนะอุเอะกลับมาด้วยกัน ระหว่างที่กำลังเดินทางไปลาสนอร์เช่ส์ อิจิโกะได้พบกับเนล อาร์รันคาร์เด็กที่อาสาพาไปลาสนอร์เช่ส์ให้ รวมถึงลูเคียและเร็นจิได้เดินทางตามมาสมทบภายหลังด้วย และแล้วสงครามในลาสนอร์เช่ส์ก็เริ่มต้นขึ้น พวกอิจิโกะต่างต่อสู้กับเอสปาด้าตนแล้วตนเล่า จนในที่สุดก็ปราชัยให้กับเหล่าเอสปาด้ากันเกือบทั้งหมด พริบตาที่อิจิโกะกำลังจะพ่ายแพ้ต่อเอสปาด้า ซาราคิ เคมปาจิ ก็ปรากฎตัวขึ้นต่อหน้าเขา ซาราคิบอกว่าเก็นริวไซออกคำสั่งให้ยมทูต 8 คนบุกเข้าฮูเอโกมุนโด้ เพื่อช่วยอิจิโกะชิงตัวอิโนะอุเอะกลับมาและคอยจัดการเหล่าเอสปาด้าจากข้างใน แต่ทว่านั่นคือกลลวงของไอเซ็นที่จะขังกลุ่มตัวแทนยมทูตไว้ในฮูเอโกมุนโด้ แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีหัวหน้าหน่วยติดเบ็ดด้วยอีก 4 คน ด้วยกำลังของ 13 หน่วยพิทักษ์ที่หายไปเกินครึ่ง ทำให้ไอเซ็นตัดสินใจบุกเมืองคาราคุระทันที เก็นริวไซที่รู้แผนการทั้งหมดของไอเซ็นจึงได้สั่งให้อุราฮาระเตรียมการให้เมืองคาราคุระเป็นสนามรบ โซลโซไซตี้ใช้วิธีการสร้างเมืองคาราคุระของปลอมขึ้นที่เมืองลูคอนและใช้เท็นไกเค็ตจูย้ายเมืองปลอมมาสลับกับเมืองจริงบนโลกมนุษย์ ไอเซ็นที่รู้เรื่องจึงตัดสินใจที่จะฆ่าเหล่ายมทูตทั้งหมดที่นี่ก่อนบุกเข้าโซลโซไซตี้เพื่อทำลายเมืองคาราคุระและโซลโซไซตี้ไปพร้อม ๆ กัน อิจิโกะที่สามารถพิชิตอุลคิโอร่าได้จึงถูกเบียคุยะส่งกลับมาเข้าร่วมศึกที่โลกมนุษย์ เพราะอิจิโกะคือไพ่ตายหนึ่งเดียวที่จะสามารถโค่นไอเซ็นลงได้ด้วยการที่เขาไม่เคยเห็นการปลดปล่อยดาบฟันวิญญาณของไอเซ็นมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว อิจิโกะเข้าต่อสู้กับไอเซ็นอย่างหนักแต่ก็ต้องพ่ายไป อิจิมารุจึงสั่งให้อิจิโกะหนีจากสงครามนี้ไปก่อนจะบุกเข้าโซลโซไซตี้เพื่อทำตามประสงค์ อิจิโกะทำตัวไม่ถูกว่าจะไปทางไหนต่อก็ถูกคุโรซากิ อิชชิน อดีตยมทูตผู้เป็นพ่อเตือนสติ และให้เข้าไปปกป้องเมืองคาราคุระที่อยู่ข้างในโซลโซไซตี้เสีย แต่ระหว่างทางที่ไปโซลโซไซตี้ อิชชินได้สั่งให้อิจิโกะเข้าไปถามหาพลังขั้นสุดท้ายจากดาบฟันวิญญาณของตน อิจิโกะใช้เวลาที่ได้รับพิชิตดาบฟันวิญญาณของตนได้สำเร็จ และได้รับเคล็ดวิชาที่จะใช้เผด็จศึกกับไอเซ็นมาครอง และแล้วการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของอิจิโกะกับไอเซ็นจึงเริ่มขึ้น อิจิโกะจึงปลดปล่อยพลังขั้นสุดท้ายที่ต้องแลกกับพลังทั้งหมดของตัวเองเพื่อเอาชนะไอเซ็นให้จงได้ แต่สุดท้ายพลังที่ปล่อยไปกลับล้มเหลว ไอเซ็นฟื้นฟูเต็มสภาพแบบใกล้เคียงความเป็นอมตะ พริบตาที่ไอเซ็นกำลังจะพิชิตชัย เขาก็ถูกผนีกที่อุราฮาระวางไว้เข้าผนีกร่างกายของตัวเองจนไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป หลายวันผ่านไปทุกอย่างเริ่มกลับเข้าสู่สภาพเดิม แต่สำหรับอิจิโกะกระบวนการสูญเสียพลังยมทูตได้เริ่มขึ้น อิจิโกะจึงเดินทางกลับบ้านเพื่อใช้ชีวิตตามปกติโดยมีลูเคียมาส่ง และเมื่อพลังหายไปจนหมด เขาก็ไม่สามารถมองเห็นวิญญาณได้อีกเลย สองปีต่อมา อิจิโกะ เด็กหนุ่มมัธยมปลายปี 3 วัย 17 ที่ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไป ได้รับการติดต่อจากชายปริศนาที่ชื่อว่า งินโจ คูโก ให้อิจิโกะมาเข้าร่วมองค์กร เอ็กซ์คิวชัน เพื่อฝึกให้อิจิโกะเป็นฟูลบริงเกอร์คนใหม่ แต่แท้จริงแล้วนั่นคือแผนที่จะขโมยพลังวิญญาณของอิจิโกะที่เป็นไวเซิร์ดเพื่อมาพัฒนาให้พลังของฟูลบริงเกอร์ก้าวกระโดดขึ้นไปจากเดิมอีกขั้น อิจิโกะเสียใจที่ถูกหักหลังและสิ้นหวังกับทุกสิ่งที่เขารู้มา พริบตาที่ความสิ้นหวังจบลง ดาบปริศนาก็แทงทะลุร่างอิจิโกะ ทำให้อิจิโกะได้รับพลังยมทูตกลับคืนตามคำสั่งเก็นริวไซ งินโจวเห็นท่าไม่ดีจึงได้อธิบายความลับของ "ตราตัวแทนยมทูต" ว่าแท้จริงแล้วอุปกรณ์นี้เป็นอุปกรณ์สำหรับติดตามตัวบุคคลที่เป็นยมทูตโดยไม่ได้รับอนุมัติจากโซลโซไซตี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนการของ อุคิทาเกะ จูจิโร่ หัวหน้าหน่วยที่ 13 ที่ใช้อุปกรณ์นี้คอยติดตามตัวเพื่อควบคุมให้งินโจว ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนยมทูตรุ่นแรกให้อยู่ใต้อำนาจของตน งินโจวที่รู้เรื่องจึงทำลายอุปกรณ์ทิ้งและหลบหนีหายไปในโลกมนุษย์ อุคิทาเกะรู้ดีว่าถ้ามอบตราตัวแทนให้อิจิโกะไว้ งินโจวจะต้องติดต่ออิจิโกะแน่ และตนจะให้โซลโซไซตี้ใช้โอกาสนี้ฆ่าทั้งงินโจวและอิจิโกะลงพร้อมกัน แต่ด้วยเหตุการณ์ไอเซ็นทำให้เก็นริวไซตัดสินใจไม่ฆ่าอิจิโกะ แต่ให้คอยสังเกตการณ์ว่าอิจิโกะจะทำอย่างไรถ้าได้รู้ความจริง พริบตาที่ทุกคนเห็นอิจิโกะตั้งท่าสู้กับความมุ่งมั่นของงินโจว ทุกคนจึงน้อบรับคำตัดสินและถอนภารกิจสังหารงินโจวกับอิจิโกะลง ปล่อยให้อิจิโกะจัดการกับงินโจวตามลำพัง และอิจิโกะก็ทำได้สำเร็จและยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง หลายเดือนหลังจากนั้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวผิดปกติในโซลโซไซตี้และฮูเอโกมุนโด้ กำลังจะนำพาทั้งสามโลกเข้าสู่สงครามสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความตายไม่รู้จบ และความจริงสุดท้ายของอิจิโกะก็จะปรากฎขึ้นต่อหน้าทุกคน == โลกและมิติเขตแดน== ==อาวุธและอุปกรณ์== ===ดาบฟันวิญญาน=== ดาบที่มีหลากหลายแบบตามกำลังและพลังที่แอบแผงในร่างและมีการพัฒนาการไปได้อีกหลายระดับ เรียนชื่อของดาบที่แปลงสภาพจากแรงดันวิญญาณว่าซัมปาคุโต (ดาบฟันวิญญาณ) อาวุธที่จะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับเหล่ายมทูต ซัมปาคุโตจะแตกต่างจากดาบธรรมดา ตรงที่ดาบแต่ละเล่มนั้นสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้สามแบบ คือ == ตัวละคร == ==สื่อบันเทิง== นอกจากนี้ เทพมรณะได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูน สองอนิเมะโอวีเอ สี่อภาพยนตร์ ละครเพลง วิดีโอเกม และการ์ดเกม โดยภาพยนตร์การ์ตูนถูกทำเป็นสองภาค ภาคแรก เทพมรณะ ออกอากาศทางสถานีทีวีโตเกียว ในประเทศไทยฉายที่ช่อง ทรู สปาร์ค ลิขสิทธิ์ดีวีดีและวีซีดีในประเทศไทยโดย โรส มีเดีย เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ปัจจุบันได้เปลี่ยนผู้ถือลิขสิทธิ์เป็นต่างประเทศ เพื่อออกฉายผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ เน็ตฟลิกซ์ อ้ายฉีอี้ ปีลีปีลี ทรูไอดี แอมะซอน ไพร์ม วิดีโอ โดยที่มีเสียงพากย์ไทยในแพลตฟอร์ม ทรูไอดี ที่ใช้เสียงพากย์ของช่องทรูสปาร์ค และ แอมะซอน ไพร์ม วิดีโอ ที่ใช้เสียงพากย์ของโรส มีเดียทั้งหมด และภาคที่ 2 เทพมรณะ: สงครามเลือดพันปี ออกอากาศทางสถานีทีวีโตเดียวเช่นกัน ในไทยถือลิขสิทธิ์โดยผู้ถือลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ โดยออกฉายผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่นกัน ทั้งนี้ในภาค สงครามเลือดพันปี ได้มีการจัดทำเสียงพากย์ไทยโดย บริษัท เอฟฟ์ จำกัด หรือการ์ตูน คลับ โดยใช้นักพากย์เดิมของ โรส มีเดีย บางส่วน ร่วมกับนักพากย์ของการ์ตูน คลับ == รายชื่อตอนในอนิเมะเทพมรณะ == == เพลงเปิด-ปิดในอนิเมะเทพมรณะ == === บลีช เทพมรณะ (2547-2555) === ==== เพลงเปิด (OPENING) ==== ==== เพลงปิด (ENDING) ==== === บลีช เทพมรณะ: สงครามเลือดพันปี (2565-ปัจจุบัน) === ==== เพลงเปิด (OPENING) ==== ==== เพลงปิด (ENDING) ==== สำหรับตอนที่ 13 เพลง Saihate ฉบับเต็มจะถูกฉายเฉพาะในเวอร์ชันฉาย 1 ชั่วโมง (ตอนที่ 12-13) ที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ถ้ารับชมจากนอกประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเวอร์ชันที่ใช้ OST: Number One - Bankai โดย Shiro Sagisu เป็นเพลงปิดเลย == ภาพยนตร์ == == ละครเวที / ละครเพลง == เทพมรณะ มีการแสดงในรูปแบบของละครเพลงโดยใช้ชื่อว่า ร็อก มิวสิเคิล บลีช Rock Musical Bleach == นวนิยาย == == รายการอ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ บทความวิเคราะห์เทพมรณะในทางจิตวิทยา การ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเน็ง‎ อนิเมะที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2547 ปิเอโร (บริษัท) ทูนามิ ตัวละครกลุ่มหก เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนต์
thaiwikipedia
783
รูปสามเหลี่ยม
รูปสามเหลี่ยม เป็นหนึ่งในรูปร่างพื้นฐานในเรขาคณิต คือรูปหลายเหลี่ยมซึ่งมี 3 มุมหรือจุดยอด และมี 3 ด้านหรือขอบที่เป็นส่วนของเส้นตรง รูปสามเหลี่ยมที่มีจุดยอด A, B, และ C เขียนแทนด้วย ในเรขาคณิตแบบยุคลิด จุด 3 จุดใดๆ ที่ไม่อยู่ในเส้นตรงเดียวกัน จะสามารถสร้างรูปสามเหลี่ยมได้เพียงรูปเดียว และเป็นรูปที่อยู่บนระนาบเดียว (เช่นระนาบสองมิติ) == ประเภทของรูปสามเหลี่ยม == === แบ่งตามความยาวของด้าน === รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า (equilateral) มีด้านทุกด้านยาวเท่ากัน รูปสามเหลี่ยมด้านเท่าเป็นรูปหลายเหลี่ยมมุมเท่า นั่นคือมุมภายในทุกมุมจะมีขนาดเท่ากัน คือ 60° และเป็นรูปหลายเหลี่ยมปกติ รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว (isosceles) มีด้านสองด้านยาวเท่ากัน (ตามความหมายเริ่มแรกโดยยุคลิด ถึงแม้ว่ารูปสามเหลี่ยมด้านเท่าจะสามารถจัดว่าเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วได้ด้วย เพราะมีด้านที่ยาวเท่ากันอย่างน้อยสองด้าน) และมีมุมสองมุมขนาดเท่ากัน คือมุมที่ไม่ได้ประกอบด้วยด้านที่เท่ากันทั้งสอง รูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า (scalene) ด้านทุกด้านจะมีความยาวแตกต่างกัน มุมภายในก็มีขนาดแตกต่างกันด้วย {| align="center" |- align="center" | width = "185" | รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า | width = "185" | รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว | width = "185" | รูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า |- align="center" | รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า | รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว | รูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า |} === แบ่งตามมุมภายใน === รูปสามเหลี่ยมมุมฉาก (right, right-angled, rectangled) มีมุมภายในมุมหนึ่งมีขนาด 90° (มุมฉาก) ด้านที่อยู่ตรงข้ามกับมุมฉากเรียกว่า ด้านตรงข้ามมุมฉาก ซึ่งเป็นด้านที่ยาวที่สุดในรูปสามเหลี่ยม อีกสองด้านเรียกว่า ด้านประกอบมุมฉาก ความยาวด้านของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากสัมพันธ์กันตามทฤษฎีบทพีทาโกรัส นั่นคือกำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก c จะเท่ากับผลบวกของกำลังสองของด้านประกอบมุมฉาก a, b เขียนอย่างย่อเป็น a^2 + b^2 = c^2 ดูเพิ่มเติมที่ รูปสามเหลี่ยมมุมฉากพิเศษ รูปสามเหลี่ยมมุมเฉียง (oblique) ไม่มีมุมใดเป็นมุมฉาก ซึ่งอาจหมายถึงรูปสามเหลี่ยมมุมป้านหรือรูปสามเหลี่ยมมุมแหลม * รูปสามเหลี่ยมมุมป้าน (obtuse) มีมุมภายในมุมหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 90° (มุมป้าน) * รูปสามเหลี่ยมมุมแหลม (acute) มุมภายในทุกมุมมีขนาดเล็กกว่า 90° (มุมแหลม) รูปสามเหลี่ยมด้านเท่าเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมแหลม แต่รูปสามเหลี่ยมมุมแหลมทุกรูปไม่ได้เป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า {| align="center" |- align="center" | width = "185" | รูปสามเหลี่ยมมุมฉาก | width = "185" | รูปสามเหลี่ยมมุมป้าน | width = "185" | รูปสามเหลี่ยมมุมแหลม |- align="center" | รูปสามเหลี่ยมมุมฉาก | รูปสามเหลี่ยมมุมป้าน | รูปสามเหลี่ยมมุมแหลม |- align="center" |   | colspan = "2" | \underbrace{\qquad \qquad \qquad \qquad \qquad \qquad}_{}รูปสามเหลี่ยมมุมเฉียง (ไม่มีมุมฉาก) |} == ข้อเท็จจริงพื้นฐาน == ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับรูปสามเหลี่ยมได้แสดงไว้ในหนังสือชื่อ Elements เล่ม 1-4 เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล รูปสามเหลี่ยมเป็นรูปหลายเหลี่ยมชนิดหนึ่ง และเป็น 2-ซิมเพล็กซ์ (2-simplex) รูปสามเหลี่ยมทุกรูปเป็นรูปสองมิติ มุมภายในของรูปสามเหลี่ยมในปริภูมิแบบยุคลิดจะรวมได้ 180° เสมอ ด้วยข้อเท็จจริงนี้ทำให้เราสามารถหาขนาดของมุมที่สาม เมื่อเราทราบขนาดของมุมแล้วสองมุม มุมภายนอกของรูปสามเหลี่ยม (คือมุมที่อยู่ติดกับมุมภายใน โดยต่อความยาวด้านหนึ่งออกไป) จะมีขนาดเท่ากับมุมภายในที่ไม่ได้อยู่ติดกับมุมภายนอกรวมกัน สิ่งนี้เรียกว่าทฤษฎีบทมุมภายนอก มุมภายนอกทั้งสามจะรวมกันได้ 360° เช่นเดียวกับรูปหลายเหลี่ยมนูนอื่นๆ ผลบวกของความยาวของสองด้านใดๆ ในรูปสามเหลี่ยม จะมากกว่าความยาวของด้านที่สามเสมอ สิ่งนี้เรียกว่าอสมการอิงรูปสามเหลี่ยม (กรณีพิเศษของการเท่ากันคือ มุมสองมุมถูกยุบให้มีขนาดเป็นศูนย์ รูปสามเหลี่ยมจะลดตัวลงเป็นเพียงส่วนของเส้นตรง) รูปสามเหลี่ยมสองรูปจะเรียกว่า คล้ายกัน ก็ต่อเมื่อทุกมุมของรูปหนึ่ง มีขนาดเท่ากับมุมที่สมนัยกันของอีกรูปหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ ด้านที่สมนัยกันจะเป็นสัดส่วน (proportional) ต่อกัน ตัวอย่างกรณีนี้เช่น รูปสามเหลี่ยมสองรูปที่มีมุมร่วมกันมุมหนึ่ง และด้านตรงข้ามมุมนั้นขนานกัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัจพจน์และทฤษฎีบทพื้นฐานเกี่ยวกับการคล้ายกันของรูปสามเหลี่ยมดังนี้ รูปสามเหลี่ยมสองรูปจะคล้ายกัน ถ้ามีมุมที่สมนัยกันอย่างน้อยสองมุมเท่ากัน ถ้าด้านที่สมนัยกันสองด้านเป็นสัดส่วนต่อกัน และมุมที่ด้านทั้งสองประกอบอยู่สมภาค (congruent) ต่อกัน แล้วรูปสามเหลี่ยมสองรูปนั้นจะคล้ายกัน ถ้าด้านทั้งสามของรูปสามเหลี่ยมสองรูปเป็นสัดส่วนต่อกัน แล้วรูปสามเหลี่ยมสองรูปนั้นจะคล้ายกัน สำหรับรูปสามเหลี่ยมสองรูปที่สมภาคต่อกัน (หรือเรียกได้ว่า เท่ากันทุกประการ) ซึ่งหมายความว่ามุมและด้านมีขนาดเท่ากันทั้งหมด ก็ยังมีสัจพจน์และทฤษฎีบทเกี่ยวกับเรื่องนี้ สัจพจน์ ด้าน-มุม-ด้าน: ถ้าด้านสองด้านและมุมที่อยู่ระหว่างสองด้านนั้นสมภาคต่อกัน ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองจะสมภาคต่อกัน สัจพจน์ มุม-ด้าน-มุม: ถ้ามุมสองมุมและด้านที่อยู่ระหว่างสองมุมนั้นสมภาคต่อกัน ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองจะสมภาคต่อกัน สัจพจน์ ด้าน-ด้าน-ด้าน: ถ้าด้านทั้งสามของรูปสามเหลี่ยมสมภาคต่อกัน ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองจะสมภาคต่อกัน ทฤษฎีบท มุม-มุม-ด้าน: ถ้ามุมสองมุมและด้านที่ไม่อยู่ระหว่างสองมุมนั้นสมภาคต่อกัน ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองจะสมภาคต่อกัน ทฤษฎีบท ด้านตรงข้ามมุมฉาก-ด้านประกอบมุมฉาก (ฉาก-ด้าน-ด้าน): ถ้าด้านประกอบมุมฉากด้านหนึ่งและด้านตรงข้ามมุมฉากของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากสองรูปสมภาคกัน ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองจะสมภาคต่อกัน ทฤษฎีบท ด้านตรงข้ามมุมฉาก-มุม (ฉาก-มุม-ด้าน): ถ้าด้านตรงข้ามมุมฉากและมุมแหลมมุมหนึ่งของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากสองรูปสมภาคกัน ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองจะสมภาคต่อกัน เงื่อนไข ด้าน-ด้าน-มุม (มุม-ด้าน-ด้าน): ถ้าด้านสองด้านและมุมที่ไม่อยู่ระหว่างสองด้านนั้นสมภาคต่อกัน และถ้าหากมุมนั้นเป็นมุมป้าน นั่นคือด้านตรงข้ามยาวกว่าด้านประชิดมุม หรือด้านตรงข้ามเท่ากับไซน์ของมุมคูณด้วยด้านประชิดมุม ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมทั้งสองจะสมภาคต่อกัน ถึงแม้ว่ามุมทั้งสามของรูปสามเหลี่ยมจะสมภาคกัน (มุม-มุม-มุม) เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่ารูปสามเหลี่ยมทั้งสองสมภาคต่อกัน เพียงแค่คล้ายกัน โปรดสังเกตต่อไปอีกว่า เงื่อนไข ด้าน-ด้าน-มุม รับรองไม่ได้ว่ารูปสามเหลี่ยมจะสมภาคกันเสมอ สำหรับทฤษฎีบท ด้านตรงข้ามมุมฉาก-ด้านประกอบมุมฉาก รูปสามเหลี่ยมจะต้องเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก หากไม่เช่นนั้นก็จะถูกจัดเป็นเงื่อนไข ด้าน-ด้าน-มุม ซึ่งก็รับรองไม่ได้ว่ารูปสามเหลี่ยมจะสมภาคกัน การใช้รูปสามเหลี่ยมมุมฉากและแนวคิดเรื่องความคล้าย ฟังก์ชันตรีโกณมิติอย่างไซน์และโคไซน์จึงถูกนิยามขึ้น ซึ่งเป็นฟังก์ชันของมุมที่ใช้ในการตรวจสอบเรื่องตรีโกณมิติ ทฤษฎีบทพีทาโกรัส (Pythagorean theorem) เป็นอีกทฤษฎีบทหนึ่งที่สำคัญ กล่าวว่าในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากใดๆ กำลังสองของความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก จะเท่ากับผลรวมของกำลังสองของความยาวของทั้งสองด้านที่เหลือ ถ้าด้านตรงข้ามมุมฉากยาว c หน่วย และด้านประกอบมุมฉากยาว a และ b หน่วย ดังนั้นทฤษฎีบทนี้จึงให้ความหมายว่า a^2 + b^2 = c^2\,\! บทกลับของทฤษฎีบทนี้ก็ยังคงเป็นจริง นั่นคือถ้าความยาวของด้านทั้งสามตรงตามเงื่อนไขในสมการข้างต้น ดังนั้นรูปสามเหลี่ยมนั้นจะเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก ข้อเท็จจริงอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับรูปสามเหลี่ยมมุมฉากมีดังนี้ มุมแหลมสองมุมในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากเป็นมุมประกอบมุมฉาก (complementary angles) a + b + 90^{\circ} = 180^{\circ} \implies a + b = 90^{\circ} \implies a = 90^{\circ} - b ถ้าหากด้านประกอบมุมฉากมีขนาดเท่ากัน มุมแหลมสองมุมก็จะมีขนาดเท่ากันด้วยคือ 45° และจากทฤษฎีบทพีทาโกรัส ความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉากจะมีขนาดเป็น √2 เท่าของด้านประกอบมุมฉาก ถ้าหากมุมแหลมสองมุมมีขนาด 30° และ 60° ความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉากจะมีขนาดเป็น 2 เท่าของด้านประกอบมุมฉากที่สั้นกว่า สำหรับรูปสามเหลี่ยมทุกรูป ขนาดของด้านและมุมมีความสัมพันธ์กันตามกฎของไซน์และกฎของโคไซน์ == จุด เส้นตรง และรูปวงกลมที่เกี่ยวข้องกับรูปสามเหลี่ยม == เส้นแบ่งครึ่งตั้งฉาก (perpendicular bisector) คือ เส้นตรงที่ลากผ่านจุดกึ่งกลางของด้าน และตั้งฉากกับด้านนั้น นั่นคือ ทำมุมฉากกับด้านนั้น เส้นแบ่งครึ่งตั้งฉากทั้งสามจะพบกันที่จุดเดียว คือ ศูนย์กลางวงล้อม (circumcenter) ของรูปสามเหลี่ยม จุดนี้เป็นจุดศูนย์กลางของวงกลมล้อม (circumcircle) ซึ่งเป็นวงกลมที่ลากผ่านจุดยอดทั้งสาม ทฤษฎีบทของธาลีส (Thales' theorem) กล่าวว่า ถ้าศูนย์กลางวงล้อมอยู่บนด้านใดด้านหนึ่งของรูปสามเหลี่ยมแล้ว มุมตรงข้ามด้านนั้นจะเป็นมุมฉาก นอกจากนี้ ถ้าศูนย์กลางวงล้อมอยู่ในรูปสามเหลี่ยมแล้ว รูปสามเหลี่ยมนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมแหลม ถ้าศูนย์กลางวงล้อมอยู่นอกรูปสามเหลี่ยมแล้ว รูปสามเหลี่ยมนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน ส่วนสูง (altitude) ของรูปสามเหลี่ยม คือ เส้นตรงที่ลากผ่านจุดยอดและตั้งฉาก (ทำมุมฉาก) กับด้านตรงข้าม ด้านตรงข้ามนั้นเรียกว่าฐาน (base) ของส่วนสูง และจุดที่ส่วนสูงตัดกับฐาน (หรือส่วนที่ขยายออกมา) นั้นเรียกว่า เท้า (foot) ของส่วนสูง ความยาวของส่วนสูงคือระยะทางระหว่างฐานกับจุดยอด ส่วนสูงทั้งสามจะตัดกันที่จุดเดียว เรียกจุดนั้นว่า จุดออร์โทเซนเตอร์(orthocenter) ของรูปสามเหลี่ยม จุดออร์โทเซนเตอร์จะอยู่ในรูปสามเหลี่ยมก็ต่อเมื่อรูปสามเหลี่ยมนั้นไม่เป็นรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน จุดยอดทั้งสามและจุดออร์โทเซนเตอร์นั้นอยู่ในระบบออร์โทเซนตริก (orthocentric system) เส้นแบ่งครึ่งมุม (angle bisector) คือ เส้นตรงที่ลากผ่านจุดยอด ซึ่งแบ่งมุมออกเป็นครึ่งหนึ่ง เส้นแบ่งครึ่งมุมทั้งสามจะตัดกันที่จุดเดียว คือ จุดศูนย์กลางของวงกลมแนบใน (incircle) ของรูปสามเหลี่ยม วงกลมแนบในคือวงกลมที่อยู่ในรูปสามเหลี่ยม และสัมผัสด้านทั้งสาม มีอีกสามวงกลมที่สำคัญคือ วงกลมแนบนอก (excircle) คือวงกลมที่อยู่นอกรูปสามเหลี่ยมและสัมผัสกับด้านหนึ่งด้านและส่วนที่ขยายออกมาทั้งสอง จุดศูนย์กลางของวงกลมแนบในและวงกลมแนบนอกอยู่ในระบบออร์โทเซนตริก เส้นมัธยฐาน (median) ของรูปสามเหลี่ยม คือ เส้นตรงที่ลากผ่านจุดยอดและจุดกึ่งกลางของด้านตรงข้าม ซึ่งจะแบ่งรูปสามเหลี่ยมออกเป็นพื้นที่ที่เท่ากัน เส้นมัธยฐานทั้งสามจะตัดกันที่จุดเดียว คือ เซนทรอยด์ (centroid) ของรูปสามเหลี่ยม จุดนี้จะเป็นศูนย์ถ่วง (center of gravity) ของรูปสามเหลี่ยมด้วย ถ้ามีไม้ที่เป็นรูปสามเหลี่ยม คุณสามารถทำให้มันสมดุลได้ที่เซนทรอยด์ของมันหรือเส้นใดๆที่ลากผ่านเซนทรอยด์ เซนทรอยด์จะแบ่งเส้นมัธยฐานด้วยอัตราส่วน 2:1 นั่นคือระยะทางระหว่างจุดยอดกับเซนทรอยด์ จะเป็นสองเท่าของระยะทางระหว่างเซนทรอยด์กับจุดกึ่งกลางของด้านตรงข้าม จุดกึ่งกลางของด้านทั้งสาม และเท้าของส่วนสูงทั้งสาม จะอยู่บนวงกลมเดียวกัน คือ วงกลมเก้าจุด (nine point circle) ของรูปสามเหลี่ยม อีกสามจุดที่เหลือคือจุดกึ่งกลางระหว่างจุดยอดกับจุดออร์โทเซนเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส่วนสูง รัศมีของวงกลมเก้าจุดจะเป็นครึ่งหนึ่งของรัศมีวงกลมล้อม มันจะสัมผัสวงกลมแนบใน (ที่จุด Feuerbach) และสัมผัสวงกลมแนบนอก เซนทรอยด์ (สีเหลือง) , จุดออร์โทเซนเตอร์ (สีน้ำเงิน) , ศูนย์กลางวงล้อม (สีเขียว) และจุดศูนย์กลางของวงกลมเก้าจุด (จุดสีแดง) ทั้งหมดจะอยู่บนเส้นเดียวกัน ที่เรียกว่า เส้นออยเลอร์ (Euler's line) (เส้นสีแดง) จุดศูนย์กลางของวงกลมเก้าจุดจะอยู่กึ่งกลางระหว่างจุดออร์โทเซนเตอร์กับศูนย์กลางวงล้อม ระยะทางระหว่างเซนทรอยด์กับศูนย์กลางวงล้อมจะเป็นครึ่งหนึ่งของระยะทางระหว่างเซนทรอยด์กับจุดออร์โทเซนเตอร์ จุดศูนย์กลางของวงกลมแนบในโดยทั่วไปจะไม่อยู่บนเส้นออยเลอร์ ภาพสะท้อนของเส้นมัธยฐานที่เส้นแบ่งครึ่งมุมของจุดยอดเดียวกัน เรียกว่า symmedian symmedianทั้งสามจะตัดกันที่จุดเดียว คือ จุด symmedian (symmedian point) ของรูปสามเหลี่ยม == การหาพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยม == การคำนวณพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยมเป็นปัญหาพื้นฐานที่มักจะพบในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สูตรที่ง่ายและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ S=\frac{1}{2}bh เมื่อ S หมายถึงพื้นที่ b คือความยาวของฐาน และ h คือความสูงหรือส่วนสูงของรูปสามเหลี่ยม คำว่าฐานในที่นี้สามารถหมายถึงด้านในด้านหนึ่งของรูปสามเหลี่ยม และส่วนสูงคือระยะที่วัดจากมุมที่อยู่ตรงข้ามด้านนั้นตั้งฉากไปยังฐาน ถึงแม้ว่าสูตรนี้จะง่าย แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะเมื่อสามารถหาความสูงของรูปสามเหลี่ยมได้โดยง่าย ตัวอย่างเช่นการรังวัดที่ดินที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม จะวัดความยาวของด้านทั้งสามแล้วสามารถคำนวณหาพื้นที่ได้โดยไม่ต้องวัดส่วนสูงเป็นต้น วิธีการที่หลากหลายถูกใช้ในทางปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับรูปสามเหลี่ยมบ้าง วิธีต่อไปนี้เป็นสูตรหาพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยมที่ใช้กันบ่อยๆ === ใช้เวกเตอร์ === พื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมด้านขนานสามารถคำนวณได้ด้วยเวกเตอร์ กำหนดให้ AB และ AC เป็นเวกเตอร์ที่ชี้จาก A ไป B และ A ไป C ตามลำดับ พื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน ABCD คือ |{AB}\times{AC}| ซึ่งเป็นขนาดของผลคูณไขว้ระหว่างเวกเตอร์ AB กับ AC และ |{AB}\times{AC}| มีค่าเท่ากับ |{h}\times{AC}| เมื่อ h แทนส่วนสูงที่เป็นเวกเตอร์ พื้นที่ของรูปสามเหลี่ยม ABC เป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมด้านขนานรูปนี้ หรือ S = \frac{1}{2}|{AB}\times{AC}| พื้นที่ของรูปสามเหลี่ยม ABC ก็ยังสามารถเขียนได้ด้วยรูปแบบของผลคูณจุดดังนี้ \frac{1}{2} \sqrt{(\mathbf{AB} \cdot \mathbf{AB})(\mathbf{AC} \cdot \mathbf{AC}) -(\mathbf{AB} \cdot \mathbf{AC})^2} =\frac{1}{2} \sqrt{ |\mathbf{AB}|^2 |\mathbf{AC}|^2 -(\mathbf{AB} \cdot \mathbf{AC})^2}\, === ใช้ตรีโกณมิติ === ส่วนสูงของรูปสามเหลี่ยมหาได้ด้วยตรีโกณมิติ จากรูปทางซ้าย ส่วนสูงจะเท่ากับ h = a sin γ นำไปแทนในสูตร S = ½bh ที่ได้จากข้างต้น พื้นที่ของรูปสามเหลี่ยมจึงแสดงได้เป็น S = \frac{1}{2}ab\sin \gamma = \frac{1}{2}bc\sin \alpha = \frac{1}{2}ca\sin \beta นอกจากนั้น เมื่อ sin α = sin (π - α) = sin (β + γ) และเป็นเช่นนี้เหมือนกันกับอีกสองมุมที่เหลือ จะได้สูตร S = \frac{1}{2}ab\sin (\alpha+\beta) = \frac{1}{2}bc\sin (\beta+\gamma) = \frac{1}{2}ca\sin (\gamma+\alpha) === ใช้พิกัด === ถ้าจุดยอด A อยู่ที่จุดกำเนิด (0, 0) ในระบบพิกัดคาร์ทีเซียน และกำหนดให้พิกัดของอีกสองจุดยอดอยู่ที่ {B = (x_B, y_B) , C = (x_C, y_C)} แล้วพื้นที่ S จะคำนวณได้จาก ½ เท่าของค่าสัมบูรณ์ของดีเทอร์มิแนนต์ S=\frac{1}{2}\left|\det\begin{pmatrix}x_B & x_C \\ y_B & y_C \end{pmatrix}\right| = \frac{1}{2}|x_B y_C - x_C y_B| สำหรับจุดยอดสามจุดใดๆ สมการคือ 121.12-74258/4561*754120+54851 S=\frac{1}{2} \left| \det\begin{pmatrix}x_A & x_B & x_C \\ y_A & y_B & y_C \\ 1 & 1 & 1\end{pmatrix} \right| = \frac{1}{2} \big| x_A y_C - x_A y_B + x_B y_A - x_B y_C + x_C y_B - x_C y_A \big| S=\frac{1}{2} \big| (x_C - x_A) (y_B - y_A) - (x_B - x_A) (y_C - y_A) \big| ในสามมิติ พื้นที่ของรูปสามเหลี่ยม {A = (x_A, y_A, z_A) , B = (x_B, y_B, z_B) , C = (x_C, y_C, z_C)} คือผลบวกพีทาโกรัสของพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยมที่ฉายไปบนระนาบพื้นฐาน (x = 0, y = 0, z = 0) S=\frac{1}{2} \sqrt{ \left ( \det\begin{pmatrix} x_A & x_B & x_C \\ y_A & y_B & y_C \\ 1 & 1 & 1 \end{pmatrix} \right) ^2 + \left ( \det\begin{pmatrix} y_A & y_B & y_C \\ z_A & z_B & z_C \\ 1 & 1 & 1 \end{pmatrix} \right) ^2 + \left ( \det\begin{pmatrix} z_A & z_B & z_C \\ x_A & x_B & x_C \\ 1 & 1 & 1 \end{pmatrix} \right) ^2 } === ใช้สูตรของเฮรอน === อีกวิธีที่ใช้คำนวณ S ได้คือใช้สูตรของเฮรอน S = \sqrt{s (s-a) (s-b) (s-c)} เมื่อ s = (a+b+c)/2 คือครึ่งหนึ่งของเส้นรอบรูปของรูปสามเหลี่ยม นอกจากนี้ก็มีสูตรอื่นที่เทียบเคียงกับสูตรของเฮรอน S = \frac{1}{4} \sqrt{(a^2+b^2+c^2) ^2-2 (a^4+b^4+c^4)} S = \frac{1}{4} \sqrt{2 (a^2b^2+a^2c^2+b^2c^2) - (a^4+b^4+c^4)} S = \frac{1}{4} \sqrt{(a+b-c) (a-b+c) (-a+b+c) (a+b+c)} == การคำนวณด้านและมุม == โดยทั่วไปแล้ว มีวิธีการที่ได้รับการยอมรับหลากหลายวิธีเพื่อคำนวณความยาวของด้านหรือขนาดของมุม ในขณะที่วิธีการเฉพาะอย่างสามารถใช้ได้ดีกับค่าต่างๆ ของรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก ซึ่งวิธีอื่นอาจต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากกว่า === อัตราส่วนตรีโกณมิติในรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก === ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก อัตราส่วนตรีโกณมิติของไซน์ โคไซน์ และแทนเจนต์สามารถใช้คำนวณหามุมที่ไม่ทราบขนาด หรือความยาวของด้านที่ไม่ทราบได้ ด้านต่างๆ ของรูปสามเหลี่ยมมีดังต่อไปนี้ ด้านตรงข้ามมุมฉาก คือด้านที่อยู่ตรงข้ามกับมุมฉาก หรือนิยามเป็นด้านที่ยาวที่สุดของรูปสามเหลี่ยมมุมฉากก็ได้ ตามรูปคือด้าน h ด้านตรงข้ามมุม คือด้านที่อยู่ตรงข้ามกับมุมที่เราสนใจ ตามรูปคือ a ด้านประชิดมุม คือด้านที่อยู่ติดต่อกันบนมุมฉากกับมุมที่เราสนใจ ตามรูปคือ b ==== ไซน์ โคไซน์ และแทนเจนต์ ==== ไซน์ของมุม คืออัตราส่วนระหว่างความยาวของด้านตรงข้ามมุม ต่อความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก \sin A = \frac {\textrm{opposite}} {\textrm{hypotenuse}} = \frac {a} {h} โปรดสังเกตว่าอัตราส่วนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปสามเหลี่ยมมุมฉากเฉพาะรูปใดรูปหนึ่ง แค่เรามีมุมที่สนใจ A บนรูปสามเหลี่ยมนั้นก็เพียงพอ โคไซน์ของมุม คืออัตราส่วนระหว่างความยาวของด้านประชิดมุม ต่อความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก \cos A = \frac {\textrm{adjacent}} {\textrm{hypotenuse}} = \frac {b} {h} แทนเจนต์ของมุม คืออัตราส่วนระหว่างความยาวของด้านตรงข้ามมุม ต่อความยาวของด้านประชิดมุม \tan A = \frac {\textrm{opposite}} {\textrm{adjacent}} = \frac {a} {b} เราสามารถท่องว่า "ข้ามฉาก ชิดฉาก ข้ามชิด" สำหรับการจำอัตราส่วนเหล่านี้อย่างย่อ ==== ฟังก์ชันผกผัน ==== ฟังก์ชันตรีโกณมิติผกผันสามารถใช้คำนวณมุมภายในของรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก เมื่อเราทราบความยาวของด้านสองด้านใดๆ อาร์กไซน์ ใช้สำหรับคำนวณขนาดของมุมที่สนใจ จากความยาวของด้านตรงข้ามมุม กับความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก \theta = \arcsin \left( \frac{\text{opposite}}{\text{hypotenuse}} \right) อาร์กโคไซน์ ใช้สำหรับคำนวณขนาดของมุมที่สนใจ จากความยาวของด้านประชิดมุม กับความยาวของด้านตรงข้ามมุมฉาก \theta = \arccos \left( \frac{\text{adjacent}}{\text{hypotenuse}} \right) อาร์กแทนเจนต์ ใช้สำหรับคำนวณขนาดของมุมที่สนใจ จากความยาวของด้านตรงข้ามมุม กับความยาวของด้านประชิดมุม \theta = \arctan \left( \frac{\text{opposite}}{\text{adjacent}} \right) === กฎของไซน์และโคไซน์ === กฎของไซน์ (law of sine) หรือกฎไซน์ (sine rule) ระบุไว้ว่าอัตราส่วนของความยาวของด้าน a ที่สมนัยกับมุม α (มุมตรงข้าม) จะเท่ากับอัตราส่วนของความยาวของด้าน b ที่สมนัยกับมุม β ดังนี้ \frac{a}{\sin \alpha} = \frac{b}{\sin \beta} = \frac{c}{\sin \gamma} กฎของโคไซน์ (law of cosine) หรือกฎโคไซน์ (cosine rule) เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างด้านหนึ่งของรูปสามเหลี่ยมที่ไม่ทราบความยาว ไปยังด้านที่เหลือและมุมที่อยู่ตรงข้าม จากรูปทางซ้ายมือ สมมติว่าเราทราบความยาวของด้าน a และ b และทราบขนาดของมุมตรงข้าม γ ความยาวของด้าน c สามารถคำนวณจากสูตรต่อไปนี้ c^2\ = a^2 + b^2 - 2ab\cos(\gamma) \implies b^2\ = a^2 + c^2 - 2ac\cos(\beta) \implies a^2\ = b^2 + c^2 - 2bc\cos(\alpha) == รูปสามเหลี่ยมที่ไม่อยู่บนระนาบ == รูปสามเหลี่ยมที่ไม่อยู่บนระนาบ หมายถึงรูปสามเหลี่ยมที่ไม่ได้ถูกวาดขึ้นบนพื้นผิวที่แบนราบ ตัวอย่างรูปสามเหลี่ยมที่ไม่อยู่บนระนาบเช่น รูปสามเหลี่ยมบนทรงกลมในเรขาคณิตทรงกลม และรูปสามเหลี่ยมเชิงไฮเพอร์โบลาในเรขาคณิตเชิงไฮเพอร์โบลา ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรขาคณิตแบบยุคลิด ในขณะที่รูปสามเหลี่ยมธรรมดา (สองมิติ) มุมภายในรูปสามเหลี่ยมจะรวมกันได้ 180° แต่รูปสามเหลี่ยมที่ไม่อยู่บนระนาบมุมภายในอาจรวมกันได้มากกว่าหรือน้อยกว่านั้น บนพื้นผิวที่มีความโค้งเป็นลบ (บุ๋มลงไป) จะบวกกันได้น้อยกว่า 180° และบนพื้นผิวที่มีความโค้งเป็นบวก (นูนขึ้นมา) จะบวกกันได้มากกว่า 180° นั่นหมายความว่า ถ้าเราวาดรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่มากบนพื้นผิวโลก มุมภายในจะรวมกันได้มากกว่า 180° == อ้างอิง == == ดูเพิ่ม == สมภาค (congruence) จุดแฟร์มาต์ (Fermat point) เทนเซอร์ความเฉื่อยของรูปสามเหลี่ยม (inertia tensor of triangle) กฎของไซน์, กฎของโคไซน์, กฎของแทนเจนต์ ทฤษฎีบทพีทาโกรัส จำนวนสามเหลี่ยม (triangular number) == แหล่งข้อมูลอื่น == Area of a triangle - 7 different ways Animated demonstrations of triangle constructions using compass and straightedge. Basic Overview & Explanation of Triangles Deko Dekov: Computer-Generated Encyclopedia of Euclidean Geometry . Contains a few thousands theorems discovered by a computer about interesting points associated with any triangle. Clark Kimberling: Encyclopedia of triangle centers. Lists some 3200 interesting points associated with any triangle. Christian Obrecht: Eukleides. Software package for creating illustrations of facts about triangles and other theorems in Euclidean geometry. Proof that the sum of the angles in a triangle is 180 degrees The Triangles Web, by Quim Castellsaguer Triangle Calculator - solves for remaining sides and angles when given three sides or angles, supports degrees and radians. Triangle definition pages with interactive applets that are also useful in a classroom setting. Triangles: Theorems and Problems. Interactive illustrations at Geometry from the Land of the Incas. Triangles at Mathworld 3
thaiwikipedia
784
ล่าอสูรกาย
ล่าอสูรกาย เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่เขียนและวาดภาพประกอบโดย คาซูฮิโระ ฟูจิตะ ตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูนโชเน็ง วีคลีโชเน็งซันเดย์ ของสำนักพิมพ์โชงากูกังตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2533 ถึงตุลาคม พ.ศ. 2539 โดยมีจำนวนเล่มทั้งหมด 33 เล่มจบ มังงะเรื่องนี้ติดตามการผจญภัยของเด็กชายชื่อ อาโอสึกิ อูชิโอะ ลูกชายของผู้ดูแลวัด ซึ่งหลังจากปลดปล่อย โทระ อสุรกายคล้ายเสือโคร่งที่ทรงพลังซึ่งถูกคุมขังอย่างไม่ได้ตั้งใจ ทั้งสองก็เริ่มต้นการเดินทางร่วมกันเพื่อต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่คุกคามโลกที่ชื่อว่า ฮาคูเม็งโนะโมโนะ == เนื้อเรื่อง == ปมที่แท้จริงของเรื่องนี้เริ่มเมื่ออุชิโอะพบว่าที่ห้องใต้ดินมีอสุรกายถูกขังด้วยหอกลึกลับ และเมื่อถามความจริงกับชิกุเระ จึงทราบว่าแท้จริงแล้วชิกุเระพ่อติงต๊องเป็นนักบวชเวทย์ ที่มีอาคมแกร่งกล้าที่สุดคนหนึ่งในนิกายลับโคฮะ ซึ่งตั้งขึ้นมาเป็นเวลานาน เพื่อหาผู้สืบทอด หอกสมิง ที่แท้จริง ชิกุเระ จึงบอกให้อุชิโอะออกเดินทาง โดยบอกว่าจะค้นพบความจริง เมื่อถึงจุดหมายที่อาซาฮิงาว่าในฮอกไกโด ระหว่างเดินทาง อุชิโอะได้พบเรื่องราวต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเผชิญกับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ให้สืบทอดหอกสมิงที่แท้จริงทั้งสี่คน การรู้จักและช่วยเหลือผู้คนจากอสูรต่างๆ พระเถื่อนเคียวร่าจากนิกายลับโคฮะ เฮียวเซียนผู้ลึกลับ อสูรประจำทิศบูรพา และประจิม อสูรผู้ย้อนเวลาได้ และได้ตระหนักว่าแม่ของตนจำเป็นต้องเสียสละตนเองไปอยู่ยังใต้ทะเลลึกเพื่อกักอสูรที่ร้ายกาจที่สุดในประวัติศาสตร์นั่นคือ จิ้งจอกเก้าหางฮะกุเม็ง ทั้งยังทราบจากการย้อนเวลาว่าแม่ของตน ตัวอุชิโอะและโทร่า ฮะกุเม็ง และการกำเนิดหอกสมิงนั้นเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง จุดประสงค์ที่แท้จริงผู้สร้างของหอกสมิงคืออะไร? แม่ของอุชิโอะเป็นใคร? โทร่าแท้จริงแล้วมาจากไหน? ทำไมอสูรร้ายอย่างฮะกุเม็งถึงถูกผนึกไว้ได้ ณ ใต้ทะเลลึกของเกาะญี่ปุ่น? และสุดท้ายเมื่อฮะกุเม็งตื่นขึ้นมา อุชิโอ โทร่า รวมทั้งนักบวชนิกายลับจะสามารถปราบฮะกุเม็งได้หรือไม่? == ตัวละคร == === มนุษย์ === ==== อาโอซึกิ อุชิโอะ ==== เด็กม.ต้นผู้ครอบครองหอกสมิง ซึ่งใช้กำจัดเหล่าอสูร มีอสูรชื่อว่า"โทระ"ซึ่งถูกกักโดยหอกสมิงมา 500 ปี พ่อ(อาโอซึกิ ชิกุเระ)เป็นนักบวชเวทนิกายลับโคฮะ พยายามที่จะค้นหาความลับของแม่(อาโอซึกิ ซึมาโกะ) และกำจัดฮะกุเม็ง ศัตรูของหอกสมิง ที่พยายามจะทำลายอสูรทั้งหมดและประเทศญี่ปุ่น ปิดเรื่องที่ตนเองมีหอกสมิงไว้เป็นความลับแต่มีบางคนที่รู้ ==== นากามูระ อาซาโกะ ==== เพื่อนร่วมห้องของอุชิโอะ เป็นเพื่อนกับอุชิโอะและมายูโกะตั้งแต่เด็ก เคยถูกอุชิโอะและโทร่าช่วยเหลือจากอสูรโดยหอกสมิง แอบชอบอุชิโอะอยู่ ==== อิโนอุเอะ มายูโกะ ==== เพื่อนร่วมชั้นของอุชิโอะและอาซาโกะ เคยถูกอุชิโอะและโทร่าช่วยเหลือจากอสูรโดยหอกสมิงเหมือนอาซาโกะ ชอบโทร่าและคิดว่าโทร่าเป็นสัตว์เลี้ยงของอุชิโอะ และโทร่าก็อยากกินมายูโกะด้วย (เจ้าตัวไม่รู้) แอบชอบอุชิโอะอยู่ ==== อาโอซึกิ ชิกุเระ ==== บิดาของ อาโอซึกิ อุชิโอะ เป็นนักบวชเวทพลังสูงนิกายลับโคฮะ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องหอกสมิงและกำจัดปีศาจ == รายชื่อตอน == == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == http://home.swbell.net/gioliver/mushio.html การ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเน็ง‎ แมปปา
thaiwikipedia
785
จังหวัดอุบลราชธานี
อุบลราชธานี มักเรียกโดยทั่วไปสั้นๆ ว่า อุบลฯ อักษรย่อ อบ เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับที่ 5 ของประเทศไทย และมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ นับเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีหลักฐานทั้งประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เก่าแก่ อาทิ ภาพเขียนสีที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง ประเพณีที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนี้คือแห่เทียนพรรษา มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ในบริเวณแอ่งโคราช โดยมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งภูมิประเทศแบบที่ราบสูง ภูมิประเทศแบบภูเขาสลับซับซ้อนในชายแดนตอนใต้โดยเฉพาะบริเวณอำเภอน้ำยืนและนาจะหลวย โดยมีเทือกเขาที่สำคัญคือทิวเขาบรรทัดและทิวเขาพนมดงรัก มีแม่น้ำโขงกั้นระหว่างตัวจังหวัดและประเทศลาว และมีแม่น้ำสำคัญ ๆ ได้แก่ แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี นอกจากนี้ยังมีลำน้ำที่สำคัญ ๆ หลายสาย มีลำเซบาย ลำเซบก ลำโดมใหญ่ และลำโดมน้อยเป็นอาทิ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนมากนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักโดยมีการทำนาข้าวและเพาะปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ เช่น ปอแก้ว มันสำปะหลัง ถั่วลิสง มีการเลี้ยงปศุสัตว์ และทำการประมงอยู่เล็กน้อย และยังมีอาชีพอื่น ๆ ที่สำคัญด้วย อาทิ อุตสาหกรรมและการค้าการบริการ จังหวัดอุบลราชธานีได้รับขนานนามว่า" เมืองนักปราชญ์ เมืองศิลปินแห่งชาติ" == ประวัติศาสตร์ == === สมัยอยุธยาและธนบุรี === พระเจ้าล้านช้างเวียงจันทน์ นามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 หรือพระเจ้าไชยองค์เว้ ทรงครองราชย์ โปรดแต่งตั้งให้ท้าวนองขุนนางสามัญชนเชื้อสายไทพวน เป็นเจ้าอุปราชนครเวียงจันทน์ และโปรดให้เจ้าอุปราชนองนำไพร่พลไปตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) โดยตั้งชื่อเมืองว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างป้อมปราการกันชนให้แก่อาณาจักร์ที่พึ่งถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่ กษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์หรือพระเจ้าไชยองค์เว้ จึงโปรดเกล้าให้เจ้าอุปราชนองพระบิดาของพระวอพระตาไปสร้างเมืองหนองบัวลุ่มภูขึ้นเป็นเมืองหน้าด่านยันกับอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางที่พึ่งแยกตัวออกจากเวียงจันทน์ไปตั้งอาณาจักรขึ้นใหม่ สาเหตุที่สำคัญของการล่มสลายของอาณาจักรล้านช้าง เนื่องมาจากการเข้าแทรกแซงหรือได้รับการไกล่เกลี่ยจากพระเพทราชากษัตริย์อาณาจักรอยุธยา ซึ่งได้เสนอให้แยกอาณาจักรออกจากกันเพื่อลดปัญหาของความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งฝ่ายนครหลวงเวียงจันทน์ก็ได้กลายเป็นคู่อริกันกับฝ่ายนครหลวงพระบางต่อมายาวนานอีกกว่าร้อยปี ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) ขึ้นเพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านใช้ยันกับอาณาจักรหลวงพระบางคู่อริตลอดกาลเป็นสำคัญ ภายหลังจากพระเจ้าไชยองค์เว้ทรงสถาปนาอาณาจักรใหม่ นามว่า อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาหลังจากอาณาจักรล้านช้างได้ล่มสลายไปแล้ว และถูกแยกเป็น 2 อาณาจักร ประมาณในราว พ.ศ. 2250 และต่อมาในราว พ.ศ. 2256 เขตแดนอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ก็ได้ถูกแยกเป็นอีกหนึ่งอาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่อมา พ.ศ. 2283 เจ้าอุปราชนองได้นำกองกำลังชาวเวียดนามเข้ายึดอำนาจจากเจ้าองค์ลอง พระราชโอรสของเจ้าไชยองเว้ เหตุผลที่เจ้าอุปราชนองมีกำลังพลจากทางเวียดนามเป็นจำนวนมากและมีความเกี่ยวข้องกับทางเวียดนาม สืบเนื่องมาจากตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราชขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้พยายามกำจัดพระญาติทางฝ่ายพระราชบิดาจนแทบสิ้น หนึ่งในนั้นคือเจ้าชมพู พระเชษฐาต่างพระมารดา เจ้าชมพูถูกเนรเทศ (หลบหนี) ไปพึ่งเวียดนาม โดยมีแสนทิพย์นาบัว สืบเชื้อสายไทพวนทางฝั่งบิดาหรือไทดำทางฝั่งมารดา ติดตามพระองค์ไปด้วย เจ้าชมพูให้กำเนิดโอรสกับหญิงชาวเมืองเว้ เชื้อสายเวียดนาม นามว่าพระไชยองค์เว้ ภายหลังเจ้าชมพูสิ้นพระชนม์ แสนทิพย์นาบัวจึงได้พระมารดาของพระเจ้าไชยองค์เว้ กษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์ องค์ที่ 1 เป็นภรรยาให้กำเนิดบุตรนามว่า "ท้าวนอง" ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าอุปราชนอง ดังนั้น เจ้าอุปราชนอง จึงเป็นพี่น้องร่วมมารดาแต่ต่างบิดากับพระเจ้าไชยองค์เว้ และล้วนมีเชื้อสายเวียดนาม(เมืองเว้) ทางฝั่งมารดาทั้งคู่ ภายหลังพระเจ้าเจ้าสุริยะวงศาธรรมิกราชสวรรคต พระไชยองค์เว้พร้อมด้วยท้าวนองนำกำลังจากเวียดนามเข้ายึดนครเวียงจันทน์ได้ พระไชยองค์เว้ขึ้นครองราชย์พระนามว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ ตั้งท้าวนองเป็นเจ้าอุปราชนอง พระไชยองค์เว้มีราชโอรสนามว่า ท้าวองค์ลอง ภายหลังได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระไชยองค์เว้ในราวปี พ.ศ. ๒๒๗๓ มีพระนามในใบจุ้มเลขที่ ๒ และเลขที่ ๗ ที่เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ว่าพระมหาธรรมิกราชจักรพรรดิภูมินทราธิราชเจ้า ตราจุ้มของท้าวองค์ลองนี้เป็นตราคล้ายกับมังกรอยู่ตรงกลาง และมีแฉกออกคล้ายกับตราธรรมจักร ภายหลังเจ้าอุปราชนองยึดอำนาจจากเจ้าองค์ลอง ในราว พ.ศ. ๒๒๘๓ ขึ้นครองเมืองมีพระนามตามใบจุ้มเลขที่ ๑ ว่าพระโพสาทธรรมิกราชาไชยจักรพรรดิภูมินทราธิราชเจ้า ใช้ตราจุ้มเป็นรูปนกยูง เหตุที่ใช้ตราจุ้มเป็นรูปนกยูงนั้นก็เพราะว่าบิดาของท้าวนองมีเชื้อสายพวน ซึ่งให้การช่วยเหลือเจ้าชมพูในการหลบหนีไปพึ่งเวียดนาม เมื่อครองราชย์ท้าวนองจึงใช้ตรานกยูงซึ่งเป็นสัตว์ที่กลุ่มคนพวนให้การนับถือ และยังใช้เป็นตราจุ้มของอาณาจักรพวน จากหลักฐานจุ้มหรือตราราชลัญจกรของเจ้าอุปราชนองหรือท้าวนอง มีพระนามในใบจุ้มเลขที่ ๑ ว่า พระโพสาทธรรมิกราชาไชยจักรพรรดิภูมินทราธิราชเจ้า ใช้ตราจุ้มเป็นรูปนกยูง เหตุเพราะบิดาของท้าวนองคือแสนทิพย์ ซึ่งมีเชื้อสายพวนหรือไทดำ / ท้ายหนังสือใบจุ้มเลขที่ ๑ ระบุว่า “ศักราช ๑๐๔ ตัว เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ วัน ๒ ฤกษ์ ๒๔ ลูก / ศักราช ๑๐๔ ดังกล่าวคือจุลศักราช ๑๑๐๔ หรือพ.ศ. ๒๒๘๕ ภายหลังจากที่สามารถยึดครองนครหลวงเวียงจันทน์ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นอุปราชนองจึงได้ปกครองนครเวียงจันทน์ มีพระนามว่า พระโพสาทธรรมิกราชาไชยจักรพรรดิภูมินทราธิราช ดังที่หลักฐานใบจุ่มได้ระบุไว้ แต่ในทางปฏิบัติท่านได้รับการยอมรับเป็นแต่เพียงเจ้าอุปราชครองเมืองเท่านั้น ไม่อาจได้รับการยอมรับหรือรับรองจากขุนนางให้ขึ้นเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใดเนื่องจากเจ้านองไม่มีเชื้อสายทางกษัตริย์ล้านช้างแต่เป็นเพียงเชื้อสายสามัญชนที่เข้ามายึดอำนาจจากเชื้อสายเจ้านายเท่านั้น ภายหลังได้ครองนครเวียงจันทน์จึงมอบให้พระตาบุตรชายไปปกครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานแทน ภายหลังบุตรชายทั้ง ๒ คือ พระวอและพระตาร่วมมือกับเจ้าศิริบุญสาร พระราชโอรสของเจ้าลอง เข้ายึดอำนาจจากเจ้าอุปราชนอง พระบิดาของพวกตน ต่อมา พ.ศ. ๒๓๑๔ เกิดสงครามระหว่างเวียงจันทน์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยพระเจ้าสิริบุญสาร พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ เกิดความขัดแย้งกับพระตา พระวอ แม้ว่าพระตาพระวอจะได้เคยให้ความช่วยเหลือเจ้าสิริบุญสาร เมื่อครั้งเกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์ในล้านช้างเวียงจันทน์ ด้วยการให้ที่พักพิงและหลบราชภัยในเมืองหนองบัวลุ่มภู(นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน) นานกว่าสิบปี ทั้งยังช่วยยกทัพไปชิงบัลลังก์ล้านช้างเวียงจันทน์จากเจ้าอุปราชนองพระบิดาของพระวอพระตา ซึ่งเคยนำกองทัพเวียดนามเข้ายึดอำนาจจากเจ้าองค์ลองบิดาของเจ้าสิริบุญสาร มาให้แก่เจ้าสิริบุญสารจนได้นั่งเมืองเป็นพระเจ้าล้านช้างเวียงจันทน์ ซึ่งพระวอพระตามีส่วนร่วมในการปิตุฆาตบิดาของพวกตนหรือเป็นเหตุสนับสนุนให้พระเจ้าสิริบุญสารสำเร็จโทษบิดาของพวกตน ต่อมาเนื่องจากเจ้าสิริบุญสารต้องการมีอำนาจเหนือดินแดนที่แวดล้อมล้านช้างเวียงจันทน์ (ล้านช้างหลวงพระบาง-เมืองหนองบัวลุ่มภู) และทรงมีความระแวงและโกรธกริ้วเมืองหนองบัวลุ่มภูอย่างมาก ที่มีไพร่พลมาก และมีกำลังทัพที่เข้มแข็ง และพระตาพระวอได้กลับลำหันไปเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าล้านช้างหลวงพระบางซึ่งเป็นคู่อริตลอดกาลของฝ่ายตน แลล้านช้างหลวงพระบางและล้านช้างเวียงจันทน์ก็เป็นอริต่อกัน ด้วยความหวาดระแวงและการไร้ซึ่งจิตสำนึกต่อผู้มีพระคุณที่ได้ช่วยเหลือตนมาของเจ้าสิริบุญสาร พระองค์จึงต้องการมีอำนาจเหนือเมืองหนองบัวลุ่มภูแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเจ้าสิริบุญสารได้ขอให้พระตาและพระวอไปช่วยรักษาการที่ด่านบ้านหินโงมและพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์เกรงกลัวจะเสียอำนาจหรือกลัวถูกจะแย่งชิงอำนาจ เพราะเมืองหนองบัวลุ่มภูได้แข็งเมืองและมิยอมเป็นเมืองขึ้นแก่เวียงจันทน์อีกต่อไป แต่มีกำลังพลมากมาย และต่างต้องการตำแหน่งในราชสำนักที่สูงสุดรองจากตน จึงเกิดความไม่ไว้ใจและปฏิเสธที่จะยกตำแหน่งให้ เมื่อทราบเช่นนั้น เมื่อไม่ได้รับผลประโยชน์ พระตาและพระวอจึงยกทัพหนีกลับเมืองหนองบัวลุ่มภูและแข็งเมืองต่อนครหลวงเวียงจันทน์ ทำให้เจ้าสิริบุญสารใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างยกกองทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู พระตา พระวอ ยกกองทัพออกต่อสู้จนกองทัพเวียงจันทน์แตกพ่ายกลับไปหลายครั้ง สงครามระหว่างเวียงจันทน์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู ต่อสู้กินเวลายาวนานถึง ๓ ปี ไม่มีผลแพ้ชนะกัน พระเจ้าสิริบุญสารได้ส่งทูตไปขอกองทัพพม่าที่เมืองนครเชียงใหม่ ให้มาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยมีเงื่อนไขเวียงจันทน์จะช่วยพม่ารบกับอยุธยา กองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จึงให้ม่องระแง คุมกองทัพมาช่วยเจ้าสิริบุญสารรบ เมื่อฝ่ายพระตาทราบข่าวศึก คะเนคงเหลือกำลังที่จะต้านศึกกองทัพใหญ่กว่าไว้ได้ จึงให้ท้าวคำโส ท้าวคำขุย ท้าวก่ำ ท้าวคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็ก ผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ไว้รอท่า หากแพ้สงครามจะได้อพยพติดตามมาอยู่ด้วย โดยแรกได้มาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) และการสู้รบในครั้งสุดท้าย พระตาถึงแก่ความตายในสนามรบ พระวอผู้เป็นบุตรชายคนโต พร้อมด้วยพี่น้องคือ นางอุสา นางแพงแสน ท้าวคำผง ท้าวทิตพรหม และนางเหมือนตา ได้หลบหนีออกจากเมืองมารับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า แล้วผ่านลงไปตั้งเมืองที่ "ดอนมดแดง" พร้อมขอพึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร แห่งนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการตั้งเมืองใหม่ขึ้นกับอาณาจักร์ล้านช้างจำปาศักดิ์ของกลุ่มพระวอ จึงให้อัคฮาดหำทอง และพญาสุโพ ยกกองทัพมาตีพระวอ พระวอสู้ไม่ได้ และเสียชีวิตในสนามรบ ท้าวคำผงผู้น้องจึงขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม พร้อมมีใบบอกลงไปที่เมืองนครราชสีมา และกรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพมาช่วยท้าวคำผง ด้านพญาสุโพรู้ข่าวศึกของเจ้ากรุงธนบุรี จึงสั่งถอยทัพกลับเวียงจันทน์ แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เดินทัพติดตามทัพเวียงจันทน์ จนสามารถเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พร้อมคุมตัวเจ้าสิริบุญสารไปกรุงธนบุรี ส่วนบุตรของพระตาได้แก่ท้าวคำผงและท้าวฝ่ายหน้าที่ได้ติดตามพระวอไปอยู่ที่จำปาศักดิ์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองจำปาศักดิ์ ท้าวคำผงและท้าวฝ่ายหน้าได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายสยาม ต่อมาเจ้าองค์หลวงฯ เเต่งตั้งให้ท้าวคำผงเป็นนายกองคุมไพร่พลอยู่ที่บ้านดู่บ้านแก ใน พ.ศ. ๒๓๒๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งท้าวคำผงให้เป็นพระปทุมสุรราชภักดี เป็นที่ นายกองคุมเลกเมืองจำปาศักดิ์ ขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์ ต่อมาท้าวคำผงจึงอพยพไพร่พลไปอยู่ที่ดอนห้วยแจระแม ตั้งเป็นบ้านห้วยเเจระเเม ขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์ === สมัยรัตนโกสินทร์ === ใน พ.ศ. ๒๓๓๔ เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ยกกำลังมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ ท้าวฝ่ายหน้า ผู้กำกับดูแลไพร่พลแห่งบ้านสิงห์ท่า (ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์) ผู้น้อง กับพระปทุมสุรราช (คำผง) นายกองคุมเลกเมืองจำปาศักดิ์ ผู้พี่ ได้ยกกำลังไปรบ สามารถจับอ้ายเชียงแก้วได้ และทำการประหารชีวิตที่บริเวณแก่งตะนะ และในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๓๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาบ้านห้วยเเจระเเมแยกดินเเดนออกจากนครจำปาศักดิ์ เเล้วจึงยกฐานะบ้านห้วยเเจระเเมขึ้นเป็นเมืองพระประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ แต่งตั้งให้พระประทุมสุรราช (คำผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ซึ่งนับเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชคนแรก อีกทั้งยังพระราชทานพระสุพรรณบัตร (เเผ่นทองคำ) และเครื่องยศพระประเทศราช พร้อมทำพิธีสบถสาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยา รวมมีเจ้าเมืองอุบลราชธานี ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งทั้งสิ้น ๔ ท่าน โดยเป็นเชื้อสายของพระวอพระตา ๓ ท่านเเรก เเละเชื้อสายของพระเจ้าอนุวงศ์เเห่งนครเวียงจันทน์ ๑ ท่าน สาเหตุที่ส่วนกลางส่งลูกหลานพระเจ้าสิริบุญสารซึ่งเป็นคู่อริกันมาโดยตลอดให้มาปกครองเมืองอุบลราชธานีเเทนกลุ่มพระวอพระตาซึ่งเป็นสายกรมการเมืองเดิม เพราะว่า ทางเมืองอุบลราชธานีในช่วง สงครามกบฎเจ้าอนุวงศ์ ได้มีการให้ความร่วมมือเเละเข้าร่วมกับฝ่ายกบฎเจ้าอนุวงศ์ ต่อมาจึงส่งผลให้รัชกาล ๔ ทรงไม่ไว้วางใจในกรมการเมืองเก่าของเมืองอุบลที่เคยเข้าร่วมกับฝ่ายกบฎมาก่อน เพื่อเป็นการลดทอนอำนาจกลุ่มเจ้านายสายเดิมหรือสายพระวอพระตา จึงได้ส่งเจ้าหน่อคำ พระโอรสในเจ้าเสือกับเจ้านางท่อนแก้ว เจ้าเสือผู้เป็นพระบิดานั้นเป็นพระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์แห่งนครเวียงจันทน์พระองค์สุดท้าย ทั้งนี้สาเหตุที่ส่งเจ้าหน่อคำมาปกครองเเละให้อำนาจเเก่เจ้าหน่อคำก็เนื่องจากเจ้าหน่อคำได้รับความดีความชอบจากการที่เป็นฝ่ายที่เห็นต่างเเละไม่เข้าร่วมกับกลุ่มกบฎเจ้าอนุวงศ์ เเม้ท่านจะเป็นหลานของเจ้าอนุวงศ์ก็ตาม จึงเป็นที่ไว้วางใจ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหิรัญญบัฎ (เเผ่นเงิน) ให้พระนามว่า เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ ดำรงรัฐสีมา อุบลราชธานีบาล เป็นเจ้าผู้ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช เพื่อให้คล้องกันกับพระนามของ เจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ ดำรงรัฐสีมา มุกดาหาราธิบดี หรือเจ้าหนู เจ้าผู้ครองเมืองมุกดาหารบุรี (บังมุก) ผู้เป็นพระญาติใกล้ชิด เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์จึงปกครองเมืองอุบลราชธานี ในฐานะเจ้าประเทศราช เช่นเดียวกับเจ้าหนู เเทนกลุ่มเจ้านายสายแรก (สายพระวอพระตา) ที่มีพระยศเป็นพระประเทศราช นิยมออกคำนำนามพระยศในจารึกว่า พระ เช่น พระประทุมฯ พระพรหมฯ เป็นต้น ซึ่งมีศักดิ์ที่ต่ำกว่า ต่อมาเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์มีปัญหาวิวาทกับกรมการเมืองอุบลมาโดยตลอดในช่วงที่พระองค์ได้ครองเมือง จนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกลายเป็นคดีความกันอยู่หลายครา จนสูญเสียทรัพย์สินเเทบจะหมดสิ้นเพื่อใช้ในการต่อสู้คดีกันทั้ง 2 ฝ่าย ท้ายที่สุดเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ถูกปลดออกจากตำเเหน่งเจ้าเมือง ในปีพ.ศ. ๒๔๒๕ เมืองอุบลราชธานีในขณะนั้นจึงว่างจากตำเเหน่งเจ้าเมือง เเละ ต่อมาภายหลังเนื่องจากเจ้านายสายเเรก (สายพระวอพระตา) ไม่ค่อยเป็นที่ไว้วางใจเเก่กษัตริย์สยามเท่าใดนัก จนเมื่อสิ้นเจ้าเมืองท่านที่ ๔ หรือเจ้าเมืองท่านสุดท้าย เมื่อเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ ถึงเเก่พิราลัย ในพ.ศ. ๒๔๒๙ เป็นต้นมา จึงไม่มีการเเต่งตั้งเจ้าเมืองอุบลราชธานีอีกเลย มีเเต่เพียงผู้รักษาการเมืองเเทนเท่านั้น จนกระทั่งถึงยุคยุบเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ภายหลังการก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีแล้ว ก็ได้มีการตั้งเมืองสำคัญในเขตปกครองของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นอีกหลายเมือง ดังนี้ พ.ศ. ๒๓๕๗ โปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านโคกพเนียง เป็นเมืองเขมราษฎร์ธานี ตั้ง อุปฮาดก่ำ(เมืองอุบล) เป็น พระเทพวงศา เจ้าเมือง และ ตั้ง บ้านสิงห์ท่า เป็นเมืองยโสธร ตั้ง ราชวงศ์สิงห์ (เมืองโขง) เป็น พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมือง พ.ศ. ๒๓๖๔ ยกบ้านนาคอขึ้นเป็นเมืองโขงเจียง (โขงเจียม) โดยขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ พ.ศ. ๒๓๘๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านช่องนางให้เป็นเมืองเสนางคนิคม และต่อมา หลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย และหลวงอภัย กรมการ เมืองศีร์ษะเกษ เกิดความขัดแย้งกับเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เชื้อสายราชวงศ์เจ้าจารย์เเก้ว ภายหลังได้ขอแยกตัวออกมาจากเมืองศีร์ษะเกษ และอพยพนำไพร่พลออกมาตั้งเป็นเมืองใหม่ ขอพระราชทานยกบ้านน้ำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองเดชอุดม ให้หลวงวิเศษ (สาร) เป็นราชบุตร หลวงอภัยเป็นราชวงศ์ หลวงมหาดไทยเป็นอุปฮาด ตั้งหลวงธิเบศร์เป็นพระศรีสุระ เป็นเจ้าเมือง รักษาราชการแขวงเมืองเดชอุดม แรกเริ่มอำเภอเดชอุดมขึ้นตรงต่อ จังหวัดขุขันธ์ ต่อมาภายหลังจึงได้ถูกโอนมาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี และ ตั้ง บ้านคำแก้ว เป็น เมืองคำเขื่อนแก้ว (ปัจจุบัน ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ) ขึ้นสังกัด เมืองเขมราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๓๙๐ ตั้งบ้านดงกระชุหรือบ้านไร่ ขึ้นเป็นเมืองบัวกัน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นเมืองบัวบุณฑริก หรืออำเภอบุณฑริกในปัจจุบัน แรกเริ่มเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอเดชอุดม จังหวัดขุขันธ์ ต่อมาถูกโอนย้ายมาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมกับอำเภอเดชอุดม ภายหลังถูกยกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็นอำเภอบุณฑริก พ.ศ. ๒๔๐๑ ตั้งบ้านค้อใหญ่ให้เป็นเมือง ขอแต่งตั้งท้าวจันทบรมเป็นพระอมรอำนาจและเป็นเจ้าเมือง ตั้งท้าวบุตตะเป็นอุปฮาด และให้ท้าวสิงหราชเป็นราชวงศ์ นอกจากนี้ยังให้ท้าวสุริโยซึ่งเป็นราชบุตรรักษาราชการเมืองอำนาจเจริญขึ้นกับเมืองเขมราฐ พ.ศ. ๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านกว้างลำชะโด เป็นเมืองพิบูลมังสาหาร โดยตั้งท้าวธรรมกิติกา (จูมมณี)เป็นพระบำรุงราษฎร์และเป็นเจ้าเมือง และให้ตั้งบ้านสะพือเป็นเมืองตระการพืชผล โดยตั้งท้าวสุริยวงษ์ เป็นพระอมรดลใจและเป็นเจ้าเมือง พ.ศ. ๒๔๒๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านท่ายักขุเป็นเมืองชานุมานมณฑล และให้ตั้งบ้านเผลา (บ้านพระเหลา) เป็นเมืองพนานิคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านนากอนจอ เป็นเมืองวารินชำราบ พ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านจันลานาโดม เป็นเมืองโดมประดิษฐ์ (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่อำเภอน้ำยืน) พ.ศ. ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านทีเป็นเมืองเกษมสีมา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอม่วงสามสิบ จากเหตุการณ์ก่อตั้งเมืองทั้งหมดนี้ ส่งผลให้อุบลราชธานีเป็นเมืองที่มีเขตการปกครองอย่างกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา ครอบคลุมพื้นที่ราบทางด้านตะวันออกของภาคอีสานตอนล่าง อีกทั้งยังมีแม่น้ำสายสำคัญถึง 3 สายด้วยกัน คือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำสายเล็ก ๆ ที่มีกำเนิดจากเทือกเขาในพื้นที่ เช่น ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ เป็นต้น โดยแม่น้ำทั้งหลายเหล่านี้ไหลผ่านที่ราบทางด้านเหนือและทางด้านใต้เป็นแนวยาวสู่ปากแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ให้ความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ในบริเวณแถบนี้ทั้งหมด ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์มาแต่ โบราณกาล ใน พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกมณฑลทั้งประเทศ จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งแยกออกมาจากมณฑลนครราชสีมาในขณะนั้น ได้กลายเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังจากนั้นจังหวัดอุบลราชธานีก็ได้ถูกแบ่งออก ใน พ.ศ. 2515 อำเภอยโสธรและอำเภอใกล้เคียงถูกแยกเป็นจังหวัดยโสธร และต่อมาใน พ.ศ. 2536 ได้ถูกแบ่งอีกครั้ง โดยอำเภออำนาจเจริญและอำเภอใกล้เคียงถูกแยกเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่เป็นอันดับ 5 ของไทย และมีประชากรลำดับที่ 3 ของประเทศ == ภูมิศาสตร์ == === อาณาเขต === ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอหัวตะพาน อำเภอลืออำนาจ อำเภอพนา อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญและแขวงสุวรรณเขต (ประเทศลาว) ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงจำปาศักดิ์และแขวงสาละวัน (ประเทศลาว) โดยพรมแดนบางช่วงใช้แม่น้ำโขงเป็นตัวกำหนด ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร (ประเทศกัมพูชา) ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอโนนคูณ อำเภอกันทรารมย์ อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษและอำเภอค้อวัง อำเภอมหาชนะชัย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร แนวพรมแดนติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา รวมความยาวประมาณ 428 กิโลเมตร ติดต่อกับประเทศลาว 361 กิโลเมตร (จากอำเภอเขมราฐถึงอำเภอน้ำยืน ติดต่อกับแขวงสุวรรณเขต แขวงสาละวัน และแขวงจำปาศักดิ์) ติดต่อกับประเทศกัมพูชา 67 กิโลเมตร (อำเภอน้ำยืน ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา) === ภูมิประเทศ === จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า แอ่งโคราช โดยสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 120-140 เมตร (395-460 ฟุต) ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่สูงต่ำ เป็นที่ราบสูงลาดเอียงไปทางตะวันออกมีแม่น้ำโขง เป็นแนวเขตกั้นจังหวัดอุบลราชธานีกับประเทศลาว มีแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลซึ่งไหลผ่านกลางจังหวัดจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม และมีลำน้ำใหญ่ๆ อีกหลายสาย ได้แก่ ลำเซบาย ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย ห้วยตุงลุง และมีภูเขาสลับซับซ้อนหลายแห่งทางบริเวณชายแดนตอนใต้ ที่สำคัญคือ ทิวเขาบรรทัดและทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ลักษณะภูมิสัณฐานของจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งออกโดยสังเขป ดังนี้ บริเวณที่เป็นสันดินริมน้ำ เกิดจากตะกอนลำน้ำที่พัดพามาทับถม สภาพพื้นที่เป็นเนินสันดินริมฝั่งแม่น้ำโขง และบางบริเวณสันดินริมฝั่งลำเซบาย บริเวณที่เป็นแบบตะพักลำน้ำ ที่เกิดจากการกระทำของขบวนการของน้ำนานมาแล้ว ประกอบด้วยบริเวณที่เป็นลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูง ลักษณะพื้นที่ที่มีทั้งที่เป็นที่ราบแบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึงลูกคลื่นลอนชัน จะอยู่ถัดจากบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงขึ้นมา พื้นที่เหล่านี้จะพบในบริเวณทั่วไปของจังหวัด กล่าวคือทางตอนเหนือ ทางตะวันออก และทางใต้ บางแห่งใช้สำหรับทำนาและบางแห่งใช้สำหรับปลูกพืชไร่ บริเวณที่เป็นแอ่งหรือที่ลุ่ตวมต่ำหลังลำน้ำ เกิดจากการกระทำของน้ำ พบบางแห่งในบริเวณริมแม่น้ำโขง แม่น้ำชี ลำเซบาย และลำโดมใหญ่ จะมีน้ำแช่ขังนานในฤดูฝน กำลังของน้ำจะมีมากจนสามารถพัดพาเอาตะกอนเหล่านั้นออกมานอกหุบเขาได้ เมื่อมาถึงนอกหุบเขาหรือเชิงเขา สภาพพื้นที่ก็จะเป็นที่ราบทางน้ำไหลกระจายออกไป ทำให้กำลังของน้ำลดลง ก็จะตกตะกอนในบริเวณน้ำ จะพบอยู่ทางตอนใต้และทางตะวันตกของจังหวัด บริเวณที่เป็นเนินที่เกิดจากการไหลของธารลาวา เป็นเนินเขาที่เกิดจากการไหลของธารลาวา ดินบริเวณนี้จะมีศักยภาพทางการเกษตรสูง ซึ่งเป็นผลจากการสลายตัวผุพังของหินบะซอลต์ บริเวณนี้จะพบอยู่ในอำเภอน้ำยืน บริเวณที่ลาดเชิงเขา เป็นที่ลาดเชิงเขาที่ตะกอนบริเวณที่เกิดจากการกระทำของน้ำนานมาแล้วทับถมกัน บริเวณนี้จะพบอยู่ในอำเภอโขงเจียม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอตระการพืชผล บริเวณที่ลาดเชิงซ้อน ลักษณะเป็นภูเขาหรือทิวเขามีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ จะพบบริเวณทิวเขาพนมดงรักในอำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย และอำเภอบุณฑริก อีกแห่งหนึ่งคือ ทิวเขาภูเขาซึ่งจะพบมากในอำเภอโขงเจียมและอำเภอศรีเมืองใหม่ === ภูมิอากาศ === ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม และมักปรากฏเสมอว่าฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ระยะเวลาการทิ้งช่วงมักจะไม่เหมือนกันในแต่ละปี ฤดูหนาว เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของประเทศ ทำให้ได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก่อนภูมิภาคอื่น อุณหภูมิจะเริ่มลดต่ำลงตั้งแต่เดือนตุลาคมและจะสิ้นสุดปลายเดือนมกราคม ฤดูร้อน ถึงแม้ว่าเคยปรากฏบ่อยครั้งว่าอากาศยังคงหนาวเย็นยืดเยื้อมาจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยส่วนใหญ่แล้วอากาศจะ เริ่มอบอ้าว ในเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงประมาณต้นเดือนพฤษภาคมซึ่งอาจจะมีฝน เริ่มตกอยู่บ้างในปลายเดือนเมษายน === ทรัพยากร === ทรัพยากร ดิน จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีประชากรมาก ดินเป็นทรัพยากรคิด เป็นร้อยละ 86.6 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด หรือประมาณ 10,299,063 ไร่ ด้านป่าไม้มีทั้งป่าเต็งรัง หรือป่าแดงมีอยู่ทั่วไป มีเขตป่าดงดิบในเขตอำเภอน้ำยืน และป่าผสม ส่วนป่าเบญจพรรณมีอยู่ในอำเภอเขมราฐ อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้กระยาเลย ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตระแบก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เคี่ยม ไม้ชุมแพรก ไม้กันเกรา สภาพพื้นที่ป่าไม้จากการสำรวจเมื่อปี 2538 มีเนื้อป่าประมาณ 2,495 ตร.กม. หรือประมาณ 1.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.49 ของเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งได้ดังนี้ ป่าถาวร ตามมติ ครม.จำนวน 1 ป่า เนื้อที่ 77,312.50 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 46 ป่า เนื้อที่ 3,396,009.163 ไร่ พื้นที่ป่า สปก. จำนวน 40 ป่า เนื้อที่ 1,665,543.30 ไร่ ป่าอนุรักษ์ ตาม มติ ครม. จำนวน 10 ป่า เนื้อที่ 1,439,998.402 ไร่ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย จำนวน 5 ป่า เนื้อที่ 880,220.00 ไร่ สวนป่า จำนวน 15 ป่า เนื้อที่ 20,985.73 ไร่ พื้นที่ป่าธรรมชาติ (รวม จ.อำนาจเจริญ) เนื้อที่ 24,292,656 ไร่ แร่ธาตุ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีแร่อโลหะเพียงชนิดเดียว คือ เกลือหิน ซึ่งเจาะพบแล้ว 2 แห่งคือ อำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอตระการพืชผล นอกจากนี้ มีทรัพยากรแร่ที่อยู่ในรูปของหินชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย และห้วยตุงลุง == การเมืองการปกครอง == === การปกครองส่วนภูมิภาค === จังหวัดอุบลราชธานีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ 219 ตำบล 2704 หมู่บ้าน ได้แก่ {| |---valign=top | | || {| ||1.|| อำเภอเมืองอุบลราชธานี |- ||2.|| อำเภอศรีเมืองใหม่ |- ||3.|| อำเภอโขงเจียม |- ||4.|| อำเภอเขื่องใน |- ||5.|| อำเภอเขมราฐ |- ||6.|| อำเภอเดชอุดม |- ||7.|| อำเภอนาจะหลวย |- ||8.|| อำเภอน้ำยืน |- ||9.|| อำเภอบุณฑริก |- ||10.|| อำเภอตระการพืชผล |- ||11.|| อำเภอกุดข้าวปุ้น |- ||12.|| อำเภอม่วงสามสิบ |- ||13.|| อำเภอวารินชำราบ |} || {| ||14.|| อำเภอพิบูลมังสาหาร |- ||15.|| อำเภอตาลสุม |- ||16.|| อำเภอโพธิ์ไทร |- ||17.|| อำเภอสำโรง |- ||18.|| อำเภอดอนมดแดง |- ||19.|| อำเภอสิรินธร |- ||20.|| อำเภอทุ่งศรีอุดม |- ||21.|| อำเภอนาเยีย |- ||22.|| อำเภอนาตาล |- ||23.|| อำเภอเหล่าเสือโก้ก |- ||24.|| อำเภอสว่างวีระวงศ์ |- ||25.|| อำเภอน้ำขุ่น |} | |} === การปกครองส่วนท้องถิ่น === มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 239 องค์กรแบ่งออกเป็น 1 เทศบาลนคร 4 เทศบาลเมือง 54 เทศบาลตำบล 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ 179 องค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีรายชื่อเทศบาลดังนี้ อำเภอเมือง เทศบาลนครอุบลราชธานี เทศบาลเมืองแจระแม เทศบาลตำบลอุบล เทศบาลตำบลขามใหญ่ เทศบาลตำบลปทุม อำเภอพิบูลมังสาหาร เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร เทศบาลตำบลอ่างศิลา เทศบาลตำบลกุดชมภู เทศบาลตำบลโพธิ์ไทร เทศบาลตำบลโพธิ์ศรี อำเภอวารินชำราบ เทศบาลเมืองวารินชำราบ เทศบาลตำบลห้วยขะยุง เทศบาลตำบลแสนสุข เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ เทศบาลตำบลคำขวาง เทศบาลตำบลเมืองศรีไค เทศบาลตำบลบุ่งไหม เทศบาลตำบลธาตุ อำเภอเดชอุดม เทศบาลเมืองเดชอุดม เทศบาลตำบลนาส่วง เทศบาลตำบลบัวงาม เทศบาลตำบลกุดประทาย เทศบาลตำบลโพนงาม อำเภอเขื่องใน เทศบาลตำบลเขื่องใน เทศบาลตำบลบ้านกอก เทศบาลตำบลห้วยเรือ อำเภอเขมราฐ เทศบาลตำบลเขมราฐ เทศบาลตำบลเทพวงศา เทศบาลตำบลขามป้อม เทศบาลตำบลหนองผือ เทศบาลตำบลหัวนา เทศบาลตำบลหนองนกทา อำเภอนาจะหลวย เทศบาลตำบลนาจะหลวย เทศบาลตำบลภูจองนายอย อำเภอน้ำยืน เทศบาลตำบลน้ำยืน เทศบาลตำบลสีวิเชียร เทศบาลตำบลโซง อำเภอบุณฑริก เทศบาลตำบลบุณฑริก เทศบาลตำบลคอแลน เทศบาลตำบลนาโพธิ์ อำเภอนาเยีย เทศบาลตำบลนาเยีย เทศบาลตำบลนาเรือง เทศบาลตำบลนาจาน อำเภอสว่างวีระวงศ์ เทศบาลตำบลสว่าง เทศบาลตำบลท่าช้าง เทศบาลตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสำโรง เทศบาลตำบลสำโรง อำเภอโขงเจียม เทศบาลตำบลบ้านด่านโขงเจียม อำเภอตระการพืชผล เทศบาลตำบลตระการพืชผล อำเภอกุดข้าวปุ้น เทศบาลตำบลกุดข้าวปุ้น อำเภอม่วงสามสิบ เทศบาลตำบลม่วงสามสิบ อำเภอตาลสุม เทศบาลตำบลตาลสุม อำเภอโพธิ์ไทร เทศบาลตำบลโพธิ์ไทร อำเภอสิรินธร เทศบาลตำบลช่องเม็ก เทศบาลตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอเหล่าเสือโก้ก เทศบาลตำบลเหล่าเสือโก้ก อำเภอน้ำขุ่น เทศบาลตำบลขี้เหล็ก เทศบาลตำบลตาเกา อำเภอศรีเมืองใหม่''' เทศบาลตำบลศรีเมืองใหม่ |} === รายชื่อเจ้าเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัด === == ประชากรศาสตร์ == === การศึกษา === ระดับอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม วิทยาลัยเทคนิคตระการพืชผล วิทยาลัยการอาชีพวารินชำราบ วิทยาลัยเทคนิคเขมราฐ วิทยาลัยเทคนิคพิบูลมังสาหาร วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์วิทยพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น มหาวิทยาลัยราชธานี วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี == การขนส่ง == === รถยนต์ === ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ไปสระบุรี เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สายโชคชัย-เดชอุดม) ไปจนถึงอุบลราชธานี หรือใช้ เส้นทางกรุงเทพมหานคร–นครราชสีมา แล้วต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี === รถไฟ === มีรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถท้องถิ่น และรถเร็วเสริมเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ จากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ สุดปลายทางที่สถานีรถไฟอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ โดยจังหวัดอุบลราชธานี มีสถานีรถไฟเล็ก ๆ อีก 2 แห่ง คือ สถานีบุ่งหวาย และสถานีห้วยขะยุง === รถโดยสารประจำทาง === การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุบลราชธานีโดยรถโดยสารประจำทางทั้งชนิดรถธรรมดาและรถปรับอากาศนั้น จะออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิตใหม่) มายังสถานีปลายทางคือ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ บริษัท ขนส่ง จำกัด ยังมีบริการรถโดยสารระหว่างอุบลราชธานีและเมืองปากเซของประเทศลาวทุกวัน ส่วนรถประจำทางระหว่างจังหวัดนั้น มีเดินรถระหว่างอุบลราชธานีไปถึงจังหวัดปลายทางต่าง ๆ ในหลายภูมิภาคของประเทศ นอกจากนี้แล้ว กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศถึงการเปิดเดินรถสายอุบลราชธานี –เกาะสมุย เพื่อเชื่อมเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคในอนาคต และอีกในอนาคตข้างหน้า กรมการขนส่งทางบกยังมีแผนการที่จะเปิดเดินรถสายสายเหนืออีก 1 เส้นทาง คือ เส้นทางอุบลราชธานี – เชียงราย – แม่สาย โดยอาจดำเนินการบริษัทนครชัยแอร์ เพื่อเชื่อมเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาคในอนาคต ส่วนแผนการเปิดเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศของกรมการขนส่งทางบกนั้น ในปัจจุบันมีอยู่ 3 เส้นทาง คือ สายอุบลราชธานี–จำปาศักดิ์ อุบลราชธานี–คอนพะเพ็ง และ อุบลราชธานี–เสียมราฐ === อากาศยาน === จังหวัดอุบลราชธานี มีท่าอากาศยานนานาชาติจำนวน 1 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี โดยมีสายการบินจากจังหวัดอุบลราชธานีสู่จุดหมายปลายทางต่าง ๆ ดังนี้ ไทยสมายล์ - กรุงเทพมหานคร (สุวรรณภูมิ) ไทยแอร์เอเชีย - กรุงเทพมหานคร (ดอนเมือง) นกแอร์ - กรุงเทพมหานคร (ดอนเมือง) / เชียงใหม่ / ภูเก็ต ไทยไลอ้อนแอร์ - กรุงเทพมหานคร (ดอนเมือง) ไทยเวียตเจ็ทแอร์ - กรุงเทพมหานคร (สุวรรณภูมิ) === รถเมล์หรือรถสองแถวประจำทาง === ในปัจจุบัน การเดินทางภายในเขตตัวเมืองอุบลราชธานี-วารินชำราบ และบริเวณโดยรอบนั้นมีการบริการด้วยรถสองแถวประจำทางขนาดเล็กที่ให้การบริการโดยเอกชน จำนวนทั้งสิ้น 11 เส้นทาง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ สายที่ 1 บ้านธาตุ - สามแยกเข้าหมู่บ้านหนองแก สายที่ 2 สถานีรถไฟอุบลราชธานี - โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร สายที่ 3 บ้านก่อ - โรงเรียนเทคโนโลยีและเกษตรกรรมอุบลราชธานี สายที 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ - การประปา สายที่ 7 ศาลปู่เจ้าคำจันทร์ - วัดพุทธนิคมกิติยาราม สายที่ 8 บ้านปลาดุก - สถานีโทรคมนาคมอุบลราชธานี สายที่ 9 ตลาดสดวารินชำราบ - หาดคูเดื่อ สายที่ 10 ศาลาบ้านดู่ - ศูนย์อพยพ สายที่ 11 บ้านบุ่งกาแซว - บ้านด้ามพร้า สายที่ 12 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - บ้านดง สายที่ 14 (ขึ้นต้นด้วยอักษร ม.) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี - สถานีขนส่งผู้โดยสารอุบลราชธานี สายที่ 15 อุบลซีตี้บัส ท่าอากาศยานอุบลราชธานี - สถานีขนส่งผู้โดยสารอุบลราชธานี - เซ็นทรัลพลาซาอุบลราชธานี === รถแท็กซี === สำหรับการเดินทางในเขตเมืองอุบลราชธานีและวารินชำราบนั้น ในปัจจุบันมีแท็กซีมีเตอร์ให้บริการประมาณ 500 คัน ภาคเอกชนที่เปิดให้บริการเดินรถแท็กซี่ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ บริษัท แท็กซี่อุบล จำกัด ให้บริการในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ มุกดาหาร และยโสธร หจก. อุบลแท๊กซี่มิเตอร์พัฒนาให้บริการในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี บริษัท สหการอุบล 2011 จำกัด ให้บริการในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี == วัฒนธรรม == === กีฬา === ทีมสโมสรฟุตบอลประจำจังหวัด สโมสรฟุตบอลอุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด (พ.ศ. 2558–ปัจจุบัน) สโมสรฟุตบอลอุบล ครัวนภัส (พ.ศ. 2558–ปัจจุบัน) === ประเพณี === ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีฆ่านกหัสดีลิงค์ (นกสักกะไดลิงในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าเมืองและพระครูชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป) === บุคคลที่มีชื่อเสียง === จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองนักปราชญ์ และเมืองศิลปินแห่งชาติ ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติดังนี้ === ด้านศาสนา === พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)-ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย-ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต -พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)-อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)-อดีตเจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)-อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร)- เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)-อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต)-เป็นพระปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐาน โดยเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)-อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)- แม่ทัพธรรมพระกรรมฐาน พระครูโศภณธรรมาภรณ์ (จูม โชติโก)-เป็นเถระผู้นำภารธุระทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ พระสุทธิธรรมรังสี (ลี ธมฺมธโร)-เป็นพระวิปัสสนาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย หลวงปู่ขาว อนาลโย-พระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พระอาจารย์ดี ฉนฺโน-ลูกศิษย์องค์สำคัญของ พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) และ พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่สี สิริญาโณ-ป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ปัจจุบันนับได้ว่าท่านเป็นผู้มีพรรษามากที่สุดในบรรดาศิษย์ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)ที่ยังดำรงค์ธาตุขันธ์อยู่ พระเทพเมธาภรณ์ (ประสงค์ วราสโย)-เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม-กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี (ธรรมยุต) หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต-พระคณาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย พระธรรมเสนานี ( กิ่ง มหัปผโล ป.ธ.๕)-อดีตเจ้าคณะภาค๑๐ และอดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวราราม พระพุทธิวงศมุนี(บุญมา ทีปธัมโม)-อดีตเจ้าอาวาสวัดวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย)-พระเถระผู้เป็นเค้ามูลสมญานามเมืองนักปราชญ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่3เป็นต้นมา === ด้านศิลปิน === ดร.คำหมา แสงงาม-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2529 (สาขาทัศนศิลป์ - ปั้นแกะสลัก) ทองมาก จันทะลือ-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2529 (สาขาศิลปะการแสดง - หมอลำ) เฉลิม นาคีรักษ์-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2531 (สาขาทัศนศิลป์ - จิตรกรรม) เคน ดาเหลา-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2534 (สาขาศิลปะการแสดง - หมอลำ) ฉวีวรรณ ดำเนิน-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2536 (สาขาศิลปะการแสดง - หมอลำ) บุญเพ็ง ไฝผิวชัย-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2540 (สาขาศิลปะการแสดง - หมอลำ) คำพูน บุญทวี-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2544 (สาขาวรรณศิลป์) ฉลาด ส่งเสริม-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2548 (สาขาศิลปะการแสดง - หมอลำ) เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2553 (สาขาทัศนศิลป์ - สถาปัตยกรรมไทย) บานเย็น รากแก่น-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2556 (สาขาศิลปะการแสดง - หมอลำ) พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 (สาขาศิลปะการแสดง - ดนตรีไทยลูกทุ่ง) สมบัติ เมทะนี- ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2559 (สาขาศิลปะการแสดง - ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) คำปุน ศรีใส-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (สาขาทัศนศิลป์ - ทอผ้า) สลา คุณวุฒิ-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (สาขาศิลปะการแสดง - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) มีชัย แต้สุริยา-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (สาขาทัศนศิลป์ - ทอผ้า) วิชชา ลุนาลัย-ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (สาขาวรรณศิลป์) เทพพร เพชรอุบล-ศิลปิน สนธิ สมมาตร-ศิลปิน จันทร์เพ็ญ นิตะอินทร์-ศิลปินหมอลำ สมาน หงษา-ศิลปินหมอลำ เดชา นิตะอินทร์-ศิลปินหมอลำ คำปุ่น ฟุ้งสุข-ศิลปินหมอลำ ทองพูน ลูกโม-ศิลปินหมอลำ บรรจง มาตยารักษ์-ศิลปินหมอลำ บุญยัง สุภาพ-ศิลปินหมอลำ บุญยัง ต้นทอง-ศิลปินหมอลำ ทองใส ทับถนน-ศิลปิน อังคนางค์ คุณไชย-ศิลปิน แมน มณีวรรณ-ศิลปิน ภูศิลป์ วารินรักษ์-ศิลปิน มัลลิกา กิ่งแก้ว-ศิลปิน อรทัย ดาบคำ-ศิลปิน แคนดี้ รากแก่น-นักจัดรายการวิทยุ ต๋อง ชวนชื่น-นักแสดงตลก ออย ช็อคกิ้งพิ้งค์-นางแบบ รจนา เพชรกัณหา-นางแบบ รสริน จันทรา-นางแบบ รัสมี เวระนะ-นักร้อง ก้านตอง ทุ่งเงิน-นักร้อง ดอกอ้อ ทุ่งทอง-นักร้อง นพดล ดวงพร-ศิลปินมรดกอีสาน นันทิยา ศรีอุบล-นักร้องลูกทุ่ง เบญจมินทร์-นักประพันธ์เพลง บ. บุญค้ำ-นักเขียน บัวผัน ทังโส-นักร้องหมอลำ ผดุง ไกรศรี-นักเขียน พีรฉัตร จิตรมาส-นางแบบ เด่น อยู่ประเสริฐ-นักวิชาการ ทองแปน พันบุปผา-ศิลปินมรดกอีสสาน หงษ์ทอง หงษา-ศิลปินหมอลำ สายยล จิตรธรรม-ศิลปินหมอลำ ศรีจันทร์ วีสี-ศิลปินหมอลำ เด่นชัย วงศ์สามารถ-ศิลปินหมอลำ จอมศิลป์ บรรลุศิลป์-ศิลปินหมอลำ คูณ ถาวรพงษ์-ศิลปินหมอลำ ทองเจริญ ดาเหลา-ศิลปินมรดกอีสาน มุกดา เมืองนคร-ศิลปินหมอลำ คำภา ฤทธิทิศ-ศิลปินหมอลำ ทองคำ เพ็งดี-ศิลปินมรดกอีสาน บุญช่วง เด่นดวง-ศิลปินมรดกอีสาน บุญแต่ง เคนทองดี-ศิลปินหมอลำ คำภา ฤทธิทิศ-ศิลปินมรดกอีสานปี 2550 ดร.ดวง(จันทร์น้อย)วังสาลุน-ศิลปินมรดกอีสานปี 2550 ศิลปินประพันธ์กลอนลำทำนองอุบล คมถวิล เวียงอุบล-ศิลปิน วิเศษ เวณิกา-ศิลปิน สมนึก พานิชกิจ-ศิลปินมรดกอีสาน มลฤดี พรหมจักร์-ศิลปินมรดกอีสาน รังสรรค์ วงศ์งาม-ศิลปินมรดกอีสาน ทวี เกษางาม-ศิลปินมรดกอีสาน ทรงรัฐ อ่อนสนิท-ศิลปินมรดกอีสาน สมคิด สอนอาจ-ศิลปินมรดกอีสาน คำแอ ทองจันทร์-ศิลปินมรดกอีสาน ตุ้มทอง โชคชนะ (เบญจมินทร์)-ศิลปินมรดกอีสาน พีระพงษ์ ดวงแก้ว-ศิลปินมรดกอีสาน สำราญ บุบผาวาสน์-ศิลปินมรดกอีสาน สมพงษ์ พละสูรย์-ศิลปินมรดกอีสาน สุรสีห์ ผาธรรม-ศิลปินมรดกอีสาน สุรินทร์ ภาคศิริ-ศิลปินมรดกอีสาน ทอง ล้อมวงศ์-ศิลปินมรดกอีสาน === ด้านการเมือง การปกครอง === เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล)-เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์-เจ้าเมืองอุบลราชธานี หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา-ชาวอุบลราชธานี เกียรติศักดิ์ ส่องแสง-นักการเมือง เกรียง กัลป์ตินันท์-นักการเมือง ไขแสง สุกใส-นักการเมือง ชิดชัย วรรณสถิตย์-นักการเมือง ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ-นักการเมือง ไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์-นักการเมือง ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช-นักการเมือง ดุสิต โสภิตชา-นักการเมือง-นักการเมือง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์-นักการเมือง ธนา เมตตาริกานนท์-นักการเมือง ธำรงค์ ไทยมงคล-นักการเมือง นฤพนธ์ ไชยยศ-พิธีกรรายการโทรทัศน์ บุณย์ธิดา สมชัย-นักการเมือง ประสิทธิ์ ณรงค์เดช-นักการเมือง ประจวบ บุนนาค-นักการเมือง ปัญญา จินตะเวช-นักการเมือง ผัน บุญชิต-นักการเมือง ฟอง สิทธิธรรม-นักการเมือง อิสสระ สมชัย-นักการเมือง อรพินท์ ไชยกาล-นักการเมือง อดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์-นักการเมือง เสรี สุชาตะประคัลภ์-นักการเมือง สุรศักดิ์ เทียมประเสริฐ-นักการเมือง สุพล ฟองงาม-นักการเมือง สุทัศน์ เงินหมื่น-นักการเมือง สุชาติ ตันติวณิชชานนท์-นักการเมือง สิทธิชัย โควสุรัตน์-นักการเมือง วิฑูรย์ นามบุตร-นักการเมือง วุฒิพงษ์ นามบุตร-นักการเมือง ศุภชัย ศรีหล้า-นักการเมือง รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ -นักวิชาการการศึกษา กิตติ์ธัญญา วาจาดี-นักการเมือง == อ้างอิง == == ดูเพิ่ม == รายชื่อวัดในจังหวัดอุบลราชธานี รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี รายชื่อห้างสรรพสินค้าในจังหวัดอุบลราชธานี == แหล่งข้อมูลอื่น == เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด จังหวัดอุบลราชธานี - อีสานร้อยแปด
thaiwikipedia
786
อาริสโตเติล
อาริสโตเตแลส (Ἀριστοτέλης, Aristotélēs, ) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า อาริสโตเติล (Aristotle, 384–322 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นนักปรัชญาและผู้รู้รอบด้านชาวกรีกระหว่างสมัยคลาสสิกในกรีซโบราณ เป็นศิษย์ของเพลโต ผู้ก่อตั้งไลเซียม, สำนักปรัชญาเพริพาเททิก และขนบอาริสโตเติล งานนิพนธ์ของเขาครอบคลุมหลายสาขาวิชารวมทั้งฟิสิกส์ ชีววิทยา สัตววิทยา อภิปรัชญา ตรรกศาสตร์ จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ บทกวี การละคร ดนตรี วาทศาสตร์ จิตวิทยา ภาษาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมืองและการปกครอง อาริสโตเติลเป็นผู้สังเคราะห์อย่างซับซ้อนซึ่งปรัชญาต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้าเขา เหนืออื่นใดโลกตะวันตกได้รับเอาศัพทานุกรมทางปัญญาจากคำสอน ตลอดจนปัญหาและวิธีการสอบสวนของเขา ผลทำให้ปรัชญาของเขาส่งอิทธิพลเป็นเอกลักษณ์ต่อความรู้แทบทุกแบบในโลกตะวันตก และยังเป็นหัวข้อการอภิปรายทางปรัชญาร่วมสมัย ทั้งนี้ ชีวิตของเขาไม่ค่อยเป็นที่ทราบเท่าใดนัก อาริสโตเติลเกิดในนครสตะไยระ (Stagira) ในภาคเหนือของกรีซ บิดาเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์ และผู้ปกครองเป็นผู้เลี้ยงดูเขาต่อมา ครั้นอายุได้ 17 หรือ 18 ปี เขาเข้าร่วมอะคาเดมีของเพลโตในเอเธนส์และอยู่ที่นั่นจนอายุได้ 37 ปี (ประมาณ 347 ปีก่อน ค.ศ.) ไม่นานหลังเพลโตเสียชีวิต อาริสโตเติลออกจากเอเธนส์ และเป็นพระอาจารย์ให้แก่อเล็กซานเดอร์มหาราชเริ่มตั้งแต่ 343 ปีก่อน ค.ศ. โดยคำขอของพีลิปโปสที่ 2 แห่งมาเกโดนีอา เขาตั้งห้องสมุดในไลเซียมซึ่งช่วยให้เขาเขียนหนังสือหลายร้อยเล่มบนม้วนกระดาษปาปิรุส อาริสโตเติลเขียนศาสตร์นิพนธ์และบทสนทนาอันสละสลวยจำนวนมากสำหรับเผยแพร่ แต่มีผลงานดั้งเดิมเพียงประมาณหนึ่งในสามเท่านั้นที่เหลือรอดสืบมา ซึ่งเขาไม่ได้ตั้งใจเผยแพร่ทั้งสิ้น ทัศนะต่อวิทยาศาสตร์กายภาพของอาริสโตเติลมีผลให้เกิดวิชาการสมัยกลางอย่างลึกซึ้ง อิทธิพลจากทัศนะของอาริสโตเติลคงอยู่ตั้งแต่สมัยโบราณตอนปลายจนถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา จนกระทั่งในยุคเรืองปัญญา ทฤษฎีอย่างกลศาสตร์ดั้งเดิมเข้าแทนที่ทัศนะของอาริสโตเติลอย่างเป็นระบบ คนไม่เชื่อถือข้อสังเกตทางสัตววิทยาบางประการของอาริสโตเติลพบในผลงานชีววิทยาของเขาจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่น เรื่องแขนสืบพันธุ์ของหมึก ผลงานของเขามีการศึกษาตรรกศาสตร์รูปนัยเก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีอิทธิพลมาจนคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่นกัน เขายังมีอิทธิพลต่อความคิดของอิสลามในสมัยกลาง ตลอดจนเทววิทยาศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคตินิยมแบบเพลโตใหม่ (Neoplatonism) ในคริสตจักรสมัยต้น และขนบลัทธิอัสมาจารย์ของโรมันคาทอลิก อาริสโตเติลได้รับการยกย่องในหมู่นักวิชาการอิสลามสมัยกลางว่าเป็น "ปฐมครู" และในหมู่คริสต์ศาสนิกชนสมัยกลางอย่างทอมัส อไควนัสว่าเป็น "นักปรัชญาหนึ่งเดียว" จริยศาสตร์ของเขาได้รับความสนใจใหม่เมื่อมีการริเริ่มจริยศาสตร์คุณธรรมสมัยใหม่ == ประวัติ == อาริสโตเติล หรือเกิดเมื่อประมาณ 384 หรือ 383 ปีก่อนคริสตกาลที่เมืองสตากิรา (Stagira) ในแคว้นมาเซโดเนีย (Macedonia) ซึ่งเป็นแคว้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือสุดของทะเลอีเจียน (Aegean Sea) ของประเทศกรีก เป็นบุตรชายของนายนิโคมาคัส (Nicomachus) ซึ่งมีอาชีพทางการแพทย์ประจำอยู่ที่เมืองสตาราเกีย และยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าอมินตัสที่ 2 (King Amyntas II) แห่งมาซิโดเนีย ในวัยเด็กนั้นผู้ที่ให้การศึกษาแก่อาริสโตเติลคือบิดาของเขานั้นเองซึ่งเน้นหนักไปในด้านธรรมชาติวิทยา เมื่อเขาอายุได้ 18 ปีก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อกับปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้นคือ เพลโต ในกรุงเอเธนส์ (Athens) ในระหว่างการศึกษาอยู่กับเพลโต 20 ปีนั้นทำให้อาริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่ลือนามต่อมาจากเพลโต ต่อมาเมื่อเพลโตถึงแก่กรรมในปี 347 ปีก่อนคริสต์ศักราช อาริสโตเติลจึงเดินทางไปรับตำแหน่งเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ในปี 343 - 342 ก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาในปี 336 ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าฟิลิป พระองค์จึงได้พระราชทานทุนให้แก่อาริสโตเติลเพื่อจัดตั้งโรงเรียนที่สตากิราชื่อไลเซียม (Lyceum) ในการทำการศึกษาและค้นคว้าของอาริสโตเติลทำให้เขาเป็นผู้รอบรู้สรรพวิชา และได้เขียนหนังสือไว้มากมายประมาณ 400 - 1000 เล่ม ซึ่งงานต่าง ๆ ที่ได้เขียนขึ้นมานั้น ได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อในศาสนาคริสต์จวบจนกระทั่งยุคกลางหรือยุคมืด ซึ่งมีเวลาประมาณ 1,500 ปีเป็นอย่างน้อย == ปรัชญาทฤษฎี == === ตรรกศาสตร์พจน์ === อาริสโตเติลเป็นผู้เขียน Prior Analytics ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นงานศึกษาตรรกศาสตร์รูปนัยที่มีอายุมากที่สุด และมโนทัศน์ตรรกศาสตร์ของเขาเป็นตรรกศาสตร์ตะวันตกรูปที่ครอบงำจนมีความก้าวหน้าในคณิตตรรกศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 === ออร์กานอน === สิ่งที่ปัจจุบันเรียก ตรรกศาสตร์แบบอาริสโตเติลและตรรกบทประเภทต่าง ๆ (วิธีการให้เหตุผลเชิงตรรกะ) อาริสโตเติลเองเรียกว่า ศาสตร์การวิเคราะห์ (analytics) คำว่า "logic" นั้นเขาสงวนไว้หมายถึงวิภาษวิธี งานส่วนใหญ่ของอาริสโตเติลอาจไม่อยู่ในรูปดั้งเดิม เพราะน่าจะมีการแก้ไขโดยนักเรียนและผู้สอนในภายหลัง งานเชิงตรรกะของอาริสโตเติลมีการรวบรวมเป็นหนังสือหกเล่มชื่อ ออร์กานอน เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ค.ศ. การวิเคราะห์งานเขียนของอาริสโตเติลเริ่มจากพื้นฐาน คือ การวิเคราะห์พจน์อย่างง่าย, การวิเคราะห์ประพจน์และความสัมพันธ์มูลฐาน, การศึกษาตรรกบทและวิภาษวิธี === อภิปรัชญา === ==== สาระ ==== อาริสโตเติลพิจารณามโนทัศน์ของสาระ (ousia) และสารัตถะ (to ti ên einai) ในหนังสือ Metaphysics (Book VII) เขาสรุปว่าสสารหนึ่งเป็นสสาร (matter) และรูป (form) ประกอบกัน เป็นทฤษฎีปรัชญาชื่อ สสารรูปนิยม (hylomorphism) ใน Book VIII เขาแยกแยะสสารของสาระเป็น substratum หรือสิ่งที่ประกอบเป็นสสาร ตัวอย่างเช่น สสารของบ้านคือ อิฐ หิน ไม้ ฯลฯ หรือสิ่งอื่นที่ประกอบเป็นบ้าน ส่วนรูปของสสารคือบ้านที่แท้จริง กล่าวคือ "สิ่งที่คุ้มร่างกายและทรัพย์" หรือ differentia อื่นที่ทำให้นิยามสิ่งหนึ่งว่าบ้าน สูตรซึ่งให้ส่วนประกอบเป็น account ของสสาร และสูตรที่ให้ differentia เป็น account ของรูป ==== สัจนิยมภายใน ==== ปรัชญาของอาริสโตเติลมุ่งที่ระดับสากล (universal) เช่นเดียวกับครูเพลโตของเขา ภววิทยาของอาริสโตเติลวางระดับสากล (katholou) ในรายละเอียด (kath' hekaston) สิ่งที่อยู่ในโลก ในขณะที่สำหรับเพลโตแล้ว ภาวะสากลเป็นรูปที่มีอยู่แยกกันซึ่งสิ่งที่แท้จริงเลียนแบบ แต่สำหรับอาริสโตเติล "รูป" เป็นภาพนิ่งซึ่งเป็นพื้นฐานของปรากฏการณ์ แต่เป็น "ตัวอย่างประกอบ" (instantiated) ในสสารหนึ่ง ๆ เพลโตให้เหตุผลว่าทุกสิ่งมีรูปสากล ซึ่งอาจเป็นคุณสมบัติหรือความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราดูลูกแอปเปิ้ล เราเห็นแอปเปิ้ล และเราสามารถวิเคราะห์รูปของแอปเปิ้ลได้ด้วย ในลักษณะนี้ มีแอปเปิ้ลเฉพาะรายและรูปสากลของแอปเปิ้ล ยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถวางแอปเปิ้ลไว้ข้างหนังสือ เพื่อที่เราสามารถพูดถึงทั้งหนังสือและแอปเปิ้ลว่าอยู่ข้างกัน เพลโตให้เหตุผลว่ามีรูปสากลบางอย่างซึ่งไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสิ่งเฉพาะ ตัวอย่างเช่น มีความเป็นไปได้ว่าไม่มีความดีเฉพาะส่วนอยู่ แต่ "ความดี" ยังเป็นรูปสากลแท้ อาริสโตเติลไม่เห็นด้วยกับเพลโตในข้อนี้ โดยให้เหตุผลว่าระดับสากลทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่อยู่ในบางช่วงเวลา และไม่มีระดับสากลใดที่ไม่ยึดโยงกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ อาริสโตเติลยังไม่เห็นด้วยกับเพลโตเกี่ยวกับตำแหน่งของระดับสากล เมื่อเพลโตพูดถึงโลกของรูป ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีรูปสากลทั้งหมดอยู่ อาริสโตเติลยืนยนัว่าระดับสากลนั้นมีอยู่ในทุกสิ่งซึ่งระดับสากลเป็นภาคแสดง (predicated) ฉะนั้น อาริสโตเติลจึงว่า รูปของแอปเปิ้ลมีอยู่ในทุกลูก มากกว่าในโลกของรูป ==== ศักยภาพและภาวะจริง ==== เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ( kinesis ) และสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้ ตามที่เขากำหนดไว้ในPhysics and On Generation and Corruption 319b–320a เขาแยกความแตกต่างที่จะเกิดขึ้นจาก: การเจริญเติบโตและการลดลงซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของปริมาณ การเคลื่อนไหวซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในอวกาศ และ การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ซึ่งผลลัพธ์คือคุณสมบัติ ในการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาได้แนะนำแนวคิดของศักยภาพ ( ไดนามิก ) และความเป็นจริง ( entelecheia ) ร่วมกับเรื่องและรูปแบบ หมายถึงศักยภาพ นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้หรือดำเนินการได้หากเงื่อนไขถูกต้องและสิ่งอื่นไม่ได้ป้องกัน ตัวอย่างเช่น เมล็ดพืชในดินอาจเป็นพืช ( ไดนาไม ) และหากไม่ได้รับสิ่งกีดขวาง มันจะกลายเป็นพืช สิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพสามารถ 'กระทำ' ( poiein ) หรือ 'ถูกกระทำตาม' ( Paschein) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เองหรือเรียนรู้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น ดวงตามีศักยภาพในการมองเห็น (โดยกำเนิด - ถูกกระทำ) ในขณะที่ความสามารถในการเล่นขลุ่ยสามารถถูกครอบงำโดยการเรียนรู้ (การออกกำลังกาย - การแสดง) ความเป็นจริงคือการเติมเต็มจุดสิ้นสุดของศักยภาพ เพราะจุดจบ ( telos ) เป็นหลักการของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง และเพื่อประโยชน์ในการสิ้นสุดจึงมีศักยภาพ ดังนั้นความจริงก็คือจุดจบ จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ อาจกล่าวได้ว่าความจริงก็คือเมื่อโรงงานทำกิจกรรมอย่างหนึ่งที่พืชทำ โดยสรุปเรื่องที่ใช้ทำบ้านมีศักยภาพที่จะเป็นบ้านทั้งกิจกรรมการสร้างและรูปแบบของบ้านหลังสุดท้ายเป็นเรื่องจริงซึ่งเป็นสาเหตุหรือจุดจบในที่สุด จากนั้นอริสโตเติลดำเนินการและสรุปว่าความเป็นจริงอยู่ก่อนศักยภาพในสูตร ในเวลา และในสาระสำคัญ ด้วยคำจำกัดความของสสารเฉพาะ (เช่น สสารและรูปแบบ) อริสโตเติลพยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับความสามัคคีของสิ่งมีชีวิต เช่น "อะไรที่ทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกัน"? เนื่องจากเพลโตมีแนวคิดสองประการ: สัตว์และสัตว์สองเท้า แล้วมนุษย์เป็นเอกภาพได้อย่างไร? อย่างไรก็ตาม ตามคำกล่าวของอริสโตเติล ศักยภาพ (สสาร) และตัวตนที่แท้จริง (รูปแบบ) เป็นหนึ่งเดียวกัน ==== ญาณวิทยา ==== สัจนิยมภายในของอาริสโตเติลหมายความว่าญาณวิทยาของเขาอาศัยการศึกษาสิ่งที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นในโลก แล้วยกไปสู่ความรู้สากล ส่วนญาณวิทยาของเพลโตเริ่มต้นจากความรู้รูปสากล (หรือความคิด) แล้วลดระดับลงเมาเป็นความรู้การเลียนแบบเฉพาะรายของรูปสากลนั้น อาริสโตเติลใช้การอุปนัยจากตัวอย่างควบคู่กับนิรนัย ส่วนเพลโตอาศัยนิรนัยจากหลักการ a priori == ปรัชญาธรรมชาติ == "ปรัชญาธรรมชาติ" ของอาริสโตเติลครอบคลุมปรากฏการณ์ธรรมชาติหลากหลายซึ่งรวมถึงสิ่งที่จัดอยู่ในวิชาฟิสิกส์ ชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติอื่นในปัจจุบัน ในอภิธานของอาริสโตเติล "ปรัชญาธรรมชาติ" เป็นปรัชญาแขนงหนึ่งที่สอบสวนปรากฏการณ์ในโลกธรรมชาติ งานของอาริสโตเติลครอบคลุมการสอบสวนทางปัญญาแทบทุกแง่มุม อาริสโตเติลทำให้ปรัชญามีความหมายอย่างกว้างอยู่รวมกับการใช้เหตุผล ซึ่งเขาจะเรียกว่าเป็น "ศาสตร์" แต่พึงทราบว่าการใช้คำว่า "ศาสตร์" ของเขานั้นมีความหมายแตกต่างจากสิ่งที่ครอบคลุมด้วยคำว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อาริสโตเติลเขียนว่า "ศาสตร์ (dianoia) ทุกชนิดเป็นเชิงปฏิบัติ บทกวีหรือทฤษฎี" ศาสตร์เชิงปฏิบัติของเขารวมถึงจริยศาสตร์และการเมือง ศาสตร์บทกวีของเขาหมายความถึงการศึกษาวิจิตรศิลป์รวมทั้งบทกวี ศาสตร์ทฤษฎีของเขาครอบคลุมฟิสิกส์ คณิตศาสตร์และอภิปรัชญา === ฟิสิกส์ === ==== ห้าธาตุ ==== ในหนังสือ On Generation and Corruption อาริสโตเติลเชื่อมโยงสี่ธาตุที่เสนอก่อนหน้านี้โดย Empedocles ได้แก่ ดิน น้ำ ลมและไฟ กับคุณสมบัติที่สัมผัสได้สองจากสี่อย่าง ได้แก่ ร้อน เย็น เปียกและแห้ง ตามแผนของ Empedocles สสารทั้งหมดประกอบขึ้นจากสี่ธาตุในสัดส่วนแตกต่างกัน แผนของอาริสโตเติลเพิ่มธาตุอีเทอร์ (Aether) จากสวรรค์ ซึ่งเป็นสสารของทรงกลมสวรรค์ คือ ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ ==== การเคลื่อนที่ ==== อาริสโตเติลอธิบายการเคลื่อนที่ไว้สองแบบ คือ "การเคลื่อนที่รุนแรง" หรือ "ไม่เป็นธรรมชาติ" เช่น การขว้างหิน และ "การเคลื่อนที่ธรรมชาติ" เช่น วัตถุที่ตกลงพื้น ในการเคลื่อนที่รุนแรง เมื่อตัวการหยุดออกแรงกระทำ การเคลื่อนที่ก็หยุดเช่นกัน กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า สภาพธรรมชาติของวัตถุคือการอยู่กับที่ เนื่องจากอาริสโตเติลไม่ได้พิจารณาแรงเสียดทานด้วย ด้วยความเข้าใจนี้ จะสังเกตได้ตามที่อาริสโตเติลกล่าวว่า วัตถุหนัก (เช่น อยู่บนพื้น) ต้องใช้แรงมากกว่าในการทำให้วัตถุขยับ ละวัตถุที่ถูกผลักด้วยแรงที่มากกว่าจะเคลื่อนที่เร็วกว่า ใน Physics (215a25) อาริสโตเติลระบุกฎจำนวนว่า ความเร็ว v ของวัตถุที่ตกลงแปรผันตรง (กำหนดค่าคงที่ตัวหนึ่งขึ้นมาคือ c) กับน้ำหนัก W และแปรผกผันกับความหนาแน่น ρ ของของไหลที่เป็นตัวกลาง : v=c\frac{W}{\rho} อาริสโตเติลส่อความว่าในสุญญากาศความเร็วของการตกจะไม่มีที่สิ้นสุด และสรุปจากความไม่สมเหตุสมผลนี้ว่าสุญญากาศจะมีอยู่ไม่ได้ อาร์คิมิดีสแก้ไขทฤษฎีของอาริสโตเติลว่าวัตถุที่เคลื่อนที่เข้าสู่สถานที่พักตามธรรมชาติของมัน เรือโลหะสามารถลอยน้ำได้หากมันแทนที่น้ำมากพอ การลอยขึ้นอยู่กับแผนของอาร์คิมิดีสว่าด้วยมวลและปริมาตรของวัตถุ ไม่ใช่ความคิดเรื่ององค์ประกอบมูลฐานของวัถตุของอาริสโตเติล งานเขียนของอาริสโตเติลว่าด้วยการเคลื่อนที่ยังมีอิทธิพลอยู่จนสมัยใหม่ตอนต้น กล่าวกันว่ากาลิเลโอแสดงด้วยการทดลองว่าข้ออ้างของอาริสโตเติลเรื่องวัตถุที่หนักกว่าจะตกลงสู่พื้นเร็วกว่าวัตถุที่เบากว่าไม่ถูกต้อง ส่วนคาร์โล โรเวลลี นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีความเห็นแย้งว่า ฟิสิกส์การเคลื่อนที่ของอาริสโตเติลถูกต้องในขอบเขตความสมเหตุสมผล ที่ว่าวัตถุในสนามความโน้มถ่วงของโลกจมอยู่ในของไหลเช่นอากาศ ในระบบนี้ วัตถุที่หนักกว่าตกลงอย่างคงที่เดินทางเร็วกว่าวัตถุที่เบากว่า (ไม่ว่าคิดแรงเสียดทานหรือไม่) และวัตถุจะตกลงช้าลงในตัวกลางที่หนาแน่นกว่า ==== สี่เหตุ ==== อาริสโตเติลเสนอว่าเหตุผลของทุกสิ่งสามารถบอกได้ว่ามาจากปัจจัยสี่ชนิด เหตุวัตถุ (material cause) อธิบายวัตถุของประกอบขึ้นเป็นวัตถุ ตัวอย่างเช่น เหตุวัตถุของโต๊ะคือไม้ ไม่ใช่เหตุเกี่ยวกับการกระทำ ไม่ได้หมายความว่าโดมิโนแท่งหนึ่งล้มทับอีกแท่งหนึ่ง เหตุรูปนัย (formal cause) เป็นรูปของวัตถุ คือ การจัดเรียงของสสาร เป็นการบอกว่าสิ่งหนึ่งคืออะไร สิ่งนั้นตัดสินจากนิยาม รูป แปรูป สารัตถะ ภาวะสังเคราะห์หรือแม่แบบ กล่าวอย่างง่ายว่า เหตุรูปนัยคือความคิดที่อยู่ในใจของประติมากรซึ่งนำให้ปั้นประติมากรรมนั้น ตัวอย่างอย่างง่ายของเหตุรูปนัยคือภาพทางจิตหรือความคิดซึ่งทำให้ศิลปิน สถาปนิกหรือวิศวกรวาดภาพ สัมฤทธิเหตุ (efficient cause) เป็น "บ่อเกิดปฐมภูมิ"เสนอว่าตัวการทุกชนิด ทั้งที่ไม่มีชีวิตหรือมีชีวิต ที่เป็นบ่อเกิดของการเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนที่หรือการหยุดนิ่ง เหตุดังกล่าวครอบคลุมนิยามสมัยใหม่ของ "สาเหตุ" ว่าเป็นตัวการหรือเหตุการณ์เฉพาะหรือสภาพหนึ่ง ในกรณีโดมิโนสองชิ้น เมื่อชิ้นแรกล้มลงจะทำให้ชิ้นที่สองล้มลงตาม ในกรณีของสัตว์ สัมฤทธิเหตุกล่าวถึงการเจริญจากไข่ และการทำงานของร่างกาย อันตเหตุ (final cause, telos) เป็นวัตถุประสงค์ สาเหตุที่มีหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตรงกับความคิดเหตุจูงใจ (motivating cause) สมัยใหม่ เช่น ความจงใจ (volition) ในกรณีสิ่งมีชีวิต ส่อความถึงการปรับตัวกับวิถีชีวิตเฉพาะ ==== ทัศนศาสตร์ ==== อาริสโตเติลอธิบายการทดลองในวิชาทัศนศาสตร์โดยใช้กล้องทาบเงาใน Problems เล่มที่ 15 อุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วยห้องมืดโดยเจาะช่องขนาดเล็กให้แสงผ่าน เมื่อใช้กล้องดังกล่าว เขาเห็นว่าไม่ว่าเจาะรูเป็นรูปใดก็ตาม จะเห็นภาพดวงอาทิตย์เป็นทรงกลมเสมอ เขายังสังเกตว่าการเพิ่มระยะห่างระหว่างช่องกับพื้นผิวภาพจะขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ==== ความบังเอิญและการเกิดเอง ==== อาริสโตเติลกล่าวว่า ความบังเอิญ (chance) และการเกิดเอง (spontaneity) เป็นสาเหตุของบางสิ่ง ซึ่งแยกจากเหตุอย่างอื่น เช่น เป็นเพียงความจำเป็น (necessity) ความบังเอิญที่เป็นเหตุที่มีความสำคัญรองลงมาอยู่ในขอบเขตของอุบัติเหตุ (accident) "จากสิ่งที่เกิดเอง" นอกจากนี้ ยังมีความบังเอิญอีกชนิดหนึ่งที่จำเพาะกว่า ซึ่งอาริสโตเติลตั้งชื่อว่า "โชค" (luck) ซึ่งใช้กับตัวเลือกจริยธรรมของบุคคลเท่านั้น === ดาราศาสตร์ === อาริสโตเติลหักล้างข้ออ้างของดิมอคริตัสที่ว่าทางช้างเผือกเกิดขึ้นจาก "ดาวฤกษ์ที่ถูกเงาของโลกบดบังจากรัศมีดวงอาทิตย์" โดยชี้ให้เห็นอย่างถูกต้องว่าหาก "ดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าโลก และระยะห่างของดาวฤกษ์กับโลกนั้นไกลกว่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงโลกหลายเท่า แล้วดวงอาทิตย์จะส่องแสงไปยังดาวฤกษ์ทั้งหมดโดยที่โลกจะบังไว้ไม่ได้" === ธรณีวิทยา === อาริสโตเติลเป็นคนแรก ๆ ที่บันทึกการสังเกตทางภูมิศาสตร์ เขากล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์นั้นช้าเกินกว่าจะสังเกตได้ในชั่วชีวิตของบุคคลคนหนึ่ง === ชีววิทยา === ==== การวิจัยเชิงประจักษ์ ==== อาริสโตเติลเป็นบุคคลแรกที่ศึกษาชีววิทยาอย่างเป็นระบบ และชีววิทยาเป็นส่วนใหญ่ของงานเขียนของเขา เขาใช้เวลาสองปีศึกษาและบรรยายสัตววิทยาของเลสบอสและทะเลโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลากูนไพรา (Pyrrha) ที่อยู่กลางเกาะ ข้อมูลของเขารวบรวมจากข้อสังเกตของเขาเอง คำแถลงของผู้มีความรู้ชำนัญพิเศษอย่างคนเลี้ยงผึ้งและชาวประมง และบันทึกที่ไม่ค่อยแม่นยำนักที่ได้จากนักเดินทางจากต่างถิ่น การเน้นเกี่ยวกับสัตว์มากกว่าพืชนั้นเป็นความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ งานเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ของเขาสูญหายไป แต่งานเกี่ยวกับพืชของศิษย์เขาเหลือรอดต่อมา อาริสโตเติลรายงานสัตว์ทะเลที่เห็นจากการสังเกตบนเลสบอสและสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ เขาอธิบายปลาดุก ปลากระเบนไฟฟ้าและปลากบอย่างละเอียด ตลอดจนชั้นเซฟาโลพอด เช่น หมึกและอาร์โกนอต (argonaut) คำบรรยายหนวดผสมพันธุ์ (hectocotyl arm) ของเซฟาโลพอดนั้น คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อกันจนคริสต์ศตวรรษที่ 19 เขาให้คำบรรยายอย่างแม่นยำของกระเพาะสี่ห้องของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และการเจริญของตัวอ่อนแบบฟักไข่ในตัวของปลาฉลามหมา (houndshark) เขาสังเกตว่าโครงสร้างของสัตว์ตรงกับการทำหน้าที่พอดี ฉะนั้นในหมู่นก นกกระสาซึ่งอาศัยอยู่ในหนองบึงที่มีโคลนอ่อนและอาศัยจับปลา จึงมีคอและขายาว และมีจะงอยปากแหลมคล้ายหอก ส่วนเป็ดที่ว่ายน้ำได้จะมีขาสั้นและเท้าเป็นพังผืด ทั้งนี้ ชาลส์ ดาร์วินสังเกตข้อแตกต่างระหว่างสัตว์ชนิดคล้ายกันเหล่านี้ด้วย แต่เขาใช้ข้อมูลสรุปเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งต่างจากอาริสโตเติล สำหรับผู้อ่านสมัยใหม่ งานเขียนของอาริสโตเติลเข้าใกล้การส่อความถึงวิวัฒนาการ แต่ถึงแม้อาริสโตเติลทราบว่ามีการกลายพันธุ์หรือพันธุ์ผสมเกิดขึ้นได้ แต่เขามองว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดน้อย สำหรับอาริสโตเติล อุบัติเหตุเป็นเหมือนคลื่นความร้อนในฤดูหนาวที่จะต้องถือแยกจากสาเหตุธรรมชาติ ฉะนั้น เขาจึงวิจารณ์ทฤษฎีวัสดุนิยมกำเนิดสิ่งมีชีวิตและอวัยวะของสิ่งมีชีวิตจาก "การอยู่รอดของผู้เหมาะสมที่สุด" ของ Empedocles และหัวเราะเยาะความคิดที่ว่าอุบัติเหตุสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นระเบียบ เมื่อใช้คำสมัยใหม่ เขาไม่ได้กล่าวไว้ที่ใดว่าสปีชีส์ต่างชนิดกันมีบรรพบุรุษร่วมกันได้ หรือชนิดหนึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ หรือชนิดหนึ่งสามารถสูญพันธุ์ได้ ==== ลีลาวิทยาศาสตร์ ==== อาริสโตเติลไม่ได้ทำการทดลองในความหมายสมัยใหม่ เขาใช้คำภาษากรีกโบราณ pepeiramenoi ซึ่งหมายถึง การสังเกต หรืออย่างมากก็ใช้กระบวนการสอบส่วนอย่างการผ่าชันสูตร เขาพบว่าไข่ของแม่ไก่ที่ผสมแล้วที่มีระยะที่เหมาะสม แล้วเปิดดูเห็นหัวใจของตัวอ่อนกำลังเต้นอยู่ภายใน เขาใช้ลีลาวิทยาศาสตร์อีกแบบหนึ่ง คือ การรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ การค้นหาแบบรูปที่พบร่วมในสัตว์ทั้งกลุ่ม และอนุมานคำอธิบายเชิงสาเหตุที่เป็นไปได้จากข้อค้นพบนั้น ลีลานี้พบทั่วไปในชีววิทยาสมัยใหม่เมื่อมีข้อมูลปริมาณมากอยู่ในสาขาใหม่ เช่น จีโนมิกส์ (genomics) ทั้งนี้ วิธีนี้ไม่มีความแน่นอนแบบเดียวกับวิทยาศาสตร์เชิงทดลอง แต่สามารถได้สมมติฐานที่ทดสอบได้และสร้างคำอธิบายเชิงบรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่สังเกตได้ ในความหมายนี้ ชีววิทยาของอาริสโตเติลก็เป็นวิทยาศาสตร์ จากข้อมูลที่เขาเก็บรวบรวมและจดบันทึก อาริสโตเติลอนุมานกฎจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตที่มีสัตว์สี่เท้าที่ออกลูกเป็นตัวที่เขาศึกษา คำทำนายที่ถูกต้องของเขา เช่น จำนวนลูกลดลงตามขนาดร่างกายของตัวเต็มวัย โดยช้างจะมีลูกเล็กจำนวนน้อยกว่าหนู อายุขัยของสัตว์เพิ่มขึ้นตามระยะมีครรภ์และขนาดร่างกาย โดยช้างจะมีอายุยืนกว่าหนู มีอายุครรภ์นานกว่าและตัวใหญ่กว่าด้วย ตัวอย่างสุดท้าย ความสามารถมีลูกลดลงตามอายุขัย ฉะนั้นสัตว์ที่อายุยืนอย่างช้างจะมีลูกรวมกันน้อยกว่าสัตว์อายุสั้นอย่างหนู ==== การจำแนกสิ่งมีชีวิต ==== อาริสโตเติลแยกสัตว์ประมาณ 500 สปีชีส์ โดยจัดเรียงตามมาตราความสมบูรณ์โดยแบ่งระดับ (scala naturae) โดยมีมนุษย์อยู่บนสุด ระบบของเขามีสัตว์ 11 ระดับ จากที่มีศักยภาพสูงสุดไปต่ำสุด โดยแสดงในรูปเมื่อเกิด ศักยภาพสูงสุดทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดมาตัวร้อนและเย็น ส่วนสัตว์ต่ำสุดมีไข่แห้งคล้ายแร่ธาตุ สัตว์เหนือกว่าพืข และพืชเหนือกว่าแร่ธาตุอีกทอดหนึ่ง เขาจัดกลุ่มสัตว์ที่นักสัตววิทยาสมัยใหม่เรียกว่า สัตว์มีกระดูกสันหลัง ว่าเป็นสัตว์ตัวร้อน "มีเลือด" และต่ำกว่านั้นเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตัวเย็นเป็น "สัตว์ไม่มีเลือด" สัตว์ที่มีเลือดยังแบ่งอีกเป็นสัตว์ที่ออกลูกเป็นตัว (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และสัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่ (สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลานและปลา) สัตว์ที่ไม่มีเลือด ได้แก่ แมลง สัตว์พวกกุ้งกั้งปู ชั้นเซฟาโลพอด และมอลลัสกาเปลือกแข็ง เขาพบว่าสัตว์ไม่เข้ากับมาตราเส้นตรงเสียทีเดียว และหมายเหตุข้อยกเว้นต่าง ๆ เช่น ปลาฉลามมีรกเหมือนกับสัตว์สี่เท้า สำหรับนักชีววิทยาสมัยใหม่ คำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวที่อาริสโตเติลไม่ทราบคือ วิวัฒนาการลู่ออก เขาเชื่อว่าเหตุสุดท้ายที่เป็นจุดมุ่งหมายชี้นำกระบวนการธรรมชาติทั้งหมด ทัศนะอันตวิทยานี้ให้เหตุผลแก่ข้อมูลที่สังเกตได้ว่าเป็นการสำแดงซึ่งการออกแบบรูปนัย === จิตวิทยา === ==== วิญญาณ ==== จิตวิทยาของอาริสโตเติล ตามที่ระบุไว้ในศาสตรนิพนธ์ ว่าด้วยวิญญาณ (On the Soul, peri psychēs) กำหนดวิญญาณ (soul หรือ psyche) ไว้สามประเภท ได้แก่ วิญญาณส่วนอิสระ (vegetative soul), วิญญาณส่วนประสาทสัมผัส (sensitive soul), และวิญญาณส่วนเหตุผล (rational soul) จิตวิญญาณของมนุษย์มีอำนาจของประเภทอื่น คือ วิญญาณส่วนอิสระสามารถเติบโตและหล่อเลี้ยงตัวเองแล้ว วิญญาณส่วนประสาทสัมผัสสามารถรู้สัมผัสและเคลื่อนที่ได้ใกล้ ๆ แต่ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมนุษย์ คือ วิญญาณส่วนเหตุผลมีความสามารถรับเข้ารูป (form) ของสิ่งอื่นและเปรียบเทียบโดยใช้สติปัญญาและเหตุผลได้ สำหรับอาริสโตเติล วิญญาณถือเป็นสิ่งมีชีวิตรูปหนึ่ง เพราะทุกสิ่งมีองค์ประกอบเป็นรูปและสสาร รูปของสิ่งมีชีวิตจึงได้รับมาจากสิ่งที่จำเพาะต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ความสามารถริเริ่มการเคลื่อนไหว (หรือในกรณีพืช คือ การเติบโตและการแปลงสภาพทางเคมี ซึ่งอาริสโตเติลถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง) ในทางตรงข้ามกับนักปรัชญาเขา (แต่สอดคล้องกับชาวอียิปต์) เขาจัดจิตวิญญาณส่วนเหตุผลอยู่ในหัวใจ มิใช่สมอง นอกจากนี้ อาริสโตเติลยังขึ้นชื่อว่าแยกแยะประสาทสัมผัสกับความคิดออกจากกันด้วย == เชิงอรรถ == == อ้างอิง == Knight, Kelvin. 2007. Aristotelian Philosophy: Ethics and Politics from Aristotle to MacIntyre, Polity Press. Lewis, Frank A. 1991. Substance and Predication in Aristotle. Cambridge: Cambridge University Press. == แหล่งข้อมูลอื่น == นักปรัชญาชาวกรีก นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก บุคคลในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล นักปรัชญาในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ชาวกรีกโบราณ
thaiwikipedia
787
ชัยวัฒน์ คุประตกุล
รองศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ คุประตกุล เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ชาวไทย == ประวัติ == รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล เกิดวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2483 ที่ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นบุตรของนายเช็งเฮียง และนางซิวเตียง บิดาเป็นนายแพทย์แผนโบราณ มารดามีอาชีพค้าขาย มีประสบการณ์วัยเด็กและวัยรุ่นทดลองทำงานต่างๆ เช่น ขี่สามล้อรับจ้าง ขายล็อตเตอรี่ ขายถ่าน เลี้ยงหมู จับหมู ขายของกินประเภทน้ำแข็งไส น้ำหวาน บุหรี่ ปลาหมึกย่าง ตามงานวัดในต่างอำเภอ แถวอำเภอพิมาย เข้าโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนบูรพาวิทยากร (วัดบูรพ์) จังหวัดนครราชสีมา แต่ไม่สนุกกับการเรียนจึงออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้าน กลับเข้าเรียนหนังสือครั้งใหม่เมื่ออายุเก้าปีที่โรงเรียนบูรพาวิทยากร เพราะอยากอ่านหนังสือประเภทนิยาย-นิทานด้วยตนเอง จบการศึกษามัธยม 8 จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เข้าศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างที่ศึกษาอยู่ปีที่ 2 สอบได้ทุนโคลัมโบของรัฐบาลออสเตรเลีย เข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก (ฟิสิกส์) จากนั้นจึงเข้าประจำทำงานครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีพ.ศ. 2513 ย้ายโอนมาประจำที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร ปี พ.ศ. 2525 สนใจเรื่องการเขียนตั้งแต่สมัยเป็นเด็กชอบวิชาทุกวิชาที่มีการสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เรียงความ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี แต่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยอาชีพเมื่อโตขึ้นและอยากเป็นนักเขียน โดยเริ่มทดลองเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ออกนิตยสารทำมือ (เขียนเองสร้างภาพประกอบเองทั้งเล่ม) ในระหว่างเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยจำนวน 2 ฉบับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล สมรสกับชูศรี จุลลัษเฐียร พ.ศ. 2511 มีบุตรธิดาสองคน (จักรกริช และชลลดา) สมรสกับสรรสิริ ชัยรัตน์ พ.ศ. 2542 ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนดวันที่ 1 ตุลาคม 2542 == ประสบการณ์พิเศษต่างประเทศ และกิจกรรมระหว่างประเทศ == เป็น Director จัด Workshop เกี่ยวกับ Science Communication โดยยูเนสโกที่ประเทศศรีลังกาเป็นเวลา 5 วัน แก่ผู้สื่อข่าวจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับเชิญให้ไปดูงานด้านวิทยาศาสตร์การศึกษาและสื่อสารมวลชนในประเทศต่าง ๆ คือ สหรัฐอเมริกา, สวีเดน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมนี, เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศในเอเชีย เป็นประธานจัด International Conference on Method of Teaching Physics (Secondary & Tertiary Levels) ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 โดยได้รับการสนับสนุนจาก APSO, UNESCO, COSTED และประเทศต่าง ๆ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน ออสเตรเลียและเยอรมนี ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารเอเชียวีก (Literary Supplement) == เครื่องราชอิสริยาภรณ์ == == รางวัล == รางวัล “นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ประจำปี พ.ศ. 2538 จากชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการสนับสนุนรางวัลจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ “ชีวิตอมตะ” ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่นประเภทหนังสือสารคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ปี 2524 ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ หนังสือ “ชีวิตอมตะ” ได้รับรางวัลชมเชยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (ส.ย.ช.) ปี พ.ศ. 2524 “เลเซอร์” ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่นประเภทหนังสือสารคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น ปี พ.ศ. 2529 ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ “อวกาศมหัศจรรย์” ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่นประเภทหนังสือการ์ตูนปี พ.ศ. 2540 ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง “โปรเจกต์ เอกซ์” ได้รับรางวัลชมเชยการประกวดหนังสือดีเด่นประเภทนวนิยาย ปี พ.ศ. 2546 ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ รางวัล “สุรินทราชา” (รางวัลนักแปลดีเด่น) ประจำปี พ.ศ. 2552 ของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ได้รับการเสนอชื่อจากยูเนสโก (กระทรวงศึกษาธิการ) เข้ารับการพิจารณาชิงรางวัลคาลิงกา (KALINGA PRIZE) 2 ครั้ง ปี พ.ศ. 2524 และพ.ศ. 2547 หนังสือผ่ามิติจินตนาการ ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประเภทสารคดีประจำปี 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2540 ศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนเทศบาล 1 บูรพาวิทยากร (วัดบูรพ์) ปี พ.ศ. 2548 WHO’s Who In The World, 1980-1981 Men Of Achievement, 1983 International Who’s Who Of Intellectuals, Vol.5 เป็น PRESENTER งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ประชาสัมพันธ์สั้นทางโทรทัศน์ (TV.SPOT) แพร่ภาพในโทรทัศน์หลายช่องช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 รางวัลนราธิป พ.ศ. 2563 == อ้างอิง == รองศาสตราจารย์ บุคคลจากอำเภอเมืองนครราชสีมา บุคคลจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุคคลจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บุคคลจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย นักเขียนชาวไทย ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช. ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม. ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา นักเขียนบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์
thaiwikipedia
788
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อว่า สส. คือ สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติ == ดูเพิ่ม == สภาผู้แทนราษฎรไทย การยุบสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ==อ้างอิง== การเมือง
thaiwikipedia
789
ปรากฏการณ์เรือนกระจก
ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) คือ ขบวนการที่รังสีความร้อนจากพื้นผิวโลกจะถูกดูดซับโดยแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และแผ่รังสีออกไปอีกครั้งในทุกทิศทาง เนื่องจากการแผ่รังสีออกไปอีกครั้งถูกส่งกลับมายังพื้นผิวโลกและบรรยากาศด้านล่าง เป็นผลทำให้ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยสูงขึ้นถ้าไม่มีก๊าซเหล่านี้ การแผ่รังสีดวงอาทิตย์ที่ความถี่แสงที่ตามองเห็นผ่านชั้นบรรยากาศเป็นส่วนใหญ่และทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น แล้วจะมีการแผ่พลังงานนี้ออกมาในรูปรังสีความร้อนอินฟราเรดที่มีความถี่ต่ำกว่า การแผ่รังสีอินฟราเรดถูกแก๊สเรือนกระจกดูดซับไว้ และจะมีการแผ่พลังงานปริมาณมากกลับไปยังพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศที่ต่ำกว่า กลไกดังกล่าวตั้งชื่อตามปรากฏการณ์ที่การแผ่รังสีดวงอาทิตย์ผ่านกระจกแล้วทำให้เรือนกระจกอุ่นขึ้น แต่วิธีการกักเก็บความร้อนนั้นแตกต่างไป โดยเรือนกระจกเป็นการลดการไหลของอากาศ แยกอากาศที่อุ่นข้างในเพื่อที่ความร้อนจะไม่สูญเสียไปโดยการพาความร้อน โจเซฟ ฟูริเออร์ (Joseph Fourier) เป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจกเมื่อ พ.ศ. 2367 สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) เป็นผู้ทดสอบหาปริมาณความร้อนเมื่อ พ.ศ. 2439 ถ้าวัตถุดำพาความร้อนในอุดมคติมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์เท่ากับโลก วัตถุดำนี้จะมีอุณหภูมิราว 5.3 °C อย่างไรก็ดี เนื่องจากโลกสะท้อนแสงอาทิตย์ที่เข้ามาราว 30% อุณหภูมิยังผล (อุณหภูมิของวัตถุดำที่จะแผ่รังสีปริมาณเท่ากัน) จะอยู่ที่ราว −18 °C ซึ่งต่ำกว่าอุณหภูมิพื้นผิวที่แท้จริงที่ราว 14 °C อยู่ 33 °C กลไกที่สร้างความแตกต่างนี้ระหว่างอุณหภูมิพื้นผิวที่แท้จริงกับอุณหภูมิยังผลเป็นเพราะชั้นบรรยากาศและสิ่งที่รู้จักกันในชื่อปรากฏการณ์เรือนกระจก ปรากฏการณ์เรือนกระจกตามธรรมชาติของโลกทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ ทว่า กิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์และการทำลายป่า ได้เพิ่มปรากฏการณ์เรือนกระจกธรรมชาติ ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน == กลไก == โลกรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ในรูปของการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ พลังงานเกือบทั้งหมดมีขนาดความยาวช่วงคลื่นที่มองเห็นได้และในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดที่เกือบมองเห็น (บางครั้งเรียกว่าช่วงคลื่นใกล้อินฟราเรด) โลกมีอัตราส่วนรังสีสะท้อน (albedo) ประมาณ 30% ของรังสีดวงอาทิตย์ที่แผ่ลงมา ที่เหลือร้อยละ 70 จะถูกดูดซับไว้ ทำความอบอุ่นให้แก่พื้นดิน บรรยากาศและมหาสมุทร การที่อุณหภูมิของโลกอยู่ในภาวะเสถียรซึ่งไม่ร้อนขึ้นหรือเย็นลงอย่างรวดเร็วเกินไปได้นั้น การดูดกลืนรังสีดวงอาทิตย์สู่โลกจะต้องอยู่ในสภาวะสมดุลเป็นอย่างมากกับรังสีอินฟราเรดที่สะท้อนกลับออกสู่อวกาศ โดยที่ความเข้มของการแผ่กระจายรังสีอินฟราเรดเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของอุณหภูมิ เราจึงคิดว่าอุณหภูมิของโลกขึ้นอยู่กับปริมาณของฟลักซ์หรือแรง (flux) ของอินฟราเรดที่จะต้องถ่วงดุลกับฟลักซ์ของรังสีดวงอาทิตย์ การแผ่ของรังสีดวงอาทิตย์เกือบทั้งหมดทำพื้นผิวของโลกร้อนขึ้น ไม่ใช่เป็นการทำให้บรรยากาศร้อนขึ้น บรรยากาศชั้นบนไม่ใช่ผิวโลกที่เป็นตัวช่วยให้การแผ่กระจายรังสีอินฟราเรดหนีออกสู่อวกาศ โฟตอนอินฟราเรดที่ส่งออกมาทางผิวโลกเกือบทั้งหมดจะถูกดูดซับไว้ในบรรยากาศโดยแก๊สเรือนกระจกและเมฆ ไม่ได้หนีออกโดยตรงสู่ห้วงอวกาศ เหตุผลที่พื้นผิวโลกร้อนขึ้นนี้อาจทำให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ด้วยการเริ่มต้นจากการใช้แบบจำลองปรากฏการณ์เรือนกระจกอย่างง่ายที่คิดเฉพาะการแผ่กระจายรังสีโดยไม่นำไปรวมกับการถ่ายโอนพลังงานในบรรยากาศโดยการพาความร้อน ในกรณีการคิดการแผ่กระจายรังสีเพียงอย่างเดียวนี้ เราอาจคิดได้ว่าบรรยากาศแผ่กระจายรังสีอินฟราเรดทั้งจากด้านสู่ด้านบนลงมาและจากด้านล่างขึ้นไป ฟลักซ์ของรังสีอินฟราเรดที่ปล่อยออกจากผิวโลกจะต้องสมดุลไม่เพียงกับการดูดกลืนฟลักซ์ของรังสีดวงอาทิตย์เท่านั้น แต่จะต้องสมดุลกับฟลักซ์ของอินฟราเรดที่บรรยากาศปล่อยลงมาด้วย อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะร้อนขึ้นจนถึงระดับการปลดปล่อยความร้อนในปริมาณเท่ากับผลรวมของรังสีดวงอาทิตย์และอินฟราเรดที่เข้ามา ภาพชัดเจนกว่าที่อาจนำมาคิดกับฟลักซ์การพาความร้อน และความร้อนแฝงนั้นออกจะซับซ้อนมากกว่า แต่แบบจำลองอย่างง่ายที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้สามารถแสดงแก่นสารได้ชัดเจนกว่า โดยเริ่มจากการสังเกตที่เห็นได้ว่าภาวะทึบแสงของบรรยากาศที่มีต่อการแผ่รังสีอินฟราเรดว่าเป็นตัวกำหนดช่วงสูงของโฟตอนในบรรยากาศเกือบทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกสู่ห้องอวกาศ หากบรรยากาศมีภาวะทึบแสงมากขึ้น โฟตอนทั่วไปที่จะหนีออกสู่ห้วงอวกาศจะถูกปลดปล่อยจากชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้น เนื่องจากการแผ่กระจายของรังสีอินฟราเรดคือตัวทำให้เกิดความร้อน ดังนั้นอุณหภูมิของบรรยากาศในระดับการปลดปล่อยที่ทำให้เกิดผลจึงถูกกำหนดโดยความต้องการที่ฟลักซ์ของการปลดปล่อยสมดุลกับการดูดกลืนฟลักซ์ของรังสีดวงอาทิตย์ แต่อุณหภูมิของบรรยากาศโดยทั่วไปจะลดลงตามความสูงเหนือผิวพื้นในอัตราประมาณ 6.5 °C ต่อความสูง 1 กิโลเมตรโดยเฉลี่ยจนถึงบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ที่ความสูงประมาณ 10 – 15 กิโลเมตรจากผิวโลก (โฟตอนเกือบทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกสู่ห้วงอวกาศโดยบรรยากาศชั้นโทรโปสเฟียร์ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่อยู่ระหว่างผิวโลกกับสตราโตสเฟียร์ ดังนั้นเราจึงไม่นับบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์) แบบจำลองที่ง่ายที่สุดแต่เป็นแบบที่มีประโยชน์ที่สุดได้แก่แบบจำลองที่มีสมมุติฐานว่าโปรไฟล์ของอุณหภูมิมีความคงที่และฟลักซ์ของพลังงานเป็นแบบไม่มีการแผ่กระจายและกำหนดค่าอุณหภูมิไว้ ณ ระดับฟลักซ์ของการแผ่กระจายรังสีที่หนีออกสู่ห้วงอวกาศ ด้วยแบบจำลองนี้เราสามารถคำนวณอุณหภูมิผิวพื้นโดยการเพิ่มของอุณหภูมิในอัตรา 6.5 °C ต่อการต่ำลงทุก 1 กิโลเมตร จนถึงผิวโลก ยิ่งบรรยากาศมีภาะวะทึบแสงมากขึ้นและระดับของการปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดที่เพิ่มสู่ห้วงอวกาศมีมากขึ้นเท่าใด ผิวพื้นของโลกก็จะร้อนขึ้นเท่านั้น คำว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” นี้เองที่เป็นตัวทำให้เกิดความสับสนว่าเรือนกระจกของจริงไม่ได้ร้อนขึ้นโดยกลไกนี้ (ดูหัวขัอ เรือนกระจกจริงข้างล่าง) การโต้เถียงที่แพร่หลายมักอ้างผิด ๆ ว่ามันเป็นเช่นนั้น ความคลาดเคลื่อนนี้บางครั้งยังมีปรากฏในเอกสารทางวิทยาศาสตร์หรือเอกสารของรัฐฯ (เช่น เอกสารของ อี.พี.เอ.เป็นต้น) == แก๊สเรือนกระจก == กลศาสตร์ควอนตัม เป็นวิชาที่ให้พื้นฐานสำหรับใช้คำนวณปฏิสัมพันธ์ระหว่างโมเลกุลและการแผ่กระจายรังสี ปฏิสัมพันธ์เกือบทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อความถี่ของการแผ่กระจายรังสีที่เทียบได้กับเส้นสเปกตรัม (spectral lines) ของโมเลกุลซึ่งกำหนดโดยโหมดของการสั่นสะเทือนและการหมุนควงของโมเลกุล (การกระตุ้นทางอีเลกทรอนิกส์โดยทั่วไปใช้ไม่ได้กับการแผ่กระจายรังสีอินฟราเรดเนื่องจากความต้องการพลังงานในปริมาณที่มากกว่าที่จะใช้กับโฟตอนอินฟราเรด) ความกว้างของเส้นสเปกตรัมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของการดูดกลืนการแผ่รังสี ความกว้างของสเปกตรัมในบรรยากาศโดยทั่วไปกำหนดด้วย “การแผ่กว้างของแรงดัน” ซึ่งก็คือการบิดเบี้ยวของสเปกตรัมเนื่องจากการปะทะกับโมเลกุลอื่น การดูดกลืนรังสีอินฟราเรดเกือบทั้งหมดในบรรยากาศอาจนึกเปรียบเทียบได้ว่าป็นการชนกันระหว่างสองโมเลกุล การดูดกลืนที่เกิดจากโฟตอนทำปฏิกิริยากับโมเลกุลโดดมีขนาดเล็กมาก ๆ ปัญหาที่เกิดจากการณ์ลักษณะทั้งสามนี้คือ โฟตอน 1 ตัวและโมเลกุล 2 ตัวดังกล่าวสร้างความท้าทายโดยตรงที่ให้น่าสนใจมากขึ้นในเชิงของการคำนวณทางกลศาสตร์ควอนตัม การวัดสเปกตรัม (spectroscopic measurements) อย่างระมัดระวังในห้องทดลองให้ผลการคำนวณการถ่ายโอนการแผ่รังสีในการศึกษาบรรยากาศได้น่าเชื่อถือมากกว่าการใช้การคำนวณเชิงกลศาสตร์ควอนตัมแบบเก่า โมเลกุล/อะตอมที่เป็นองค์ประกอบใหญ่ของบรรยากาศ ซึ่งได้แก่ออกซิเจน (O2) , ไนโตรเจน (N2) และ อาร์กอน (Ar) ไม่ทำปฏิกิริยากับรังสีอินฟราเรดมากนักขณะที่โมเลกุลของออกซิเจนและไนโตรเจนสามารถสั่นตัวได้เนื่องจากความสมดุลในตัว การสั่นตัวจึงไม่เกิดการแยกตัวเชิงภาวะชั่วครู่ของประจุไฟฟ้า (transient charge separation) การขาดความเป็น “ขั้วคู่” ของภาวะชั่วครู่ดังกล่าวจึงไม่มีทั้งการดูดกลืนเข้าและการปล่อยรังสีอินฟราเรดออก ในบรรยากาศของโลกก๊าซที่ทำหน้าที่หลักในการดูดกลืนอินฟราเรดมากที่สุดคือไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์และโอโซน (O3) นอกจากนี้ โมเลกุลอย่างเดียวกันก็ยังเป็นกลุ่มโมเลกุลหลักในการปล่อยอินฟราเรด CO2 และ O3 มีลักษณะการสั่นของโมเลกุลแบบยวบยาบซึ่งเมื่ออยู่ในภาวะที่เป็นหน่วยเล็กสุด (quantum state) มันจะถูกกระตุ้นจากการชนของพลังงานที่เข้าปะทะกับบรรยากาศของโลก ตัวอย่างเช่น คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นโมเลกุลเป็นแบบเกาะกันตามยาวแต่มีรูปแบบการสั่นที่สำคัญคือการแอ่นตัวของโมเลกุลที่คาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ตรงกลางเอนไปข้างหนึ่งและออกซิเจนแอ่นไปอีกข้างหนึ่งทำให้เกิดประจุไฟฟ้าแยกตัวออกมาเป็น “ขั้วคู่” (dipole moment) ชั่วขณะหนึ่งซึ่งทำให้โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ดูดกลืนรังสีอินฟราเรดไว้ได้ การปะทะทำให้เกิดการถ่ายโอนพลังงานไปทำให้ก๊าซที่อยู่รอบ ๆ ร้อนขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือโมเลกุลของ CO2 ถูกสั่นโดยการปะทะนั่นเอง ประมาณร้อยละ 5 ของโมเลกุล CO2 ถูกสั่นโดยที่อุณหภูมิของห้องและปริมาณร้อยละ 5 นี้เองที่เปล่งรังสีออกมา การเกิดที่สำคัญของปรากฏการณ์เรือนกระจกจึงเนื่องมาจากการปรากฏอยู่ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่สั่นไหวง่ายเมื่อถูกกระตุ้นโดยอินฟราเรด CO2 ยังมีรูปแบบอื่นอีก 2 รูปแบบ ได้แก่การแอ่นตัวที่สมดุลไม่เปล่งรังสีกับการแอ่นตัวที่ไม่สมดุลที่ทำให้เกิดความถี่ในการสั่นสูงเกินที่จะถูกกระตุ้นได้ด้วยการปะทะจากความร้อนของบรรยากาศได้แม้มันจะยังทำหน้าที่ดูดกลืนอินฟราเรดได้บ้างก็ตาม รูปแบบการสั่นตัวของโมเลกุลของน้ำอยู่อัตราที่สูงเกินที่จะแผ่รังสีออกมาได้อย่างมีผล แต่มันยังสามารถดูดกลืนรังสอินฟราเรดที่มีความถี่สูงได้ ไอน้ำมีรูปโมเลกุลแอ่น มีขั้วคู่ที่ถาวร (ปลายของอะตอมออกซิเจนมีอีเลกตรอนมากและอะตอมของไฮโดรเจนมีน้อย) ซึ่งหมายความว่าแสงอินฟราเรดสามารถเปล่งออกและดูดกลืนได้ในระหว่างช่วงต่อของการหมุนตัวและการหมุนตัวก็เกิดได้จากการชนระหว่างการถ่ายโอนพลังงาน เมฆก็นับเป็นตัวดูดกลืนรังสีอินฟราเรดที่สำคัญ ดังนั้น น้ำจึงมีปรากฏการณ์เชิงอเนกต่อการแผ่รังสีอินฟราเรดผ่านช่วงการเป็นไอและช่วงการกลั่นตัว ตัวดูดกลืนที่สำคัญอื่น ๆ รวมถึงก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน การโต้เถียงเกี่ยวกับความสำคัญในความสัมพันธ์ของตัวดูดกลืนรังสีอินฟราเรดชนิดต่าง ๆ ยังมีความสับสนที่เนื่องมาจากการทับซ้อนกันระหว่างเส้นสเปกตรัมที่เกิดจากก๊าซต่างชนิดที่ถ่างออกเนื่องจากแรงกดดันที่กว้างขึ้น ซึ่งมีผลทำให้การดูดกลืนของก๊าซชนิดหนึ่งไม่อาจเป็นอิสระจากแก๊สอื่นที่มีร่วมอยู่ในขณะนั้นได้ ช่องทางที่อาจทำได้วิธีหนึ่งคือการแยกเอาก๊าซดูดกลืนที่ต้องการวัดออก ปล่อยก๊าซดูดกลืนอื่น ๆ ไว้และคงอุณหภูมิไว้ตามเดิมแล้วจึงวัดรังสีอินฟราเรดที่หนีออกสู่ห้วงอวกาศ ค่าที่ลดลงของการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดที่วัดได้จึงกลายเป็นตัวสำคัญขององค์ประกอบ และเพื่อให้แม่นยำขึ้น การบ่งชี้ปรากฏการณ์เรือนกระจกให้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันระหว่างการแผ่รังสอินฟราเรดจากผิวโลกสู่ห้วงอวกาศที่ปราศจากบรรยากาศ กับการแผ่รังสีอินฟราเรดที่หนีออกสู่ห้วงอวกาศตามที่เกิดขึ้นจริง จากนั้นจึงคำนวณอัตราร้อยละของการลดลงของปรากฏการณ์เรือนกระจกเมื่อส่วนประกอบ (constituent) ถูกแยกออกไป ตารางข้างล่างนี้คือผลการคำนวณโดยใช้วิธีนี้ ซึ่งได้ใช้แบบจำลองมิติเดี่ยวของบรรยากาศ การใช้แบบจำลอง 3 มิติที่นำมาใช้คำนวณเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ผลออกมาใกล้เคียงกัน (ที่มา: GISS-GCM ModelE simulation) ด้วยการคำนวณวิธีนี้ ทำให้เราคิดได้ว่าไอน้ำเป็นตัวที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกประมาณร้อยละ 30 คาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 9 แต่ผลจากการดึงตัวประกอบทั้งสองเมื่อนำมารวมกันจะได้มากกว่าผลรวมที่ได้จากการลดผลกระทบของตัวประกอบทั้ง 2 ตัวซึ่งในกรณีนี้มากกว่าร้อยละ 45 ข้อกำหนดที่เป็นเงื่อนไขคือตัวเลขเหล่านี้คำนวณได้โดยมีข้อแม้ว่าการกระจายของเมฆต้องตายตัว แต่การแยกเอาไอน้ำออกจากบรรยากาศทั้ง ๆ ที่มีเมฆมากดูจะไม่สมเหตุผลทางกายภาพเท่าใดนัก นอกจากนี้ปรากฏการณ์ของก๊าซที่กำหนดให้มักเป็นประเภทที่ในแง่ของปริมาณไม่เป็นไปตามยาว ทั้งนี้เนื่องจากการดูดกลืนโดยก๊าซ ณ ระดับหนึ่งในบรรยากาศทำให้โฟตอนแยกออกไปโดยไม่มีผลกระทบใด ๆ กับก๊าซที่อยูในระดับความสูงอื่น ประเภทของการประมาณการที่ปรากฏในตารางข้างต้นมักประสบปัญหาที่เป็นที่ถกเถียงกันได้มากเกี่ยวกับปรากฏการณ์โลกร้อน การประมาณการที่แตกต่างไปที่พบในแหล่งข้อมูลอื่น ๆ มักได้มาจากการนิยามที่แตกต่างกันไม่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการถ่ายโอนพลังงานที่กล่าวถึง == การป้อนกลับเชิงบวก, การกู่ไม่กลับของปรากฏการณ์เรือนกระจกและจุดพลิกผัน == จุดกู่ไม่กลับ (Tipping point) ของภาวะโลกร้อนคือจุดของการเปลี่ยนที่กระทำโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่เสริมให้กระบวนการที่เคยเป็นไปตามปกติของธรรมชาติถึง จุดที่ไม่สามารถดึงกลับได้ อีก นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศบางคนเชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2560 หรืออีก 52 ปีข้างหน้า ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นเช่น เจมส์ แฮนเสน (James Hansen) นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศคนสำคัญของนาซาเชื่อว่าช่วงเวลากู่ไม่กลับดังกล่าวได้มาถึงแล้วในขณะนี้ เมื่อมีวงวนของปรากฏการณ์ เช่นความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นกลายเป็นตัวเพิ่มอุณหภูมิ การป้อนกลับย่อมเกิดขึ้นเป็นวงวนดังดล่าว ถ้าปรากฏการณ์อุณหภูมิเกิดขึ้นไปในทิศทางเดียวกันการป้อนกลับก็จะเป็นเชิงบวก และถ้าเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามก็จะเป็นการป้อนกลับเชิงลบ ในบางครั้งผลป้อนกลับอาจเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเดียวกันกับแรง แต่ก็อาจเกิดโดยผ่านแก๊สเรือนกระจกตัวอื่นหรือปรากฏการณ์อื่นก็ได้ เช่นการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวโลกซึ่งมีผลต่ออัตราส่วนรังสีสะท้อนของโลก ผลป้อนกลับเชิงบวกไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดปรากฏการณ์หนีห่าง (runaway effect) เสมอไป ด้วยการแผ่รังสีจากผิวโลกที่เพิ่มอุณหภูมิขึ้นเป็นสัดส่วนยกกำลังสี่ ผลป้อนกลับย่อมจะต้องมีระดับความรุนแรงพอที่จะสร้างปรากฏการณ์หนีห่างออกไปได้ การเพิ่มอุณหภูมิของแก๊สเรือนกระจกนี้จะทำให้เกิดไอน้ำเพิ่ม เป็นเหตุให้ร้อนเพิ่มขึ้นอีกนี้คือผลป้อนกลับเชิงบวก ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่อาจทำให้ปรากฏการณ์หนีห่างเกิดขึ้นได้ มิฉะนั้นปรากฏการณ์หนีห่างดังกล่าวคงเกิดขึ้นมานานแล้ว ปรากฏการณ์ผลป้อนกลับเชิงบวกมีการเกิดได้ทั่วไปและคงมีตัวตนอยู่เสมอ ในขณะปรากฏการณ์หนีห่างเกิดขึ้นได้ยากกว่าและเมื่อเกิดก็ไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดเวลา ถ้าปรากฏการณ์จากการวนซ้ำครั้งที่สองเกิดขึ้นและมีขนาดมากกว่าการวนซ้ำครั้งแรก เหตุการณ์นี้จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นกัลปาวสาน และถ้าเกิดขึ้นและให้ผลป้อนกลับที่หยุด ณ ขณะเมื่อเกิดอุณหภูมิสูงมากเรียกว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบหนีห่าง” ผลป้อนกลับแบบหนีห่างอาจเกิดขึ้นได้ในทิศทางตรงกันข้ามที่นำไปสู่ยุคน้ำแข็งได้ ปรากฏการณ์หนีห่างจะหยุดลงถ้าความเป็นอนันต์ของอุณหภูมิไม่เกิดขึ้น มันจะหยุดเนื่องจากเหตุต่าง ๆ เช่นการลดปริมาณของแก๊สเรือนกระจกหรือการเปลี่ยนของก๊าซหรือการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งที่คลุมผิวโลกที่ลดลงจนไม่เหลือ หรือเพิ่มพื้นที่ปกคลุมใหญ่ขึ้นจนใหญ่ต่อไปอีกไม่ได้ ตามสมมุติฐาน “ปืนคลาเทรต” (clathrate gun hypothesis) การหนีห่างของปรากฏการณ์เรือนกระจกอาจเกิดขึ้นได้โดยการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากสถานะของแข็งที่เป็นผลของภาวะโลกร้อนถ้าปริมาณของมีเทนแข็งมีมากพอและมีสภาพไม่เสถียร มีการคาดคะเนว่าเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสสิกเกิดจากปรากฏการณ์หนีห่างดังกล่าว และยังคิดกันว่าปริมาณมีเทนที่สูงขึ้นมากครั้งนั้นอาจเกิดจากที่ราบทรุนดาของไซบีเรียที่เริ่มละลาย แก๊สมีเทนซึ่งมีความแรงในการเป็นแก๊สเรือนกระจกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ปรากฏการณ์หนีห่างของเรือนกระจกมีความเกี่ยวข้องกับ CO2 และไอน้ำดังที่เกิดบนดาวพระศุกร บนดาวพระศุกรในปัจจุบันมีไอน้ำในบรรยากาศน้อยมาก ถ้าไอน้ำมีส่วนทำให้ดาวศุกรร้อนขึ้นในครั้งหนึ่งมาก่อน เชื่อกันว่าไอน้ำได้หนีออกสู่ห้วงอวกาศ ดาวพระศุกรถูกแสงอาทิตย์ทำให้ร้อนได้มากพอที่จะทำให้ไอน้ำเกิดในปริมาณมากจนแตกตัวเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยแสงอุลตราไวโอเลต และไฮโดรเจนได้หนีหายไปในอวกาศและออกซิเจนรวมตัวกันใหม่ คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซส่วนใหญ่ในบรรยากาศดาวพระศุกรในปัจจุบันเกิดจากการรวมตัวขนาดใหญ่ที่มีภาวะวัฏจักรของคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับวัฏจักรดังกล่าวบนโลก ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาเป็นจำนวนมากจากภูเขาไฟถูกเก็บไว้โดยแผ่นทวีปของโลกตามกาลเวลาทางธรณีวิทยาที่ผ่านมา == ปรากฏการณ์เรือนกระจกโดยกิจกรรมของมนุษย์ == การผลิต CO2 จากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม (ที่เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล) เพิ่มขึ้นรวมทั้งกิจกรรมของมนุษย์ในการผลิตซิเมนต์และการทำลายป่า ได้ทำให้ CO2 มีปริมาณความเข้มเพิ่มขึ้น การวัด คาร์บอนไดออกไซด์ที่หอดูดาวโมนาลัวแสดงให้เห็นว่า CO2 ได้เพิ่มจาก 313 ppm (ส่วนต่อล้านส่วน) ใน พ.ศ. 2503 มาเป็น 375 ppm ใน พ.ศ. 2548 การสังเกตปริมาณของ CO2 ในปัจจุบัน พบว่ามีปริมาณเกินจากตัวเลขที่ได้บันทึก CO2 สูงสุด (~300 ppm) ที่ได้จากข้อมูลแกนน้ำแข็ง เนื่องจากมันเป็นแก๊สเรือนกระจก การเพิ่มระดับของ CO2 ย่อมจะต้องเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก โดยอาศัยการศึกษาจากเอกสารทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่มีอยู่ องค์คณะระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้สรุปว่า “การเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เห็นได้ชัดนับแต่ช่วงประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณ พ.ศ. 1950) ว่าเกิดจากการเพิ่มแก๊สเรือนกระจกโดยกิจกรรมของมนุษย์” นานกว่าเมื่อ 800,000 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลแกนน้ำแข็ง ได้แสดงให้เห็นโดยไม่คลุมเครือได้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์ได้ผันแปรจากค่าที่ต่ำถึง 180 ppm มาที่ 270 ppm ในยุคก่อนอุตสาหกรรม นักภูมิอากาศดึกดำบรรพ์ (paleoclimatologists) บางคนให้ความเห็นว่าการแปรผันของคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัจจัยหลักในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในช่วงเวลาที่ผ่านมา == เรือนกระจกจริง == คำว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” มีต้นตอมาจากเรือนกระจกที่ใช้ปลูกต้นไม้หรือทำสวนในเขตหนาว แต่ก็เป็นชื่อที่ผิดเพราะการทำงานของเรือนกระจกมีความแตกต่างกับปรากฏการณ์เรือนกระจก เรือนกระจกทำด้วยกระจก การร้อนขึ้นเกิดจากการอุ่นขึ้นของพื้นภายในเรือนซึ่งเป็นตัวทำให้อากาศในเรือนอุ่นขึ้น อากาศค่อย ๆ ร้อนขึ้นเพราะมันถูกกักไว้ในเรือนกระจก ต่างกับสภาพนอกเรือนกระจกที่อากาศอุ่นใกล้ผิวพื้นลอยตัวขึ้นไปผสมกับอากาศเย็นตอนบน ซึ่งทดลองได้โดยการลองเปิดช่องเล็ก ๆ ตอนบนสุดของเรือนกระจก อุณหภูมิอากาศภายในจะเย็นลงทันที ซึ่งเคยมีการทดลองมาแล้ว (Wood, 1909) โดยการสร้างเรือนกระจกด้วยเกลือหิน (ซึ่งโปร่งแสงอินฟราเรด) และทำให้อุ่นได้เหมือนกับที่สร้างด้วยกระจก ดังนั้นการอุ่นขึ้นของอากาศจึงเกิดจากการป้องกันไม่ให้เกิด “การพาความร้อน” แต่ปรากฏการณ์เรือนกระจกของบรรยากาศกลับลด “การสูญเสียการแผ่รังสี” ไม่ใช่การพาความร้อน ดังนั้นจึงอาจพบแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการอุปมาเรือนกระจกที่ผิด ๆ ได้มาก ถึงแม้ว่ากลไกขั้นต้นของการร้อนขึ้นของเรือนกระจกคือการป้องกันไม่ให้เกิดการผสมกับอากาศอิสระของบรรยากาศภายนอกก็ตาม คุณสมบัติการกระจายรังสีของกระจกก็ยังมีความสำคัญเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้เชิงพาณิชญ์อยู่ ด้วยการพัฒนาสมัยใหม่ของพลาสติกและกระจกที่ใช้กับเรือนกระจกทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกชนิดการปลดปล่อยรังสีดวงอาทิตย์ได้ตามชนิดของพืชที่ต้องการแสงในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน == ดูเพิ่ม == == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == Ann Henderson-Sellers and McGuffie, K: A climate modelling primer (quote: Greenhouse effect: the effect of the atmosphere in re-readiating longwave radiation back to the surface of the Earth. It has nothing to do with glasshouses, which trap warm air at the surface). Idso, S.B.: Carbon Dioxide: friend or foe, 1982 (quote: ...the phraseology is somewhat in appropriate, since CO2 does not warm the planet in a manner analogous to the way in which a greenhouse keeps its interior warm). Kiehl, J.T., and Trenberth, K. (1997). Earth's annual mean global energy budget, Bulletin of the American Meteorological Society '78' (2) , 197–208. Piexoto, JP and Oort, AH: Physics of Climate, American Institute of Physics, 1992 (quote: ...the name water vapor-greenhouse effect is actually a misnomer since heating in the usual greenhouse is due to the reduction of convection) วิทยาศาสตร์โลก การแผ่กระจายรังสีในบรรยากาศ บรรยากาศ
thaiwikipedia
790
พระสุนทรโวหาร (ภู่)
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 – พ.ศ. 2398) เป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี เขาได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป == ประวัติ == === ต้นตระกูล === บันทึกส่วนใหญ่มักระบุถึงต้นตระกูลของสุนทรภู่เพียงว่า บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อถือตามพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ต่อมาในภายหลัง เมื่อมีการค้นพบข้อมูลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ก็มีแนวคิดเกี่ยวกับต้นตระกูลของสุนทรภู่แตกต่างกันออกไป นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ฝ่ายบิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จริง เนื่องจากมีปรากฏเนื้อความอยู่ใน นิราศเมืองแกลง ถึงวงศ์วานว่านเครือของสุนทรภู่ ทั้งนี้บิดาของสุนทรภู่อาจมีเชื้อสายชองซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่ ดังปรากฏว่า "...ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง ไม่เห็นน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น..." แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนเพียงพอ บ้างก็ว่าอาจเป็นการเข้าใจผิด แต่ความเห็นเกี่ยวกับตระกูลฝ่ายมารดานี้แตกออกเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งว่าไม่ทราบที่มาแน่ชัด ส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวฉะเชิงเทรา และส่วนหนึ่งว่าเป็นชาวเมืองเพชรบุรี ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือ สยามประเภท ว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นข้าราชการแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชื่อขุนศรีสังหาร (พลับ) ข้อมูลนี้สอดคล้องกับบทกวีไม่ทราบชื่อผู้แต่ง ซึ่งปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ พบที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จังหวัดระยอง ว่า บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย ทว่าแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันค่อนข้างกว้างขวางคือ ตระกูลฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี สืบเนื่องจากเนื้อความใน นิราศเมืองเพชร ฉบับค้นพบเพิ่มเติมโดยล้อม เพ็งแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2529 === วัยเยาว์ === สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้ เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม เชื่อกันว่า ในวัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) ตามเนื้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏใน นิราศสุพรรณ ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม จากสำนวนกลอนของสุนทรภู่ เชื่อว่าผลงานที่มีการประพันธ์ขึ้นก่อนสุนทรภู่อายุได้ 20 ปี (คือก่อน นิราศเมืองแกลง) เห็นจะได้แก่กลอนนิทานเรื่อง โคบุตร สุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ชะรอยว่าหล่อนจะเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุกก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง พรรณนาสภาพการเดินทางต่าง ๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน "เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย" ในนิราศได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาของสุนทรภู่ไว้ด้วยว่า เป็น "พระครูธรรมรังษี" เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ กลับจากเมืองแกลงคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา แต่กลับจากเมืองแกลงเพียงไม่นาน สุนทรภู่ต้องติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็กตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชาที่พระพุทธบาท (เขตจังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2350 สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศพระบาท พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อหนูพัด ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนหนุ่มสาวทั้งสองมีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป หลังจาก นิราศพระบาท ที่สุนทรภู่แต่งในปี พ.ศ. 2350 ไม่ปรากฏผลงานใด ๆ ของสุนทรภู่อีกเลยจนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 === ตำแหน่งอาลักษณ์ === สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มูลเหตุในการได้เข้ารับราชการนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจแต่งโคลงกลอนได้เป็นที่พอพระทัย ทราบถึงพระเนตรพระกรรณจึงทรงเรียกเข้ารับราชการ แนวคิดหนึ่งว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งกลอนในบัตรสนเท่ห์ ซึ่งปรากฏชุกชุมอยู่ในเวลานั้น อีกแนวคิดหนึ่งสืบเนื่องจาก "ช่วงเวลาที่หายไป" ของสุนทรภู่ ซึ่งน่าจะใช้วิชากลอนทำมาหากินเป็นที่รู้จักเลื่องชื่ออยู่ ชะรอยจะเป็นเหตุให้ถูกเรียกเข้ารับราชการก็ได้ เมื่อแรกสุนทรภู่รับราชการเป็นอาลักษณ์ปลายแถว มีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ แต่มีเหตุให้ได้แสดงฝีมือกลอนของตัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร การต่อกลอนของสุนทรภู่คราวนี้เป็นที่รู้จักทั่วไป เนื่องจากปรากฏรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์ ชีวิตและงานของสุนทรภู่ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทกลอนในรามเกียรติ์ที่สุนทรภู่ได้แต่งในคราวนั้นคือ ตอนนางสีดาผูกคอตาย และตอนศึกสิบขุนสิบรถ ฉากบรรยายรถศึกของทศกัณฐ์ สุนทรภู่ได้เลื่อนยศเป็น หลวงสุนทรโวหาร ในเวลาต่อมา ได้รับพระราชทานบ้านหลวงอยู่ที่ท่าช้าง ใกล้กับวังท่าพระ และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าเป็นประจำ คอยถวายความเห็นเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ รวมถึงได้ร่วมในกิจการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่ง ขุนช้างขุนแผน ขึ้นใหม่ ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ เล่ากันว่าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา ในระหว่างเวลานี้ ในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อพ่อตาบ === ออกบวช === สุนทรภู่รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวช แต่จะได้ลาออกจากราชการก่อนออกบวชหรือไม่ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แม้จะไม่ปรากฏโดยตรงว่าสุนทรภู่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชสำนักใหม่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้รับพระอุปถัมภ์จากพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นอยู่เสมอ เช่น ปี พ.ศ. 2372 สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ปรากฏความอยู่ใน เพลงยาวถวายโอวาท นอกจากนั้นยังได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งปรากฏเนื้อความในงานเขียนของสุนทรภู่บางเรื่องว่า สุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี และ สิงหไตรภพ ถวาย สุนทรภู่บวชอยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง เท่าที่พบระบุในงานเขียนของท่านได้แก่ วัดเลียบ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม งานเขียนบางชิ้นสื่อให้ทราบว่า ในบางปี ภิกษุภู่เคยต้องเร่ร่อนไม่มีที่จำพรรษาบ้างเหมือนกัน ผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย และเชื่อว่าน่าจะยังมีนิราศที่ค้นไม่พบอีกเป็นจำนวนมาก งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 === ช่วงปลายของชีวิต === ปี พ.ศ. 2385 ภิกษุภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ที่มีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงอุปถัมภ์ คืนหนึ่งหลับฝันเห็นเทพยดาจะมารับตัวไป เมื่อตื่นขึ้นคิดว่าตนถึงฆาตจะต้องตายแล้ว จึงประพันธ์เรื่อง รำพันพิลาป พรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบทเพื่อเตรียมตัวจะตาย ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ 56 ปี หลังจากลาสิกขาบท สุนทรภู่ได้รับพระอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณทางด้านงานวรรณคดี สุนทรภู่แต่ง เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทม และบทละครเรื่อง อภัยนุราช ถวาย รวมถึงยังแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย เมื่อถึงปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ช่วงระหว่างเวลานี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี === ทายาท === สุนทรภู่มีบุตรชายสามคน คือพ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และพ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ พ่อพัดนี้เป็นลูกรัก ได้ติดสอยห้อยตามสุนทรภู่อยู่เสมอ เมื่อครั้งสุนทรภู่ออกบวช พ่อพัดก็ออกบวชด้วย เมื่อสุนทรภู่ได้มารับราชการกับเจ้าฟ้าน้อย พ่อพัดก็มาพำนักอยู่ด้วยเช่นกัน ส่วนพ่อตาบนั้นปรากฏว่าได้เป็นกวีมีชื่ออยู่พอสมควร เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า ภู่เรือหงส์ (บางสายสกุลอาจเป็น ภู่ระหงษ์) ซึ่งตั้งขึ้นเองจากชื่อสุนทรภู่ซึ่งเป็นปู่ (สุนทรภู่เคยอยู่บนเรือหงส์) สืบลงมาทางหลานของพัด ภู่เรือหงส์ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่นี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือสยามประเภท อ้างถึงผู้ถือนามสกุล ภู่เรือหงส์ ที่ได้รับบำเหน็จจากหมอสมิทเป็นค่าพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี แต่หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่เป็นที่ยอมรับของราชสำนัก ด้วยปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่ามักเขียนเรื่องกุ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่จึงพลอยไม่ได้รับการเชื่อถือไปด้วย จนกระทั่ง ศ.ผะอบ โปษะกฤษณะ ยืนยันความข้อนี้เนื่องจากเคยได้พบกับหลานปู่ของพ่อพัดมาด้วยตนเอง == อุปนิสัยและทัศนคติ == === อุปนิสัย === ตำราโหราศาสตร์ผูกดวงชะตาวันเกิดของสุนทรภู่ไว้เป็นดวงประเทียบ พร้อมคำอธิบายข้างใต้ดวงชะตาว่า "สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา" เหตุนี้จึงเป็นที่กล่าวขานกันเสมอมาว่า สุนทรภู่นี้ขี้เหล้านัก ในงานเขียนของสุนทรภู่เองก็ปรากฏบรรยายถึงความมึนเมาอยู่หลายครั้ง แม้จะดูเหมือนว่า สุนทรภู่เองก็รู้ว่าการมึนเมาสุราเป็นสิ่งไม่ดี ได้เขียนตักเตือนผู้อ่านอยู่ในงานเขียนเสมอ การดื่มสุราของสุนทรภู่อาจเป็นการดื่มเพื่อสังสรรค์และเพื่อสร้างอารมณ์ศิลปิน ด้วยปรากฏว่าเรือนสุนทรภู่มักเป็นที่ครึกครื้นรื่นเริงกับหมู่เพื่อนฝูงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเล่ากันว่า เวลาที่สุนทรภู่กรึ่ม ๆ แล้วอาจสามารถบอกกลอนให้เสมียนถึงสองคนจดตามแทบไม่ทัน เมื่อออกบวช สุนทรภู่เห็นจะต้องพยายามเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดก็สามารถทำได้ดี ขณะที่รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล มองว่า เรื่องที่ว่าสุนทรภู่ขี้เมานั้นไม่มีการบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งสุนทรภู่มีผลงานเขียนอยู่มาก หากเป็นคนลุ่มหลงในสุราคงไม่มีเวลาไปเขียนหนังสือเป็นแน่ สุนทรภู่มักเปรียบการเมาเหล้ากับการเมารัก ชีวิตรักของสุนทรภู่ดูจะไม่สมหวังเท่าที่ควร หลังจากแยกทางกับแม่จัน สุนทรภู่ได้ภรรยาคนที่สองชื่อแม่นิ่ม นอกจากนี้แล้วยังปรากฏชื่อหญิงสาวมากหน้าหลายตาที่สุนทรภู่พรรณนาถึง เมื่อเดินทางไปถึงหย่อมย่านมีชื่อเสียงคล้องจองกับหญิงสาวเหล่านั้น นักวิจารณ์หลายคนจึงบรรยายลักษณะนิสัยของสุนทรภู่ว่าเป็นคนเจ้าชู้ และบ้างยังว่าความเจ้าชู้นี้เองที่ทำให้ต้องหย่าร้างกับแม่จัน ความข้อนี้เป็นจริงเพียงไรไม่ปรากฏ ขุนวิจิตรมาตราเคยค้นชื่อสตรีที่เข้ามาเกี่ยวพันกับสุนทรภู่ในงานประพันธ์ต่าง ๆ ของท่าน ได้ชื่อออกมากว่า 12 ชื่อ คือ จัน พลับ แช่ม แก้ว นิ่ม ม่วง น้อย นกน้อย กลิ่น งิ้ว สุข ลูกจันทน์ และอื่น ๆ อีก ทว่าสุนทรภู่เองเคยปรารภถึงการพรรณนาถึงหญิงสาวในบทประพันธ์ของตนว่า เป็นไปเพื่อให้ได้อรรถรสในงานประพันธ์เท่านั้น จะถือเป็นจริงเป็นจังมิได้ อย่างไรก็ดี การบรรยายความโศกเศร้าและอาภัพในความรักของสุนทรภู่ปรากฏอยู่ในงานเขียนนิราศของท่านแทบทุกเรื่อง สตรีในดวงใจที่ท่านรำพันถึงอยู่เสมอก็คือแม่จัน ซึ่งเป็นรักครั้งแรกที่คงไม่อาจลืมเลือนได้ แต่น่าจะมีความรักใคร่กับหญิงอื่นอยู่บ้างประปราย และคงไม่มีจุดจบที่ดีนัก ใน นิราศพระประธม ซึ่งท่านประพันธ์ไว้เมื่อมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว สุนทรภู่ได้อธิษฐานไม่ขอพบกับหญิงทิ้งสัตย์อีกต่อไป อุปนิสัยสำคัญอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่คือ มีความอหังการ์และมั่นใจในความสามารถของตนเป็นอย่างสูง ลักษณะนิสัยข้อนี้ทำให้นักวิจารณ์ใช้ในการพิจารณางานประพันธ์ซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงอยู่ว่า เป็นผลงานของสุนทรภู่หรือไม่ ความอหังการ์ของสุนทรภู่แสดงออกมาอย่างชัดเจนอยู่ในงานเขียนหลายชุด และถือเป็นวรรคทองของสุนทรภู่ด้วย เช่น {|align="center" |- |- | อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว |ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว |- |เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว    | เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร |  |} หรืออีกบทหนึ่งคือ {|align="center" |- |- | หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ |ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน |- |สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ      | พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร |  |} เรื่องความอหังการ์ของสุนทรภู่นี้ เล่ากันว่าในบางคราวสุนทรภู่ขอแก้บทพระนิพนธ์ของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ต่อหน้าพระที่นั่งโดยไม่มีการไว้หน้า ด้วยถือว่าตนเป็นกวีที่ปรึกษา กล้าแม้กระทั่งต่อกลอนหยอกล้อกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยที่ไม่ทรงถือโกรธ แต่กลับมีทิฐิของกวีที่จะเอาชนะสุนทรภู่ให้ได้ การแก้กลอนหน้าพระที่นั่งนี้อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ล่วงเกินต่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์โดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ตัดสินใจออกบวชหลังสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แล้วก็เป็นได้ === ทัศนคติ === สุนทรภู่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก และตอกย้ำเรื่องการศึกษาในวรรณคดีหลาย ๆ เรื่อง เช่น ขุนแผนสอนพลายงามว่า "ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ   เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน" หรือที่พระฤๅษีสอนสุดสาครว่า "รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา   รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" โดยที่สุนทรภู่เองก็เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ และมีความรู้กว้างขวางอย่างยิ่ง เชื่อว่าสุนทรภู่น่าจะร่วมอยู่ในกลุ่มข้าราชการหัวก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น ที่นิยมวิชาความรู้แบบตะวันตก ภาษาอังกฤษ ตลอดกระทั่งแนวคิดยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสตรีมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่สะท้อนแนวความคิดของสุนทรภู่ออกมามากที่สุดคืองานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งโครงเรื่องมีความเป็นสากลมากยิ่งกว่าวรรณคดีไทยเรื่องอื่น ๆ ตัวละครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ตัวละครเอกเช่นพระอภัยมณีกับสินสมุทรยังสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา นอกจากนี้ยังเป็นวรรณคดีที่ตัวละครฝ่ายหญิงมีบทบาททางการเมืองอย่างสูง เช่นนางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬาที่สามารถเป็นเจ้าครองเมืองได้เอง นางวาลีที่เป็นถึงที่ปรึกษากองทัพ และนางเสาวคนธ์ที่กล้าหาญถึงกับหนีงานวิวาห์ที่ตนไม่ปรารถนา อันผิดจากนางในวรรณคดีไทยตามประเพณีที่เคยมีมา ลักษณะความคิดแบบหัวก้าวหน้าเช่นนี้ทำให้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกสมญาสุนทรภู่ว่าเป็น "มหากวีกระฎุมพี" ซึ่งแสดงถึงชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อทรัพย์สินเงินทองเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นนอกเหนือไปจากยศถาบรรดาศักดิ์ งานเขียนเชิงนิราศของสุนทรภู่หลายเรื่องสะท้อนแนวคิดด้านเศรษฐกิจ รวมถึงวิจารณ์การทำงานของข้าราชการที่ทุจริตคิดสินบน ทั้งยังมีแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของสตรีมากยิ่งขึ้นด้วย ไมเคิล ไรท์ เห็นว่างานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เป็นการคว่ำคติความเชื่อและค่านิยมในมหากาพย์โดยสิ้นเชิง โดยที่ตัวละครเอกไม่ได้มีความเป็น "วีรบุรุษ" อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่าในตัวละครทุก ๆ ตัวกลับมีความดีและความเลวในแง่มุมต่าง ๆ ปะปนกันไป อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางงานประพันธ์อันแหวกแนวล้ำยุคล้ำสมัยของสุนทรภู่ ความจงรักภักดีของสุนทรภู่ต่อพระราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ยังสูงล้ำเป็นล้นพ้นอย่างไม่มีวันจางหายไปแม้ในวาระสุดท้าย สุนทรภู่รำพันถึงพระมหากรุณาธิคุณหลายครั้งในงานเขียนเรื่องต่าง ๆ ของท่าน ในงานประพันธ์เรื่อง นิราศพระประธม ซึ่งสุนทรภู่ประพันธ์หลังจากลาสิกขาบท และมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว สุนทรภู่เรียกตนเองว่าเป็น "สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ   พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร" กล่าวคือเป็นอาลักษณ์ของ "พระเจ้าช้างเผือก" อันเป็นพระสมัญญานามของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ได้แสดงจิตเจตนาในความจงรักภักดีอย่างไม่เสื่อมคลาย ปรากฏใน นิราศภูเขาทอง ความว่า "จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย   ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา   เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา   ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป" == ความรู้และทักษะ == เมื่อพิจารณาจากผลงานต่าง ๆ ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนนิราศหรือกลอนนิยาย สุนทรภู่มักแทรกสุภาษิต คำพังเพย คำเปรียบเทียบต่าง ๆ ทำให้ทราบว่าสุนทรภู่นี้ได้อ่านหนังสือมามาก จนสามารถนำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนทราบมาแทรกเข้าไปในผลงานได้อย่างแนบเนียน เนื้อหาหลายส่วนในงานเขียนเรื่อง พระอภัยมณี ทำให้ทราบว่า สุนทรภู่มีความรอบรู้แตกฉานในสมุดภาพไตรภูมิ ทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่นำมาดัดแปลงประดิษฐ์เข้าไว้ในท้องเรื่อง เช่น การเรียกชื่อปลาทะเลแปลก ๆ และการกล่าวถึงตราพระราหู นอกจากนี้ยังมีความรอบรู้ในวรรณคดีประเทศต่าง ๆ เช่น จีน อาหรับ แขก ไทย ชวา เป็นต้น นักวิชาการโดยมากเห็นพ้องกันว่า สุนทรภู่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีจีนเรื่อง ไซ่ฮั่น สามก๊ก วรรณคดีอาหรับ เช่น อาหรับราตรี รวมถึงเกร็ดคัมภีร์ไบเบิล เรื่องของหมอสอนศาสนา ตำนานเมืองแอตแลนติส ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลเหล่านี้อยู่ในผลงานเรื่อง พระอภัยมณี มากที่สุด สุนทรภู่ยังมีความรู้ด้านดาราศาสตร์ หรือการดูดาว โดยที่สัมพันธ์กับความรู้ด้านโหราศาสตร์ ด้วยปรากฏว่าสุนทรภู่เอ่ยถึงชื่อดวงดาวต่าง ๆ ด้วยภาษาโหร เช่น ดาวเรือไชยหรือดาวสำเภาทอง ดาวธง ดาวโลง ดาวกา ดาวหามผี ทั้งยังบรรยายถึงคำทำนายโบร่ำโบราณ เช่น "แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง" ดังนี้เป็นต้น การที่สุนทรภู่มีความรอบรู้มากมายและรอบด้านเช่นนี้ สันนิษฐานว่าสุนทรภู่น่าจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านเอกสารสำคัญซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นช่วงหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาไม่นาน ทั้งนี้เนื่องมาจากตำแหน่งหน้าที่การงานของสุนทรภู่นั่นเอง นอกจากนี้การที่สุนทรภู่มีแนวคิดสมัยใหม่แบบตะวันตก จนได้สมญาว่าเป็น "มหากวีกระฎุมพี" ย่อมมีความเป็นไปได้ที่สุนทรภู่ซึ่งมีพื้นอุปนิสัยใจคอกว้างขวางชอบคบคนมาก น่าจะได้รู้จักมักจี่กับชาวต่างประเทศและพ่อค้าชาวตะวันตก ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เห็นว่าบางทีสุนทรภู่อาจจะพูดภาษาอังกฤษได้ก็เป็นได้ อันเป็นที่มาของการที่พระอภัยมณีและสินสมุทรสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา รวมถึงเรื่องราวโพ้นทะเลและชื่อดินแดนต่าง ๆ ที่เหล่านักเดินเรือน่าจะเล่าให้สุนทรภู่ฟัง แต่ไม่ว่าสุนทรภู่จะได้รับข้อมูลโพ้นทะเลจากเหล่าสหายของเขาหรือไม่ สุนทรภู่ก็ยังพรรณนาถึงเรื่องล้ำยุคล้ำสมัยมากมายที่แสดงถึงจินตนาการของเขาเอง อันเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏหรือสำเร็จขึ้นในยุคสมัยนั้น เช่น ในผลงานเรื่อง พระอภัยมณี มีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สามารถปลูกตึกปลูกสวนไว้บนเรือได้ นางละเวงมีหีบเสียงที่เล่นได้เอง (ด้วยไฟฟ้า) หรือเรือสะเทินน้ำสะเทินบกของพราหมณ์โมรา สุนทรภู่ได้รับยกย่องว่าเป็นจินตกวีที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งแห่งยุคสมัย ปรากฏเนื้อความยืนยันอยู่ในหนังสือ ประวัติสุนทรภู่ ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ความว่า "...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ฝ่ายจินตกวีมีชื่อคือหมายเอาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นประธานแล้ว มีท่านที่ได้รู้เรื่องราวในทางนี้กล่าวว่าพระองค์มีเอตทัคคสาวกในการสโมสรกาพย์กลอนโคลงฉัณท์อยู่ ๖ นาย คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑ ท่านสุนทรภู่ ๑ นายทรงใจภักดิ์ ๑ พระยาพจนาพิมล (วันรัตทองอยู่) ๑ กรมขุนศรีสุนทร ๑ พระนายไวย ๑ ภายหลังเป็นพระยากรุง (ชื่อเผือก) ๑ ในหกท่านนี้แล ได้รับต้นประชันแข่งขันกันอยู่เสมอ..." ทักษะอีกประการหนึ่งของสุนทรภู่ได้แก่ ความเชี่ยวชำนาญในการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างเหมาะสมเพื่อใช้พรรณนาเนื้อความในกวีนิพนธ์ของตน โดยเฉพาะในงานประพันธ์ประเภทนิราศ ทำให้ผู้อ่านแลเห็นภาพหรือได้ยินเสียงราวกับได้ร่วมเดินทางไปกับผู้ประพันธ์ด้วย สุนทรภู่ยังมีไหวพริบปฏิภาณในการประพันธ์ กล่าวได้ว่าไม่เคยจนถ้อยคำที่จะใช้ เล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อภิกษุภู่ออกจาริกจอดเรืออยู่ มีชาวบ้านนำภัตตาหารจะมาถวาย แต่ว่าคำถวายไม่เป็น ภิกษุภู่จึงสอนชาวบ้านให้ว่าคำถวายเป็นกลอนตามสิ่งของที่จะถวายว่า "อิมัสมิงริมฝั่ง อิมังปลาร้า กุ้งแห้งแตงกวา อีกปลาดุกย่าง ช่อมะกอกดอกมะปราง เนื้อย่างยำมะดัน ข้าวสุกค่อนขัน น้ำมันขวดหนึ่ง น้ำผึ้งครึ่งโถ ส้มโอแช่อิ่ม ทับทิมสองผล เป็นยอดกุศล สังฆัสสะ เทมิ" อันว่า "กวี" นั้นแบ่งได้เป็น 4 จำพวก คือ จินตกวี ผู้แต่งโดยความคิดของตน สุตกวี ผู้แต่งตามที่ได้ยินได้ฟังมา อรรถกวี ผู้แต่งตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และ ปฏิภาณกวี ผู้มีความสามารถใช้ปฏิภาณแต่งกลอนสด เมื่อพิจารณาจากความรู้และทักษะทั้งปวงของสุนทรภู่ อาจลงความเห็นได้ว่า สุนทรภู่เป็นมหากวีเอกที่มีความสามารถครบทั้ง 4 ประการอย่างแท้จริง == การสร้างวรรณกรรม == งานประพันธ์วรรณคดีในยุคก่อนหน้าสุนทรภู่ คือยุคอยุธยาตอนปลาย ยังเป็นวรรณกรรมสำหรับชนชั้นสูง ได้แก่ราชสำนักและขุนนาง เป็นวรรณกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อการอ่านและเพื่อความรู้หรือพิธีการ เช่น กาพย์มหาชาติ หรือ พระมาลัยคำหลวง ทว่างานของสุนทรภู่เป็นการปฏิวัติการสร้างวรรณกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ คือเป็นวรรณกรรมสำหรับคนทั่วไป เป็นวรรณกรรมสำหรับการฟังและความบันเทิง เห็นได้จากงานเขียนนิราศเรื่องแรกคือ นิราศเมืองแกลง มีที่ระบุไว้ในตอนท้ายของนิราศว่า แต่งมาฝากแม่จัน รวมถึงใน นิราศพระบาท และ นิราศภูเขาทอง ซึ่งมีถ้อยคำสื่อสารกับผู้อ่านอย่างชัดเจน วรรณกรรมเหล่านี้ไม่ใช่วรรณกรรมสำหรับการศึกษา และไม่ใช่สำหรับพิธีการ สำหรับวรรณกรรมที่สร้างขึ้นโดยหน้าที่ตามที่ได้รับพระบรมราชโองการ มีปรากฏถึงปัจจุบันได้แก่ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม ในสมัยรัชกาลที่ 2 และ เสภาพระราชพงศาวดาร ในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนที่แต่งขึ้นเพื่อถวายแด่องค์อุปถัมภ์ ได้แก่ สิงหไตรภพ เพลงยาวถวายโอวาท สวัสดิรักษา บทเห่กล่อมพระบรรทม และ บทละครเรื่อง อภัยนุราช งานประพันธ์ของสุนทรภู่เกือบทั้งหมดเป็นกลอนสุภาพ ยกเว้น พระไชยสุริยา ที่ประพันธ์เป็นกาพย์ และ นิราศสุพรรณ ที่ประพันธ์เป็นโคลง ผลงานส่วนใหญ่ของสุนทรภู่เกิดขึ้นในขณะตกยาก คือเมื่อออกบวชเป็นภิกษุและเดินทางจาริกไปทั่วประเทศ สุนทรภู่น่าจะได้บันทึกการเดินทางของตนเอาไว้เป็นนิราศต่าง ๆ จำนวนมาก แต่หลงเหลือปรากฏมาถึงปัจจุบันเพียง 9 เรื่องเท่านั้น เพราะงานเขียนส่วนใหญ่ของสุนทรภู่ถูกปลวกทำลายไปเสียเกือบหมดเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม === แนวทางการประพันธ์ === สุนทรภู่ชำนาญงานประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพอย่างวิเศษ ได้ริเริ่มการใช้กลอนสุภาพมาแต่งกลอนนิทาน โดยมี โคบุตร เป็นเรื่องแรก ซึ่งแต่เดิมมากลอนนิทานเท่าที่ปรากฏมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาล้วนแต่เป็นกลอนกาพย์ทั้งสิ้น นายเจือ สตะเวทิน ได้กล่าวยกย่องสุนทรภู่ในการริเริ่มใช้กลอนสุภาพบรรยายเรื่องราวเป็นนิทานว่า "ท่านสุนทรภู่ ได้เริ่มศักราชใหม่แห่งการกวีของเมืองไทย โดยสร้างโคบุตรขึ้นด้วยกลอนสุภาพ นับตั้งแต่เดิมมา เรื่องนิทานมักเขียนเป็นลิลิต ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นคนแรกที่เสนอศิลปะของกลอนสุภาพ ในการสร้างนิทานประโลมโลก และก็เป็นผลสำเร็จ โคบุตรกลายเป็นวรรณกรรมแบบฉบับที่นักแต่งกลอนทั้งหลายถือเป็นครู นับได้ว่า โคบุตรมีส่วนสำคัญยิ่งในประวัติวรรณคดีของชาติไทย" สุนทรภู่ยังได้ปฏิวัติขนบการประพันธ์นิราศด้วย ด้วยแต่เดิมมาขนบการเขียนนิราศยังนิยมเขียนเป็นโคลง ลักษณะการประพันธ์แบบเพลงยาว (คือการประพันธ์กลอน) ยังไม่เรียกว่า นิราศ แม้นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เดิมก็เรียกว่าเป็นเพลงยาวจดหมายเหตุ มาเปลี่ยนการเรียกเป็นนิราศในชั้นหลัง สุนทรภู่เป็นผู้ริเริ่มการแต่งกลอนนิราศเป็นคนแรกและทำให้กลอนนิราศเป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยการนำรูปแบบของเพลงยาวจดหมายเหตุมาผสมกับคำประพันธ์ประเภทกำสรวล กลวิธีการประพันธ์ที่พรรณนาความระหว่างเส้นการเดินทางกับประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตก็เป็นลักษณะเฉพาะของสุนทรภู่ ซึ่งผู้อื่นจะประพันธ์ในแนวทางเดียวกันนี้ให้ได้ใจความไพเราะและจับใจเท่าสุนทรภู่ก็ยังยาก มิใช่แต่เพียงฝีมือกลอนเท่านั้น ทว่าประสบการณ์ของผู้ประพันธ์จะเทียบกับสุนทรภู่ก็มิได้ ด้วยเหตุนี้กลอนนิราศของสุนทรภู่จึงโดดเด่นเป็นที่รู้จักยิ่งกว่ากลอนนิราศของผู้ใด และเป็นต้นแบบของการแต่งนิราศในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากงานกลอน สุนทรภู่ก็มีงานประพันธ์ในรูปแบบอื่นอีก เช่น พระไชยสุริยา ที่ประพันธ์เป็นกาพย์ทั้งหมด ประกอบด้วยกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ส่วน นิราศสุพรรณ เป็นนิราศเพียงเรื่องเดียวที่แต่งเป็นโคลง ชะรอยจะแต่งเพื่อลบคำสบประมาทว่าแต่งได้แต่เพียงกลอน แต่การแต่งโคลงคงจะไม่ถนัด เพราะไม่ปรากฏว่าสุนทรภู่แต่งกวีนิพนธ์เรื่องอื่นใดด้วยโคลงอีก === วรรณกรรมอันเป็นที่เคลือบแคลง === ในอดีตเคยมีความเข้าใจกันว่า สุนทรภู่เป็นผู้แต่ง นิราศพระแท่นดงรัง แต่ต่อมา ธนิต อยู่โพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยและอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้แสดงหลักฐานวิเคราะห์ว่าสำนวนการแต่งนิราศพระแท่นดงรัง ไม่น่าจะใช่ของสุนทรภู่ เมื่อพิจารณาประกอบกับเนื้อความ เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตของสุนทรภู่ และกระบวนสำนวนกลอนแล้ว จึงสรุปได้ว่า ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง คือ นายมี หรือ เสมียนมี หมื่นพรหมสมพักสร ผู้แต่งนิราศถลาง วรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่คาดว่าไม่ใช่ฝีมือแต่งของสุนทรภู่ คือ สุภาษิตสอนหญิง แต่น่าจะเป็นผลงานของนายภู่ จุลละภมร ซึ่งเป็นศิษย์ เนื่องจากงานเขียนของสุนทรภู่ฉบับอื่น ๆ ไม่เคยขึ้นต้นด้วยการไหว้ครู ซึ่งแตกต่างจากสุภาษิตสอนหญิงฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมอื่น ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นผลงานของสุนทรภู่ ได้แก่ เพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ ตำรายาอัฐกาล (ตำราบอกฤกษ์ยามเดินทาง) สุบินนิมิตคำกลอน และตำราเศษนารี == การตีพิมพ์ เผยแพร่ และดัดแปลงผลงาน == ในยุคสมัยของสุนทรภู่ การเผยแพร่งานเขียนจะเป็นไปได้โดยการคัดลอกสมุดไทย ซึ่งผู้คัดลอกจ่ายค่าเรื่องให้แก่ผู้ประพันธ์ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้สันนิษฐานไว้ว่า สุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี ขายเพื่อเลี้ยงชีพ ดังนี้จึงปรากฏงานเขียนของสุนทรภู่ที่เป็นฉบับคัดลอกปรากฏตามที่ต่าง ๆ หลายแห่ง จนกระทั่งถึงช่วงวัยชราของสุนทรภู่ การพิมพ์จึงเริ่มเข้ามายังประเทศไทย โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงให้การสนับสนุน โรงพิมพ์ในยุคแรกเป็นโรงพิมพ์หลวง ตีพิมพ์หนังสือราชการเท่านั้น ส่วนโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือทั่วไปเริ่มขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2401 เป็นต้นไป) โรงพิมพ์ของหมอสมิทที่บางคอแหลม เป็นผู้นำผลงานของสุนทรภู่ไปตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2413 คือเรื่อง พระอภัยมณี ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูง ขายดีมากจนหมอสมิทสามารถทำรายได้สูงขนาดสร้างตึกเป็นของตัวเองได้ หลังจากนั้นหมอสมิทและเจ้าของโรงพิมพ์อื่น ๆ ก็พากันหาผลงานเรื่องอื่นของสุนทรภู่มาตีพิมพ์จำหน่ายซ้ำอีกหลายครั้ง ผลงานของสุนทรภู่ได้ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนหมดทุกเรื่อง แสดงถึงความนิยมเป็นอย่างมาก สำหรับเสภาเรื่อง พระราชพงศาวดาร กับ เพลงยาวถวายโอวาท ได้ตีพิมพ์เท่าที่จำกันได้ เพราะต้นฉบับสูญหาย จนกระทั่งต่อมาได้ต้นฉบับครบบริบูรณ์จึงพิมพ์ใหม่ตลอดเรื่องในสมัยรัชกาลที่ 6 === การแปลผลงานเป็นภาษาอื่น === ผลงานของสุนทรภู่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ดังนี้ ภาษาไทยถิ่นเหนือ : พญาพรหมโวหาร กวีเอกของล้านนาแปล พระอภัยมณีคำกลอน เป็นค่าวซอตามความประสงค์ของเจ้าแม่ทิพเกสร แต่ไม่จบเรื่อง ถึงแค่ตอนที่ศรีสุวรรณอภิเษกกับนางเกษรา ภาษาเขมร : ผลงานของสุนทรภู่ที่แปลเป็นภาษาเขมรมีสามเรื่องคือ * พระอภัยมณี ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล แปลถึงแค่ตอนที่นางผีเสื้อสมุทรลักพระอภัยมณีไปไว้ในถ้ำเท่านั้น * ลักษณวงศ์ แปลโดย ออกญาปัญญาธิบดี (แยม) * สุภาษิตสอนหญิง หรือสุภาษิตฉบับสตรี แปลโดยออกญาสุตตันตปรีชา (อินทร์) ภาษาอังกฤษ : ผลงานของสุนทรภู่ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้แก่ * พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงแปลเรื่อง พระอภัยมณี เป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง เมื่อปี พ.ศ. 2495 * นิราศเมืองเพชร ฉบับไทย-อังกฤษ เป็นหนังสือฉบับพกพาสองภาษา ไทย-อังกฤษ แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยเสาวณีย์ นิวาศะบุตร พิมพ์ครั้งแรกในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2556 จัดจำหน่ายโดยบริษัทเคล็ดไทย จำกัด === งานดัดแปลง === ==== ละคร ==== มีการนำกลอนนิทานเรื่อง สิงหไตรภพ มาดัดแปลงเป็นละครหลายครั้ง โดยมากมักเปลี่ยนชื่อเป็น สิงหไกรภพ โดยเป็นละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ และละครเพลงร่วมสมัยโดยภัทราวดีเธียเตอร์ นอกจากนี้มีเรื่อง ลักษณวงศ์ และพระอภัยมณี ที่มีการนำเนื้อหาบางส่วนมาดัดแปลง ตอนที่นิยมนำมาดัดแปลงมากที่สุดคือ เรื่องของสุดสาคร ลักษณวงศ์ ยังได้นำไปแสดงเป็นละครนอก โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ. 2552 มีกำหนดการแสดงหลายรอบในเดือนพฤศจิกายน ==== ภาพยนตร์ ==== พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์ พระอภัยมณี ฉบับของ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา - เพชรา เชาวราษฎร์ พ.ศ. 2522 ภาพยนตร์การ์ตูน "สุดสาคร" ผลงานสร้างของ ปยุต เงากระจ่าง พ.ศ. 2545 ภาพยนตร์ พระอภัยมณี ผลิตโดย ซอฟต์แวร์ ซัพพลายส์ อินเตอร์เนชั่ลแนล กำกับโดย ชลัท ศรีวรรณา จับความตั้งแต่เริ่มเรื่อง ไปจนถึงตอน นางเงือกพาพระอภัยมณีหนีจากนางผีเสื้อสมุทร และพระอภัยมณีเป่าปี่สังหารนาง พ.ศ. 2549 โมโนฟิล์ม ได้สร้างภาพยนตร์จากเรื่อง พระอภัยมณี เรื่อง สุดสาคร โดยจับความตั้งแต่กำเนิดสุดสาคร จนสิ้นสุดที่การเดินทางออกจากเมืองการะเวกเพื่อติดตามหาพระอภัยมณี พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์การ์ตูน เรื่อง สิงหไกรภพ ความยาว 40 นาที ==== เพลง ==== บทประพันธ์จากเรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้นำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา" ประพันธ์ทำนองโดย สุรพล แสงเอก บันทึกเสียงครั้งแรกโดย ปรีชา บุญยเกียรติ ใจความดังนี้ {|align="center" |- |ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร |ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน |- |แม้อยู่ในใต้หล้าสุธาธาร |ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา |- |แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ |พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา |- |แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา |เชยผกาโกสุมปทุมทอง |- |แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์ | จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง |- |ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง |เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป... |  |} อีกเพลงหนึ่งคือเพลง "รสตาล" ของครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้องโดยสุรพล โทณะวนิก ซึ่งใช้นามปากกาว่า วังสันต์ ได้แรงบันดาลใจจากบทกลอนของสุนทรภู่ เรื่อง นิราศพระบาท เนื้อหาดังนี้ {|align="center" |- |- |เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น |เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน |- |ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล |ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง |- |ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก |เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง |- |อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง |พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล... |  |} ==== หนังสือและการ์ตูน ==== งานเขียนของสุนทรภู่โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่องพระอภัยมณี จะถูกนำมาเรียบเรียงเขียนใหม่โดยนักเขียนจำนวนมาก เช่น พระอภัยมณีฉบับร้อยแก้ว ของเปรมเสรี หรือหนังสือการ์ตูน อภัยมณีซาก้า อีกเรื่องหนึ่งที่มีการนำมาสร้างใหม่เป็นหนังสือการ์ตูนคือ สิงหไตรภพ ในหนังสือ ศึกอัศจรรย์สิงหไกรภพ ที่เขียนใหม่เป็นการ์ตูนแนวมังงะ == ชื่อเสียงและคำวิจารณ์ == สุนทรภู่นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างวรรณคดีประเภทร้อยกรอง หรือ "กลอน" ให้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งยังวางจังหวะวิธีในการประพันธ์แบบใหม่ให้แก่การแต่งกลอนสุภาพด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ ยกย่องความสามารถของสุนทรภู่ว่า "พระคุณครูศักดิ์สิทธิ์คิดสร้างสรรค์ ครูสร้างคำแปดคำให้สำคัญ" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "ประวัติสุนทรภู่" ว่าด้วยเกียรติคุณของสุนทรภู่ว่า "ถ้าจะลองให้เลือกกวีไทยบรรดาที่มีชื่อเสียงปรากฏมาในพงศาวดารคัดเอาแต่ที่วิเศษสุดเพียง 5 คน ใคร ๆ เลือกก็เห็นจะเอาชื่อสุนทรภู่ไว้ในกวีห้าคนนั้นด้วย" เปลื้อง ณ นคร ได้รวบรวมประวัติวรรณคดีไทยในยุคสมัยต่าง ๆ นับแต่สมัยสุโขทัยไปจนถึงสมัยรัฐธรรมนูญ (คือสมัยปัจจุบันในเวลาที่ประพันธ์) โดยได้ยกย่องว่า "สมัยพุทธเลิศหล้าเป็นจุดยอดแห่งวรรณคดีประเภทกาพย์กลอน ต่อจากสมัยนี้ระดับแห่งกาพย์กลอนก็ต่ำลงทุกที จนอาจกล่าวได้ว่า เราไม่มีหวังอีกแล้วที่จะได้คำกลอนอย่างเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และเรื่องพระอภัยมณี" โดยที่ในสมัยดังกล่าวมีสุนทรภู่เป็น "บรมครูทางกลอนแปดและกวีเอก" ซึ่งสร้างผลงานอันเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากกวีนิพนธ์ในยุคก่อนมักเป็นคำฉันท์หรือลิลิตซึ่งประชาชนเข้าไม่ถึง สุนทรภู่ได้ปฏิวัติงานกวีนิพนธ์และสร้างขนบการแต่งกลอนแบบใหม่ขึ้นมา จนเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า "กลอนตลาด" เพราะเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวบ้านนั่นเอง เทียนวรรณ ได้รวบรวมงานเขียน หนึ่งในนั้นคืองานที่ท่านเคยวิจารณ์วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ เป็นการวิจารณ์ว่าคืองานเขียนที่ดีแฝงไปด้วยสุภาษิต และเป็นงานเขียนที่แปลกไปกว่าวรรณคดีที่แต่งในช่วงนั้นๆ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่า สุนทรภู่น่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากในสังคมกระฎุมพีช่วงต้นรัตนโกสินทร์ กระฎุมพีเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เสพผลงานของสุนทรภู่ และเห็นสาเหตุหนึ่งที่ผลงานของสุนทรภู่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะสอดคล้องกับความคิดความเชื่อของผู้อ่านนั่นเอง นอกเหนือจากความนิยมในหมู่ประชาชนชาวสยาม ชื่อเสียงของสุนทรภู่ยังแพร่ไปไกลยิ่งกว่ากวีใด ๆ ใน เพลงยาวถวายโอวาท สุนทรภู่กล่าวถึงตัวเองว่า "อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร" ข้อความนี้ทำให้ทราบว่า ชื่อเสียงของสุนทรภู่เลื่องลือไปไกลนอกเขตราชอาณาจักรไทย แต่ไปถึงอาณาจักรเขมรและเมืองนครศรีธรรมราชทีเดียว คุณวิเศษแห่งความเป็นกวีของสุนทรภู่จึงอยู่ในระดับกวีเอกของชาติ ศ.เจือ สตะเวทิน เอ่ยถึงสุนทรภู่โดยเปรียบเทียบกับกวีเอกของประเทศต่าง ๆ ว่า "สุนทรภู่มีศิลปะไม่แพ้ลามาตีน ฮูโก หรือบัลซัคแห่งฝรั่งเศส... มีจิตใจและวิญญาณสูง อาจจะเท่าเฮเนเลนอ แห่งเยอรมนี หรือลิโอปารดี และมันโซนีแห่งอิตาลี" สุนทรภู่ยังได้รับยกย่องว่าเป็น "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" งานวิจัยทุนฟุลไบรท์-เฮย์ส ของคาเรน แอนน์ แฮมิลตัน ได้เปรียบเทียบสุนทรภู่เสมือนหนึ่งเชกสเปียร์หรือชอเซอร์แห่งวงการวรรณกรรมไทย == เกียรติคุณและอนุสรณ์ == === บุคคลสำคัญของโลก (ด้านวรรณกรรม) === ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบวันเกิด 200 ปีของสุนทรภู่ องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 และเป็นสามัญชนชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ในปีนั้น สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ "อนุสรณ์สุนทรภู่ 200 ปี" และมีการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น === อนุสาวรีย์และหุ่นปั้น === อนุสาวรีย์สุนทรภู่แห่งแรก สร้างขึ้นที่ ต.กร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านบิดาของสุนทรภู่ โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2498 อันเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีการถึงแก่อนิจกรรมของสุนทรภู่ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ภายในอนุสาวรีย์มีหุ่นปั้นของสุนทรภู่ และตัวละครในวรรณคดีเรื่องเอกของท่านคือ พระอภัยมณี ที่ด้านหน้าอนุสาวรีย์มีหมุดกวี หมุดที่ 24 ปักอยู่ ยังมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่จังหวัดอื่น ๆ อีก ได้แก่ ที่ท่าน้ำหลังวัดพลับพลาชัย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดที่สุนทรภู่ได้เคยมาตามนิราศเมืองเพชร อันเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน และเชื่อว่าเพชรบุรีเป็นบ้านเกิดของมารดาของท่านด้วย อนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่วัดศรีสุดาราม เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เชื่อว่าท่านได้เล่าเรียนเขียนอ่านเมื่อวัยเยาว์ที่นี่ นอกจากนี้มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ตลอดจนหุ่นขี้ผึ้งในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม === พิพิธภัณฑ์ === กุฏิสุนทรภู่ หรือพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ตั้งอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ถ.มหาไชย กรุงเทพมหานคร เป็นอาคารซึ่งปรับปรุงจากกุฏิที่สุนทรภู่เคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่นี่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และมีการจัดกิจกรรมวันสุนทรภู่เป็นประจำทุกปี === วันสุนทรภู่ === หลังจากองค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้สุนทรภู่เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางวรรณกรรมระดับโลกเมื่อปี พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น และกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่ นับแต่นั้นทุก ๆ ปีเมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม และที่จังหวัดระยอง (ซึ่งมักจัดพร้อมงานเทศกาลผลไม้จังหวัดระยอง) รวมถึงการประกวดแต่งกลอน ประกวดคำขวัญ และการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสุนทรภู่ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ == รายชื่อผลงาน == งานประพันธ์ของสุนทรภู่เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นตามจำนวนเท่าที่ค้นพบก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่า สุนทรภู่เป็น "นักแต่งกลอน" ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก ผลงานของสุนทรภู่เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้ === นิราศ === นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของพัด ภู่เรือหงส์ บุตรของสุนทรภู่ นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) - แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่า นิราศดังกล่าวเป็นผลงานของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี === นิทาน === โคบุตร : เชื่อว่าเป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของสุนทรภู่ เป็นเรื่องราวของ "โคบุตร" ซึ่งเป็นโอรสของพระอาทิตย์กับนางอัปสร แต่เติบโตขึ้นมาด้วยการเลี้ยงดูของนางราชสีห์ พระอภัยมณี : คาดว่าเริ่มประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และแต่ง ๆ หยุด ๆ เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน พระไชยสุริยา : เป็นนิทานที่สุนทรภู่แต่งด้วยฉันทลักษณ์ประเภทกาพย์หลายชนิด ได้แก่ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28 เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน เนื้อหาเรียงลำดับความง่ายไปยาก จากแม่ ก กา แม่กน กง กก กด กบ กม และเกย เชื่อว่าแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2383 - 2385 ลักษณวงศ์ : เป็นนิทานแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่นำโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน แต่มีตอนจบที่แตกต่างไปจากนิทานทั่วไปเพราะไม่ได้จบด้วยความสุข แต่จบด้วยงานสมโภชศพนางทิพเกสร ชายาของลักษณวงศ์ที่สิ้นชีวิตด้วยการสั่งประหารของลักษณวงศ์เอง สิงหไกรภพ : เชื่อว่าเริ่มประพันธ์เมื่อครั้งถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ ภายหลังจึงแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และน่าจะหยุดแต่งหลังจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สิงหไตรภพเป็นตัวละครเอกที่แตกต่างจากตัวพระในเรื่องอื่น ๆ เนื่องจากเป็นคนรักเดียวใจเดียว === สุภาษิต === สวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์ เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่ เทพ สุนทรศารทูลเสนอว่าน่าจะเป็นผลงานของภู่ จุลละภมร ศิษย์ของสุนทรภู่เอง === บทละคร === มีการประพันธ์ไว้เพียงเรื่องเดียวคือ อภัยนุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว === บทเสภา === ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม เสภาพระราชพงศาวดาร === บทเห่กล่อมพระบรรทม === น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องกากี ==ในวัฒนธรรมสมัยนิยม== ภาพยนตร์ไทยแนวย้อนยุค–โรแมนติกคอเมดีที่ร่วมทุนสร้างระหว่างค่ายจีดีเอชและบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 ออกฉายในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "สุนทรภู่" หรือ "อาภู่" รับบทโดยนิมิตร ลักษมีพงศ์ == เชิงอรรถ == == อ้างอิง == == แหล่งข้อมูลอื่น == ประวัติพระสุนทรโวหาร ประวัติสุนทรภู่และเรื่องเล่าพระอภัยมณีเป็นภาษาอังกฤษ แปลโดยพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ประวัติสุนทรภู่ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ในจังหวัดระยอง บุคคลจากเขตบางกอกน้อย กวีชาวไทย นักเขียนชาวไทย บรรดาศักดิ์ชั้นพระ บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์
thaiwikipedia
791
รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
รายการรหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ == พื้นที่ 1 อเมริกาเหนือ == พื้นที่ต่าง ๆ ในแผนกำหนดเลขหมายอเมริกาเหนือ (North American Numbering Plan: NANP) ได้รับการกำหนดรหัสพื้นที่ เหมือนกับว่าพื้นที่เหล่านั้นอยู่ภายในสหรัฐอเมริกา รหัสข้างล่างที่เป็นชุด +1-XXX แสดงว่ารหัสพื้นที่นั้นอยู่ในแผนกำหนดเลขหมายอเมริกาเหนือ ไม่ได้แยกเป็นรหัสประเทศต่างหาก เช่น รหัสประเทศของกวม คือ +1 ตามด้วยรหัสพื้นที่ 671 ไม่ใช่ +671 เป็นต้น +1 — * ดินแดนของสหรัฐอเมริกาในหมู่เกาะแปซิฟิก: ** +1-671 — ** +1-670 — ** +1-684 — +1 — +1-441 — ส่วนใหญ่ แต่ไม่ทั้งหมดของภูมิภาคแคริบเบียน: * +1-264 — * +1-268 — * +1-242 — * +1-246 — * +1-284 — * +1-345 — * +1-767 — * +1-809 และ +1-829 — * +1-473 — * +1-876 — * +1-664 — * +1-787 และ +1-939 — * +1-869 — * +1-758 — * +1-784 — * +1-868 — * +1-649 — * +1-340 — ดูข้อมูลเพิ่มที่ nanpa.com == พื้นที่ 2 แอฟริกา (ส่วนใหญ่) == 20 — 210 — ไม่มีการใช้ 211 — 212 — 213 — 214 — ไม่มีการใช้ 215 — ไม่มีการใช้ 216 — 217 — ไม่มีการใช้ 218 — 219 — ไม่มีการใช้ 220 — 221 — 222 — 223 — 224 — 225 — 226 — 227 — 228 — 229 — 230 — 231 — 232 — 233 — 234 — 235 — 236 — 237 — 238 — 239 — 240 — 241 — 242 — (บราซาวีล) 243 — (กินชาซา, เดิมเป็นที่รู้จักกันในชื่อซาเอียร์) 244 — 245 — 246 — 247 — 248 — 249 — 250 — 251 — 252 — (ใช้ใน ด้วย) 253 — 254 — 255 — 256 — 257 — 258 — 259 — แซนซิบาร์ - never implemented - ดู 255 260 — 261 — 262 — 263 — 264 — 265 — 266 — 267 — 268 — 269 — และ 27 — 28x — ไม่มีการใช้ 290 — 291 — 292 — ไม่มีการใช้ 293 — ไม่มีการใช้ 294 — ไม่มีการใช้ 295 — เลิกใช้ (เดิมเป็นรหัสของ ดู +378) 296 — ไม่มีการใช้ 297 — 298 — 299 — == พื้นที่ 3 ยุโรป == 3 — (ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในปี พ.ศ. 2539 ให้เป็นรหัสประเทศของ ) [http://europa.eu.int/en/record/green/gp9611/] ) 30 — 31 — 32 — 33 — 34 — 350 — 351 — 352 — 353 — 354 — 355 — 356 — 357 — ; สำหรับนอร์เทิร์นไซปรัส ใช้รหัส 90 392 358 — 359 — 36 — 37 — เลิกใช้ (เดิมเป็นรหัสของ ซึ่งปัจจุบันใช้รหัส 49 ) 370 — 371 — 372 — 373 — * 373 533 — 374 — 375 — 376 — 377 — 378 — 379 — 38 — เลิกใช้ (เคยเป็นรหัสของก่อนแตกเป็นประเทศต่าง ๆ) 380 — 381 — 382 — 383 — ไม่มีการใช้ 384 — ไม่มีการใช้ 385 — 386 — 387 — 388 — พื้นที่การกำหนดเลขหมายโทรศัพท์ยุโรป (European Telephony Numbering Space) - Europe-wide services 389 — 39 — == พื้นที่ 4 ยุโรป == 40 — 41 — 42 — เคยเป็นรหัสของ 420 — 421 — 422 — ไม่มีการใช้ 423 — 424 — ไม่มีการใช้ 425 — ไม่มีการใช้ 426 — ไม่มีการใช้ 427 — ไม่มีการใช้ 428 — ไม่มีการใช้ 429 — ไม่มีการใช้ 43 — 44 — 45 — 46 — 47 — 48 — 49 — == พื้นที่ 5 เม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ == 500 — 501 — 502 — 503 — 504 — 505 — 506 — 507 — 508 — 509 — 51 — 52 — 53 — 54 — 55 — 56 — 57 — 58 — 590 — 591 — 592 — 593 — 594 — 595 — 596 — 597 — 598 — 599 — == พื้นที่ 6 แปซิฟิกใต้และโอเชียเนีย == 60 — 61 — และใช้ในดินแดนภายนอกคือ และ 62 — 63 — 64 — 65 — 66 — 670 — - เคยเป็นรหัสของหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในพื้นที่แผนกำหนดเลขหมายอเมริกาเหนือ และใช้รหัส +1-670 (ดูพื้นที่ 1 ข้างบน) 671 — เคยเป็นรหัสของกวม - ปัจจุบันรวมอยู่ในพื้นที่แผนกำหนดเลขหมายอเมริกาเหนือ และใช้รหัส +1-671 (ดูพื้นที่ 1 ข้างบน) 672 — รหัสดินแดนภายนอกของออสเตรเลีย นอกเหนือจากเกาะคริสต์มาสและหมู่เกาะโคโคส (คีลิง) เช่น เป็นต้น 673 — 674 — 675 — 676 — 677 — 678 — 679 — 680 — 681 — 682 — 683 — 684 — เคยเป็นรหัสของอเมริกันซามัว - ปัจจุบันรวมอยู่ในพื้นที่แผนกำหนดเลขหมายอเมริกาเหนือ และใช้รหัส +1-684 (ดูพื้นที่ 1, ข้างบน) 685 — 686 — (หมู่เกาะกิลเบิร์ต) 687 — 688 — (หมู่เกาะเอลลิซ) 689 — 690 — 691 — 692 — 693 — ไม่มีการใช้ 694 — ไม่มีการใช้ 695 — ไม่มีการใช้ 696 — ไม่มีการใช้ 697 — ไม่มีการใช้ 698 — ไม่มีการใช้ 699 — ไม่มีการใช้ == พื้นที่ 7 รัสเซีย == 7 — และ == พื้นที่ 8 เอเชียตะวันออก == 800 — ระหว่างประเทศ (หมายเลขโทรศัพท์ฟรี) 801 — ไม่มีการใช้ 802 — ไม่มีการใช้ 803 — ไม่มีการใช้ 804 — ไม่มีการใช้ 805 — ไม่มีการใช้ 806 — ไม่มีการใช้ 807 — ไม่มีการใช้ 808 — สงวนไว้สำหรับบริการอัตราส่วนแบ่ง (Shared Cost Services) 809 — ไม่มีการใช้ 81 — 82 — 83x — ไม่มีการใช้ 84 — 850 — 851 — ไม่มีการใช้ 852 — 853 — 854 — ไม่มีการใช้ 855 — 856 — 857 — ไม่มีการใช้ 858 — ไม่มีการใช้ 859 — ไม่มีการใช้ 86 — 870 — อินมาร์แซต (รหัสการเข้าถึงเครือข่ายเดี่ยว - Single Network Access Code) 875 — สงวนไว้สำหรับบริการเคลื่อนที่ทางทะเล (Maritime Mobile) 876 — สงวนไว้สำหรับบริการเคลื่อนที่ทางทะเล (Maritime Mobile) 877 — สงวนไว้สำหรับบริการเคลื่อนที่ทางทะเล (Maritime Mobile) 878 — บริการโทรคมนาคมส่วนบุคคลสากล (Universal Personal Telecommunications) 879 — สงวนไว้สำหรับการใช้ระบบเคลื่อนที่ทางทะเลแห่งชาติ 880 — - รหัสย่อย 881 — ระบบเคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม (Mobile Satellite System) 882 — เครือข่ายระหว่างประเทศ 883 — ไม่มีการใช้ 884 — ไม่มีการใช้ 885 — 886 — 887 — ไม่มีการใช้ 888 — ไม่มีการใช้ 889 — ไม่มีการใช้ 89x — ไม่มีการใช้ == พื้นที่ 9 เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง == 90 — * 90 392 — 91 — 92 — 93 — 94 — 95 — 960 — 961 — 962 — 963 — 964 — 965 — 966 — 967 — 968 — 969 — เคยเป็นรหัสของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมน (เยเมนใต้) - ปัจจุบันถูกรวมอยู่ภายใต้รหัส 967 เยเมน (อดีตสาธารณรัฐอาหรับเยเมน หรือเยเมนเหนือ) 970 — สงวนไว้สำหรับ 971 — 972 — 973 — 974 — 975 — 976 — 977 — 978 — ไม่มีการใช้ - แต่เดิมเป็นรหัสของรัฐดูไบ ปัจจุบันใช้รหัส 971 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 979 — บริการอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสากล (International Premium Rate Service) - แต่เดิมเป็นรหัสของรัฐอาบูดาบี ปัจจุบันใช้รหัส 971 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 98 — 990 — ไม่มีการใช้ 991 — International Telecommunications Public Correspondence Service trial (ITPCS) 992 — 993 — 994 — 995 — 996 — 997 — ไม่มีการใช้ 998 — 999 — ไม่มีการใช้ == พื้นที่ 0 - ไม่มีการใช้ == == แหล่งข้อมูลอื่น == โปรแกรมคำนวณหมายเลขโทรศัพท์สำหรับการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โทรศัพท์ รหัสระหว่างประเทศ *
thaiwikipedia
792
ประเทศซูดาน
ซูดาน (Sudan; السودان) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐซูดาน (Republic of the Sudan; جمهورية السودان) เป็นประเทศที่ในอดีตมีพื้นที่มากที่สุดในทวีปแอฟริกา ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีป มีเมืองหลวงชื่อคาร์ทูม มีพรมแดนทางทิศเหนือติดกับประเทศอียิปต์ ทิศใต้ติดต่อกับเซาท์ซูดาน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทะเลแดง ทิศตะวันออกติดกับเอริเทรียและเอธิโอเปีย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ทิศตะวันตกติดกับประเทศชาด และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับลิเบีย ชื่อของประเทศมาจากภาษาอาหรับว่า Bilad-al-Sudan ซึ่งแปลว่าดินแดนของคนผิวดำ ปัจจุบันซูดานกลายเป็นประเทศที่ขาดความมั่นคงตามดัชนีความเสี่ยงของการเป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะการปกครองแบบเผด็จการทหารและสงครามดาร์ฟูร์ == ประวัติศาสตร์ == ซูดานหรือนิวเบียสมัยโบราณ มีชาวอียิปต์เข้ามาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยเก่าแก่ ในศตวรรษที่ 6 ชาวพื้นเมืองในซูดานหันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติกอาหรับเข้ามาพิชิตแล้วนำเอาศาสนาอิสลามมาให้ ในทศวรรษของปี ค.ศ. 1820 อียิปต์เอาซูดานไปครอบครองโดยรบชนะอาณาจักรในยุคแรก ๆ ได้รวมทั้งอาณาจักรของฟุง ในช่วงทศวรรษของปี ค.ศ. 1880 โมฮัมหมัด อาห์หมัด ซึ่งเรียกตัวเองว่ามาห์ธี (ผู้นำแห่งความสัตย์) กับสาวกของเขาก่อการปฏิวัติ ในปี ค.ศ. 1898 กองกำลังผสมระหว่างอังกฤษและอียิปต์ บุกทำลายกองทัพผูสืบตำแหน่งต่อจากมาห์ธีร์จนพังพินาศ ในปี ค.ศ. 1951 รัฐสภาอียิปต์ประกาศยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษฉบับปี ค.ศ. 1899 และ 1936 แล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญอียิปต์ให้ซูดานมีรัฐธรรมนูญแยกไปจากอียิปต์ ซูดานได้รับอิสรภาพโดยสมบูรณ์มีการปกครองระบบรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1956 ในปี ค.ศ. 1969 สภาปฏิวัติเข้ายึดอำนาจแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ รัฐบาลประกาศจะสร้างซูดานเป็นรัฐสังคมนิยม 12 จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับนับถือศาสนาอิสลามและเคยมีอำนาจในรัฐบาลกลางมาช้านาน ใน 3 จังหวัดทางภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นคนดำนับถือศาสนาเดิมของแอฟริกา ในปี ค.ศ. 1972 รัฐบาลยอมให้จังหวัดทางใต้ปกครองตนเอง แล้วทั้งสองซีกของประเทศก็เริ่มทำสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 1988 ในทศวรรษของปี ค.ศ. 1980 ซูดานมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและเลวร้ายลงไปอีก เมื่อมีผู้ลี้ภัยจากประเทศใกล้เคียงหลั่งไหลเข้ามา ภายหลังอยู่ในอำนาจมา 16 ปี ประธานาธิบดีไนไมรีก็ถูกโค่นอำนาจจากการทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 1985 ในปี ค.ศ. 1986 ซูดานมีการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในรอบ 18 ปี แต่แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกโค่นล้มอีก จากการรัฐประหารแบบไม่เสียเลือดเนื้อของฝ่ายทหารในปี ค.ศ. 1989 ในปี ค.ศ. 1991 ซูดานยอมให้สหประชาชาติช่วยบรรเทาทุกข์ครั้งใหญ่ เพราะมีประชากรประมาณ 7 ล้านคนที่กำลังขาดแคลนอาหาร == การแบ่งเขตการปกครอง == ซูดานมีรัฐทั้งหมด 17 รัฐ ได้แก่ อัล จาซิราห์ อัล กาดาริฟ บลูไนล์ ดาร์ฟูร์กลาง ดาร์ฟูร์ตะวันออก คัสสาลา คาร์ทูม ดาร์ฟูร์เหนือ คูร์ดูฟันเหนือ เหนือ ทะเลแดง แม่น้ำไนล์ เซนนาร์ ดาร์ฟูร์ใต้ คูร์ดูฟันใต้ ดาร์ฟูร์ตะวันตก ไวท์ไนล์ ===พื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง=== นอกจากการบริหารโดยรัฐบาลกลาง ยังมีการบริหารภายนอกที่เกิดจากการทำสนธิสัญญาสันติภาพกับกลุ่มกบฏได้แก่ ====ส่วนการบริหารเฉพาะพื้นที่==== เขตการปกครองตนเองดาร์ฟูร์ จัดตั้งตามข้อตกลงสันติภาพดาร์ฟูร์ สภาศูนย์กลางรัฐซูดานตะวันออก จัดตั้งตามข้อตกลงสันติภาพซูดานตะวันออก ระหว่างรัฐบาลซูดานและกลุ่มกบฏ แนวร่วมตะวันออกเพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารรัฐทางตะวันออกสามรัฐ อับเยอีตั้งอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างซูดานกับซูดานใต้ เป็นเขตบริหารพิเศษ บริหารโดย องค์กรบริหารบริเวณอับเยอี ซึ่งเป็นไปตามประชามติใน พ.ศ. 2554 ว่าอับเยอีจะเข้าร่วมกับซูดานใต้หรืออยู่กับซูดานต่อไป ====พื้นที่พิพาทหรือเกิดความขัดแย้ง==== รัฐกูร์ดูฟันใต้ และ รัฐบลูไนล์ ซึ่งจะต้องมีการตัดสินอนาคตต่อไป สามเหลี่ยมฮาลาอิบ เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างซูดานกับอียิปต์ ขณะนี้อียิปต์เป็นผู้บริหารดินแดนนี้ บริเวณอับเยอี เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างซูดานกับซูดานใต้ ปัจจุบันยังอยู่ในเขตของซูดาน บิร์ ตาวิลเป็นพื้นที่ว่างตามแนวชายแดนระหว่างอียิปต์กับซูดาน ไม่มีรัฐใดกล่าวอ้างว่าเป็นของตน กาเฟีย กิงงี และ สวนสาธารณะแห่งชาติราดอม เป็นส่วนหนึ่งของบัรห์เอลฆาซัล ใน พ.ศ. 2499 ซูดานยอมรับแนวเขตแดนของซูดานใต้ตามแนวชายแดนที่เคยกำหนดไว้เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2499 ในกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 กองทัพซูดานใต้เข้ายึดครอง บ่อน้ำมันเฮกลิก จากซูดาน == ภูมิศาสตร์ == ซูดานตั้งอยู่ในทวีฟแอฟริกาตอนเหนือ มีทางออกทะเลที่ทะเลแดง และมีความยาวของชายฝั่งประมาณ 853 กิโลเมตร ซูดานมีพื้นที่ทั้งหมด 2,505,810 ตารางกิโลเมตร และเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา และเป็นอันดับสิบของโลก ซูดานมีอาณาเขตติดกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเทศชาด ลิเบีย อียิปต์ เอริเทรีย เอธิโอเปีย เคนยา ยูกันดา และมีความสำคัญทางภูมิศาสตร์เพราะมีจุดที่แม่น้ำบลูไนล์และไวท์ไนล์รวมกันเป็นแม่น้ำไนล์ซึ่งอยู่ในเขตคาร์ทูม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ซึ่งถูกแบ่งออกจากกันด้วยเทือกเขาหลายแห่ง ได้แก่เทือกเขาเจเบล มาร์ราทางตะวันตก ภูเขาคินเยติ อิมาตองบริเวณใกล้ชายแดนยูกันดา ซึ่งเป็นภูขาที่สูงที่สุด และในเขตตะวันออกมีเนินเขาทะเลแดง ทางตอนเหนือมีทะเลทรายนิวเบีย ตั้งแต่อดีตในทางตอนใต้มีปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าจึงมีพื้นที่ที่มีบึงและป่าดิบชื้น ฤดูฝนของซูดานมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน (กรกฎาคมถึงกันยายน) ในตอนเหนือ และนานถึง 6 เดือน (มิถุนายนถึงพฤศจิกายน) ในตอนใต้ ในเขตแห้งแล้งมักเกิดพายุทรายที่เรียกว่าฮาบูบซึ่งสามารถบดบังแสงอาทิตย์ได้โดยสิ้นเชิง ในตอนเหนือและตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย ผู้คนทำการเกษตรง่าย ๆ โดยพึ่งพาฝนที่ไม่ค่อยพอเพียง และมีชนเผ่าเร่ร่อนจำนวนมากที่เดินทางไปพร้อมกับฝูงแกะและอูฐ ในบริเวณใกล้แม่น้ำไนล์ มีการทำไร่ที่มีการชลประทานที่ดีกว่า ส่วนใหญ่ปลูกพืชที่ปลูกเพื่อการค้า ประเทศซูดานมีแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุหลายอย่าง เช่น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ทอง เงิน โครไมท์ แร่ใยหิน แมงกานีส ยิปซัม ไมกา สังกะสี เหล็ก ตะกั่ว ยูเรเนียม ทองแดง เกาลิไนท์ โคบอลต์ หินแกรนิต นิกเกิล และดีบุก การแปรสภาพเป็นทะเลทรายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของซูดาน เกษตรกรมักทำการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาเช่น การทำลายป่าไม้ ปัญหาดินจืด และปัญหาระดับน้ำบาดาลลดลง == ประชากร == จากการสำรวจของซูดานในปี พ.ศ. 2536 จำนวนประชากรถูกบันทึกไว้ที่ 25 ล้านคน แต่เนื่องจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็ไม่มีการสำรวจที่ทั่วถึงอีก ในปี พ.ศ. 2549 สหประชาชาติประมาณว่ามีจำนวนประชากรประมาณ 36.9 ล้านคน ประชากรในเขตเมืองคาร์ทูม (คาร์ทูม โอมเดอร์มาน และคาร์ทูมเหนือ) เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนประมาณ 5-7 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งประชากรประมาณ 2 ล้านคนที่ต้องย้ายถิ่นฐานจากเขตสงครามทางใต้และทางตะวันตก และพื้นที่แห้งแล้งทางตะวันออก แม้ว่าซูดานจะเป็นต้นกำเนิดของผู้อพยพมากมาย แต่กลับมีชาวต่างชาติไม่น้อยอพยพเข้ามาในซูดาน ตามรายงาน World Refugee Survey 2008 ของคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพของสหรัฐอเมริกา (U.S. Committee for Refugees and Immigrants: USCRI) พบว่ามีผู้อพยพและลี้ภัยอาศัยอยู่ในซูดาน 310,500 คนในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเอริเทรีย (240,400 คน) ชาด (45,000 คน) เอธิโอเปีย (19,300 คน) และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (2,500 คน) มีการรายงานว่ารัฐบาลซูดานไม่ให้ความร่วมมือต่อข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในปี 2007 และยังส่งตัวผู้อพยพและผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 1,500 คนกลับประเทศในปีเดียวกัน ซูดานมีชนเผ่า 597 เผ่าซึ่งพูดภาษาแตกต่างกันมากกว่า 400 สำเนียงภาษา แต่มีสามารถแยกออกเป็นกลุ่มวัฒนธรรมหลัก 2 พวก คือชาวอาหรับเชื้อสายนิวเบีย และคนแอฟริกันผิวดำซึ่งไม่ใช่พวกอาหรับ ซึ่งสามารถแยกย่อยออกเป็นเผ่าและกลุ่มภาษาได้อีกนับร้อยกลุ่ม รัฐในเขตเหนือมีอาณาเขตครอบคลุมเกือบทั้งประเทศและรวมเอาเขตเมืองส่วนใหญ่ไว้ด้วย ชาวซูดานที่อาศัยอยู่ในเขตนี้เป็นชาวมุสลิมที่พูดภาษาอาหรับ เพราะได้รับการศึกษาเป็นภาษาอาหรับ แต่ส่วนใหญ่มักมีภาษาแม่เป็นภาษาที่ไม่ใช่อาหรับ (เช่นนิวเบีย เบจา เฟอร์ นูบัน ฯลฯ) ดังเช่นชาวอียิปต์ ชาวปาเลสไตน์ และชาวอาหรับอื่น ๆ ชาวอาหรับในซูดานส่วนใหญ่เป็นอาหรับโดยวัฒนธรรมมากกว่าด้วยเชื้อสาย ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากพวกนิวเบีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มเซมิติก และหน้าตาเหมือนกับชาวเอธิโอเปีย ชาวเอริเทรีย และชาวโซมาเลีย ==อ้างอิง== ==บรรณานุกรม== หนังสือ Berry, LaVerle B., ed. (2015). Sudan: A Country Study. Library of Congress (Washington, D.C.) . Churchill, Winston (1899; 2000). The River War: An Historical Account of the Reconquest of the Soudan. Carroll & Graf (New York City). . Clammer, Paul (2005). Sudan: The Bradt Travel Guide. Bradt Travel Guides (Chalfont St. Peter); Globe Pequot Press. (Guilford, Connecticut). . Evans-Pritchard, Blake; Polese, Violetta (2008). Sudan: The City Trail Guide. City Trail Publishing. . El Mahdi, Mandour. (1965). A Short History of the Sudan. Oxford University Press. . Fadlalla, Mohamed H. (2005). The Problem of Dar Fur, iUniverse (New York City). . Fadlalla, Mohamed H. (2004). Short History of Sudan. iUniverse (New York City). . Fadlalla, Mohamed H. (2007). UN Intervention in Dar Fur, iUniverse (New York City). . Jok, Jok Madut (2007). Sudan: Race, Religion and Violence. Oneworld Publications (Oxford). . Köndgen, Olaf (2017). The Codification of Islamic Criminal Law in the Sudan. Penal Codes and Supreme Court Case Law under Numayri and al-Bashir. Brill (Leiden, Boston). . Mwakikagile, Godfrey (2001). Slavery in Mauritania and Sudan: The State Against Blacks, in The Modern African State: Quest for Transformation. Nova Science Publishers (Huntington, New York). . Peterson, Scott (2001). Me Against My Brother: At War in Somalia, Sudan and Rwanda—A Journalist Reports from the Battlefields of Africa. Routledge (London; New York City). . Prunier, Gérard (2005). Darfur: The Ambiguous Genocide. Cornell University Press (Ithaca, New York). . Zilfū, ʻIṣmat Ḥasan (translation: Clark, Peter) (1980). Karari: The Sudanese Account of the Battle of Omdurman. Frederick Warne & Co (London). . บทความ "Sudan." Background Notes, U.S. Department of State, 2009. online "Quo Vadis bilad as-Sudan? The Contemporary Framework for a National Interim Constitution". Law in Africa (Cologne; 2005). Vol. 8, pp. 63–82. . เว็บลิงก์ ==แหล่งข้อมูลอื่น== Government of Sudan website Archaeological sites in Sudan Sudan. The World Factbook. Central Intelligence Agency. Sudan profile from BBC News CIMIC activities in the African Union Mission in Sudan The conflict in South Sudan – The Economist UNAMID UNITED NATIONS – AFRICAN UNION HYBRID OPERATION IN DARFUR ซ บทความเกี่ยวกับ ประเทศและเขตการปกครอง ที่ยังไม่สมบูรณ์ เผด็จการทหาร รัฐและดินแดนที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2499 อดีตอาณานิคมของอังกฤษ
thaiwikipedia
793
การโปรแกรมตรรกะเชิงอุปนัย
การโปรแกรมตรรกะเชิงอุปนัย (Inductive Logic Programming) เป็นการนำวิธีการเรียนรู้ของเครื่องมาใช้ร่วมกับวิธีการโปรแกรมเชิงตรรกะ ในการเรียนรู้ประเภทการเรียนรู้แบบมีผู้สอน การโปรแกรมตรรกะเชิงอุปนัยมีแนวคิดหลักคือ พยายามสร้างทฤษฎีที่ครอบคลุมตัวอย่างบวกแต่ไม่ครอบคลุมตัวอย่างลบ การโปรแกรมตรรกะเชิงอุปนัยมีความแตกต่างจากการเรียนรู้ของเครื่องแบบอื่นในส่วนที่ได้มีการนำเอาโปรแกรมเชิงตรรกะมาใช้ในการอธิบายตัวอย่างและสามารถสร้างความรู้ภูมิหลังในรูปของตรรกะอันดับที่หนึ่งได้ ระบบจะทำการเรียนรู้เพื่อสร้างทฤษฎีในรูปแบบของโปรแกรมเชิงตรรกะจากตัวอย่างและความรู้ภูมิหลังที่ได้รับ โดยทฤษฎีที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ในการจำแนกตัวอย่างใหม่ที่ระบบยังไม่เคยเห็นหรือไม่ได้ใช้ในการสอนได้ ซึ่งการใช้โปรแกรมตรรกะเชิงอุปนัยในการอธิบายสมมติฐานและตัวอย่าง ทำให้มีข้อดีที่เหนือกว่าวิธีอื่นๆ คือ ความรู้ส่วนใหญ่ของมนุษย์สามารถอธิบายได้ในรูปของตรรกะอันดับที่หนึ่ง ในขณะที่วิธีการเรียนรู้ของเครื่องส่วนใหญ่จะอธิบายในรูปของตรรกศาสตร์ประพจน์ ทำให้อธิบายความรู้ของมนุษย์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้โปรแกรมตรรกะในการอธิบายแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ยังสามารถอธิบายแนวคิดได้ซับซ้อนมากกว่าการอธิบายด้วยตรรกศาสตร์ประพจน์ การโปรแกรมตรรกะเชิงอุปนัยสามารถใช้ความรู้ภูมิหลังในการเรียนรู้ได้ง่ายกว่าวิธีการเรียนรู้ของเครื่องแบบอื่น ที่ไม่ได้ใช้การโปรแกรมเชิงตรรกะ ปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ของเครื่อง
thaiwikipedia
794
เพลโต
ปลาตอน (Πλάτων, Plátōn, ; 427 – 347 ปีก่อน ค.ศ.) หรือ เพลโต ( Plato) เป็นนักปรัชญาชาวกรีกโบราณที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดตะวันตก เขาเป็นลูกศิษย์ของโสกราตีส เป็นอาจารย์ของอริสโตเติล เป็นนักเขียน และเป็นผู้ก่อตั้งอาคาเดมีซึ่งเป็นสำนักวิชาในกรุงเอเธนส์ เพลโตใช้เวลาส่วนใหญ่สอนอยู่ที่อาคาเดมี แต่เขาก็ได้เขียนเกี่ยวกับปัญหาทางปรัชญาไว้เป็นจำนวนมาก โลกปัจจุบันรู้จักเขาผ่านทางงานเขียนที่หลงเหลืออยู่ ที่ถูกนำขึ้นมาแปลและจัดพิมพ์เป็นในช่วงการเคลื่อนไหวด้านมนุษยนิยม งานเขียนของเพลโตนั้นส่วนมากแล้วเป็นบทสนทนา คำคม และจดหมาย ผลงานที่เป็นที่รู้จักของเพลโตนั้นหลงเหลืออยู่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามชุดรวมงานแปลปัจจุบันของเพลโตมักมีบางบทสนทนาที่นักวิชาการจัดว่าน่าสงสัย หรือคิดว่ายังขาดหลักฐานที่จะยอมรับว่าเป็นของแท้ได้ ในบทสนทนาของเพลโลนั้น บ่อยครั้งที่มีโสกราตีสเป็นตัวละครหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนว่าความเห็นส่วนใดเป็นของโสกราตีส และส่วนใดเป็นของเพลโต == ประวัติ == == ผลงาน == === ประเด็นหลัก === ในงานเขียนของเพลโต เราจะพบการโต้เถียงเกี่ยวกับรูปแบบของการปกครองทั้งแบบเจ้าขุนมูลนาย และแบบประชาธิปไตย เราจะพบการโต้เถียงเกี่ยวกับผลของสิ่งแวดล้อมกับผลของพันธุกรรม ต่อสติปัญญาและอุปนิสัยของมนุษย์ ซึ่งการโต้เถียงนี้เกิดขึ้นมานานก่อนการโต้เถียงเรื่อง "ธรรมชาติหรือการเลี้ยงดู" ที่มีขึ้นในช่วงเวลาของฮอบบส์ และล็อก และยังมีผลต่อเนื่องมาถึงงานเขียนที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งเช่นหนังสือ The Mismeasure of Man และ The Bell Curve เรายังจะพบข้อคิดเห็นที่สนับสนุนอัตวิสัยและปรวิสัยของความรู้ของมนุษย์ ที่มีผลมาถึงการโต้เถียงสมัยใหม่ระหว่างฮูม และคานท์ หรือระหว่างนักหลังสมัยใหม่นิยมและผู้ที่ไม่เห็นด้วย กระทั่งเรื่องราวของเมืองหรือทวีปที่สาบสูญเช่นแอตแลนติส ก็ยังถูกยกมาเป็นตัวอย่างในงานของเพลโต เช่น Timaeus หรือ Critias === รูปแบบ === เพลโตเขียนงานแทบทั้งหมดในรูปของบทสนทนา ในงานชิ้นแรก ๆ ตัวละครสนทนาโดยการถามคำถามกันไปมา อย่างมีชีวิตชีวา ตัวละครที่โดดเด่นคือโสกราตีสที่ใช้รูปแบบของวิภาษวิธีที่ยังไม่ถูกจัดเป็นระบบ กลุ่มของผลงานนี้รวมเรียกว่าบทสนทนาโสกราตีส แต่คุณภาพของบทสนทนาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตลอดช่วงชีวิตของเพลโต เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่างานชิ้นแรก ๆ ของเพลโตนั้น วางรากฐานอยู่บนความคิดของโสกราตีส ในขณะที่ในงานเขียนชิ้นถัด ๆ มา เขาได้ค่อย ๆ ฉีกตัวเองออกจากแนวคิดของอาจารย์ของเขา ในงานชิ้นกลาง ๆ โสกราตีสได้กลายเป็นผู้พูดของปรัชญาของเพลโต และรูปแบบของการถาม-ตอบ ได้เปลี่ยนเป็นแบบ "เหมือนท่องจำ" มากขึ้น: ตัวละครหลักนั้นเป็นตัวแทนของเพลโต ในขณะที่ตัวละครรอง ๆ ไป แทบไม่มีอะไรจะกล่าวนอกจาก "ใช่" "แน่นอน" และ "จริงอย่างยิ่ง" งานชิ้นหลัง ๆ แทบจะมีลักษณะเหมือนเรียงความ และโสกราตีสมักไม่ปรากฏหรือเงียบไป เป็นที่คาดการณ์กันว่างานชิ้นหลัง ๆ นั้นเขียนโดยเพลโตเอง ส่วนงานชิ้นแรก ๆ นั้นเป็นบันทึกของบทสนทนาของโสกราตีสเอง ปัญหาว่าบทสนทนาใดเป็นบทสนทนาของโสกราตีสอย่างแท้จริง เรียกว่าปัญหาโสกราตีส ลักษณะการสร้างฉากที่มองเห็นได้ของบทสนทนา สร้างระยะห่างระหว่างเพลโตและผู้อ่าน กับปรัชญาที่กำลังถูกถกเถียงในนั้น ผู้อ่านสามารถเลือกรูปแบบการรับรู้ได้อย่างน้อยสองแบบ: อาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดที่กำลังพูดคุยกันอยู่, หรือเลือกที่จะมองเนื้อหาว่าเป็นการแสดงออกถึงอุปนิสัยที่อยู่ในผลงานนั้น ๆ รูปแบบการสนทนาทำให้เพลโตสามารถถ่ายทอดความเห็นที่ไม่เป็นที่นิยมผ่านทางตัวละครที่พูดจาไม่น่าคล้อยตาม เช่น Thrasymachus ใน สาธารณรัฐ == อภิปรัชญาของเพลโต: ลัทธิเพลโต หรือ สัจนิยม == ผลงานที่เป็นที่จดจำที่สุด หรืออาจเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเพลโต ก็คืออภิปรัชญาแบบทวิภาค ที่มักเรียกกันว่า (ในอภิปรัชญา) ลัทธิเพลโต หรือ (ถ้าเรียกให้เกินจริง) สัจนิยม    อภิปรัชญาของเพลโตได้แบ่งโลกออกเป็นสองมุม คือ โลกของรูปแบบ (form) และโลกที่รับรู้ได้ เขามองว่าโลกที่รับรู้ได้ รวมถึงสิ่งของต่าง  ๆ ในนั้น คือ สำเนาที่ไม่สมบูรณ์แบบจาก รูปแบบ ที่คิดคำนึงได้ หรือ แนวความคิด   โดยที่รูปแบบเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง และอยู่ในสภาวะสมบูรณ์แบบเสมอ   การทำความเข้าใจกับรูปแบบเหล่านี้จะต้องใช้สติปัญญา หรือความเข้าใจเท่านั้น อย่างไรก็ตามแนวคิดของการแบ่งแยกนี้ได้มีการค้นพบมาก่อนหน้าเพลโนในปรัชญาของโซโรแอสเตอร์ โดยเรียกว่าโลกมินู (ปัญญา) และ โลกกีติ (สัมผัส) รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับรัฐอุดมคติ ที่โซโรแอสเตอร์เรียกว่า ชาห์ริวาร์ (เมืองอุดมคติ) == สาขาวิชาที่ศึกษาเพลโต == นักปรัชญาชาวกรีก นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีก นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก บุคคลในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ชาวกรีกโบราณ
thaiwikipedia
795
กูเกิล
กูเกิล (Google LLC; เป็นบริษัทย่อยอเมริกัน มีรายได้หลักจากการโฆษณาออนไลน์ที่ปรากฏในเสิร์ชเอนจินของกูเกิล อีเมล แผนที่ออนไลน์ ซอฟต์แวร์จัดการด้านสำนักงาน เครือข่ายออนไลน์ และวิดีโอออนไลน์ รวมถึงการขายอุปกรณ์ช่วยในการค้นหา กูเกิลสำนักงานใหญ่ที่รู้จักในชื่อกูเกิลเพล็กซ์ตั้งอยู่ที่เมืองเมาน์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีพนักงาน 16,805 คน (31 ธันวาคม พ.ศ. 2550) โดยกูเกิลเป็นบริษัทอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีดาวโจนส์ (ข้อมูล 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550) กูเกิลก่อตั้งโดย แลร์รี เพจ และ เซอร์เกย์ บริน ขณะที่ทั้งคู่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งภายหลังทั้งคู่ได้ก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2541 ในโรงจอดรถของเพื่อนที่ เมืองเมนโลพาร์ก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก เมื่อ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เพิ่มมูลค่าของบริษัท 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากนั้นทางกูเกิลได้มีการขยายตัวตลอดเวลาจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่และการซื้อกิจการอื่นรวมเข้ามา เช่น กูเกิล ดีปไมด์ รวมถึงก่อตั้งบริษัทลูกอย่างกูเกิล เอกซ์กูเกิลได้ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาโดยนิตยสารฟอร์จูน ซึ่งมีคติพจน์ประจำบริษัทคือ Don't be evil อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในด้านการละเมิดข้อมูลส่วนตัว การละเมิดลิขสิทธิ์ และการเซ็นเซอร์ในหลายส่วน วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558 แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน สองผู้ก่อตั้งกูเกิล ได้ตั้งบริษัทใหม่ชื่อ "แอลฟาเบต" (Alphabet) โดยมีแผนจะใช้บริษัทนี้เป็นบริษัทแม่แทน และลดขนาดองค์กรกูเกิลลงเพื่อความคล่องตัวทางธุรกิจ ต่อมาวันที่ 1 กันยายน ปีเดียวกัน กูเกิลได้เปลี่ยนโลโก้บริษัทใหม่ == ประวัติ == === ช่วงแรก === กูเกิลเปิดตัวในเดือนมกราคม 2539 ซึ่งเป็นโปรเจ็ควิจัยของ แลร์รี่ เพจ และ เซอร์เกย์ บริน ขณะที่พวกเขาทั้งคู่เรียนปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย อันที่จริงงานโปรเจ็ควิจัยชิ้นมีผู้ร่วมก่อตั้งสามคน , สก็อต ฮัตตสัน เป็นโปรแกรมเมอร์ผู้เขียนโค๊ดให้แก่กูเกิลเอินจิน แต่เขาได้ออกจากกูเกิลก่อนที่กูเกิลจะกลายเป็นบริษัท ต่อมาฮัตสันได้เปิดบริษัท Willow Garage ในปี 2549 ซึ่งเป็นบริษัทวิทยาการด้านหุ่นยนต์ == โครงการรณรงค์ == กูเกิล ร่วมรณรงค์กิจกรรมการปิดไฟ กับโครงการเอิร์ธ อาวเออร์ (Earth Hour) ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund : WWF) ด้วยการปรับหน้าเว็บเพจเป็นสีดำพร้อมข้อความว่า "เราปิดไฟแล้ว ต่อไปตาคุณ" (We've turned the lights out. Now it's your turn.) ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551 "Google" ชื่อ "Google" มาจากคำว่า "googol" ซึ่งหมายถึงจำนวนทางคณิตศาสตร์ที่หมายถึงเลข 1 แล้วตามด้วยเลข 0 อีกหนึ่งร้อยตัว หรือ 10100 เพื่อเป็นการแสดงถึงเป้าหมายของบริษัทที่จะจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล อีกกระแสหนึ่งบอกว่าชื่อ Google มาจากความผิดพลาดในการจดโดเมนเนมในช่วงก่อตั้ง ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 กูเกิลชนะความในศาล ในคดีที่มีบริษัทอื่นตั้งชื่อใกล้เคียง ได้แก่ googkle.com ghoogle.com และ gooigle.com เพื่อเรียกให้คนอื่นเข้าเว็บไซต์ของตน ทำให้เกิดความเสียหายกับชื่อเสียงของกูเกิล == ผลิตภัณฑ์ของกูเกิล == === ซอฟต์แวร์เดสก์ทอป === ซอฟต์แวร์ของกูเกิล จะเป็นซอฟต์แวร์ให้ดาวน์โหลดใช้งานฟรี และทำงานผ่านระบบของกูเกิล กูเกิล ทอล์ก : ทอล์ก (Google Talk) ซอฟต์แวร์เมสเซนเจอร์และวีโอไอพี กูเกิล เอิร์ธ : เอิร์ธ (Google Earth) ซอฟต์แวร์ดูภาพถ่ายผ่านดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศ ภูมิประเทศของแต่ละประเทศ ของโลก ปีกาซา : ปีกาซา (Picasa) ซอฟต์แวร์สำหรับดูภาพภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ ใช้งานคู่กับเว็บไซต์ปีกาซา กูเกิล แพ็ก : แพ็ก (Google Pack) เป็นชุดซอฟต์แวร์พร้อมดาวน์โหลด ประกอบด้วย โปรแกรมของกูเกิลเองได้แก่ เดสก์ท็อป ปีกาซา ทูลบาร์ โฟโต้สกรีนเซฟเวอร์ เอิร์ธ ทอร์ก วิดีโอเพลย์เยอร์ และโปรแกรมอื่นรวมถึง ไฟร์ฟอกซ์ สตาร์ออฟฟิศ อะโดบี รีดเดอร์ สไกป์ กูเกิล โครม : โครม (Google Chrome) ซอฟต์แวร์เบราว์เซอร์ สเก็ตช์อัป : สเก็ตช์อัป (SketchUp) ซอฟต์แวร์สำหรับวาดภาพสเก็ตช์ และภาพ 3 มิติ กูเกิล สกาย แมพ : สกาย แมพ (Google sky map) ซอฟต์แวร์ที่ใช้ดู แผนที่ดาว ตำแหน่งดาวเคราห์ และ ดาวฤกษ์ ของ กาแล็กซี่ต่างๆๆ กูเกิล แมพ : แมพ (Google Map) ซอฟต์แวร์สำหรับค้นหาแผนที่บนโลก === ด้านเอกสาร === กูเกิล เอกสาร : เอกสาร (Google Docs ) ซอฟต์แวร์ที่ใช้เกี่ยวกับ การเก็บข้อมูล ภาพ ข้อมูล เหมือนกับ Microsoft word กูเกิล ชีต : ชีต (Google Sheet) ซอฟต์แวร์ ที่ใช้เกี่ยวกับ การทำข้อมูล กราฟเส้น ต่างๆๆ เหมือนกับ Microsoft Excel กูเกิล สไลด์ : สไลด์ (Google Slides) ซอฟแวร์ ที่ใช้เกี่ยวกับ การนำเสนอ ข้อมูล ความรู้ เหมือนกับ Microsoft power point กูเกิล คิป : คิป (Google Keep) ซอฟแวร์ ที่ใช้เกี่ยวกับ การจดบันทึก สิ่งต่างๆๆหรือสิ่งสำคัญ ซึ่งเหมือนการเก็บข้อมูลใน สมุด หรือ ไดอารี่ === บริการบนอินเทอร์เน็ต === {|class="wikitable sortable" ! width = "120px"| ชื่อ || width = "120px"| ชื่ออังกฤษ || รายละเอียดย่อ || width = "30px"| อ้างอิง |- | กูเกิล เสิร์ช || Google Search || เว็บไซต์เสิร์ชเอนจินค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต มีให้บริการมากกว่า 100 ภาษา ||[//www.google.com google.com] |- | กูเกิล กรุ๊ปส์ || Google Groups || บริการเว็บบอร์ด และสร้างเว็บไซต์ของกลุ่ม || http://groups.google.com |- | กูเกิล ค้นหารูปภาพ || Google Image Search || บริการค้นหารูปภาพออนไลน์ || http://images.google.com/ |- | กูเกิล แคเลนเดอร์ || Google Calendar || บริการปฏิทินและจดวันนัดหมาย || http://www.google.com/calendar/ |- | จีเมล || Gmail || บริการอีเมล || http://www.gmail.com |- | กูเกิล ไซต์ไกสต์ || Google Zeitgeist || บริการเปิดให้ดูคำค้นหา คำนิยม รูปแบบ และแนวโน้มในการค้นหาผ่านกูเกิลเสิร์ช || http://www.google.com/press/zeitgeist.html |- | กูเกิล ด็อกส์ || Google Docs || บริการใช้งานซอฟต์แวร์สำนักงานรวมถึง เวิร์ด สเปรดชีต พรีเซนเตชัน ให้ผู้ใช้สามารถได้ฟรีออนไลน์ โดยเพิ่มเติมความสามารถในการแชร์และให้ผู้ใช้หลายคนสามารถแก้ไขไฟล์เดียวกันพร้อมกันได้โดยผู้ใช้ โดยเริ่มพัฒนาจากซอฟต์แวร์ ไรต์รี (Writely) และ กูเกิล สเปรดชีตส์ (Google Spreadsheet) เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2550 || http://docs.google.com/ |- | กูเกิล ทรานซเลต || Google Translate || บริการแปลข้อความผ่านเว็บไซต์ รวมถึงแปลเว็บไซต์ทั้งหน้า || http://translate.google.com/ |- | บล็อกเกอร์ || Blogger || บริการเขียนบล็อก || http://www.blogger.com |- | กูเกิล บล็อกเสิร์ช || Blog Search || บริการค้นหาบล็อก || http://blogsearch.google.com/ |- | ปีกาซา || Picasa || เว็บไซต์เก็บภาพ ใช้งานคู่กับซอฟต์แวร์ปีกาซา ||http://picasaweb.google.com/ |- | กูเกิล เพจ || Google Page || บริการสร้างเว็บไซต์ || http://pages.google.com/ |- | กูเกิล โน้ตบุ๊ก || Google Notebok || บริการสมุดบันทึกออนไลน์ || http://www.google.com/notebook |- | กูเกิล แมปส์ || Google Maps || บริการแผนที่ ค้นหาที่อยู่ ค้นหาธุรกิจและร้านอาหาร || http://maps.google.com/ |- | ยูทูบ || YouTube || บริการแชร์วิดีโอ || http://www.youtube.com/ |- | กูเกิล วิดีโอ || Google Video || บริการค้นหาวิดีโอออนไลน์ || http://video.google.com/ |- | กูเกิล เว็บมาสเตอร์ || Google Webmaster || ให้บริการเครื่องมือสำหรับเว็บมาสเตอร์ ตรวจสอบเว็บไซต์ ค้นหาดัชนีการค้นหาผ่านกูเกิล ตรวจสอบโรบอตไฟล์ ||
thaiwikipedia
796
เสิร์ชเอนจิน
เสิร์ชเอนจิน (search engine) หรือ โปรแกรมค้นหา คือ โปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต โดยครอบคลุมทั้งข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เพลง ซอฟต์แวร์ แผนที่ ข้อมูลบุคคล กลุ่มข่าว และอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่โปรแกรมหรือผู้ให้บริการแต่ละราย. เสิร์ชเอนจินส่วนใหญ่จะค้นหาข้อมูลจากคำสำคัญ (คีย์เวิร์ด) ที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป จากนั้นก็จะแสดงรายการผลลัพธ์ที่มันคิดว่าผู้ใช้น่าจะต้องการขึ้นมา ในปัจจุบัน เสิร์ชเอนจินบางตัว เช่น กูเกิล จะบันทึกประวัติการค้นหาและการเลือกผลลัพธ์ของผู้ใช้ไว้ด้วย และจะนำประวัติที่บันทึกไว้นั้น มาช่วยกรองผลลัพธ์ในการค้นหาครั้งต่อ ๆ ไป == รายชื่อเสิร์ชเอนจินเรียงลำดับตามความนิยม == === เสิร์ชเอนจินอื่นๆ === ไป่ตู้ (Baidu) เสิร์ชเอนจิน อันดับ 1 ของประเทศจีน คูล (Cuil) ยานเดกซ์ (Yandex) เสิร์ชเอนจิน อันดับ 1 ของรัสเซีย กูเกิล (Google) เสิร์ชเอนจิน ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก === เสิร์ชเอนจินในอดีตที่ปัจจุบันยกเลิกการใช้งานแล้ว === ฮอตบอต (HotBot) แอลตาวิสตา (Alta Vista) ไลคอส (Lycos) ในประเทศไทยมีการพัฒนาเครื่องมือค้นหาของไทยในชื่อ สรรสาร พัฒนาโดยเนคเทค == ประเภทของเครื่องมือค้นหา == Catalog based search engine เป็นโปรแกรมสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตชนิดหนึ่ง โดยโปรแกรมจะรวบรวม และแยกจัดเก็บเว็บไว้ในฐานข้อมูลตามประเภทหัวข้อของเว็บ เมื่อผู้ใช้มาค้นหา ก็จะสามารถเข้าไปดูตามหัวข้อต่าง ๆ แล้วดูหัวข้อย่อย ๆ เข้าไปอีกจนกว่าจะเจอหัวข้อหรือเรื่องที่ต้องการ ตัวอย่าง catalog based search engine คือ Yahoo เป็นต้น ซึ่งจะต่างกับ query based search engine ที่จะต้องพิมพ์คำค้นหาเพื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลว่ามีข้อมูลนี้หรือไม่ ถ้ามีก็จะแสดงรายชื่อออกมา == หลักการทำงานของเสิร์ชเอนจิน == การตรวจค้นหาข้อมูลในเว็บเพจต่างๆ ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลที่ได้ทำการตรวจค้นไว้ในฐานข้อมูล การแสดงผลการค้นหาข้อมูล หลักการทำงานของ Search Engine คือ ระบบ Search Engine จะสร้างระบบเก็บข้อมูล หรือที่เรียกว่า Google Bot สำหรับไต่ (Crawl) ตาม Links ต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลเว็บต่างๆ ไปไว้ใน Server และจะถูกจัดอันดับด้วยระบบ Algorithm ที่จะประมวลผลว่าเว็บไหนมีคุณภาพ และเกี่ยวกับเรื่องอะไร โดยจะจัดเก็บข้อมูลไว้ตามหมวดหมู่ต่างๆ เมื่อผู้ค้นหาข้อมูลผ่านทาง Search Bot ด้วย Keyword ต่างๆ ระบบ Search Engine จะไปค้นหาข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงผลให้ผู้ค้นหาข้อมูล ซึ่งเว็บไซต์ไหนที่มีการ Optimize มาดี และมีคุณภาพตรงตามเกณฑ์ของ Search Engine ก็มีโอกาสที่จะได้ขึ้นแสดงในอันดับต้นๆ ส่งผลให้มีผู้ใช้คลิกเข้ามายังเว็บไซต์มากขึ้น เนื่องจากยิ่งอันดับสูง อัตราการคลิก หรือ Click Through Rate (CTR) ก็จะสูงตามไปด้วย == อ้างอิง ==
thaiwikipedia
797
ริชาร์ด ไฟน์แมน
ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ไฟน์แมน (Richard Phillips Feynman) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 เสียชีวิต 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 เป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ ที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลมากที่สุดของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในการจัดอันดับนักฟิสิกส์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก โดยสำนักข่าวบีบีซี ที่ให้นักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกร่วม 100 คนช่วยกันตัดสิน ไฟน์แมน เป็นนักฟิสิกส์สมัยใหม่เพียงคนเดียว ที่ชนะใจเหล่านักฟิสิกส์ชั้นนำทั่วโลก โดยติดอันดับ 10 คนแรกของโลก (สมัยใหม่ในที่นี้ คือนับหลังจากยุคทองของทฤษฎีควอนตัม คือในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2005) แม้แต่นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังอย่างสตีเฟน ฮอว์คิง ก็ยังได้เพียงอันดับ 16 ในผลโหวต แน่นอนผลโหวตนี้ไม่สามารถตัดสินอะไรได้ แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างดีว่า ไฟน์แมนมีอิทธิพลต่อวงการฟิสิกส์ยุคปัจจุบันแค่ไหน ทั้งในแง่ผลงานทางวิชาการ การสอนหนังสือ และการใช้ชีวิต ผลงานของไฟน์แมนมีมากมาย เช่น การขยายทฤษฎีพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัมให้กว้างใหญ่ขึ้นมาก ซึ่งนำไปสู่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี ค.ศ. 1965 ซึ่งเขาได้ร่วมกับจูเลียน ชวิงเกอร์ และชินอิจิโร โทโมนางะ ไฟน์แมนปฏิเสธตำแหน่งนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่ที่ไอน์สไตน์อยู่ เพียงเพราะเขาต้องการสอนหนังสือให้กับเด็ก ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดว่า "ผมอยากสอน เพราะในตอนที่ผมไม่มีไอเดียอะไรใหม่ ๆ ในงานวิจัย ผมก็ยังสามารถให้อะไรกับสังคมได้" ไฟน์แมนตัดสินใจรับตำแหน่งที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) สร้างยุคทองของมหาวิทยาลัย ร่วมกับเมอเรย์ เกลมานน์ ผู้คิดค้นทฤษฎีควาร์ก, ไลนัส พอลิง หนึ่งในนักเคมีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 หนึ่งในผู้คิดค้นทฤษฎีควอนตัมเคมี และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำท่านอื่น ๆ ในแง่ของการเป็นอาจารย์ เขาได้เขียนคำบรรยายฟิสิกส์ของไฟน์แมน (Feynman Lectures on Physics) อันโด่งดัง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สอนวิชาฟิสิกส์เป็นจำนวนมาก ทั้งในแง่เนื้อหาและการนำเสนอ เป็นการพลิกการเรียนการสอนฟิสิกส์แบบเก่า ๆ ให้เข้าใจง่าย นอกจากนั้นเขายังเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลก ในโครงการแมนฮัตตัน เป็นหนึ่งในผู้ตรวจสอบการระเบิดของกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ และเป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิดของนาโนเทคโนโลยี == ผลงานเกี่ยวกับไฟน์แมน == ผลงานของ ริชาร์ด ไฟน์แมน ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล คือ "The Development of the Space-Time View of Quantum Electrodynamics" The Feynman Lectures on Physics == ดูเพิ่ม == รายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบล == แหล่งข้อมูลอื่น == การจัดอันดับนักฟิสิกส์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก โดยสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ Richard P. Feynman - Nobel Lecture Feynman Online! Unique freeview videos of Feynman's lectures on QED courtesy of The Vega Science Trust and The University of Auckland Los Alamos National Laboratory Richard Feynman page The Nobel Prize Winners in Physics 1965 About Richard Feynman Feynman's classic 1959 talk:There's Plenty of Room at the Bottom Richard Feynman and The Connection Machine PhysicsWeb review of the play QED BBC Horizon: The Pleasure of Finding Things Out — with Richard Feynman. A 50-minute documentary interview with Feynman recorded in 1981 Richard Feynman, Winner of the 1965 Nobel Prize in Physics == อ้างอิง == นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ชาวอเมริกันผู้ได้รับรางวัลโนเบล บุคคลจากควีนส์ ศิษย์เก่าจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน โครงการแมนแฮตตัน บุคคลจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล บุคคลจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย
thaiwikipedia
798
ไฟน์แมน
redirect ริชาร์ด ไฟน์แมน
thaiwikipedia
799
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศาสตราจารย์ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มีนาคม พ.ศ. 2459 — 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 43 ปี 3 เดือน และได้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนที่ 10 เขาเกิดและเติบโตจากครอบครัวชาวจีน สำเร็จการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเข้าร่วมพันธมิตรกับญี่ปุ่น ป๋วยก็ได้ร่วมก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในประเทศอังกฤษ หนหนึ่งเขาเสี่ยงชีวิตลอบกระโดดร่มเข้าไทย ณ บ้านวังน้ำขาว จังหวัดชัยนาท จนได้ชื่อว่าเป็น “วีรบุรุษวังน้ำขาว” เมื่อสงครามยุติลง ประเทศไทยจึงไม่ถือเป็นผู้แพ้สงคราม ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขาก็ได้รับหน้าที่เป็นทั้งผู้ว่าธนาคารแห่งชาติ รวมถึงยังได้รับตำแหน่งทั้งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ป๋วยได้แสดงความกล้าหาญ หลายครั้งโดยเฉพาะการส่งจดหมายในนาม "นายเข้ม เย็นยิ่ง" ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความที่เขาได้รับการชื่นชมมากมายจากสังคม ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป๋วยก็ถูกทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ออกมาโจมตีกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดก็ต้องออกเดินทางลี้ภัยไปต่างประเทศ และเสียชีวิตลงในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ที่ประเทศอังกฤษ สเตฟาน คอลินยองส์ (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน ได้กล่าวยกย่องป๋วยว่าเป็น "บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่" (Founding Father of Modern Thailand) ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ป๋วยได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2508 และได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2558 == ประวัติ == ศ. พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ ศ. พันตรี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 ณ บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย เป็นบุตรของซา แซ่อึ้ง กับเซาะเซ็ง อึ๊งภากรณ์ (สกุลเดิม: แซ่เตียว; ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยว่า ประสาทเสรี) ชื่อ "ป๋วย" นั้น บิดาของป๋วยตั้งให้เป็นชื่อตัว ส่วนชื่อสกุลของป๋วย คือ "อึ้ง" ชื่อรุ่นคือ "เคียม" อ่านทั้งสามตัวตามลำดับประเพณีจีน สำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น "อึ้ง ป้วย เคียม" แต่ถ้าอ่านโดด ๆ วรรณยุกต์จะเปลี่ยนไป ชื่อสกุลเป็น "อึ๊ง" และชื่อตัวเป็น "ป๋วย" คำว่า "ป๋วย" แปลตรงตัวได้ว่า "พูนดินที่โคนต้นไม้" เพราะตัวประกอบในอักษรระบุไว้เช่นนั้น แต่มีความหมายกว้างออกไปอีกคือ "บำรุง" "หล่อเลี้ยง" "เพาะเลี้ยง" และ "เสริมกำลัง" มารดาของป๋วย เป็นบุตรสาวคนแรกของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็ง อยู่ใกล้ตรอกโรงโคม ส่วนบิดาเป็นคนจีน ทำงานช่วยพี่ชายที่แพปลา แถวปากคลองวัดปทุมคงคา โดยทั้งสองก็ไม่ค่อยมีรายได้มากนัก === การศึกษา === พ่อแม่ของป๋วยตั้งใจส่งลูกชายเข้าเรียน ที่แผนกภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพง คือปีละ 70 บาทในสมัยนั้น เมื่อเด็กชายป๋วยอายุได้เก้าขวบ บิดาของป๋วยก็เสียชีวิต โดยไม่มีทรัพย์สินเงินทองทิ้งไว้ให้ ลุงเป็นคนรับอุปการะ ส่งเสียเงินให้เป็นรายเดือน แม้ว่าจะมีปัญหาด้านการเงิน มารดาของป๋วย ก็สนับสนุนให้เรียนหนังสือที่เดิม จนสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2476 ขณะอายุได้ 18 ปี ป๋วยได้มาเป็นมาสเตอร์ หรือครูที่นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญใช้เรียก ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนวิชาคำนวณ และภาษาฝรั่งเศส มีรายได้เดือนละ 40 บาท แบ่งให้แม่ 30 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ป๋วยได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการบังคับให้เข้าชั้นเรียน ทางมหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์คำบรรยายออกจำหน่ายในราคาถูก วิชาละประมาณ 2 บาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่กำลังทำงานอยู่สามารถศึกษาเองได้ ป๋วยใช้เวลาในตอนค่ำและวันหยุดเรียนอยู่ 4 ปี ก็สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมาย การเมืองและเศรษฐการ (หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต, ธ.บ.) ซึ่งจัดการศึกษาในลักษณะสหสาขาวิชา เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง และมีความรู้ในลักษณะเป็นองค์รวม โดยสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2480 หลังจากนั้น ก็ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มาทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ให้แก่อาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2481 ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาลได้ไปเรียนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 6 เดือน มารดาของป๋วยก็เสียชีวิตลง ป๋วยใช้เวลาสามปีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ป๋วยเป็นนักเรียนดีเด่น ป๋วยเป็นคนไทยคนเดียว ในมหาวิทยาลัยนี้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยกันในปี พ.ศ. 2485 โดยได้เกรดเอแปดวิชา และเกรดบีหนึ่งวิชา จากผลการเรียนอันดีเด่นของป๋วย ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์ม สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้ทันที แต่ในระหว่างนั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ขึ้น ทำให้ป๋วยตัดสินใจทำงานเพื่อชาติ ทำให้ป๋วยจบปริญญาเอกภายหลังสงครามยุติในปี พ.ศ. 2491 ป๋วยก็ได้เรียนสำเร็จปริญญาเอก โดยใช้เวลาสามปีทำวิทยานิพนธ์ "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมดีบุก" === การทำงาน === ==== ช่วงแรก ==== ภายหลังจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2476 ป๋วยได้เริ่มทำงานเป็นครู (หรือที่นักเรียนอัสสัมชัญเรียกว่า "มาสเตอร์") สอนวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศส ที่โรงเรียนเก่าของเขาเอง และจนเมื่อสำเร็จธรรมศาสตร์บัณฑิตในฐานะนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วในปี พ.ศ. 2480 ก็ทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัย ==== งานการเมือง ==== วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศสงครามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และต่อมาก็ประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยเรียกตัวคนไทย ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ให้เดินทางกลับ โดยขู่ว่า ผู้ที่ไม่เดินทางกลับจะถูกถอดสัญชาติไทย ปรากฏว่าคนไทยจำนวนหนึ่ง ได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ในนามของขบวนการเสรีไทย ภายในประเทศมี นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ เป็นหัวหน้า ส่วนในสหรัฐอเมริกามี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย เป็นหัวหน้า เสรีไทยปฏิเสธการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกา ประกาศรับรองฐานะของเสรีไทย ส่วนทางด้านอังกฤษ ปรากฏว่าอัครราชทูตไทยยอมเดินทางกลับประเทศตามคำสั่งของรัฐบาล แต่ป๋วยและคนไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับประเทศ และได้ร่วมกันก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในอังกฤษ เพื่อประกาศไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติรัฐบาลไทยที่ยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เสรีไทยจำนวน 36 คน สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกอังกฤษ เสรีไทยกลุ่มนี้มีฉายาว่า "ช้างเผือก" (White Elephants) ในช่วงแรก ป๋วยได้รับยศเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษ มีชื่อจัดตั้งว่า "นายเข้ม เย็นยิ่ง" นายเข้ม เย็นยิ่ง ต่อมาได้รับคำสั่งให้ลงเรือบรรทุกทหารจากลิเวอร์พูล เล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกา มาขึ้นฝั่งที่ประเทศอินเดีย ได้มาฝึกหลักสูตรนักรบแบบกองโจรและการจารกรรม ที่เมืองปูนา มีการฝึกการใช้อาวุธ และวิธีการต่อสู้ต่าง ๆ เป็นเวลาครึ่งปี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2486 นายเข้มเป็นทหารฝ่ายสัมพันธมิตรชุดแรก ที่ได้รับคำสั่งให้เข้ามาติดต่อกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ที่มี "รูธ" หรือ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า เพื่อหาทางตั้งสถานี วิทยุติดต่อระหว่างกองทัพอังกฤษในอินเดียกับคณะเสรีไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ร้อยตรีเข้มได้เดินทางด้วยเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษพร้อมสหายอีกสองคนจาก ลังกา โดยมีเป้าหมายจะขึ้นฝั่งที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อมาถึงที่หมายเรือดำน้ำจอดซุ่มรอนอกฝั่งหนึ่งสัปดาห์ แต่ไม่มีคนมารับจึงยกเลิกภารกิจ จึงกลับสู่ศรีลังกา ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ร้อยตรีเข้มได้รับมอบภารกิจอีกครั้ง ให้ลักลอบเข้าแผ่นดินไทย โดยการกระโดดร่มพร้อมอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุ จึงได้เดินทางไปฝึกซ้อมกระโดดร่ม ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ที่แคว้นปัญจาบ พอวันที่ 6 มีนาคม ร.ต.เข้ม และเสรีไทยอีกสองคนคือ แดง (ประทาน) และ ดี (ศ.เกียรติคุณ นพ.เปรม บุรี) มาขึ้นเครื่องบิน บี 24 ที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย มุ่งมาสู่แผ่นดินไทย เป็นการกระโดดร่มแบบสุ่ม ไม่มีคนมารับที่ภาคพื้นดิน แต่สภาพอากาศไม่อำนวย เครื่องบินจึงเดินทางกลับไปกัลกัตตา อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เสรีไทยทั้งสามคนคือ เข้ม แดง และดี ก็ขึ้นเครื่องบินอีก เพื่อปฏิบัติภารกิจเดิม โดยเข้ามาทางจังหวัดชัยนาท เสรีไทยทั้งสามคนกระโดดร่มลง แต่ ร.ต.เข้ม ถูกเจ้าหน้าที่ไทยและชาวบ้าน ช่วยกันล้อมจับกุมตัวไว้ได้ และถูกตั้งข้อหาว่า ทรยศต่อชาติและทำจารกรรม ถูกซ้อม และผลักเข้าสู่กอหนาม โดยมีเจ้าหน้าที่เอาปืนจ่อข้างหลัง และถูกนำมาขังล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ เป็นเวลาหลายวัน จึงถูกส่งตัวมาลงเรือยนต์ล่องลำน้ำเจ้าพระยา เข้ามาที่ตึกสันติบาลในกรุงเทพฯ ด้วยความช่วยเหลือของตำรวจที่เป็นเสรีไทย ร.ต.เข้ม จึงมีโอกาสเข้าพบกับ นายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ฝ่ายเสรีไทย เริ่มส่งวิทยุไปยังกองทัพอังกฤษที่อินเดีย ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้หน่วยทหารจากอังกฤษและสหรัฐฯ สามารถเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติงานในแผ่นดินไทยได้สะดวกขึ้น ในการทิ้งระเบิดของอังกฤษ นายป๋วยได้ประสานติดต่อกับอังกฤษ แจ้งพิกัดไม่ให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวังต่าง ๆ ทางอังกฤษก็ได้ตอบรับ ทำให้สถานที่สำคัญเหล่านี้ สามารถอยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้ ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง นายปรีดีส่งนายป๋วยกลับไปอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษ ยอมรับว่าขบวนการเสรีไทย เป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย ทำนองเดียวกับที่สหรัฐได้รับรองมาก่อนแล้ว และเจรจาให้อังกฤษ ยอมปล่อยเงินตราสำรอง ที่รัฐบาลไทยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ เมื่อสงครามโลกยุติ นายป๋วยได้รับยศพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ ได้เป็นหนึ่งในผู้แทนไทย เดินทางไปเจรจาทางการทหาร และการเมืองกับฝ่ายอังกฤษ ที่นครแคนดี ประเทศศรีลังกา ได้ร่วมกับเสรีไทยจากอเมริกาอารักขา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชาที่กัลกัตตา จากนั้น นายป๋วยก็คืนยศทหารแก่กองทัพอังกฤษ แล้วกลับไปแต่งงานกับ มาร์กาเร็ต สมิท ในปี พ.ศ. 2489 และเรียนต่อระดับปริญญาเอก ที่ มหาวิทยาลัยลอนดอน ==== งานด้านการเงิน การคลัง ==== ในขณะที่ป๋วยกำลังศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ นายปรีดี พนมยงค์ ถูกทหารทำรัฐประหาร ทำให้สถานการณ์ไม่ปลอดภัย ทางญาติขอให้ป๋วยยังไม่ต้องรีบกลับมา ปี พ.ศ. 2492 ดร.ป๋วย ก็เดินทางกลับประเทศไทย บริษัทห้างร้านต่างๆ จำนวนมากทั้งในและนอกประเทศ ต้องการตัวดร.ป๋วยไปทำงานโดยเสนอให้เงินเดือนสูงๆ แต่ในที่สุด ดร.ป๋วย ก็เลือกที่จะรับราชการ เนื่องจากถือว่า ตนเองนอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนาชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย ดร.ป๋วย เข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้รับเงินเดือน ประมาณ 1,600 บาท สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังอยู่ในสภาพฟื้นตัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ดร.ป๋วย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของปลัดกระทรวงการคลัง และกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2496 ดร.ป๋วย ก็ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีส่วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีปัญหามากในสมัยนั้น กลับมีเสถียรภาพมากขึ้น นักธุรกิจมั่นใจค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้าลดลง และเงินสำรองระหว่างประเทศก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2496 คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ ดร.ป๋วย พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง เนื่องจาก ดร.ป๋วย ปฏิเสธการที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการซื้อ สหธนาคารกรุงเทพจำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้น กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ ขอให้ ดร.ป๋วย ยกเลิกการปรับ แต่ ดร.ป๋วย ปฏิเสธ และยืนกรานให้คณะรัฐมนตรีปรับธนาคารแห่งนั้น ในที่สุดคณะรัฐมนตรี ก็ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย ต่อมา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็พยายาม เสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทน บริษัท โทมัส เดอลารู คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดร.ป๋วยเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ดร.ป๋วย ตรวจพบว่า บริษัทดังกล่าวฝีมือไม่ดี ปลอมง่าย และมีชื่อเสียงในการวิ่งเต้น จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอให้เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตร จึงทำรายงานเสนอ ให้ใช้ บริษัทโทมัส เดอลารูตามเดิม แต่ถ้าหากจะตัดสินใจให้บริษัทอเมริกันเป็นผู้พิมพ์ธนบัตร ก็จะออกจากราชการ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างมาก ผู้มีอำนาจในประเทศขณะนั้น ต่างไม่พอใจ ดร.ป๋วย เพื่อความปลอดภัย พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ให้ ดร.ป๋วย ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2499 และยังได้เป็นผู้แทนไทย ประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ มีผลทำให้ ไทยสามารถขายแร่ดีบุก เป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศได้มากขึ้น ปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ ดร.ป๋วย กลับเมืองไทยเข้ามาช่วยงาน ต่อมาเมื่อ นายโชติ คุณะเกษม ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จอมพลสฤษดิ์ได้โทรเลขไปถึง ดร.ป๋วย ซึ่งกำลังประชุมคณะรัฐมนตรีดีบุกโลกที่กรุงลอนดอน เสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ ดร.ป๋วย ปฏิเสธไปว่า ไม่ขอรับตำแหน่งนี้ เพราะเมื่อตอนเข้าเป็นเสรีไทย ได้สาบานไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้หวังแสวงหาผลประโยชน์จากการเป็นเสรีไทย เมื่อ ดร.ป๋วย กลับจากอังกฤษ จอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้ง ให้ ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง ดร.ป๋วย จึง ควบคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลังและ งบประมาณของประเทศ ในขณะที่อายุได้ เพียง 43 ปี นอกจากนั้น ดร.ป๋วย ยังมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันให้มี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาพัฒน์ เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ แม้ว่า ดร.ป๋วย จะมีตำแหน่งที่สูง แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ชอบนุ่งกางเกงเวสต์ปอยต์มาทำงาน ไม่มีชุดดินเนอร์แจ็กเกตเป็นของตนเอง ชอบกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ตลอดสมัยที่ ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตรา ไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาท ได้รับได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเงินทุน สำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มขยายสาขาออกไปสู่ภูมิภาค สามารถจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรได้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องไปพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศ มีการออกพระราชบัญญัติ ธนาคารพาณิชย์ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งถือเป็นแม่บทของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนนำเทคนิคนโยบายทางการเงินที่ สำคัญๆ เช่น อัตราเงินสดสำรองอัตราส่วนลดมาใช้ และชักจูงให้ธนาคารปฏิบัติตามกฎระเบียบ อันจำเป็นต่อการ เสริมสร้างความมั่นคงในระบบการธนาคาร และอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขามากขึ้น และขยายไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้กิจการธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ปี พ.ศ. 2507 ดร.ป๋วย ได้กล่าวสุนทรพจน์ของสมาคมธนาคารไทย เพื่อเตือนสติผู้มีอำนาจ มีใจความว่า จอมพล ถนอม นายกรัฐมนตรีผู้มีคำขวัญประจำใจว่า "จงทำดี จงทำดี จงทำดี" มีนโยบายไม่เห็นด้วยที่รัฐมนตรีจะไปยุ่งเกี่ยว กับ "การค้า" แต่ทำไมจึงมีรัฐมนตรีบางคนไปเป็นกรรมการในธนาคารต่างๆ หรือเป็นเพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่ "การค้า" ชนิดหนึ่ง สุนทรพจน์นี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่ว ในยุคสมัยรัฐบาลทหาร ดร.ป๋วย เป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนเดียวที่กล้าวิจารณ์ นักการเมือง รัฐมนตรี และนายทหารชั้นสูง ที่มักเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการธนาคารต่างๆ เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว เมื่อจอมพลถนอมทราบความ ก็ยินยอมลาออกจากตำแหน่งกรรมการธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดลาออกตาม ==== งานด้านการศึกษา ==== ปี พ.ศ. 2507 ดร. ป๋วย เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ถูกนายกรัฐมนตรียับยั้งไว้ ขณะนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพียงสี่คน อาจารย์ป๋วยจึงเร่งผลิตอาจารย์ โดยประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่ แล้วหาทุนส่งไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์เติบโตขึ้น ภายในเวลาเพียงสิบปี มีอาจารย์เพิ่มนับร้อยคน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก สิงหาคม พ.ศ. 2508 ดร. ป๋วย ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในคำประกาศเกียรติประวัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "บุคคลสำคัญ ผู้แสดงบทบาทอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยมีเสถียรภาพการเงินควบคู่กันไป นายธนาคารระหว่างประเทศ ยกย่องว่านายป๋วยเป็น ผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก ... การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง นายป๋วยผู้ถือได้ว่า ความเรียบง่าย คือความงาม และความชื่อสัตย์สุจริต คือคุณความดีสูงสุดของชีวิตข้าราชการ เป็นหลักประจำใจซึ่งยึดถือมาช้านาน และได้เผยแพร่กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้แสวงหาความจริง และผู้ใช้วิชาชีพ จะต้องไม่เป็นเพียงผู้ที่คอยเรียนรู้อยู่เสมอ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากยังต้องมีความชื่อสัตย์สุจริต และต้องแสดงให้ปรากฏออกมาถึง ความชื่อสัตย์สุจริตนั้นอย่างเพียงพอ ที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นมีความชื่อสัตย์สุจริตด้วย" ปี พ.ศ. 2510 ดร. ป๋วย ได้ร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจ นักการเงิน นักการเมือง และเชื้อพระวงศ์ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่า เป็นโครงการพัฒนาชนบทแห่งแรกขององค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้แนวคิดจาก ดร. วาย เยน ที่มีแนวคิดว่า การพัฒนาชนบทและการพัฒนาคุณภาพของคน จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยการส่งเสริม การพึ่งตนเอง การร่วมมือกันของชาวบ้าน การศึกษา การอนามัย การอาชีพ แนวทางของมูลนิธิบูรณะชนบทฯ ในการทำงานกับชาวบ้านคือ "ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ..." โครงการของมูลนิธิบูรณะชนบท ดำเนินการอยู่ในเขตจังหวัดชัยนาทเป็นหลัก ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากชาวบ้านที่นั้น เคยช่วยชีวิต ดร. ป๋วย เมื่อครั้งเป็นเสรีไทย ปี พ.ศ. 2513 อาจารย์ป๋วยได้ลาพัก ไปสอนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้เรื่องมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ให้ทันการณ์ โดยรับเงินเดือนจากธนาคารชาติดังเดิม แต่ขอให้มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันจ่ายเงินเดือนอันท่านพึงจะได้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย นับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำไร ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ดร. ป๋วย ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมเวลาที่ ดำรงตำแหน่ง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน จึงมารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์อย่างเต็มตัว เพื่อต้องการทุ่มเทให้ กับการศึกษาอย่างจริงจัง และได้ลาไปสอนพิเศษและทำวิจัยอีกครั้งที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง อาจารย์ป๋วยได้เขียนจดหมายฉบับประวัติศาสตร์จากอังกฤษ โดยใช้ชื่อ นายเข้ม เย็นยิ่ง (ชื่อรหัสสมัยเป็นเสรีไทย) จดหมายฉบับนี้ เขียนถึงผู้ใหญ่บ้านชื่อ ทำนุ เกียรติก้อง ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม เรียกร้องให้จอมพลถนอมซึ่งยึดอำนาจการปกครอง คืนเสรีภาพประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ข้อความในจดหมายตอนหนึ่งว่า "ได้โปรดเร่งรัดให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้หรืออย่างช้าก็อย่าให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็ว" จดหมายฉบับนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ป๋วยถือว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนแรก ที่กล้าลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้อาจารย์ป๋วยต้องลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ในระหว่างที่สอนหนังสือที่เคมบริดจ์ ปี พ.ศ. 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังครบวาระ และยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งต่อ อาจารย์และนักศึกษาได้มีประชามติ ให้อาจารย์ป๋วยเป็นอธิการบดีคนต่อไป ในระหว่างวันที่ 9-18 กุมภาพันธ์ อาจารย์ป๋วยได้เดินทางกลับมาเมืองไทย ได้เข้าพบ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร อาจารย์ป๋วยได้ถามผู้มีอำนาจทั้งสองว่า จะขัดข้องไหม ถ้าหากท่านจะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ต้องการให้รับตำแหน่ง เพราะกลัวว่าอาจารย์ป๋วยจะใช้พลังนักศึกษา เป็นพลังต่อต้านรัฐบาล หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ภายหลังรัฐบาลทหารถูกขับไล่ออกไป อาจารย์ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้ เป็นประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ มีการเรียกร้องให้อาจารย์ป๋วยเข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แต่อาจารย์ป๋วยไม่รับ เนื่องจากความ ปรารถนาของอาจารย์ป๋วยไม่ได้อยู่ที่การเมือง แต่เป็นเรื่องการศึกษา และการพัฒนาชนบท เมื่อมีการเสนอชื่อ อาจารย์ป๋วยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านไม่ปฏิเสธ อาจารย์ป๋วยเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์คนแรก ที่ได้รับเลือกตั้งจากชาวธรรมศาสตร์ ให้เป็นอธิการบดีคนที่ 10 เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2518 อาจารย์ป๋วยได้ให้แนวทางแก่ธรรมศาสตร์ ในการขยายไปยังรังสิต ให้ขยายตัวไปในสาขาวิทยาศาสตร์เพื่อเกื้อหนุนกัน การรับนักเรียนเรียนดีจากชนบทเข้ามาศึกษา หรือ โครงการช้างเผือก การให้คณะต่างๆ จัดทำโครงการบริการสังคม ในขณะนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดทางสังคมนิยม กับฝ่ายขวาคือผู้สูญเสียอำนาจไป มีขบวนการขวาพิฆาตซ้ายออกอาละวาด ผู้นำนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ถูกลอบสังหารจำนวนมาก โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยจับกุมฆาตกรได้ ธรรมศาสตร์กลายเป็นเวทีและศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม มีการชุมนุมการบ่อยครั้ง อาจารย์ป๋วย กลายเป็นหนังหน้าไฟ ถูกบีบอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายขวาก็กล่าวหาว่า อาจารย์ป๋วยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนักศึกษา เป็นคอมมิวนิสต์ที่คิดจะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตั้งตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในขณะที่ฝ่ายซ้าย ก็โจมตีว่าอาจารย์ป๋วยเป็นเผด็จการ ขัดขวางการทำงานของขบวนการนักศึกษา หลายครั้งอาจารย์ป๋วยก็ทะเลาะกับนักศึกษา ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะเห็นว่า บางครั้งนำไปสู่อันตราย... ==== จากเมืองไทย ==== วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กลุ่มบุคคลในเครื่องแบบและกลุ่มกระทิงแดง ได้ทำการปิดล้อม และใช้อาวุธยิงถล่มเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไม่สนใจต่อคำขอร้องของผู้ชุมนุมภายใน ที่ต้องการเจรจาโดยสันติ มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก นักศึกษาบางคนถูกจับแขวนคอ บางคนถูกเผาทั้งเป็น และผู้หญิงบางคนถูกข่มขืน จนถึงแก่ความตาย เวลา 10.00 น. อาจารย์ป๋วยออกแถลงการณ์ลาออกในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่มีคนจำนวนมากบาดเจ็บ และล้มตายภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน สภามหาวิทยาลัยได้ให้อาจารย์ป๋วยเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากฝ่ายขวากำลังล่าตัวอาจารย์ป๋วย ในเวลาเย็นวันนั้น เกิดรัฐประหารขึ้นโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ เวลา 20.00 น. อาจารย์ป๋วยได้เดินทางออกนอกประเทศไปยุโรป บันทึกความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เมื่ออาจารย์ป๋วยอยู่นอกประเทศ ก็ได้เดินทางไปพบคนไทยในต่างประเทศ และบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเวลานั้น เพื่อเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตย ในเมืองไทยอย่างสันติวิธี ปี พ.ศ. 2520 อาจารย์ป๋วยเดินทางไปให้การต่อ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสืบพยาน เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เดือนกันยายน พ.ศ. 2520 อาจารย์ป๋วยได้ล้มป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานนับสามเดือน อาการเส้นโลหิตในสมองแตก ได้ส่งผลกระเทือนสมองส่วนที่แปลความคิดเป็นคำพูด ทำให้อาจารย์ป๋วยไม่สามารถพูดได้อย่างคนปกติ ท่านพูดออกเสียงได้เล็กน้อยเท่านั้น นับเลขได้ 1-2-3 ถึง 10 แต่ต้องเริ่มต้นที่เลข 1 เสมอ ในช่วงบั้นปลายชีวิต อาจารย์ป๋วยใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ในบ้านเก่าแก่ที่ประเทศอังกฤษ สามารถเดินไปไหนได้ แม้ว่ามือขวาจะยังใช้การได้ไม่ค่อยดี พูดได้น้อย แต่ก็สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างให้เข้าใจได้ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 อาจารย์ป๋วยเดินทางกลับมาเมืองไทย หลังจากที่ต้องออกจากบ้านเกิดไป เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นครั้งแรก พร้อมด้วยภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานอีกสองคน มีบรรดาเพื่อนๆ ลูกศิษย์ และคนรู้จักมากมายมาพบปะ เยี่ยมเยือนที่บ้านเก่าซอยอารีย์ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530 ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย พนักงานประมาณ 2,000 คน มายืนต้อนรับการกลับมาของอาจารย์ป๋วย คนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบอย่างดีที่สุดของข้าราชการเมืองไทย ในตอนบ่าย ขณะรถอาจารย์ป๋วยกำลังจะแล่นออกไป หลายคนพยายามเข้าไปใกล้ชิดอาจารย์มากที่สุด จนอาจารย์ป๋วยไขกระจกรถลง แล้วยื่นมือออกมาให้พนักงานได้สัมผัส หลายคนร่ำไห้ออกมาอย่างไม่อายใคร ที่บุคคลซึ่งตนให้ความนับถือ และเคารพรัก กำลังจะจากไป วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2530 อาจารย์ป๋วยได้มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และเดินไปบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดทางมีนักศึกษายืนต้อนรับ มีนักศึกษายืนถือป้ายข้อความว่า " ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน " "ลูกโดมมิลืมอาจารย์ป๋วย" "ยังข้นและยังเข้ม ดุจเกลือเค็มในแผ่นดิน ดีกว่าน้ำปลาริน อันปรุงรสละลายหอม" วันที่ 20 เมษายน เดินทางเยี่ยมมูลนิธิโกมลคีมทอง วันที่ 21 เมษายน เดินทางไปเยี่ยมคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเยี่ยมโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) และ วันที่ 25 เมษายน อาจารย์ป๋วยก็เดินทางออกจากเมืองไทย จากนั้นก็ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2538 และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2540 === อนิจกรรม === วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก (aortic aneurysm) อายุได้ 83 ปี "ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป" จากข้อเขียน "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพ และบรรจุอัฐินำกลับมาเมืองไทย วันที่ 16 สิงหาคม และ วันที่ 28 สิงหาคม บริเวณท่าเรือสัตหีบ เรือหลวงกระบุรี แห่งราชนาวีไทย ได้นำครอบครัวอึ้งภากรณ์ และแขกประมาณ 200 คน มุ่งหน้าสู่เกาะครามนำอังคารของอาจารย์ป๋วยไปลอยทะเล ส่วนอัฐินำไปบรรจุที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร == ชีวิตส่วนตัว == ป๋วย ได้แต่งงานกับมาร์เกรท สมิท สตรีชาวอังกฤษ โดยมีบุตร 3 คน ได้แก่ จอน อึ๊งภากรณ์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ใจ อึ๊งภากรณ์ == เครื่องราชอิสริยาภรณ์ == === เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย === === เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ === * พ.ศ. 2489 - 80px เครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช ฝ่ายพลเรือน == อ้างอิง == เนื้อหาเกือบทั้งหมดในบทความนี้คัดลอกมาจาก สามัญชน บนถนนประชาธิปไตย โดยได้รับอนุญาตจากผู้จัดทำแล้ว สดุดีและไว้อาลัย แด่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศิษย์เก่าและอดีตครูโรงเรียนอัสสัมชัญ 23 สิงหาคม 2542 ชีวประวัติอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ , ธนาคารแห่งประเทศไทย == แหล่งข้อมูลอื่น == รวมผลงานหนังสือ วิดีโอ เสียง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ข้อเขียนของ ดร. ป๋วย นักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย บุคคลจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าราชการพลเรือนชาวไทย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ศาสตราจารย์ สมาชิกขบวนการเสรีไทย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช. ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม. ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ.ว. บุคคลในสงครามโลกครั้งที่สอง บุคคลจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ศิษย์เก่าจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา สกุลอึ๊งภากรณ์ ชาวไทยที่เสียชีวิตในประเทศอังกฤษ บุคคลจากเขตสัมพันธวงศ์ ผู้ลี้ภัยชาวไทย บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ชาวไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
thaiwikipedia
800
สถาบันมาตรฐานแห่งชาติอเมริกัน
สถาบันมาตรฐานแห่งชาติอเมริกัน (American National Standard Institute) หรือ แอนซี (ANSI; ) เป็นองค์กรในสหรัฐ ที่มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1918 โดยใช้ชื่อว่า American Engineering Standards Committee และได้มีการปรับปรุงใน ค.ศ. 1928 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น American Standards Association ใน ค.ศ. 1946 ได้มีการจัดตั้งองค์กรนานาชาติขึ้นมา โดยมีประเทศ 25 ประเทศเข้าร่วม และสุดท้ายใน ค.ศ. 1969 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น American National Standard Institute หรือ ANSI ในปัจจุบัน องค์การมาตรฐาน
thaiwikipedia
801